Business, Management, Skill, Experiences--แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ บริหาร และอื่น ๆ
Group Blog
 
All blogs
 
วิกฤตการณ์การเงินโลก

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11325 มติชนรายวัน




วิกฤตการณ์การเงินโลก



โดย เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย





ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นานๆ ครั้งจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและมีนัยสำคัญ จนทำให้ความเชื่อแต่ดั้งเดิมถูกล้มล้างไป แล้วมีแนวคิดใหม่เข้ามาแทนที่ ทุกวันนี้ ระดับความรุนแรงของวิกฤตการณ์การเงินโลกทำให้พวกเราต้องทบทวนนโยบายและปรัชญาทางด้านเศรษฐกิจที่นำพาพวกเรามาจนถึงจุดนี้อีกครั้ง

จอร์จ โซรอส ได้กล่าวไว้ว่า "สาระสำคัญที่สุดของวิกฤตการณ์การเงินในขณะนี้ก็คือ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก...แต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากตัวระบบของมันเอง"

โซรอสพูดถูก วิกฤตการณ์ในขณะนี้เป็นผลพวงจากการครอบงำจากนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดถืออุดมการณ์การตลาดเสรีมานานถึง 30 ปี โดยได้รับการขนานนามต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism), เศรษฐกิจเสรีนิยม (economic liberalism) หรือ ลัทธิคลั่งเศรษฐกิจ (economic fundamentalism) โดยหลักความคิดที่ผลักดันอุดมการณ์ดังกล่าวก็คือ กิจกรรมของภาครัฐควรถูกจำกัดไว้ และแทนที่ด้วยพลังตลาดในที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแล้วว่า พลังตลาดที่ไร้การตรวจสอบได้นำทุนนิยมไปสู่หุบเหวอย่างไรแทนที่จะกระจายความเสี่ยงไปทั่วโลก ระบบการเงินของโลกกลับเพิ่มความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

แนวคิดเสรีนิยมใหม่เชื่อว่าตลาดการเงินโลกจะแก้ไขตัวมันเองได้ในที่สุด ด้วยว่ามือที่มองไม่เห็นของพลังตลาดซึ่งปราศจากการควบคุมใดๆ นั้นจะหาจุดสมดุลของมันได้เอง แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ ได้แสดงทรรศนะวิพากษ์ไว้ว่า "เหตุผลที่มือที่มองไม่เห็นนั้นดูเหมือนจะมองไม่เห็น ก็เป็นเพราะว่ามือนั้นไม่มีอยู่จริงต่างหาก"

ดังนั้น จึงเป็นแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ ที่เข้ามาสร้างทุนนิยมแบบอเมริกันขึ้นมาใหม่หลังจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในขณะที่พรรคเดโมแครตแห่งอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ก็ต้องเข้ามาสร้างอุปสงค์ในประเทศให้เกิดขึ้นอีกครั้งหลังยุคสงคราม มีการขับเคลื่อนแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อฟื้นฟูยุโรปและจัดตั้งระบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods system-ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่) ขึ้นมาเพื่อกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ

เช่นเดียวกันกับที่คนรุ่นใหม่จะต้องทบทวนและสร้างระบบเศรษฐกิจระดับชาติและนานาชาติของเราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ถ้ารัฐบาลกลางของประเทศต่างๆ จะปกป้องทุนนิยมเอาไว้ พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายสามประการ

ประการแรกคือ การใช้หน่วยงานของรัฐในการฟื้นฟูตลาดในกำกับอย่างเหมาะสม และการสร้างอุปสงค์ในประเทศและในโลกขึ้นมาอีกครั้ง จากความล่มสลายของเสรีนิยมใหม่ บทบาทของรัฐได้รับการยอมรับอีกครั้งว่าเป็นรากฐานที่สำคัญ โดยที่รัฐได้เป็นผู้ที่แสดงบทบาทหลักในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสามด้านที่ชัดเจน คือการเข้าช่วยเหลือระบบการเงินเอกชนไม่ให้ล้มลง ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอันเนื่องมาจากความล่มสลายในอุปสงค์ของเอกชน และการออกแบบระบบกำกับในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบในการตัดสินใจและบังคับใช้ระบบระเบียบดังกล่าว

ความท้าทาย ประการที่สอง สำหรับนักสังคมประชาธิปไตยก็คือการพยายามแก้ปัญหาโดยไม่ทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วกลับแย่ลงไปอีก เมื่อวิกฤตการณ์การเงินเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของครอบครัวต่างๆ ทั่วโลก ย่อมก่อให้เกิดแรงกดดันให้ถอยกลับไปใช้รูปแบบที่รัฐเป็นผู้จัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้ และละทิ้งหลักการทั้งหมดของตลาดแบบเปิดกว้างและแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ การปกป้องทางการค้าเริ่มจะเกิดขึ้นและรู้สึกได้บ้างแล้ว แม้จะเป็นในรูปแบบที่นุ่มนวลและแนบเนียนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าอย่าง Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างนุ่มนวลหรือแข็งกร้าว การปกป้องทางการค้านั้นเป็นวิธีการที่จะทำให้ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจถลำลึกสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เกิดความล่มสลายของอุปสงค์ระดับโลก ข้อกล่าวอ้างโดยดุษณีเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองที่มีมาตลอดของสังคมประชาธิปไตยก็คือความสามารถในการรักษาสมดุลระหว่างเอกชนกับภาครัฐ กำไรและค่าจ้าง ตลาดและรัฐ ปรัชญาดังกล่าวส่งเสียงดังขึ้นอย่างแจ่มชัดและมีน้ำหนักขึ้นอีกครั้งเพื่อประจันหน้าท้าทายพวกเราในขณะนี้

ความท้าทาย อีกประการหนึ่ง สำหรับรัฐบาลต่างๆ ที่กำลังรับมือวิกฤตการณ์ในขณะนี้ก็คือมิติของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาลต่างๆ ต้องออกกฎระเบียบการเงินต่างๆ ของโลกให้สอดคล้องกันเพื่อป้องกันการวิ่งแข่งกันไปสู่จุดต่ำสุด นั่นคือการที่เงินทุนไหลออกสู่อาณาเขตเศรษฐกิจของโลกที่มีข้อบังคับอันอ่อนด้อย เราต้องจัดสร้างมาตรฐานแห่งการเปิดเผยต่อกันระดับโลกอย่างเป็นระบบสำหรับสถาบันการเงินที่สำคัญ เรายังต้องสร้างกรอบการกำกับดูแลที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความรับผิดชอบมากขึ้นในการบริหารองค์กร ซึ่งรวมถึงเรื่องการให้ค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารระดับสูงด้วย

โลกได้หันหน้าเข้าหากันด้วยการให้ความร่วมมือกันต่อรัฐผ่านกลุ่มประเทศ G20 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในทันทีให้แก่ระบบการเงินโลก; เพื่อประสานให้เกิดการกระตุ้นทางการคลังอย่างเพียงพอต่อการรับมือกับช่องว่างทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากภาวะชะลอตัวทั่วโลก; เพื่อออกแบบกฎระเบียบระดับโลกเสียใหม่สำหรับอนาคต; เพื่อปฏิรูปสถาบันรัฐระดับโลกที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันเหล่านั้นมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการในศตวรรษที่ 21

การจัดการกำกับดูแลไอเอ็มเอฟจะต้องได้รับการปฏิรูป มีเหตุผลเพียงพอทีเดียวที่ว่าหากเราคาดหวังจะให้ประเทศต่างๆ ที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น จีน มีส่วนร่วมมากขึ้นในสถาบันระดับพหุภาคีอย่างไอเอ็มเอฟแล้ว พวกเขาก็ควรจะได้รับเสียงที่ดังขึ้นในการร่วมตัดสินใจในเวทีเหล่านี้

ความท้าทายระยะยาวสำหรับรัฐบาลต่างๆ คือการจัดการกับความไม่สมดุลต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกสั่นคลอนในทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจที่ได้ดุลสูงอย่างจีน ญี่ปุ่น และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน กับประเทศลูกหนี้รายใหญ่หลายราย เช่น สหรัฐอเมริกา

ความร้ายแรงของวิกฤตและผลกระทบทั่วโลกหมายความว่าการปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่เชื่อกันมายาวนานเพียงเล็กน้อยจะไม่ช่วยอะไรได้ ความจริงสองประการที่ไม่อาจโต้แย้งได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือตลาดการเงินไม่สามารถแก้ไขตัวเองหรือกำกับตัวเองได้ตลอดเวลา และอีกข้อหนึ่งก็คือรัฐบาล (ระดับชาติหรือระดับนานาชาติ) ไม่เคยสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้เลย

สำหรับรัฐบาลต่างๆ นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เพียงแค่รักษาระบบตลาดเปิดไม่ให้ถูกทำลายลงด้วยตัวมันเองเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้งให้กับตลาดที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาสุดขั้วจากกลุ่มซ้ายจัดหรือขวาจัด

รัฐบาลต่างๆ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพราะมีเดิมพันที่สูงยิ่ง นั่นก็คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะสูญเสียจากการว่างงานระยะยาว ความยากจนที่จะแผ่ขยายความน่าประหวั่นพรั่นพรึงไปยังประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง และผลกระทบในระยะยาวต่อโครงสร้างทางอำนาจภายในระเบียบทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติที่ดำรงอยู่ ความสำเร็จจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางเลือก เพราะมีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะต้องอาศัยความสามารถของพวกเราเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

หมายเหตุ :

ต้นฉบับเดิมของบทความฉบับนี้ นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร The Monthly ของออสเตรเลีย บทความภาษาไทยนี้ตัดตอนและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพื่อนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชน โดยเฉพาะ เป็นกรณีพิเศษ



ที่มา: มติชน


Create Date : 17 มีนาคม 2552
Last Update : 17 มีนาคม 2552 18:23:36 น. 1 comments
Counter : 643 Pageviews.

 
Sawadee ka.


โดย: CrackyDong วันที่: 17 มีนาคม 2552 เวลา:21:01:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

byonya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




I am not a perfect, but simple!

 
 
Custom Search



 
 

Website น่าสนใจ  
 
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

เว็บการศึกษา Eduzones.com

Business Web Directory .biz - Business Directory
 


Word of the Day

This Day in History

Quote of the Day

Hangman




Friends' blogs
[Add byonya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.