* + * + * + * + * ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว - เครื่องดื่มกับประวัติศาสตร์ * + * + * + * + *

ผู้เขียน TOM STANDAGE ผู้แปล คุณากร วาณิช์วิรุฬห์ สำนัำกพิมพ์ มติชน จำนวนหน้า 304 หน้า ราคา 190 บาท
เนื้อเรื่อง
เมื่อประวัติศาสตร์โลกเกี่ยวพันกับเครื่องดื่มอย่างลึกซึ้ง และการคาดการณ์ว่าในอนาคตสงครามที่จะทำกันน่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องน้ำ (เข้ากับสถานกรณ์แม่น้ำโขงตอนนี้จริงๆ เหอๆ) กับการร้อยเรียงประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคเข้ากับเครื่องดื่มอย่าง เบียร์ ไวน์ เหล้า กาแฟ ชา และโคคาโคลา
กับการเล่าเรื่องที่จะทำให้คุณดื่มด่ำไปกับเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยสาระที่น่าตื่นใจ
ความรู้สึกที่ได้อ่าน
เป็นหนังสือที่มีสาระที่เีกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ที่อ่านได้สนุกและทำให้ได้ความรู้ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่มาที่ไปของเครื่องดื่มแต่ละประเภท ความสำคัญของเครื่องดื่มต่างๆ อันเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ที่หลายๆ เรื่องไม่เคยได้รู้มาก่อน ซึ่งเขียน+ร้อยเรียงได้ชวนอ่านและน่าติดตามมากๆ ค่ะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้วยแล้ว คิดว่าน่าจะชอบเรื่องนี้ได้ไม่ยากเลยค่ะ เพราะนอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย คนเขียนเขียนได้สนุก อ่านได้ลื่นไหลด้วยค่้ะ (อันนี้ต้องชมคนแปลด้วยส่วนหนึ่ง แม้จะมีหลุดๆ บ้างในส่วนของสำนวนแปล ประเภทมีกลิ่นนมเนยบางตอน สลับคำในประโยคแปลกๆ บางอัน คำเชื่อมแปลกๆ ในบางตอน แต่ก็ถือว่าโดยส่วนใหญ่แล้วอ่านได้ลื่นค่ะ)
สำหรับเราแล้ว หนังสือเล่มนี้มีหลายๆ เรื่องเลยค่ะที่เรา "เพิ่งรู้" ไม่ว่าจะเป็นการอวยพรว่าขนมปังและเบียร์ หมายถึงการอวยพรให้มีโชคดีและสุขภาพดี (ในสมัยก่อน) เมื่อก่อนต้องดูดเบียร์ผ่านหลอด (ซึ่งทำให้คิดถึงอุของทางอีสานอย่างไรไม่ทราบ) การดื่มไวน์ที่ต้องผสมน้ำสำหรับชนชาติกรีก ไม่ดื่มเพียวๆ เพราะไม่งั้นจะถือว่าป่าเถื่อนและไม่อารยะ (แต่ต้องเป็นการเติมน้ำในไวน์ ไม่ใช่เติมไวน์ลงในน้ำ) เพิ่งรู้ว่านครเมกกะเป็นต้นกำเนิดของกาแฟ ร้านกาแฟอันมีความสำคัญมากกว่าแค่ร้านกาแฟที่ลอนดอน ที่มีร้านกาแฟเฉพาะความสนใจ และสามารถให้ที่อยู่ของตนเองด้วยชื่อของร้านกาแฟได้ การกำเนิดของชา ร้านชา บริษัทชาที่เป็นที่มาของยี่ห้อชา Twining การกำเนิดของ "โซดา" อันนำไปสู่โคคาโคลา ชื่อที่มาของโคคาโคลา ที่เกิดจากใบโคคาและเมล็ดโคลา (ใช่ป่าวฟระ) ฯลฯ
มีที่ติดใจก็มีในหน้า 56 ที่พูดถึงตัวกาเซลล์ ซึ่งไม่รู้จักว่ามันคือตัวอะไร และที่คนแปลใช้คำว่า ปลูกไวน์ (แทนการปลูกองุ่น) ก็เลยไม่แน่ใจว่าต้นฉบับใช้คำหรือสำนวนแบบนี้เลยหรือเปล่า
แล้วก็ในส่วนของคำผิด เท่าที่อ่านเจอมีที่หน้า 200 จุดเดียวนะคะ คือสะกดคำว่า เหยียบ เป็นเหยียม
สรุปแล้ว ถ้าใครที่ชอบประวัติศาสตร์และหลงรักเครื่องดื่ม หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์อีกเล่มหนึ่งที่่น่าจะสร้างความเพลิดเพลินใจในการอ่านได้เป็นอย่างดีค่ะ
บางที..เมื่อได้อ่านแล้ว
อาจจะทำให้ทุกครั้งที่คุณได้ดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ได้รสชาติที่ต่างไปจากเดิมก็ได้นะคะ 
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ
642076/4698/441
Create Date : 19 เมษายน 2553 |
|
19 comments |
Last Update : 19 เมษายน 2553 8:23:39 น. |
Counter : 4924 Pageviews. |
|
 |
|