Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

เล็บขบ ( Ingrown Nail )



เล็บขบ ( Ingrown Nail )

พบได้บ่อย โดยเฉพาะ นิ้วหัวแม่เท้า

สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม และ การตัดเล็บที่ไม่ถูกวิธี อาจพบได้ในผู้ที่มีลักษณะเล็บผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจาก อุบัติเหตุ การติดเชื้อราที่เล็บ หรือ การที่มีเนื้อด้านข้างของเล็บมากเกินไป

อาการจะแตกต่างกันได้มาก อาจเป็นแค่ ปวดรำคาญ ไปจนถึง ปวดรุนแรง ที่บริเวณขอบเล็บ โดยเฉพาะเมื่อสวมรองเท้าก็จะมีอาการปวดมากขึ้น และ ถ้าเป็นอยู่หลายวันหรือจนกระทั่งแผ่นเล็บกดทะลุชั้นหนังกำพร้า ก็จะมีการอักเสบติดเชื้อตามมา ทำให้มีลักษณะปวดบวมแดงร้อน ไปจนถึงมีน้ำเหลืองและกลายเป็นหนองได้



แนวทางรักษา

• ในกรณีที่เริ่มเป็น หรือเป็นไม่มาก

รับประทานยาพาราเซ็ตตามอล หรือ ยาแก้ปวดลดการอักเสบ และ ทำความสะอาดขอบเล็บ

แช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15 - 20 นาที แล้วสอดก้อนสำลีขนาดเล็ก ๆ ไว้ใต้แผ่นเล็บตรงมุมด้านที่เป็น เพื่อลดการกดของแผ่นเล็บ

ตัดขอบเล็บที่กด เพื่อบรรเทาอาการปวด



• ถ้าอาการปวดบวมมากขึ้น หรือ มีการติดเชื้อเป็นหนอง หรือ ในผู้ที่เป็น ๆ หาย ๆ มานาน

รับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาฆ่าเชื้อ และ ทำความสะอาดขอบเล็บ

ผ่าตัดขอบเล็บออกบางส่วน แล้วตัดเล็บส่วนที่กดเนื้อขอบเล็บออก (ประมาณ 20 % ของแผ่นเล็บ) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เล็บยังดูเหมือนกับเล็บปกติ

ผ่าตัดถอดเล็บออกทั้งหมด ในกรณีที่เป็นมาก แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรใช้วิธีถอดเล็บ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เล็บที่งอกใหม่ผิวไม่เรียบ นิ้วเท้าผิดรูป และ เกิดอาการปวดปลายนิ้วเท้าได้




การป้องกัน

ดูแลเล็บให้แห้ง และ สะอาด ก็จะช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคที่อยู่ในซอกเล็บ

ถ้าเล็บแข็งและตัดยาก อาจแช่ในอ่างน้ำอุ่นก่อนประมาณ 15 - 20 นาที จะช่วยทำให้เล็บนิ่มลงและตัดง่ายขึ้น

ตัดเล็บเท้า ในแนวตรง ไม่ควรตัดเล็บเป็นแนวโค้งเข้าไปลึก ๆ

ไม่ควรสวมรองเท้าคู่เดียวตลอดทุกวัน ควรจะมีอีกคู่ ใส่สลับกัน ทุก 2-3 วัน เพื่อลดความอับชื้น


ใส่รองเท้าที่เหมาะสม เช่น
ขนาดไม่คับแน่นเกินไป
รองเท้าที่มีปลายรองเท้ากว้าง พอที่ให้นิ้วเท้าขยับเคลื่อนไหวได้บ้าง
หลีกเลี่ยงใส่รองเท้าปลายแหลมเพราะจะทำให้นิ้วเท้าถูกบีบมากเกินไป
รองเท้าไม่มีส้น หรือ ส้นสูงไม่เกิน 1 นิ้ว เพราะถ้าใส่ส้นสูงเกินไป จะทำให้น้ำหนักไปลงที่ปลายเท้ามากขึ้น ก็จะทำให้เกิดแรงกดที่เล็บและขอบเล็บมากขึ้น
รองเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือ รองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น รองเท้าผ้าใบ รองเท้าทำจากหนังสัตว์





Create Date : 09 มิถุนายน 2551
Last Update : 4 มีนาคม 2565 14:55:56 น. 9 comments
Counter : 72934 Pageviews.  

 
โอ๊ย โย๋ รูปข้างล่างน่าสยองจังเลยค่ะ

แต่ก้อเคยเป็นนะคะ ตัดทีเลือดสาดเลย

ขอบคุณคุณหมอหมูมากๆนะคะ

แวะมาบอกว่าซีสต์ที่หลังมือ หายแล้วค่ะ
คือบีบๆกดๆนวดๆทุกวัน
เดือนที่สองก้อหายไปเองเลยค่ะ ดีใจจริงๆ
ตอนแรกกะว่าจะไปผ่าที่ไทยปีหน้า

คิดว่าอาจจะกลับมาใหม่เหมือนที่คุณหมอเคยบอก..
แต่ตอนนี้มีความสุขมาก..ขอบคุณนะคะ


โดย: ชะเอมหวาน วันที่: 6 เมษายน 2552 เวลา:5:51:25 น.  

 

ยินดีด้วยครับ คุณชะเอมหวาน ...

ก็ขอให้หาย ไม่เป็นอีกเลย นะครับ


โดย: หมอหมู วันที่: 9 เมษายน 2552 เวลา:15:34:29 น.  

 
ภาพน่ากลัวจังเลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ


โดย: may253617 วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:17:48 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: b+b (blacklimpbizkit ) วันที่: 23 กรกฎาคม 2553 เวลา:10:19:21 น.  

 

//www.doctor.or.th/node/5965

ข้อมูลสื่อ
File Name :76-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :76
เดือน-ปี :08/2528
คอลัมน์ :คุยกันทางวิทยุ
นักเขียนหมอชาวบ้าน :นพ.วิชนารถ เพรชบุตร


เล็บขบ

คนเราใช้เล็บเพื่อการหยิบอะไรทีละน้อยๆ และเพื่อป้องกันอันตรายนอกจากนี้นิ้วจะมีเล็บไว้ป้องกันโรคและเป็นส่วนหนึ่ง ของผิวหนัง จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเจริญเติบโต เล็บจึงยาวออกมาได้ เมื่อมีโรคเกิดกับเล็บจะไม่รู้สึกเจ็บปวด เพราะเล็บไม่มีเส้นประสาท นอกจากเป็นอันตรายต่อผิวหนังข้างเคียง

โรคที่เกิดกับเล็บได้บ่อยและชาวบ้านเป็นกันมาก คือ เล็บขบ จึงขอเชิญฟังคำอธิบายของ นพ.สมเกียรติ ธาตรีธร จากแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลวชิระ

นพ.วิชนารถ : เล็บขบมีสาเหตุจากอะไร

นพ.สมเกียรติ : มีสาเหตุ 2 ประการ คือ เกิดจากการลงโทษของความศิวิไลซ์ คือ การที่คนในปัจจุบันชอบใส่รองเท้า ที่บีบมากเกินไป เนื้อที่อยู่ด้านข้างของเล็บ ก็จะบีบเข้ามา เล็บมันก็กดไปที่เนื้อด้านข้างนั้น และเมื่อมันงอกลึกลงไปในเนื้อก็เกิดขบขึ้น ทำให้มีอาการเจ็บปวด

อีกสาเหตุเกิดจากตัดเล็บโดยไม่ถูกวิธี การตัดทำให้บริเวณด้านข้างของเล็บเป็นมุมแหลม และกดลงไปเมื่อเล็บงอกตรงด้านข้างๆ ก็เกิดเป็นแผลและเจ็บขึ้นนั้น คือ สาเหตุของเล็บขบ

นพ.วิชนารถ : แล้วเชื้อโรคที่เกิดขึ้นมาจากไหนบ้างครับ

นพ.สมเกียรติ : เชื้อโรคก็มาจากบรรยากาศ และจากใต้เล็บที่แทรกระหว่างเล็บกับเนื้อด้วย

นพ.วิชนารถ : ถ้าเผื่อเรารู้ว่าใส่รองเท้าไม่ได้ เล็บมันขบถอดรองเท้าทิ้งไว้แล้ว มันจะหายเองไหม

นพ.สมเกียรติ : ถ้ามันขบไปแล้วถึงถอดมันก็ยังขบอยู่ แต่ถ้าหากว่ามันไม่ขบอยู่ก่อน แล้วเราถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่า มันก็กำจัดสาเหตุได้อย่างหนึ่ง คือ รองเท้าบีบ แต่ยังมีอีกอย่างที่ไม่ได้จำกัด คือ ถ้าตัดเล็บเป็นมุมแหลม มันก็ยังเป็นเล็บขบอยู่ได้

นพ.วิชนารถ : ทีนี้พอเจ็บมากๆ ทำยังไงดีครับ กินยาแก้ปวดพอจะหายไหม

นพ.สมเกียรติ : กินยาแก้ปวดก็ทำให้ปวดน้อยลงได้ แต่คงจะไม่หาย เพราเรายังไม่ได้กำจัดสาเหตุ

นพ.วิชนารถ : แล้วจะทำอย่างไรต่อไปครับ

นพ.สมเกียรติ : ทางแพทย์เรามีวิธี คือ เราทำการถอดเล็บเฉพาะส่วนทางด้านข้างที่ขบ ใช้ยาฉีดแล้วก็ใช้กรรไกรและคีมคีบเล็บส่วนที่ขบออกมา การรักษาอย่างนี้ พอทำเสร็จคนไข้หายปวด เดินได้เป็นปกติ แต่ว่าอาจจะเกิดเล็บขบอีกได้ ถ้าตัดเล็บผิดวิธีหรือไปใส่รองเท้าบีบหัว รวมทั้งเนื้อเยื่อที่สร้างเล็บซึ่งใต้เล็บลงไป ถ้ามันถูกนำไปลึกแล้วและเล็บของเราก็มาตามเนื้อเยื่อที่สร้างเล็บที่มีอยู่ นั้นมันก็อาจจะขบได้อีก ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใส่รองเท้าบีบหรือตัดเล็บผิดก็ตาม พวกนี้เรียกได้ว่า เป็นอาการแทรกซ้อนได้

นพ.วิชนารถ : คือ ถ้าเผื่อเล็บขบแล้วรักษาไม่ดีต่อไปรากเล็บมันเสียพอขึ้นมาก็อาจจะเป็นได้อีก แล้วเราจะแก้ไขได้ยังไงครับ

นพ.สมเกียรติ : ถ้าเป็นขึ้นมาอีก 2 ครั้ง 3 ครั้ง เราก็อาจจะตัดเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ใต้เล็บ (ซึ่งมีหน้าที่สร้างเล็บ) ทิ้งไป

นพ.วิชนารถ : ผมสนใจวิธีถอดเล็บ มันเจ็บไหมครับ แล้วเราจะทำได้ยังไง

นพ.สมเกียรติ : ถ้าถามว่าเวลาถอดเล็บเจ็บไหม ขอตอบว่าไม่เจ็บเพราะฉีดยาชาแล้ว เราจะฉีดยาชาบริเวณเนื้อเยื่อข้างเคียงจนกระทั้งชา เอาเข็มจิ้มดูแล้วไม่เจ็บ แล้วเราก็เอากรรไกรตัดเล็บเข้าไปในแนวยาวไม่ถึงโคนเล็บ แล้วเอาคีมคีบติดแล้ว ใช้กรรไกรตัดอีกครั้งก็ออกมา ระหว่างตัดอยู่ไม่เจ็บ และหลังจากหมดฤทธิ์ยาชาจะเจ็บน้อยกว่าตอนก่อนทำ เพราะการถูกเล็บขบ เล็บกดลงไปในเนื้ออ่อน มันเจ็บยิ่งกว่าบาดแผลที่เราทำ

นพ.วิชนารถ : สมมุติว่าไม่อยากไปพบแพทย์ หรืออยู่ไกลจากสถานีอนามัย หรือฐานะไม่ดี เกิดเล็บขบจนเท้าบวม จะทำยังไงครับ ถึงจะรักษาตัวเองได้

นพ.สมเกียรติ : การช่วยเหลือตัวเองก็พอทำได้บ้างคือ เราตัดเล็บส่วนเกินที่ไม่เจ็บ เพื่อไม่ให้มีเศษผงหรืออะไรสกปรกค้างอยู่ ทำให้การอักเสบติดเชื้อรุนแรงขึ้น และใช้แอลกอฮอล์ 70 % เช็ดให้สะอาดและหาอะไรที่มันเล็กๆ บางๆ แข็งๆ พอสมควรงัดเล็บขึ้นมา เอาสำลีสอดลงไปบริเวณที่เล็บมันจิกขบอยู่ พอบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ แล้วกินยาปฏิชีวนะง่ายๆ ประเภทเตตร้าซัยคลินหรือแอมพิซิลลิน และก็กินยาแก้ปวดพวกพาราเซตามอล จะบรรเทาอาการเจ็บปวดและการอักเสบจากการติดเชื้อลงได้มาก หลังจากนั้นถ้พิเดินได้ก็ไปหาหมอให้ทำการถอดเล็บก็จะหาย

นพ.วิชนารถ : นั้นก็เป็นวิธีรักษาด้วยตนเอง เมื่อเป็นแล้วการเดินอะไรก็ต้องระวังหน่อย ใส่รองเท้าที่ไม่บีบหัว เวลาอาบน้ำถูสบู่จะมีเชื้อโรคเข้าไปได้ไหมครับ

นพ.สมเกียรติ : ไม่อันตรายครับ อาบน้ำล้างเท้าได้ตามปกติ ถูสบู่เป็นการดี ช่วยขับเชื้อโรคให้ออกไป แต่พออาบน้ำเสร็จแล้วเอาแอลกอฮอล์ 70% เช็ดให้สะอาด และเอาผ้าพันไว้เพื่อไม่ให้โดนอะไรสกปรกอีก

นพ.วิชนารถ : พวกเล็บขบอย่างนี้ ถ้าเดินไปถูกอะไรแล้วเลือดออกก็กลายเป็นแผลสด จะต้องไปฉีดยากันบาดทะยักหรือเปล่าครับ

นพ.สมเกียรติ : ถ้าหากเป็นแผลแล้วมีแนวโน้มว่าจะโดนสิ่งสกปรกตามดินตามทรายมา ก็ต้องนึกถึงเรื่องบาดทะยักไว้ เพราะเชื้อบาดทะยักตามดินมีเยอะ เนื่องจากเชื้อบาดทะยักเป็นพวกไม่ชอบออกซิเจน และแผลอะไรก็ตามที่มีลักษณะเล็กและลึกด้วยเราต้องนึกถึงบาดทะยักไว้เสมอ ถ้ามีโอกาสควรฉีดยาป้องกัน

นพ.วิชนารถ : สาเหตุอีกย่างหนึ่งของเล็บขบที่พบกันได้บ่อยๆ คือ เวลาไปทำเล้บตามร้านช่างเอากรรไกรแหลมตัดเล็บแล้วก็ดึงๆ ทีหลังก็เกิดการอักเสบขึ้นมา ผมว่านี่ก็ทำให้เกิดเล็บขบได้เหมือนกัน จะมีวิธีแก้ไขการทำเล็บได้ยังไง

นพ.สมเกียรติ : การตักเล็บที่ถูกต้องต้องตัดเป็นรอยมน ขึ้นมาจากด้านข้าง ไม่ใช่ตัดเป็นมุมแหลม

นพ.วิชานารถ : อาจารย์มีอะไรจะแนะนำอีกไหมครับ

นพ.สมเกียรติ : ก็ขอย้ำถึงวิธีป้องกันว่าถ้าใส่รองเท้าบีบมากนัก ท่านอาจจะเกิดเล็บขบได้ และในการตัดเล็บ ผมขอแนะนำวิธีตัดเล็บที่จะไม่ทำให้เกิดมุมแหลมและเล็บขบ คือ ก่อนจะตัดเล็บให้ท่านแช่เท้าในน้ำซักพัก เพื่อให้เล็บอ่อนตัว แล้วท่านจะตัดง่าย ถ้าหากตัดขณะเล็บแห้งเต็มที่ มันจะแข็งและตัดยาก ทำให้เกิดเล็บขบได้ง่าย




โดย: หมอหมู วันที่: 14 ธันวาคม 2553 เวลา:11:59:54 น.  

 
มีสมาชิก สอบถามเพิ่มเติม ..

พอดีไปเจอข้อความมาจากเวบนี้ค่ะ //www.doctor.or.th/node/5965

เขาบอกว่า "ถ้าเป็นขึ้นมาอีก 2 ครั้ง 3 ครั้ง เราก็อาจจะตัดเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ใต้เล็บ (ซึ่งมีหน้าที่สร้างเล็บ) ทิ้งไป" ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่าคะ แล้วจะทำได้ที่ไหน ???



คำตอบ .....

ถ้าทำแบบ นั้น เล็บจะไม่ขึ้นอีกเลยนะครับ จะเป็นพังผืดสีขาว ๆ คลุมอยู่ ( เหมือนตอนถอดเล็บแล้วแผลแห้ง ๆ ) ปัญหาเรื่องความสวยงามก็จะตามมา

เวลาลงน้ำหนัก ก็จะไม่มีแรงกดที่ปลายนิ้วเท้า ตอนเขย่งหรือวิ่งก็จะมีปัญหาเหมือนกัน

เอาไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย ดีกว่าครับ ..


โดย: หมอหมู วันที่: 17 ธันวาคม 2553 เวลา:10:28:20 น.  

 

เล็บขบ (Ingrown nail)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

//haamor.com/th/เล็บขบ/

เล็บขบ (Ingrown nail หรือ Onychocryptosis) คือภาวะที่ขอบเล็บด้านข้างเจริญเติบโตกินลึกลงไปในผิวหนังของนิ้วที่หุ้มเล็บอยู่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นมุมเดียวหรือทั้งสองมุมของขอบเล็บพร้อมๆกันได้ และสามารถเกิดได้กับทุกๆเล็บทั้งเล็บมือและเล็บเท้า แต่ที่พบบ่อยมากที่สุดและเกือบทั้งหมดของภาวะเล็บขบจะเกิดกับนิ้วโป้งเท้าข้างซ้ายหรือขวาหรือทั้งสองข้างก็ได้

สาเหตุสำคัญของการเกิดเล็บขบมี 2 ประการคือ

1. ตัดเล็บผิดวิธี โดยตัดสั้นโค้งเข้าไปในเนื้อขอบเล็บ เมื่อเล็บงอกจึงงอกลงไปในเนื้อข้างๆขอบเล็บ

2. ใส่รองเท้าบีบรัดบริเวณนิ้วโป้งมาก จึงเกิดการกดบีบเนื้อรอบด้านข้างเล็บ ส่งผลให้เล็บกดลงบนเนื้อรอบข้างเล็บ เมื่อเล็บงอกจึงงอกลงไปในเนื้อด้านข้างเล็บ

อาการจากเล็บขบคือ ปวดเจ็บบริเวณเล็บขบมากจนใส่รองเท้าไม่ได้และมักอักเสบติดเชื้อ แบคทีเรีย บวม แดง เป็นหนอง

การรักษา ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บโดยยังไม่อักเสบ (บวม แดง หรือมีหนอง) อาจดูแลตนเองได้โดยการใส่ร้องเท้าเปิดหัว แช่เท้าในน้ำอุ่นวันละ 2 - 3 ครั้งจนเล็บนุ่ม แล้วใช้กรรไกรตัดเล็บสะอาดค่อยๆงัดเล็บส่วนที่ขบขึ้นแล้วตัดออก ใส่แอลกอฮอล์ที่แผลร่วมกับทายาปฏิชีวนะชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง

การพบแพทย์ ถ้าแผลติดเชื้อคือ บวม แดง ปวดมีหนอง หรือในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ หรือมีโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิตไม่ดี ควรพบแพทย์ตั้งแต่แรกมีอาการเจ็บเพราะแผลจะติดเชื้อง่ายและหายยาก

การรักษาทางการแพทย์คือ การผ่าตัดเล็บที่ขบออกเป็นการผ่าตัดเฉพาะที่แบบผู้ป่วยนอกและใช้ยาชาเฉพาะที่ หลังจากนั้นใช้การทำความสะอาดแผล กินยาปฏิชีวนะ กินยาแก้ปวด และใส่รองเท้าหัวเปิด/รองเท้าแตะจนกว่าแผลจะหาย

การป้องกัน โดยการตัดเล็บให้ถูกวิธีไม่ตัดโค้งลงไปในเนื้อด้านข้างของเล็บ ไม่ตัดเล็บให้ลึกจนเกินไป และการสวมใส่รองเท้าที่นุ่มสบายไม่รัดนิ้วเท้าโดยเฉพาะนิ้วโป้ง

บรรณานุกรม

Ingrown toenail //orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00154 [2015,Sept19].

Updated 2015, Sept 19




โดย: หมอหมู วันที่: 8 กันยายน 2560 เวลา:13:31:33 น.  

 
เล็บขบ (Ingrown Toenail) คือ ภาวะที่เล็บงอกหรือทิ่มเข้าไปที่บริเวณผิวหนังปลายเล็บ ซึ่งจะพบว่าเกิดได้บ่อยกับนิ้วเท้าโดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า มีผลทำให้เกิดความเจ็บปวด บวม แดง หรือบางครั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้

อาการของเล็บขบ
เมื่อเป็นเล็บขบอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ได้แก่
เกิดความเจ็บปวดและอาการกดเจ็บที่นิ้วเท้า
มีรอยแดงบริเวณรอบ ๆ นิ้วเท้า
มีอาการบวมของนิ้วเท้ารอบ ๆ เล็บเท้า
มีการก่อตัวของของเหลวบริเวณรอบ ๆ นิ้วเท้า
มีเลือดออกหรือเป็นหนอง
มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อที่นิ้วเท้า

นอกจากนั้น หากมีความรู้สึกไม่สบายอย่างรุนแรงที่นิ้วเท้า เป็นหนองหรือเป็นรอยแดง และอาจดูเหมือนว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา รวมไปถึงผู้ที่เป็นเบาหวานหรือสภาวะอื่น ๆ ที่มีปัญหาการหมุนเวียนเลือดไปที่เท้า มีอาการชาที่เท้าหรือมีภาวะแผลหายช้า และการเจ็บเท้าหรือการติดเชื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบพบหรือปรึกษาแพทย์

สาเหตุของเล็บขบ
สาเหตุของเล็บขบที่พบได้บ่อย มักมาจากการตัดเล็บที่สั้นเกินไป ใส่ถุงเท้าที่แน่นจนเกินไป หรือการสวมใส่รองเท้าที่คับเกินไปจนไปกดเล็บเท้า เล็บขบยังมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับนิ้วเท้า เช่น มีสิ่งของที่มีน้ำหนักมากตกใส่เท้า หรือมีเล็บเท้าที่มีรูปร่างโค้งผิดปกติ รวมถึงความบกพร่องทางพันธุกรรม แม้กระทั่งการไม่ดูแลสุขอนามัยของเท้าก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเล็บขบ

การวินิจฉัยเล็บขบ
แพทย์สามารถวินัจฉัยเล็บขบได้จากการตรวจดูเล็บเท้าและผิวรอบ ๆ เล็บเท้าที่มีอาการ ซึ่งจะวินิจฉัยจากอาการที่เกิดขึ้นและการตรวจร่างกายบริเวณเท้า แต่ถ้าหากนิ้วเท้าดูเหมือนมีการติดเชื้อ อาจต้องทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่าเล็บเท้าทิ่มลงไปลึกเพียงใด นอกจากนั้นการเอกซเรย์ยังช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติมหากการเกิดเล็บขบมีลักษณะดังต่อไปนี้

กรณีที่เล็บขบมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ
มีประวัติของการติดเชื้อเรื้อรัง
อาการเจ็บมีความรุนแรงขึ้น

การรักษาเล็บขบ
เล็บขบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อสามารถรักษาได้เองตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากว่าเล็บเท้าทิ่มลงไปที่ผิวหนัง หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีอาการบวมแดงหรือมีหนอง ก็ควรทำการรักษาทางการแพทย์

การรักษาเล็บขบด้วยตัวเองเบื้องต้น ทำได้โดย

แช่เท้าลงในน้ำอุ่นประมาน 15-20 นาที 3-4 ครั้ง ต่อวัน
ทำให้ผิวแยกออกจากขอบของเล็บเท้าโดยใช้สำลีชุบน้ำมันมะกอก
ใช้ยาบรรเทาอาการปวดในกรณีที่มีอาการเจ็บปวด
การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาโพลิมิกซิน (Polymyxins) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือครีมสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ

หากการรักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นไม่ทำให้อาการดีขึ้นหรือเกิดการติดเชื้อขึ้น อาจจำเป็นต้องทำการรักษาทางการแพทย์หรือผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยวิธีหลัก ๆ ได้แก่

การเอาเล็บเท้าออกบางส่วน (Partial Nail Avulsion) โดยเอาชิ้นเล็บที่แทงลงไปในผิวหนังออก ในขั้นตอนนี้แพทย์จะต้องใช้ยาชาที่นิ้วเท้าก่อนการตัดแต่งหรือเอาเล็บออก
การเอาเล็บเท้าออกทั้งหมด (Total Nail Avulsion) วิธีนี้จะใช้ในกรณีของเล็บขบที่มีเล็บหนาและกดลงไปในผิวหนัง โดยขั้นตอนการเอาเล็บออกทั้งเล็บนี้เรียกว่า Matrixectomy
การยกเล็บขึ้น (Lifting the Nail) สำหรับในรายที่เป็นน้อยแค่เพียงบวมแดงและไม่มีหนองไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด ในวิธีนี้แพทย์จะใช้ไหมหรือสำลียกขอบเล็บให้พ้นขอบของผิวหนัง ไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้อ

หลังจากการผ่าตัดหรือการเอาเล็บออกนั้น แพทย์จะพันผ่าพันแผลเอาไว้เพื่อซับเลือดที่ยังคงไหลซึมและป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนั้น ควรพักเท้า ไม่ควรขยับหรือเคลื่อนไหวมากเกินไป และควรยกขาให้สูงไว้ใน 1-2 วันแรกหลังผ่าตัด และเพื่อลดความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน และควรสวมใส่รองเท้าที่มีความนิ่มและเผยส่วนนิ้วเท้าในช่วงวันแรก ๆ หลังผ่าตัด นอกจากนั้น แพทย์อาจให้ทาหรือรับประทานยาปฏิชีวนะและยาลดการอักเสบติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนของเล็บขบ

หากปล่อยให้เป็นเล็บขบที่มีการติดเชื้อโดยที่ไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระดูกนิ้วเท้าได้ การติดเชื้อที่เล็บเท้าสามารถทำให้เป็นแผลอักเสบพุพองที่เท้าและขาดเลือดหมุนเวียนบริเวณที่ติดเชื้อ รวมไปถึงอาจเกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่มีการติดเชื้อ

การติดเชื้อที่เท้าเป็นเรื่องที่มีความรุนแรงหากเป็นเบาหวาน ซึ่งการเป็นเล็บขบอาจกลายไปเป็นการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้ที่เป็นเบาหวานจะขาดการไหลเวียนโลหิตมายังบริเวณนิ้วเท้า และมีปัญหาชาบริเวณเท้า จึงควรพบแพทย์โดยเร็วหากเป็นเล็บขบที่มีการติดเชื้อ

หากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับเล็บขบ อาจทำให้สามารถเกิดเล็บขบขึ้นได้บ่อย ๆ หรือสามารถเกิดขึ้นหลาย ๆ นิ้วพร้อมกันในหนึ่งครั้งได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น มีความเจ็บปวด การติดเชื้อ และอาการเจ็บปวดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับเท้าที่ต้องรับการรักษาหรือการผ่าตัดหลายประการ

การป้องกันเล็บขบ
เล็บขบสามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น

ตัดเล็บเท้าให้ตรงและไม่ให้ขอบของเล็บเท้าโค้ง
หลีกเลี่ยงการตัดเล็บเท้าให้สั้นเกินไป
เลือกใส่รองเท้าให้พอดีไม่คับเกินไป รวมไปถึงถุงเท้าและถุงน่อง
สวมรองเท้านิรภัยหรือรองเท้าที่ช่วยปกป้องเท้า หากต้องทำงานที่มีอันตรายต่อเท้า
หากเล็บเท้ามีความหนาหรือโค้งผิดปกติ อาจป้องกันการเกิดเล็บขบได้ด้วยการผ่าตัดตกแต่ง
ล้างเท้าให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน หมั่นทำให้เท้าแห้งและใช้ครีมบำรุงเท้า
หมั่นตรวจดูเท้าและนิ้วเท้าเป็นประจำ

https://www.pobpad.com/เล็บขบ



โดย: หมอหมู วันที่: 8 กันยายน 2560 เวลา:13:33:15 น.  

 
เล็บขบ
//siamhealth.net/public_html/Health/Photo_teaching/paronychia.htm

เล็บขบหมายถึงภาวะที่มีปลายเล็บทิ่มเข้าบริเวณผิวหนังที่ปลายเล็บ เล็บขบจะเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อข้างเล็บทำให้เกิดอาการเจ็บปวด เล็บขบมักจะเกิดที่ด้านนอกของนิ้วเท้า หรือที่เรียกว่า onychocryptosis และหากไม่รักษาเล็บขบจะเกิดการงอกของเนื้อเยื่อขึ้นมา มีหนองไหล
สาเหตุของเล็บขบ

สาเหตุของเล็บขบส่วนใหญ่เกิดจากการที่ตัดเล็บไม่ถูกต้อง และหรือการสวมรองเท้าที่คับเกินไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บขบได้แก่่

การสวมรองเท้าไม่เหมาะสม ได้แก่รองเท้าส้นสูงเกินไป ปลายเท้าแหลมไป รองเท้าคับไป ทำให้เท้าถูกบีบและเล็บไปสามารถงอกได้ตามปกติ
การตัดเล็บที่ไม่ถูกต้องโดยตัดมุมเล็บชิดเนื้อทำให้เล็บที่งอกทิ่มแทงเข้าที่ซอกเล็บ
การได้รับอุบัติเหตุที่เล็บมีการฉีกขาดทำให้เล็บที่งอกใหม่แทงเข้าซอกเล็บ เช่นการเล่นฟุตบอลล์
การติดเชื้อราที่เล็บ
การได้รับยาบางชนิดเช่น วิตามินเอที่ใช้รักษาสิว

อาการแสดงของเล็บขบแบ่งออกเป็นสามระยะได้แก่

ระยะที่ 1 จะมีอาการและอาการแสดงดังนี้
บริเวณซอกเล็บจะมีอาการบวมแดงเล็กน้อย
คลำดูจะอุ่นเล็กน้อยและกดเจ็บ
ไม่มีหนอง

การดูแลเล็บขบในระยะนี้
แช่น้ำอุ่นวันละสี่ครั้ง
ล้างเท้าและบริเวณเล็บด้วยสบู่วันละสองครั้งแล้วเช็ดให้แห้ง
ใช้conton bud ที่สะอาดแทรกระหว่างเนื้อซอกเล็บและเล็บและสอดผ้า gauze แทรกระว่างเล็บและเนื้อเยื่อ อาจจะเจ็บเล็กน้อย

ระยะที่ 2
นิ้วหัวแม่เท้าจะบวมมากขึ้น แดงมาก และเจ็บมากขึ้น
อาจจะมีหนองไหลตรงเล็บขบ
จะมีการติดเชื้อที่ซอกเล็บ

การดูแลเล็บขบในระยะที่ 2
ทำเหมือนระยะที่1
จะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ
หากไม่ดีขึ้นจะต้องตัดเอาเล็บออก

ระยะที่ 3
จะปวดมากขึ้น แดงมากขึ้น และบวมมากขึ้น
มีเนื้อเยื่องอกที่ติดเชื้อ และมีหนองไหล
เล็บบริเวณดังกล่าวจะหนาตัวขึ้นมา
จะมีการติดเชื้อที่รุนแรงมากขึ้น อาจจะมีไข้

การดูแลเล็บขบในระยะนี้
ระยะนี้จะต้องผ่าตัดเอาเล็บและเนื้อเยื่อทีงอกออกไป
ทำความสะอาดเอาหนองออกให้มากที่สุด
ทายาปฏิชีวนะ และรับประทานยาปฏิชีวนะ

การดูแลแผลหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัดหนึ่งวันให้เอาผ้าพันแผลออก และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสบู่
เช็ดแผลให้แห้ง และทายาปฏิชีวนะ ใหทำความสะอาดแผลวันละสองครั้งเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
รักษานิ้วเท้าให้สะอาดและแห้ง อย่าไหว้น้ำหรือทำให้แผลเปียกเป็นเวลาสองสัปดาห์
งดการกระโดด วิ่งหรือการออกกำลังที่มากเกินไปเป็นเวลาสองสัปดาห์

การดูแลด้วยตัวเองที่บ้าน

แช่เท้าที่เป็นเล็บขบด้วยน้ำอุ่นวันละสี่ครั้ง
ล้างบริเวณแผลด้วยน้ำสบู่และน้ำวันละสองครั้ง
รักษาเท้าให้แห้งและสะอาด
งดสวมรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าที่คับเกินไป
หลังจากทำความสะอาดเท้า ให้เอา conton bud เล็กๆสอดเข้าไปเพื่อยกเล็บใส่ไว้15 วันเล็บก็จะงอกออกมาไม่แทงผิวหนัง

เมื่อไรจึงจะพบแพทย์

ท่านควรจะพบแพทย์เมื่อเล็บขบมีการติดเชื้อ มีหนองไหล หรือมีภาวะดังต่อไปนี้

ภายในห้าปีท่านยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นป้องกันบาดทะยัก
รักษาด้วยตัวเองแล้วเป็นเวลาสามวันอาการยังไม่ดีขึ้น
หากท่านเป็นโรคเบาหวาน เส้นเลือดไปเลี้ยงที่เท้าตีบ เอดส์

การป้องกันเล็บขบ

ใส่รองเท้าที่พอดีและส้นไม่สูงไป
ตัดเล็บให้ถูกต้องโดยตัดเล็บให้เป็นแนวตรงและไม่ตัดติดเนื้อและไม่ตัดมุมเล็บ
รักษาเท้าให้สะอาดและแห้ง


โดย: หมอหมู วันที่: 8 กันยายน 2560 เวลา:13:35:36 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]