Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

วัยหมดระดู

วัยหมดระดู

วัยหมดระดู หรือ วัยหมดประจำเดือน นั้นเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับผู้หญิงช่วงหนึ่งทีเดียว โดยเป็นการเปลี่ยนจากวัยเจริญพันธุ์หรือวัยที่มีบุตรได้ ไปสู่วัยที่มีบุตรไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งในระยะนี้รังไข่จะไม่มีไข่ตก และ จะสร้างฮอร์โมนเพศ (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) น้อยลงมาก ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดระดู ที่พบได้บ่อยก็คือ

1. เกิดตามธรรมชาติ ( มีอายุเพิ่มมากขึ้น) ช่วงอายุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่หมดระดูคือ 45 - 55 ปี ( เฉลี่ย 51.3 ปี )

2. เกิดจากการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
ซึ่งในบทความนี้จะเน้นที่ วัยหมดระดูตามธรรมชาติ สำหรับผู้ที่หมดระดูจากการผ่าตัดอาจมีอาการและแนวทางการดูแลรักษาซึ่งแตกต่างออกไป จึงควรปรึกษาแพทย์ว่ามีแนวทางรักษาอย่างไรบ้าง


อาการของวัยหมดระดู

1. ระยะเริ่มแรก เป็นช่วงที่รังไข่ทำงานน้อยลง แต่ยังมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่บ้าง

อาการที่ปรากฏคือ ความผิดปกติของรอบเดือน เช่น มาไม่ตรงกำหนดมักห่างออกไป ปริมาณเลือดระดูน้อยลงและอาจหายไปเลย แต่บางรายอาจมีระดูออกมากกว่าปกติได้

2. ระยะหมดระดู ตรงกับช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ลดลงมาก จนไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเยื่อบุโพรง-มดลูกให้เจริญเติบโตได้ ทำให้เยื่อบุมดลูกฝ่อแห้งลงไป และ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

จะเกิดอาการคือ ไม่มีระดู มีอาการร้อนวูบวาบ บริเวณ ผิวหนังบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแถวศีรษะ คอ และหน้าอก เหงื่อออกตอนกลางคืน รู้สึกร้อนขึ้น อาจเป็นอยู่แค่ไม่กี่วินาทีหรือนานหลายนาที อาจเกิดขึ้น ครั้งเดียว หรือหลายครั้งในหนึ่งวัน มักเกิดบ่อยตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับได้

อาการร้อนวูบวาบนี้จะหายไปเองใน 1-2 ปี หลังหมดระดู แต่บางคนอาจเป็นนานกว่า 5 ปี

3. ระยะเปลี่ยนแปลง ของอวัยวะสืบพันธ์และทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ระยะนี้เป็นผลจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงมาก จนทำให้เกิดการห่อเหี่ยวของอวัยวะต่างๆ มดลูกและผนังช่องคลอดจะหย่อนมากขึ้น เยื่อบุช่องคลอดแห้ง เนื่องจากผนังช่องคลอดบางตัวลง ความชุ่มชื้นน้อยลง

ทำให้เกิดอาการเจ็บขณะร่วมเพศ อาจทำให้ช่องคลอดติดเชื้ออักเสบง่ายขึ้น เยื่อบุท่อปัสสาวะบางลงทำให้รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ อาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ดก็พบได้บ่อย

4. ระยะสูงอายุ เป็นผลต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดู ที่สำคัญคือ มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนและโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด สูงมากขึ้น

อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า รู้สึกอ่อนเพลีย ใจสั่น ปวดศีรษะ วิงเวียน นอนไม่หลับ หลงลืมง่าย ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น


แนวทางการรักษา

ระดูมาผิดปกติ

โดยทั่วไปในช่วงก่อนหมดระดู ประจำเดือนหรือรอบเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอ เมื่อแพทย์ตรวจจนแน่ใจแล้วว่า ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นก็อาจให้ยาประเภทฮอร์โมน รับประทานติดต่อกัน 3-6 เดือนแล้วหยุดสังเกตอาการ หากรอบเดือนผิดปกติอีกก็ให้การรักษาใหม่ หรือ อาจให้ยาจนถึงระยะหมดระดู จริงๆ

อาการร้อนวูบวาบ

อาการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจตามมาด้วยอาการหนาวเย็น บางคนก็ใจสั่น หงุดหงิด ร่วมด้วย อาการจะเป็นมากในหน้าร้อนช่วงอากาศชื้น อยู่ในสถานที่คับแคบ ดื่มชา กาแฟสุรา หรือรับประทานอาหารที่รสจัด

แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจน ซึ่งอาจใช้ร่วมกับฮอร์โมนประเภทโปรเจสเตอโรน หรืออาจให้ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ก็จะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้ และควรสวมเสื้อผ้าเบาบางที่ไม่เก็บความร้อน การดื่มน้ำเย็นๆ อาจช่วยลดความรู้สึกร้อนลงได้บ้าง

อาการต่าง ๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์ และอาการทางระบบปัสสาวะ

การรักษาที่ดีที่สุดคือให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีทั้งชนิดเม็ดรับประทาน แผ่นปิดผิวหนัง และชนิดครีมทาช่องคลอด อาจใช้สารหล่อลื่น ทางช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้

โรคกระดูกพรุน

โรคนี้ทำให้กระดูกหักได้ง่าย ถึงแม้จะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง โดยเฉพาะ กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และ กระดูกข้อมือ ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนคือ ภาวะไม่มีระดูจากขาดเอสโตรเจน รับประทานแคลเซียมน้อย สูบบุหรี่ วิถีชีวิตที่ไม่ค่อยมีการออกแรง รูปร่างผอม มีประวัติในครอบครัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ไม่ได้ออกกำลังกาย

ซึ่งป้องกันได้โดย การออกกำลังกาย รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับการเสริมแคลเซียม และ วิตามินดี

ในกรณีไม่ใช้เอสโตรเจนเพราะมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นก็ควรติดตามภาวะกระดูกพรุน โดยการวัดความหนาแน่นของกระดูก และ อาจต้องใช้ฮอร์โมนแคลซิโตนิน หรือ ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ซึ่งช่วยสร้างกระดูกเพิ่มขึ้นได้ แต่ยาเหล่านี้จะต้องใช้เป็นเวลานาน และ มีราคาค่อนข้างสูง

โรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุสูงสุดของการตายของผู้หญิงเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี เชื่อว่า การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้หญิงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้


ความเสี่ยง ของการใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน

สำหรับ มะเร็งเต้านม ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาว่า เอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ การให้เอสโตรเจนอย่างเดียว จะทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้น แต่ถ้าให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน ความเสี่ยงนี้จะลดลง

ก่อนที่จะได้รับยากลุ่มนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเต้านม ตรวจภายใน โดยสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาก้อนผิดปกติ หรือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนรับฮอร์โมนทดแทนทุกครั้ง โดยทั่วไปมักต้องตรวจร่างกายทุก 1-2 ปี




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2551 15:38:09 น.   
Counter : 2118 Pageviews.  

ยาคุมกำเนิด แบบเม็ด แบบฉีด ยาคุมฉุกเฉิน ยาเลื่อนประจำเดือน

 

ยาคุมกำเนิด แบบเม็ด

ประจำเดือนของผู้หญิงถูกควบคุมด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน ซึ่งทำให้เกิดการเจริญของเยื่อบุมดลูก เพื่อเตรียมมดลูกให้เหมาะสมต่อการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสม เมื่อมีเพศสัมพันธ์และเกิดการปฏิสนธิระหว่างตัวอสุจิของเพศชายและไข่ของเพศหญิง ไข่ที่ถูกผสมแล้วจะเดินทางมาฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกเตรียมไว้อย่างเหมาะสม หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกดังกล่าวจะหลุดลอกออกมาเป็นระดูหรือประจำเดือน

ฮอร์โมนสังเคราะห์ในยาเม็ดคุมกำเนิดจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ โดยป้องกันการเจริญและการสุกของไข่ทำให้ ไม่มีไข่ตก ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียวเชื้ออสุจิจึงไม่สามารถผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ และทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อตัวไม่เหมาะต่อการเจริญของตัวอ่อน


ประเภทของยาเม็ดคุมกำเนิด

• ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ยาแต่ละเม็ดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เป็นส่วนประกอบ มีทั้งชนิด 21 , 22 และ28 เม็ด ยาชนิด 28 เม็ดนั้น ตัวยา 7 เม็ดที่เพิ่มขึ้นจะไม่มีตัวยาฮอร์โมนแต่จะเป็นวิตามินหรือธาตุเหล็ก ยาเม็ดคุมกำเนิดในกลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยเป็นอีก 2 ชนิด คือ

1. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนระดับเดียว ยาทุกเม็ดมีปริมาณตัวยาฮอร์โมนรวมเท่ากัน ปัจจุบันนิยมใช้ชนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำ ๆ คือ 20-30 ไมโครกรัม ส่วนโปรเจสเตอโรน ที่ใช้มีหลายชนิด

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนหลายระดับ ยาเม็ดคุมกำเนิดนี้จะมีปริมาณยาแตกต่างกันเป็นหลายระดับเพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดตามธรรมชาติซึ่งจะมีผลให้อาการข้างเคียงต่าง ๆ ของยาลดลง


• ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีเฉพาะโปรเจสเตอโรน

เป็นยาที่มีฮอร์โมนในขนาดน้อยจัดทำเป็นแผง 28 เม็ดมีตัวยาเหมือนกัน ยานี้มีประโยชน์ ในผู้ที่ไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ แต่ว่าประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจะต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม
 

ยาเม็ดคุมกำเนิดหลังร่วมเพศ ( ยาคุมฉุกเฉิน )

ยากลุ่มนี้มีทั้งแบบตัวยาฮอร์โมนชนิดเดียวขนาดสูง และชนิดฮอร์โมนรวม แต่เนื่องจากมีฮอร์โมนขนาดสูงมาก จึงมีอาการข้างเคียงสูงกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดกลุ่มอื่น ๆ ผู้ใช้จะมี อาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างมาก มีเลือดออกผิดปกติ และ มีอันตรายต่อร่างกายสูง เช่น ยาบางตัวในกลุ่มนี้มีข้อจำกัด ไม่ควรใช้เกินเดือนละ 4 เม็ด ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ

นอกจากนี้จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 75 % เท่านั้น ( ต่ำกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม ซึ่งจะป้องกันได้ถึง 90-95% ) จึงเหมาะที่จะใช้ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย เช่น สัปดาห์ละครั้ง หรือ ในกรณีถูกข่มขืน


ภาวะที่เป็นข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ยา

มะเร็งของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน และ/หรือ เต้านม

โรคตับ โรคของถุงน้ำดี

มีเลือดออกจากโพรงมดลูกที่ไม่ทราบสาเหตุ มีระดูน้อย หรือขาดระดู

โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง

ตั้งครรภ์ หรือ สงสัยว่าตั้งครรภ์

ปวดศีรษะบ่อย ปวดศีรษะแบบไมเกรน โรคลมชัก โรคเบาหวาน

อายุมากกว่า 40 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปที่อ้วนมาก มีไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่จัด


ผลข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิด

- อาการคลื่นไส้อาเจียน มักพบในช่วงแรกของการใช้ยา และแก้ไขโดยให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน แต่ถ้ามีอาการมากหรือเป็นอยู่นาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนชนิดยาเม็ดคุมกำเนิด แต่ถ้าใช้ยามานานแล้วและในระยะแรกไม่มีอาการ ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป

- เลือดออกกะปริบกะปรอย มักพบผู้ที่กินยาไม่สม่ำเสมอ (ไม่เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน) หรือลืมกินยาบ่อย ๆ และอาจเกิดได้ในระยะแรกของการใช้ยาเช่นกัน ถ้ามีเลือดออกเล็กน้อยให้รับประทานยาต่อไป อาการจะหายได้เอง แต่ถ้ามีเลือดออกมากก็ควรปรึกษาแพทย์

- การขาดระดูระหว่างการใช้ยา ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดการตั้งครรภ์

- ผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ เจ็บคัดเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม สิว ฝ้า ปวดศีรษะ เป็นต้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระยะแรกของการใช้ยา และส่วนใหญ่หายได้เองเมื่อใช้ยาไป 2-3 เดือน แต่ถ้าหากมีอาการมากหรือเป็นอยู่นานจนเป็นปัญหา หรือเกิดความกังวลใจควรปรึกษาแพทย์ซึ่งอาจแก้ไขโดยการเปลี่ยนชนิดยา หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ แทน

- ถ้ามีอาการข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อไปนี้ ควรหยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที
มีอาการปวดบริเวณท้องอย่างรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง
มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ความดันโลหิตสูง
มีอาการปวด และ บวม ที่เท้า ขา และน่อง
ปวดตา ตาพร่า เห็นแสงวูบวาบ
มีอาการปวดหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจหอบ เหนื่อยง่าย


การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับยาอื่น

การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับยาอื่น ๆ บางชนิด อาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยานั้น เช่น การใช้ร่วมกับยาระงับอาการซึมเศร้า ยาปฏิชีวนะ ยารักษาวัณโรค ยากันชัก ยาแก้แพ้อากาศ เป็นต้น จึงควรปรึกษาแพทย์ ให้แน่ใจว่าควรจะใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่


วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

• แบบ 21,22 เม็ด

เริ่มใช้ยาตั้งแต่วันที่ 1 ของรอบประจำเดือน (นับวันแรกที่มีประจำเดือนเป็นวันที่ 1 ) อาจเริ่มกินยาช้ากว่านี้ได้แต่ต้องไม่เกินวันที่ 5 ของรอบประจำเดือน เริ่มรับประทานยาเม็ดแรก ให้ตรงกับวันของสัปดาห์ที่ระบุบนแผงยา เช่น ประจำเดือนมาวันแรกคือ วันศุกร์ ก็ให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกที่ระบุไว้ว่า “ศ” รับประทานยา วันละ 1 เม็ดเป็นประจำทุกวัน ตามลูกศรชี้จนหมดแผงในเวลาใดก็ได้แต่ควรทานเวลาเดียวกันทุกวัน

เมื่อรับประทานยาหมดแล้วให้หยุดยา 7 วัน สำหรับผู้ใช้ยาชนิด 2 1 เม็ด และหยุดยา 6 วัน สำหรับผู้ใช้ยาชนิด 22 เม็ด ในระหว่างนี้ควรมีเลือดประจำเดือนมา และเมื่อหยุดยาครบแล้วให้เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ได้ ถึงแม้ว่าประจำเดือนจะหมดแล้วหรือยังไม่หมดก็ตาม ด้วยวิธีนี้เมื่อเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ วันที่เริ่มรับประทาน ยาแผงใหม่จะตรงกับวันแรกที่เริ่มรับประทานยาแผงแรกเสมอ

• แบบ 28 เม็ด

ในแผงหนึ่งจะประกอบด้วยฮอร์โมน 21 เม็ด ส่วนที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศอีก 7 เม็ด ซึ่งจะมีขนาดต่างจาก 21 เม็ดแรก เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือนมา ในส่วนที่ระบุบนแผงว่าเป็นจุดเริ่มต้นใช้ยา และ รับประทานยาวันละ 1 เม็ด เป็นประจำทุกวัน ตามลูกศรชี้จนหมดแผง

เมื่อหมดแผงแล้วให้รับประทานยาแผงใหม่ต่อได้ทันทีเลย แม้ประจำเดือนจะหมดแล้วหรือยังไม่หมดก็ตาม


ทำอย่างไรถ้าลืมกินยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นยาที่ต้องใช้ประจำ การลืมกินยาเป็นเรื่องที่พบบ่อย ๆ แม้ว่าไม่เป็นอันตรายแต่ก็มีผลเสีย เช่น ทำให้ผู้ใช้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย และถ้าลืมบ่อย ๆ อาจเกิดตั้งครรภ์ได้ จึงควรกินยาในเวลาเดียวกันทุกวัน เก็บยาในที่เห็นง่าย ๆ เพื่อช่วยเตือนไม่ให้ลืมกินยาได้บ้าง และในกรณีที่ลืมกินยาแล้วให้แก้ไขดังนี้

ลืม 1 เม็ด ให้กินทันทีที่นึกได้ และกินเม็ดต่อไปตามปกติ

ลืม 2 เม็ดติดต่อกันในช่วง 2 สัปดาห์แรก ให้กินยา 2 เม็ดติดต่อกัน 2 วัน แล้วกินต่อไปตามปกติจนหมดแผง ให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย หรืองดร่วมเพศ 7 วัน

ลืม 2 เม็ดติดต่อกันในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือลืมมากกว่า 2 เม็ดในช่วงใดก็ตามให้หยุดยาแผงนั้นจนกว่าจะมีเลือดประจำเดือน จึงเริ่มยาแผงใหม่ ตั้งแต่เริ่มหยุดยาจนกินยาแผงใหม่ไป 2 สัปดาห์ ให้ใช้ถุงยางอนามัย หรือ งดร่วมเพศ


เมื่อพร้อมที่จะมีบุตร

สำหรับผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ระยะหนึ่งและต้องการมีบุตรให้หยุดยาเม็ดคุมกำเนิดได้ทันที และใน 1-2 เดือนแรกหลังหยุดยาควรป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์โดยวิธีอื่น ๆ เช่นการใช้ถุงยางอนามัย หรือการนับระยะปลอดภัย เพื่อให้มีประจำเดือนมาหลังจากหยุดยาก่อน และเมื่อตั้งครรภ์จะได้ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน ทำให้แพทย์สามารถดูแลมารดา และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง

..........................................

 
ยาคุมกำเนิดแบบฉีด

ข้อแนะนำสำหรับสตรีที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

1. ภายใน 2 อาทิตย์หลังฉีดยาคุมกำเนิดครั้งแรก ควรใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่น เช่น ถุงยางอนามัย หรือ งดเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เนื่องจากยายังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่

2. ต้องฉีดยา เข้ากล้าม ตามกำหนด เช่น ทุก 1 เดือน หรือ ทุก 3 เดือน

3. อาจเกิดความผิดปกติของประจำเดือน เช่น นาน ๆ จึงมีประจำเดือน อาจมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ หรือ ไม่มี-ประจำเดือนเลยก็ได้ ถ้าไม่แน่ใจว่ามีอาการเลือดออกผิดปกติ หรือไม่ ควรไปปรึกษาแพทย์

4. ถ้ามีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว ปวดขา เจ็บหน้าอก ต้องปรึกษาแพทย์

5. ตรวจร่างกายทั่วไป ปีละครั้ง

6. ถ้าต้องการมีบุตรอีก อาจจะต้องรอให้มีประจำเดือนปกติก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 12 – 16 เดือน


ประสิทธิภาพของยา
สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ประมาณ 99.5 %
( อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ประมาณ 0.25 ต่อสตรี 100 คนที่ใช้ยานี้ติดต่อกันตลอด 1 ปี )


อาการข้างเคียง

ที่พบบ่อยคือ เลือดประจำเดือนออกผิดปกติ อาจออกมาก ออกนาน หรือ ออกกะปริบกะปรอย ก็ได้

หลังจากฉีดยา ไปแล้ว 9 – 12 เดือน จะพบอาการ ประจำเดือนขาด ได้

หลังฉีดยา อาจมีปัญหาเรื่อง มีบุตรยาก ภายหลังหยุดยาแล้ว 1 ปี สตรีมากกว่า 80 % สามารถมีบุตรได้


ข้อห้ามใช้ / ข้อควรระวัง
ในผู้ที่เป็นโรคตับ เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือด เส้นเลือดดำอุดตัน โรคไต โรคภูมิแพ้ โรคลมชัก สตรีอายุมากกว่า 40 ปี มะเร็งเต้านม มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ เนื้องอกมดลูก

ไม่ควรใช้ในสตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์ เป็นลมชัก หรือ ไมเกรน


การดูแลสตรีที่ได้รับยาคุมกำเนิด เป็นระยะเวลานาน

1. ซักประวัติโดยละเอียด โดยเฉพาะโรค หรือ ภาวะที่เป็นข้อบ่งห้ามใช้ยา

2. ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนักตัว วัดความดันโลหิต ดูว่าตาเหลืองตัวเหลืองหรือไม่ คลำตับ ตรวจเต้านม ต่อมทัยรอยด์ ตรวจหาเส้นเลือดขอด เป็นต้น

3. ตรวจภายใน เพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ เช่น เนื้องอกของมดลูก มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ ตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่

4. ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ

 

ยาคุมฉุกเฉิน
วิธีรับประทานยา
-เม็ดแรกรับประทานทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์หรือภายใน 72 ชั่วโมง
-เม็ดที่สอง รับประทานหลังจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงจากยาคุมฉุกเฉิน
-ปวดท้อง
-ประจำเดือนมาเร็ว - ช้ากว่าปกติ
-ใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่, เยื่อบุโพรงมดลูก และการเกิดการตั้งครรภืนอกมดลูก

การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตั้งครรภ์โดยยาคุมฉุกเฉินป้องกันการตั้งครรภืได้เพียง 75 - 85 % เท่านั้น แต่เป็นเพียงการลดโอกาสตั้งครรภ์ ลงจากเดิม

ควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น ควรเลือกใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกสุดท้าย ไม่รับประทานเกิน 2 กล่อง / เดือน

https://oryor.com/oryor2015/print-detail.php?cat=44&id=1028


หมายเหตุ

เรื่องนี้ ผมไม่ได้เขียนเอง ( น่าจะปรับปรุงนิดหน่อย) แต่จำไม่ได้ว่า นำต้นฉบับมาจากที่ไหน ... ถ้าใครพบว่า น่าจะเป็นต้นฉบับจากที่ไหน ช่วยแจ้งให้ทราบด้วยนะครับ


.....................................




ยาเลื่อนประจำเดือน...กินอย่างไร ?

ยาเลื่อนประจำเดือนที่ใช้กันมากในปัจจุบัน เป็นยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญ คือ Norethisterone ขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งชื่อการค้าที่คุ้นเคย คือ Primolut® N มีวิธีกินและข้อควรระวังต่างๆดังนี้

1. วิธีกินยาเลื่อนประจำเดือน

- ควรเริ่มกินยาอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือน โดยกินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (เช้าและเย็น) หรือวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน และเย็น)

ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยานานเกิน 2 สัปดาห์ และจะมีประจำเดือนภายใน 2-3 วันหลังจากหยุดยา

2. อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้จากการใช้ยา
- รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีประจำเดือนแบบกะปริบกะปรอยหรืออาจไม่มาเลย
- เวียนศีรษะ
- ปวดศีรษะ
- คัดตึงเต้านม

3. ข้อห้ามใช้
- สตรีมีครรภ์
- สตรีที่กำลังให้นมบุตร
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น สูบบุหรี่ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดอุดตัน
- เคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคตับขั้นรุนแรง
- เคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่อวัยวะเพศชนิดที่ไวต่อฮอร์โมน 



ที่มา เฟสบุ๊ก  Smart Consumer
https://www.facebook.com/smartconsumer4.0/photos/a.290627251349713/733641840381583/?type=3&theater


*********************

 

6วิธีคุมกำเนิดทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ...แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-02-2008&group=4&gblog=12

ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด แบบฉีด ยาคุมฉุกเฉิน

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-02-2008&group=4&gblog=13

 

EmergencyContraception การคุมกำเนิดฉุกเฉิน

https://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=268:emergency-contraception&catid=39&Itemid=367

แนวทางการดูแลสตรีและเด็กหญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา

https://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=1047:2014-12-02-05-04-16&catid=45&Itemid=561

 

สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย2556 ; Adolescent Pregnancy Thailand 2013

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-05-2014&group=7&gblog=177

 

ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย... ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2010&group=4&gblog=80

ทำแท้ง .....ปัญหาที่ยังไร้ทางออก ....

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=18-01-2009&group=4&gblog=67

ทำแท้ง กฏหมายแพทยสภา

https://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=493:2011-06-09-01-37-20&catid=40&Itemid=482

อันตรายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย.. โดย ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-02-2009&group=4&gblog=73




 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 6 ตุลาคม 2562 14:42:52 น.   
Counter : 14877 Pageviews.  

‎6วิธีคุมกำเนิดทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง‬ ...แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว‬









#‎
การคุมกำเนิด‬
" ‪#‎อย่าปล่อยให้เป็นภาระเพศหญิงเพียงฝ่ายเดียว‬ "
เนื่องด้วย จากการที่ ทางทีมงานแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว ทำการรวบรวมปัญหา ที่ มีคนถามมาบ่อย ทำให้พบว่า " วัยรุ่นไทย " ยังขาดความรู้เรื่องการป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ เรื่องการคุมกำเนิด เป็นอย่างมาก

โดยส่วนใหญ่ จะรู้จักกันแต่ ‪#‎ยาคุมฉุกเฉิน‬
ซึ่งผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมฉุกเฉินนั้นมีมาก
ได้แก่
1 ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ มีเลือดออกกะปริดกะปรอย
2 ประจำเดือนมาเร็วหรือช้ากว่าปกติ
3.เกิดความผิดปกติที่รังไข่
4.เพิ่มความเสี่ยงของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
5 เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกถึง 2%

บางคนแทบจะกินเป็น ขนม หรือ กินแทบทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ และ เกิดผลแทรกซ้อนที่ตามมา อันได้แก่ ประจำเดือนเลื่อนมา ไม่ตรง ก็ มากลุ้มใจ เครียด ( ทั้งฝ่าย ชาย และ หญิง )

ทางทีมงานจึงเห็นว่า การให้ ความรู้ แก่คนไข้ ให้มากที่สุด เพื่อมีทางเลือกในการคุมกำเนิดวิธีอื่นๆ มากกว่าที่จะมาใช้ วิธีที่ เสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อนในอนาคต

https://www.facebook.com/SOSspecialist/posts/948507545203868


.......................

ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด แบบฉีด ยาคุมฉุกเฉิน //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-02-2008&group=4&gblog=13

วิธีคุมกำเนิดทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ...แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-02-2008&group=4&gblog=12

วิธีคุมกำเนิดที่คุณใช้นั้นมีโอกาสท้องกี่เปอร์เซ็นต์ ? ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-09-2017&group=4&gblog=132


EmergencyContraception การคุมกำเนิดฉุกเฉิน

//www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=268:emergency-contraception&catid=39&Itemid=367

แนวทางการดูแลสตรีและเด็กหญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา

//www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=1047:2014-12-02-05-04-16&catid=45&Itemid=561

สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย2556 ; Adolescent Pregnancy Thailand 2013

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-05-2014&group=7&gblog=177

ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย... ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2010&group=4&gblog=80

ทำแท้ง .....ปัญหาที่ยังไร้ทางออก ....

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=18-01-2009&group=4&gblog=67

ทำแท้ง กฏหมายแพทยสภา

//www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=493:2011-06-09-01-37-20&catid=40&Itemid=482

อันตรายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย.. โดย ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-02-2009&group=4&gblog=73





 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 15 กันยายน 2560 20:30:19 น.   
Counter : 15985 Pageviews.  

การป้องกันอันตรายจากรังสี



การป้องกันอันตรายจากรังสี

เมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจทางรังสี (เอกซเรย์) มักจะมีความกังวลอยู่เสมอว่าจะมีอันตรายจากรังสีเกิดขึ้นหรือไม่ จึงควรทราบเกี่ยวกับรังสีเพื่อให้มีความเข้าใจและลดความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ รวมทั้งรู้วิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้ปลอดภัย


อันตรายจากรังสีมีอะไรบ้าง

ผลของรังสีที่มีต่อร่างกายแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ

1. ผลที่เกิดกับร่างกาย หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าการรับรังสี นั้นเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และปริมาณรังสีมากน้อยแค่ไหน

1.1 ผลของการรับรังสีแบบเฉียบพลัน มักเกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้ได้รับรังสีปริมาณมากทันที ถ้ามากกว่า 50 เร็ม จะมีอาการป่วยเนื่องจากรังสี ถ้ามากกว่า 400 เร็ม อาจทำให้ตายได้ อาการป่วยเนื่องจากรังสี แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

• ระยะเตือน จะมีอาการหลังจากถูกรังสีไม่กี่ชั่วโมง เช่น คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หายใจขัด ผิวหนังแดง

• ระยะแอบแฝง เป็นระยะที่สงบไม่แสดงออก สำหรับช่วงเวลากำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

• ระยะเจ็บป่วย เป็นอาการต่อจากระยะแอบแฝง เช่น ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เลือดออก ผมร่วง หมดสติ

1.2 ส่วนการรับรังสีเรื้อรัง จะได้รับรังสีในปริมาณต่ำ ๆ แต่ได้รับรังสีสะสมอยู่เรื่อย ๆ เช่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับรังสี อาจมีผลทำให้อายุเฉลี่ยสั้นกว่าปกติ เป็นมะเร็ง ต้อกระจก เป็นต้น


2. ผลที่เกิดกับพันธุกรรม หมายถึงผลที่เกิดขึ้นในเซลล์สืบพันธุ์ อาจทำให้เป็นหมัน หรือเกิดการผ่าเหล่า ซึ่งมีผลกระทบทำให้เกิดความผิดปกติปรากฏ ถึงรุ่นลูกหลานได้


ระดับรังสีเท่าไรจึงจะถือว่าปลอดภัย

คำว่า "ปลอดภัย" หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่เกิดขึ้นเนื่องจากรังสีนั้น ไม่สามารถตรวจพบได้

คณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันรังสีระหว่างประเทศ กำหนดค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ โดยหมายความว่าถ้าได้รับปริมาณรังสีน้อยกว่าค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ ถือว่าปลอดภัย ตัวอย่างเช่น

ค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ ของ อวัยวะสืบพันธุ์ เลนส์ตา หรือไขกระดูก เท่ากับ 5 เร็ม ต่อ ปี

ค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ ของ มือ แขน ขา เท่ากับ 75 เร็ม ต่อ ปี

ค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ ของ ผิวหนัง ต่อมทัยรอยด์ เท่ากับ 30 เร็ม ต่อ ปี

ค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ ของ บุคคลทั่วไปไม่ควรเกิน 0.5 เร็ม ต่อ ปี หรือ 0.01 เร็ม ต่อ สัปดาห์

ค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ ของ สตรีมีครรภ์ไม่ควรเกิน 0.5 เร็ม ในระหว่างตั้งครรภ์

สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับรังสีไม่ควรเกิน 0.1 เร็มต่อสัปดาห์ หรือ 5 เร็มต่อปี แต่ถ้าได้รับรังสีเกิน 5 เร็มใน ปีหนึ่งแล้วในปีถัดไปจะต้องให้ได้รับรังสีน้อยลง แต่ปริมาณรังสีที่สะสมในช่วงอายุ ต้องไม่เกินตามสูตร 5 (N-18) โดย N เป็นอายุของบุคคลที่ได้รับรังสี เช่น บุคคลที่อายุ 30 ปี รังสีสะสมที่ในช่วงขณะนั้นจะได้ 5(30-18) = 60 เร็ม

สำหรับการตรวจทางรังสีนั้น จะไม่ให้รังสีเกินค่าที่กำหนด ถึงแม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับรังสีมาก เช่น มากกว่า 0.5 เร็ม ต่อ ปี ในปีนี้ แต่เมื่อหายป่วยก็ไม่ได้รับรังสีอีก ดังนั้นผลเสียก็จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากร่างกาย (เซลล์) มีเวลาฟื้นตัวกลับมา



ผู้มารับการตรวจทางรังสีวินิจฉัยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นว่าการตรวจทางรังสีมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่มนุษย์เรายังได้รับรังสีมาจากด้านอื่น ๆ อีก ดังนั้นควรจะพยายามให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการตรวจแต่ละครั้งย่อมเป็นการดีที่สุด ในทางปฏิบัติแล้วรังสีแพทย์และ เจ้าหน้าที่รังสีจะยึดหลักใช้รังสีน้อยที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้ป่วย และผู้เกี่ยวข้องก็มีข้อปฏิบัติเพื่อจะลดปริมาณรังสีที่มีจำเป็น ลงได้ ดังนี้

1. ปฏิบัติตามตำแนะนำของรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีอย่างเคร่งครัด เช่น
การถ่ายภาพปอด ต้องเปลี่ยนเสื้อ ถอดสร้อยหรือโลหะทุกชนิดที่อยู่ในบริเวณหน้าอกออกให้หมดเพื่อจะได้ไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่

การตรวจพิเศษ เช่น การฉีดสีตรวจไต ถ้าไม่รับประทานยาระบาย อาจมีอุจจาระบังส่วนของไต ทำให้มองเห็นไตไม่ชัด ต้องถ่ายภาพใหม่

การจัดท่าทางของร่างกายขณะถ่ายภาพ จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้ ก็ควรอยู่ในท่านั้น

กลั้นหายใจขณะถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วย เพื่อที่ภาพจะได้ชัดเจน ไม่ไหว


2. สตรีวัยเจริญพันธุ์ ถ้าต้องทำการตรวจทางเอกซเรย์ของท้องน้อย ควรทำภายใน 10 วัน หลังจากมีประจำเดือน (นับจากวันที่ 1 ของรอบประจำเดือน) ถือเป็นช่วงที่ไม่มีไข่ตก


3. ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์ช่วงท้อง ถ้าจำเป็นควรใช้อัลตราซาวด์ แทน การเอกซเรย์ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายถ้าจำเป็น ต้องใช้เสื้อตะกั่วปิดบริเวณท้องเสมอ

4. กรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้เอง ต้องมีผู้ช่วยเป็นญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายอื่น ควรปฏิบัติดังนี้

• สวมเสื้อตะถั่ว ถุงมือตะกั่วทุกครั้งที่เข้าช่วย

• ถ้าเป็นไปได้ให้อยู่ห่างจากแนวรังสีอย่างน้อง 2 เมตร กรณีนี้รวมถึงการถ่ายเอกซเรย์ตามหอผู้ป่วยด้วย

5. ผู้ป่วยเด็กที่ต้องเอกซเรย์บ่อย ๆ ควรจะใช้ตะกั่วปิดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์

6. ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเอกซเรย์ ไม่ควรเข้ามาในแผนกโดยไม่จำเป็น



โดยสรุปแล้ว ปัจจัยสำคัญมีอยู่ 3 ประการ คือ เวลา ระยะทาง และวัสดุป้องกันรังสี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต้องใช้เวลาน้อยที่สุด อยู่ห่างที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ ต้องใส่เสื้อตะกั่วป้องกันรังสีเสมอ




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2551 19:55:06 น.   
Counter : 9244 Pageviews.  

เอกซเรย์ มีผลดีผลเสียอย่างไร แค่ไหนปลอดภัย





ปัจจุบันการถ่ายภาพรังสี หรือ การเอกซเรย์ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและทำกันบ่อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการให้บริการโดยเอกชนและผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไป ก็มีความต้องการที่จะเอกซเรย์ร่างกายส่วนต่าง ๆ โดยที่อาจเป็นความเข้าใจผิด หรือ อาจไม่ทราบว่ามีผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับรังสีจากการเอกซเรย์โดยไม่จำเป็น

ในบางครั้ง เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ก็มักจะขอให้แพทย์เอกซเรย์ให้ ถ้าแพทย์ปฏิเสธก็จะไม่พอใจ ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจว่าทำไมแพทย์จึงไม่ยอมเอกซเรย์ให้ ซึ่งแพทย์เองก็มีเหตุผล เพราะว่าการเอกซเรย์ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย โดยขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งถ้ามีปริมาณรังสีมากเกินไปก็จะเกิดผลเสียได้

ปริมาณรังสีที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ ตำแหน่งร่างกายที่เอกซเรย์ จำนวนครั้งที่เอกซเรย์ในหนึ่งปี การใส่เครื่องป้องกันรังสีเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายส่วนอื่นได้รับรังสี เป็นต้น

ปริมาณรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์ตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายมีดังนี้

เอกซเรย์ปอด จะได้รับรังสีประมาณ 10 มิลลิแรมต่อครั้ง

เอกซเรย์กระดูกศีรษะ จะได้รับรังสีประมาณ 40 มิลลิแรมต่อครั้ง

เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนคอ จะได้รับรังสีประมาณ 50 มิลลิแรมต่อครั้ง

เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนอก จะได้รับรังสีประมาณ 240 มิลลิแรมต่อครั้ง

เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนเอว จะได้รับรังสีประมาณ 130 มิลลิแรมต่อครั้ง

เอกซเรย์กระดูกแขนขา (ข้อมือ มือ ข้อเท้า เท้า) จะได้รับรังสีประมาณ 5 มิลลิแรมต่อครั้ง

เอกซเรย์นิ่วในไต จะได้รับรังสีประมาณ 450 มิลลิแรมต่อครั้ง

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง จะได้รับรังสีประมาณ 200 มิลลิแรมต่อครั้ง

สำหรับประชาชนทั่วไป และ หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ปริมาณรังสีที่ได้รับทั้งหมด แล้วอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือ 500 มิลลิแรมต่อปี

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณรังสีที่จะได้รับในการเอกซเรย์แต่ละตำแหน่งก็จะพบว่าใน 1 ปีสามารถเอกซเรย์ตำแหน่งที่พบได้บ่อย อย่างปลอดภัย เช่น

ปอด 50 ครั้ง

กระดูกศีรษะ 12 ครั้ง

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง 2 ครั้ง

กระดูกสันหลังส่วนคอ 10 ครั้ง

กระดูกสันหลังส่วนอก 2 ครั้ง

กระดูกสันหลังส่วนเอว 4 ครั้ง

เอกซเรย์กระดูกแขนขา (ข้อมือ มือ ข้อเท้า เท้า) 100 ครั้ง


จะเห็นได้ว่า จำนวนครั้งที่จะเอกซเรย์ อย่างปลอดภัยใน 1 ปีนั้นไม่มากนัก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของท่านเอง ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วก็ไม่ควรจะเอกซเรย์เพราะมีผลเสีย ที่อาจเกิดขึ้นตามมาเช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่เอกซเรย์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงใน หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารก หรือ ทำให้แท้งบุตร ได้ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงจะไม่มากนักแต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรเสี่ยงกับผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

โดยทั่วไป แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์ เมื่อต้องการข้อมูลที่จะได้จากเอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยให้แน่นอนเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าการวินิจฉัยโรคสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องการการตรวจเพิ่มเติม แพทย์ก็จะไม่ส่งตรวจเอกซเรย์เพราะมีแต่ผลเสีย แล้วถ้าจำเป็นแพทย์ก็จะส่งตรวจให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ดังนั้น การที่ท่านได้รับการส่งตรวจมาก ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านได้รับการรักษาที่ดี แต่อาจจะหมายความว่าท่านได้รับการตรวจทั้งที่ไม่จำเป็น ซึ่งทำให้ท่านต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาและได้รับรังสีมากเกินไป …


แถม ..

เอกซเรย์: การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray imaging)  เวบหาหมอ
//haamor.com/th/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C/

Radiation Dose in X-Ray and CT Exams
//www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=safety-xray


....................................

คุณหมอครับ ผมมาขอเอ๊กซเรย์
โพสโดย Fon เมื่อ 1 สิงหาคม 2522 00:00

คุณหมอครับ ผมมาขอเอ๊กซเรย์

“หมอกับชาวบ้าน นอกจากจะมีความแตกต่างกันในเรื่องภาษาพูดแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องความเชื่อ ความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึกและอื่นๆ อันเป็นผลมาจากพื้นเพการศึกษาและฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน จึงก่อให้เกิดช่องว่างและข้อขัดแย้งขึ้นหลายๆ อย่าง ดังปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำเราหวังว่าคอลัมน์นี้จะมีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างหมอกับชาวบ้านได้บ้างไม่มากก็น้อย”

นับตั้งแต่คนเยอรมัน ชื่อ เรินด์ เกนด์ ได้ค้นพบรังสีชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้จักมาก่อน จนต้องขนานนามรังสีนั้นว่า “รังสีเอ็กซ์” หรือ “เอ๊กซเรย์” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 แล้ว ก็มีผู้พยายามคิดค้นหาวิธีนำรังสีดังกล่าวมาใช้ในทางการแพทย์ จนเป็นผลสำเร็จ เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายว่า “เอ๊กซเรย์” นั้นหรือ คือ อาวุธขอนิดหนึ่งของบรรดาหมอๆ ทั้งหลายที่จะใช้ในการตรวจพิจารณาและรักษาโรค นั้นเอง

หลักการเอ็กซเรย์ไม่มีอะไรยาก รังสีเอ็กซ์ หรือ เอ๊กซเรย์นั้น คือ คลื่นแสงขนาดหนึ่ง ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีกับแผ่นฟิล์มได้เหมือนกับแสงทั่วๆ ไป ทำปฏิกิริยากับฟิล์มถ่ายรูป และมีอำนาจทะลุทะลวงสูงสามารถทะลุผ่านร่างกายมนุษย์ได้ดังนั้น ถ้าฉายแสงเอ๊กซเรย์นี้ไปบนแผ่นฟิล์ม โดยมีตัวคุณอยู่ตรงกลางเงาของตัวคุณจะไปปรากฏอยู่บนฟิล์ม

เปรียบเทียบง่ายๆ ดังนี้คือ ถ้าคุณยืนอยู่กลางแดด เงาของตัวคุณจะปรากฏอยู่บนพื้น และเห็นได้ว่า เงาส่วนนั้นเป็นแขน เงาส่วนนี้เป็นขาตรงกลางเป็นลำตัวอะไรทำนองนั้น ถ้าคุณเอาผ้าบางๆ คลุมตัวคุณแบบมนุษย์ค้างคาว หรือซุปเปอร์แมน แล้วมองดูเงาตัวคุณใหม่ เงาของคุณก็จะเหมือนมนุษย์ค้างคาว หรือซุปเปอร์แมน แต่ถ้าคุณลองพิจารณาดูที่เงาให้ถ้วนถี่คุณก็จะเห็นว่า เงานั้นมีความเข้มไม่เท่ากัน คุณจะยังพอมองออกว่าเงาส่วนไหนเป็นลำตัว ส่วนไหนเป็นแขน ขา และเงาส่วนไหนเป็นผ้าคลุม

ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายของคุณกับผ้าคลุม มีคุณสมบัติในการกั้นแสงได้ไม่เท่ากัน ร่างกายสามารถกั้นแสงได้มากกว่าเงาก็เข้มกว่าผ้าคลุมกั้นแสงได้น้อยกว่า เงาก็จางลง

เอ๊กซเรย์ ก็อาศัยหลักเดียวกันนี้ อวัยวะภายในของคนเราประกอบด้วยหลายอย่าง บางอย่างกั้นแสงได้มาก เช่น กระดูก ก็จะปรากฏเป็นเงาทึบมาก บางอย่างมีลมมากก็กั้น แสงได้น้อย เช่น ปอด เงาก็จางมาก บางอย่างกั้นแสงได้ปานกลาง เงาก็เข้มปานกลาง เช่น หัวใจ เป็นต้น

เงา ที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มเอ๊กซเรย์นั้น เมื่อนำไปล้างด้วยกรรมวิธีเช่นเดียวกับฟิล์มถ่ายรูป เงานั้นก็จะปรากฏเป็นภาพเนกาตีฟ* ของฟิล์มขาว-ดำ คือ เงากับมีสีขาว เงาที่เข้มมาก ทึบมากก็เป็นสีขาวมาก เงาที่เข้มน้อยทึบน้อย ก็เป็นสีขาวน้อยหรือเป็นสีดำ

นั้นเป็นหลักการง่ายๆ ของเอ๊กซเรย์

แต่อวัยวะบางอย่าง มีคุณสมบัติใน การกั้นแสงได้ใกล้เคียงกัน ภาพที่ปรากฏออกมาก็มีความเข้มใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนได้ ก็ต้องมีวิธีที่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการนำสารทึบแสงบางอย่างใส่ร่างกายสู่อวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วถ่ายเอ๊กซเรย์ อาทิ เช่น ต้องการตรวจกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น หมอจะให้กลืนแบเรี่ยมซัลเฟต

แบเรี่ยมซัลเฟต เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติกั้นแสงเอ๊กซเรย์ได้ มีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งเมื่อนำมาละลายน้ำก็เหมือน แป้งละลายน้ำยิ่งขึ้น รวมทั้งกลิ่นและรส ซึ่งไม่น่ารับประทานด้วย

หมอบางคน จึงเอาสี กลิ่น รส เติมลงไป

คุณชอบสี กลิ่น หรือรส ชนิดไหนละครับสตรอว์เบอร์รี่ ช๊อคโกแลต สับปะรด วานิลลา หรือองุ่น

เมื่อกลืนแบเรี่ยมซัลเฟตลงไปแล้ว แบเรี่ยมจะเคลือบอยู่ตามเยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้มองเห็นลักษณะของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารได้ชัดเจน ถ้ามีแผลเป็นรูบุ๋มลงไปที่กระเพาะ แบเรี่ยมก็จะเข้าอยาในแผลนี้ ทำให้มองเห็นได้ว่ากระเพาะมีแผล หรือมะเร็งของกระเพาะอาหาร เป็นเนื้องอกออกมา ก็จะมองเห็นได้เช่นกันว่า มีเนื้อยื่นออกมา แต่ถ้าเป็นแผลเล็กๆ หรือก้อนเนื้อเล็กๆ ก็มองยากเหมือนกันแหละครับ

ถ้าต้องการตรวจเกี่ยวกับไต เอาแบเรี่ยมใส่เข้าไปทางไหนดี เอาแบเรี่ยมใส่เข้าไปไม่ได้หรือ ไม่เป็นไร หาสารอื่นที่ทึบแสงเหมือนกันมาใช้แทนก็ได้ ฉีดน้ำยาสารทึบแสงนี้เข้าทางเส้นเลือดดำ น้ำยานี้มีคุณสมบัติอีกอย่าง นอกจากทึบแสงก็คือ จะถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วทางไต น้ำยานี้จึงไปตกไปรวมอยู่ที่ไต และส่วนอื่นของระบบขับถ่าย เช่น ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ

ถ่ายเอ๊กซเรย์ตอนนี้ ก็มองเห็นรูปร่างของไต ต่อไต กระเพาะปัสสาวะ จนได้รู้ว่า มีนิ่ว หรือไม่ ยังทำงานดีอยู่หรือไม่ เป็นโรคอะไรไปแล้ว

ถ้าต้องการดูก้อนอะไรในสมองหรือครับ หาวิธีใหม่ เอาสารทึบแสงฉีดเข้าเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แล้วถ่ายเอ๊กซเรย์จะเห็นเส้นเลือด ศึกษาดูจากลักษณะของเส้นเลือดก็พอจะบอกได้ว่า ผิดปกติหรือไม่ มีก้อนอยู่ตรงไหน จะต้องทำผ่าตัดตรงไหน

เหล่านี้เป็นเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ประกอบกับเครื่องเอ๊กซเรย์ ซึ่งมีผลให้เอ๊กซเรย์กลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์

ถึงกระนั้น เอ๊กซเรย์ก็ยังเป็นเพียงเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ในบรรดาเครื่องมือแพทย์หลายๆ ชนิด ที่หมอใช้เป็นส่วนประกอบในการตรวจโรคบางอย่าง ไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้เครื่องเอ๊กซเรย์นี้ ตรวจโรคได้ทั้งหมด และโรคที่มนุษย์เราเป็นกันนั้น ส่วนใหญ่สามารถตรวจได้ โดยไม่ต้องเอ๊กซเรย์ด้วย และโรคบางอย่าง แม้จะเอ๊กซเรย์ด้วยเทคนิคไหน ก็ไม่ช่วยบอกให้ทราบได้ว่า เป็นโรคอะไร ประชาชนทั่วไปทราบว่า การเอ๊กซเรย์มีประโยชน์อย่างมากในการตรวจวินิจฉัยโรคที่เชื่อและศรัทธาในการเอ๊กซเรย์ ถึงขนาด เมื่อมีอาการไม่สบายขึ้น แทนที่จะคิดไปหาหมอตรวจ บางคนกับเลยเถิดไป คือ ต้องไปเอ๊กซเรย์ ทั้งๆ ที่เป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องเอ๊กซเรย์ และถึงเอ๊กซเรย์ก็ไม่ช่วยในการวินิจฉัยตรวจโรคได้

อย่างเช่นคนไข้บางคนไม่สบายเป็นหวัด มีไข้ ไอ เจ็บคอ ไปหาหมอหมอตรวจแล้วให้ยามากิน ก็กินทิ้งกินขว้าง คือกินบ้างไม่กินบ้าง ไม่ปฏิบัติตนตามที่หมอแนะนำ จึงไม่หายสักที หลายวันเข้าชักรู้สึกไม่ใคร่ดี คือ ไม่ไว้ใจกลัวจะเป็นอะไรมาก มีโรคแทรกซ้อนหรือเปล่าก็ไม่รู้แถมเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ยังมายุอีกว่า “ทำไมไม่ไปขอหมอเอ๊กซเรย์ล่ะ” แนะนำยังกับผู้เชี่ยวชาญแน่ะ

โรคหวัดนั้นน่ะ อย่าว่าแต่หมอเลย ชาวบ้านทั่วไปก็รู้จักดี พิจารณาได้ และบางคนยังรู้จักวิธีปฏิบัติตัว รักษาหวัด โดยไม่ต้องพึ่งยาฝรั่งด้วย

แต่โรคแทรกซ้อนของอาการหวัดคงจะดูยากหน่อยล่ะครับ

แทนที่จะแนะนำไปให้หมอตรวจใหม่ กลับไม่เชื่อมือหมอ แนะนำไปให้เครื่องเอ๊กซเรย์ตรวจเสียนี่

จึงต้องหันไปหาหมออีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ไปตรวจ หากไปขอเอ๊กซเรย์พอหมอบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องเอ๊กซเรย์ ก็ไม่พอใจ เอ๊ะ! หมอคนนี้ยังไงกันนะ ขอเอ๊กซเรย์ก็ไม่ได้ จึงต้องเร่ไปหาหมอคนต่อไป และต่อไป จนกระทั้งพบหมอที่ยอมเอ๊กซเรย์ให้ อาจเป็นเพราะเพื่อตัดความรำคาญหรืออะไรก็ตามที

แต่ผลเอ๊กซเรย์ออกมา

“ปอดคุณไม่เป็นอะไรหรอกครับ ปกติดี นี่ครับยา คุณเอาไปทานต่อนะครับ”

อย่างนี้เรียกว่าเอ๊กซเรย์โดยไม่จำเป็น ก็ยังจะขืนเอ๊กซเรย์ให้ และผลที่ได้ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่คนไข้เลย

ความจริงจะว่าไปแล้ว อันตรายต่างๆ จากการเอ๊กซเรย์มีไม่มากนัก นี่หมายความว่า ถ้าใช้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อันตรายที่เกิดขึ้น มักเกิดจากการที่ร่างกายได้รับรังสีมากเกินไป

ถ้าคุณสังเกตดูตามตึกเอ๊กซเรย์ของโรงพยาบาลต่างๆ จะพบว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ภายในตึก ทุกๆคน นั้น แม้ แต่คนงานผู้มีหน้าที่กวาดทำความสะอาด มีป้ายชนิดหนึ่งติดตัว ป้ายนั้นมีลักษณะคล้ายๆป้ายชื่อ สีฟ้าขนาดประมาณกว้าง 3 ซ.ม.ยาว 4 ซ.ม. บางคนแขวนไว้ที่อกเสื้อ บางคนแขวนไว้ที่เอว แต่บางคนก็เอาใส่กระเป๋าเสื้อไว้ ป้ายนี้คือแผ่นฟิล์มเอ๊กซเรย์ขนาดเล็ก ที่มีไว้เพื่อตรวจสอบดูว่า ได้รับรังสีมากเกินไปหรือเปล่า เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับรังสีโดยตรง แต่ก็อาจจะมีรังสีรั่วออกมาได้ และถ้าได้รับรังสีมากเกินไป จะต้องหยุดพักงานไประยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาทำงานได้ มิฉะนั้นอาจมีอันตราย

อันตรายจากเอ๊กซเรย์ แม้จะมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นอันตรายที่น่ากลัว เช่น

1. เป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งในเม็ดโลหิตขาว มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง มะเร็งในต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น และทุกคนก็ทราบว่า เมื่อเป็นมะเร็ง นอกจากจะรักษาไม่หาย ต้องตายเร็วแล้ว ยังต้องตายอย่างทรมานอีกด้วย

2. เป็นหมัน เป็นได้ทั้งหญิงและชาย ถ้าบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้รับรังสีมากเกินไป แต่อาการนี้อาจเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดรับรังสีอาจกลับมาเป็นปกติได้

3. ผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ในกรณีที่ยังคงได้รับรังสีต่อไป รังสีจะทำลายโครโมโซม ซึ่งเป็นตัวควบคุมกรรมพันธุ์ ทำให้กรรมพันธุ์ผิดปกติไป อาการผิดปกตินี้มักจะรุนแรง จนทำให้ทารกที่คลอดจากผู้มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์นี้มักจะพิการ หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้

4. ทำให้ร่างกายหยุดการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก มีผลให้การเจริญเติบโตผิดปกติ ร่างกายแคระแกร็นได้ และถ้าเป็นทารกในท้อง ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งท้องแล้ว การหยุดเจริญเติบโต หมายถึง ความพิการของทารกทีเดียว

ถ้าคุณกำลังตั้งท้องในระยะ 3 เดือนแรก และหมอจะให้คุณเอ็กซเรย์ คุณต้องบอกให้หมอทราบด้วยว่า คุณกำลังตั้งท้อง เพราะหมออาจไม่ทราบได้ หรือมิเช่นนั้นก็พลั้งเผลอ แล้วผลเสียเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง ถึงแม้ว่าการเอ๊กซเรย์เพียงครั้งเดียว อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ก็อาจเป็นได้ และไม่มีผู้ใดสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

นอกจากนี้ ก็มีอันตรายอื่นๆ เช่น ผิวหนังเป็นผื่นเนื่องจากรังสี ตาเป็นต้อ เป็นโรคเลือดจาง เนื่องจากไขกระดูกไม่ทำงาน แพ้ยาที่ฉีดเข้าไป เพื่อการเอ๊กซเรย์ ซึ่งกรณีนี้ อาจถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีประวัติแพ้อาหารทะเล หรือสาร ไอโอดีน และอีกกรณีหนึ่งคือ แพทย์ใช้สารแบเรี่ยมผิดชนิด จนทำให้คนไข้ตาย ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดไปแล้ว จนเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่ว เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้น การใช้เอ๊กซเรย์จึงต้องมีขอบเขต มีการระมัดระวัง ป้องกันอันตรายอย่างมาก หมอทุกคนจะถูกสอนให้รู้ และระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าเอ๊กซเรย์นั้น เป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ที่อาจช่วยในการพิจารณาในการตรวจโรคได้ บางโรคเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเครื่องมือวิเศษ ที่จะบอกได้ทุกอย่าง ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แม้เดี๋ยวนี้จะมีเครื่องเอ๊กซเรย์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ควบคุมการทำงานที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์ไรท์ โทโมแกรม (หรือย่อว่า ซี.ที.) นั้นก็ยังไม่ใช่เครื่องมือวิเศษ และยังห่างไกลจากคำว่า วิเศษมาก เพราะสามารถตรวจได้เฉพาะโรคบางอย่างได้ไม่กี่ชนิดที่ตรวจด้วยกรรมวิธีธรรมดาไม่ได้ผลหรือไม่ ข้อบ่งชี้ในการใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการตรวจยังมีไม่มาก และอัตราราคาในการตรวจก็แพงมหาศาลครั้งละ 2,000-3,000 บาท หรือกว่านั้น

ดังนั้น มีคนไข้ประเภทที่คิดอยากจะเอ๊กซเรย์โดยไม่ทราบเหตุผลข้อเท็จจริงว่า จะมีประโยชน์ มีความจำเป็นหรือไม่ เช่น

ประเภทที่ อยากจะเอ๊กซเรย์แล้ว ก็ต้องเอ๊กซเรย์ให้ได้ ไม่ฟังเสียงใคร

ประเภทที่ เห็นเขามีเครื่องมืออะไรใหม่ ก็ต้องลองไปตรวจดู

ประเภทที่ เดินเข้าไปหาหมอ แล้วก็บอกว่า “ผมมาขอเอ๊กซเรย์ครับ” ประเภทนั้นนะ

ก่อให้เกิดผลประการเดียวครับ

หมอรวยน่ะซิ! และหมอประเภทที่ชอบสั่งเอ๊กซเรย์โดยไม่จำเป็น

ประเภทที่คิดแต่จะเอาใจคนไข้ เมื่อคนไข้มาขอเอ๊กซเรย์ ก็ให้เอ๊กซเรย์ โดยไม่อธิบายถึงว่าควรหรือไม่ควร

ประเภทเหล่านั้นน่ะ เป็นเพียงนักธุรกิจในคราบของหมอเท่านั้นเอง!


https://www.doctor.or.th/article/detail/5236
ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 4-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 4
เดือน/ปี: สิงหาคม 2522
คอลัมน์: พูดคนละภาษา
นักเขียนหมอชาวบ้าน: รจน์ วิพากษ์

.............................





 

Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 19 พฤษภาคม 2559 14:10:54 น.   
Counter : 24077 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]