Group Blog
 
All blogs
 

กลยุทธ์การเลือกคบคน(ตอนที่ 2) นาย ลูกน้อง คู่ค้า



ตอนที่แล้วกล่าวเรื่องการคบเพื่อนกับการเลือกคู่ครองซึ่งค่อนข้างเกี่ยวโยงไปทางชีวิตส่วนตัวมากหน่อย มาคราวนี้ที่เหลือจะออกไปทางชีวิตการงานมากขึ้นครับ สมัยก่อนตอนที่ผมยังไม่สันทัดในการอ่านคน หรืออ่านคนไม่ลึกซึ้ง รวมทั้งยังขาดแนวคิดแบบกลยุทธ์เป็นประเด็นร่วม การคบคนก็สะเปะสะปะ อาศัยเพียงความถูกคอถูกอัธยาศัยกันเท่านั้น และผมเชื่อว่าหลายคนก็ยังเป็นแบบนี้อยู่

แต่มาวันนี้ประสบการณ์มากขึ้น บวกกับการคิดแบบกลยุทธ์และการศึกษาคนที่ประสบความสำเร็จ ก็จะเห็นได้ว่า “การได้คบคนที่ดี ที่ถูกนั้นเป็น Key Success ตัวหนึ่ง” ของความสำเร็จของเขาเหล่านั้นทีเดียว หลายคนได้สามี-ภรรยา สนับสนุน หลายคนได้เพื่อนและสังคมที่ดี และหลายคนความสำเร็จเกิดจากการได้นายที่ดีเพียงคนเดียวเท่านั้น มีประวัติของผู้ประสบความสำเร็จบางคนที่อาจมีแววในตัวเองอยู่เป็นเบื้องต้น และได้มีโอกาสมีนายดีตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิต คนเหล่านี้จึงได้รับการถ่ายทอดทั้งความรู้ ความคิดดีๆ ทุกอย่างมาในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้พบอาจารย์ดี หรือนายดี เขาเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยตัวเองอีกมาก และต้องใช้พลังของตัวเองทั้งหมด แทนที่จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่มีศักยภาพเหนือกว่า ซึ่งทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้น

ปัจจุบันนี้ แม้ผมจะไม่มีนาย เพราะเป็นนายของตัวเองในงานธุรกิจ แต่ก็ยังแสวงหาการคบกับ “ผู้ใหญ่” ที่เก่งกว่า มีประสบการณ์มากกว่า เพื่อเป็นอาจารย์หรือผู้นำในชีวิตอยู่เสมอ ท่านเหล่านี้ช่วยให้ผมก้าวหน้าได้เร็วมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ผมก็ยังพยายามพัฒนาการ”อ่าน(คน)” และ “เลือก(คน)” ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งผมก็ได้นำเอาแนวคิดเหล่านี้มาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ลองนำไปปรับใช้กันบ้างครับ






การเลือกนาย

ในชีวิตจริงนั้น การจะได้เจอนายที่ดีแบบสมบูรณ์แบบนั้นเป็นโอกาสที่ยากมาก ตามหลักทั่วไป “คนเก่งย่อมมีน้อย” ฉะนั้นข้อแนะนำในการเลือกนายก็คงไม่ได้สนับสนุนให้เลือกมาก จนกลายเป็น “กบเลือกนาย” ที่สุดท้ายก็ได้นายแย่ๆ แต่การไม่รู้จักเลือกเลยนั้น ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในชีวิตได้เหมือนกัน ฉะนั้นการรู้จักเลือกนายจะช่วยได้มาก เมื่อเราเติบโตทางศักยภาพของเราเองแล้ว อาจค่อยเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายที่ดีขึ้น เก่งขึ้น เพื่อปรับศักยภาพของเราขึ้นไปอีกที

ในมิติของการเลือกนายนั้น เราก็ต้องมาถามกันก่อนว่า นอกจากการมองนายในฐานะผู้บังคับบัญชาที่เราต้องทำงานให้(เพื่อแลกกับเงินเดือนแล้ว) เรายังต้องการอะไรจากนาย ในฐานะผู้ที่จะให้ประโยชน์แก่เราได้ เท่าที่เราแสวงหา ซึ่งคำตอบก็น่าจะมี 3 สิ่งที่เราจะได้จากนายดังนี้ คือ
1.ความรู้-ความสามารถ
2.เครดิตการทำงาน
3.การผลักดันสนับสนุน


เหล่านี้จึงสามารถแปรออกมาเป็นรูปแบบของนายที่เราจะต้องมองให้ออกและเลือกก็คือ

1.นายเก่งและมีความสามารถ – เพื่อที่เราจะได้สามารถเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะในการทำงาน ความคิด และการแก้ปัญหาได้

2.นายชอบสอน
– ข้อนี้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถอยู่ แต่เป็นตัวช่วยเพิ่มขึ้น เพราะบางครั้งได้นายบางคนเก่งก็จริง แต่นายไม่ชอบสอน หรือแม้กระทั่งหวงวิชาความรู้ แบบนี้ก็เป็นอุปสรรค และเราก็ต้องหาทางเรียนรู้จากเขาด้วยตัวเอง ซึ่งจะต่างกับการมีนายที่เก่งและชอบสอนด้วย แบบนี้เราก็จะพัฒนาได้เร็ว

3.นายให้โอกาส – การให้โอกาสแสดงความสามารถนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะเพิ่มทั้งความมั่นใจและทักษะในการปฏิบัติงานจริงให้แก่เรา รวมทั้งทักษะในการนำด้วย อีกทั้งยังได้เครดิตในฐานะ “ผลงาน” ที่เราจะอ้างอิงได้มาเป็นของแถม นายที่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ทำงาน เพราะกลัวลูกน้องจะได้หน้า ลูกน้องจะเด่นกว่า ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง

4.นายสนับสนุน – ใครได้นายมาถึงขั้นที่ 4 นี้ ถือว่าได้พบสุดยอดของนาย เพราะถ้าเขาสามารถให้การสนับสนุนให้เราไปเติบโตยิ่งขึ้นได้ แสดงว่าเขาต้องให้ทั้งหมดของข้อที่ผ่านมาก่อนแล้ว และนายประเภทนี้เป็นนายประเภทที่ดีจริง ให้หมดและปรารถนาดีต่อเราจริงๆ ซึ่งหายากมาก แต่ถ้าได้พบก็ถือเป็นโชคดีมหาศาลครับ

* แต่ข้อควรระวังของการเลือกนายประการหนึ่งก็คือ ต้องระวังเรื่องสิ่งไม่ดีไม่ควร เช่น เรื่องทุจริต หรือการเมืองที่มากเกินไป บางครั้งนายเก่ง นายดีต่อเรา แต่การคบนายแบบนี้สุดท้ายอาจจะทำให้เราต้องเข้าไปพัวพันกับวงจรไม่พึงประสงค์และมีผลร้ายกลับมายังเราได้ครับ






การเลือกลูกน้อง

การเลือกลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น อันดับแรกผมให้ความสำคัญกับ “ความรับผิดชอบ” มาก่อนอันดับหนึ่ง และความสามารถมาอันดับสอง การทำงานกับคนเก่งที่ขาดความรับผิดชอบนั้น น่าหนักใจยิ่งกว่าการทำงานกับคนที่ทุ่มเทรับผิดชอบแต่ความสามารถไม่พอ

การเลือกลูกน้องนั้น คือ การเลือกผู้ร่วมงาน ดีลกันด้วยงาน ฉะนั้นเขาจะต้องมีแรงจูงใจอยู่ในกลุ่ม Success Centered เป็นหลัก(ดูกลยุทธ์การอ่านคนข้อที่ 1 แรงจูงใจ) และถ้าเป็น Work Centered จะยิ่งดีมาก เพราะแรงจูงใจของเขาคือ การได้ทำและแสดงผลงาน เรื่องอื่นจะเป็นเรื่องรอง แต่ถ้าเป็นคนมี Success Centered ในกลุ่มอื่น เช่น Money Power หรือ Reputation ก็ต้องมีสิ่งเหล่านั้นมาตอบสนองให้ได้ พวกเขาจึงจะมีแรงจูงใจในการทำงาน

การได้ลูกน้องดีนั้น จะช่วยให้ผลงานของนายบังเกิดด้วย แต่การจะปกครองคนดีคนเก่งนั้น แน่นอนว่าย่อมยากกว่าปกครองคนไม่เก่ง ฉะนั้นคนเป็นนายพึงหมั่นพัฒนาทักษะในการเป็นนายที่ดีด้วย อย่าลืมว่า “ในขณะที่เราเลือกเขา เขาก็เลือกเราด้วยเหมือนกัน”







สุดท้าย การเลือกคู่ค้า

หลายคนทำธุรกิจโดยไม่ค่อยเลือกคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์หรือลูกค้า ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เพิ่งเริ่มหรือบริษัทเล็กๆ มักจะมีโอกาสเลือกน้อย หลายครั้งจึงได้คู่ค้าที่ไม่มีคุณภาพและหลุดรอดมาจากบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งเราจะต้องรู้จักสกรีนให้หนักขึ้น เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซัพพลายเออร์บางคนขาดความรับผิดชอบ ต้องตามแก้ไขปัญหาตลอด แบบนี้ควรตัดทิ้งไปโดยเร็ว(เพราะเราอยู่ในฐานะผู้เลือกมากกว่า) แต่หากเป็นการดีลกับลูกค้า ซึ่งเราอาจต้องการยอดขาย แต่ก็ควรรู้จักเลือกเช่นกัน การเลือกลูกค้าผิด โดยเฉพาะยอดขายสูงๆ นั้นอาจนำมาซึ่งหายนะได้ ปัจจุบันนี้ ลูกค้าของผม จะไม่เลือกที่เป็นรายใหญ่หรือไม่(ภายนอก) แต่จะดูที่ประสิทธิภาพในการดีลงานกันยุ่งยากเกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับรายได้ และระบบการชำระเงินเป็นอย่างไร



การรู้จักเลือกเหล่านี้ ทำให้ปัญหาที่ผมเคยพบเมื่อสมัยก่อนลดน้อยลงไปมาก ฉะนั้น เมื่อรวมประสบการณ์ทั้งหลายเข้าด้วยกันแล้ว การรู้จักอ่านคนให้ละเอียด และการรู้จักเลือกคบคนนั้น จะช่วยขจัดปัญหาออกไป และเพิ่มโอกาสเข้ามาแทน แต่แน่นอนครับ การจะทำให้ได้ดีจริงๆ ทุกอย่างต้องมีประสบการณ์ร่วมด้วย ประสบการณ์มากจะทำให้เราทำได้ดีขึ้น ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ ขอให้คุณทุกคนโชคดีครับ






 

Create Date : 09 เมษายน 2551    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 17:42:02 น.
Counter : 5108 Pageviews.  

กลยุทธ์ คบคนให้ถูกคน




กลยุทธ์เรื่องคนนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเส้นทางในการบรรลุความสำเร็จในชีวิต เพราะชีวิตคนเรานั้นต้องเกี่ยวข้องกับคนเสียเป็นคนส่วนใหญ่ พบคนดีๆ ชีวิตง่ายขึ้นเหมือนมีตัวช่วย พบคนไม่ดีเหมือนมีตัวฉุดรั้งเกิดอุปสรรคในชีวิต นอกจากคนในครอบครัวที่เราไม่อาจเลือกได้แล้ว ที่เหลือเราสามารถเลือกได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคู่ครอง เป็นเพื่อน เป็นนาย เป็นลูกน้อง เป็นลูกค้า เป็นคู่ค้า ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อเราอย่างมาก

แม้ในความเป็นจริง การเลือกก็จะเกี่ยวกับโอกาสและศักยภาพของเราด้วย ที่จะหาคนที่ดีอย่างที่ต้องการได้มากน้อยแค่ไหน และในทางกลับกัน เรามีคุณภาพหรือมีคุณสมบัติพอที่ทำให้คนดีๆ เหล่านั้นอยากคบเราด้วยหรือไม่ แต่หากเราพอเข้าใจหลักการและใช้ความพยายาม เราก็จะมีโอกาสที่จะเลือกคบคนที่ดีได้มากขึ้น ผมจึงอยากจะขอเสนอแนะแนวทางหลักในการคบคน โดยใช้แนวคิดเรื่องกลยุทธ์การอ่านคนข้อ 1 (กลยุทธ์การอ่านแรงจูงใจของคน) ที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ มาเป็นตัวช่วยในการพิจารณาดังนี้

การเลือกคู่ครอง

หลายคนอาจมีแฟนหรือกระทั่งอาจแต่งงานแล้ว แต่หลายคนอาจยังโสดและกำลังมองหาอยู่ การมองหาคู่ครองที่ดีนั้นต้องมีความเป็น Family Centered อยู่ในระดับต้นๆ ของชีวิตเขา แม้อาจไม่สูงที่สุด แต่ควรติด 1 ใน 2 หรือ 3 อันดับต้น และไม่ควรมีระดับความสำคัญต่างกันมากนัก เช่น โดยปกติผู้หญิงมักจะมี Family Centered อยู่ในอันดับหนึ่งเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะระดับความทะเยอทะยานในการงานมักไม่สูงเหมือนผู้ชาย แต่สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการคบผู้หญิงเพื่อที่จะเป็นคู่ครองคือ Self Centered เพราะคนเหล่านี้มักเอาแต่ใจตัว และบางครั้งไม่ค่อยยอมปรับตัวเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาตลอด แบบนี้ชีวิตคู่คงไม่มีความสุข

ในด้านฝ่ายชาย ต้องยอมรับว่า โอกาสที่ผู้ชายโดยเฉพาะที่เรามักมองว่าเขาเก่งนั้น จะมีกลุ่ม Success Centered อยู่ในความต้องการอันดับหนึ่งเสียเป็นส่วนใหญ่ Family มักมาเป็นข้อสอง หรือบางคนก็เป็นข้อหลังๆ ท้ายๆ เลยก็มี ซึ่งสิ่งนี้ฝ่ายหญิงต้องเลือกอย่างระมัดระวัง และอย่าให้ Family จะต้องตกไปอยู่อันดับท้ายๆ หรือมีระดับความสำคัญห่างกับงานหรือความสำเร็จที่เป็นอันดับหนึ่งมากนัก ไม่งั้นวันหนึ่งคุณอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติเช่น คนสำคัญเท่าที่ควร

แต่ก็มีนะครับที่ผู้ชายบางคนจะมีลักษณะเป็น Family Centered ในอันดับหนึ่ง ครอบครัวมาก่อนมาอันดับหนึ่งเสมอ(คนดังๆ ที่ผมเห็นก็น่าจะเป็นบอย โกสิยพงษ์ นั่นแหละครับ) และผู้หญิงที่มี Success Centered มาอันดับหนึ่งก็มี ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักมีบุคลิกแบบหญิงเก่งนั่นแหละ ข้อน่าแปลกซึ่งเป็นธรรมชาติของผู้ชาย(แต่บางคนอาจบอกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวก็คือ) ผู้ชายเก่ง แม้อาจจะมีโอกาสชอบหญิงเก่งอยู่เหมือนกัน แต่มักไม่ชอบให้เก่งกว่า โดยเฉพาะในสายงานเดียวกัน คือ เก่งได้ แต่ต้องรองจากฉันนิดหน่อย อะไรอย่างนั้น(นี่แหละครับมนุษย์ผู้ชาย) เราจึงแทบจะไม่พบหญิงเก่งกับชายเก่งที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีมากๆ ได้บ่อยนัก(ถ้ามีก็มักเป็นการเก่งคนละทาง) บางครั้งอยู่ด้วยกันจริง แต่ต่างคนต่างบ้างานจนความสัมพันธ์เนือยๆ ไปก็มีครับ

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนล้วนต้องการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ไม่ว่าหญิงหรือชายจึงต้องการการสนับสนุนจากคู่ครอง เพื่อให้ตนเองก้าวหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจหรือการผลักดันอย่างอื่น ฉะนั้นเขาคนนั้นจะต้องมี Family Centered อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยเหมือนกัน เขาจึงจะสนใจความต้องการหรือความก้าวหน้าของคุณด้วย ไม่ใช่สนใจแต่ความก้าวหน้าของตัวเองเท่านั้น


ต่อมาเป็นการเลือกเพื่อน

การจะได้เพื่อนที่ดี คนๆ นั้นก็ควรจะมี Friend Centered อยู่ในอันดับต้นๆ เหมือนกัน คุณจึงจะไม่ผิดหวัง คุณจึงจะได้ความรู้สึกดีๆ กลับมา เพราะเขาจะปรารถนาดีต่อคุณ บางทีมีปัญหากันแรงๆ ก็ยังยอมประนีประนอมได้ เพราะถือความเป็นเพื่อนเป็นเรื่องสำคัญ แต่นอกจากนั้น เพื่อนที่จะคบกันได้ยืดๆ ย่อมมีมากกว่าแค่ความเป็นเพื่อนจึงจะคุยกันรู้เรื่อง เช่น หากคุณเป็นคนที่มี Work Centered สูง เพื่อนของคุณก็มีควรมี Work Centered สูงพอประมาณเหมือนกัน เพื่อเนื้อหาการพูดคุยมันจะเป็นเรื่องเดียวกัน และการคบกันแบบนี้มักพาคุณไปสู่สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่พอใจและปรารถนา แต่หากคุณมีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จแต่ไปคบกับเพื่อนที่แทบไม่มีแรงจูงใจในกลุ่ม Success Centered เลย เช่น อาจเป็น Pleasure Centered คนเหล่านี้ก็อาจชวนคุณเที่ยวเล่นสนุกจนเสียเวลาในชีวิตที่คุณจะแสงหาความสำเร็จไปอย่างมากมายก็ได้

แต่แม้คุณอาจจะต้องรู้จักเลือกคบคน แต่ก็คงไม่ถึงกับต้องตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ไม่เหมาะสมหรือมีทัศนคติไม่ตรงกันออกไป เพียงรักษาระยะให้ห่างเอาไว้บ้าง(แต่ยังคงเป็นเพื่อนกันอยู่) แล้วไปใกล้ชิดคนที่เหมาะสมหรือมีความสนใจตรงกันแทน คนที่เหมาะสมเหล่านี้อย่างน้อยจะช่วยรักษาพลังทางความคิดให้คุณมุ่งมั่นกับเป้าหมายของตัวเอง ไม่เขว ไม่เป๋ออกไปนอกเส้นทางครับ

สำหรับคราวนี้คงต่อเรื่องไม่จบ ขอไปต่อคราวหน้าแทน แต่อย่าลืมนะครับ Associate with the Right People หรือ คบคนให้ถูกคน เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจำขึ้นใจ ถ้าใครได้ลองนำไปใช้ ลองเปลี่ยนแปลงการคบคน แล้วจะรู้ว่า “ความแตกต่าง” ที่เกิดขึ้นจากเพียงแค่การรู้จักเลือกคบคนนั้นมีจริงครับ




 

Create Date : 02 เมษายน 2551    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 19:01:02 น.
Counter : 3252 Pageviews.  

กลยุทธ์การอ่านคนข้อที่ 3 อ่านความสามารถ(Talent)ของคน



อาทิตย์ที่แล้วเว้นไปหนึ่งครั้ง เพราะเขียนต้นฉบับไม่ทันครับ ใครตามอ่านต้องขอโทษด้วยครับ วันนี้เราจะต่อกันด้วยกลยุทธ์การอ่านคนข้อที่ 3 คือ การอ่านความสามารถของคน หรือ Talent ซึ่งไม่ใช่ทะเล้นกันต่อ

Talent เป็นการแบ่งลักษณะคนตามความสามารถที่มาจากบุคลิก ซึ่งก็มีแบ่งกันไปหลายตำรา เช่น ตามหลักของมาร์คัส บัคกิ่งแฮม ที่ผมเห็นด้วยมากที่สุดก็แบ่งไว้ 34 ประเภท ตามหลักนพลักษณ์หรือ เอ็นเนียแกรม จะมีแบ่งเป็น 9 ประเภท และตามหลักของ Myers-Briggs ก็แบ่งบุคลิกได้เป็น 16 ประเภท ซึ่งสองหลักการหลังนั้น แม้จะดูง่ายกว่าเพราะมีน้อยประเภทกว่า แต่จะพบได้ว่าเมื่อเราเอาตัวเองไปลองเทียบ จะมีลักษณะที่ไม่ตรงทั้งหมด และมีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างสองสามประเภท

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องเอ่ยไว้เพื่อป้องกันการสับสนก็คือ Talent นี้จะไม่เกี่ยวกับการความสามารถพิเศษที่เกิดจากประสาทสัมผัส ซึ่งจะมีส่วนช่วยในความก้าวหน้าของบางอาชีพ เช่น นักกีฬาควรต้องมี Body Intelligence หรือประสาทสัมผัสทางร่างกายดีกว่าปกติ นักร้อง, นักดนตรี ต้องมีประสาทสัมผัสทางการรับฟังดีกว่าคนทั่วไป เป็นต้น

มาต่อกันเรื่อง Talent ซึ่งแบ่งแยกความสามารถคนจากบุคลิก เมื่อผมมาศึกษาและคิดค้นเพิ่มเติม จึงได้แนวคิดของตัวเองที่แบ่งคนตามหลัก Talent ได้ 25 ประเภท ซึ่งแบ่งแยกตามสิ่งที่เรียกว่า Sense ซึ่งคือการทำในสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องปกติ และการขาดไปซึ่งสิ่งนั้นๆ มักจะกลายเป็นเรื่องไม่ปกติหรือทนไม่ได้ จึงต้องเข้าไปแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางที่ตนเคยชิน ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คนๆ หนึ่ง(ที่มีบุคลิกเหมาะสม)จะทำงานบางอย่างเหมือนง่ายกว่าอีกคนหนึ่ง(ที่มีบุคลิกไม่เหมาะสม) ฉะนั้นการใช้คนถูกประเภท งานจะเกิดประสิทธิผล ทำงานได้เร็ว ได้นาน แต่ในทางกลับกัน หากใช้คนผิดประเภทของเขา เขาจะทำงานได้ช้าและไม่ได้นาน(เพราะเกิดความเครียด)

ซึ่งก็เช่นเดียวกับหลักเรื่องแรงจูงใจ คือแต่ละคนอาจจะมีได้หลายลักษณะ แต่จะมี Sense หรือรู้สึกรุนแรงอยู่เพียงไม่กี่ลักษณะ ซึ่งเราก็จะสามารถดูได้ไม่ยาก จากการสังเกตวิธีแก้ปัญหาของคน หรือวิธีริเริ่มทำงานของเขานั่นเอง

บุคลิกคนดังกล่าวนั้นผมแบ่งแยกได้ดังนี้


1. Sense of Arranging & Discipline – ทนไม่ได้ที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ไร้ระเบียบ ชอบจัดการงานให้เรียบร้อย เป็นแบบแผนเดียวกัน วางแผนการทำงานแบบเป็นขั้นเป็นตอน – เหมาะที่จะเป็นผู้จัดการ หัวหน้า ผู้คุมกฎระเบียบ นักกฎหมาย นักวางระบบองค์กร แม่บ้าน คนทำความสะอาด

2. Sense of Command – เป็นผู้นำโดยธรรมชาติ แต่ค่อนข้างเผด็จการ เอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ค่อยฟังใครเท่าใดนัก เป็นผู้ตามที่ไม่ดี – เป็นผู้นำในงานที่ต้องการความเด็ดขาด เช่น ทหารได้ดี แต่เป็นผู้นำทางความคิดได้ไม่ดี เพราะไม่ค่อยฟังใคร

3. Sense of Beware & Safety – ทนไม่ได้ที่จะอยู่ในความเสี่ยงหรือภาวะไม่ปลอดภัย ระวังระไว ประหยัด ไม่ชอบอยู่ในความเสี่ยง แต่ชอบอยู่ในภาวะแน่นอน - เหมาะที่จะเป็นผู้ตรวจการ รปภ. นักบัญชี

4. Sense of Risk – ทนไม่ได้ที่ชีวิตจะเรียบง่าย ชอบทำอะไรแบบเสี่ยงชีวิต ชอบคิดอะไรแผลงๆ ชอบที่จะรู้สึกว่าชีวิตของตนยืนอยู่บนความเสี่ยง ผาดโผนเป็นชีวิตจิตใจ ชอบชีวิตกลางแจ้ง บางครั้งบางคนแปลงเป็นการชอบเสี่ยงภัยแบบนักพนัน หรือนักธุรกิจ - เหมาะที่จะเป็นนักผจญภัย นักสำรวจ ช่างภาพสารคดี ตำรวจ ทหาร

5. Sense of Challenge – เป็นลักษณะหนึ่งของการชอบความท้าทาย คล้ายๆ กับหลายลักษณะที่กล่าวไปแล้ว แต่เน้นที่ความไม่ชอบการย่ำอยู่กับที่ ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ มักจะหาอะไรทำใหม่ๆ ที่ท้าทายตัวเองตลอดชีวิต และเน้นที่ความสนใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งไม่เกี่ยวกับการต้องการให้คนอื่นชื่นชม เป็นความรู้สึกตอบสนองความต้องการส่วนตัวมากกว่า เป็นคนเป็นตัวของตัวเองสูงจนบางครั้งไม่ค่อยแคร์ความคิดของคนอื่นที่มีต่อเป้าหมายของตนเองมากนัก - เหมาะที่จะเป็นนักสร้างโครงการยักษ์ นักบุกเบิก นักสร้างสถิติ นักประดิษฐ์ ฯลฯ


6. Sense of Success – ทนไม่ได้ที่จะเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก มักแสวงหาความสำเร็จเพื่อตนเองหรือความพอใจของตัวเองเป็นหลัก และมักมีความพยายาม ความดิ้นรน หรือกระทั่งทำอะไร(ไม่ค่อยมีเงื่อนไข)ก็ได้เพื่อให้ตนเองประสบความสำเร็จ ต้องการเป็นคนสำคัญ หรือรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถโดดเด่นเหนือใครๆ (เน้นความรู้สึกเป็นที่รู้จักหรือที่ยอมรับในภาพรวมของสังคมยุคสมัยนั้น) – อาชีพที่เหมาะจะเกี่ยวข้องกับอาชีพที่สังคมในยุคนั้น หรือสังคมที่ตนเองอยู่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

7. Sense of Competition – ทนไม่ได้ต่อความพ่ายแพ้ โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถด้านเดียวกัน หรือคนใกล้ตัว ชอบการเหนือกว่าหรือเป็นที่ 1 (แต่อาจจำกัดเฉพาะวงการ) และไม่รู้สึกแข่งขันกับคนนอกวงการ (เน้นความรู้สึกชนะต่อคู่ต่อสู้) - เหมาะที่จะเป็นนักกีฬา นักธุรกิจ รวมทั้งทุกอาชีพ

8. Sense of Planer – ทนไม่ได้ที่จะทำงานโดยไม่ได้วางแผน ชอบวางแผนการ มีกลยุทธ์ ไม่ชอบทำอะไรที่ไม่มีแบบแผน แต่การวางแผนนี้จะต่างจากนักจัดการ ตรงที่มีกลยุทธ์อยู่ในนั้นด้วย – เหมาะที่จะเป็นนักวางแผนกลยุทธ์, โค๊ช, เทรนเนอร์ งานที่เกี่ยวกับการวางแผน

9. Sense of Active – ทนไม่ได้ที่จะอยู่เฉยๆ ต้องหาอะไรก็ได้ทำอยู่ตลอดเวลา ชอบลงมือทำอะไรทันที ทำมากกว่าคิดวางแผน ไม่ชอบการวางแผน จึงไม่ใช่นักวางแผนที่ดี และรู้สึกว่าการวางแผนเป็นสิ่งที่น่าปวดหัว ชอบทำไปแก้ปัญหาไปตามสัญชาติญาณ – ทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการ การลงมือทำ

10. Sense of Developer – ชอบคิดว่าสิ่งต่างๆ น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ มองเห็นจุดอ่อนหรือ ช่องโหว่ของสิ่งต่างๆ เสมอ และชอบคิดหาทางออกนั้น ชอบงานเกี่ยวกับการพัฒนา หรือแนวคิดอะไรใหม่ๆ - เหมาะที่จะเป็นนักพัฒนา นักประดิษฐ์

11. Sense of Artist – ชอบคิดตกแต่งสิ่งของหรือที่อยู่อาศัยให้สวยงาม ประดิษฐ์คำพูดให้สวยงาม ให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้สึกมาก มักเป็นคนโรแมนติก อ่อนไหว รักอิสระ – เหมาะที่จะเป็นศิลปิน นักเขียน หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ

12. Sense of Perfectionist – ชอบให้ทุกอย่างสมบูรณ์แม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้น มักค่อนข้างไปทางเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเช่นกัน เอาความคิดตนเองเป็นหลัก – เหมาะที่จะทำกิจการของตัวเอง เพราะมักชอบควบคุมให้ทุกอย่างเป็นได้ดังใจ

13. Sense of Curious – ทนไม่ได้ต่อความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่มีการปกปิด ชอบค้นคว้าเรื่องลึกลับ – เหมาะที่จะเป็นนักข่าว(สืบข่าว) นักสืบ

14. Sense of Learner – ชอบการหยั่งรู้ในสิ่งที่ตนสนใจ จึงเป็นนักศึกษา นักอ่าน หรือค้นคว้า จนกลายเป็นผู้รอบรู้(ปราชญ์) มีข้อมูลมาก แต่มักจะเป็นการศึกษาสิ่งที่คนทำไว้แล้วในอดีต – เหมาะที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ หรืออาจารย์

15. Sense of Teacher – ชอบการสั่งสอน มักเชื่อว่าตนมีความรู้ หรือมีความเป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่น มีความเป็นครูในสายเลือด อดทนที่จะสอนใครนานๆ – เหมาะที่จะเป็นครูบา อาจารย์


16. Sense of Analysis – เป็นอีกประเภทหนึ่งของนักคิด แต่มักชอบที่จะ”เข้าใจ” ด้วยตัวเองมากกว่า แม้ว่าอาจจะมีพื้นฐานที่ต้องค้นคว้าด้วย แต่ชอบที่จะแยกแยะสิ่งต่างๆ - เหมาะจะเป็นนักวิเคราะห์ วิจัย

17. Sense of Ethic – ทนไม่ได้ที่โลกหรือสังคมจะปราศจากศีลธรรม ยึดความถูกต้องศีลธรรม อยากให้สังคมเป็นอย่างอุดมคติ – ฝ่ายตรวจสอบการทุจริต นักบวช นักการเมือง(ตามอุดมคติที่ควรเป็น)

18. Sense of Empathy & Giving – ทนไม่ได้ที่ไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ลำบาก เห็นอกเห็นใจผู้คนและสิ่งมีชีวิต มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนตกยาก ชอบเสียสละของส่วนตัวให้คนอื่นที่ต้องการ มีความสุขที่ได้ให้ – นักสังคมสงเคราะห์ องค์กร NGO ครู (ให้ความรู้)

19. Sense of Justice – ทนไม่ได้ที่โลกจะไม่ยุติธรรม รักความยุติธรรม รู้สึกดีเมื่อผู้กระทำผิดได้รับโทษ - ผู้พิพากษา นักข่าว(ตีแผ่) ทนาย ตำรวจ(ที่ดี)

20. Sense of Service & Take Care – ชอบบริการผู้คนเป็นชีวิตจิตใจ นอบน้อม ชอบช่วยเหลือคนโดยปราศจากผลประโยชน์ – งานเกี่ยวกับการบริการ หรืองานสังคมสงเคราะห์ หมอ พยาบาล

21. Sense of Responsible – ทนไม่ได้ถ้างานในรับผิดชอบผิดพลาด หรือผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบต้องลำบาก อาจเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี - ผู้นำ ตำแหน่งสำคัญๆ

22. Sense of Selfish – มีแนวโน้มเอาตัวรอดคนเดียวเมื่อประสบปัญหาต่างๆ เป็นคนเห็นแก่ตัวสุดโต่ง หรือเห็นแก่ผลประโยชน์มากกว่าเรื่องอื่น – ควรระวังในการคบหา ต้องทำงานกันภายใต้ผลประโยชน์

23. Sense of Communicate – ทนไม่ได้ต่อความเงียบ ต้องหาคนพูดคุยด้วยเกือบจะตลอดเวลา จึงทำให้รู้จักคนมาก เป็นคนมีเพื่อนมาก จากหลากหลายวงการและชนชั้น – นักขาย นักประชาสัมพันธ์

24. Sense of Happy & Fun – มองโลกสดใสอยู่เสมอ ไม่ชอบความเครียดและจริงจัง – งานเกี่ยวกับการบันเทิงให้ความสนุกสนานกับผู้คน

25. Sense of Relationship – ชอบสร้างสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ชอบความขัดแย้ง ทนไม่ได้ที่จะเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นในกลุ่มที่ตนสังกัด จึงชอบการเจรจาไกล่เกลี่ย รักความสงบและความสามัคคี - นักประสาน นักเจรจาต่อรอง นักขาย



คนเราอาจมี Sense หลายอย่างอยู่ในตัว และการผสมกันของการมี Sense 2 Sense ขึ้นไป ก็จะกลายเป็นบุคลิกเฉพาะตน เช่น การมี Sense of Leader ที่อยากช่วยเหลือกลุ่ม บวกกับการมี Sense of Teacher ก็จะเหมาะที่จะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงทำให้คนเรานั้นสามารถแยกย่อยอย่างแท้จริงได้มากมายมหาศาล ซึ่งเราก็คงเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า ทุกคนนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะ จะหาที่เหมือนกันทุกอย่างนั้นยากเต็มที

แต่การใช้งานสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ก็ขอเพียงดูลักษณะที่เกี่ยวข้องกับตนเองเป็นหลักก็พอ(อย่าเข้าข้างตัวเองนะครับ ลองให้คนอื่นเป็นผู้ประเมินเราบ้างก็จะดีครับ) หรือหากมีหน้าที่การงานที่เกี่ยวกับการใช้คน ก็ควรจะศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกซึ้งขึ้นครับ





 

Create Date : 26 มีนาคม 2551    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 17:33:41 น.
Counter : 3876 Pageviews.  

กลยุทธ์อ่านคนข้อที่ 2 อ่านบุคลิกนิสัยของคน




บุคลิกนิสัยของคนเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติหรือความสมดุลของคนๆ หนึ่ง จะว่าคล้ายกับเรื่องแรงจูงใจก็ได้ แต่เป็นในระดับย่อยลงไป หลายครั้งบุคลิกนิสัยนี้จะสอดคล้องกับแรงจูงใจด้วย เพราะพฤติกรรมบางอย่างของคนเราย่อมทำไปเพื่อสนองความต้องการ แต่บางครั้งก็เป็นการทำไปเพื่อปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับธรรมชาติของตัวเรา เช่น คนที่มีธรรมชาติในการพูดเก่ง เมื่อต้องถูกบังคับให้ไม่พูดหรืออยู่เงียบๆ ก็จะเกิดความอึดอัดมากกว่าคนที่มีธรรมชาติเงียบอยู่แล้ว เรียกว่าเกิดความขาดสมดุล หรือคนที่ค่อนข้างมีระเบียบเรียบร้อย เมื่อต้องไปอยู่ในที่ๆ มีสภาพรกรุงรัง ก็จะเกิดความอึดอัด ทนไม่ได้ ต้องจัดสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบ เพื่อปรับให้เข้ากับสมดุลของตนเอง และบุคลิกนิสัยที่เป็นไปโดยธรรมชาตินี้เอง ที่เราสามารถนำมาพัฒนาเป็นความสามารถเฉพาะได้ แต่บุคลิกบางอย่างย่อมมีประโยชน์กับบางงานบางอาชีพ แต่อาจกลับกลายเป็นอุปสรรคกับบางอาชีพ การอ่านบุคลิกนี้จึงนำมาซึ่งการบริหารคนได้ด้วย โดยจัดวางคนให้เหมาะกับงาน

แม้บุคลิกจะแบ่งออกได้มากมายหลายลักษณะของมิติ แต่ว่าแต่ละคนมักจะมีลักษณะเด่นๆ ไม่กี่อย่าง ส่วนมิติที่เหลือนั้น อาจอยู่ในระดับกลางๆ ที่ไม่เอนเอียงไปข้างใดมากนัก บุคลิกกลางๆ เหล่านี้เราจึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจมากนัก ขอเพียงจำบุคลิกหลักๆ ที่เด่นเอาไว้ก็พอ

มิติต่างๆ ของบุคลิกมีดังนี้

ใจร้อน << 0 >> ใจเย็น
กระตือรือร้น << 0 >> เชื่องช้า
ช่างพูด ช่างแสดงออก << 0 >> พูดไม่เก่ง หรือค่อนข้างเงียบ
รักความทันสมัย << 0 >> ชอบของเก่า คลาสสิค
ชอบใช้ความคิดมากกว่าทำลงมือ << 0 >> ชอบลงมือทำมากกว่าใช้ความคิด
ชอบทำงานคนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร << 0 >> ชอบทำงานติดต่อกับคนเป็นทีม
เอาความคิดตนเองเป็นใหญ่ ชอบใช้คำสั่ง << 0 >> เห็นอกเห็นใจคนอื่น ประนีประนอม ชอบใช้การโน้มน้าว
ชอบเสี่ยง ตัดสินใจเร็ว << 0 >> ชอบความรอบคอบ ตัดสินใจช้า
ชอบสิ่งสร้างสรรค์ แตกต่าง << 0 >> อนุรักษ์นิยม
ให้ความสำคัญกับเรื่องรายละเอียด << 0 >> ให้ความสำคัญกับหลักการใหญ่ๆ


เนื่องด้วยเรื่องบุคลิกนี้ค่อนข้างมองได้ในหลายแบบและบางครั้งก็คาบเกี่ยวกัน จึงไม่จำเป็นต้องจำแบบเป็นกฎ เพียงสังเกตให้เห็นบุคลิกที่แตกต่างหรือมีระดับความแรงของบุคลิกมากกว่าคนทั่วไป แล้วจดจำเอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ทำนายพฤติกรรมในอนาคตได้ ว่าหากมอบหมายงานบางอย่างให้ทำแล้ว จะมีผลออกมาเป็นอย่างไร มีจุดเด่นจุดเสริม หรือจุดด้อยอย่างไร

นอกจากนี้การรู้จักตัวเอง โดยการสังเกตเห็นบุคลิกที่แตกต่างโดดเด่นของตนเอง ก็ย่อมนำมาซึ่งการกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเองอันจะนำไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกันครับ




 

Create Date : 12 มีนาคม 2551    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 17:32:12 น.
Counter : 4700 Pageviews.  

กลยุทธ์อ่านคนข้อที่ 1 อ่านแรงจูงใจของคน





การจะอ่านคนให้ได้ดีนั้น โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงการนิสัยใจคอ หรืออ่านความคิดของคนในขณะนั้นเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วก่อนที่เราจะไปรู้ถึงรายละเอียดซึ่งมีมากมายนั้น การเข้าใจพื้นฐานหลักความคิดความต้องการของคนๆ หนึ่งนั้น จะทำให้เราได้เข้าใจหรือทำนายถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่จะตามมาได้อีกมาก

แรงจูงใจคือบ่อเกิดของพฤติกรรมทั้งปวง และทุกคนส่วนใหญ่มีแรงจูงใจ แต่จะมีระดับมากน้อยไม่เหมือนกันอันเกิดจากการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมมาแต่เด็กๆ ทิศทางการกระทำทั้งหมดแทบจะทั้งหมดในชีวิตของเราก็เพียงเพื่อตอบสนองแรงจูงใจหรือความต้องการเฉพาะตนของเรานี้ ซึ่งก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งเดียวกันก็คือมันทำให้เราแต่ละคนมีความสุข

แนวคิดเรื่องแรงจูงใจนี้ ผมได้ยินได้ฟังมาโดยบังเอิญจากผู้รู้อีกท่านหนึ่ง จึงกลับมาศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ก็หาไม่ได้ละเอียดนัก จึงนำความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ที่ผมมีมาขยายความต่อ โดยวิเคราะห์จากกรณีจริงเท่าที่จะนึกได้ ว่าคนเหล่านั้นมีอะไรเป็นแรงจูงใจสำคัญในชีวิต ซึ่งก็ได้คำตอบมาดังที่ผมจะกล่าวต่อไป

แรงจูงใจหลักของคนเรานี้ มันคือสิ่งที่คนเราสนใจหรือให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสิ่งเดียว แต่โดยทั่วไปจะมีสิ่ง”หลักๆ” ที่เราให้ความสำคัญมากไม่เกิน 3 ข้อ แรงจูงใจเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นศูนย์กลางของชีวิต(Center) ของคนๆ หนึ่ง และสิ่งนี้เรามักนำมาชั่งน้ำหนักเวลาที่ความต้องการของเราขัดแย้งกัน เหมือนกับถ้าได้หนึ่งอย่างต้องเสียอีกหนึ่งอย่างไป ถ้าสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยมากสำหรับเรา เมื่อเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก เราก็จะตัดสินใจง่าย แต่หากสองสิ่งนั้นสำคัญมากเท่าๆ กัน เราจะตัดสินใจยาก (แสดงว่ามันอยู่ในระดับต้นๆ ทั้งคู่) แต่หากไม่สำคัญทั้งคู่ เราก็อาจจะเลือกอะไรก็ได้ เพราะเราไม่ให้ความสำคัญกับมัน เป็นต้น

Success Centered

1.Work Centered – หน้าที่และงานมาก่อนอื่นใด
คิดว่าความบกพร่องในหน้าที่เป็นการทำให้คุณค่าในตัวตนของตนเองเสื่อมเสีย ต้องรักษาคุณภาพงานไว้ดุจชีวิต คุณภาพของงานคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเขา ความรู้สึกว่าตัวเองเก่งและมีความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าอื่นใด พวกนี้มักเป็นคนทำงานที่ดี ศักยภาพในตัวเองสูง แต่บางครั้งมนุษย์สัมพันธ์ไม่ดี

2.Money Centered – ต้องการมีเงินมากๆ
การมีเงินมากๆ ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นคง รู้สึกประสบความสำเร็จ จึงเพ่งมองที่เงินหรือผลตอบแทนเป็นหลัก และก็มักมีแนวโน้มวัดความสำเร็จของคนด้วยเงินที่มี(เพราะเงินคือความสำเร็จ) ชื่นชมคนรวย พ่อค้าหรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงๆ มักมีข้อนี้อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยเสมอ อาจเป็นคนโอ้อวดรวยออกมาทางวัตถุหรือไม่ก็ได้ (บางคนไม่ชอบอวดรวย ประหยัด มัธยัสถ์ จนถึงซ่อมซ่อ แต่ภูมิใจในความรวยของตน

3.Power Centered – รักการมีอำนาจ
ชอบความรู้สึกที่ว่าตนเป็นบุคคลพิเศษเหนือกว่าคนทั่วไป ชอบการเป็นผู้นำ(เพราะผู้นำคือการมีอำนาจ) และเมื่อมีอำนาจ มักชอบใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด เมื่อยังไม่มีอำนาจก็มักชอบคลุกคลีอยู่กับผู้มีอำนาจ ส่วนใหญ่จะเป็นทหาร หรือนักการเมือง(ที่ชอบอำนาจมากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์)

4.Reputation Centered – ต้องการคำชื่นชมนิยม
มีมุมมองต่อความสำเร็จด้วยมิติของการยอมรับนับถือจากบุคคลอื่นจำนวนมาก คนดังที่สุดคือคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในสายตาของพวกเขา ชอบหาโอกาสแสดงตนหรือความคิดเห็นต่อสาธารณะ ชอบประดับประดาตนเองด้วยเครดิตต่างๆ ไม่ชอบทำงานปิดทองหลังพระ แต่ชอบปิดทองหน้าพระ หรือบางคนก็ถึงกับทำงานเอาหน้าก็มี

5.Ability Centered – ต้องการพิสูจน์ความสามารถ
คนกลุ่มนี้จะคล้ายๆ Reputation Centered อยู่บางส่วน คือต้องการการยอมรับหรือชื่อเสียง แต่พวกเขาไม่ต้องการชื่อเสียงในสายตาของคนทั่วไปเท่าไรนัก(ถ้าได้ก็ไม่เป็นไร) แต่คนกลุ่มนี้จะเน้นที่การเป็นที่ยอมรับของคนในวงการเดียวกัน หรือคนที่เก่งๆ ด้วยกัน ต้องการเป็นสุดยอดของสุดยอด มีแรงผลักดันด้านการแข่งขันสูงมาก ทำอะไรก็ต้องการจะเป็นที่ 1 เสมอ

Self Centered

6.6. Wisdoms & Discover Centered – ต้องการเข้าใจในสิ่งต่างๆ หรือค้นพบสิ่งใหม่ๆ
เป็นพวกสนใจ ใคร่รู้ อยากรู้ อยากเข้าใจถึงความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ชอบใช้ความคิด ซึ่งถ้าเป็นพวก Wisdom Centered ที่แท้จริงนั้น จะไม่ค่อยมีแรงจูงใจของความสำเร็จจากสิ่งอื่นภายนอกมากนัก นอกจากการได้รู้ถึงสิ่งที่เขาสงสัย หรือสิ่งที่พวกเขาต้องการค้นคว้าและใคร่รู้เท่านั้น ที่ทำให้พวกเขารู้สึกอิ่มเอมใจ ความรู้สึกได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นผู้ชนะ มักไม่ค่อยสนใจชื่อเสียงหรือเกียรติยศมากนัก มักเป็นพวกนักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้าวิจัย นักประดิษฐ์ นักทฤษฎี และนักคิดต่างๆ

7.Self Centered – เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่
คนที่อยู่ในกลุ่ม Self Centered มักเป็นคนที่ต้องการความสำเร็จเหมือนเช่นเดียวกับคนหลายๆ กลุ่มที่ผ่านมา แต่เป็นคนยึดมั่นกับ”ความคิด” ของตัวเองมากกว่าอย่างอื่น การยอมรับว่าตัวเองผิดเป็นสิ่งที่ยากเกินจะยอมรับ พวกเขาจึงพร้อมที่จะสละเงิน ตำแหน่ง หรืออื่นๆ ดีกว่าการยอมแพ้ หรือยอมรับว่าตัวเองผิด บางครั้งจึงเข้ากับคนอื่นได้ยาก และไม่ค่อยก้าวหน้านัก ชอบการถกเถียงทางความคิด(แต่มักทะเลาะกับคนอื่นเสมอ)


Relationship Centered

8.Family & Child Centered – ครอบครัวมาก่อน
เป็นคนให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวมากเป็นพิเศษ มักชอบเทคแคร์คนในครอบครัวให้มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คู่สมรส หรือลูก ส่วนใหญ่ผู้หญิงมักมีระดับของ Family Centered มากกว่าผู้ชาย กลุ่มนี้จะสละได้ทุกอย่าง ขอให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว หรือทำให้ครอบครัวมีความสุข

9.Friend Centered – รักเพื่อนยิ่งกว่าอื่นใด
กลุ่มนี้มักเป็นคนมีเพื่อนมาก และเมื่อต้องมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของตนกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน จะเลือกเพื่อนก่อนเสมอ และแม้บางครั้งเพื่อนจะทำผิดต่อตนเอง ก็พร้อมจะให้อภัยได้เสมอ แม้ว่าเพื่อนกับครอบครัวจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์เหมือนกัน แต่บางคนก็มีเพียงข้อเดียวเท่านั้น ในกลุ่มที่สุดโต่งจะเป็นคนรักสนุกเฮฮาเกินไป บางทีการงานไม่ก้าวหน้า

Ideal Centered

10.Social Centered – ประโยชน์ของกลุ่มหรือสังคมมาก่อน
มักเป็นคนไม่มีความทะเยอะทะยานในทางส่วนตัวมากนัก และยอมสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ของสังคม ถ้าจะมีแรงผลักดัน ก็มักเป็นแผนการที่เกิดจากการต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเกิดจากการคิดว่า สังคมหรือกลุ่มมีปัญหาใหญ่ต้องแก้ไข ไม่ยึดติดกับหลักการมาก แต่มองผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมเป็นหลัก พวกนี้มักเป็นกลุ่ม NGO

11.Ethic or Principle Centered – จริยธรรม หลักการ และความถูกต้องมาก่อน
เน้นแก้ปัญหาโดยยึดหลักการที่มีอยู่ หรือหลักการที่ตนเองยึดถือเป็นแนวทาง และมีแนวคิดว่า จริยธรรม และความถูกต้อง จะนำมาซึ่งผลประโยชน์และสันติสุขของสังคมอย่างแท้จริง ค่อนข้างมีความคิดไปทางอุดมคติ และอาจมีความรู้สึกเกี่ยวกับความภูมิใจในความเป็นผู้ประพฤติตนบริสุทธิ์ของตัวเองด้วย จึงเน้นเรื่องความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ชอบที่ตนเองจะต้องแปดเปื้อนด้วยสิ่งไม่ดีไม่งาม เช่น การทุจริต ฯลฯ ค่อนข้างตึงกับเรื่องจริยธรรม

Happy Centered

12.Pleasure Centered – สุขนิยม
ถ้าจะต้องเลือกงาน จะเลือกที่ทำแล้วมีความสุขมาก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ชอบเผชิญกับความเครียดโดยไม่จำเป็น อาจรับภาระการงานที่หนักทางกายได้ แต่หากเป็นงานที่รักที่ชอบ ก็ทนได้ แต่หากเกิดความเครียดถึงระดับ จะทนไม่ได้เลย เพราะไม่มีความสุข

13.Comfortable Centered – รักสบาย
คนกลุ่มนี้จะต่างกับกลุ่มสุขนิยมตรงที่ว่า ความสุขของพวกเขาคือความสบายทางกาย อาจเรียกได้ว่าไม่ขยันก็ว่าได้ ไม่ชอบทั้งทำงานหนัก ทั้งความเครียด หรือเจอปัญหาใดๆ เรียกว่า ถ้ามีเงินให้ดำรงชีพอยู่ได้ ก็เลือกที่จะไม่ทำงานมากกว่า ถ้าต้องทำงาน ก็ทำให้ถึงขั้นเพียงไม่ต้องลำบาก แล้วก็จะหยุด หรือหมดแรงผลักดันไป

ข้อสำคัญของหลักการเหล่านี้คือ อย่ามองอะไรเพียงผิวเผิน เช่น บางคนต้องการเงินเพียงแค่ไปสร้างชื่อเสียงให้เขาต่างหาก ดังเช่น ที่ผมเคยกล่าวแล้วเรื่อง บิล เกตส์ ต้องการเงินไปแสดงความสำเร็จ(แม้ว่าบิลเกตส์จะมีเงินมากและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แต่แท้จริงในความเห็นผม บิล มีความเป็น Success Centered สูงมาก ชัยชนะของเขาคือเกม และเขาต้องการการยอมรับจากกลุ่มคนเก่งด้วยกันเป็นหลัก) หรือบางคน”สร้างภาพ” ว่ารักครอบครัวเพื่อต้องการการยอมรับจากสังคม และบางคนเอาใจใส่ครอบครัวหรือลูกมาก แต่บังคับทุกอย่าง พวกนี้จะเป็น Self Centered แทนที่จะเป็น Family Centered สังเกตได้จาก ถ้าลูกๆ หรือคนในครอบครัวไม่ทำตามที่เขาบอก เขาจะถอดถอนความรักทันที เป็นต้น

การที่เราเข้าใจเรื่องแรงจูงใจที่แท้จริงของคนนี้ จะทำให้เราทำนายและคาดเดาพฤติกรรมในอนาคตของคนได้ถูกต้อง และการเลือกคนในการร่วมงาน ความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ ได้ถูกต้อง และสิ่งเหล่านี้อาจใช้ได้ถึงเป็นการวางเกมในเชิงต่อสู้ได้ เพราะเรารู้สิ่งที่คู่ต่อสู้ให้ความสำคัญแล้ว ถ้าเราเข้าใจเรื่องแรงจูงใจนี้แล้ว เราจะเห็นว่าทุกพฤติกรรมของคนๆ นั้นจะสอดคล้องกับสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเหล่านี้ครับ


*** ผมอัพเดททางความคิดเพิ่มเติมไปบางส่วนนะครับ




 

Create Date : 05 มีนาคม 2551    
Last Update : 31 กรกฎาคม 2552 20:33:55 น.
Counter : 3959 Pageviews.  

1  2  3  

Jimmy Walker
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




จากทักษะของการเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ บวกกับความสนใจใน"กระบวนการ"และ"ปัจจัย"ที่ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จ ที่ทำให้ผมศึกษาและวิเคราะห์กรณีศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวจำนวนมาก จนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้พอที่จะขอเรียกตัวเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งความสำเร็จ"
Friends' blogs
[Add Jimmy Walker's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.