Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ไทรอยด์ ( คอพอก )

คอพอก

"คอพอก" เป็นคำจำกัดความของกลุ่มโรคที่มี ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) โตผิดปกติ

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อ วางตัวอยู่หน้าหลอดลมที่คอ ทำหน้าที่สร้าง ฮอร์โมน"ไทรอกซีน"(Thyroxine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของร่างกายทุกระบบ ต่อมไทรอยด์ในคนปกติจะไม่สามารถคลำได้ แต่ถ้าสามารถ คลำหรือสังเกตได้จากการมอง แสดงว่า ต่อมไทรอยด์มีอาการโตผิดปกติหรือมีคอพอกเกิดขึ้นนั่นเอง

ก. คอพอกแบบเป็นพิษ Thyrotoxicosis(Toxic goiter)

เกิดจากต่อมไทรอยด์มีการสร้าง ฮอร์โมนไทรอกซีน มากเกินความต้องการของร่างกาย

สาเหตุ ยังไม่สามารถ หาสาเหตุที่แท้จริง อาจเกิดจากตัวต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติเอง หรือ เกิดจากมีสารมากระตุ้นทำให้ต่อมสร้างฮอร์โมนมากเกินไปเช่น ฮอร์โมนจาก เนื้องอกของต่อมใต้สมองส่วนหน้า

อาการแสดง

มักพบในผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย 7-8 เท่า ต่อมไทรอยด์อาจจะโตหรือไม่ก็ได้ โดยทั่วไปจะมีอาการโตเล็กน้อย

หัวใจจะถูกกระตุ้นมากที่สุด ทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง บางครั้งก็ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เหนื่อยง่าย

ฮอร์โมนไทรอกซีนจะกระตุ้นเซลล์ของร่างกายให้สร้างพลังงานมากขึ้น ทำให้มีพลังงานเหลือเฟือ ผู้ป่วยจึงมักอยู่ไม่สุข ต้องทำโน่นทำนี่ ดูลุกลี้ลุกลน พูดเร็ว มักเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ผู้ป่วยจึงมักชอบอากาศเย็นๆ แต่มือจะอุ่น และมักมีเหงื่อออกชุ่ม หิวบ่อย กินจุ แต่ไม่อ้วน น้ำหนักลดลง อุจจาระบ่อย


มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา ถ้าเป็นมากๆ จะก้าวขึ้นบันไดไม่ไหว
ประจำเดือน บางทีมาน้อย หรือห่างออกไป ลูกตาอาจโปนถลนออกมา อาจมองเห็นภาพซ้อนกันอยู่เสมอ

แนวทางการรักษา ปกติไทรอยด์เป็นพิษ การรักษามี 3 อย่างใหญ่ ๆ คือ

1.รับประทานยา

จะมียา 2 ประเภท คือ ยาต้านไทรอยด์ ก็คือ PTU และ methimazole กับยารักษาอาการใจสั่น ก็คือ propanolol ปกติการกินยาอาการจะไม่หายทันที ต้องใช้เวลา3-6 สัปดาห์ จึงจะดูปกติ

ข้อดีคือ สามารถปรับขนาดยาเพื่อควบคุมอาการของไทรอยด์เป็นพิษได้ ประมาณ 40 % ผู้ป่วยโรคนี้ มีโอกาสที่โรคจะสงบเองหลังจาก 2 ปีไปแล้ว ซึ่งจะมากหรือน้อย ขึ้นกับหลายปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ขนาดของต่อมไทรอยด์ ถ้าขนาดโต โอกาสที่โรคจะสงบลงได้เอง จะน้อยกว่า โดยทั่วไปจึงแนะนำให้กินยาดู 2 ปี แล้วลองหยุดยาดู

ถ้ากินยาไปแล้ว 2 ปี ไม่สามารถหยุดยาได้ ก็จะมีให้เลือก 2 ประการคือ เลือกจะกินยาต่อไป ก็ไม่เสียหายอะไร โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของไทรอยด์เป็นพิษได้ ในขนาดยาต่ำ ๆ ก็ไม่มีผลข้างเคียงอะไรที่ร้ายแรง นอกจากนี้ ผู้ที่กินยาต้านไทรอยด์นานขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้โรคสงบได้มากและนานมากขึ้นไปด้วย หรือเลือกอย่างที่สอง คือ เลือกจะทำลายต่อมไทรอยด์ ด้วยการกินสารไอโอดีนกัมมันตรังสี


2. น้ำแร่กัมมันตรังสี(ไอโอดีน-131)

มีความปลอดภัยมาก ผลของรังสีต่อร่างกายนั้นน้อยมาก เนื่องจากไอโอดีนรังสี จะถูกต่อมไทรอยด์จับไปจนเกือบหมด ส่วนที่เหลือร่างกายได้รับรังสี เทียบเท่ากับการถ่ายภาพรังสีเพียง 4-5 ฟิล์ม เท่านั้น

มักใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาไม่ได้ผล ออกฤทธิ์ช้า ในอดีตจะไม่ใช้ในคนอายุน้อยหรือผู้ที่ยังไม่มีบุตร แต่ปัจจุบันสามารถปรับใช้ในคนอายุน้อยได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้รักษาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะหลังใช้กัมมันตรังสีมักจะเกิดฮอร์โมนต่ำเกินไป ซึ่งทำให้จะต้องรับประทานยาทดแทนฮอร์โมน(Eltroxin) ไปตลอดชีวิต

ข้อดีคือ มีโอกาสจะหายจากไทรอยด์เป็นพิษได้ง่ายกว่า (ทำให้หายสนิทได้) และ รับประทานได้ง่ายกว่ายาต้านไทรอยด์ คือเฉลี่ย วันละ 1-2 เม็ดเท่านั้น แพทย์จะคำนวณปริมาณสารรังสี จากขนาดและการทำงานของต่อมไทรอยด์ เมื่อรับประทานแล้วก็กลับบ้านได้ หมอจะนัดมาตรวจอีกที แต่วิธีนี้มีแต่ในรพ.ใหญ่ ๆ เช่น ศิริราช, จุฬา, รามา,... เท่านั้น

ข้อเสียคือ ผู้ที่กินไปแล้วจะมีโอกาสเกิดต่อมไทรอยด์ ทำงานน้อยกว่าปกติ เพราะเนื้อต่อมถูกทำลายไปมากกว่าที่คำนวณได้ (ซึ่งการคำนวณเป็นการประมาณคร่าว ๆ ต่อมของแต่ละคนมีการทำงานมากน้อยต่างกัน) ทำให้จำเป็นต้อง รับประทานยาทดแทนฮอร์โมน (Eltroxin) เสริมเข้าไปแทน ตลอดชีวิต

3. การผ่าตัด

จะใช้ในกรณีมีข้อห้ามในการรักษาด้วยยา มีก้อนที่คอร่วมด้วย หรือ สงสัยว่าจะเป็นเนื้องอก


ภาวะไทรอยด์เป็นพิษกับการตั้งครรภ์

สำหรับภาวะ ไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งกำลังรักษาด้วยยานั้น ถ้าเลือก หรือ หลีกเลี่ยงได้ อย่าเพิ่งตั้งครรภ์ในช่วงที่รักษาเนื่องจาก

1.ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ ทั้ง 2 ตัวคือ PTU และ Methimazole ผ่านรกจากแม่ไปสู่ลูกได้

ข้อดีก็คือถ้าเด็กเป็นโรคเหมือนกัน มันก็ช่วยรักษาโรคได้ แต่ข้อเสียในกรณีที่เด็กปกติ คือ มันจะทำลาย ฮอร์โมน ไทรอยด์ ของเด็ก ทำให้เกิดภาวะ ไทรอยด์ต่ำเกิน ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาการของเด็ก

2.มีรายงานว่าการกินยา methimazole จะทำให้เด็กอาจมีความผิดปกติ ของกระดูกสันหลังตั้งแต่เกิด แต่ในกรณีจำเป็นจริง ๆ ก็อาจใช้ได้ โดยให้ขนาดยาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องระวังมากโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก และ 3 เดือนสุดท้าย ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาขนาดสูง อาจจำเป็นต้องผ่าตัด โดยจะทำใน ไตรมาศที่สองของการตั้งครรภ์


ข. คอพอกแบบไม่เป็นพิษ Non-thyrotoxicotic Goiter (Simple goiter)

เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ไม่มีอาการของไทรอยด์เป็นพิษดังกล่าว

สาเหตุที่พบบ่อย คือ

1 การขาดไอโอดีน พบในผู้ป่วยที่ไม่ทานอาหารทะเล ไม่ทานเกลือไอโอดีน ปัจจุบันพบได้น้อยลง แต่ยังพบได้ตามภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวเขา ต่อมไทรอยด์อาจโต เล็กน้อยจนถึงใหญ่มาก ๆ ได้
อาการแสดง

ในผู้ใหญ่จะพบได้ทั้งแบบที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น และแบบ ต่อมไทรอยด์ขนาดปกติ แต่จะแสดงอาการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ได้แก่ เป็นคนเชื่องช้า เซื่องซึม ขี้หนาว พูดช้า เสียงแหบ ผิวแห้ง ผมแห้งหยาบและร่วงง่าย ท้องผูก น้ำหนักเพิ่ม

ส่วนในเด็ก อาจเกิดจากความผิดปกติ ของต่อมไทรอยด์มาแต่กำเนิด จึงสร้างฮอร์โมนออกมาน้อย ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ( 3 เดือนแรกเกิด ) เด็กโตขึ้น ตัวจะเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หรือที่เรียกกันว่า"โรคเอ๋อ" ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ อาการที่น่าสงสัยว่าเด็กขาดฮอร์โมน ได้แก่ เฉื่อยชา เลี้ยงง่าย ไม่กวน เคลื่อนไหวช้า ดูดนมน้อย ท้องอืด ท้องผูกเสมอ พุงป่อง สะดือจุ่น กระหม่อมหลังเปิดกว้าง ตัวเหลืองนานผิดปกติ ลิ้นโตคับปาก ผมและคิ้วบาง หนังตาบวม ผิวหนังหนาซีดหยาบแห้ง เด็กเติบโตช้า แขนขาสั้น รูปร่างอ้วนเตี้ย ปัญญาอ่อน

การรักษา

รับประทานอาหารทะเล หรือ เกลือไอโอดีน ยาไทรอยด์ ในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่อาจต้องผ่าตัด

2 ร่างกายมีความต้องการฮอร์โมนมากขึ้น พบในหญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ15-35ปี) และ หญิงตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์จะโตขึ้นเพราะต้องสร้างฮอร์โมนให้เพียงพอกับความต้องการ มักจะไม่มีอาการอื่นนอกจากมีก้อนที่คอ

การรักษา

ในรายที่ก้อนโตเล็กน้อยอาจเฝ้าสังเกตอาการไปก่อน ในกรณีที่ก้อนมีขนาดโตขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยารักษา กรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่อาจต้องได้รับการผ่าตัด

3 เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ มีทั้งเนื้องอกธรรมดา และ เนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง

ก้อนเดี่ยวของต่อมไทรอยด์ มีโอกาสเป็นมะเร็ง ประมาณ 5-10 % ส่วนภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยกว่า คือ ประมาณ 1 % โดยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้นในกลุ่มที่

• มีประวัติเคยได้รับการฉายรังสี บริเวณศีรษะและคอ ในวัยเด็ก (ถ้ามีก้อนจะพบมะเร็งประมาณ 30-40%)

• มีประวัติมะเร็งต่อมไทรอยด์ในครอบครัว

• ก้อนของต่อมไทรอยด์ในเพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งบ่อยกว่าเพศหญิง (แต่พบก้อนของต่อมไทรอยด์ในเพศหญิงได้บ่อยกว่า)

• อายุ น้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 60 ปี

• ก้อนโตเร็ว โตในข้างใดข้างหนึ่ง (ในพวกคอพอกที่เกิดจากร่างกายต้องการฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ไทรอยด์มักโตสม่ำเสมอทั้ง 2 ข้าง) หรือ มีอาการเสียงแหบ หายใจลำบาก กลืนลำบาก

• ก้อนแข็ง ติดแน่นกับผิวหนังหรืออวัยวะข้างเคียง อาจมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างลำคอโตร่วมด้วย

การรักษา

ก็มีทั้งให้ยาร่วมกับการผ่าตัดเช่นเดียวกัน




อ้างอิง


คอพอก

//www.thaiclinic.com/goiter.html

//www.thaiclinic.com/goiter2.html


การรักษาทัยรอยด์เป็นพิษ(thyrotoxicosis)

//www.thaiclinic.com/hyperthyroid.html


ภาวะ ไทรอยด์เป็นพิษกับการตั้งครรภ์

//www.thaiclinic.com/goiterpreg.html








Create Date : 10 พฤษภาคม 2551
Last Update : 22 มิถุนายน 2552 14:27:38 น. 3 comments
Counter : 10405 Pageviews.  

 


ขอบคุณค่ะ ดีมากๆเลย


โดย: klint77 วันที่: 10 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:24:27 น.  

 

ยินดีครับ ...


ขอบคุณที่มา comment ไม่งั้นเหงาแย่เลย


โดย: หมอหมู วันที่: 12 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:26:35 น.  

 
มีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ น้องสะใภ้เป็นโรคนี้ค่ะ คิดว่า
อยากอ่านเป็นความรู้ไว้ค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้มากๆ ค่ะ


โดย: ผักบุ้งตาสวย วันที่: 11 มีนาคม 2552 เวลา:23:44:11 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]