Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรคอ้วน Obesity

โรคอ้วน Obesity

สาเหตุของโรคอ้วน สาเหตุจริง ๆ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ โรคอ้วนมักจะมีสาเหตุร่วม หลายข้อร่วมกัน เช่น

• โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์ทำงานน้อย เนื้องอกของต่อมหมวกไต

• ยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาลดความดัน ยาลูกกลอน ยาแก้หอบ ยาชุดซึ่งมักผสมสารสเตียรอยด์

• กรรมพันธุ์ จะพบว่าบางครอบครัวจะอ้วนทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม แต่ อีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและความเป็นอยู่ เช่น อาหารของชาตินั้นนิยมอาหารมัน ๆ

• ความผิดปกติทางจิตใจ ทำให้รับประทานอาหารมาก เช่น บางคนเศร้าแล้วรับประทานอาหารเก่ง

• การดำเนินชีวิตอย่างสบาย และ ขาดการออกกำลังกาย

• โรคอ้วนในเด็ก จะแตกต่างจากโรคอ้วนในผู้ใหญ่ เนื่องจากเซลล์ไขมันในร่างกายจะมีช่วงที่เจริญเติบโตอยู่สองช่วงคือวัยเด็กและวัยรุ่น กรรมพันธ์เป็นตัวกำหนดให้แต่ละคนมีเซลล์ไขมันไม่เท่ากัน คนอ้วนจะมีเซลล์ไขมันมาก โรคอ้วนในเด็กจะมีปริมาณเซลล์ไขมันมากทำให้ลดน้ำหนักยาก ส่วนโรคอ้วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากเซลล์ไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น


โรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ นิ่วในถุงน้ำดี ข้อเข่าเสื่อม ปวดหลัง กระดูกสันหลังเสื่อม โรคทางเดินหายใจ โรคเส้นเลือดขอด


เมื่อไรจึงจะถือว่า อ้วน เรามิได้ประเมินจากการดูด้วยสายตาอย่างเดียว แต่จะประเมินจาก

 ดัชนีมวลกาย BMI (Body Mass Index)

ดัชนีมวลกาย คำนวณโดย น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วย ความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ค่าปกติ 20-25 กก/ตม.

ระดับที่ต้องรักษาคือดัชนีมวลกายมากกว่า 30 โดยที่ไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ หรือ ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย 25 แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน เช่น มีพี่ น้อง พ่อแม่เป็นเบาหวาน แนะนำให้ลดน้ำหนักลงจนดัชนีมวลกายประมาณ 22

 วัดเส้นรอบเอว Waist circumference

วิธีการวัดเส้นรอบเอว วัดรอบเอวระดับกึ่งกลางกระดูกสะโพกส่วนบนสุดและขอบล่างของกระดูกซี่โครง และ ต้องวัดขณะหายใจออกเท่านั้น ค่ารอบเอวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ ในผู้ชายมากกว่า40 นิ้ว ในผู้หญิงมากกว่า 35 นิ้ว



แนวทางการรักษา อาจแบ่งได้เป็น

1. การรักษาที่มุ่งควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทาน

2. การรักษาที่มุ่งเพิ่มการใช้พลังงานในแต่ละวันให้มากขึ้น

3. การรักษาด้วยยา

3.1 ยาช่วยลดความอยากอาหาร เมื่อหยุดยา ความอยากอาหารกลับมากขึ้นทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น

3.2 ยาช่วยลดการดูดซึมไขมัน แต่ทำให้วิตามินที่ละลายในไขมันถูกดูดซึมน้อยลงด้วย (วิตามิน เอ ดี อี เค)

3.3 ยาช่วยลดการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต เช่น ยารักษาเบาหวาน แต่มีผลข้างเคียงสูง

3.4 ยาช่วยเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน แต่มีข้อเสียมาก



การเลือกวิธีรักษาโรคอ้วน

แนวทางรักษาที่ปลอดภัย จะประกอบด้วย การคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่ม การออกกำลังกาย ควบคุมการรับประทานอาหาร โดยควบคุมให้ได้พลังงานที่น้อยกว่าพลังงานที่ต้องใช้ไปในแต่ละวัน ซึ่งต้องอาศัยความตั้งใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การรักษาด้วยยาจะใช้กรณีที่คุมอาหารและออกกำลัง 6 เดือนแล้วน้ำหนักไม่ลด

เป้าหมายที่เหมาะสม คือ ลดน้ำหนัก 10 %จากน้ำหนักเดิม โดยใช้เวลา 6 เดือน

การลดน้ำหนักให้ลดได้ไม่ควรเกิน ครึ่ง กิโลกรัม ต่อ สัปดาห์ หากต้องการลดมากว่า 5 กิโลกรัมควรจะปรึกษาแพทย์ซึ่งจะพิจารณาความจำเป็นในการรีบลดน้ำหนัก เพราะถ้าลดน้ำหนักเร็ว น้ำหนักจะกลับขึ้นมาได้เร็วเช่นกัน


การเปลี่ยนแปลงอาหาร และ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร

คนอ้วนจะมีกระเพาะที่ใหญ่กว่าคนปกติเนื่องจากกระเพาะถูกยืดจากอาหาร ดังนั้นจึงมีอาการหิวบ่อยทำให้การควบคุมอาหารประสบผลสำเร็จน้อย แต่อย่าเพิ่งย่อท้อให้พยายามควบคุมอาหารและออกกำลังกาย จะช่วยลดน้ำหนักได้

ลดอาหารไขมัน หรือ ใช้ไขมันทดแทน ที่มีขายในท้องตลาดเช่น cellulose gel Avicel, Carrageenan guar gum and gum arabic สารสังเคราะห์เหล่านี้จะไม่ถูกดูดซึม อาจทำให้เกิดท้องร่วง และปวดท้อง และควรได้รับวิตามินที่ดูดซึมด้วยไขมัน ( วิตามิน A, K, D, and E ) เสริม

ใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาล เช่น saccharin, aspartame

พยายามรับประทานอาหารเฉพาะในมื้ออาหารโดยเฉพาะที่โต๊ะอาหาร และลุกขึ้นจากโต๊ะทันทีที่อิ่ม

อย่าวางอาหารจานโปรดหรือ ของว่างไว้รอบ ๆ ตัว ไม่ควรรับประทานอาหารว่างขณะดูทีวี

รับประทานวันละ 3 มื้อ อย่าอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง ไม่ควรงดอาหารมื้อหนึ่งแล้วชดเชยมื้อต่อไป

ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะมื้อเย็นควรรับประทานในปริมาณที่น้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ไม่ต้องใช้พลังงาน เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปพลังงานก็จะเหลือ ร่างกายจะนำไปสร้างเป็นไขมันเก็บไว้

รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เลือกอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น แอปเปิล ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน แครอท ถั่วแระ ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา เม็ดแมงลัก งา รำข้าว ส้มเช้ง เมล็ดทานตะวัน มะเขือพวง สะเดา ผักกระเฉด กระเทียม ข้าวซ้อมมือ กะหล่ำปลี ข้าวโพดต้ม พุทรา น้อยหน่า กล้วย มะม่วงดิบ มะละกอสุก เห็ด

รับประทานเนื้อปลาเป็นหลัก เนื้อไก่และเป็ดให้ลอกหนังออก จำกัดเนื้อสัตว์ไม่ติดมันไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ หลีกเลี่ยงเนื้อหมู
หลีกเลี่ยงอาหารพวก ทอด ผัด แกงกะทิ ให้ทานอาหารที่เตรียมโดยวิธี อบ นึ่ง เผา หรือ ต้ม แทน

ควรหลีกเลี่ยง เนย น้ำสลัด เนื้อติดมัน เนื้อติดหนัง นมสด ของทอด เช่นปลาท่องโก๋ กล้วยแขก ไก่ทอด เค้ก คุกกี้

ใช้จานใจเล็กๆ เพื่อป้องกันการรับประทานอาหารมากไป หลีกเลี่ยงการเติมอาหารครั้งที่ 2

รับประทานอาหารอย่างช้าๆ เคี้ยวอาหารแต่ละคำช้าๆ

ดื่มน้ำมากๆทั้งในมื้ออาหารและระหว่างมื้ออาหาร ดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนอาหาร

อย่าเสียดายของเหลือ ไม่จำเป็นต้องทานอาหารจนหมดจาน และ อย่าเตรียมอาหารมากเกินความจำเป็น

อย่าทำกิจกรรมอื่นระหว่างรับประทานอาหาร เช่นอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เพราะจะรับประทานอาหารมากเกินไป

พยายามหางานอดิเรกทำเมื่อเวลาหิว


โรคอ้วนและการออกกำลังกาย

ส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับการลดน้ำหนักคือ การรับประทานอาหารที่มีพลังงานลดลง และ การออกกำลังกายซึ่งทำให้ร่างกายใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น และการออกกำลังกายจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น แถมยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย ซึ่งควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ2 - 5 ครั้ง

ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เช่น ขณะออกกำลังกายเคยมีอาการ แน่นหน้าอก จะเป็นลม รู้สึกเหนื่อยมากเมื่อเริ่มออกกำลังกาย หรือ ผู้สูงอายุที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน

ผู้ที่อ้วนมากและไม่เคยออกกำลังกาย อาจจะเริ่มง่าย ๆ เช่น ลดเวลาดูทีวี ลดเวลานอนพักผ่อน เดินให้มากขึ้น ใช้บันไดแทนการขึ้นบันไดเลื่อนหรือ ลิฟท์ ขี่จักรยานแทนการนั่งรถ ทำสวน ล้างรถ เมื่อเริ่มแข็งแรงมากขึ้นจึงเริ่มเดินเร็วๆ ยืนแกว่งขา แขน หลังจากแข็งแรงดีจึงค่อยออกกำลังกายแบบอื่น ๆ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เต้นรำเต้นแอร์โรบิก



การรักษาโรคอ้วนด้วยยา

ผู้ที่เป็นโรคอ้วนไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาลดน้ำหนัก อาจมีผลข้างเคียงที่อันตรายได้ เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตในหัวใจห้องขวาสูงขึ้น เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว มีผลต่อจิตประสาท ใจสั่น หงุดหงิด เป็นลม ท้องผูก การลดความอยากอาหารโดยใช้ยา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อหยุดยา ความอยากกินอาหารกลับจะมากขึ้นกว่าก่อนรักษา ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ( โยโย่เอฟเฟ็คต์ )

ยารักษาโรคอ้วนส่วนใหญ่ห้ามใช้เกิน 3 เดือน และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์จะเริ่มใช้ยาลดน้ำหนัก เมื่อคุมอาหารและออกกำลังกาย 6 เดือนแล้วน้ำหนักไม่ลด

ชาลดน้ำหนักส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารที่เป็นยาระบายและยาขับปัสสาวะดังนั้นอาจจะทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ซึ่งอาจจะอันตรายเสียชีวิตได้ น้ำหนักที่ลดจะลงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อดื่มน้ำเพิ่มน้ำหนักก็จะขึ้น



อาหารสำหรับผู้มีไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง อาจแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ โคเลสเตอรอลในเลือดสูง และ ไตรกรีเซอไรด์ในเลือดสูง

• ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ไขมันสัตว์จะมีโคเรสเตอรอลสูง ควรหลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ ตับวัว ตับหมู ไข่แดง ไข่นกกระทา หนังไก่หนังเป็ด หอยแครง ปลาหมึก ไข่ปลา กุ้งทะเล ปลาหมึก หอยทะเล ไข่ เนย กุนเชียง ไส้กรอก

หลีกเลี่ยงไขมันพืชชนิดอิ่มตัว ได้แก่ ไขมันจากมะพร้าว (เช่นกะทิ) ไขมันปาล์ม(ในน้ำมันพืช หรือครีมเทียมใส่กาแฟ) ควรรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันมะกอก(ใส่ในอาหารหรือสลัด) น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน

ทานอาหารประเภทผัก และผลไม้มากขึ้น จะช่วยลดการดูดซึมในลำไส้ของไขมันได้

ถ้าน้ำหนักมากเกินไป ควรลดน้ำหนัก

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเผาผลาญพลังงานในร่างกาย


• ผู้ที่มีไตรกรีเซอไรด์สูง

ลดการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารหวานจัด ผลไม้ที่มีรสหวานจัด

งดการดื่มเหล้า สุรา ของมึนเมาทุกชนิด



หมายเหตุ ..

ผมจำไม่ได้ว่า ได้นำบทความนี้ มาจากที่ไหน ถ้าใครทราบ กรุณาแจ้งผมด้วยนะครับ



Create Date : 26 เมษายน 2551
Last Update : 26 เมษายน 2551 14:09:39 น. 5 comments
Counter : 2391 Pageviews.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ

พอดีตอนนี้กำลังทำ case เรื่อง อ้วนอยู่อ่ะค่ะ


โดย: ^O^ IP: 125.26.151.119 วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:1:04:39 น.  

 
//www.doctor.or.th/node/1411

File Name :318-007
นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม :318
เดือน-ปี :10/2548
คอลัมน์ :เรื่องน่ารู้
นักเขียนหมอชาวบ้าน :ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ


กินอย่างไร ไม่ให้ อ้วน


ทำไมเราถึงอ้วน

การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวขึ้นอยู่กับความสมดุลของพลังงานที่ได้รับจากการกินอาหาร และพลังงาน ที่ใช้ไปในการทำกิจกรรมต่างๆ ถ้าพลังงานที่ได้จากการกินอาหารมากกว่าพลังงานที่ใช้ไปในแต่ละวัน พลังงานที่มากเกินนั้นจะสะสมเป็นไขมันไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย (body fat) ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้นานๆ จะเกิดโรคอ้วนตามมา

เราจะทราบว่าอ้วนหรือไม่ ได้จากการคำนวณหาค่า "ดัชนีมวลกาย" หรือที่มักเรียกกันเป็นภาษาอังกฤษ ว่า BMI (ย่อมาจากคำว่า Body mass index) ซึ่งมีวิธีการคำนวณ ดังนี้คือ

ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนัก ตัว (กิโลกรัม) / ความสูง(กำลัง สอง) (เมตร)

การเทียบสูตร BMI ดูจากน้ำหนักตัวและส่วนสูง เช่น น้ำหนัก ๖๐ กิโลกรัม สูง ๑๗๐ เซนติเมตร หรือ ๑.๗๐ เมตร
ดัชนีมวลกาย (BMI) = ๖๐ / ๑.๗๐ x ๑.๗๐
= ๒๐.๗๖

ค่า BMI ที่เหมาะสมของคนเอเชียควรอยู่ที่ ๑๘.๕ - ๒๒.๙ กิโลกรัม/ตารางเมตร

ถ้า ค่า BMI น้อยกว่า ๑๘.๕ กิโลกรัม/ตารางเมตร แสดงว่าผอมเกินไป

แต่ถ้าค่า BMI สูงกว่านี้ คือ ๒๓ - ๒๔.๙ กิโลกรัม/ตารางเมตร แสดงว่ามีน้ำหนักตัวเกิน

ถ้าค่า BMI มากกว่า ๒๕ กิโลกรัม/ตารางเมตร แสดงว่าเป็นโรคอ้วน

ในคนที่สูง ๑๗๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัวที่ดีจะอยู่ระหว่าง ๕๘ - ๖๐ กิโลกรัม แต่ถ้าน้ำหนักอยู่ระหว่าง ๖๒.๖๕ กิโลกรัม ก็แสดงว่ามีน้ำหนักเกิน และถ้าหนักมากกว่า ๖๕ กิโลกรัม ก็แสดงว่าอ้วน



การลดน้ำหนัก

น้ำหนักตัวเกินเกิดจากการได้พลังงานมากแต่ใช้น้อย ดังนั้นการทำให้น้ำหนักลดลงก็ทำได้โดยทางกลับกัน คือ ต้องทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานมากขึ้น

การลดน้ำหนักที่ดีควรลดลงอย่างช้าๆ เพื่อให้ร่างกาย มีการปรับตัวได้ดีโดยทั่วไปน้ำหนักควรลดลงสัปดาห์ละ ๑-๑.๕ กิโลกรัม

ซึ่งหมายถึงจะต้องลดพลังงานให้ได้สัปดาห์ละ ๓,๕๐๐ กิโลแคลอรี นั่นคือวันละประมาณ ๕๐๐ กิโลแคลอรี



กินเพื่อควบคุมน้ำหนัก

การรู้จักกินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไขมันเป็นอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกายสูงที่สุด ไขมัน ๑ กรัม ให้พลังงาน ๙ กิโลแคลอรี ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารที่มีไขมันมาก จำพวกของทอดต่างๆ

เรามักได้ยินกันบ่อยว่า ให้ใช้น้ำมันพืชประกอบอาหารแทนน้ำมันหรือไขมันที่ได้จากสัตว์ เนื่องจากมีคุณภาพของกรดไขมันที่ดีกว่าทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า กินน้ำมันพืชที่ดีแล้วไม่อ้วน ที่จริงแล้วน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นน้ำมันจากพืชหรือสัตว์ต่างก็ให้พลังงานที่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรระวังไม่กินไขมันทุกชนิดในปริมาณมากเกินไป

ควรกินอาหารประเภท ข้าว แป้ง ขนมปัง และผลิตภัณฑ์จากแป้งซึ่งเป็นอาหารหลักที่ให้พลังงานกับร่างกายแต่พอควร ถึงแม้ว่าอาหารกลุ่มนี้ในปริมาณที่เท่ากันจะให้พลังงานกับร่างกายประมาณครึ่ง หนึ่งของไขมัน แต่ถ้ากินมากเกินไปก็ทำให้ได้พลังงานเกินและเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ทำให้มีปัญหาน้ำหนักตัวมากขึ้นได้

โดยทั่วไปผู้หญิงที่ทำงานในสำนักงานไม่ควรกินเกิน ๗ - ๘ ทัพพีต่อวัน สำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน ๑๐ - ๑๒ ทัพพีต่อวัน

ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกกินข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย เพราะจะทำให้ได้ใยอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มและยังช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น

ควรลดการกินน้ำตาลทรายและอาหารหวานประเภทต่างๆ น้ำตาลจะให้พลังงานอย่างเดียวโดยไม่ให้สารอาหารตัวอื่นๆ เลย ถ้ากินมากก็จะทำให้อ้วนได้ น้ำตาลทรายเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่ง ๑ กรัม ให้พลังงาน ๔ กิโลแคลอรี ดังนั้น น้ำตาลทราย ๑ ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ ๒๐ กิโลแคลอรี การดื่มชา กาแฟ ที่มีการเติมน้ำตาลวันละหลายถ้วย ตลอดจนการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลมเป็นประจำ จะทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกิน ทำให้อ้วนได้ง่าย

ควรกินผลไม้รสไม่หวานจัด เช่น ส้ม ชมพู่ มะละกอ แตงโม ฝรั่ง แทนขนมหวานต่างๆ ผลไม้มีเส้นใยอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผลไม้ทุกชนิดให้สารคาร์โบไฮเดรตจำพวกน้ำตาลแก่ร่างกาย เช่นเดียวกับอาหารกลุ่มข้าว แป้ง จึงต้องระวังไม่กินมากจนเกินไป

ควรกินผลไม้สดทั้งผลมากกว่าการกินน้ำผลไม้ คั้น เพื่อที่จะได้ใยอาหารที่มีอยู่ในผลไม้ด้วย การคั้นน้ำผลไม้เพื่อดื่มต้องใช้จำนวนผลไม้มากกว่าการกินผลไม้เป็นผล จึงอาจทำให้ได้รับพลังงานมากเกินไป ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการกินผลไม้กระป๋อง เพราะในผลไม้กระป๋องมักมีการเติมน้ำตาลในกระบวนการผลิต จะทำให้ได้น้ำตาลและพลังงานมากเกินกว่าร่างกายต้องการ

เนื้อสัตว์ควรเลือกชนิดไม่ติดมัน ไม่มีหนังนำมาปรุงโดยวิธีการนึ่ง อบ หรือย่าง ไม่ควรทอดในน้ำมันมาก กินแต่พอควร ประมาณ ๘ - ๑๒ ช้อนกินข้าวต่อวัน ไม่ควรกินมากจนเกินไป เพราะเนื้อสัตว์นอกจากจะให้โปรตีนกับร่างกายแล้ว ยังมีไขมันแทรกอยู่ด้วยควรกินโปรตีนจากพืชจำพวกถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ แทนโปรตีนจากสัตว์ด้วย

ควรดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือนมขาด มันเนย ในคนที่ดื่มนมได้ ควรดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยวันละ ๑ - ๒ กล่อง เพราะมีปริมาณไขมันและพลังงานน้อยกว่า และไม่ควรดื่มนมปรุงแต่งรส เพราะจะทำให้ได้น้ำตาลและพลังงานเพิ่มขึ้น

ควรกินผักให้มากทุกมื้อและทุกวัน ผักให้วิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหารกับร่างกายเช่นเดียวกับผลไม้ แต่ให้พลังงานน้อยกว่าเพราะไม่ค่อยมีน้ำตาล เส้นใยอาหารในผักช่วยทำให้เรารู้สึกอิ่ม เนื่องจากเส้นใยอาหารจะดูดน้ำไว้ ทำให้เกิดการพองตัวและใช้เวลาอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้เป็นเวลานาน ทำให้ไม่เกิดอาการหิวบ่อย

ผักที่กินควรเป็นผักสด ลวก หรือต้ม มากกว่าผัดผักที่ใช้น้ำมันมาก หรือผักชุบแป้งทอด สำหรับคนที่ชอบกินผักในลักษณะผักสลัดต้องระวังปริมาณน้ำสลัดต้องไม่ใส่มาก เกินไป

ถึงแม้ว่าคนที่ต้องการลดน้ำหนักควรเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ควรกินอาหารให้ครบทั้ง ๓ มื้อ และทุกหมวดหมู่ ไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่ควรลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง การงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งมักจะทำให้ปริมาณอาหารที่กินในมื้อถัดไปมากขึ้น กว่าเดิม

อาหารมื้อเช้าและกลางวันควรจะมีปริมาณมากกว่าอาหารมื้อเย็น เพื่อให้อาหารที่กินถูกเผาผลาญเป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ แทนที่จะเก็บสะสมไว้ ถ้าจะให้ดีหลังกินอาหารแต่ละมื้อควรเดินช้าๆ เพื่อย่อยอาหาร ไม่ควรที่จะนอนทันที

คนที่มีน้ำหนักเกิน ควรงดอาหารขบเคี้ยวทุกชนิด อาหารขบเคี้ยวจะมีฉลากข้อมูลโภชนาการ อยู่ฉะนั้นก่อนกินควรศึกษาดูว่า หนึ่งหน่วยบริโภคมีปริมาณเท่าไร ให้สารอาหารอะไรบ้าง และให้พลังงานกี่กิโลแคลอรี ถ้ามีการกินอาหารขบเคี้ยวมากอาจต้องลดปริมาณอาหารที่กินในมื้อหลักลงบ้าง

การควบคุมปริมาณอาหารที่กินไม่ให้มากเกินไปเป็นหัวใจสำคัญของการลดน้ำหนัก ดังนั้นจึงควรกินอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด และกินแค่พออิ่ม ไม่เสียดายอาหารที่เหลือ การตักอาหารหรือข้าวควรตักตามจำนวนที่ต้องกินเพียงครั้งเดียว ไม่ควรตักเพิ่มอีก ภาชนะที่ใช้ใส่อาหารอาจใช้ขนาดเล็กลง เพื่อให้รู้สึกเหมือนกับว่ามีอาหารมาก

อย่าลืมว่าการออกกำลังกาย หรือการที่ทำให้ร่างกายเรามีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น การเดินขึ้นลงบันได มีส่วนสำคัญอย่างมากในการควบคุมน้ำหนัก เพราะทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และยังทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงด้วย

การลดน้ำหนักเป็นเรื่องที่ต้องใช้ เวลา การสร้างทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมใหม่ ให้กำลังใจกับตนเอง มีความตั้งใจจริง และทำด้วยความจริงใจ พยายามฝึกให้เป็นนิสัยที่ต้องทำทุกวัน เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ตัวคุณมีรูปร่างและสุขภาพที่ดีขึ้น






โดย: หมอหมู วันที่: 4 มิถุนายน 2553 เวลา:13:51:17 น.  

 

//www.doctor.or.th/node/4041

File Name :332-003
นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม :332
เดือน-ปี :12/2549
คอลัมน์ :เรื่องเด่นจาก ปก
นักเขียนรับเชิญ :ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์


อ้วน ...อ้วน ...อ้ ว น !


"คนอ้วน คือคนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติอันเนื่องมาจากกินอาหาร เข้าไปมากกว่าปริมาณที่ร่างกายเผาผลาญหรือใช้ไป"

โฆษณาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของค่ายหนึ่ง ที่ใช้ตัวแสดงสาว 2 คน คือ ทั้งอ้วนและผอม พูดพาดพิงถึงชีวิตการแต่งงานที่ผ่านมา 7 ปีแล้ว เดี๋ยวนี้แฟนเรียกว่า " ก้านกล้วย " ที่แฝงนัยว่าตัวอ้วนเหมือนช้างก้านกล้วยนั่นเอง ความอ้วนความผอมกระทบความ รู้สึกนึกคิดของผู้คนได้ไม่มากก็น้อย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของชีวิตคู่จะรู้ได้อย่างไรว่า อ้วน ผอม ถ้าอ้วนแล้วจะทำอย่างไรให้พอดีผอมไปเหมือนไม้เสียบผี จำพวกคนไม่มีไส้ ควรจะทำอย่างไร


รู้ได้อย่างไรว่าร่างกาย " อ้วน " หรือ " ผอม "ตามหลักทางการแพทย์ มีวิธีการพิสูจน์ง่ายๆ 3 วิธีคือ เปรียบเทียบความสูงกับน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย หาค่าดัชนีมวลกาย และการวัดเส้นรอบเอว

1.เปรียบเทียบความสูงกับน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย

การเปรียบเทียบความสูงกับน้ำหนักตัวเป็นวิธีที่ง่าย ที่สุด

ผู้ชาย น้ำหนักตัวที่เหมาะสม = ความสูง (เซนติเมตร) ลบ 100
เช่น ผู้ชายที่สูง 170 เซนติเมตร (ซม.) เมื่อนำมาลบด้วย 100 จะได้ผลลัพธ์ 70 ตัวเลข 70 คือ น้ำหนักตัวที่เหมาะสม

ผู้หญิง น้ำหนักตัวที่เหมาะสม = ความสูง (ซม.) ลบ 110
เช่น ผู้หญิงที่มีส่วนสูง 160 ซม. เมื่อนำมาลบ ด้วย 110 จะได้ผลลัพธ์ 50 ตัวเลข 50 คือน้ำหนักตัวที่เหมาะสม


2. หาค่าดัชนีมวลกาย (body mass index-BMI) มีวิธีคำนวณได้ดังนี้

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม (กก.) หาร ความสูงเป็นเมตร 2 ครั้ง

เช่น คนที่น้ำหนัก 75 กก. และสูง 170 ซม. (1.7 เมตร)
จะมีดัชนีมวลกาย = (75 หาร 1.7) แล้ว1.7 อีกครั้ง = 25.9 กก.ต่อ ตารางเมตรอยู่ในเกณฑ์อ้วนระดับ 1

สำหรับ ค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมมีดังนี้

ต่ำกว่า 18 ถือว่าผอม
18.5 - 22.9 รูปร่างปกติ
23.0 - 24.9 รูปร่างอ้วน
25.0- 29.9 อ้วนระดับ 1
30 ขึ้นไป อ้วนระดับ 2


3. การวัดเส้นรอบเอว และสะโพก

การดูด้วยตาเปล่าเป็น สิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย เป็นความรู้สึก ณ ตอนที่เห็น เปรียบเทียบกับภาพอดีตที่ผ่านมา (อาจจะนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือนานเป็นปีก็ได้) แต่ก็เป็นเพียงความรู้สึก ซึ่งหลายครั้งก็ จะทักผิดทักถูก

การวัดเส้นรอบเอวเป็นมาตรฐาน นั่นคือวัด ที่ระดับจุดกึ่งกลางระหว่างใต้ชายโครงและเหนือกระดูกสะโพก

ผู้ชาย ถ้าเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว (90ซม.) ถือว่าอ้วนลงพุง
ผู้หญิง ถ้าเส้นรอบเอวมากกว่า 32 นิ้ว (80 ซม.) ถือว่าอ้วนลงพุง
ค่า

สัดส่วนเอว และสะโพก = เส้นรอบเอว (เมตร) หาร เส้นรอบสะโพกที่ยาวที่สุด

กรณีผู้ใหญ่ (ชาย) ถ้าเกิน 1.0 ถือว่าอ้วนลงพุง และผู้หญิง ถ้าเกิน 0.8 ถือว่าอ้วนลงพุง



อันตรายจากโรคอ้วน

ค่านิยมของคนบางกลุ่มที่มีความเชื่อว่า คนอ้วนคือคนที่ร่ำรวย สมบูรณ์พูนสุข บ่งบอกถึงฐานะความเป็นอยู่เป็นผู้มีอันจะกิน เป็นลูกผู้ดีมีเงิน แตกต่างจากคน ผอมแห้ง หมายถึงคนยากคนจน

ปัจจุบันค่านิยมคนอ้วนร่ำรวย คนผอมคือยากจน เปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนทั่วไปตระหนักแล้วว่า " โรคอ้วน " เป็นโรคเรื้อรังเหมือนโรคเบาหวานและโรคความดันเลือดสูง รักษาให้หายขาดได้แต่ใช้เวลานาน

" อ้วน " ส่งผล ร้ายต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น

⇒ การนอนหลับผิดปกติ คนอ้วนมักจะหายใจ ลำบากขณะนอนหลับตอนกลางคืน บางคนไม่สามารถ นอนราบได้ ลิ้นคับปาก เพราะช่องปากมีไขมันมากจนโพรงช่องปากเล็กลง ลิ้นจะปิดช่องหายใจ ทำให้หายใจ ได้น้อยลงขาดออกซิเจนได้ บางคนถึงกับมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ

⇒ ข้อเสื่อม ร่างกายของคนเราถูกสร้างมาเพื่อ รองรับสรีระที่สมดุล ใครก็ตามที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน ปกติ (อ้วนนั่นแหละ) ทำให้ข้อต่างๆ ทำงานหนักขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้คนอ้วนปวดข้อ และน้ำหนักที่กดทับข้อจะทำลายกระดูกอ่อนในข้อ ทำให้สิ่งที่ตามมาก็คือโรคไขข้อเสื่อม คนอ้วนหลายคนเป็นโรคเกาต์ด้วย ทำให้ข้อเกิดปัญหาเสื่อมมากขึ้นอีก

⇒โรคระบบทางเดินหายใจ คนอ้วนมีก้อนไขมันมากเกินไปแทรกในที่ต่างๆ ทำให้กล้ามเนื้อทรวงอกทำงานได้ไม่ดี และเนื้อของปอดขยายได้ไม่เต็มที่ การรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้น้อย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกขับออกมาไม่หมด ทำให้คนอ้วนง่วงนอนกลางวัน และเหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย

⇒โคเลสเตอรอลสูงและเป็นนิ่วถุงน้ำดี คนอ้วนมีการสร้างโคเลสเตอรอลมากกว่าคนไม่อ้วน ซึ่งนอกจาก ทำให้ไขมันในเลือดสูงแล้วยังทำให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้บ่อยกว่าคนไม่อ้วน

⇒ โรคหัวใจและความดันเลือดสูง ร่างกายของคนอ้วนอุดมไปด้วยโคเลสเตอรอล ส่งผลให้มีโคเลสเตอรอล อุดตันหลอดเลือดได้ง่าย ส่งผลถึงปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว ร่างกายที่ใหญ่โตทำให้หัวใจต้องบีบตัวแรงเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงให้ทั่วตัว คนอ้วนจึงมีความดันเลือดสูงได้บ่อย

⇒โรคเบาหวาน เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ร้ายแรง เป็นแล้วรักษายากมาก คนที่กินเกิน (อ้วน) เป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่มีกรรมพันธุ์ เบาหวาน (กรณีคนที่มีกรรมพันธุ์เบาหวานไม่อ้วนและดูแลสุขภาพตนเอง อย่างดีก็อาจไม่เป็นเบาหวาน)

⇒หลอดเลือดสมองตีบ ความดันเลือดที่สูงขึ้นในคนอ้วนที่เป็นเบาหวานและมีโคเลสเตอรอลในเลือดอุด ตันหลอดเลือด ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น แรงดันเลือดจะไปกระแทกหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดได้รับอันตราย ถ้าเป็นหลอดเลือดที่สมองแตกหรือตีบตัน สิ่งที่ตามมาก็คือ อัมพฤกษ์ และอัมพาต

นอกจากนี้มีโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อเนื่องจากโรคอ้วน เช่น นิ่วในถุงน้ำดี และถุงน้ำดีอักเสบ การศึกษาในระยะหลังยังพบว่าคนอ้วนมีโอกาสเป็นมะเร็งง่ายกว่าคนที่ไม่อ้วน ทั้งชายและหญิง



สาเหตุของโรคอ้วน

คนอ้วน คือคนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ อันเนื่องมาจากกินอาหารเข้าไปมากกว่าปริมาณที่ร่างกายเผาผลาญหรือใช้ไป จึงมีเหลือสะสมในรูปของไขมันหรือโคเลสเตอรอล ซึ่งในแต่ละคนมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น

1. กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่อ้วนทั้ง 2 คน ลูกจะ มีโอกาสอ้วนมากกว่าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือสิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน

2. พฤติกรรมการกิน คนที่กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ กินอาหารมันมาก หรือหวานมาก กินจุบกินจิบก็ทำให้อ้วนได้

3. ขาดการออกกำลังกาย ถ้ากินอาหารมากกว่าที่ร่างกายใช้ แต่มีการออกกำลังกายบ้างอาจทำให้อ้วนช้าลง แต่ถ้าขาดการออกกำลังกาย ร่างกายสะสมไขมันไว้ตามส่วนต่างๆ ไม่ช้าก็อ้วนได้

4. อารมณ์และจิตใจ มีคนจำนวนมากที่กินอาหารขึ้นกับสภาพอารมณ์และจิตใจขณะนั้น เช่น กินเพื่อดับความแค้น กลุ้มใจ กังวลใจ เข้าทำนอง ดีใจก็กิน เสียใจก็กิน

5. เพศ เพศหญิง มีโอกาสอ้วนได้มากกว่าเพศชาย อีกทั้งเพศหญิงจะต้องตั้งครรภ์ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะต้องกินอาหารมากขึ้น เพื่อบำรุงร่างกายและทารกในครรภ์ พอคลอดลูกแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักลงมาให้เท่ากับก่อนตั้งครรภ์ได้ เพราะกินอาหารเหลือของลูกต่อ

6. อายุ ทั้งชายและหญิงเมื่ออายุสูงขึ้น การใช้พลังงานน้อยลง มีโอกาสอ้วนง่าย

7. ยา ผู้ป่วยบางคนได้รับฮอร์โมนสเตียรอยด์เป็นเวลานานก็ทำให้อ้วนได้ และเพศหญิงที่กินยาหรือฉีดยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน

เด็กอ้วน อนาคตคือผู้ใหญ่อ้วน

เด็กอ้วนเกิดจากการประคบประหงม การเลี้ยงดูที่ชอบให้เด็กอ้วน อีกทั้ง หลายคนมีลูกเพียง 1หรือ 2 คนเท่านั้น ลูกก็ได้รับการดูแลอย่างดีและกินเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความอ้วน

มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า เด็กที่อ้วน พอโตขึ้นก็เป็นวัยรุ่นก็เป็นวัยรุ่นที่อ้วน และโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนมาก จึงทำให้สังคมไทยมีผู้ใหญ่อ้วนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา

ดังนั้น เด็กเล็กควรจะต้องมีกิจกรรมการออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวัน ละ 1 ชั่วโมง มากกว่าการนั่งเล่มเกมคอมพิวเตอร์หรือดูโทรทัศน์ เพราะพฤติกรรมของเด็กที่อยู่นิ่งๆ มักจะกินมาก แต่เด็กที่เคลื่อนไหวมักจะกินน้อย

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน จะต้องจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก



ลดความอ้วนด้วยอาหาร และการออกกำลังกาย

การลดความอ้วนมี สารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกินอาหาร ออกกำลังกาย การใช้ยา การผ่าตัด การอดอาหาร เป็นต้น การกินอาหารการลดน้ำหนักเด็กเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเด็กไม่ใช่จะอยู่เพียงลำพังกับพ่อแม่เท่านั้น มีปู่ย่า ตายาย อีกทั้งระยะเวลา 1 วัน เด็กอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมีการดูแลเรื่องอาหารให้เหมาะสม งดขายอาหารหวาน ขนมขบเคี้ยวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสมของเด็ก และควรจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่จะส่งเสริมให้มีเด็กอ้วนในโรงเรียนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับ ผู้ใหญ่ การลดปริมาณอาหารและการเลือกชนิดของอาหารให้เหมาะสม

การควบคุมให้น้ำหนักคงที่หรือลดลง ควรจะค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ใช่ใช้วิธีอดอาหารทันที เพราะการอดอาหารทันที 1 หรือ 2 วัน ก็จะหิวมากขึ้น พอหมดความอดทนก็จะยิ่งกินมากขึ้นกว่าเดิมอีก

วิธีที่ถูก ต้องคือ จะต้องกินอาหารครบทุกมื้อ ได้สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ นั่นคือมีโปรตีน เนื้อสัตว์ ผักให้พอเพียง ส่วนแป้งและผลไม้ในปริมาณไม่มากเกินไป


⇒ การออกกำลังกายนอก

จากการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบถ้วน และปริมาณเหมาะสมแล้ว การออกกำลัง-กายควบคู่ไปด้วยก็จะยิ่งช่วยให้การควบคุมหรือลดน้ำหนักได้ผลดี ยิ่งขึ้นสำหรับการออกกำลังกายที่ได้ประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย

1. ระยะเวลาการออกกำลังกายแต่ละครั้ง ควรติดต่อกันนานมากกว่า 20 นาที เพื่อให้ระบบ การเผาผลาญของร่างกายทำงานต่อเนื่อง เป็น ผลดีต่อระบบการไหลเวียนเลือด

2. ความถี่ในการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ซึ่งจะดีต่อหัวใจ แต่ถ้าทำได้ทุกวันจะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและการควบคุมน้ำหนักด้วย



การใช้ยาลดความอ้วน

วิธีการลดน้ำหนักที่แต่ละคนใช้มีผลแตกต่าง กัน บางคนอาจจะลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารแล้ว ได้ผล ขณะที่บางคนต้องอาศัยทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไปพร้อมกัน แต่ก็มีคนอ้วนอีก จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ต้องใช้ยาช่วยลดความอ้วน

การใช้ยาลดความอ้วนควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และไม่ควรใช้ยาลดความอ้วนติดต่อกันนานๆ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้

นอกจากนี้ มีหลายรายที่หยุดใช้ยาลดความอ้วนแล้วกลับมากินอาหารตามปกติร่างกายอ้วน เหมือนเดิม แต่ก็มีบางรายที่อ้วนกว่าเดิมเสียอีก ทั้งนี้เพราะคนนั้นไม่ควบคุมอาหารนั่นเอง

ควรใช้ยาลดความอ้วน เมื่อใช้วิธีกินอาหารและการออกกำลังกายเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว (ประมาณ 3-6 เดือน) ยังไม่สามารถลดน้ำหนักได้ดี และควรใช้ยาลดความอ้วนภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการปรับลดอาหารและการออกกำลังกาย ไม่ควรไปซื้อยาลดความอ้วนด้วยตนเองตามร้านขายยา ร้านเสริมสวย ทางอินเทอร์เน็ต หรือคลินิกที่ไม่มีการตรวจของแพทย์

สำหรับเด็กและสตรี ตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยาลดความอ้วน

ยาลดความอ้วนที่ใช้อยู่ขณะนี้เป็น ส่วนใหญ่มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ ยาลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมันและออกฤทธิ์ต่อสมอง

1. ยาลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมัน

ร่างกายคนเราได้รับไขมัน เข้าไป ไขมันจะถูกย่อยสลายให้มีขนาดเล็ก และดูดซึมเข้ากระแสเลือดและนำไปใช้เป็นพลังงานและเหลือเก็บสะสมไว้ได้ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ลดการย่อยสลายไขมันในทางเดินอาหาร ทำให้ไขมันมีขนาดใหญ่และไม่สามารถถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ ไขมันจะเหลือทิ้งมากับอุจจาระ

ถ้าใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ท้องอืดและเกิดการขาดวิตามินชนิดที่ละลายได้ดีในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค หากผู้นั้นไม่กินอาหารให้ครบหมู่ ถึงแม้มีโอกาสขาดน้อยมากก็ตาม

2. ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง

ยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมองนี้จะทำ ให้รู้สึกไม่อยากกินอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่ม และเมื่อลดปริมาณอาหารลง น้ำหนักตัวก็ลดลง

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่มีฤทธิ์ แรง และมีผลข้างเคียงสูง เช่น เหนื่อย ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เป็นต้น และเมื่อมีการใช้ติดต่อกันนานๆ อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตและประสาท

นอกจากนี้ยังมียาอื่นๆ ที่ใช้ในการลดความอ้วน เป็นต้นว่า ยาระบายชนิดต่างๆ ชาลดความอ้วน และยาที่เร่งการเผาผลาญอาหาร เป็นต้น

3. ยาระบาย

ยา ระบายช่วยให้ระบายหรือถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการลดความอ้วนโดยตรง เมื่อใช้ไปนานๆ ร่างกายจะไม่ถ่ายอุจจาระได้เอง ต้องใช้ยานี้ถึงจะถ่ายอุจจาระได้

บางราย อาจเกิดการดื้อยา เพราะร่างกายเราเคยชิน กับยานี้ ถ้าใช้ในขนาดเดิมอาจไม่ได้ผล ต้องใช้ขนาดสูงขึ้นเพื่อให้ร่างกายถ่ายอุจจาระเหมือนปกติ

4. ยาขับปัสสาวะ

ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่มีฤทธิ์เพิ่มการขับ ปัสสาวะหรือน้ำออกจากร่างกาย ใช้รักษาโรคความดันเลือดสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด

เมื่อใช้ชนิดนี้ร่วมกับยาลดความอ้วน จะเพิ่มการขับปัสสาวะของร่างกายให้เพิ่มมากขึ้น ไปรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย และส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ หากใช้ปริมาณมาก อาจมีอันตรายได้

5. ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับ

การใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับยาลดความ อ้วน เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของยาลดความอ้วน ซึ่งมักมีอาการเหนื่อย ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ถ้าใช้ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับติดต่อกันอาจทำให้ติดยานอนหลับได้



นอกจากยาลดความอ้วนแล้ว ยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร ใยอาหาร สมุนไพร วิตามิน และยาบางชนิด เพื่อช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม ลดการดูดซึมอาหาร ช่วยระบาย หรือบำรุงร่างกาย แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า ได้ผลดีในการลดความอ้วน มีราคาค่อนข้างแพง และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

การตัดสินใจเลือกใช้ยาหรือ ผลิตภัณฑ์เพื่อลดความอ้วน ควรใช้เท่าที่จำเป็นและได้ผลดีอย่างชัดเจนเท่านั้น ไม่ควรเชื่อคำโฆษณา



การผ่าตัดลดความอ้วน

การผ่าตัดลดความอ้วนแบบง่ายคือ ใส่สายรัดกระเพาะ ทำให้กระเพาะเล็ก อิ่มเร็ว ถ้าไม่ได้ผลจะต้องทำการผ่าตัดใหญ่ นั่นคือตัดลำไส้ทิ้งบางส่วน เพื่อให้ตัวย่อยและการดูดสารอาหารลดลง ถ่ายทิ้งมากขึ้น ทำให้น้ำหนักลดลงได้

การที่ร่างกายน้ำหนักขึ้น เพราะการกิน และวิธีกินที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ทำให้ร่างกายมีของเหลือเก็บในสิ่งที่ไม่อยากจะเก็บ

การลดน้ำหนักที่ยั่งยืนคือกินให้ลดลง ต้องเลือกกิน ให้เหมาะสม เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และไม่เกินสิ่งที่ตนเองต้องใช้ โดยเฉพาะแป้งและผลไม้ หากปฏิบัติตัวแล้ว ได้ผล การกินต้องเปลี่ยนเป็นแนวนี้ตลอดไป หมายความว่าพฤติกรรมการกินต้องเปลี่ยน ปริมาณการกินต้องเปลี่ยน และควบคุมให้คงที่สม่ำเสมอ ต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการกิน

การลดน้ำหนัก ที่ยั่งยืนจริงๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการฝึกตนเองให้ชินกับการกินแบบใหม่ และนิสัยแบบใหม่

เริ่มต้นที่ใจตนเองเสมอ ถ้าใจไม่เอา ผ่าตัดก็สามารถกลับมาอ้วนได้ ถึงแม้มีน้อยราย แต่รายนั้นอาจจะเป็นตัวคุณก็ได้




โดย: หมอหมู วันที่: 4 มิถุนายน 2553 เวลา:14:16:37 น.  

 


//www.doctor.or.th/node/10760


File Name :371-009
นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม :371
เดือน-ปี :03/2553
คอลัมน์ :เรื่องเด่นจาก ปก
นักเขียนหมอชาวบ้าน :ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด

"พ.ต.ท. สว.จร. .ใช้ปืนยิงภรรยา เพราะเครียดจากการกินยาลดความอ้วน"

พาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓

จากพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เป็นข่าวอาชญากรรมที่สามีซึ่งเป็นตำรวจระดับสารวัตร ใช้ปืนยิงใส่ภรรยาของตนเอง โดยมีเหตุโยงใยกับการใช้ยาลดความอ้วน จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียดแล้วก่อเหตุสยอง ชักปืนขึ้นมาทำร้ายร่างกายภรรยาของตนเองได้



ยาลดความอ้วน เป็นต้นเหตุของความเครียด... จริงหรือ?

จากกรณีตัวอย่างข้างต้นนี้ ถ้ามีการใช้ยาลดความอ้วนจริงๆ ก็น่าจะใช้ "ยาลดความอ้วน ชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง"๑ โดยยานี้จะไปทำให้รู้สึกไม่หิว หรือรู้สึกอิ่ม ดังนั้นเมื่อใช้ยากลุ่มนี้จึงไม่อยากกินอาหาร เมื่อหยุดกินอาหาร หรือกินอาหารลดน้อยลง น้ำหนักตัวและความอ้วนก็จะลดลงตามมา

แต่ยาลดความอ้วนชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อสมองนี้ นอกจากทำให้รู้สึกไม่หิว หรือรู้สึกอิ่มแล้ว ยังมีฤทธิ์กระตุ้นสมอง หัวใจ และส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย โดยในส่วนที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองจะทำให้รู้สึกไม่ง่วงนอน ในขณะที่มีผลกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงและเต้นเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงปากแห้ง และคอแห้ง ทำให้ผู้ที่ใช้ยาลดความอ้วนชนิดนี้ รู้สึกไม่ง่วงนอน ขยัน อยู่เฉยไม่ได้ ตื่นตัวอยู่เสมอ นอนไม่หลับ ใจสั่น กระวนกระวาย ปากแห้ง คอแห้ง ฯลฯ

นอกจากนี้ เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ ก็จะส่งผลต่อจิตและประสาทของผู้ใช้ยา ทำให้เหม่อลอย หลงๆ ลืมๆ ตกใจง่าย หวาดระแวงง่าย หงุดหงิดง่าย และเกิดความเครียดได้ง่าย ซึ่งสอดคล้องกับพาดหัวข่าวข้างต้นที่เกิดเหตุสยองดังกล่าวขึ้น

ที่สำคัญถ้ามีการใช้ยาติดต่อกันนานๆ ก็ส่งผลให้เกิดการติดยาได้ในลักษณะของการติดยาเสพติด ถ้าไม่ได้ยาก็จะเกิดอาการผิดปกติทางจิตและประสาท เช่น โมโหง่าย เครียด หงุดหงิด เหม่อลอย ขี้ลืม กระวนกระวาย เป็นต้น ในลักษณะเดียวกันกับการเสพติดยาบ้า ทั้งนี้เพราะยากลุ่มนี้เป็นอนุพันธ์ของยาแอมเฟทามีน (amphetamine) หรือยาบ้า ที่มีการเสพติดระบาดอยู่ทั่วไป



"ถ้าหุ่นดี แต่เสียสุขภาพ" จะเอาไหม?

คงต้องยอมรับว่านอกจากยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่ สมองทำให้รู้สึกอิ่มหรือไม่หิวแล้ว ยังมียาลดความอ้วนกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น ยา ลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมัน๒

ทั้งนี้เพราะในภาวะปกติไขมันที่กินเข้าไปในร่างกายจะถูกย่อยสลายให้มีโมเลกุลขนาดเล็ก จึงจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ยากลุ่มที่ ๒ นี้จะออกฤทธิ์ลดการย่อยสลายไขมันในทางเดินอาหาร ทำให้ไขมันมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ ไขมันเหล่านี้จึงเหลือทิ้งมากับอุจจาระ ทำให้อุจจาระเป็นไขน้ำมันปะปนออกมา และอาจทำให้ท้องอืดได้ ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินชนิดที่ละลายได้ดีในไขมัน ได้แก่ วิตามิน เอ ดี อี และเคได้


นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้ยังมีผลลดน้ำหนักได้ไม่มาก เพราะลดการดูดซึมเฉพาะไขมันและส่งผลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งยังไม่มีผลต่อโปรตีน แป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารที่จะไปสะสมให้เกิดความอ้วนได้เช่นเดียวกับไขมันอีกด้วย

นอกจากยาทั้ง ๒ กลุ่มนี้แล้ว ในวงการแพทย์มีการนำยาชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลดความอ้วนโดยตรงมาใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน เพื่อช่วยให้ลดความอ้วนได้ดียิ่งขึ้น หรือช่วยลดผลเสียหรือผลข้างเคียงของยาลดความอ้วนทั้ง ๒ กลุ่ม ตัวอย่างยาเหล่านี้ ได้แก่

► ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่ง ใช้ในการรักษาโรคคอพอกจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อนำมาใช้ในคนปกติ ยานี้จะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และช่วยลดความอ้วนได้บ้าง แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเรื่อง ใจสั่น เหนื่อยง่าย ขี้ร้อน หิวน้ำบ่อย และจะไปรบกวนระบบฮอร์โมนของร่างกาย ทำให้เสียสมดุล และเกิดอันตรายได้

►ยาระบาย จะช่วยให้ระบายหรือถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น แต่ไม่มีผลต่อความอ้วนโดยตรง เมื่อใช้ยานี้ไปนานๆ อาจทำให้เกิดการพึ่งหรือติดยาระบายได้ ถ้าไม่ได้ใช้ยานี้ร่างกายจะไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้เอง ต้องใช้ยาระบายถึงจะถ่ายอุจจาระได้ หรืออาจเกิดการดื้อยาระบาย เพราะร่างกายเราเคยชินกับยานี้ ถ้าใช้ในขนาดเดิมอาจไม่ได้ผล ต้องใช้ขนาดสูงขึ้นเพื่อให้ร่างกายถ่ายอุจจาระเหมือนปกติ

► ยาขับปัสสาวะ เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์เพิ่มการขับปัสสาวะหรือน้ำออกจากร่างกาย ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด เมื่อใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน จะเพิ่มการขับปัสสาวะหรือน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น จะไปรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย และส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

►ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับ อาจใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของยาลดความอ้วน ซึ่งมักมีอาการเหนื่อย ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ถ้าใช้ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับติดต่อกันอาจทำให้ติดยานอนหลับได้

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใยอาหาร สมุนไพร วิตามิน และยาบางชนิดเพื่อช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม ลดการดูดซึมอาหาร ดักจับไขมัน กากอาหาร ช่วยให้อิ่มท้อง ช่วยระบาย หรือบำรุงร่างกาย แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า ได้ผลดีในการลดความอ้วน ประกอบกับราคาค่อนข้างแพง และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงพิจารณาเฉพาะเท่าที่จำเป็น และที่ได้ผลดีอย่างชัดเจนเท่านั้น ไม่ควรเชื่อคำโฆษณา หรือผลการรักษาจากคำบอกเล่าของคนบางคนบางกลุ่ม ซึ่งมุ่งผลทางการค้ามากกว่าเรื่องสุขภาพ



"โยโย่" ผลของการใช้ยาลดความอ้วน

ผลอีกประการหนึ่งที่เกิดจากการใช้ยาลดความอ้วน ก็คือ "โยโย่" (Yo Yo effect) ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์หลังการใช้ยาลดความอ้วนแล้วหยุดยา น้ำหนักจะกลับมาเพิ่มมากขึ้นจนเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมได้

ทั้งนี้ เพราะในช่วงลดน้ำหนักจะต้องข่มใจอดอาหาร พอเลิกลดน้ำหนักจึงรู้สึกอยากอาหารเป็นอย่างมาก ก็จะกินอาหารเป็นจำนวนมาก น้ำหนักตัวก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม เหมือนการเล่นลูกดิ่งที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้ เช่นเดียวกับน้ำหนักที่ขึ้นๆ ลงๆ สลับกันระหว่างที่หยุดยาและใช้ยา โดยปรากฏการณ์ "โยโย่" นี้เกิดขึ้นได้กับการใช้ยาลดความอ้วนทุกชนิด



สูตรเด็ดการลดความอ้วน คือ... "๓ อ"

สูตรเด็ดหรือเคล็ดไม่ลับในการลดความอ้วน คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย

เริ่มต้นด้วยการเลือกชนิดของอาหารให้หลากหลาย เน้นผักและผลไม้ ไม่เน้นไขมัน ข้าว แป้ง และน้ำตาล แต่ให้มีได้บ้างไม่มากเกินไป

ตามด้วยรักษาอารมณ์ให้สดชื่น พักผ่อนให้เต็มที่ ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด

ตบท้ายด้วยการออกกำลัง กายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๓๐ นาทีขึ้นไป

นี่ คือสูตรเด็ดส่งเสริมสุขภาวะของเจ้าของร่างกาย เป็นแบบ "หุ่นดี สุขภาพดี" แถมด้วยอารมณ์ดีอีกด้วย



การลดความอ้วน เป็นเรื่องความสวยความงามและธุรกิจ มากกว่าสุขภาวะ

ในปัจจุบันการเสริมสร้างความสวยความงาม ซึ่งรวมถึงการลดความอ้วนให้หุ่นดีจัดเป็นเรื่องธุรกิจที่เฟื่องฟู เป็นที่ต้องการของคนหมู่ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและ/หรือวัยทำงาน ที่ต้องการการยอมรับ พยายามเสาะแสวงหายาและ/หรือกรรมวิธีต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้หุ่นดีเป็นสำคัญ โดยนึกว่า เงินจะซื้อยาวิเศษที่ช่วยลดความอ้วนได้อย่างเห็นผลทันตา (ซึ่งไม่มีจริง แถมยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตได้)

อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ค้า แพทย์ ร้านเสริมสวย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากไปเสาะแสวงหายา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร มานำเสนอเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเหล่านี้ จะมุ่งเน้นแต่เรื่องผลกำไรเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียในระยะยาวที่อาจจะเกิดแก่ผู้บริโภคได้

ถึงแม้ว่า ยาลดความอ้วนจะเป็นยาต้องห้ามที่ห้ามขายในร้านขายยา เพราะมีอันตรายค่อนข้างสูง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว และทางกฎหมายจัดเป็นยาประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และจ่ายได้ด้วยแพทย์เท่านั้น แต่ก็มีการนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือผลิตยาปลอม หรือผลิตยาเลียนแบบ จนทำให้สามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ทั่วไป

ฉะนั้น ไม่ควรเชื่อคำโฆษณาของผู้ประกอบการต่างๆ ถึงสรรพคุณของยากลุ่มนี้

หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ความกระจ่างถึงผลดีผลเสียของการใช้ยาลดความอ้วน และแนะนำขั้นตอนหรือกระบวนการลดความอ้วนที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย ตลอดจนความพร้อม ความเข้าใจ และความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม มีความพอประมาณ ใช้ยาด้วยเหตุผล ไม่มากหรือน้อยเกินไป ใช้เมื่อจำเป็น จะได้เกิดสุขภาวะของประชาชนเป็นที่ตั้งและเป้าหมายสูงสุด


๑ตัวอย่าง ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ที่สมองทำให้รู้สึกอิ่มหรือไม่หิว ได้แก่ phentermine, fenfluramine, dexfenfluramine, methamphetamine, phenylpropanolamine, silbutramine เป็นต้น

๒ตัวอย่างยาลด ความอ้วนที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการย่อยสลายไขมันในลำไส้ ได้แก่ orlistat







โดย: หมอหมู วันที่: 4 มิถุนายน 2553 เวลา:14:32:25 น.  

 
ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณพึงระลึกอยู่เสมอเกี่ยวกับ การลดน้ำหนัก
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-04-2008&group=4&gblog=33

โรคอ้วน Obesity
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-04-2008&group=4&gblog=31

สาวฮ่องกง.... จำนวนมาก ถูกบริษัทลดน้ำหนัก หลอกโกงเงิน .... แล้วเมืองไทยละ ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=07-12-2009&group=7&gblog=42

อย. ยัน...ไม่เคยรับรอง .... ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร .... ลดอ้วนได้จริง
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-11-2008&group=7&gblog=8

สุดยอดการหลอกลวงด้านสุขภาพ ... จาก อเมริกา ดูแล้วก็ไม่ต่างอะไร กับเมืองไทย ...
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-12-2009&group=7&gblog=40


โดย: หมอหมู วันที่: 20 มิถุนายน 2555 เวลา:13:33:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]