Business, Management, Skill, Experiences--แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ บริหาร และอื่น ๆ
Group Blog
 
All blogs
 

ธุรกิจรีไซเคิลยางรถยนต์กำลังรุ่ง !

ธุรกิจรีไซเคิลยางรถยนต์กำลังรุ่ง

((( ผมเคยคิดว่า ... ทำไมไม่มีใครนำยางรถไป Recycle ... แต่คิดผิด เพราะมันมีแล้ว ... ธุรกิจนี้น่าจะยังรุ่งต่อไปอีกหลายปี )))


----------------------------------------------------------------------


'อู่อุดมยิ่ง'ควัก230ล.ผุดอีกโรงงาน

กลุ่มทุน "อู่อุดมยิ่ง" เห็นโอกาสงาม ควักเงิน230 ล้านผุดโรงงานแห่งใหม่แปรรูปยางรถบรรทุกที่ไม่ต้องการใช้แล้วปีละ 15,000 ตัน ที่ชลบุรี รองรับการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระบุการจัดตั้งโรงงานใหม่ครั้งนี้นอกจากจะช่วยลดขยะในประเทศแล้ว บริษัทต้องการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาคุณภาพยางให้ดีขึ้น





นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง กรรมการบริหารบริษัท ยูเนี่ยนพัฒนกิจ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจแปรรูปยางรถยนต์ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้บริษัทกำลังเดินแผนขยายกิจการแปรรูปยางรถบรรทุกที่ไม่ต้องการใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ปีละ 15,000 ตัน ใช้เงินลงทุน 230 ล้านบาท โดยจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทใหม่ในนาม บริษัท ยูเอสบ่อทองอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งสถานประกอบการที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เงินลงทุนทั้งหมดมาจากกลุ่มทุนตระกูล"อู่อุดมยิ่ง"


ตามโครงการจะนำยางรถบรรทุกที่ไม่ใช้แล้วมาคัดแยกเข้าเครื่องบดเพื่อให้มีขนาดเล็กลง แล้วนำเข้าเครื่องนึ่งยางที่มีอุณหภูมิ 270 องศาเซลเซียส แล้วผ่านการเติมสารเคมีเพื่อให้ยางกลับมามีความยืดหยุ่นอีกครั้ง หลังจากนั้นจะต้องนำยางมานวดและรีดยางให้มีลักษณะเป็นแผ่น เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น สายพานลำเลียง ยางปูพื้น ยางรถยนต์ ท่อน้ำ เป็นต้น


"เวลายางรถยนต์มาเข้าสู่ขบวนการผลิตของบริษัทแล้ว ยางที่ออกมาเราจะเรียกว่ายางรีเคลม ที่จะไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อรถยนต์ โดยยางรีเคลมจะนำไปเป็นส่วนผสมเพียงส่วนหนึ่งในขบวนการผลิตยางรถยนต์สำเร็จรูป และเมื่อผลิตออกมาผู้ผลิตยางรถยนต์ก็จะต้องไปทดสอบก่อนว่าผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยหรือไม่"


นายบุญหาญ กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานแห่งใหม่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ราวปี 2553 โครงการดังกล่าวจะช่วยลดขยะในประเทศให้น้อยลง และช่วยลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากเป็นการนำไปรีไซเคิล โดยนำยางรถบรรทุกสิบล้อที่ไม่ได้ใช้แล้วมาใช้ใหม่ ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะแปรรูปยางรถบรรทุกสิบล้อก่อน เนื่องจากในปัจจุบันมียางรถบรรทุกสิบล้อที่เป็นขยะทิ้งแล้วจำนวน 150,000 ตัน/ปี ซึ่งยางเหล่านี้ถูกทิ้งไปตามข้างถนน พงหญ้า ตามชายหาดทะเล จำนวนมาก ดังนั้นผู้ที่สนใจถ้าพบเห็นยางที่ถูกทิ้งผิดที่ผิดทางก็สามารถนำมาขายโดยตรงที่บริษัทได้ หรือซื้อขายผ่านร้านรับซื้อของเก่าบางแห่งได้


บริษัท ยูเอสบ่อทองอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการขยายกิจการแปรรูปยางรถบรรทุกของบริษัท ยูเนี่ยนพัฒนกิจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกยางรีเคลมและยางผงที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ซึ่งตั้งอยู่ที่ปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันมีขนาดกำลังผลิต 8,000 ตัน/ปี


"การขยายกิจการโดยตั้งโรงงานแห่งใหม่นอกจากจะช่วยลดขยะในประเทศแล้ว บริษัทต้องการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาคุณภาพยางให้ดีขึ้น รวมไปถึงต้องการขยายฐานลูกค้าเก่าและหาลูกค้าใหม่เข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคู่ค้าต่างประเทศ จากเดิมธุรกิจมีสัดส่วนลูกค้าในประเทศ 75-80% และส่งออก 20-25% ก็จะปรับฐานตลาดใหม่ เป็นผลิตขายในประเทศ 60% และส่งออก40%"


ปัจจุบันบริษัท ยูเนี่ยนพัฒนกิจ จำกัด มีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตยางล้อ ผลิตสายพาน และผลิตรองเท้า ซึ่งมีทั้งในประเทศและต่างประเทศได้แก่ บริษัท ดีสโตน จำกัด บริษัท อีโนเว(ประเทศไทย)จำกัด บริษัทอุตสาหกรรมตราอูฐ จำกัด บริษัท ยางบริดจสโตน จำกัด บริษัท ฮั๋วฟง จำกัด และบริษัทSakai Shokai ประเทศญี่ปุ่น


ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ยางรีเคลมที่ผลิตโดย บริษัท ยูเอสบ่อทองอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นั้นเป็นยางรีเคลม ชนิดพิเศษที่มีการเพิ่มมูลค่าจากการีเคลมปกติทั่วไป โดยการนำไปผ่านกระบวนการนึ่งยางและกระบวนการทางเคมี จากนั้นจึงนำมารีดและนวดเป็นแผ่น ซึ่งยางรีเคลมชนิดพิเศษนี้จะสามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวางกว่ายางรีเคลมทั่วไป และสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมตั้งต้นในอุตสาหกรรมยางได้หลากหลายชนิด นอกจากนี้กระบวนการผลิตของยางรีเคลมของบริษัทดังกล่าวมีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีกระบวนการดักฝุ่น สำหรับเครื่องบดยางทุกเครื่อง และมองเห็นว่าการจัดการของเสียประเภทยางรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ถือว่าเป็นกิจการที่รักษาสิ่งแวดล้อม


ที่มา: //www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0824292&issue=2429




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 15:06:02 น.
Counter : 29673 Pageviews.  

คะแนน สูงสุด - ต่ำสุด แอดมิสชั่นส์ ปี 52 (หลายมหาวิทยาลัย)

คะแนนสูงสุด-ต่ำสุด แอดมิสชั่นส์ ปี 52



1. คะแนนสูงสุด-ต่ำสุด แอดมิสชั่นส์ ปี 52

//www.thairath.co.th/page/admission2009?uni_id=1





2. เข้าไปดูคะแนนสูงสุด-ต่ำสุด แอดมิสชั่นส์ ปี 52 ได้ที่นี่เลย เห็นมีหลายมหาวิทยาลัย


//www.siamrath.co.th/uifont/NewsHome.aspx?cid=39





 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2552 9:13:25 น.
Counter : 957 Pageviews.  

“เถ้าแก่น้อย”ขยายช่องทางขาย - เปิดช้อปเพิ่ม-บริการดิลิเวอรี่

“เถ้าแก่น้อย”ขยายช่องทางขาย - เปิดช้อปเพิ่ม-บริการดิลิเวอรี่



((( อ่านประวัติของคุณ อิทธิพัทธ์ และดูวิธีคิดของเขาแล้ว .... ชื่นชมจริง ๆ ครับ ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย .... )))

---------------------------------------------------

ตลาดสินค้าขนมขบเคี้ยวมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้รักสุขภาพ ด้วยในปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคให้ความใส่ใจรสชาติที่แปลกใหม่และแตกต่าง โดยเฉพาะสาหร่ายที่เน้นในรายละเอียดของวัตถุดิบและส่วนประกอบ และคุณภาพของสินค้า รวมไปถึงการเป็นอาหารที่ให้พลังงานจากการทำงานที่ต้องเร่งรีบ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันแนวโน้มการแข่งขันก็สูงขึ้นตามไปด้วย

อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง ผู้ผลิตและทำตลาดสาหร่ายทอดและอบแบรนด์เถ้าแก่น้อย ให้สัมภาษณ์ Exclusive ว่า บริษัทมีแผนลงทุนกว่า 70 ล้านบาท ขยายร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายรูปแบบใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ในเครือ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าที่ระลึกต่างๆ ของเถ้าแก่น้อย เพื่อสร้างแบรนด์ในระยะยาวและรองรับการให้บริการดิลิเวอรี่ในอนาคต ตั้งเป้าขยายร้านดังกล่าวให้ได้ 10 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังทดลองเปิดสาขาแรกที่ห้างซีคอนสแควร์เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก ซึ่งการลงทุนเปิดร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์แต่ละแห่งคาดใช้งบลงทุนราว 2-3 ล้านบาทแล้วแต่ขนาดของพื้นที่

สำหรับการทำตลาดแบรนด์เถ้าแก่น้อยในปีนี้ จะใช้งบทำตลาดรวม 40 ล้านบาท เน้นการออกสินค้าทั้งรสชาติใหม่และผลิตภัณฑ์เซ็กเมนต์ใหม่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น รวมทั้งการทำโปรโมชันร่วมกับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายเพื่อเพิ่มยอดขาย ไม่เน้นการทำโฆษณาผ่านสื่อมากนัก

“ภาพรวมตลาดสาหร่ายมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นสาหร่ายทอด 60-65% โดยเถ้าแก่น้อยเป็นผู้นำในตลาดด้วยส่วนแบ่ง 85% ขณะที่ 15% ของตลาดเป็นสาหร่ายอบ ซึ่งเถ้าแก่น้อยมีส่วนแบ่งมากกว่า 50% ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นเช่น สาหร่ายเทมปุระ หรือกลุ่มสินค้าของผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ”

ขณะเดียวกันบริษัทอาจทบทวนปรับเพิ่มเป้าหมายยอดขายในสิ้นปีนี้ใหม่ จากเดิมที่วางไว้ 1,500 ล้านบาท หลังจากยอดขายในไตรมาสแรกสามารถทำได้ 300 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยผลประกอบการของปี 2551 มียอดขายรวม 1,020 ล้านบาท

เถ้าแก่น้อยกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่นว่า ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซูเปอร์ คริสป์ สาหร่ายรสหมึกย่าง หลังจากที่ได้ลงทุน 30 ล้านบาท เพื่อสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่สำหรับรองรับการผลิตเมื่อปีที่ผ่านมา และถือเป็นเจ้าแรกที่มีการทำตลาดสาหร่ายย่างเป็นครั้งแรกของตลาด เบื้องต้นจะเริ่มทดลองจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และหากได้รับการตอบรับที่ดีจะเพิ่มช่องทางจำหน่าย รวมทั้งพัฒนารสชาติใหม่เพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 30 ล้านบาท เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป มีขนาด 6 กรัม จำหน่ายในราคา 10 บาท พิเศษสุดในช่วงโปรโมชั่น จำหน่าย 2 ซองในราคา 16 บาทเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้หากพิจารณาจากรายได้ยอดขาย ในแง่ธุรกิจคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเด็กหนุ่มวัยอายุเพียง 25 ปี อิทธิพัทธ์กล่าวว่า ตอนอยู่ ม.4-ม.6 ไม่ค่อยได้เรียน เพราะติดเกมออนไลน์ เล่นกับคนที่อยู่สหรัฐฯ ทำให้มีรายได้จากการเล่นเกมตั้งแต่ ม.4 ไม่ได้ขอเงินพ่อกับแม่ เพราะหาเงินจากการเล่นเกมเดือนหนึ่งได้ 2-3 แสนบาท

โดยที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาก่อน ตั้งแต่เด็กเคยฝันว่า อยากเป็นนักธุรกิจ เห็นคุณพ่อเวลาเดินไปไหน มีคนหวัดดีครับเฮีย เท่ดี เลยอยากเป็นบ้าง พอเริ่มโตเริ่มเกเร ย้อมผมทองเป็นพังก์ก็รู้สึกว่า ไม่น่าจะเป็นนักธุรกิจได้ ความใฝ่ฝันเริ่มจะหมดลง แต่พอเริ่มเล่นเกมหาเงินได้ก็รู้สึกว่า ไม่ยากอย่างที่คิด หาเงินได้เองทำให้รู้สึกมีไฟขึ้นมา

จุดเปลี่ยนของชีวิต อิทธิพัทธ์บอกว่า เกิดขึ้นช่วงวิกฤติปี 2540 วันหนึ่งหาเงินจากเกมไม่ค่อยได้ เดินไปหาแม่บอกว่า ขอตังค์หน่อย คุณแม่เดินเข้าไปหยิบเงินนานมาก ประมาณ 10 นาที เดินไปหาเห็นคุณแม่หยิบเงินแล้วน้ำตาจะไหล เหมือนเขาเครียดเรื่องเศรษฐกิจมาก จึงคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยที่บ้าน ตอนนั้นอายุ 18 ปี

“มีอยู่วันหนึ่งไปเดินงานที่เมืองทอง เจอแฟรนไชส์เกาลัดจากญี่ปุ่นมาออกบูท น่าสนใจมาก เพราะแฟรนไชส์ของเขามีเครื่องคั่วเกาลัดแบบทันสมัย ผมเกิดความสนใจ เพราะส่วนตัวชอบกินเกาลัดอยู่แล้ว แต่ค่าแฟรนไชส์ราคาสูงมากเป็นล้านบาท ผมไม่มีเงินมากขนาดนัก เลยติดต่อกับเจ้าของแฟรนไชส์ว่า ขอเช่าตู้คั่วเกาลัด แล้วมาสร้างแฟรนไชส์ของตัวเอง”

โดยหลังเช่าตู้ได้แล้ว เช้าวันที่จะไปเซ็นสัญญาเช่าที่ขายเกาลัดหน้าห้างแห่งหนึ่ง ก่อนเดินทางออกจากบ้าน เจอคุณพ่อกำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนอยู่ เล่าถึงเรื่องผมจะไปทำธุรกิจ แล้วหันมาพูดแซวผมให้เพื่อนฟังว่า ลูกอั๊วกำลังไปเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว ผมก็ได้หัวเราะตอบ ไม่ได้เก็บมาใส่ใจอะไรมาก จนเมื่อไปถึงห้างต้องกรอกใบสมัคร ซึ่งให้ระบุถึงชื่อร้านหรือแบรนด์ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีชื่อในใจเลย แต่คิดถึงคำพูดพ่อที่แซว จึงเป็นที่มาของชื่อเถ้าแก่น้อย

จากนั้นได้ขยายสาขาแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อย จากหนึ่งเป็น 30 กว่าสาขา และเห็นโอกาสว่า เมื่อมีหน้าร้านหลายแห่งแล้ว ทำไมต้องจำกัดตัวเองแค่ขายเกาลัดอย่างเดียว จึงลองนำเข้าสินค้าต่างๆ มาขายพ่วงที่หน้าร้านแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกท้อ ลำไยอบแห้ง สาหร่าย ผลปรากฏว่า ในร้านสินค้าที่ขายดีที่สุดคือ สาหร่ายทอด ยอดขายมากกว่าเกาลัดเสียอีก จึงเป็นแรงบันดาลใจ อยากจะต่อยอดธุรกิจขายสาหร่ายอย่างจริงจัง

“ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสาหร่าย อยากขยายตลาดธุรกิจสาหร่ายไปตามร้านค้า เริ่มแบบง่ายๆ โดยบรรจุซองพลาสติกไปฝากร้านค้าต่างๆ ให้ลองขาย แต่พอทำจริง มีอุปสรรค อายุสินค้าสั้น และรูปลักษณ์ไม่สวย ทำให้ไม่สามารถเปิดตลาดได้ มีของคืนจำนวนมาก เพราะสาหร่ายเก็บไว้ได้ไม่นาน และพยายามคิดค้นหาทางแก้”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเถ้าแก่น้อยกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า วันหนึ่งดูทีวี มีคำว่า ป่าล้อมเมืองเข้ามาในหู จึงคิดว่า ผมคือเมือง น่าจะมีต้นไม้เยอะๆ นั่นคือร้านสะดวกซื้อ เห็นร้านสะดวกซื้อต้องเห็นสินค้าเรา จึงเป็นแนวคิดแรก คือลุยเข้าไปที่เซเว่นอีเลฟเว่น คิดว่าถ้าสินค้าเราเก็บไว้ได้นานกว่านี้ มีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ วางขายในเซเว่นอีเลฟเว่น ตลาดน่าจะขยายตามไปด้วย ดีกว่าผมต้องวิ่งไปส่งด้วยตัวเอง แต่กว่าจะเข้าเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ใช่ง่ายๆ อุปสรรคเยาะมากและตัดสินใจขายแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยทิ้งทั้งหมด ตอนนั้นมีจำนวนกว่า 30 สาขา สร้างรายได้รวมให้เดือนละล้านกว่าบาท เพื่อมาเป็นทุนสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายทอด

“พอใจที่วันนี้เถ้าแก่น้อยประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ มีโรงงาน มีพนักงานกว่าพันคน มียอดขายทะลุพันล้านบาท แต่นี่เป็นแง่ส่วนตัว แต่ถ้าเป็นรูปบริษัทเราพอใจไม่ได้ ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ กำลังผลิตของโรงงานมีอยู่ 3-5 แสนซองต่อวัน แต่ยังสามารถขยายกำลังเพิ่มได้อีก การสร้างโรงงานไม่ยาก แต่จะบริหารอย่าไรเพื่อให้งานมีอยู่ตลอดเวลา”

อิทธิพัทธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาผมก็เหมือนเด็กไทยทั่วไปที่เกิดมา ค่อนข้างดื้อมาตลอด มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ ผู้ใหญ่ที่บ้านจะไม่ได้กำหนดว่าต้องเรียนอะไร การที่ไม่มีใครมาชักจูงหรือกำหนดกะเกณฑ์ตั้งแต่เด็ก ทำให้กล้าคิด กล้าทำ นั่นเป็นสิ่งดีที่ไม่มีกรอบมากำหนดตั้งแต่วัยเด็ก ในส่วนของการสร้างแบรนด์ ครอบครัวจะเป็นที่ปรึกษา ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมไม่มีระเบียบวินัย ขาดความอดทน ตอนที่ทำแฟรนไชส์ครบ 20 สาขา ทุกเช้าต้องขับรถเดินทางไปตรวจสาขา ถ้าตื่นสายคุณพ่อจะดุ ถือว่าโชคดีที่ขณะที่พ่อพยายามสร้างวินัยให้ผม ทำให้ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้…


ที่มา: //www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=65&nid=38746




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 14:02:07 น.
Counter : 2337 Pageviews.  

สร้าง "คุณค่า" เหนือ "คุณค่า" Creating Shared Value Forum


สร้าง "คุณค่า" เหนือ "คุณค่า" Creating Shared Value Forum




ไมเคิล อี. พอตเตอร์ กูรูด้านกลยุทธ์การแข่งขันและเป็นผู้นำกฎการแข่งขันมาเชื่อมโยงกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่เคยเสนอแนวคิด triple bottom line ที่ธุรกิจจะก้าวไปสู่ความยั่งยืนย่อมต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แต่ความคิดย่อมเป็นแค่ความคิด เมื่อมีสิ่งใหม่มาลบล้าง

ปลายเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา บนเวทีการประชุมอภิปรายระดับโลก ที่เนสท์เล่ร่วมกับคณะทูตแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำสำนักงานสหประชาชาติ และองค์การสหประชาชาติ ได้จัดการประชุมอภิปรายระดับโลกเพื่อระดมความคิดเรื่องการสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มร่วมกันให้กับสังคม Creating Shared Value Forum

"พอตเตอร์" ยอมรับว่า "triple bottom line อาจจะเป็นได้แค่แรงบันดาลใจ แต่ creating shared value (CSV) กำลังพยายามสร้างวิธีการที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มให้แก่สังคมและผู้ถือหุ้นได้จริง"

creating shared value หรือการสร้างสรรค์ คุณค่าเพิ่มร่วมกันให้กับสังคม ซึ่งเป็นมุมมองด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ "เนสท์เล่" ซึ่งพัฒนามาจากรากฐานการดำเนินธุรกิจของตัวเองและเผยแพร่แนวคิดที่ว่านี้อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีก่อน โดยไม่ได้มองแค่การบริจาค กิจกรรมเสริม แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน ครอบครัว และคนในสังคมไว้ในกลยุทธ์หลัก ในการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งเป็นแนวคิดที่ "พอตเตอร์" ให้ความเห็นว่า "เป็นมากกว่า CSR"

เขาอธิบายไว้ว่า "แนวคิด CSV จะก้าวข้ามไปอีกขั้น คือการที่องค์กรธุรกิจมุ่งมั่นดำเนินงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้"

"ตัวอย่างเช่น องค์กรที่ดำเนินธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา ได้จัดซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร วิธีการคิดง่ายๆ ในการจัดซื้อ ก็คือให้ได้วัตถุดิบในราคาที่ต่ำที่สุด ซึ่งสำหรับแนวคิดแบบ CSV จะบอกว่า ก้าวข้ามไปอีกขั้น ลองหันมาถามว่า เราจะสามารถทำงานร่วมกันกับเกษตรกรเหล่านั้นได้อย่างไร ช่วยเหลือพวกเขาปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มพูนผลิตผล ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ และได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างมีประสิทธิผลในที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจ"

CSV เป็นการพยายามหาพื้นที่แห่งความสำเร็จร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม เช่นเดียวกับ CSV forum

"ฟอรั่มนี้มีความน่าสนใจในแง่ของการเปลี่ยนบทบาทของคนที่เคยอยู่คนละฝั่ง อย่างธุรกิจเอ็นจีโอ ฯลฯ ให้เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะยิ่งวิกฤต ปัญหายิ่ง ซับซ้อน เราต้องการแก้ปัญหาเร็วขึ้น เปลี่ยนบทบาท โดย

เฉพาะธุรกิจต้องมีความเป็นผู้ร้ายน้อยลง เอ็นจีโอเองก็อาจจะต้องเปลี่ยน "นภดล ศิวะบุตร" ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าว

บนเวที CSV Forum ที่จัดขึ้นไม่เพียงมีผู้นำทางความคิด เช่น ไมเคิล อี. พอตเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ยังมีผู้นำทางความคิดนักพัฒนา และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อย่าง ซี.เค. ปราฮาลัด แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน น.พ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และโภชนาการระดับแนวหน้าของไทย และผู้นำความคิดรวม 13 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มร่วมกันให้กับสังคม ของเนสท์เล่ (Nestle Creating Shared Value Advisory Board) มาถกกันถึงทางออกของปัญหาที่มองว่าจะสร้างความเสี่ยงให้กับธุรกิจในอนาคต

เพราะการสร้างคุณค่าต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการพัฒนาโภชนาการที่ดี การปกป้องเรื่องน้ำและการผลิตอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงและเป?นหัวใจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ในฐานะผู้ผลิตอาหาร

และเป็นการขยายการทำงานในทางลึกและทางกว้างที่ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า หากสังคมวิกฤต ย่อมส่งผลกระทบถึงธุรกิจอย่าง ไม่อาจหลีกเลี่ยงการสร้างคุณค่าให้สังคมจึงเป็นคุณค่าเหนือคุณค่า กว่าผลลัพธ์และประโยชน์ตื้นเขินเพียงสร้างภาพลักษณ์


ที่มา: //www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01250552&day=2009-05-25§ionid=0221




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 11:54:09 น.
Counter : 2198 Pageviews.  

เรื่องจริงของนางสาว "ลิ้นจี่" ต้นทุนพุ่ง ราคาร่วง หนี้ท่วม...!



เรื่องจริงของนางสาว "ลิ้นจี่" ต้นทุนพุ่ง ราคาร่วง หนี้ท่วม...!


((( ผลไม้ไทยราคาตกต่ำ .... เป็นโชคดีของผู้บริโภค แต่เป็นโชคร้ายของชาวสวน ... พวกเราช่วยกันกินของไทยนะครับ )))

-------------------------------------------------------------

20 ปีที่แล้ว เจ้าของสวนลิ้นจี่อาจดีใจจนหัวใจพองโตเพียงแค่ได้เห็นลิ้นจี่แทงช่อ เพราะผลผลิตเพียง 1 ไร่ ก็สามารถถอยรถกระบะออกมาขับได้สบายๆ ราคาลิ้นจี่ ณ เวลานั้น สูงถึง ก.ก.ละ 120 บาท แต่ตอนนี้เพียงแค่ 7-8 บาท

"บุญถม อรุณไทย" เจ้าของสวนลิ้นจี่ใน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ มองดูต้นลิ้นจี่ของตัวเองกว่า 200 ไร่ ที่ออกลูกดกเต็มต้น ก็รู้ชะตากรรมแล้วว่าต้องขาดทุนแน่นอน

แม้ปีนี้ลิ้นจี่ในไร่ของเขากว่า 5,000 ต้น จะให้ผลผลิตกว่า 2 แสนกิโลฯ แต่กลับไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เมื่อต้องเจอกับต้นทุนที่สูงลิบ บวกกับราคาที่ร่วงแบบติดดิน ไม่มีกำไร แถมยังขาดทุน หนี้สินก็พอกพูนขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้มานานหลายปี

เขาบอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อสินค้าราคาดี คนก็จะแห่ปลูกตาม และคงห้ามไม่ได้เพราะเป็นระบบการค้าเสรี ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ มีเกษตรกรในอำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการ ล้มลิ้นจี่ไปกว่า 10,000 ไร่ เพื่อหันไปปลูกส้มแทน แต่ราคาส้มก็ตกต่ำอีก บางคนจึงกลับมาปลูกลิ้นจี่เหมือนเดิม บางคนหันไปปลูกข้าวโพด พริก มันฝรั่ง

สถานการณ์ของลิ้นจี่ในขณะนี้ราคาต่ำมาก ราคาขายหน้าสวนเพียง ก.ก.ละ 7-8 บาท เทียบกับปีที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 17-20 บาท สาเหตุสำคัญเพราะผลผลิตมาก แต่คุณภาพส่วนใหญ่ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะ ขาดการดูแลรักษาที่ดี อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญคือต้นทุนการผลิตต่อไร่สูงขึ้น ค่าแรงงานแพงขึ้น

"ผมคิดว่าลิ้นจี่มีเยอะไม่ใช่ปัญหา ถ้ามีระบบการจัดการตลาดที่ดี ลิ้นจี่ไวต่อการสูญเสีย ถ้าเก็บช้าก็เน่าคาต้น ขายไม่ได้ ส่วนเรื่องตลาด รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยวางระบบการจัดการเพื่อรองรับผลผลิตให้ทันเวลา แต่ที่ผ่านมาผมว่ารัฐบาลไม่ทำจริง"

"ตอนนี้ผมต้องหันไปปลูกพืชอื่นเสริมด้วย เน้นปลูกพืชล้มลุกอย่างข้าวโพดและพริก ซึ่งตลาดยังพอไปได้ ถ้าถามว่ายังอยากจะทำสวนลิ้นจี่ต่อไหม ก็ไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำต่อไป ถ้าล้มต้นทิ้งไปก็ไม่รู้จะปลูกอะไรที่จะได้ราคาดี เพราะลองทำมาหลายอย่างแล้ว" นี่คือหัวอกเกษตรกร ที่ชื่อบุญถม

ขณะที่ "อดุลย์ชัย อินต๊ะขาว" ประธานสหกรณ์ผู้ปลูกลิ้นจี่เชียงใหม่ จำกัด เล่าว่า ปีนี้เกษตรกรเดือดร้อนมาก ทั้งปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยจากเดิมราคา 760 บาท เพิ่มเป็น 1,640 บาท ยาฆ่าหญ้าจากเดิมราคา 400 กว่าบาทต่อ 4 ลิตร ขยับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 บาท รวมถึงค่าแรงงานก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน โดยเบ็ดเสร็จแล้วมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 18,000 บาทต่อไร่

ขณะที่ปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ก็มีมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า ราคาขายหน้าสวนจึงตกต่ำมาก เชียงใหม่ปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ ประมาณ 45,109 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตราว 27,922 ตัน

อดุลย์ชัยบอกว่า การที่เกษตรกรใน 3 อำเภอ กว่า 3,000 คน ออกมาชุมนุมประท้วงปิดถนนหน้าที่ว่าการอำเภอฝางนั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ แต่ต้องการให้รัฐบาลรับรู้ข้อเท็จจริงว่าเกษตรกรเดือดร้อนจริงๆ และอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ แนวทางคือไม่ได้ต้องการให้รัฐเอาเงินมาแทรกแซง แต่ต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยต้นทุนผลิตกิโลกรัมละ 3 บาท และตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวสวนลิ้นจี่ในระยะยาว วงเงิน 250 ล้านบาท ส่วนมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำงบฯกลาง 200 ล้านบาท มาช่วยเกษตรกรทั้ง 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่านนั้น ต้องรอดูรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร

วิธีแก้ปัญหาลิ้นจี่ล้นตลาดอีกอย่างก็คือ ให้รัฐบาลนำงบประมาณส่วนหนึ่งมาจ้างโรงงานผลิตลิ้นจี่กระป๋อง เพื่อช่วยระบายผลผลิตตกเกรดที่มีสัดส่วนประมาณ 70% เพราะการแปรรูปสามารถยืดอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน

เขายังบอกอีกว่า เกษตรกรเจ้าของสวนลิ้นจี่ปัจจุบันไม่ฟู่ฟ่า ร่ำรวยเหมือนในอดีต ทุกวันนี้หนี้สินพอกพูน ส่วนหนึ่งก็โค่นล้มลิ้นจี่ไปนับพันไร่ แต่ส่วนหนึ่งก็ยังต้องทำต่อไป

อนาคตสวนลิ้นจี่ พืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ช่างมืดมนเสียจริง


ที่มา: //www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02phu03250552&day=2009-05-25§ionid=0211




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 11:30:53 น.
Counter : 942 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  

byonya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




I am not a perfect, but simple!

 
 
Custom Search



 
 

Website น่าสนใจ  
 
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

เว็บการศึกษา Eduzones.com

Business Web Directory .biz - Business Directory
 


Word of the Day

This Day in History

Quote of the Day

Hangman




Friends' blogs
[Add byonya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.