Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

วิธีเลือกร้านอาหารขณะเดินทาง .. จากเวบ หมอชาวบ้าน



วิธีเลือกร้านอาหารขณะเดินทาง

//www.doctor.or.th/article/detail/3203


ข้อมูลสื่อ

163-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 163
พฤศจิกายน 1992
รู้ก่อนกิน
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ



“ไหน แวะร้านไหนดี” คนขับรถ ถามเพื่อนร่วมทาง

“เอาร้านโน้นสิ คนเยอะดี สงสัยอร่อย” นั่นคือ คำตอบที่ได้รับ

บทสนทนาข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างของวิธีการหนึ่งในการเลือกร้านอาหารที่จะเข้าไปบริโภคของคนทั่วไป ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นวิธีที่มีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง เพราะร้านที่คนเข้าไปใช้บริการกันมากมักเป็นร้านที่อาหารอร่อย ราคาไม่แพงเกินไป นอกจากนั้นอาจมีข้อดีอย่างอื่นอีก เช่น บริการดี รวดเร็วทันใจ สถานที่สะอาด บรรยากาศดี ห้องน้ำห้องส้วมสะอาด แต่อย่างไรก็ดี ร้านอาหารที่ขายดี ลูกค้าแยะ ก็ใช่ว่าจะเป็นร้านที่จะพึงเข้าไปบริโภคได้เสมอไป

ในเรื่องของการบริโภคนั้น คงต้องยอมรับว่าการทำอาหารกินเองหรือกินข้าวในบ้านเป็นวิธีที่ปลอดภัย และสะอาดถูกหลักอนามัยมากที่สุด แต่ในสภาพปัจจุบันที่คนต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยเฉพาะคนในเมืองหลวง การกินอาหารนอกบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นร้านอาหารที่เราเคยรู้จักมาก่อน หรือเป็นย่านที่คุ้นเคยก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร

แต่ในกรณีที่เดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างถิ่น การเลือกร้านอาหารนั้นโดยทั่วไปคนจำนวนมากมักยึดถือเรื่อง “ความอร่อย” หรือรสชาติเป็นเกณฑ์ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคา ความสะอาด ก็เป็นปัจจัยที่พิจารณาประกอบรองๆลงมา ซึ่งบางครั้งก็อาจต้องประสบปัญหาท้องเสีย หรือเดือดร้อนจากอาหารเป็นพิษ ทำให้การเดินทางไม่ราบรื่นและอาจเสียงานเสียการตามที่ตั้งใจไว้ จึงมีข้อคิดบางประการในการเลือกร้านอาหารต่างถิ่นมาเสนอให้ทราบกัน


1. ให้ดูสภาพความสะอาดของสถานที่ บริเวณที่ปรุงอาหาร การจัดเก็บอาหาร สภาพภาชนะถ้วยชาม การแต่งเนื้อแต่งตัวของผู้ปรุงอาหารเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าอาหารร้านนั้นอาจจะมีรสชาติธรรมดาๆ แต่ก็ยังดีกว่ากินของอร่อยที่เป็นพิษเป็นภัยกับเราเข้าไป เคยมีคนกล่าวว่า “เวลาไปกินอาหารตามร้าน อย่าเข้าไปดูบริเวณที่ปรุงอาหาร หรือที่ล้างถ้วยล้างชาม เพราะจะกินไม่ลง” ทั้งที่จริงแล้วข้อนี้บางทีก็จำเป็นต้องสังเกตให้ดี เพราะแม้อาหารที่ปรุงจะสะอาด แต่ถ้วยชามสกปรกก็คงไม่ไหวเหมือนกัน


2. ป้ายรับรองคุณภาพต่างๆ เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ อาจพอเป็นการรับรองได้คร่าวๆ ถึงความอร่อยของอาหารร้านนั้น แต่บางครั้งก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะบางแหล่ง เช่น แถวหนองมน จังหวัดชลบุรี จะพบว่า แทบทุกร้านมีป้ายรับประกันคุณภาพเหมือนกันหมด ฉะนั้นถ้าจะดูให้ครบถ้วนสมบูรณ์จริงๆ ควรเป็นร้านที่ได้รับการรับรองว่าเป็นร้านอาหารถูกสุขลักษณะของกรมอนามัยดูจะปลอดภัยที่สุด


3. เลือกสั่งอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงค้างคืน หรืออาหารที่ไม่มีภาชนะปกปิด มีฝุ่นหรือแมลงวันตอม และควรหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท เช่น

- อาหารพวกยำ พล่าทั้งหลาย เพราะมีโอกาสปนเปื้อนสูง

- อาหารทะเลที่อาจปรุงไม่สุก เช่น หอยแครงลวก ยำหอยนางรม อาหารสุกๆดิบๆทุกอย่าง

- อาหารที่รสจัดมากๆ เช่น ลาบ เสือร้องไห้ ซึ่งมีรสเผ็ดมาก อาจทำให้บางท่านที่กระเพาะไม่ค่อยดีหรือมีโรคกระเพาะประจำตัวเดือดร้อนได้


4. น้ำแข็งเปล่าก็ควรระวัง เพราะบางครั้งอาจผลิตจากน้ำประปาซึ่งไม่ได้ผ่านการกรองเชื้อโรคบางชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ท้องร่วง ถ้าเป็นไปได้ควรบริโภคน้ำบรรจุขวดสำเร็จ และควรเลือกดูชนิดที่ข้างขวดมีเครื่องหมาย อย. รับรองคุณภาพ


5. อาหารบางประเภทที่เติมผงชูรสมากเกินไป เช่น ต้มยำ ทอดมัน ผู้เขียนเคยมีอาการอึดอัดแน่นหน้าอก ชาร้าวไปทั่วบริเวณหัวไหล่และต้นคอเพราะกินทอดมันที่เติมผงชูรสมากเกินไป ดังนั้น ใครที่แพ้ผงชูรสจึงควรบอกทางร้านให้งดเติมผงชูรสลงในอาหาร


6. คนขับรถไม่ควรกินอาหารให้อิ่มจนเกินไป เพราะอาจง่วงนอน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้


7. บางครั้งยอมกินอาหารที่มีราคาแพงสักนิดแต่สะอาดปลอดภัยจะดีกว่าที่ต้องเสี่ยงกับอาการท้องเสียหรือเจ็บป่วยในขณะเดินทาง โดยเฉพาะถ้าท่านมีเด็กเดินทางไปด้วยยิ่งจำเป็น บางพื้นที่มีปัญหาเรื่องอหิวาต์ หรืออุจจาระร่วงอย่างแรง เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น จังหวัด 3 ส. (สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม) หรือจังหวัดที่อยู่ริมทะเลยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง ถ้ากินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเข้าไป


8. บางครั้งเราอาจมีปัญหาเรื่องมีเวลาจำกัด เวลาเร่งรัด ไม่สามารถขับรถตระเวนหาร้านอาหารที่ถูกใจ สะอาดถูกหลักอนามัยได้ การจอดรถแวะถามคนท้องถิ่นแถวนั้นหรือถามตำรวจคงจะช่วยให้ประหยัดเวลาได้มาก อีกทั้งจะได้กินอาหารอร่อย และสะอาดถูกหลักอนามัยด้วย


9. ปัญหาอีกประการหนึ่งที่อาจประสบคือ เรื่องราคา โดยเฉพาะพ่อค้าบางคนมองออกว่าท่านเป็นคนต่างถิ่น เป็นขาจร ไม่ใช่ลูกค้าประจำ จึงอาจถูกโก่งราคา หรือขายแพงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเป็นไปได้จึงควรเลือกร้านที่มีรายการอาหารบอกราคาไว้เรียบร้อยแล้วจะดีกว่า


10. อาหารประเภทจานเดียว เช่น เกี๋ยวเตี๋ยว ผัดไทย อาจเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งสำหรับท่านที่มีเวลาไม่มากนัก แถมยังราคาไม่แพงจนเกินไป และค่อนข้างสะอาด เพราะปรุงเสร็จใหม่ๆ



ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ หากคุณระมัดระวังได้ตามข้อแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นโรคท้องร่วงหรือท้องเสีย ก็ไม่มีสิทธิ์มาเดินพาเหรดรบกวนเวลาท่องเที่ยวของคุณแน่ๆ.




ปล. เที่ยวสนุก กินอร่อย เดินทางปลอดภัย นะครับ








Create Date : 12 เมษายน 2556
Last Update : 12 เมษายน 2556 2:24:48 น. 0 comments
Counter : 1922 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]