Group Blog
 
All blogs
 

มันเป็นมากกว่าประสบการณ์





หลังจากศึกษาเรื่องความสำเร็จและกลยุทธ์มามาก

ผมพบว่าสิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จมักพูดถึงความสำเร็จของตัวเองมักถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะพวกเขาพูดบนพื้นฐานของประสบการณ์ของตัวเองคนเดียว และเราจะพบว่าคนประสบความสำเร็จแต่ละคนก็จะพูดถึงวิธีการประสบความสำเร็จแตกต่างกันออกไป ซึ่งยิ่งทำให้เห็นได้ว่า ต้องมีใครคนใดคนถึงพูดผิด และบางคนพูดถูก หรือพูดถูกทั้งหมด (อันนี้คิดแบบตรรกศาสตร์)

ในความเป็นจริง ประสบการณ์เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าถูกต้อง แต่ประสบการณ์ของคนๆ หนึ่งก็เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความจริงที่เกิดจากประสบการณ์ของคนทั้งโลก การจะรู้จักความจริง จึงต้องเกิดจากการศึกษาประสบการณ์ชีวิตของคนจำนวนมากๆ แล้วค้นหารูปแบบที่เกิดขึ้น รวมทั้งแยกแยะมันออกมาว่า ปัจจัยใดที่ใช่ และปัจจัยใดที่ไม่เกี่ยวข้อง (บางครั้ง บางคนก็ใส่ความคิดความเชื่อส่วนตัวเข้าไปในคำแนะนำของตน) ทักษะการวิเคราะห์จึงมีความสำคัญในส่วนนี้อีกเช่นกัน

ผมเคยพูดในเชิงประนีประนอมกับคนบางคนเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการถกเถียงอันไม่เกิดประโยชน์ด้วยคำพูดทำนองว่า "ประสบการณ์ต่างกัน" แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความจริงจะอยู่เหนือประสบการณ์ เพราะหากทุกคนเอาประสบการณ์ของตัวเองเป็นตัวตั้ง เราก็จะไม่ได้ความรู้ใหม่ๆ อะไรเลย เพราะทุกคนต่างเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

แต่หากเราเอาประสบการณ์นั้นมาแยกย่อย เราจะพบความรู้ใหม่ที่ดีกว่าเก่า เราจะรู้ว่า มันมีบางสิ่งที่ถูกเหนือกว่าประสบการณ์ของเรา ซึ่งประสบการณ์ของเราเป็นเพียงซับย่อยในหลักการนั้นเท่านั้น ทุกคนที่พูดจากประสบการณ์จึงมีส่วนถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด และไม่ถูกในทุกสถานการณ์

การเรียนรู้วิธีประสบความสำเร็จจากคนเก่งๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่รู้การเรียนรู้จากคนเก่งๆ หลายๆ คน ซึ่งจะทำให้เราเห็นบางสิ่งที่เหมือนกัน และบางสิ่งที่แตกต่างกัน อันทำให้เราเข้าใจคำว่า "กลยทธ์" ซึ่งหมายถึงไม่มีวิธีการสำเร็จรูปที่ตายตัว

การพยายามเลียนแบบเส้นทางการประสบความสำเร็จของคนอื่นมาใช้ทั้งหมด จึงผิดตามหลักกลยุทธ์ คนที่มีแบคกราวด์ต่างกัน ต้องใช้กลยุทธ์และกลวิธีในการประสบความสำเร็จแตกต่างกัน ซึ่งการจะวางกลยุทธ์ได้ ต้องเกิดจากการเข้าใจภาพใหญ่ ภาพรวม ภาพกว้าง ไม่ใช่รู้แต่ภาพย่อยภายใต้ประสบการณ์ของตนเองเท่านั้น

ตรงนี้เองที่เราจะพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักไม่ใช่อาจารย์ที่ดี เพราะเขารู้เพียงวิธีการที่เหมาะกับตัวเอง แล้วพยายามแนะนำให้คนอื่นใช้วิธีการนั้น ซึ่งหากผู้รับการแนะนำมีพื้นฐานต่างกัน ความสำเร็จก็จะไม่เกิด

รูปแบบหรือหลักการจึงสำคัญที่สุด เพราะมันจะอธิบายภาพที่ถูกต้องที่สุด ที่ไม่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และเกิดจากการนำประสบการณ์จำนวนมากมาหาข้อเท็จจริง อ่านมาก รู้มาก แต่ไม่สามารถเลือกหยิบกลยุทธ์ที่เหมาะกับตนเองมาใช้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ คนเราไม่ใช่จะเหมาะที่จะใช้ดาบกันทุกคน บางคนเหมาะจะใช้ทวน ใช้แส้ หรืออื่นๆ เป็นอาวุธ

เข้าใจตรงนี้ก่อน เราจึงจะไม่หลงไปกับการศึกษาเส้นทางความสำเร็จของคนบางคนเพียงคนเดียว แล้วพยายามก๊อปปี้ของเขามาใช้ครับ




 

Create Date : 10 กันยายน 2552    
Last Update : 10 กันยายน 2552 10:36:15 น.
Counter : 3973 Pageviews.  

ทักษะการวิเคราะห์และ Human Error




หลังจากที่ผมได้มีโอกาสสนทนา ถกเถียง หรือประชุมเพื่อวิเคราะห์เรื่องต่างๆ มาระดับหนึ่ง สิ่งที่ผมค้นพบอย่างหนึ่งก็คือ ในบรรดาการแสดงความคิดเห็นนั้น จะแตกต่างหลากหลายกันอย่างมาก แต่ถ้าเรานำทุกแนวทางนั้นลองปฏิบัติจริง มักจะมีแนวทางหนึ่งที่ถูกหรือดีกว่าอีกแนวทางหนึ่งเสมอ

หรือพูดง่ายๆ ว่าจะมีคนหนึ่งคิดหรือพูดถูกกว่าอีกคนหนึ่งเสมอ เพราะอะไร?

สาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ

ประการแรก การแสดงความคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ นั้นจะทำได้ดีต้องมีความรู้พื้นฐานประกอบ คุณจะวิเคราะห์ปัญหาบุคลิกภาพของคน คุณต้องศึกษาและเข้าใจวิชาจิตวิทยา(ทั้งเบื้องต้นและขั้นสูง) คุณจะวางแผนการตลาด คุณต้องเข้าใจหลักวิชาการตลาด คุณจะวิเคราะห์ปัญหาทางการเมืองได้ดี หรือคิดหาทางออกได้ดี คุณต้องรู้เส้นสน กลในของโครงสร้างการเมืองเสียก่อน คุณจึงจะคิดทางออกได้อย่างมีประสิทธิผล

แต่ผมพบว่า คนจำนวนหนึ่ง ไม่เข้าใจหลักการข้อนี้ จึงชอบแสดงความเห็นในเชิงวิเคราะห์ทุกเรื่อง โดยขาดความรู้พื้นฐาน จึงชอบวางแผนทุกเรื่องโดยขาดการรู้จริง โดยเฉพาะคนระดับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง ที่เข้าใจว่าตนเองรู้ทุกอย่าง ซึ่งท้ายที่สุดกลับสกัดกันไม่ให้การเจริญเติบโตของกิจการไม่ให้ไปได้ดีนัก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ประกอบการธุรกิจชุดหนึ่ง เพื่อร่วมกันทำโครงการบางอย่าง ซึ่งพอถึงเรื่องแผนประชาสัมพันธ์ แต่ละคนก็ช่วยกันวางแผนกันใหญ่ ซึ่งผมในฐานะที่จบมาทางด้านสายโฆษณา และมีพื้นฐานธุรกิจบางส่วนในสายมีเดีย รู้ว่าการวางแผนแบบนั้นผิดหมด ผิดเพราะขาดความเข้าใจในหลักพื้นฐานการประชาสัมพันธ์

เรื่องราวอื่นๆ ในโลกนี้ก็เช่นกัน ผมพบว่า ในแต่ละวันเรามักคิดวิเคราะห์หลายๆ เรื่อง แต่เรามักจะถูกที่สุดเฉพาะในบางอย่างที่เราอาจมีพื้นฐานความรู้ หรือมีพรสวรรค์ มีประสบการณ์

ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเคสแรกที่ทำให้ผมเข้าใจเรื่องนี้ คือ เรื่อง SWOT Analysis หลักการวิเคราะห์ปัญหา โดยอาศัย SWOT หรือการเอาจุดอ่อน จุดแข็ง โอาส และอุปสรรค มาใช้นั้น ไม่ยากเลย อธิบายแป๊บเดียวก็เข้าใจหลักการแล้ว

แต่... ถ้าให้นศ.ภาควิชาบริหารธุรกิจ วิเคราะห์ธุรกิจๆ หนึ่งโดยใช้ SWOT กับให้ผู้มีประสบการณ์มากกว่ามาวิเคราะห์ ผลจะออกมาแตกต่างกันมาก แตกต่างตั้งแต่การใส่รายละเอียดลงในช่องต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้จึงมาจากประสบการณ์

แม้กระทั่งในเหล่าผู้ที่อาจเรียกตัวเองว่ามีประสบการณ์เช่นกัน เช่นผู้ประกอบการธุรกิจ คุณก็จะได้คำตอบที่หลากหลายจากคนเหล่านี้ แต่จะมีคนเดียว หรือไม่กี่คนที่ทำได้ถูกต้องที่สุด เหล่านี้เรียกว่าทักษะการวิเคราะห์

สิ่งที่เป็นนามธรรมแบบนี้ สิ่งที่วัดผลไม่ได้แบบคณิตศาสตร์ที่ว่าใครผิดใครถูก แต่จะวัดผลได้เมื่อดูจากผลการปฏิบัติงานเท่านั้น จึงเป็นเรื่องยาก สิบคนก็วิเคราะห์ออกมาสิบอย่าง สิ่งเหล่านี้จึงเป็น Human Error หรือความบกพร่องของมนุษย์ที่ทุกคนมี ยิ่งถ้าเราพยายามจะคิดวิเคราะห์หรือวางแผนในสิ่งที่เราไม่ถนัด ไม่มีความรู้พื้นฐาน ผลที่ออกมาก็ยิ่งผิดพลาดเข้าไปใหญ่

และที่สำคัญก็คือ คนเรามักไม่รู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้เรื่องอะไร ผู้นำบางคนคิดว่าตัวเองมีภาวะผู้นำ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเดินตาม แต่อยู่ได้ด้วยตำแหน่ง ผู้ประกอบการธุรกิจบางคนคิดว่าที่ตัวเองประสบความสำเร็จมาได้ก็เพราะตนเองรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจ คนเหล่านี้จึงจำกัดระดับความสำเร็จของตัวเองไว้ที่ระดับหนึ่ง

แต่ความสำเร็จในระดับสูงจะเกิดขึ้นได้เมื่อ เรา "รู้ตัวเอง" ว่าเราถนัดอะไร เราไม่ถนัด หรือไม่รู้ในเรื่องอะไร แล้วมอบหมายงานที่ตนไม่รู้นั้นให้คนอื่นที่ถนัดกว่าทำ แผนงานที่เกิดขึ้นก็จะมีประสิทธิผลอย่างมาก ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานแบบ "มืออาชีพ" ที่ฝรั่งหรือคนไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเขาทำกัน

โลกนี้เปลี่ยนไปมากครับ การแข่งขันสูงขึ้นมาก ฉะนั้น คนที่ทำอะไรถูกกว่า ดีกว่า จึงจะเป็นผู้ชนะ มันไม่ง่ายเหมือนในอดีตนัก จะอยู่ในโลกยุคใหม่ได้ดี จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักตัวเองดีก่อน ว่าเราถนัดอะไร เราเก่งเรื่องอะไร แล้วถ้าจำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ควรหาคนอื่นมาเป็นที่ปรึกษาหรือช่วยเหลือจะดีกว่า (ถ้าทำได้) ครับ




 

Create Date : 05 กันยายน 2552    
Last Update : 5 กันยายน 2552 11:47:43 น.
Counter : 3575 Pageviews.  

หลักการเรียนรู้ จงเรียนจากผู้รู้จริง





ไม่ได้เข้าไปตอบกระทู้ที่เวบบอร์ด(ห้องสีลม)พักใหญ่ เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญก็คือ “ไม่รู้จะตอบอะไร” เพราะกระทู้ถามส่วนใหญ่จะเป็นการถามในประเด็นย่อยแบบ micro หรือแบบจุลภาคที่คนในเฉพาะวงการเท่านั้นที่น่าจะตอบได้ดี ส่วนกระทู้ถามแบบหลักการ หรือแบบภาพกว้างๆ ที่เป็น macro ซึ่งผมน่าจะถนัดกว่า เพราะศึกษามามาก ก็มีคนตอบหลากหลายมุมมอง หลากหลายประสบการณ์

ซึ่งหากมองแบบทั่วไป มันก็น่าจะดีอยู่ที่มีหลากหลายมุมมอง หากเป็นเรื่องของความคิดเห็นมันก็น่าจะโอเค แต่ผู้ตั้งกระทู้ถามก็ต้องกลับไปคิดพิจารณาเอาเอง ซึ่งปัญหามันก็จะมีอยู่แล้ว หากเมื่อผู้ถามเป็นผู้ที่ยังมีความรู้ไม่มาก หรือมีพื้นฐานวิธีคิดไม่ถูกวิธี แล้วการเลือกของพวกเขา จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะเลือกคำตอบที่ถูกไปใช้


ยิ่งกว่านั้น ในคำถามที่ต้องการความเห็นเหล่านั้น บางครั้งมันย่อมสอดแทรกด้วยองค์ความรู้ ที่หมายถึงการรู้จริง แนวทางคำตอบจึงจะออกมาอย่างถูกต้อง การตอบโดยใช้คอมมอนเซนส์ของผู้ตอบ จึงมักจะทำให้ผู้ถามเดินทางผิดได้ง่ายๆ คนเรามักจะคิดว่าตนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่มักจะมีความถนัด หรือองค์ความรู้เฉพาะทางบางอย่างเท่านั้นที่พวกเขารู้จริง

นักธุรกิจเมื่อไปเล่นการเมือง จึงมักล้มเหลว เพราะตลอดชีวิต พวกเขาทำแต่ธุรกิจ โอกาสที่จะสนใจเบื้องลึกในเรื่องการเมืองจึงน้อย หรือความถนัดในเกมการเมืองอาจจะน้อยกว่าคนที่สนใจในด้านการเมืองมาแต่แรกเริ่ม ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร หรือศึกษามาเรื่องการบริหาร อาจจะตอบเรื่องการบริหารไปแบบผิดๆ ได้ ผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจอาจจะตอบเรื่องการทำธุรกิจแบบผิดๆ ได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งว่า ผู้ที่อยู่ในธุรกิจสายหนึ่งและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อาจจะให้คำแนะนำที่ผิดๆ กับผู้ที่กำลังสนใจจะทำธุรกิจในอีกสายธุรกิจหนึ่ง เพราะแต่ละธุรกิจล้วนมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน



หากสนใจจะรู้เรื่องมหภาค คุณต้องไปถามคนที่รู้เรื่องมหภาค หรือสนใจเรื่องมหภาค (คนที่ประสบความสำเร็จในระดับจุลภาค ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเข้าใจมหภาค หรือหลักการของทั้งหมดนะครับ) หากคุณกำลังต้องการความรู้ในเชิงลึกของสายธุรกิจ คุณก็ต้องเลือกดูก่อนว่าคนๆ นั้นอยู่ในสายธุรกิจนั้นจริง และเขาประสบความสำเร็จมาจากฝีมือ หรือการรู้จริง (บางคนประสบความสำเร็จ เพราะอาศัยเส้นสายก็มี)

นี่หลักการของการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ในโลกนี้ ทุกๆ วงการ หรือทุกๆ แขนงความรู้นั้น มีคนเพียงไม่กี่คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงที่สุด แต่คนทั่วไปนั้น อาจรู้เพียงผิวเผิน หรือไม่รู้จริง




หากคุณกำลังอยากจะศึกษาวิชาการบริหารที่ดี แน่นอนว่า คุณควรจะไปศึกษากับนักบริหารฝีมือยอด หรือไปหาอ่านตำราที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญที่ทำวิจัยศึกษามาอย่างดี ไม่ใช่ไปถามคนทั่วๆ ไป หรือเพียงไปถามคนที่อายุมากกว่า

ฉะนั้น มองในแง่หนึ่งแล้ว การเรียนรู้ที่ดี หรือดีที่สุด (หากมีโอกาส) ก็คือการเรียนรู้จากคนที่รู้จริงเพียงคนเดียว จะดีกว่าการเรียนรู้จากคนจำนวนมากที่ไม่ได้รู้จริง หากจะหาอาจารย์ ก็จงหาอาจารย์ที่ดีที่สุด ที่เก่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งท่านเหล่านั้นจะให้ข้อคิดที่ดีกับคุณมากกว่าคนอีกนับร้อยนับพัน

แต่แน่นอนที่ท่านเหล่านี้ก็ไม่ได้รู้ไปเสียซะทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่อง ในแต่ละเรื่องที่เราอยากรู้ เราก็จึงควรจะมีอาจารย์แยกออกไปในแต่ละแขนง นั่นแหละ ที่จะทำให้คุณเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ซึ่งต้องขอบบอกตรงๆ ว่ามักจะหาไม่ได้จากเวบบอร์ด (จำไว้ว่า คนเก่งจริงๆ มักจะมีงานยุ่งมากเสมอ หรือคนเก่งจริงๆ มักจะชอบสังคมที่เต็มไปด้วยคนเก่งๆ ด้วยกัน เพราะมันสนุกกว่า)


การถามคำถามในเวบบอร์ดที่ดี จึงควรจะรู้ว่าผู้ตอบมีคุณวุฒิหรือความเชี่ยวชาญเรื่องอะไรเป็นพื้นฐาน และมีการอธิบายให้เห็นภาพ หรือให้เหตุผลว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น(ให้หลักการ) ไม่ใช่การให้แต่ตัวคำตอบห้วนๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้เราเข้าใจ หรือนำไปปรับใช้ได้ในระยะยาว

ส่วนคนตอบ ก็ควรจะตอบเฉพาะเรื่องที่คิดว่าตัวเองรู้จริง หรือมีประสบการณ์ที่ยาวนาน ไม่ใช่การตอบสะเปะสะปะในเรื่อย ในทุกๆ เรื่อง



แน่นอนว่า แนวคิดแบบนี้ อาจจะทำให้ Traffic หรือความหนาแน่นในการตอบของแต่ละกระทู้น้อยลง ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของเวบต้องการ แต่มันก็จะทำให้เราทุกคนเข้าสู่แนวคิดที่ถูกต้องของการแสวงหาความรู้ และการแสดงความรู้ บนหลักของ”ความเชี่ยวชาญ” ซึ่งหมายถึงเชิงลึก อันตรงข้ามกับเชิงกว้าง (อุปสรรคประการหนึ่งของการพัฒนา ก็คือการที่เราคิดว่ารู้ ในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือเราไม่ได้เชี่ยวชาญ) เป็นการจัดการความรู้ที่ถูกต้องอย่างหนึ่ง

หลักการนี้จะไปตรงกับหลักการบริหารที่มีผลการวิจัยและพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลดีที่สุด นั่นคือ การ Put the right man to the right job ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง หรือแต่ละส่วนนั้น อาจจะอาศัยความรู้จริงของคนๆ เดียวที่ดูแลแผนกนั้นขององค์กรเท่านั้น ไม่ใช่การนำทุกเรื่องเข้าที่ประชุมที่มีคนนับร้อยๆ แล้วจะได้คำตอบที่ดีเสมอไป (คนเรารู้จริงเพียงบางเรื่องเท่านั้น เสมอ) แต่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่มีหน้าที่ที่จะ Put คนนั้น ต้องรู้จักตัวเอง และ Put ตัวเองให้ไปอยู่ถูกที่เสียก่อน เพราะการอ่านคนและเลือกคน มันก็เป็นศาสตร์ๆ หนึ่งที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอยู่เหมือนกัน

จงมุ่งศึกษาจากคนที่รู้จริง และจงมุ่งทำตนให้เป็นคนที่รู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วโอกาสในการประสบความสำเร็จจะสูงขึ้นครับ






 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 14:46:32 น.
Counter : 4561 Pageviews.  

จะถือหุ้นเล็กในบริษัทใหญ่หรือถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเล็กดี? (กลยุทธ์)



เป็นอีกคำถามหนึ่งที่อาจมีคนถามบ่อย และก็มักมีความคิดเห็นและเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แม้อาจดูคล้ายคำถามเรื่องหัวหมากับหางสิงห์เมื่อคราวก่อน แต่หากพิจารณาให้ดีก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านรายได้ และความเสี่ยง เพราะการเป็นพนักงานประจำนั้น ความเสี่ยงจะมีน้อย การได้ลองเป็นหัวสิงห์ที่มีโอกาสในการควบคุมโชคชะตาของตัวเองจึงสำคัญ และการเป็นหางสิงห์จึงอาจมีโอกาสเติบโตน้อยกว่า

ในขณะที่การนำเงินไปลงทุนในบริษัท จะมีโอกาสได้เงินคืนรวมทั้งผลกำไรมากกว่า การนำไปลงทุนในบริษัทเล็ก(โดยเฉพาะที่กำลังจะเริ่มต้น) สองเรื่องนี้แม้ดูคล้ายจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่แน่นอนว่า คำตอบต่อคำถามเราสมควรจะเลือกลงทุนในบริษัทไหนดี ที่เป็นคำตอบสำเร็จรูปที่แน่นอนตายตัวนั้นคงไม่มี เพราะบริษัทแต่ละบริษัทก็ล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป โอกาสเจริญเติบโตก้าวหน้าก็ต้องวิเคราะห์กันเป็นกรณีๆ ไป

และเมื่อเราจะเริ่มจากมุมมองเป็นกลยุทธ์แบบกว้างๆ ก่อน ก็ต้องบอกว่าโดยหลักของธุรกิจนั้น ยิ่งมีความแข็งแกร่งมาก บริษัทนั้นยิ่งได้เปรียบและโอกาสล้มเหลวน้อย และบางทีโอกาสทำกำไรก็จะมากกว่าบริษัทเล็กเสียอีก เพราะการทำธุรกิจคือการแข่งขัน และผู้ที่แข็งแรงย่อมได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอ

ฉะนั้น ถ้าเรามีเงินอยู่จำนวนหนึ่งและอยากนำเงินนั้นไปลงทุนทำธุรกิจ โดยมีสองบริษัทในธุรกิจเดียวกันให้เลือก ก็อาจตอบโดยกว้างๆ ว่าการนำเงินไปลงทุนในบริษัทที่ใหญ่จะดีกว่า

แต่หากเป็นสองบริษัทที่อยู่ในคนละธุรกิจ ก็อาจต้องพิจารณาสภาพโอกาสในการแข่งขันของบริษัททั้งสองมาพิจารณาประกอบ ซึ่งบางครั้ง บริษัทเล็กที่กำลังเกิดในธุรกิจใหม่ที่มีการแข่งขันน้อยก็อาจมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า

และข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ที่มีวิญญาณของการเป็นนักธุรกิจ(แตกต่างจากนักลงทุน) หลายๆ คนชอบก็คือ การได้ควบคุมทิศทางชีวิตและธุรกิจของตนเอง และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเองหลายคนเลือกที่จะเป็นหุ้นส่วนใหญ่(หรืออาจเป็นเจ้าของคนเดียว)ในบริษัทเล็ก มากกว่าที่จะเป็นเพียงหุ้นเล็กๆ ในบริษัทใหญ่อย่างบริษัทมหาชน

เมื่อมามองแบบผสมผสาน และนำข้อดีสองอย่างมาบวกกัน ผมคิดว่าผู้ที่มีเงินเย็นอยู่และสนใจจะเริ่มทำธุรกิจ สมควรนำเงินนั้นไปลงทุนในบริษัทใหญ่(เป็นหุ้นเล็กก่อน) แม้ว่าบริษัทนั้นอาจไม่ได้ใหญ่ขนาดบริษัทมหาชน เพื่อทำให้ตนเองมีฐานที่มั่น(มีรายได้) ที่แน่นอนก่อน ปลอดภัยไว้ก่อน รวมทั้งอาจเป็นที่ๆ คุณสามารถจะได้เข้าไปศึกษาวิธีการทำธุรกิจให้เชี่ยวชาญมากขึ้นเสียก่อน จนเมื่อพร้อมและอยากทำกิจการของตัวเองอีกสักธุรกิจหนึ่ง จึงค่อยนำผลกำไรจากธุรกิจแรกหรือเงินทุนที่ยังพอมีเหลือมาริเริ่มกิจการเล็กๆ ที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพในการแข่งขันได้อีกทีหนึ่ง ก็จะลดความเสี่ยงไปได้มาก

นี่เป็นเพียงคำแนะนำจากแนวคิดส่วนตัวในเชิงกลยุทธ์ของผม แม้ผมจะไม่ได้เริ่มธุรกิจด้วยเส้นทางแบบนั้น แต่มาในวันนี้ที่ผ่านประสบการณ์มาบ้าง ผ่านการเรียนรู้เรื่องกลยุทธ์เกี่ยวกับธุรกิจมาอีกพอสมควร จึงคิดว่าเส้นทางแบบนี้น่าจะดีที่สุด

จากสองบทความที่ผ่านมา คุณจะพบว่า การคิดเป็นกลยุทธ์จะเป็นการคิดแบบผสมผสาน ที่ไม่ใช่การเดินเป็นเส้นตรง แต่เป็นการเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของเราในขณะนั้น และมีการวางแผนเป็นขั้นตอน เช่น เมื่อบรรลุแผนที่ 1 แล้ว จะต่อด้วยแผนที่ 2 และ 3 อย่างไร หรือหากเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามแผนจะแก้ไขอย่างไร การคิดเป็นกลยุทธ์จึงเป็นการคิดแบบมองเป็นช๊อตๆ เหมือนในเกมหมากรุก หมากล้อม หรือกระทั่งเกมสนุกเกอร์ แม้ว่าการพลาดพลั้ง 1 หมากอาจทำให้ต้องวางแผนใหม่เกือบทั้งหมด แต่ถ้าสำเร็จ การคิดเป็นแผนจะทำให้หมากต่อไปง่ายขึ้นมาก เพราะทุกอย่างเริ่มปะติดปะต่อ หรืออาจเหมือนกับการวางแผนทิศทางของลูกสนุกเกอร์ให้ไปอยู่ในจุดที่ง่ายต่อการทำแต้มในช๊อตต่อไปมากที่สุด การคิดเป็นแผนและเป็นกลยุทธ์จึงทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นเยอะ แต่ก็ต้องบวกกับฝีมือในการทำให้แต่ละช๊อตสำเร็จลุล่วงด้วยนะครับ




 

Create Date : 30 เมษายน 2551    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 17:45:47 น.
Counter : 2885 Pageviews.  

จากหางหมาสู่หัวสิงห์ กลยุทธ์ไต่บันไดองค์กร




มีคำถามยอดฮิตอยู่บ่อยๆ จะต้องเลือกระหว่างเป็นหัวหมา(ผู้นำองค์กรเล็ก)กับหางสิงห์(ผู้ตามองค์กรใหญ่) จะเลือกอย่างไรดี? ในฐานะของนักกลยุทธ์ ที่คิดอะไรก็จะออกไปทางกลยุทธ์เป็นหลัก ผมจึงอยากแสดงความเห็นเป็นกลยุทธ์สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนสำหรับการก้าวเดินในองค์กรดังนี้ครับ

ก่อนอื่นก็ต้องสรุปกันก่อนว่าแท้จริงแล้ว เป้าหมายของทุกคนที่ต้องการก้าวหน้าในองค์กรก็คือ การก้าวไปสู่การเป็นหัวสิงห์(ถ้าทำได้) ฉะนั้นจุดสุดท้ายของเป้าหมายก็คงไม่ใช่ หัวหมาหรือหางสิงห์ที่ตั้งเป็นคำถามกัน การเป็นหัวหมาหรือหางสิงห์ หรือตัวสิงห์ จึงเป็นเพียงขั้นตอนระหว่างกลางที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า กลยุทธ์ที่จะใช้จึงเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในหมากต่อไปมากกว่า

เมื่อเกี่ยวข้องกับหมากต่อไป ก็ย่อมจะต้องคิดพิจารณาว่า อะไรที่เป็นปัจจัยที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในการทำให้ชีวิตการงานก้าวหน้า ? อะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้โอกาสในการไต่บันไดเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว คำตอบโดยทั่วๆ ไปก็คือ 1.ผลงานที่จะบ่งบอกถึงความสามารถของเราได้ระดับหนึ่ง(เวลาที่ไปสมัครงานที่อื่น) เช่น ผลงาน ตำแหน่ง หรือชื่อเสียงของบริษัท 2.อาจเกี่ยวกับคอนเนคชั่น 3. อื่นๆ ซึ่งเอาเป็นว่าพิจารณาเฉพาะสองอย่างแรกก่อนก็แล้วกัน

เมื่อมาถึงตรงนี้ งานที่เราจะรับทำไม่ว่าจะเป็นหัวหมาหรือหางสิงห์ จึงต้องเน้นที่เครดิตด้านชื่อเสียงหรือผลงานเป็นหลัก ส่วนเรื่องรายได้นั้นควรพิจารณาให้อยู่ในระดับมาตรฐานก็น่าจะพอ

เครดิตและผลงานนั้น ย่อมมาจากบริษัทที่เราสังกัดอยู่ด้วย แต่หากการอยู่ในองค์กรใหญ่แต่ไม่มีบทบาท ไม่มีผลงาน การจะนำเครดิตตรงนี้ไปใช้ก็น่าจะยาก แต่หากเป็นตำแหน่งในบริษัทที่เล็กกว่า แต่มีผลงานที่จับต้องได้ พิสูจน์ได้ ก็จะดีกว่า และถ้าได้ทั้งสองอย่างก็จะดีมาก

แต่ปัญหาของการสังกัดบริษัทใหญ่ก็คือ ระเบียบขั้นตอนมากมาย ทำโครงการอะไรก็อาจไม่รวดเร็วทันใจ คนเก่งๆ ก็มีมาก การจะมีโอกาสแสดงผลงานที่ดีในองค์กรใหญ่จึงค่อนข้างยาก ถ้าไม่เก่งจริงๆ

การเลือกเติบโตในองค์กรเล็กแต่มีโอกาสแสดงผลงานจึงน่าจะดีกว่า ยิ่งเมื่อมีความก้าวหน้าไปอยู่ในระดับหัวหน้างานหรือหัวหน้าองค์กร(หัวหมา) ก็จะยิ่งดี เพราะนั่นจะเป็นการที่เราได้ควบคุมชะตาชีวิตของตัวเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราด้วยว่าจะทำได้ดีเพียงใด การพยายามทำงานที่เหมือนกับได้ควบคุมหางเสือเรือของตนเองได้ตลอดเวลา จะทำให้เราสามารถทำอะไรได้ดั่งใจมากขึ้น

เมื่อเราสามารถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเป็น"ผู้ควบคุม"ได้ตลอดเวลา และเป็นผู้สร้างผลงานได้สม่ำเสมอ เราก็สามารถก้าวจากหัวหมา ไปเป็นหัวสิงห์ ไปเป็นหัวมังกร ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ได้

ในทางกลับกัน หากเราเลือกงานที่ตัวองค์กร โดยไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแสดงผลงานได้ ไม่สามารถควบคุมชะตาชีวิตตนเองได้ หากมีนายที่ดีก็ถือว่าโชคดีไป แต่หากไปได้นายที่แย่ก็จะเหมือนถูกดองไว้ให้หลงกับภาพพจน์เหล่านี้ บางทีเพื่อนๆ ที่เดินไปในสายองค์กรเล็กอาจมีความก้าวหน้ามากกว่าได้

อีกประเด็นของการเลือกองค์กรใหญ่ก็คือ ต้องระวังการเข้าไปทำงานในองค์ใหญ่ที่กำลังเป็นขาลงของธุรกิจ จะทำให้อนาคตตีบตันได้ คนที่เลือกงานในบริษัทที่ดูมีแนวโน้มกำลังก้าวหน้าจะช่วยได้มาก โอกาสการขยายการเติบโตของบริษัทและการเพิ่มตำแหน่งระดับสูงมีมาก แบบนี้ก็จะง่ายขึ้น โดยแทบไม่ต้องทำอะไรมาก

เรื่องคอนเนคชั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนทำงานไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือคนที่วางแผนจะทำธุรกิจต้องสะสม การรู้จักคนมาก รู้จักคนสำคัญ รู้จักคนเก่งในวงการที่เกี่ยวเนื่อง จะช่วยให้มีโอกาสสำหรับความก้าวหน้าได้หลายประการเช่นกัน หลายคนมีโอกาสก้าวหน้าดีมาก เพราะรู้จักคนมากกว่าแค่ในองค์กร ทำให้มีการดึงตัวไปทำงานสำคัญอยู่บ่อยๆ เป็นการก้าวกระโดดอีกวิธีหนึ่งครับ


ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา จะเห็นว่า การวางกลยุทธ์สำหรับการก้าวเดินในสายงานประจำ จะมองที่โอกาสในการแสดงผลงาน และโอกาสในความก้าวหน้าเป็นหลัก คำตอบตายตัวจึงไม่มี บริษัทใหญ่ก็ดีถ้ามีโอกาสเติบโตด้วย หรือบริษัทเล็กก็ได้ ถ้าได้แสดงและสะสมผลงานให้ตัวเอง

ยุทธศาสตร์คือการวางแผนระยะยาว จงวางยุทธ์ศาสตร์ของตัวเองก่อนก้าวเดิน จงมองเส้นทางอนาคตของตัวเองแบบมีการวางแผนระยะยาวครับ แล้วจะไปถึงฝันที่สูงได้

โชคดีทุกคนครับ <




 

Create Date : 23 เมษายน 2551    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 17:28:03 น.
Counter : 5470 Pageviews.  

1  2  3  

Jimmy Walker
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




จากทักษะของการเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ บวกกับความสนใจใน"กระบวนการ"และ"ปัจจัย"ที่ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จ ที่ทำให้ผมศึกษาและวิเคราะห์กรณีศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวจำนวนมาก จนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้พอที่จะขอเรียกตัวเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งความสำเร็จ"
Friends' blogs
[Add Jimmy Walker's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.