ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่
ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่
การตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นขั้นตอนการตรวจสอบว่า ปัจจุบันสุขภาพของเรายังดีอยู่หรือไม่ มีโรคแอบแฝงที่ต้องรีบรักษาหรือไม่ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องทำ
แต่ปัจจุบันการตรวจสุขภาพมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาโรคเป็นสำคัญ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ ฯลฯ แล้วนำมาใช้ตัดสินว่าสุขภาพดีหรือไม่ดี โดยดูแต่ค่าตัวเลขหรือผลการตรวจเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดในการแปลผลได้มาก
การตรวจสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องเป็นการตรวจที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพที่แท้จริงของผู้รับการตรวจ ไม่ใช่มุ่งแต่หาโรค
การตรวจที่ดีจะต้องมีการชี้แนะให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ต้องไม่สร้างความทุกข์ใจ และต้องไม่ทำให้ ผู้รับการตรวจมีความประมาทเมื่อตรวจไม่พบโรค
การตรวจสุขภาพตามหลักสากลจะประกอบด้วยหลัก 4 ประการคือ
1. การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
การคัดกรอง แต่เดิมนั้นเชื่อว่าทำเพื่อค้นหาโรค แต่ความจริงแล้วการคัดกรองที่ดี คือ การค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นก่อนที่จะทำให้เกิดโรค
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค มีหลายอย่าง เช่น การทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารที่มีไขมันสูง ก็ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง เกิดปัญหาโรคหัวใจ, การดื่มเหล้า เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคตับ ตับอ่อนอักเสบ โรคพิษสุราเรื้องรัง รวมถึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ, การไม่ออกกำลังกาย ทำให้อ้วนเกิดปัญหา โรคเบาหวาน ไขมันสูง ปวดข้อ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่สามารถค้นหาได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งการซักประวัติมากถึง 80% ส่วนที่เหลือคือการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติเฉพาะที่จำเป็นตามปัจจัยเสี่ยงที่ได้จากประวัติ ซึ่งในบางครั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจไม่มีความจำเป็นเลยก็ได้
การคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเงิน และคุ้มค่า ซึ่งมีขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่การซักประวัติทั่วไป เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ การทำงาน อาชีพ การซักประวัติโรคประจำตัว โรคของคนในครอบครัว การรับประทานอาหาร การใช้สารเสพติด การออกกำลังกาย เมื่อได้ข้อมูลแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจเน้นพิเศษในบางเรื่องที่มีปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย
หลังจากทำการตรวจเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินผลการตรวจสุขภาพ โดยประเมินปัจจัยเสี่ยงที่พบ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อกำจัดปัจจัยเสี่ยง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต
2. การให้คำแนะนำ
โดยส่วนใหญ่พบว่ามักจะเป็นการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น แนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย แนะนำให้งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้เข็มขัดนิรภัยหรือใส่หมวกกันน๊อค เป็นต้น
คำแนะนำอื่นๆ เช่น แนะนำวิธีตรวจคลำหาก้อนที่เต้านมทุกสัปดาห์ การสอนให้สังเกตอาการเจ็บหน้าอก ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
การให้คำแนะนำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับการตรวจสุขภาพควรได้รับทุกครั้งที่มารับการตรวจสุขภาพ
3. การให้วัคซีนที่จำเป็น
การให้วัคซีนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ การให้วัคซีนที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรค และช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
การให้วัคซีนส่วนใหญ่จะให้ในวัยเด็ก
ส่วนในผู้ใหญ่นั้น มีวัคซีนที่แนะนำว่าควรได้รับคือ
1.วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ ควรได้รับการฉีด เริ่มต้น 3 เข็ม และ รับการกระตุ้น 1 เข็ม ทุก 10 ปี
2.วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ (ให้ก่อนตั้งครรภ์)
3.วัคซีนอื่นๆ ควรได้รับตามความเสี่ยง เช่น
-วัคซีนตับอักเสบ บี ควรได้รับในผู้ที่มีคู่สมรสเป็นพาหะตับอักเสบ บี และได้รับการตรวจแล้วว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน
-วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ควรให้กับผู้ที่จะไปยังแหล่งที่มีโรคระบาด เช่น ไปแสวงบุญเมกกะ
-วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับในผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในเขตที่มีการระบาดของโรครุนแรง
4. การให้สารเคมีหรือยาเพื่อป้องกัน
อาจให้ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น การให้ฟลูโอไรด์ในเด็ก การให้โฟลิกในผู้ที่มีโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย การให้ฮอร์โมนในกลุ่มหญิงวัยทอง การให้แคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น
สรุปแล้วการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังมีความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะจะช่วยตรวจสอบค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค การให้วัคซีน ยาหรือสารเคมีบางชนิดเพื่อป้องกันหรือรักษาโรค
การตรวจสุขภาพที่มีประโยชน์คุ้มค่า จะต้องเป็นการตรวจที่มีจุดประสงค์ เพื่อป้องกันโรค มากกว่ามุ่งการรักษา เลือกเฉพาะการตรวจเฉพาะที่มีประโยชน์ เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่การตรวจแบบเหวี่ยงแห เหมือนในอดีตอีกต่อไป
การตรวจคัดกรองที่แนะนำสำหรับคนทั่วไป แยกตามอายุได้ดังนี้
อายุ 18 - 34 ปี :
1. วัดความดันโลหิต
2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก
3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก (หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว)
อายุ 35 59 ปี :
1. วัดความดันโลหิต
2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก
3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก 4. ตรวจไขมันในเลือด (ชายอายุ 35 ปี หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป) 5. ตรวจน้ำตาลในเลือด (อายุ 40 ปีขึ้นไป) 6. ตรวจมะเร็งเต้านม โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม
อายุมากกว่า 60 ปี :
1. วัดความดันโลหิต
2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก
3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก 4. ตรวจไขมันในเลือด
5. ตรวจน้ำตาลในเลือด 6. ตรวจมะเร็งเต้านม โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม 7. ตรวจการได้ยินโดยการซักประวัติ 8. ตรวจการมองเห็นโดยใช้ Snellen test 9. ตรวจมะเร็งลำไส้โดย ตรวจเลือดในอุจจาระ
*****************************

แวะไปอ่านต่อ อาจยาวหน่อย แต่ มีประโยชน์มาก .. คุ้มค่า ..
Create Date : 09 มิถุนายน 2551 |
Last Update : 12 กันยายน 2561 13:48:09 น. |
|
6 comments
|
Counter : 17912 Pageviews. |
|
 |
|
การตรวจร่างกายประจำปี จำเป็นจริงๆ หรือ?
ข้อมูลสื่อ
File Name :60-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :60
เดือน-ปี :04/2527
คอลัมน์ :โลกกว้างและการแพทย์
นักเขียนหมอชาวบ้าน :พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร
การตรวจร่างกายประจำปีโดยละเอียดนั้น ปัจจุบันนี้มีผู้แย้งว่าไม่จำเป็นเสียแล้ว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองหลายอย่าง แต่ก็ยังมีผู้ชอบทำเพราะอ้างว่าจะได้ค้นพบโรคร้ายเสียแต่เนิ่นๆ เช่น มะเร็ง ถ้าพบแรกๆ แล้วมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า แม้แต่ทางราชการไทยของเราทุกกรมกองยังคงมีการ “เช็ค” ร่างกายประจำปีเช่นเดียวกัน แต่เป็นการกระทำกับคนจำนวนมากในเวลาจำกัดและไม่มีการตรวจอะไรมาก นอกจากฟังหัวใจ วัดความดันและชั่งน้ำหนัก ซึ่งดูเป็นการลวกๆ เกินไป ครั้นจะไม่ตรวจเสียเลยก็ผิดระเบียบ ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีผู้ดำเนินสายกลางคือตรวจละเอียดเฉพาะรายที่เสี่ยงมากๆ เช่นมีประวัติในครอบครัวว่ามีพี่น้องหลายคนเป็นมะเร็งหรือโรคอื่นๆ เช่น ความดันสูงเบาหวาน
แพทย์อเมริกากันหลายคนมีความเห็นว่าการตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่หัวจรดเท่านั้นเป็นการสิ้นเปลืองและแพงมาก จะต้องใช้เงิน 1 หมื่นกว่าบาทต่อหัว
เขาจึงแนะนำว่า เราไม่จำเป็นจะต้องตรวจละเอียดทุกคน เราเลือกเอาแต่การตรวจหรือทดสอบที่มีความสำคัญเฉพาะเราเท่านั้น เช่น
1. การฉีดกระตุ้นป้องกันบาดทะยัก และในคนสูงอายุ (ในอเมริกา) เขามีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ การป้องกันบาดทะยักนั้นโดยปกติเริ่มทำตั้งแต่อายุ 3 เดือน
2. การตรวจวัดความดัน
เป็นการตรวจที่เปลืองน้อยที่สุดแต่ในคุณค่าทางสุขภาพมาก เพราะโรคความดันโลหิตสูงนั้นถ้าพบเสียแต่เนิ่นๆ อาจรักษาและป้องกันมิให้มีโรคแทรก (เส้นเลือดแตก) ได้ และในระยะแรกๆ นั้น ภาวะนี้อาจควบคุมได้โดยการระวังอาหาร ออกกำลังกาย และยา
สำหรับผู้ที่สบายดีเป็นปกติทุกอย่าง แพทย์อเมริกาเขาแนะนำว่าควรวัดความดัน 5 ปีครั้งหนึ่งก็ได้ จนถึงอายุ 40 ต่อจากนั้นควรวัด 1-3 ปีต่อครั้ง แล้วแต่ประวัติครอบครัวหรือตัวเลขความดันครั้งสุดท้าย
3. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ
เป็นการตรวจหาเลือดในอุจจาระที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้การทดสอบทางเคมี เรียกว่า ทดสอบไควแอค (Quaiac Test) เพราะเป็นการตรวจค้นมะเร็งลำไส้ได้เสียแต่เนิ่นๆ มีคำแนะนำว่าควรทำเมื่ออายุ 40 ปีไปแล้ว และต่อจากนั้น ควรทำทุกๆ 2 ปี แต่สมาคมมะเร็งของอเมริกาบอกว่าควรตรวจปีละครั้งเมื่ออายุ ได้ 50 ปี เพราะโรคมะเร็งมักจะไม่ค่อยเป็นก่อนอายุ 50 ปี
4. การทดสอบแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear)
คือการป้ายเอาเซลล์จากปากมดาลูกมาย้อมสีดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการค้นหามะเร็งปากมดลูกเสียแต่เนิ่นๆ ตอนแรกๆ แพทย์แนะนำปีละครั้งในหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ต่อมาสมาคมมะเร็งแห่งอเมริกาแนะนำว่าในหญิงอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป ควรทำทุก 3 ปี ถ้าทำมาแล้ว 2 ครั้งห่างกัน 1 ปี และให้ผลลบ แต่ถ้าหญิงนั้นมีการปฏิบัติการทางเพศจะตรวจก่อน 1 ปีก็ได้
แป๊ปสเมียร์ยังคงเป็นการทดสอบที่ปลอดภัยที่สุด ประหยัดที่สุด และง่ายที่สุด ที่จะป้องกันการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกซึ่งพล่าชีวิตหญิงอเมริกันเสียปีละ 1 หมื่นคนได้
5. การตรวจด้วยการฉายเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมกราฟี (Mammography)
เรื่องนี้ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ การฉายเอกซเรย์มีประโยชน์ในการค้นหามะเร็งเต้านมได้มากกว่าการตรวจคลำโดยมือของแพทย์ แต่ก็มีอันตรายจากรังสีเอกซ์ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำเป็นประจำในหญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี นอกจากจะมีการเสี่ยงสูง (คือมีประวัติมะเร็งในครอบครัว)
ปัจจุบันนี้ตกกันว่า อายุระหว่าง 35-40 ควรทำอย่างน้อย 1 ครั้งหรือ 2 ปีครั้ง ในระหว่างอายุ 40-50 (ตามที่แพทย์ประจำตัวจะเห็นสมควร) เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปแล้วควรทำปีละครั้ง สำหรับในอเมริกานั้นมีหญิงถึงแก่กรรมด้วยมะเร็งเต้านมปีละ 37,000 คน
การตรวจโดยการคลำเต้านมของตัวเองเดือนละครั้ง ควบกับการตรวจร่างกายทั่วไปและแมมโมกราฟี จะป้องกันได้มาก
6. การตรวจความดันภายในลูกตา (Tonometry)
เป็นวิธีการป้องการโรคต้อหิน (Glaucoma) เสียแต่เนิ่นๆ โรคนี้ทำให้คนอเมริกันตาบอดปีละ 4,500 คน เรามีประวัติโรคต้อหินในครอบครัวควรทำปีละครั้ง และเมื่ออายุครบ 40 ปีไปแล้ว ควรทำทุก 2-3 ปี
7. การตรวจตาและหู
เพื่อดูว่าการมองเห็นและการได้ยินยังดีอยู่หรือเปล่า ควรทำทุก 5 ปี เมื่ออายุ 60 ปีไปแล้ว
8. การตรวจนับเม็ดเลือดและปัสสาวะ
การนับเม็ดเลือดแดงจะได้รู้ว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ การกรวดน้ำปัสสาวะจะบอกสภาพของไต การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ และโรคเบาหวาน ถ้ามีประวัติเบาหวานในครอบครัว ควรตรวจหาน้ำตาลปีละครั้ง นอกจากนั้นควรทำทุก 3 ถึง 5 ปี
พอจะสรุปได้ว่า การตรวจร่างกายอย่างละเอียดทุกอย่างทุกปีนั้นควรเลิกได้แล้ว เอาแต่เพียงเลือกตรวจบางอย่างทุก 2-3 ปี หลังจากอายุ 40 ไปแล้ว จะมีเหตุผลมากกว่า
ในประการสุดท้าย การรักษาสุขภาพให้ดีเป็นหน้าที่ของท่านเองที่จะทำได้ง่ายๆ เช่น
1. ป้องกันอุบัติเหตุ (เช่น นั่งรถยนต์ทางไกลควรรัดเข็มขัดนิรภัย ข้ามถนนบนทางม้าลายหรือสะพานลอย หรือข้ามด้วยความไม่ประมาท ฯลฯ)
2. หลีกเลี่ยงบุหรี่ได้เป็นดี
3. กินเพื่ออยู่ให้เหมาะสมกับอายุและการใช้พลังงาน
4. ออกกำลังกายกลางแจ้งสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่มีผลตอบแทนมากที่สุด