Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

เอดส์ ( AIDS )

 
เอดส์ ( AIDS )

AIDS เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส HIV (human immunodefficiency virus) ซึ่งจะทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงเนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้อ และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ จึงไม่ได้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ แต่จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อ

เนื่องจากไวรัสเอดส์ มิได้ทำให้เกิดโรคกับคนโดยตรง แต่จะทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องเสียหายไป อาการของผู้ป่วยเอดส์จึงไม่มีอาการเฉพาะ ที่จะบอกได้ว่าเป็นโรคเอดส์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อโรค ที่ฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคในผู้ป่วยเอดส์นั้นเป็นเชื้ออะไร ดังนั้นผู้ป่วยเอดส์จึงมีอาการได้มากมายหลายระบบ เช่น ไข้ ผื่นขึ้นตามตัว ปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง ผอมลงและน้ำหนักตัวลออย่างรวดเร็ว หรือมะเร็งบางชนิด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เมื่อใดก็ตามที่เราได้รับเชื้อไวรัส HIV เชื้อไวรัสตัวนี้ก็จะอยู่ในร่างกาย ของเราไปตลอดชีวิต ในปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบวิธีกำจัดเชื้อไวรัสและยังคงไม่สามารถรักษาคนไข้โรคเอดส์ให้หายขาดได้



อาการและอาการแสดง การติดเชื้อ HIV แบ่งได้เป็น 2 ระยะ

ระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อ ไวรัสเพิ่มจำนวนตรวจพบได้หลังติดเชื้อประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักจะยังไม่แสดงอาการของโรค แต่บางรายก็มีอาการไข้ อ่อนเพลีย หรือมีอาการทางประสาท

ระยะสอง เมื่อติดตามผู้ติดเชื้อประมาณ 5 ปี พบว่า แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่ไม่อาการ พบได้ร้อยละ 45 -70
ผู้ที่ติดเชื้อร้อยละ 25 จะแสดงอาการโรคเอดส์อย่างชัดเจนในเวลา 5 ปี

2. กลุ่มที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต

3. กลุ่มมีอาการสัมพันธ์กับโรคเอดส์ กลุ่มนี้จะมีอาการที่บ่งถึงการเพิ่มจำนวนของไวรัส และการติดเชื้อที่ระบบต่าง ๆ อาการที่พบเช่นไข้เรื้อรัง น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน อาจพบอาการท้องร่วงเรื้อรัง หรือมีผื่นคัน

4. กลุ่มที่มีอาการชัดเจนสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นเอดส์ ผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปเช่นเดียวกับกลุ่ม 3 แต่จะมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก แม้รักษาโรคเดิมหายก็มีโอกาสติดเชื้อใหม่หรือเป็นมะเร็งเกิดขึ้นอีก ผู้ป่วยเอดส์ร้อยละ 50 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ร้อยละ 75 เสียชีวิตภายใน 3 ปี และ เกือบทั้งหมดเสียชีวิตภายในเวลา 5 ปี

5. กลุ่มที่มีอาการทางประสาท



การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. ตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือ แอนติบอดี้ (Antibodies) ต่อเชื้อ HIV เป็นวิธีที่นิยมใช้โดยทั่วไป

หลังจากได้รับเชื้อไวรัส ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้) ต่อเชื้อไวรัสนั้น ซึ่งจะเริ่มตรวจพบแอนติบอดี้หลังการติดเชื้อ 3 สัปดาห์ จนถึง 3 เดือน ( โดยปกติร่างกายจะเริ่มสร้าง Antibody หลังจากได้รับเชื้อไปราว 2 สัปดาห์ ระยะ 2-6 สัปดาห์จึงไม่ใช่ระยะฟักตัวของเชื้อ แต่เป็นระยะนับตั้งแต่ได้รับเชื้อ จนถึงระยะที่เชื้อแบ่งตัวออกมาอย่างมากมายในเลือด และเกิดอาการคล้าย ๆ ไข้หวัด ที่เรียกว่า Acute HIV symptoms ถ้าจะเรียกจริง ๆ ต้องเรียกว่าเป็น Window period ซึ่งเป็นระยะที่อาจไม่สามารถตรวจได้ว่า ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้ว )

2. ตรวจหา ชิ้นส่วนของ HIVหรือ แอนติเจน (Antigen)

หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในเซลส์อย่างมาก จนกระทั่งมีปริมาณมากพอที่จะสามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบแอนติเจนได้

วิธีการตรวจซึ่งถือว่าเป็นการตรวจมาตรฐาน สำหรับ HIV คือวิธี ELISA ซึ่งให้ผลดีมาก มี Sensitivity มากกว่า 99.5% แต่ Specificity ไม่ดีนัก

ดังนั้นหากผล ELISA test เป็นบวกหรือไม่แน่ใจควรได้รับการยืนยันโดยวิธี WESTERN BLOT ซึ่งจะให้ผลที่เชื่อถือได้มากกว่า

หากไม่สามารถยืนยันได้โดย WESTERN BLOT ( ผลเป็น INDETERMINATE ) ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจต่อไปโดยวิธี POLYMERASE CHAIN REACTION (PCR) นอกจากนั้นควรตรวจซ้ำใหม่โดย WESTERN BLOT อีก 1 เดือนถัดไป

อย่างไรก็ตาม antibodies ต่อเชื้อ HIV จะตรวจพบได้ในกระแสเลือดหลัง ติดเชื้อแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ดังนั้นในรายที่สงสัยควรตรวจซ้ำหลังจากนั้น อีก 3 เดือน หาก ELISA test ครั้งแรกเป็นผลลบ

การตรวจ PCR แม้จะได้ผลเร็วกว่า Anti-HIV แต่ข้อด้อยของ PCR ก็คือ

1. การตรวจให้ผลบวก ต้องยืนยันซ้ำเสมอ เพราะการตรวจไวมาก อาจมีสิ่งที่เรียกว่า "ผลบวกลวง" ได้

การตรวจแม้จะทำให้ทราบผลได้เร็วกว่า เพราะ PCR จะตรวจพบ HIV antigen ก่อนที่ร่างกายจะสร้าง Antibody เพียงพอที่จะตรวจพบได้โดยการตรวจ Anti-HIV แต่ก็ทราบผลก่อนล่วงหน้าเพียง 2-5 สัปดาห์ ซึ่งระยะเวลาแค่นี้ไม่ได้มีความแตกต่างในแง่ของภูมิคุ้มกัน และการรักษาเลย

2. การตรวจ PCR ของ HIV ทำขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนที่ร่างกายจะสร้าง Anti-HIV จึงมีประโยชน์ในการตรวจผู้ที่จะบริจาคเลือด เพราะจะทำให้ทราบว่ามีเชื้อหรือไม่ก่อนที่ร่างกายจะสร้าง Anti-HIV เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปบริจาคเลือดหลังจากได้รับเชื้อ แต่ร่างกายยังไม่สร้าง Anti-HIV ( ช่วง 2-5 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ ) ถ้าธนาคารเลือดไม่ทราบแล้วนำไปให้ผู้ป่วยก็จะเป็นผลเสียร้ายแรง จุดประสงค์นี้ไม่ควรนำมาประยุกต์ใช้พร่ำเพรื่อเช่นการตรวจหาการติดเชื้อทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นการสิ้นเปลืองแรงงาน เงิน และไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ ในการรักษาด้วย การรู้ก่อน 2-3 สัปดาห์ ไม่ได้ทำให้การรักษาเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด



การติดต่อ

ไวรัสเอดส์ พบได้ในปริมาณสูงในเลือด, น้ำอสุจิ, น้ำหลั่งในช่องคลอด และน้ำหลั่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำไขสันหลัง, น้ำในช่องปอด, น้ำในช่องท้อง, น้ำในช่องเยื่อหัวใจ นอกจากนี้ไวรัสเอดส์ยังพบได้อีกแต่ ในปริมาณน้อยในสิ่งเหล่านี้ เช่น น้ำนม, น้ำมูก, น้ำตา, น้ำลาย, เสมหะ. เหงื่อ, อุจจาระและปัสสาวะ
ดังนั้นไวรัสติดต่อโดย

1. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัสเอดส์

2. การใช้เข็มหรือของมีคมอื่นใดร่วมกับผู้มีเชื้อไวรัสเอดส์ รวมทั้งการรับเลือดจากผู้มีเชื้อไวรัสเอดส์

3. ทารกติดเชื้อไวรัสเอดส์จากมารดาซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือระหว่างคลอด หรือดื่มนมมารดา ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือระหว่างคลอด หรือดื่มนมมารดาที่มีเชื้อไวรัสเอดส์



การป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอดส์

1. งดการสำส่อนทางเพศ

2. หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช้คู่ครองของตนเอง ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

3. สตรีติดเชื้อไวรัสเอดส์ ควรขอคำแนะนำก่อนการตั้งครรภ์

4. หลักเลี่ยงการรับเลือดโดยไม่จำเป็นหากมีความจำเป็น ต้องเป็นเลือดที่ผ่านการทดสอบว่าปราศจากเชื้อไวรัสเอดส์แล้วเท่านั้น และจะปลอดภัยยิ่งขึ้น หากได้รับเลือดจากผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติสำส่อนทางเพศ หรือติดยาเสพติด

5. หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกน รวมทั้งการฝังเข็ม และเจาะหู สักยันต์


แม้ว่าโรคเอดส์ จะเป็นโรคอันตรายร้ายแรง แต่เชื้อไวรัสเอดส์จะไม่ติดต่อจาก การรับประทานอาหารร่วมกัน การสัมผัส กอดรัด จับมือ นั่งใกล้ พูดคุยกับผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ หรือ การใช้ของใช้ที่ไม่มีคมร่วมกัน เช่น หวี เสื้อผ้า หรือการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม อีกทั้งเชื้อไวรัสเอดส์จะไม่ติด ต่อโดยผ่านแมลง เช่น ยุงหรือหมัด
ดังนั้นผู้ป่วยโรคเอดส์ จึงสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมอย่างปกติ



การรักษาโรคเอดส์ในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน ยาที่ใช้ยับยั้งไวรัสโรคเอดส์ (หรือ HIV) แบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มแรก จะเป็นสารประกอบ ที่มีรูปร่างคล้ายกับวัตถุดิบตามธรรมชาติที่ไวรัส HIV ใช้ในการสร้างสารพันธุกรรมเพื่อการเจริญเติบโต แต่สารประกอบดังกล่าว จะมีพิษต่อไวรัส เช่นยาAZT ( Zidovudine )

กลุ่มที่สอง จะขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์โปรตีเอส จึงมีชื่อเรียกกันอย่างกว้างๆว่า "protease inhibitor"

ปัจจุบันได้มีการใช้ยาสองประเภทนี้ ควบคู่กัน ในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะรุนแรง จากการทดลองในผู้ป่วยประมาณ 1,000 คน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา ทั้งสองประเภทพร้อม ๆ กัน จะมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา AZT เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม เอดส์ยังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด การให้ยาถือว่าเป็นเพียงการยืดเวลาให้กับผู้ป่วยเท่านั้น

ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะค้นพบ วิธีชะลอการดำเนินของโรคให้ช้าลง โดยยา anti-virus เช่น AZT และ DDI ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีวิธีใด ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถรักษาได้ผล 100% ดังนั้นในขณะนี้ การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ จึงมุ่งเน้นไปที่จะพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือ การติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น



คำแนะนำการดูแลตนเอง

1. หลีกเลี่ยงการเป็นกามโรค และระวังไม่ให้ได้รับเชื้อเพิ่มมากขึ้น

2. หลีกเลี่ยงการรับเชื้อไวรัส เชื้อราในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้เชื้อเอดส์ในร่างกายทวีจำนวนมากขึ้นและป่วยเร็วขึ้น เช่น
• ไม่อยู่ในที่อับทึบ แออัด
• ไม่เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดภายในบ้าน ใต้ถุนบ้าน ใกล้บ้าน
• ไม่เข้าไปทำความสะอาดสัตว์ เล้าหมู เป็ด ไก่
• ไม่ควรเข้าไปเยี่ยมคนป่วยในโรงพยาบาลหรือเข้าไปใกล้ผู้ป่วยโรคติดต่อ

3. รับประทานอาหารที่สะอาดและ มีประโยชน์ หมั่นกินอาหารโปรตีน โดยเฉพาะไข่ นม และผัก ผลไม้ทุกวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ดิบบางชนิด เช่น แหนมสด ลาบสด ลู่ ปลาร้า ไข่ลวก หากจะกินต้องทำให้สุกทุกครั้ง

4. งดการกินอาหารหมักดอง หรือใช้เครื่องปรุงที่ทำจากการหมักดอง เช่น ซอสต่าง ๆ ซีอิ้ว

5. งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้าเบียร์ งดยาเสพติด

6. หมั่นออกกำลังกาย คลายความเครียด ทำสมาธิ

7. หลีกเหลี่ยงการตั้งครรภ์

8. หมั่นรักษาสุขภาพในช่องปากและฟัน
• แปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ
• กลั้วคอ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
• ถ้ามีอาการของโรคเหงือกและฟันผุ ต้องรีบรักษา
• ตรวจสุขภาพฟันและช่องปากกับทันตแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

9. หลีกเหลี่ยงการใช้ยาที่กดภูมิต้านทาน ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาหม้อ ยาจีน ยาชุด ยาสมุนไพร

10. ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ด้วยการแต่งกายที่ปกปิดผิวหนังให้มิดชิด

11. ควรรับการตรวจสุขภาพทุกเดือน



หมายเหตุ ..

บทความนี้ ผมเก็บไว้นานแล้ว ข้อมูลต่าง ๆโดยเฉพาะ การรักษาก็เปลี่ยนไปพอสมควร ถือว่าเป็นแค่ความรู้เบื้องต้นเท่านั้นนะครับ ..


..............................................

เอดส์ ( AIDS)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=27

 

ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=26

 

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ ... ของแพทย์ ... แต่ ประชาชน ก็ควรรู้

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=09-09-2012&group=4&gblog=96

 

องค์กรที่ให้บริการปรึกษาและทำงานด้านเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=28



*******************************************


ปี 62 คนกรุงติดเชื้อเอชไอวี เกือบ 8 หมื่นคน -รายใหม่เกินครึ่ง อายุน้อยกว่า 25 ปี

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 11:09 น.
เขียนโดย
Thaireform
329 Shares
Share
Tweet

ปี 62 กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบ 8 หมื่นคน รายใหม่ 1,190 คน ในจำนวนนี้ 52.8% อายุน้อยกว่า 25 ปี รองผู้ว่ากทม. เผยแผนเฝ้าระวัง พบผู้รับยาต้าน-กดไวรัสสำเร็จ ยังไม่บรรลุเป้า 90% ชูพัฒนาระบบ BSMS มาดูแล

HIV270862

วันที่ 27 ส.ค. 2562 กรุงเทพมหานคร จัดประชุมแนวทางการรายงานเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผ่านระบบ Bangkok Smart Monitoring System:BSMS รุ่นที่ 1 ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ได้ลงนามปฏิญญาเพื่อยุติปัญหาเอดส์ Fast-Track Citis 90-90-90 ในวันเอดส์โลก 1 ธ.ค. 2557 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานภายในปี 2563

การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย 90% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทราบว่า ตนเองติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันทำได้ 92% ส่วน 90% ที่สอง คือ 90% ของผู้ทราบว่าตนเองติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัส ปัจจุบันทำได้ 78% และ 90% ที่สาม คือ 90% ของผู้ได้รับยาต้านไวรัสสามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ปัจจุบันทำได้ 76%

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินงานดังกล่าว พบช่องว่างในการดำเนินงานที่สำคัญ ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 90% ที่สอง และ 90% ที่สาม ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพฯ ในเวลานี้ ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายเพื่อยุติเอดส์ได้ ระบบรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ระบบรายงานการติดตามข้อมูล จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการสนองตอบต่อการดำเนินงาน

ด้วยเหตุนี้กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย จึงได้พัฒนาระบบการรายงานเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผ่านระบบ Bangkok Smart Monitoring System:BSMS โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการรายงาน เพื่อลดภาระงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีประชากรในพื้นที่ 5,676,648 คน เป็นเพศชาย 2,679,453 คน เพศหญิง 2,997,195 คน โดยในปี 2562 คาดการณ์ว่า จากจำนวนประชากรในพื้นที่ทั้งหมด มีกลุ่มประชากรเข้าถึงยากและเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ากลุ่มประชากรอื่น ได้แก่ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย 78,045 คน (กลุ่มเสี่ยงสูง 43,879 คน กลุ่มเสี่ยงต่ำ 34,166 คน ) ชายขายบริการทางเพศ 6,404 คน กลุ่มสาวประเภทสอง 32,380 คน พนักงานบริการทางเพศหญิง 21,778 คน ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 3,189 คน

นอกจากนี้กรงุเทพฯ ยังคาดประมาณว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2562 จำนวน 77,558 คน เป็นรายใหม่ 1,190 คน ในจำนวนรายใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี 628 คน (52.8%) และมีผู้เสียชีวิตภายในปี 2562 จำนวน 1,877 คน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุในปี 2561 มีผู้ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่ 70,747 คน ได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ 55,123 คน และมีผลตรวจพบว่า ปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อยกว่า 1,000 copies/mL 41,893 คน

ส่วนการเฝ้าระวังความชุกการติดเชื้อเอชไอวี พื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบว่า กลุ่มพนักงานบริการทางเพศหญิงในสถานบริการ ติดเชื้อเอชไอวี 0.2% กลุ่มชายตรวจรักษากามโรค 6% กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 16.6% กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตัวแทนของกลุ่มประชากรทั่วไป 0.8% .

ภาพประกอบ:เว็บไซต์ M Thai

# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/




Create Date : 26 มีนาคม 2551
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2563 15:25:13 น. 4 comments
Counter : 12958 Pageviews.  

 
มีกระทู้ถาม ในห้องสวนลุม

ยุงตัวเดียวกันกัดคนที่เป็นเอดส์แล้วมากัดเราในทันทีทันใด เราจะติดเอดส์หรือเปล่าคะ ???



ผมก็ไปถามอากู๋ มาให้ ... ได้มาเพียบ


Results 1 to 10 of about 145,000 for ยุง เอดส์ (0.30 seconds

//search.conduit.com/Results.aspx?q=%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%87+%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B9%8C&ctid=CT461365&octid=CT461365



เลือกเวบนี้ เป็นตัวอย่าง ..

//www.bangkok-today.com/node/668



เคยสงสัยไหมว่า ในเมื่อโรคเอดส์สามารถแพร่จากคนสู่คนด้วยเข็มฉีดยา แล้วเวลาที่ยุงกัดและดูดเลือดเรานั้น ยุงจะนำพาเอาเชื้อเอชไอวีมาแพร่สู่เราด้วยหรือเปล่า??

โดยปกตินักวิทยาศาสตร์จะไม่ตอบคำถามแบบฟันธงลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ยุงไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อเอชไอวีแน่นอน ถึงแม้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจะบ่งชี้ว่า ยุงไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อเอชไอวีก็ตาม

อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่า โรคเอดส์เกิดจากเชื้อเอชไอวี อันเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หลักๆ แล้วเชื้อเอชไอวีสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ 3 ทางหลักๆ ด้วยกัน คือ ทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือต่างเพศโดยไม่สวมถุงยางอนามัย จากหญิงติดเชื้อที่ตั้งครรภ์แล้วถ่ายทอดไปสู่ลูก และ ทางเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือด เช่น การได้รับการถ่ายเลือดหรือพลาสมาที่มีเชื้อปนอยู่หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับติดเชื้อ

แต่การถ่ายทอดเชื้อของทั้ง 3 ทางนี้ เชื้อเอชไอวีจะผ่านจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสระหว่างเยื่อเมือกของคนทั้งสอง หรือการได้รับเชื้อทางเลือดโดยผ่านตัวกลาง เช่น ใบมีดหรือเข็มฉีดยา

แล้วกับยุงล่ะ??
น.สพ.ดร.เอกชัย เจนวิถีสุข ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของปากยุงและธรรมชาติการดูดเลือดของยุงว่า บริเวณปากของยุงมีรุปร่างทรงแหลมเหมือนเข็มฉีดยายาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.02 มิลลิเมตร ประกอบไปด้วยท่อที่ต่อจากต่อมน้ำลาย ใช้พ่นน้ำลายเข้าไปในบริเวณที่จะดูดเลือด น้ำลายของยุงจะมีฤทธิ์ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด ทำให้ยุงสามารถดูดเลือดได้สะดวก และเลือดไม่แข็งตัวในยุง ส่วนท่อที่สองจะเป็นท่อที่ยุงใช้ดูดเลือดเข้าสู่ตัว

ยุงที่ดูดเลือกจะเป็นยุงเพศเมีย ยุงเพศผู้จะดูดน้ำหวานจากดอกไม้ เมื่อยุงดูดเลือดอิ่มแล้วก็มักจะไม่กลับมาดูดเลือดอีกทันที แต่จะไปแอบตามที่มืดๆ เงียบๆ หรือวางไข่ตามแหล่งน้ำ แต่เมื่อใดที่ยุงถูกรบกวนในขณะที่ดูดเลือด ยุงจะบินกลับมาดูดเลือดใหม่ โดยไม่พ่นเลือดที่เพิ่งดูดซึ่งอยู่ในท้องกลับออกมา เพราะระบบท่อทั้งสองของยุงทำหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น จึงไม่มีทางที่เราจะได้รับเชื้อเอชไอวีจากเลือดที่อยู่ในตัวยุง

เพราะเมื่อยุงถอนปากออกจากผิวหนังบริเวณที่ดูดเลือด ผิวด้านนอกของปากยุงจะผ่านชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และผิวหนังชั้นนอกของคนซึ่งเป็นชั้นที่ไม่ไวต่อการติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เลือดที่ติดอยู่ที่ผิวด้านนอกของปากยุงถูกปาดออกไป ไม่เหลือเลือดติดอยู่หรือเหลือเลือดติดอยู่ปริมาณน้อยมาก จนไม่มีไวรัสหลงเหลืออยู่ในเลือดนั้น หรือมีไวรัสหลงเหลืออยู่แต่ไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดโรคได้ และจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการก่อโรคหรือมีปริมาณลดลงทันทีเมื่อเลือดบริเวณปากของยุงเริ่มแห้ง

จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อเอชไอวีสามารถแพร่จากผู้ติดเชื้อไปยังคนอื่นได้โดยยุง เพราะเชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปอาศัยและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ของยุง เชื้อเอชไอวีจะเข้าไปในเซลล์ใดเซลล์หนึ่งได้ก็ต่อเมื่อเซลล์นั้นมีโปรตีน 2 ชนิดที่อยู่บนบริเวณผิวหนังและโปรตีนดังกล่าวต้องอยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งเซลล์ลักษณะแบบนี้จะพบได้แต่ในคนไม่พบในยุง จึงเป็นผลที่ว่าเชื้อเอชไอวีจะไม่สามารถเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ของยุง เมื่อยุงไปกัดผู้ติดเชื้อและยุงได้รับเชื้อที่มีเอชไอวีเข้าไป ยุงจะเริ่มย่อยเลือดทันทีทำให้เชื้อเอชไอวีในตัวยุงถูกกำจัดออกไปหมดอย่างรวดเร็ว

สรุปแล้วว่า ยุงนั้นไม่ใช่พาหะนำเชื้อเอชไอวีมาสู่คนแน่นอน แต่จะนำพาเอาเชื้อโรคติดต่ออื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ไข้มาเลเรีย หรือไข้สมองอักเสบ มาแทน ซึ่งโรคดังกล่าวนั้นอาจทำให้เราเจ็บป่วยและถึงแก่ความตายในอัตราที่สูงกว่าเอดส์ค่ะ




//guru.google.co.th/guru/thread?tid=6d8d3903bb8a21ee&hl=th&table=%2Fguru%2F%3Fhl%3Dth

//healthnet.md.chula.ac.th/text/forum1/hiv/hiv3.htm

//www.cityvariety.com/index.php?cmd=citycontent&option=health&id=3858

//www.samunpai.com/update/show.php?id=296&cat=7


โดย: หมอหมู วันที่: 29 สิงหาคม 2552 เวลา:17:15:48 น.  

 
กระทู้สุดฮอต จากห้องสวนลุม พันทิบ ... โดยคุณ Macadamia In Love เมื่อ วันพุธ เวลา 20:44 น.

เรียนคุณผู้ชายที่เคารพ... ป้องกันไว้เถิดจะเกิดผล

//pantip.com/topic/32148774

เรื่องมันมีอยู่ว่า...

เกือบทุกวันจะมีผู้ชายมานั่งกระสับกระส่าย เหงื่อแตก มือเย็น ใจสั่น หน้าตากระวนกระวาย แล้วก็ถามว่า "เป็นแฟนผมนะครับ" อมยิ้ม07

...เย้ยยย ไม่ใช่ ถามว่า "ผลเป็นไงบ้างครับหมอ"

ทั้งหมดทั้งสิ้น มันเกิดจาก
1. ไปเที่ยวมาครับ ถุงแตก
2. มีกิ๊กครับ ไม่ได้ใส่ถุง
3. ผมเมา ผมจำไม่ได้
4, 5, 6. บลา บลา บลา ตามแต่จะว่ากันไป

ค่ะ เค้ากลัว HIV หรือ AIDs กัน
99.9% กลัวเพราะไปมีอะไรๆกับคนที่ไม่ใช่ภรรยามา (คุณผู้หญิงรู้ไว้เถิด โลกนี้ไม่ได้สวยงาม หมอตรวจมาเยอะ ฟังแล้วแค้นแทนมาก็เยอะ) พาพันเศร้าพาพันเศร้า

หลังแจ้งผลเลือดก็จะเห็นอาการของคนสองแบบหลัก
คือดีใจทั้งสีหน้า แววตา ร้องไห้ดีใจที่ไม่ติดก็เจอมาแล้ว พร่ำบ่นซ้ำๆว่าไม่เอาอีกแล้ว เข็ดแล้ว (ไม่รู้ว่าเข็ดจริงนานแค่ไหน) ขณะที่แน่นอนว่าคนอีกกลุ่มก็จะมีน้ำตา อ้อนวอน ถามย้ำซ้ำๆว่าผมติดจริงหรือครับ ผมจะทำยังไง ผมจะตายไหม จะอยู่ได้อีกกี่ปี... นั่งร้องไห้ให้หมอส่งทิชชู่ให้เงียบๆ เม่าโศก

เลยอยากจะใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลความรู้ การป้องกัน และการปฏิบัติตัวถ้ามัน "พลาด" ไปแล้วค่ะ

ปล. ตั้งใจแทคห้องสยามด้วย HIV ในเด็กไม่ถึง 20 ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย (เจ๊เพลีย) บางคนเริ่มแสดงอาการแล้วด้วย โฆษณา + รณรงค์ถุงยางน่ะ อย่าไปต่อต้านเลย ถ้าติดมาแล้วมันไม่หายแล้วนะ

ก่อนอื่น จะพูดถึงตัวโรคสั้นๆ ก่อนพูดถึงความเสี่ยงและการป้องกัน

โรคเอดส์ (AIDS; Acquired Immunodeficiency Syndrome) คือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ HIV (Human Immunodeficiency Virus) "ส่วนใหญ่" เกิดการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่ก่อนแล้ว

เมื่อคุณได้รับไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสนี้จะเดินทางเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวของคุณที่ชื่อว่า ซีดีโฟร์ (CD4)

ร่างกายคนมีเม็ดเลือดขาวอยู่หลายประเภท ตัว CD4 เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด โดยหน้าที่ CD4 เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย

พอไวรัสเข้าไปอยู่ใน CD4 แล้วมันจะทำลาย CD4 คุณ จนจำนวน CD4 ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ แปลว่าภูมิคุ้มกันคุณก็จะต่ำลงๆ พอต่ำมากๆคุณก็จะอ่อนแอ ติดเชื้ออื่นๆง่าย ป่วยบ่อย ทรุดลงจนเสียชีวิต

แต่... โรคนี้ไม่ได้เป็นปุ๊บ ออกดอก ตายตกไปในเวลาอันสั้น
จริงๆแล้วกว่าคนที่ได้รับเชื้อจะ "เริ่มแสดงอาการครั้งแรก" จะใช้เวลาเฉลี่ยนาน 7-10 ปี

ซึ่งไอ้ช่วง 10 ปีนี้ก่อนมีอาการเนี่ยแหละ ที่เค้าว่ารู้หน้าไม่รู้ใจ เจ้าคิกคัก เกิดคุณไปซั่มกับใครที่เค้าเป็น เชื้อก็อาจถ่ายทอดมาสู่คุณได้ "ก็เห็นปกตินี่ ไม่รู้นี่ว่าเค้าเป็น" ฟังจนเพลียค่ะ


แล้ว...

ใคร...

เสี่ยง!? เม่าเหม่อ

ข้อมูลปัจจุบันบอกว่า ในคนไทย 100 คน จะมีคนติด HIV 1 คน
อ่ะ มองหน้า มองซ้าย มองขวา ถ้ามีคนถึงหนึ่งร้อยคนอยู่รอบตัวคุณ หนึ่งในนั้น... อาจ... เป็น... คุณ!!! อมยิ้ม06อมยิ้ม06อมยิ้ม06

และข้อมูลยังบอกอีกว่ามีคนไทยติดเชื้อ HIV "ใหม่" ชั่วโมงละ 1 คน

โปรดอ่านอีกครั้ง คนไทยติดเชื้อ HIV "ใหม่" ชั่วโมงละ 1 คน" กระทิงเริงร่า

ดังนั้น... ถ้าขณะนี้คุณกำลังซั่ม อมยิ้ม07 เอ๊ย... ประกอบกิจกรรมเข้าจังหวะอยู่ในสถานประกอบการลึกลับ ที่มี 50 ห้อง ห้องละ "อย่างน้อย" 2 คน
... หนึ่งในนั้นจะมีโอกาสถูกหวย

ถ้าคุณกำลังคิดว่า เกิดมาชีวิตนี้ ซื้อหวยเหมือนซื้อเศษกระดาษ ทำบุญกับเจ้ามือเป็นสรณะ... ข้าคงไม่ซวย

ข้อมูล (อีกแล้ว) บอกว่า "ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ HIV ต่อการซั่ม 1 ครั้ง" คือ
1. ถ้าคุณเป็นชายเหนือชาย ชอบรดน้ำต้นไม้ในป่าเดียวกัน โอกาสถูกหวยของคุณอยู่ที่ 0.11% (Insertive anal intercourse)
2. ถ้าคุณเป็นชายที่ตกหลุมรักการเป็นเบี้ยล่างชายด้วยกัน โอกาสถูกหวยของคุณอยู่ที่ 1.38% (Receptive anal intercourse)
3. ถ้าคุณเป็นชายหายาก เอ๊ย... ชายธรรมชาติ ที่ยังหลงใหลในหญิงทั่วไป โอกาสถูกหวยของคุณอยู่ที่ 0.04% (Insertive penile-vaginal intercourse)
4. ตัวอย่างสุดท้าย ถ้าคุณเป็นหญิงที่โชคดี? มีชายแท้อยู่บนเตียง โอกาสถูกหวยของคุณอยู่ที่ 0.08% (Receptive penile-vaginal intercourse)

(ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเสี่ยงยังมีปัจจัยแปรผันอีกหลายอย่าง เช่น จำนวนเชื้อไวรัส ความรุนแรงในการมีเพศสัมพันธ์ นี่คือตัวเลขคร่าวๆเท่านั้น)

อ่านตรงนี้แล้วดูตัวเลขเหมือนน้อย แหม่ ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ แต่กรุณาอย่าลืมว่า
- น้อยกว่า 1% แต่มันก็ไม่เท่ากับ 0%
- อย่าลืมว่า คนไทยติดเชื้อใหม่เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 คน
- อย่าลืมว่า มีคนมานั่งร้องไห้อ้อนวอนหมอมานักต่อนัก แต่หมอก็เปลี่ยนผลเลือดให้ไม่ได้
- อย่าลืมว่า ชีวิตนี้ อย่างน้อยคุณคงเคยเดินสะดุด หกล้ม ตกท่อ ข้อเท้าแพลง กินแกงแล้วเจอแมลงวัน ทำงานไม่ทันเจ้านายด่า หมาไล่กัด ฟัดกับแมว ฯลฯ แล้วอะไรทำให้คุณคิดว่าคุณจะไม่ซวยเพิ่มอีกสักเรื่อง

แล้วจะทำยังไง...

อย่างแรกเลย วิธีที่ดีที่สุด คือ "อย่างเสี่ยง" ขอร้องเถอะค่ะ โดยเฉพาะอย่านอกใจคู่ของคุณเลย อย่าเลย ขอร้องจากใจจริง อมยิ้ม17สงสารคู่ของคุณเถอะ บางคนขับรถข้ามจังหวัด ดั้นด้นเพื่อขอตรวจกับหมอ เพียงเพราะไปเที่ยว แล้วพลาด? เมา? แล้วก็กลัวเมียรู้ ร้องไห้

อย่างที่สอง ถ้าไม่มีคู่ หรือมีคู่แต่ชั่ว เอ๊ย อมยิ้ม07 ยังอยากเที่ยว อยากมีกิ๊ก อยากนวด หรืออะไรก็แล้วแต่ กรุณาใช้ถุงยาง "ทุกครั้ง"!!! แล้วอย่าอุตริทาครีมทายาอะไรประหลาดๆให้ถุงยางมันเสื่อมสภาพ

อย่างที่สาม ถ้ามันเกิดอะไรๆไปแล้วๆเพิ่งนึกได้ ไม่ว่าจะไม่ได้ใส่ถุงเลย หรือใส่แล้วแตกก็ตาม มีทางเลือกคือ
1. ลากกันมาหาหมอ "ทั้งคู่" (ใครจะรู้ว่าแทนที่คุณจะติดจากเค้า อาจเป็นเค้าที่อาจติดจากคุณก็ได้) ถ้าตรวจเลือดทั้งคู่แล้วไม่มีเชื้อ อยากจะกลับไปปั่มปั๊มกันต่อก็ตามใจ
2. ถ้าคู่นอนของคุณไม่ยอมมาตรวจ แล้วคุณคิดว่าตัวเลขโอกาสติดเชื้อที่กล่าวมา มันสูงไปสำหรับคุณ คุณเป็นประเภท เกิดมาซวย ราหูอม ธาตุไฟเข้าแทรก นกเพิ่งขี้ใส่ จิ้งจกเพิ่งทักก่อนออกจากบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณอยากลดโอกาสความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ HIV นั้น คุณต้องมาหาหมอ "ภายใน 72 ชั่วโมง" หลังเกิดเหตุการณ์ (ไม่ว่าคุณจะเซิ้งต่อจนเสร็จหรือไม่ก็ตาม)
เต่าเอือม
3. ถ้าสืบประวัติแล้วรู้แน่ๆว่าคู่นอนคุณนั้นเป็น HIV แน่ๆ
อัศวินขี่ม้าขาวอันนี้รีบมาเลย ยิ่งเร็วยิ่งดี

การไปโรงพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมง ก็เพื่อไปตรวจเลือดว่า "คุณไม่ได้ติดเชื้อ HIV มาก่อนแน่ๆ" และพิจารณา "กินยา" เพื่อ "ป้องกัน" การติดเชื้อจากเหตุการณ์เซิ้งที่ผ่านมา

ถ้ามาช้ากว่า 72 ชั่วโมง มัวแต่คิดมากพิรี้พิไรพิราบรำพัน ขอบอกว่าไม่จ่ายยานะคะ เม่าเซย์โนกินยาป้องกันหลัง 72 ชั่วโมงไม่มีข้อมูลว่ามีประโยชน์

กรุณาเลือกโรงพยาบาลที่ใหญ่ระดับนึง ไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ถึงจะมีการตรวจเลือดและยาป้องกันการติดเชื้อที่พร้อม

ถ้าคุณไปโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ หรือโรงพยาบาลที่ไม่พร้อม ข้อจำกัดก็คือ

1. ไม่มีหมอที่รู้เรื่องยาป้องกันประจำอยู่ขณะนั้น ตีสองตีสาม หมอที่เข้าเวรห้องฉุกเฉินอาจเป็นหมอผ่าตัด หมอหู หมอเอ๊กซเรย์ หรือหมอใหม่ใสกิ๊ก ไม่ใช่หมอทุกคนจะจ่ายยาป้องกันได้อย่างคล่องแคล่วนะคะ หมอไม่ใช่ผู้วิเศษนะ แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน ห้องฉุกเฉิน มีหมอที่จะรักษา "เหตุฉุกเฉิน" พื้นฐานให้คนไข้รอดไปได้ก่อน ไม่ใช่หมอเฉพาะทางโรคติดเชื้อที่ต้องรู้เรื่องจ่ายยาป้องกันว่าคุณไปซั่มกับเมียใครมา
***กรุณาอย่าดราม่าเรื่องหมอไม่พร้อมนะคะ เดี๊ยนขอร้อง เพราะให้เดี๊ยนไปผ่าตัด ไปอ่านฟิล์มเอ๊กซเรย์ เดี๊ยนก็ไม่เชี่ยวเหมือนกัน***

2. ไม่มีแลบ ตรวจเลือดไม่ได้ การจ่ายยาโดยไม่ได้ตรวจเลือดก่อนก็เป็นเรื่องอันตราย
โรงพยาบาลหลายที่ไม่ได้พร้อมตรวจเลือด 24 ชั่วโมงนะคะ เม่าบาดเจ็บ

3. ไม่มียา กรุณาเข้าใจโรงพยาบาลรัฐเล็กๆในประเทศสารขัณฑ์ด้วย
***ห้ามมาม่าเรื่องการเมืองและงบประมาณแห่งชาติ หมอทุกคนอยากรักษาคนทุกคนด้วยยาที่ดีที่สุด ประหลาดใจประหลาดใจ แต่โรงพยาบาลมันไม่มียา จะให้หมอทำยังไง และหมอเกือบทั้งหมดไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณของโรงพยาบาลและของชาติว่าได้มาเท่าไหร่และใครมันโกง***


ถ้าเจาะเลือดแล้วคุณไม่ได้ติดมาก่อนหน้านี้แน่ๆ หมอจะคุยกับคุณเรื่องการกินยาป้องกัน ซึ่งประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ตีว่า 80% (ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่นกัน ไม่ใช่ว่ากินแล้วป้องกันได้ 100% นะคะ แต่ดีกว่าไม่กินแน่นอน) หัวเราะ

ถ้าคุณมั่นใจว่าเป็นพวกดวงดีแต่กำเนิด ชีวิตนี้ถูกรางวัลที่ 1 มาแปดครั้ง ข้าไม่ติดเชื้อแน่ๆ แล้วไม่อยากกินยาก็ตามใจฮ่ะ หลิ่วตาหลิ่วตา

ถ้าคุณเป็นพวกดวงซวยซ้ำซวยซ้อน หรือเป็นพวกคิดมากแบบไม่มีลิมิต เอาเท้าก่ายหน้าผากมาสองวันแล้วยังกลุ้ม ไหนจะลูกสี่เมียแปดต้องดูแล อยากกินยาและมีตังค์พร้อมจ่าย หมอจะอธิบายการกินยา ซึ่งต้องกินทั้งหมด "28 วัน" พร้อมโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาให้ฟังก่อนจ่ายยา

ราคายาและวิธีกินเช่นวันละ 1-2 ครั้งก็ว่ากันไปแล้วแต่สูตรยา หลายสูตร หลายราคา (สูตรดีมาก ผลข้างเคียงน้อย กินง่าย ก็... แพงมาก) ราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยจนหลายหมื่น (คุ้มค่าเที่ยวไหมล่ะ)
เม่าตกอับ

ไม่ว่าคุณจะกินยาหรือไม่กินยา หมอก็แนะนำว่าคุณต้องตรวจเลือดอีก 2 ครั้ง คือที่ 6 สัปดาห์และ 4 เดือนหลังเหตุการณ์

- ถ้าตรวจเลือดเจอว่าติดเชื้อระหว่าง 4 เดือนนี้ อันนี้ชัวร์ว่าเป็นค่ะ
- แต่ถ้าตรวจเลือดระหว่างนี้แต่ไม่ถึง 4 เดือนแล้วไม่เจอเชื้อ ยังไม่ 100% นะคะ
- "หมอจะบอกว่าคุณไม่ติดเชื้อแน่ๆ 100% ได้ที่การตรวจเลือดที่ 4 เดือนหลังมีเพศสัมพันธ์แล้วผลยังไม่เจอเชื้อ"

ถ้าคุณ "รอด" ที่การตรวจเลือดที่ 4 เดือน
เม่าเริงร่า จงดีใจและโปรดใช้ชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท คิดถึงหน้าลูกเมีย (หรือสามี?) ให้มากๆ ถ้ายังไม่มีคู่ ก็ให้จำความรู้สึกสี่เดือนที่แล้วที่ถุงแตก ที่เหงื่อแตกตัวเย็น ที่มโนไปร้อยแปดพันเก้า ที่วางแผนทำพินัยกรรม ที่ไม่รู้จะบอกพ่อแม่ยังไงถ้าติดเชื้อ แล้วกรุณาปกป้องตัวเองในครั้งต่อไปให้ดีๆเถิด

ถ้าคุณติดเชื้อไปแล้ว คุณเสียใจได้ แต่ขอให้คุณท่องคำนี้ไว้นะ
"HIV รักษาได้ HIV รักษาได้ HIV รักษาได้"

พูดจริงๆนะ HIV รักษาได้และคนไข้มีชีวิตเหมือนคนปกติได้ทุกอย่าง กรุณาลบภาพละครไทยน้ำเน่าทิ้งไปแล้วท่องว่า "HIV รักษาได้" หมอจะช่วยคุณเอง โลกไม่ได้ถล่ม แผ่นดินไม่ได้แยก ธรณีไม่ได้สูบ
คนที่ติดเชื้อ HIV สามารถอยู่ได้จนแก่ เลี้ยงพ่อแม่ได้ ส่งลูกเรียนจนรับปริญญาได้แน่นอน

คนทุกคนต้องตายอยู่แล้ว ใครก็เดินๆก็อาจรถชนตายได้ เป็นมะเร็งตายได้ คนไข้ HIV ก็ตายได้ แต่ถ้าคุณรักษา คุณจะตายด้วยสาเหตุเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่จาก HIV แน่นอน

จำไว้ว่า "มันก็แค่โรคๆนึงที่ต้องรักษาและกินยา" ดังนั้น รีบทำใจและรักษาซะ

*** ขอจบเพียงเท่านี้ หวังว่าจะมีประโยชน์ ช่วยประเทศลดผู้ป่วย HIV ใหม่ได้ และเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ได้ค่ะ
*** ขออนุญาตไม่รับตอบคำถามหลังไมค์นะคะ ไม่รับเหตุการณ์สมมุติ เหตุบังเอิญ เหตุการณ์ตัวอย่างใดๆนะคะ กรุณาปรึกษาแพทย์ตัวๆค่ะ

Macadamia In Love
วันพุธ เวลา 23:21 น.



โดย: หมอหมู วันที่: 6 มิถุนายน 2557 เวลา:20:55:19 น.  

 
( ต่อ )

ขอรวบตอบรวมๆหลายๆคำถามนะคะ
- การวินิจฉัย HIV ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจและรุ่นเครื่องมือการตรวจค่ะ ปัจจุบันเครื่องรุ่นใหม่จะเป็น 4th generation antigen-antibody test ซึ่งถ้า 4 เดือนผลเป็นลบ (negative) ถึงจะสรุปว่าไม่เป็น แต่ถ้าเป็นเครื่องรุ่นเก่ากว่า จะแนะนำให้เจาะที่ 6 สัปดาห์ 3 เดือน และ 6 เดือนก่อนสรุปค่ะ

- oral sex ฝ่ายรุกความเสี่ยงประมาณ 0.005% ฝ่ายรับ 0.01% ค่ะ (ตัวเลขเป็นการประมาณการ) แต่โดยรวมถือว่าต่ำมากๆ

- เชื้อ HIV ออกนอกร่างกายคนมาอยู่บรรยากาศจะตายง่ายมากค่ะ ไม่กี่นาที

- KY ใช้กับถุงยางได้ค่ะ

- เรื่องการตรวจเลือดเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมากค่ะ ทั้งชนิดการตรวจ รุ่นของเครื่องมือ ความไว ความจำเพาะ ผลบวกลวง ผลลบลวง ราคา และสถานพยาบาลแห่งนั้นว่ามีเครื่องมือแบบใด รุ่นใด ถึงแจ้งไว้ว่าควรปรึกษาแพทย์ตัวๆจะได้รายละเอียดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดค่ะ

- เครื่องมือรุ่นใหม่ตั้งใจเพื่อให้ตรวจเจอได้เร็วขึ้น ตรวจเจอตั้งแต่ระดับน้อยๆ "แต่ก็จะยังมีคนไข้บางส่วนหลุดไปอยู่ดี" (คือถ้าตรวจเจอว่าติดเชื้อแล้วอันนั้นชัวร์ค่ะ แต่ถ้าตรวจครั้งแรกแล้วไม่ติดนี่ต้องตรวจซ้ำ)

- ในคำแนะนำมาตรฐานปัจจุบัน ยังต้องใช้การเจาะเลือดซ้ำติดตามผลค่ะ ไม่ว่าเครื่องนั้นจะไวแค่ไหน แม้กระทั่งกรณีเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลโดนเข็มตำ ก็จะต้องตรวจซ้ำจน 4-6 เดือนแล้วแต่รุ่นเครื่องมือก่อนที่จะสรุปผลค่ะ

- ความเสี่ยงในการติดเชื้อที่แสดง หมายถึงกรณีเซิ้งกับคนที่มีเชื้ออยู่แล้วโดยไม่ได้ใช้ถุงยางนะคะ

- เรื่องฉิ่งฉับ ถ้าเป็น oral sex ก็ตามความเสี่ยงด้านบนค่ะ ถ้าเป็น sex toy(s) ตามทฤษฎีมีความเป็นไปได้ แต่ความเป็นจริงคือไม่มีข้อมูลสนับสนุนและนับว่าความเสี่ยงต่ำมากๆๆๆๆจนถึงไม่มี (นอกจากจะทำกันจนเลือดสาด คือปนเปื้อนเลือดจะมีความเสี่ยงค่ะ) เม่าบาดเจ็บ

- จะแปลงเพศไม่แปลงเพศ ถ้าซั่มกับคนที่ติดเชื้อยังไงก็มีโอกาสติดค่ะ แต่ถ้าคุณและคู่ของคุณไม่มีเชื้อ ยังไงก็ไม่ติดค่ะ

- การบริจาคเลือด ถ้าผลเลือดผิดปกติและมีการกรอกที่อยู่ไว้ ทางคลังเลือดจะหาทางติดต่อแจ้งค่ะ แต่ถ้าไม่มีที่อยู่ก็แจ้งไม่ได้ค่ะ ถ้าจะให้ดีก็ถามที่ๆคุณบริจาคค่ะว่าจะส่งผลให้รึเปล่าถ้าผิดปกติ

- โอกาสติดเชื้อถ้าทั้งสองคน "ไม่มีเชื้อทั้งคู่" จะอะไร ยังไง ท่าไหน ทุกวัน วันละกี่รอบ อมยิ้ม07อมยิ้ม07อมยิ้ม07 ก็ไม่ติดค่ะ "ยังไงก็ไม่ติด" ยกเว้นมีใครไปเสี่ยงมาจะทางเพศสัมพันธ์หรือทางอื่นก็ตาม

- ถูกต้องค่ะที่ถ้าคุณไปเสี่ยงมา ระหว่างรอผล คุณควรงดกิจกรรมเข้าจังหวะและงดบริจาคเลือดจนกว่าจะเคลียร์ตัวเองว่าปลอดภัย

- ยังมีชายโฉดหญิงชั่วอีกมากที่ไม่ยอมบอกคู่ว่าตัวเองเป็น HIV และยังมีเพศสัมพันธ์กับคู่ตัวเองหรือซั่มกับคนอื่นไปทั่วโดยไม่ใช้ถุงยาง (อ๊ะ... ไม่ได้ด่าทุกคนนะคะ "คนเป็น HIV ไม่ได้เป็นคนชั่ว ไม่ได้เป็นคนเลว" หลายต่อหลายคนเป็นความผิดพลาด หรือเป็นเหยื่อด้วยซ้ำ แต่คนเป็น HIV ที่รู้ตัวและยังตั้งใจไปแพร่ใส่คนอื่นอันนี้ขอประนามค่ะ) โลกนี้มันโหดร้ายค่ะ เศร้าเศร้าร้องไห้ร้องไห้ไม่เอาไม่พูดไม่เอาไม่พูดถึงพยายามเตือนว่าอย่าเสี่ยงเลย รู้หน้าไม่รู้ใจ เอาไว้เตือนตัวเองและคนรอบข้างนะคะ

- การทานอาหารไม่ติดนะคะ จะเอาปากป้อนกัน ช้อนเดียวกัน แก้วเดียวกันก็ไม่ติดค่ะ ห้องน้ำเดียวกันก็ไม่ติด เมาอ้วกใส่กันก็ไม่ติด เน้นนะคะ "ไม่ติด ไม่ติด ไม่ติด" ใช้ชีวิตเหมือนปกติค่ะ


Macadamia In Love
3 ชั่วโมงที่แล้ว





โดย: หมอหมู วันที่: 6 มิถุนายน 2557 เวลา:20:58:37 น.  

 
ปี 2562 กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบ 8 หมื่นคน รายใหม่ 1,190 คน ในจำนวนนี้ 52.8% อายุน้อยกว่า 25 ปี

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :https://www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/79826-news-79826.html


โดย: หมอหมู วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา:15:23:24 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]