Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

รองเท้า ใครคิดว่าไม่สำคัญ



รองเท้า ใครคิดว่าไม่สำคัญ

เราสวมรองเท้าเพื่อปกป้องเท้าไม่ให้ได้รับอันตราย แต่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ขนาดไม่พอดี นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบายขณะสวมใส่แล้ว ยังอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือผิดรูปของเท้าตามมาได้

สิ่งที่ต้องพิจารณาซึ่งสำคัญยิ่งกว่าความสวยงาม คือ รูปทรงของรองเท้าที่เข้าได้กับเท้า ซึ่งจะให้ความรู้สึกสบายขณะสวมใส่ และไม่เกิดผลเสียต่อเท้า

เมื่อจะซื้อรองเท้า ให้คิดไว้ว่า “เลือกรองเท้าให้ใส่พอดีกับเท้า ไม่ใช่ ใส่เท้าให้พอดีกับรองเท้าที่เลือก"


ข้อแนะนำในการเลือกซื้อรองเท้า


• ในการวัดขนาดเท้าควรวัดทั้งสองข้าง เนื่องจากขนาดเท้าแต่ละข้างอาจจะไม่เท่ากัน

• ควรวัดขนาดเท้าในช่วงเย็น และควรวัดขนาดเท้าในท่ายืน เพราะเท้าจะขยายออกมากกว่าปกติ

• ควรเลือกซื้อรองเท้าที่มีขนาดกว้าง ยาว พอดีกับเท้า โดยเหลือพื้นที่ส่วนปลายเท้าไว้เล็กน้อย เพราะถ้าเหลือ ที่ว่างมากเกินไป เท้าก็จะเลื่อนได้มาก ทำให้มีการเสียดสีกับรองเท้า ซึ่งจะเกิดเป็นแผล หรือมีผิวหนังพองได้

• ส่วนหลังของรองเท้าควรกระชับพอดีกับส้นเท้า ตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีการเลื่อนหลุดของส้นเท้าเวลาเดิน

• ใส่รองเท้าแล้วลองเดิน เพื่อให้แน่ใจว่าสวมได้พอดี และรู้สึกสบาย จริง ๆ

• ควรวัดขนาดเท้าทุกครั้งที่ซื้อรองเท้า เพราะขนาดเท้าอาจเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเวลาผ่านไป

• ไม่ควรเลือกรองเท้าโดยดูที่เบอร์อย่างเดียว เพราะรองเท้าแต่ละยี่ห้อเบอร์เดียวกันขนาดอาจไม่เท่ากัน

• ควรเลือกซื้อรองเท้าที่สวมได้พอดี และเข้าได้กับรูปเท้ามากที่สุด ถ้าลองแล้วรู้สึกว่าคับเกินไปก็ไม่ควรซื้อมาใส่ โดยคิดว่าเมื่อใส่ไปนาน ๆ แล้วมันอาจขยายออกมาจนพอดี เพราะว่าเท้าจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสียก่อน




รองเท้าสตรี

รองเท้าที่ดี ควรมีส่วนหัวของรองเท้ากว้าง และ ส้นไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้วฟุต

รองเท้าส้นสูงที่มีส่วนหัวของรองเท้าแคบเรียว ทำให้นิ้วเท้าถูกบีบเข้ามาหากันมาก และน้ำหนักจะไปลงที่บริเวณปลายเท้า แทนที่จะลงที่บริเวณส้นเท้าตามปกติ

ถ้าส้นรองเท้ายิ่งสูง น้ำหนักก็จะยิ่งลงไปยังส่วนปลายเท้ามากขึ้น จึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย หรือ ทำให้มีนิ้วเท้าผิดรูป เช่น ตาปลา ข้อนิ้วหัวแม่เท้าเก เป็นต้น


รองเท้าบุรุษ

รองเท้าที่ดีควรมีรูปทรงเข้าได้พอดีกับรูปเท้า โดยที่ส่วนหัวของรองเท้ามีพื้นที่เหลืออยู่เล็กน้อยพอให้นิ้วเท้าขยับได้บ้าง และ ส้นรองเท้าไม่สูง (โดยทั่วไปจะสูงประมาณครึ่งนิ้วฟุต)


รองเท้ากีฬา

จุดมุ่งหมายในการออกแบบรองเท้ากีฬาก็เพื่อปกป้องเท้าของนักกีฬาจากแรงเค้นภายนอกที่มากระทำต่อเท้า และเพื่อให้เกิดแรงเสียดทานระหว่างพื้นรองเท้ากับพื้นสนามมากพอ ที่จะทำให้เล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ไม่เกิดอุบัติเหตุ

รองเท้าสำหรับกีฬาแต่ละประเภทจะถูกออกแบบมาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง น้ำหนัก วัสดุที่ใช้ หรือ ลักษณะการผูกเชือก ดังนั้นในการใช้รองเท้ากีฬาจึงควรเลือกให้เหมาะสมกับกีฬา แต่ละประเภท


สุขภาพเท้า ในผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุ เท้าก็จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยมักจะกว้างออก และ มีไขมันที่ช่วยป้องกันการกระทบกระแทกในบริเวณฝ่าเท้า ลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของกระดูกและ เส้นเอ็น อันเนื่องจากน้ำหนักตัวด้วย

จึงควรวัดขนาดรองเท้าบ่อย ๆ ปัญหาที่เกิดเนื่องจาก ผิวหนังที่แห้ง และ เล็บที่ฉีกขาดง่าย ก็พบได้บ่อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้พบได้มากขึ้นในผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูง โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4 เท่า



ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพเท้า


การเดินเป็นการบริหารที่ดีที่สุดสำหรับเท้า

ถุงเท้า ควรจะมีขนาดที่พอดี ใส่แล้วไม่มีรอยย่น และ ควรเป็นแบบที่ไม่มีตะเข็บ หรือ รอยเย็บ

ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำอุ่นและใช้สบู่อ่อน ๆ อาจจะผสม moisturizer ลงไปด้วยหรือใช้ moisturizer หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว

ตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรง

คอยสังเกตเท้า ทุก ๆ วัน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีสีแดงขึ้น บวม ผิวหนังแห้งแตก หรือ รอยฟกช้ำ ควรปรึกษาแพทย์



รองเท้าสำหรับเด็ก

เด็กเล็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องใส่รองเท้าจนกว่าจะเริ่มเดิน ซึ่งทั่วไปก็ประมาณอายุ 12 ถึง 15 เดือน

ในช่วงที่ยังไม่เดิน การสวมถุงเท้าอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะช่วยให้ความอบอุ่นแก่เท้าหรือปกป้องเท้าไม่ไห้ได้รับอันตรายขณะคลาน

เมื่อเด็กเริ่มยืนหรือเดิน รองเท้าจะเป็นสิ่งจำเป็นและดีที่สุดในการป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นกับเท้า การสวมถุงเท้าจะช่วยลดอาการระคายเคืองจากการที่เท้าสัมผัสกับรองเท้าโดยตรง

สำหรับเด็กวัยหัดเดิน ควรให้เด็กได้เดินด้วยเท้าเปล่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะการเดินด้วยเท้าเปล่าจะทรงตัวได้ง่าย แต่หากพาออกไปนอกบ้าน ก็ควรที่จะให้มีรองเท้าเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งต่างๆ

ข้อแนะนำในการเลือกรองเท้าเด็ก

หัวรองเท้า ควรยาวกว่านิ้วเท้าของเด็กอย่างน้อยครึ่งนิ้ว บริเวณส่วนหัวของรองเท้าควรมีพื้นที่เหลือพอที่ จะให้นิ้วเท้าขยับได้ และเผื่อไว้สำหรับเท้าที่จะเจริญเติบโตขึ้นอีก (เท้าจะยาวขึ้นประมาณ ครึ่งนิ้วฟุตใน 3 - 6 เดือน)

พื้นรองเท้า ควรมีความยืดหยุ่นดี น้ำหนักเบา และไม่ลื่น พื้นรองเท้าควรจะเรียบกว้างและแข็งแรง ซึ่งเมื่อเด็กสวมรองเท้า และเขย่ง รองเท้าจะโค้งตามรูปเท้า พื้นรองเท้าด้านใน ควรบางแต่นุ่มนวล และยืดหยุ่นได้ดีไม่แข็งกระด้าง ถ้าพื้นผิวด้านในอ่อนนิ่มหรือฟูหนาจนเกินไป จะทำให้นิ้วเท้าของเด็กจมลงไปมาก ทำให้เด็กเดินลำบากขึ้น

สายคาด ควรเป็นแบบที่ สามารถเลื่อนเข้าเลื่อนออกให้กระชับพอดี กับขนาดเท้าได้ง่าย

รองเท้าหัวป้านจะช่วยให้นิ้วเท้าไม่ถูกบีบ และจะไม่เจ็บเท้าเมื่อต้องใส่รองเท้าเป็นเวลานาน

คุณภาพของฝีมือในการตัดเย็บ จะต้องประณีต ตะเข็บต้องไม่หนา และไม่กดรัดนิ้วเท้า ควรหลีกเลี่ยง รองเท้าที่เป็นพลาสติก เพราะพลาสติกจะไม่ปรับรูปร่างให้เข้ากับเท้า

ควรเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ให้กับลูกเมื่อเห็นว่ารองเท้านั้นคับเกินไป โดยอาจสังเกตจากขณะยืนสวมรองเท้า นิ้วเท้าแตะโดนด้านในของหัวรองเท้า มีรอยกดของรองเท้า ทำให้เท้าบวมหรือแดงเป็นรอย



Create Date : 09 มิถุนายน 2551
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 18:08:30 น. 5 comments
Counter : 3462 Pageviews.  

 
ดีใจจังค่ะ มีคุณหมออยู่ใกล้ อุ่นใจอีกระดับแล้ว
ยินดีที่ได้รู้จักคุณหมอหมูนะค่ะ จันทร์เจ้าจ้า.......


โดย: familylove วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:19:07:29 น.  

 

ขอบคุณที่แวะมาแจม ...




โดย: หมอหมู วันที่: 11 มิถุนายน 2551 เวลา:16:12:08 น.  

 
ได้ความรู้มากครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 14 มิถุนายน 2551 เวลา:22:52:00 น.  

 


รองเท้าส้นสูง

รศ.พญ.กานดา ใจภักดี
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การสวมใส่รองเท้านั้นก็เพื่อจะป้องกันอันตรายจากภายนอก เพื่อความสวยงาม แต่ท่านเคยคิดหรือไม่ว่า “ตัวรองเท้า” นั้น ก็อาจจะทำให้เกิดอันตราย และสร้างปัญหาให้แก่เท้าได้เหมือนกัน เชื่อว่าทุกคนคงจะต้องเคยประสพกับมันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย เช่น รองเท้ากัด ปวดเท้า ปวดนิ้วเท้า ปวดน่องหรือในบางรายอาจจะปวดเข่า ปวดหลัง ก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะในผู้ที่สวมใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งเป็นหัวข้อที่จะสนทนากับท่าน

ในเพศหญิง ถ้าส้นเท้าสูงประมาณ 4 1/2 เซ็นติเมตร และในเพศชาย ถ้ารองเท้าสูงประมาณ 3 1/2 เซ็นติเมตร นั้น เรานับว่าเขากำลังใส่รองเท้าส้นสูง

ส้น รองเท้าจะสูงเท่าไร จึงจะก่อให้เกิดอันตรายนั้น เป็นสิ่งที่พูดยาก เนื่องจากว่ามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาสัมพันธ์ด้วย เช่น รูปร่างของคนๆ นั้น อ้วน หรือผอม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในคนที่กล้ามเนื้อฝ่าเท้า และขาแข็งแรงก็ย่อมจะเกิดอันตรายได้น้อยกว่าประการสุดท้าย ขึ้นอยู่กับความเคยชินที่ได้ใส่รองเท้าส้นสูงมาเป็นเวลานานๆ แต่อย่างไรก็ตามก็จะขอแนะนำว่า ” การสวมรองเท้าส้นสูง ที่มีส้นรองเท้า แหลม และสูง ย่อมจะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้มากกว่า การสวมใส่รองเท้าที่มีส้นทึบ และเตี้ย”

อันเนื่องมาจากว่า ขณะที่ใส่รองเท้าส้นสูงนั้น พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เช่น อาการปวดเมื่อย เช่น ที่ฝ่าเท้า นิ้วเท้า น่อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ากล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป จนทำให้เกิดการเมื่อยล้า หรือกล้ามเนื้อบางมัดถูกยืดมากเกินไป หรือกล้ามเนื้อบางมัดหดเกร็งอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น กล้ามเนื้อน่อง ย่อมจะทำให้ การไหลเวียนเลือดไม่ดี และในที่สุดเกิดการกดของเอ็นร้อยหวายได้ นอกจากนี้ที่อยากจะเน้นมากคือ การปวดหลัง และปวดเท้า

อาการ ปวดบางตำแหน่ง เช่น นิ้วเท้า มีหนังด้าน หรือเล็บขบ ซึ่งเกิดจากการถูกบีบหรือกดทับ หรือถูกเสียดสีมากเกินไป และประการสุดท้าย การเกิดอุบัติเหตุ เช่น เท้าแพลง หรือกระดูกหัก เมื่อหกล้ม



การป้องกันและการรักษาอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

การเลือกรองเท้า

1. ควร เลือกสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ย ซึ่งมีความมั่นคงมากกว่ารองเท้าส้นสูง แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องใส่รองเท้าส้นสูง ควรจะใส่รองเท้าเป็นช่วงๆ ควรจะให้เท้าพักอยู่ในท่าปกติบ้าง คนที่ลงพุงและคนที่ตั้งครรภ์ไม่ควรใส่รองเท้าสูง เนื่องจากเกิดความไม่มั่นคง และทำให้เกิดการปวดหลังได้ง่าย

2. พยายาม เลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม มีน้ำหนักเบา พื้นรองเท้ายืดหยุ่นพอควร และกว้างพอที่จะรองรับเท้าทั้งหมดไว้ ไม่ควรใส่รองเท้าหัวแหลม ควรจะใส่รองเท้าชนิดหัวกลม เพื่อจะได้ไม่บีบนิ้วเท้า สำหรับวัสดุที่ใช้ในการทำรองเท้าควรจะนิ่มพอควร เพื่อป้องกันการเสียดสี และควรจะเป็นวัสดุที่ระบายอากาศได้ เพื่อป้องกันการอับชื้นของเท้า ข้อแนะนำในการซื้อรองเท้าใหม่ เมื่อลองสวมใส่ครั้งแรกต้องมีความรู้สึกสบายเท้า ไม่มีจุดเจ็บบริเวณต่างๆ ของเท้า ทั้งขณะยืน และเดิน

3. การดูแลระวังรักษาเท้า ควรจะทำความสะอาดเท้าทุกวันด้วยสบู่และแปรงขัดเท้า หนังด้านตามที่ต่างๆ กำจัดได้โดยการแช่น้ำอุ่น หรือนวดด้วยครีม และตัดหนังด้านนั้นทิ้ง ส้นเท้าแตก หรือแผลจากน้ำกัดเท้า ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะเป็นทางนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้


ในกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นกับเท้าแล้ว เราจะทำอย่างไร

ควร จะเริ่มแก้ปัญหาที่ ตัวรองเท้าเสียก่อน โดยการเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ และลดระดับความสูงของส้นรองเท้าลง และให้ปฏิบัติตนเองต่อไปนี้

เมื่อมีอาการปวดเมื่อย ให้แช่เท้าด้วยน้ำร้อนที่พอทนได้ วันละครั้ง นาน 10-15 นาที พร้อมกับออกกำลังกายเท้า และนิ้วเท้าไปด้วย โดยการกระดกปลายเท้าขึ้น ถีบปลายเท้าลง งอนิ้วเท้า เหยียดนิ้วเท้า

ภายหลังการแซ่น้ำอุ่น ก็ให้ออกกำลังในท่าต่อไปนี้
ก) กระดกปลายเท้าขึ้นพร้อมกับงอนิ้วเท้า ถีบปลายเท้าลง พร้อมกับเหยียดนิ้วเท้าขึ้น
ข) หันฝ่าเท้าเข้าด้านในพร้อมกับงอนิ้วเท้า หันฝ่าเท้าออกทางด้านนอก พร้อมกับเหยียดนิ้วเท้า
ค) ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง โดยเท้าวางห่างจากกำแพง 2-3 ฟุต ข้อสอกเหยียดตรงให้ฝ่ามือสัมผัสกำแพงในระดับไหล่ หลังจากนั้นให้งอข้อศอก เพื่อให้ลำตัวชิดกำแพง ส่วนข้อตะโพก ข้อเข่าเหยียดตรงเสมอพยายามให้ส้นเท้าสัมผัสพื้นตลอดเวลา ทุกท่าทำวันละ 20-30 ครั้ง
การ นวด การบีบ โดยการนวดด้วยมือทั้งเท้า โดยเฉพาะอุ้งเท้าซึ่งมีเส้นเลือด เส้นประสาทและกล้ามเนื้อจำนวนมาก นอกจากนี้อาจจะเครื่องช่วย เช่น กะลา กระบอกไม้ไผ่ก็ได้ โดยการเหยียบไปบนส่วนนูนของมัน

ในกรณีได้รับอุบัติเหตุ เช่น เท้าแพลง ในระยะ 1-2 วันแรก ควรประคบด้วยน้ำแข็งนาน 5-10 นาที พร้อมกับพักการใช้ข้อเท้า โดยพันด้วยผ้ายืด ถ้ายังไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์


โดย: หมอหมู วันที่: 13 เมษายน 2556 เวลา:0:38:06 น.  

 


การดูแลเท้าอย่างถูกวิธี

ผศ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์
คลินิกสุขภาพเท้า ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


เท้านั้นสำคัญไฉน

เท้าเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ เท้าประกอบไปด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ 26 ชิ้น เท้า 2 ข้างมีกระดูกรวมกันทั้งหมด 52 ชิ้น ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของกระดูกทั้งหมดในร่างกาย ข้อต่อในเท้า มีทั้งหมด 38 ข้อ มีกล้ามเนื้อ 31 มัด มีเส้นเอ็นทั้งหมด 107 เส้น

เท้าเป็นอวัยวะที่ทำงานหนัก ในขณะเดินมีแรงกระทำต่อเท้าข้างละประมาณ 120% ของน้ำหนักตัว และในขณะวิ่งมีแรงกระทำต่อเท้าสูงถึงข้างละประมาณ 275% ของน้ำหนักตัว

มีการศึกษาพบว่าผู้ชายน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม เท้าแต่ละข้างต้องรับน้ำหนัก 63.5 ตันในขณะเดิน และสูงถึง 100 ตัน เมื่อวิ่งเป็นระยะทาง 1.6 กิโลเมตร

มีผู้ประมาณการไว้ว่าชั่วชีวิตของมนุษย์ผู้หนึ่งจะใช้เท้าเดินเป็นระยะทางเฉลี่ยถึง 120,000 – 160,000 กิโลเมตร ซึ่งยาวมากกว่า 3 ถึง 4 เท่าของระยะทางรอบโลกเสียอีก


เราใช้เท้าทำงานหนักในแต่ละวันจึงควรดูแลเท้าให้มีสุขภาพดี หลักการดูแลเท้าทำได้ดังนี้

สิ่งที่ควรปฏิบัติในการดูแลเท้าทุกวัน

1. ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ
2. เช็ดเท้าให้แห้งทันที โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
3. ถ้าผิวแห้ง ทาครีมบางๆ ให้ทั่วทั้งหลังเท้าและฝ่าเท้า แต่ไม่ทาบริเวณซอกนิ้วเท้า เพราะอาจเกิดการหมักหมมได้
4. ถ้าเล็บยาวตัดเล็บเท้าอย่างถูกวิธีโดยตัดตามแนวขอบเล็บเท่านั้น ไม่ตัดเล็บเซาะเข้าไปทางด้านข้างของเล็บ
5. ถ้าอากาศเย็นให้ใส่ถุงเท้านอน
6. ใส่รองเท้าตลอดเวลาแม้นจะอยู่ในบ้านก็ตาม
7. ใส่รองเท้าที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ
8. ออกกำลังเพื่อบริหารข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า



การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม

1. เลือกแบบที่ปลอดภัยกับเท้า
ปัจจุบันมีรองเท้าหลายแบบและหลายรูปทรงให้เลือก ควรลองรองเท้าลักษณะต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ รองเท้าที่เหมาะสมไม่ควร มีตะเข็บแข็งอยู่ด้านในและไม่ควรเลือกแบบที่ใส่แล้วคับเกินไป หลวมเกินไป หรือมีส่วนของรองเท้ากดหรือเสียดสีกับเท้า

2. เลือกแบบของรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า
เลือกรูปทรงรองเท้าที่เหมาะสมและมีลักษณะใกล้เคียงกับรูปเท้าของเราก่อน แล้วจึงลองขนาดของรองเท้า

3. ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนของขนาดรองเท้า
รองเท้า เบอร์เดียวกันจะมีขนาดต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ แม้รองเท้ายี่ห้อเดียวกัน ถ้ารูปทรงต่างกันขนาดก็แตกต่างกัน ดังนั้นห้ามซื้อรองเท้าจากการดูเบอร์ ต้องลองสวมรองเท้าก่อนซื้อทุกครั้ง

4. วัดขนาดเท้าทั้งสองข้างก่อนเลือกซื้อรองเท้าเสมอ
เท้า คนเราเปลี่ยนแปลงได้ทั้งขนาดและรูปร่างในแต่ละช่วงอายุ อีกทั้งคนส่วนใหญ่มักมีเท้าข้างใดข้างหนึ่งกว้างหรือยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง ดังนั้นควรลองสวมรองเท้าทั้งสองข้างก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง

5. ลองสวมเดินทุกครั้ง
เมื่อเลือกรองเท้าได้แล้ว ต้องลองสวมเดินก่อนซื้อทุกครั้งเพราะรองเท้าที่ดีต้องสวมสบายทั้งในขณะนั่ง ยืนและเดิน

6. ความยาวของรองเท้าที่เหมาะสม
ความยาวที่เหมาะสม คือ ใส่แล้วมีระยะระหว่างปลายนิ้วที่ยาวที่สุดกับปลายของรองเท้าเหลือประมาณ 3/8 – 1/2 นิ้วฟุต หรือเท่ากับขนาดความกว้างของนิ้วหัวแม่มือ

7. ความกว้างของรองเท้าที่เหมาะสม
ความกว้างที่เหมาะสม คือ ส่วนที่กว้างที่สุดภายในรองเท้าควรกว้างเท่ากับความกว้างที่สุดของเท้าและอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน

8. ส้นเท้าต้องอยู่พอดีกับส้นรองเท้า
ตำแหน่งของส้นเท้าควรอยู่กับตำแหน่งของส้นรองเท้าและมีความกระชับพอดี เมื่อเดินแล้วรองเท้าไม่หลุดจากส้นเท้า

9. ถ้าใส่วัสดุเสริมในรองเท้าต้องเปลี่ยนขนาดรองเท้าให้เหมาะสม
สำหรับ ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุเสริมภายในรองเท้า เช่น แผ่นรองใต้ฝ่าเท้า วัสดุเหล่านี้ทำให้รองเท้าคับขึ้น ดังนั้นเวลาเลือกรองเท้าต้องใส่วัสดุเสริมในรองเท้าก่อนลอง เพื่อให้ได้ขนาดรองเท้าที่เหมาะสม

10. เท้าเปลี่ยนขนาดได้ตามเวลาและชนิดของกิจกรรม
เท้า เปลี่ยนขนาดและรูปร่างได้ในแต่ละช่วงของวัน เท้ามักจะขยายหลังจากเดินมาก นั่งห้อยเท้านาน ๆ หรืออกกำลังกาย ดังนั้น ก่อนเลือกรองเท้าต้องคำนึงถึงเวลาและกิจกรรมที่จะนำไปใช้ให้สอดคล้องกันด้วย

การ ออกกำลังเพื่อบริหารข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคงความ แข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า

ท่าบริหารทำได้โดย
1. กระดกข้อเท้าขึ้นและลงสลับกันช้าๆ
2. หมุนข้อเท้า โดยหมุนเข้าและหมุนออกช้าๆ
3. ใช้นิ้วเท้าจิกผ้าที่วางอยู่บนพื้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อเล็กๆในเท้า
4. นั่ง ยกขาขึ้น เหยียดเข่าตึง แล้วกระดกข้อเท้าขึ้นค้างไว้นับ 1 – 6 ในใจถือเป็น 1 ครั้ง

*จะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพเท้าทำได้ไม่ยากเลย หากว่าเราใส่ใจให้เวลาสักนิด เท้าก็จะอยู่กับเราตลอดไป*


โดย: หมอหมู วันที่: 13 เมษายน 2556 เวลา:0:42:50 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]