Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

เลือดกำเดา (Epistaxis) ... นำมาฝากจากเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)



เลือดกำเดาหรือเลือดออกจมูก (Epistaxis หรือNosebleed) หมายถึง ภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงจมูกทางส่วนหน้าหรือส่วนหลังของโพรงจมูกพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้สูงในเด็กอายุ 2-10 ปีและคนวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ประมาณ 10-12% ของประชากรจะมีเลือดกำเดาออกครั้งหนึ่งในชีวิตมีเพียง 10% เท่านั้นที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่มีเลือดออกจำนวนน้อย ๆ และหยุดไหลได้เองแต่เป็นมาแล้วหลายครั้ง กลุ่มนี้มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีเลือดออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก

2. กลุ่มที่มีเลือดออกจากจมูกเพียงครั้งเดียวแต่มีเลือดออกจำนวนมากและไม่สามารถหยุดไหลได้เอง มักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วเช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย โดยเลือดที่ออกมักจะมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก

สาเหตุที่เลือดกำเดาไหล

1. สาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก เช่น

o การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูกได้แก่ การแคะจมูก การสั่งน้ำมูกแรง ๆ ภาวะอากาศหนาวซึ่งมีความชื้นต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศอย่างรวดเร็ว(เช่น ในระหว่างขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำ) การได้รับแรงกระแทกที่จมูกการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอย่างไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น

o ความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงจมูกเช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอก หรือมีรูทะลุ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศที่ผ่านเข้าออกและมีเลือดกำเดาไหลข้างที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบ

o การอักเสบในโพรงจมูกเช่น ภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกการสัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ เป็นต้น

o เนื้องอกของโพรงจมูกเช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายอย่างริดสีดวงจมูก เนื้องอกของหลอดเลือด ซึ่งมักพบในเด็กผู้ชายและเป็นข้างเดียวมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ เป็นต้น เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยและทำให้ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกทีละมากๆ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกจากจมูกแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีเลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมากๆ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก หรือได้รับการตรวจเอกซเรย์ว่ามีเนื้องอกเป็นสาเหตุหรือไม่

o ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูกเช่น เส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มาเชื่อมต่อกันจากอุบัติเหตุเป็นต้น

2. สาเหตุที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ ได้แก่

o โรคเลือดมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตับแข็งไตวาย โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ การขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน (เช่น วิตามินซี วิตามินเค)

o โรคของหลอดเลือดเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นต้น

o ไม่ทราบสาเหตุซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ราวร้อยละ 10

3. สาเหตุที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหลง่ายกว่าปกติ เช่นยาแอสไพริน (Aspirin),ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)


ระดับความรุนแรงของเลือดกำเดาไหล

1. ระดับน้อย หมายถึง มีเลือดออกปริมาณน้อยไม่สามารถวัดปริมาณได้ชัดเจน เช่น เปื้อนกระดาษชำระหรือเปื้อนผ้าเช็ดหน้าและมักหยุดไหลได้เอง

2. ระดับปานกลาง หมายถึงมีเลือดออกมากขึ้นและระบุปริมาณได้ เช่น มากกว่า 100 มิลลิลิตร (ครึ่งแก้วน้ำดื่ม)เป็นต้น และยังมีสัญญาณแสดงชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. ระดับรุนแรง หมายถึง มีเลือดออกมากจนมีภาวะช็อก เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เบา ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลมเวลาเปลี่ยนท่าและรวมถึงในกรณีที่มีเลือดไหลไม่หยุด

เมื่อมีเลือดกำเดาไหลแพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

· ก่อนอื่นแพทย์จะห้ามเลือดไม่ให้ไหลและจะซักถามประวัติของโรคต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงตรวจร่างกาย โดยใช้เครื่องตรวจในช่องจมูกเมื่อพบจุดเลือดออกจะห้ามเลือดด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

· การตรวจทางห้องทดลอง เช่น เจาะเลือดตรวจเกล็ดเลือดและตรวจหาระยะเวลาที่ใช้การแข็งตัวของเลือด

· การตรวจหาตำแหน่งที่คาดว่าเป็นต้นเหตุของเลือดออกเช่น การเอกซเรย์ไซนัส การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจหลอดเลือดของจมูกและลำคอ




วิธีรักษาเลือดกำเดาไหล

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองเมื่อมีเลือดกำเดาไหล (วิธีนี้ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่) ให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรงและก้มหน้าเล็กน้อยแล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบ (กด) ปีกจมูกทั้ง 2 ข้างเข้าหากันในแนวกลางโดยหนีบบริเวณผนังกั้นจมูกเอาไว้เพื่อกดจุดเลือดออกเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที (การกดหรือบีบ ต้องกดหรือบีบให้แน่น) แล้วค่อยคลายออก และในระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทนการใช้วิธีนี้ส่วนมากมักจะได้ผล (เพราะประมาณ 90% เลือดมักจะไหลออกมาจากส่วนหน้าของจมูก การบีบหรือกดที่ปีกจมูกจึงช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้)แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งเป็นเวลานาน 10 นาที

1. หลักสั้น ๆ จำง่าย ๆ เมื่อเลือดกำเดาไหล คือ “บีบจมูกนั่งหลังตรง ก้มหน้าเล็กน้อย อ้าปากหายใจ”

2. ห้ามเงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน แต่ให้นั่งหลังตรง (การนั่งหลังตรงจะช่วยบังคับให้ปริมาณและความแรงของเลือดลดลงเพราะศีรษะอยู่สูง)และก้มหน้าลงเล็กน้อย (เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองและสำลักเลือดเลือดจะออกมากขึ้น และเลือดอาจเข้าไปในปอดก่อให้เกิดปอดอักเสบตามมาได้)

3. อาจใช้ผ้ารองใต้จมูกเพื่อซับเลือดได้และถ้าเลือดหยดลงด้านหน้าอาจหาถ้วยชามขนาดใหญ่มารองไว้

4. ทำให้ตัวเย็นลง ประคบเย็นที่บริเวณสันจมูกที่บริเวณหน้าผากและคอร่วมด้วยก็ได้และวิธีที่เด็ดกว่านั้นก็คือ “การอมน้ำแข็งเอาไว้ในปาก” จากการศึกษาพบว่า การอมน้ำแข็งนั้นให้ผลได้ดีกว่าการกดจมูกด้วยน้ำแข็ง ( ส่วนการเลียไอติมแท่งก็ให้ผลไม่ต่างกัน)การประคบเย็นหรืออมน้ำแข็งควรทำ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ10 นาที แล้วค่อยทำใหม่เป็นเวลา 10 นาทีโดยให้ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ

5. อาจใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) ซึ่งตัวยาจะช่วยทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกหดตัวโดยให้หยดยาประมาณ 1-2 หยดลงบนก้อนสำลีแล้วใส่ก้อนสำลีเข้าไปในโพรงจมูก บีบจมูกอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 10 นาที ให้ดูว่ายังมีเลือดไหลอยู่อีกหรือไม่ ถ้าเลือดหยุดไหลแล้วอย่าเพิ่งเอาก้อนสำลีออกจนกว่าจะครบ1 ชั่วโมง เพราะเลือดอาจจะไหลได้อีกครั้ง(สามารถใช้ยาพ่นจมูกรักษาได้ ถ้าไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและควรใช้ในกรณีที่ลองบีบจมูก 10 นาทีแล้วเลือดยังไม่หยุดไหลเท่านั้น)

6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้จมูกแห้ง

7. หลีกเลี่ยงการพูดการไอหรือจามในขณะที่เลือดกำเดากำลังไหลอยู่ (ถ้าจะจามให้อ้าปาก)

8. ห้ามสั่งจมูกหรือแคะจมูกเพราะอาจทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วหลุดออกและเลือดไหลอีกครั้ง

การดูแลตนเองหลังเลือดกำเดาหยุดไหล ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกจะต้องป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำโดยการ

  • หลังเลือดหยุดไหลสนิทแล้ว สามารถทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำอุ่นได้
  • พักผ่อน หยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ และให้นอนหัวยกสูง รวมถึงทำใจให้สบาย เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลง
  • อาจประคบเย็นด้วย
  • หลีกเลี่ยงการแคะจมูก ขยี้จมูกแรง ๆ และการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การเบ่ง การไอ การจาม
  • ไม่ยกหรือหิ้วของหนัก ๆ ไม่เล่นกีฬาที่หักโหม ไม่สัมผัสอากาศที่ร้อน
  • ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่อุ่นหรือร้อน

การรักษาโดยแพทย์ แพทย์จะทำการห้ามเลือดกำเดาด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้ (การจะใช้วิธีใดนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการมีเลือดออก สาเหตุการเกิดและดุลยพินิจของแพทย์) ซึ่งวิธีการต่าง ๆ จะเรียงตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมากและตามตำแหน่งที่เลือดออก ดังนี้

1. การกดบีบห้ามเลือด ตามที่กล่าวไปแล้วในข้อ 1

2. การให้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ (Topical decongestants) เช่น 1–3% Ephedrine หรือ 0.025–0.05%Oxymethazoline เป็นต้น มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณน้อย

3. การจี้จุดเลือดออก (Cauterization) มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณไม่มากหรือเลือดออกซ้ำที่เดิมอยู่บ่อย ๆ และเห็นตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ชัดเจน

4. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้า (Anterior nasal packing) เช่น ผ้าก๊อซชุบวาสวีน (Vaseline gauze), การใช้ถุงมือยางยัดด้วยผ้าก๊อซ,ฟองน้ำ (Nasal sponge), การใช้บอลลูนในจมูกห้ามเลือด,MerocelÒ (เป็นวัสดุห้ามเลือดที่ขยายตัวได้หลังสัมผัสกับเลือดหรือน้ำ)และอาจเลือกใช้วัสดุที่ละลายได้เองโดยไม่ต้องดึงออก เช่น Gel foam หรือ SurgicelÒ (Oxidized cellulose) เป็นต้น

5. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงหลังจมูก (Posterior nasal packing) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรงจากส่วนหลังของโพรงจมูก หรือในกรณีที่กดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าแล้วเลือดยังไหลไม่หยุด

6. การฉีดสารอุดหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกรุนแรงจากทางส่วนหลังของโพรงจมูกและยังไม่หยุดไหลหลังใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าและโพรงหลังจมูกไปแล้วหรือใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดผิดปกติหรือมีเนื้องอกที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก

7. การผูกหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรง

8. การผ่าตัด

ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เลือดออก)เมื่อ

  • เลือดไหลไม่หยุดภายใน 20-30 นาที
  • เลือดกำเดาไหลซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง
  • เลือดออกมากผิดปกติจนรู้สึกวิงเวียน มึนงง ซีด อิดโรย เหงื่อออกมาก ใจสั่น เป็นลม
  • เลือดกำเดาออกบ่อยหรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งชวนให้สงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก
  • เลือดกำเดาไหลที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกกระแทกด้วยของแข็งที่จมูกอย่างรุนแรง
  • หายใจลำบาก
  • มีประวัติเป็นโรคเลือด และ/หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคตับและไต
  • เด็กในขณะที่เป็นโรคไข้เลือดออก เพราะเมื่อมีเลือดกำเดาไหล เลือดมักไม่หยุดเองง่าย ๆ
  • เมื่อใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือเกิดจากการรับประทานยาแอสไพรินทุกวัน
  • เมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

วิธีป้องกันเลือดกำเดาไหล

1. ค้นหาและรักษาที่ต้นเหตุ เช่นการสอนเด็กไม่ให้แคะจมูก หรือขยี้จมูกแรง ๆ การรักษาผนังกั้นช่องจมูกคด การรักษาเนื้องอกหรือโรคมะเร็งเป็นต้น

2. อย่ารุนแรงกับจมูก หลีกเลี่ยงการแคะจมูกหรือขยี้จมูกแรงๆ ขณะไอหรือจามควรอ้าปากเสมอเพื่อไม่ให้มีแรงดันอากาศผ่านโพรงจมูก เวลาสั่งจมูกให้สั่งเบาๆ และสั่งทีละข้างเท่านั้น ควรตัดเล็บให้สั้น

3. เพิ่มความชื้นในอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เช่น เครื่องทำความชื้นหรือ ภาชนะใส่น้ำ

4. ใช้สเปรย์พ่นน้ำเกลือสำหรับจมูก โดยให้ใช้พ่น2-3 ครั้งต่อวันเพื่อช่วยทำให้จมูกชุ่มชื้น อาจทำสเปรย์น้ำเกลือด้วยตัวเองโดยการใช้เกลือไม่ผสมไอโอดีน3 ช้อนชาพูน กับเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนชานำมาผสมให้เข้ากันในภาชนะที่สะอาด แล้วตักผง 1 ช้อนชาใส่น้ำสะอาดอุ่นๆ (หรือน้ำต้มเดือด) ประมาณ 240 มิลลิลิตร แล้วผสมให้เข้ากัน

5. รับประทานอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ให้มากขึ้น เพราะฟลาโวนอยด์ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอยได้โดยอาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้มทั้งหมด กล้วย ใบแปะก๊วย ผักชีฝรั่งหัวหอม ชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ไวน์แดง ดาร์กช็อกโกแลต บลูเบอร์รี่รวมถึงเบอร์รี่ชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

6. ป้องกันอาการท้องผูก เพราะการเบ่งถ่าย ทำให้ความดันในเส้นเลือดแดงเพิ่มสูงขึ้นชั่วขณะ

7. ลดการรับประทานอาหารร้อนและเผ็ด เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและอาจทำให้เลือดไหลได้

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เลือดกำเดา(Epistaxis/Nose bleed)”.  (นพ.สุรเกียรติอาชานานุภาพ). หน้า 470-471.

2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เลือดกำเดาไหล(Epistaxis)”.  (ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 ม.ค. 2017].

3. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “ภาวะเลือดกำเดาไหล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [29 ม.ค. 2017].

4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 218 คอลัมน์ :ถามตอบปัญหาสุขภาพ.  “เลือดกำเดา”. (พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [29 ม.ค.2017].

5. หาหมอดอทคอม.  “เลือดกำเดา การตกเลือดกำเดา (Epistaxis)”.  (ร.ท. พญ.นทมณฑ์ ชรากร).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ม.ค. 2017].

6. wikiHow.  “วิธีการหยุดเลือดกำเดาไหล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com. [30 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย(MedThai)

https://medthai.com/เลือดกำเดาไหล/




Create Date : 31 มกราคม 2562
Last Update : 31 มกราคม 2562 22:08:20 น. 0 comments
Counter : 2394 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]