Group Blog
 
All blogs
 
หลุมพรางของการเลียนแบบความสำเร็จ




ทีแรกตั้งใจจะเขียนวิเคราะห์ความสำเร็จของ Robert Kiyosaki ไว้สำหรับบล๊อก Jimmy’s Analysis แต่เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบบทความจับผิดเกี่ยวกับประวัติและแนวคิดของคิโยซากิเสียก่อน บวกกับไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์การคลั่งไคล้หนังสือ Rich Dad, Poor Dad และแนวคิดการเลียนแบบความสำเร็จของคิโยซากิอยู่เป็นทุน จึงขอยั้งการวิเคราะห์คิโยซากิเอาไว้ก่อน แต่จะมาพูดถึงประเด็นความผิดพลาดจากแนวคิดของการพยายามเลียนแบบความสำเร็จของคนอื่น (จากที่อาทิตย์นี้จะต่อแนวคิดซุนวู ในเรื่องรู้เขา เลยขอยกยอดไปก่อนครับ)

แม้ผมจะอ่านหนังสือ Rich Dad, Poor Dad และยอมรับว่าได้ข้อคิดดีๆ จากหนังสือเล่มนี้มาหลายอย่าง จนจัดเป็นหนังสือดีเล่มหนึ่งของผม แต่แนวทางการตื่นตัวของสังคมต่อแนวคิดที่จะเลียนแบบคิโยซากินั้น ผมไม่เห็นด้วย แต่ความไม่เห็นด้วยไม่ได้เกิดจากเพียงรู้สึกหรืออคติ แต่ไม่เห็นด้วยเพราะผมศึกษาเรื่องความสำเร็จและความล้มเหลวมาพอสมควร และมีหลายอย่างที่การเลียนแบบความสำเร็จนำไปสู่ทิศทางที่ผิด



การที่คนเราจะเลียนแบบความสำเร็จของคนบางคนได้นั้น เราต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงเขาคนนั้น เราจึงจะเลียนแบบได้ การพยายามเลียนแบบโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยของตัวเรา เช่น นิสัย บุคลิก หรือพื้นฐานอื่นๆ จะทำให้การเลียนแบบความสำเร็จเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย

คนร้อยคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน และประทับใจ พยายามเลียนแบบ แต่อาจมีเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จ เพราะอะไร 1. คือการจับประเด็นของหนังสือที่แตกต่างกัน แน่นอน แต่ละคนย่อมจับประเด็นสำคัญแตกต่างกันไป 2. เพราะไม่พิจารณาตัวเองเป็นที่ตั้ง เพียงได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือก็คิดว่าเราก็สามารถเหมือนเขาได้

จากที่ผมศึกษาเรื่องราวของความสำเร็จที่นำมาเขียนบทความลงใน Jimmy’s Analysis และจากการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความสำเร็จของคนเราแล้ว พบว่าแรงผลักดันในตัวเอง และการได้ทำสิ่งที่ถนัด เป็นปัจจัยเบื้องต้นของความสำเร็จทั่วไป ส่วนจะประสบความสำเร็จสูงแค่ไหนนั้น ต้องมีปัจจัยอื่นบวก



บางคนแรงผลักดันในตัวเองสูงมาก ทำงานได้แทบทุกอย่าง ไม่ค่อยเลือก กลุ่มนี้จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่แล้วอย่างเกือบจะแน่นอน ที่เหลือคือสติปัญญาและปัจจัยอื่นๆ ที่จะพาเขาไปได้แค่ไหน แต่บางคนมีแรงผลักดันในบางอย่างเท่านั้น(เช่น บางคนต้องการชื่อเสียง ไม่ได้ต้องการเงิน ฯลฯ) หรือถนัดในงานบางอย่าง ถ้าทำงานที่ไม่ชอบแล้วจะขาดแรงผลักดัน คนเราจึงเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ตามใจชอบ

ผมเคยอ่านหนังสือของ Donald Trump และชื่นชมเขามาก บางทีก็อยากมีนิสัยบางอย่างเหมือนเขา แต่ก็ไม่เคยเป็นไปได้ ผมก็ยังเป็นผมอยู่เหมือนเดิม แต่อาจเปลี่ยนทัศนคติและบุคลิกปลีกย่อยบางอย่างเท่านั้น ผมไม่อาจเปลี่ยนตัวเองเป็น Donald Trump ได้ ยิ่งนิสัยพื้นฐานเดิมไม่เหมือนกัน

กลับมาที่กรณีของ Rich Dad หลายคนพยายามเลียนแบบคิโยซากิ ด้วยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะคิโยซากิทำแบบนั้นแล้วรวย ประสบความสำเร็จ แต่เราลืมไปว่า คิโยซากิมีความถนัดในการประเมินและทำนายเกี่ยวกับอสังหาฯ แต่คนที่จะเลียนแบบเขานั้น มีความรู้ในเรื่องอสังหาเท่าเขาหรือไม่ เพราะจากการประกอบธุรกิจและศึกษาการประสบความสำเร็จของคนอื่น แทบจะพูดได้เลยว่า ไม่มีการประสบความสำเร็จของใคร ที่ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งประกอบ โลกนี้ไม่มีอะไรง่ายครับ



ในระบบความล้มเหลวของคนที่ทำ mlm ทั้งคนที่พยายามจะเป็น up line หรือคนที่เป็น down line ก็คือ การทำ mlm ต้องอาศัยทักษะด้านการขาย การจะเลือกใครมาเข้าเครือข่ายต้องพิจารณาว่าเขาเหมาะสม เป็นนักขายได้ ไม่ใช่เอาใครก็ได้เข้ามา ให้เสียเงินแล้วก็ล้มเหลวไป ทั้ง down line และ up line (แต่upline ได้ไปก่อนแล้วก้อนหนึ่ง) การฟังสัมมนาของ mlm แล้วตื่นเต้นเหมือนว่าเราจะทำได้แบบเขานั้น กลับทำให้หลายคนเข้าไป “ติดกับ” (ผมก็เคยรู้สึกนานมาแล้ว สมัยที่อ่านหนังสือฮาวทูที่เขียนโดยนักธุรกิจใหญ่ๆ ระดับโลกทั้งหลาย เคยคิดว่าการหาเงินพันล้านหมื่นล้านนั้นไม่ยากเกินไป แต่มาวันนี้ผมรู้และเข้าใจเรื่องปัจจัยของความสำเร็จมากขึ้นเยอะ)

อีกกรณีหนึ่งของไปฟังสัมมนาหรืออ่านหนังสือโดยผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลายนั้น ต้องเอามาประยุกต์อย่างมาก เพราะพื้นฐานเขากับเรานั้นไม่เหมือนกัน บางคนเป็นนักธุรกิจต่อยอด ในขณะที่คุณอาจเริ่มจากศูนย์ บางคนอาจเป็น fighter เพราะมาจากสภาพจนสุดขีด ในขณะที่คุณมาจากชนชั้นกลางที่พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างสบาย การสักแต่ว่าไปฟังๆ จึงได้ประโยชน์น้อยกว่าที่คิด เหมือนอย่างบางคนรับเอาแนวคิดจากบริษัทใหญ่หรือนักธุรกิจใหญ่มากเกินไป ก็คิดจะทำ Branding ในขณะที่ธุรกิจของตัวเองเล็กนิดเดียว



ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมกล่าวมา ก็เพื่อจะสรุปความคิดที่ว่า แต่ละคนนั้นมีเส้นทางเฉพาะที่เหมาะกับตัวของเราเอง ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจตัวเอง(รู้เรา) และเป้าหมาย(รู้เขา) เพื่อที่จะวางแผนที่เหมาะสมต่อไป การอยากเลียนแบบนั้นเป็นกับดักและเป็นสิ่งผิดพลาดอย่างมาก

เมื่อเล่าปี่ได้พบขงเบ้ง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในยอดกุนซือแห่งยุคนั้น ก่อนขงเบ้งจะวางแผนให้เล่าปี่ ขงเบ้งได้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดของเล่าปี่เทียบกับโจโฉซึ่งเป็นศัตรูเสียก่อน และรู้ว่าเล่าปี่ยังไม่อาจเอาชนะโจโฉได้ การไปหาดินแดนที่เหมาะสมแล้วยึดครองเป็นที่มั่นจะเหมาะกว่า ถ้าโอกาสภายหน้าอำนวยจึงอาจเอาชนะได้(แต่สุดท้ายก็ไม่เคยมีโอกาสเหมาะ เพราะโจโฉไม่เปิดช่อง)

บัณฑิต อึ้งรังสีเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเขาคิดและตัดสินใจไปเป็นนักธุรกิจ เขาก็คงเป็นนักธุรกิจแย่ๆ คนหนึ่ง แต่เมื่อเขามาเลือกที่จะเป็นวาทยกร เขาจึงได้เป็นวาทยกรระดับโลก” บัณฑิตเป็นแบบอย่างของการรู้จักตัวเอง เลือกเส้นทางที่เหมาะกับตัวเอง และไม่ตกเป็นเหยื่อของการเลียนแบบความสำเร็จของคนอื่นที่ดียิ่งครับ




Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 17:37:08 น. 4 comments
Counter : 3083 Pageviews.

 
เป็นบทความที่ดี ครับ


โดย: wildbirds วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:10:52 น.  

 
เห็นด้วย

อ้าว...เจอคุณ wildbirds อีกแล้ว


โดย: MARON CREAM วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:35:48 น.  

 
พูดถึงหนังสือ พ่อรวยสอนลูก บางครั้งผมคิดว่า หนังสืออาจจะบอกเล่าความสำเร็จของ คิโยซากิ อยู่ก็จริง และมีหลายๆคนที่อ่านแล้วพยายามเลียนแบบ ( ผมก็ด้วย )

แต่ลึกๆแล้ว เข้าใจว่า หนังสือน่าจะพยายามสื่อความแนวความคิด และทัศนคติใหม่ในการดำเนินชีวิตและการลงทุนมากกว่านะครับ รวมทั้งสอนกลไกการเงินพื้นฐานมากกว่า

ยังไงก็ตาม ผมคิดว่าหนังสือทุกประเภทอ่านแล้วต้องได้ความรู้อย่างแน่นอน แต่บางครั้งระวังอย่าให้หนังสือชี้นำความคิดมากเกินไป จนลืมที่ตั้งที่ตัวเองเป็นอยู่ อย่างที่คุณจิมมี่บอกน่ะแหละ ..



โดย: Dirymarketing IP: 58.8.150.77 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:40:01 น.  

 
เศรษฐกิจอเมริกาล่ม เพราะคนพยายามเลียนแบบคิโยซากิมากเกินไปหน่อย ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงเกินจริง และเกิดดีมานด์เทียมในตลาดที่พักอาศัย


โดย: เสือ IP: 58.181.129.244 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:17:05:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jimmy Walker
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




จากทักษะของการเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ บวกกับความสนใจใน"กระบวนการ"และ"ปัจจัย"ที่ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จ ที่ทำให้ผมศึกษาและวิเคราะห์กรณีศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวจำนวนมาก จนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้พอที่จะขอเรียกตัวเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งความสำเร็จ"
Friends' blogs
[Add Jimmy Walker's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.