ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์ ... ใช้ผิด ติดคุกได้
 ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์ ใบรับรองแพทย์ เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่มักจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับใบรับรองแพทย์มากนัก โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และ นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง บางครั้งทำให้ปัญหาระหว่างแพทย์ กับ ผู้ป่วย ขึ้นมา เราลองมาดูกันสิว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร สำคัญอย่างไร ....
ใบรับรองแพทย์ คือ รายงานสภาวะสุขภาพอนามัยของผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งออกโดย แพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ของ แพทย์สภา
ใบรับรองแพทย์ จะบอกถึงภาวะสุขภาพอนามัย การตรวจรักษา ความเห็นในด้านการแพทย์ นอกจากนั้นยังรวมถึงการรับรองการเกิดและการตายด้วย
ใบรับรองแพทย์ อาจแบ่งได้ 3 ประเภท 1. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองสุขภาพ ) 2. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ผิดปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองความเจ็บป่วย ) 3. การรับรองการเกิดและการตาย *********************************** 1. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ปกติของ สุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองสุขภาพ ) 
จะรายงานถึงความสมบูรณ์ของร่างกายทั่วไป และ การไม่เป็นโรคบางชนิด ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ตามความต้องการของแต่ละ บริษัท / หน่วยงาน ที่ต้องการใช้
บางกรณีอาจให้แพทย์ออกความเห็นด้วย เช่น ให้ออกความเห็นว่าเหมาะสมกับงานที่ต้องทำหรือไม่ ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ถูกต้องมากที่สุด
อัปเดต ๑๒กพ.๒๕๖๑ "ใบรับรองแพทย์ 2 ท่อน..รพ.ใดยังไม่ใช้..เปลี่ยนด่วน"
แพทยสภาได้รับรอง "ใบรับรองแพทย์" ชนิดที่มี 2 ท่อน เพื่อแก้ปัญหาข้อกฎหมาย โดยให้คนไข้รับรองตนเอง ในโรคที่แพทย์ไม่มีทางทราบได้จากการตรวจปกติ ในท่อนแรก คู่ขนานกับ การที่แพทย์รับรองเฉพาะโรคที่ตรวจได้และระบุตามกฎหมาย ในท่อนที่ 2 เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่ตนเองไม่สามารถทราบได้จากการตรวจปกติ มานานแล้ว โดยเพิ่มที่เป็นตัวแดงคือ สัญญานชีพ เลขที่บัตรประชาชน (กันปลอมตัวมา) ประวัติต่างๆที่เราอาจพลาดถ้าไม่บอก และให้คนไข้รับรองประวัติเอง (ไม่ใช่แพทย์รับรอง เพราะไม่มีทางรู้) แพทย์รับรองเฉพาะที่ตรวจที่เห็นเท่านั้นครับ เพื่อเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ออกประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2551 (10ปีที่แล้ว) ตามมติการประชุมกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 8/2551 วันที่ 14 สิงหาคม 2551 โดยได้แจ้งให้มีการปรับใหม่ ลงจดหมายข่าวแพทยสภา และประกาศทาง website เพื่อให้ สถานพยาบาลทุกแห่งนำมาใช้ให้เข้าเกณฑ์ตามข้อกฎหมาย และ ให้ดาวน์โหลดได้ที่ website แพทยสภา เพื่อเป็นต้นแบบ ตามลิ้งนี้
https://www.tmc.or.th/file_download/doctor161209.pdf
ซึ่งสถานพยาบาลส่วนใหญ่ได้นำไปใช้แล้ว แต่ยังพบว่าบางสถานพยาบาลยังคงใช้แบบท่อนเดียว (ไม่มีผู้ป่วยรับรองตนเอง) ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการรับรองสุขภาพ จึงขอแจ้งมาอีกครั้งให้พิจารณาเปลี่ยนเป็นใบรับรองแพทย์ 2 ท่อน ที่แพทยสภารับรองแล้ว ให้สอดคล้องกฎหมายต่อไป **************************************ใบรับรองแพทย์ : ไทย-อังกฤษ มาตรฐาน ที่ได้รับการรับรองจากมติคณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 วันที่ 19 เมษายน 2561 สามารถดาวน์โหลดได้ที่แพทยสภา ไปใช้ได้ฟรี ที่ https://tmc.or.th/detail_news.php?news_id=1044&id=4 ตัวอย่างภาษาอังกฤษ

คัวอย่างภาษาไทย

ใบรับรองแพทย์ เพื่อทำใบขับขี่ (ใบอนุญาตขับรถ) เพิ่มข้อมูลส่วนที่ ๑ ข้อ๔ โรคลมชัก

***************************************
2. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ผิดปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย
จะรายงานถึงสภาพความเจ็บป่วยที่เป็น ระยะเวลาของการเจ็บป่วย ระยะเวลาในการรักษา วิธีรักษาพยาบาล และการพยากรณ์โรคหลังจากสิ้นสุดการรักษา ซึ่งจะมีผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นี้ไปใช้ต่อ เช่น
- ผู้ป่วยอาจนำใบรับรองแพทย์นี้เพื่อประกอบการลาพักงาน การลาออกจากงาน การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล หรือ เรียกร้องการชดใช้เนื่องจากการบาดเจ็บ หรือ สูญเสียอวัยวะต่าง ๆ
- เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน อาจนำไปใช้เพื่อประกอบในการพิจารณาคดี
********************************** 3. การรับรองการเกิดและการตาย
ตามกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 แพทย์ผู้ทำคลอดต้องทำใบรับรองการเกิด เพื่อให้บิดามารดาของทารกไปแจ้งให้พนักงานท้องถิ่นทราบ รวมถึงการรับรองการตายด้วย
สำหรับการตายผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และแพทย์ต้องทำรายงานความเห็นแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ด้วย
เมื่อบุคคลมีความจำเป็นจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แพทย์ก็ควรทำให้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นได้มาพบแพทย์ และได้รับการตรวจสุขภาพหรือดูแลรักษา ตามที่เป็นจริง
ส่วนว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จะนำไปใช้อย่างไร นำไปใช้ได้หรือไม่ ... ก็ขึ้นอยู่กับระเบียบ วิธีปฏิบัติของบริษัท หรือ หน่วยงานนั้น ๆ แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเท่านั้น … เป็นการแสดงความเห็นทางการแพทย์ แต่ไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย ที่จะไปบังคับให้ผู้เกี่ยวข้อง (ผู้ป่วย พนักงาน เจ้าของกิจการ บริษัทประกัน ฯลฯ ) ต้องทำตามความเห็นของแพทย์ ...
*************************************** แพทย์กับใบรับรองแพทย์
การออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง หรือ เป็นเท็จ แพทย์อาจได้รับโทษได้อย่างน้อย 2 สถานคือ
1. ความผิดทางกฎหมายอาญา มาตรา 269
ซึ่งระบุว่า ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือ วิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประกอบการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
2. ความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9
ซึ่งระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นความเท็จโดยตั้งใจหรือให้ความเห็นโดย ไม่สุจริตในเรื่องใดเกี่ยวกับวิชาชีพของตน ซึ่งอาจถูกลงโทษถึงขั้น พักใช้ หรือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ประชาชนกับใบรับรองแพทย์
สำหรับประชาชนที่ให้แพทย์ออกใบรับรองให้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง และ นำใบรับรองนั้นไปใช้ ก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 269 ด้วย (ผู้ใดทุจริต ใช้ หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำผิด ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
จะเห็นได้ว่าใบรับรองแพทย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของกฎหมาย และการที่ผู้ป่วยจะขอใบรับรองแพทย์ก็ต้องคำนึงถึงว่าจะนำใบรับรองแพทย์ไปใช้เพื่ออะไร .. แพทย์จะได้ออกใบรับรองให้ถูกต้องกับการนำไปใช้มากที่สุด
ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแพทย์และผู้ป่วยก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของความถูกต้องและเป็นจริง เพราะการออกใบรับรองแพทย์ที่เป็นเท็จก็มีความผิดทางกฎหมายทั้งแพทย์ และ ผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นั้นไปใช้
กฎหมายที่ควรทราบเพิ่มเติม
1.1 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
1.2 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 279 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูก-กระทำร้าย ได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบสองปี อันตรายสาหัสคือ
1.ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือ เสีย ญาณประสาท
2.เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
3.เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
4.หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
5.แท้งลูก
6.จิตพิการอย่างติดตัว
7.ทุพพลภาพ หรือป่วยเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
8.ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียะกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
ปล. ใบรับรองแพทย์ ไม่ใช่แค่เรื่องของ แพทย์ กับ ผู้ป่วย (ญาติ) แต่ ใบรับรองแพทย์ จะถูกตรวจสอบโดย "บุคคลที่ ๓" เสมอ .. ดังนั้น แพทย์ ก็ต้องระมัดระวังตนเอง อย่าทำเพราะเกรงใจ หรือ อามิสสินจ้าง เพราะ ถ้าเกิดปัญหาขึ้น อาจหมดอนาคต
หวังว่า ผู้ป่วย(ญาติ) จะเข้าใจและเห็นใจแพทย์ มากขึ้นนะครับ
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
ฮั้วคนไข้ โกงใบรับรองแพทย์ หักหลังวิชาชีพ ส่อเพิกถอนใบอนุญาต! โดย ไทยรัฐออนไลน์ 18 พ.ค. 2559 https://www.thairath.co.th/content/621766#
เคยไหม? ไม่ได้ป่วย แต่ไปให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ แล้วรู้ไหมว่า...แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์เท็จ ถือว่ามีความผิด!
การที่ไม่ป่วยและขอให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่นั้น แพทย์มีความผิดอย่างไร จะมีบทลงโทษในขั้นไหน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีผู้ที่จะมาให้คำตอบในประเด็นข้างต้น ซึ่งคงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม...
ทีมข่าวฯ ยิงคำถามแรกกับนายกแพทยสภาว่า การออกใบรับรองแพทย์ให้กับคนไข้ทั้งที่ไม่ได้มีอาการป่วย มีความผิดหรือไม่ ?
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า หากคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง และแพทย์ไปออกใบรับรองว่าป่วยนั้น ถือว่าเป็นความผิดที่แพทย์ไม่ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณ ตาม ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เจตนาทุจริตในการออกใบรับรองแพทย์ และ ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ให้ความเห็นโดยไม่สุจริตอันเกี่ยวกับวิชาชีพเวชกรรม
“เคยเกิดกรณีการที่แพทย์ไม่ได้ตรวจคนไข้ และเขียนใบรับรองแพทย์เซ็นชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อคนไข้มาเอาก็มาใส่ชื่อ อันนี้เป็นความผิด เพราะแพทย์ไม่ได้ตรวจคนไข้ อย่างนี้เรียกว่า เป็นการขายใบรับรองแพทย์ และแพทยสภาได้เคยดำเนินคดีไปแล้ว โดยการพักใช้ใบอนุญาต เพราะไม่ซื่อสัตย์ ผิดจรรยาบรรณ จากการออกใบรับรองแพทย์ให้โดยที่ไม่ได้ตรวจ” นายกแพทยสภา ยกตัวอย่าง
หากคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง และแพทย์ไปออกใบรับรองว่าป่วยนั้น ถือว่าเป็นความผิดที่แพทย์ไม่ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณ
แล้วถ้าหากว่า คนไข้เกิดเจ็บป่วยจริงๆ แต่แพทย์ให้หยุดพักเกินกว่าความเป็นจริง มีความผิดหรือไม่ ?
นพ.สมศักดิ์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า การที่แพทย์จะลงความเห็นว่า ให้คนไข้สมควรหยุดพักเพื่อรักษาอาการป่วยเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้น จะต้องตรวจสอบดูว่า มีเหตุผลเพียงพอสมควรที่จะให้หยุดพักนานแค่ไหน เช่น ตามความเป็นจริงต้องหยุดพัก 7 วัน แต่กลับให้คนไข้หยุดพัก 30 วัน เป็นต้น หากให้คนไข้หยุดพักเกินความเป็นจริง และมีผู้เสียหายจากการที่คนไข้หยุดพักนาน และมาฟ้องร้องกับแพทย์ผู้เขียนใบรับรองแพทย์ขึ้นมานั้น แพทยสภาจะต้องเรียกมาสอบสวนว่า เหตุผลอะไรที่แพทย์วินิจฉัยให้คนไข้หยุดพัก
ฉะนั้น จึงไม่สามารถตอบได้ว่า แพทย์ให้คนไข้หยุดพักเกินความเป็นจริงผิดหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบสวน โดยจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น ผลแล็บ ผลการตรวจ ประวัติการรักษา อาการของคนไข้ การให้ยา เป็นต้น จึงจะสามารถตอบได้ว่า คนไข้คนนั้น สมควรที่จะหยุดพักเป็นเวลาเท่าใด และแพทย์ลงความเห็นให้พักนานเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่
หากแพทย์ออกผลการรักษาอันเป็นเท็จ เพื่อเอื้อประโยชน์ในทางคดีความ มีความผิดหรือไม่ ?
นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า มีความผิดแน่นอน นอกจากจะมีความผิดทางจริยธรรมของแพทย์ โดยการทุจริตในวิชาชีพแล้วนั้น ยังมีความผิดในทางคดีอาญา เรื่องการออกเอกสารอันเป็นเท็จอีกด้วย
“แพทยสภาสามารถเรียกมาสอบสวนได้ว่าจริงหรือไม่จริง หากพบว่า ไม่จริงก็เป็นความผิด ถูกลงโทษแล้วแต่ความผิดว่าร้ายแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการสอบสวนและพิจารณา ซึ่งการที่แพทย์เขียนอะไรที่เป็นเรื่องเท็จ จะมีโทษหนักทั้งนั้น เพราะแพทยสภาไม่ต้องการให้หมอโกหก ไม่ซื่อสัตย์” นายกแพทยสภา ย้ำชัด
ด้าน นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ อธิบายถึงข้อกฎหมายในการออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ เพื่อเอื้อประโยชน์และหลีกเลี่ยงในการไปศาลว่า ผู้ที่นำใบรับรองแพทย์เท็จไปยื่นต่อศาล จงใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่มาศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 จะโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท
ขณะเดียวกัน แพทย์รู้อยู่แล้วว่าคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง แต่ออกเอกสารอันเป็นเท็จให้ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
แพทยสภา จ่อเข้าตรวจสอบทันที เมื่อมีผู้เสียหายร้องเรียน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีคดีของใบรับรองแพทย์ ซึ่งสงสัยว่าเป็นเท็จ หรือไม่สุจริตนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะร้องเข้ามายังแพทยสภาให้ไปตรวจสอบ จู่ๆ แพทยสภาจะเข้าไปตรวจสอบคนนั้นคนนี้คงไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องมีผู้ร้องเรียนหรือมีผู้เสียหาย จากนั้น แพทยสภาก็จะไปตรวจร่างกายคนไข้ว่า เป็นโรคอะไร แพทย์ได้มีการรักษาหรือให้ยาอะไรบ้าง มีผลตรวจหรือหลักฐานยืนยันอะไรบ้าง เมื่อตรวจสอบพบว่า ไม่สุจริตจริง จึงดำเนินคดีกับแพทย์ท่านนั้น
เมื่อถามถึงบทลงโทษทางจริยธรรมของแพทย์ที่กระทำความผิด นพ.สมศักดิ์ อธิบายถึงบทลงโทษว่า มีตั้งแต่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตแล้วแต่การสอบสวนว่าพักนานเท่าใด ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 2 ปี และสุดท้ายขั้นร้ายแรง คือ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งวิธีการพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของคดีนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีบันทึกเป็นประวัติติดตัวไปตลอดว่าแพทย์ท่านนี้เคยมีประวัติอะไรมาบ้าง จึงค่อนข้างเสี่ยงมากหากแพทย์คิดที่จะกระทำความผิด
ออกใบรับรองแพทย์ เลื่อนไปศาล อุทาหรณ์ของแพทย์ที่ไม่ควรเกิด
ทีมข่าวฯ ถามถึงเหตุการณ์ในอดีตที่แพทย์เคยออกผลการรักษาที่เป็นเท็จให้กับคนไข้ ว่าเคยมีบ้างหรือไม่ ?
นพ.สมศักดิ์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุการณ์ที่แพทย์ออกใบรับรองแพทย์เป็นเท็จให้กับคนรู้จักกัน ซึ่งเคยมีบุญคุณช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก่อน เพื่อที่จะขอเลื่อนการไปศาล แพทย์ท่านนั้น เกรงใจและคิดว่าเลื่อนไปไม่กี่วันคงไม่เป็นอะไร แต่ปรากฏว่า มีการฟ้องร้องขึ้นมาว่า แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ไม่เป็นความจริง ก่อนที่แพทย์ท่านนั้นจะได้รับโทษจากการกระทำความผิดทางจริยธรรม กลับตัดสินใจปลิดชีพตัวเองหนีความผิดทันที
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่ไม่กล้ากระทำความผิดแล้ว เพราะจะมีประวัติติดตัวไปตลอดชีวิตและต้องหยุดพักงานด้วย โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่ทำ เพราะหากตัดสินใจที่จะทำก็แสดงว่า แพทย์เชื่อว่ามีข้อมูลที่มาสนับสนุนให้สามารถทำได้จริงๆ เพราะการกระทำผิดย่อมมีความเสี่ยงต่อวิชาชีพอย่างแน่นอน
"การที่แพทย์จะออกใบรับรองแพทย์ว่า บุคคลผู้นั้นแข็งแรงดี หรือป่วยหนักมาก จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ หากแม้แต่จะคิดช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องจริง แม้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ ถือว่ามีความผิด เพราะคนที่ประกอบอาชีพหมอต้องมีความซื่อสัตย์!" นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา.
.................................

กระทู้ ในห้องสวนลุม พันทิบ หมอ(รพ รัฐ)มาตรวจที่บ้าน สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ไหมครับ? https://pantip.com/topic/35176405
๒๐พค.๒๕๕๙ ขอร่วมแสดงความเห็นเรื่องใบรับรองแพทย์ อย่างเดียว .. และ ความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ห้ามนำไปอ้างอิงกับศาล ^_^
๑. การออกใบรับรองแพทย์ เป็นสิ่งที่ "แพทย์" สามารถทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
๒. สถานที่ออกใบรับรองแพทย์ มีไว้เพื่อ "เพิ่ม" ความน่าเชื่อถือว่า มีหลักแหล่ง มีที่ทำการอยู่จริง ( ไม่มีสถานที่ฯ ก็ได้ แต่ถ้ามีระบุ ก็ต้องเป็นสถานที่จริง ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของใบรับรองแพทย์นั้นลดลง เพราะ เป็นข้อมูลเท็จ )
๓. การออกใบรับรองแพทย์ เป็น "ความเห็น" ของแพทย์ท่านนั้น ซึ่งต้องอ้างอิงตามหลักวิชาการ ( ซึ่งอาจไม่เหมือนกันกับแพทย์ท่านอื่น เพราะ)
๔. แพทย์ ผู้ออกใบรับรองแพทย์ (ซึ่งเป็นเอกสารทางกฏหมาย) และ ผู้นำใบรับรองแพทย์ไปใช้ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลที่จะตามมา
๕. ใบรับรองแพทย์ ก็เป็น "เอกสาร" อย่างหนึ่ง เหมือนกับ เช็คธนาคาร ธนบัตร ฯลฯ ซึ่ง "ตัวเอกสาร" จะต้องผูกติดกับ ความน่าเชื่อถืออื่นด้วยเสมอ ถ้าไม่มีความน่าเชื่อถือ ใบรับรองแพทย์ ก็เป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึก
๖. นายจ้าง หน่วยงานรัฐ ศาล ฯลฯ มีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อถือ ไม่ทำตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์นั้นก็ได้ ( แต่ นายจ้าง หน่วยงานรัฐ ศาลฯ ก็ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาเช่นกัน )
............................
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1111345248926280&set=a.115271105200371.14950.100001524474522&type=3&theater ยินดีกับ เลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของ น้องหมอใหม่ ปี 2559 ทุกคนที่น้องทุกคนได้รับในวันนี้
น้องสามารถรักษาคนไข้ ได้ตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม อ่ายภาคภูมิใจ ที่อุตสาหะ เรียนวิชาแพทย์ จนจบมาตลอด 6 ปี ตามมาตรฐานของแพทยสภา นอกจากรักษาแล้ว น้องใช้เขียนใบรับรองแพทย์ได้..ทั้งการรับรองการป่วย (ที่ต้องให้วันพักที่เหมาะสมตามโรคและตรวจสอบได้ ) ทั้งการรับรองสุขภาพแข็งแรง (ต้องเห็นคนไข้ เคยมีจนท.ขอให้เขียนรับรอง บอกแข็งแรงแต่คนไข้ถูกรถชนขาหักอยู่ อีกรพ. หมอโดนคดีใบรับรองเท็จแทน) ดังนั้นหากไม่เห็นคนไข้ ห้ามออกให้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จำแม่นๆนะครับ
การออกใบรับรองเท็จ น้องจะต้องโทษอะไรบ้าง
1. ผิดคดีอาญา ตามมาตรา 269 ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ..ติดคุกปุ๊ป แพทยสภายึดใบประกอบวิชาชีพฯ ตามทันที
2. ผิดข้อบังคับ จริยธรรม แพทยสภา 2549 หมวด 4 ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เจตนาทุจริตในการออกใบรับรองแพทย์ ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ให้ความเห็นโดยไม่สุจริตอันเกี่ยวกับวิชาชีพเวชกรรม
โดยโทษตามข้อบังคับกระบวนการพิจารณาคดี 2548 คือ ข้อ2.2 พฤติกรรมที่ปรากฏว่าผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมนั้น หมวดใดข้อใด พร้อมพิจารณาเหตุอันควรปรานีตามข้อ 52 วรรคสอง โดยอนุโลม และให้ลงโทษทางจริยธรรมอย่างใดอยางหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ภาคทัณฑ์ 3. พักใช้ใบอนุญาตมีกําหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน2ปี 4. เพิกถอนใบอนุญาต
3.โทษวินัย ราชการ ตำรวจ หรือ ทหารด้วย มีโอกาสจะถูกลงโทษ ตั้งแต่ตักเตือนจน สูงถึงถูกปลดออกหรือให้ออกได้
4.โทษทางสังคม ประวัติติดตัว มีคดีจริยธรรม จะเรียนต่อ จะทำอะไร ใครๆรู้ไปหมด ..เผลอๆทำให้หมดสิ้นอนาคตได้..
อย่าชะล่าใจ อย่าพลาด เตือนหมอใหม่ด้วยความหวังดีนะครับน้องๆ
**********************************
 ใบรับรองแพทย์ ถือเป็น เอกสารทางกฎหมาย .. ไม่ใช่แค่กระดาษเปื้อนหมึก .. ถ้าใช้ผิด ก็ติดคุกได้ ทั้งหมอ ทั้งผู้ป่วย ทั้งผู้นำไปใช้ .. เข้าใจตรงกันนะครับ ...^_^ ::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
 กรมการขนส่งทางบก ระบุ!!! ตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามรูปแบบที่แพทยสภากำหนด เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการ ด้านใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ครอบคลุมทั้งการขอใหม่ การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถและการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป นั้น กำหนดให้การขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นระเบียบเรียบร้อย กรมการขนส่งทางบกจึงออกระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถและบัตรประจำตัวคนขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2564 และระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการต่ออายุใบอนุญาตผู้ประจำรถ พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่ต้องการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ทุกชนิดทุกประเภท ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการทุกครั้ง ประกอบด้วย การขอใหม่ กรณีไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตผู้ประจำรถมาก่อน การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท โดยใบรับรองแพทย์นั้นต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของแพทยสภา มีสองส่วนคือ ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเองและส่วนของแพทย์ตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า การต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เดิมจะไม่มีการกำหนดให้ใช้เอกสารใบรับรองแพทย์ แต่ด้วยข้อเท็จจริงสมรรถภาพของร่างกายของผู้ขับรถมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้นและอาจมีโรคประจำตัว หรืออาจมีเหตุให้สมรรถภาพของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถขับรถได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้ขับรถเข้ารับการตรวจรับรองจากแพทย์ก่อนเบื้องต้น และจะมีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายที่จำเป็นต่อการขับรถเมื่อมาติดต่อที่สำนักงานขนส่งทุกแห่ง ประกอบด้วย การทดสอบการมองเห็นสี การทดสอบสายตาทางลึก การทดสอบสายตาทางกว้าง และการทดสอบปฏิกิริยา สำหรับใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรอง โดยผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตผู้ประจำรถ สามารถแจ้งวัตถุประสงค์ในการขอรับใบรับรองแพทย์ เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้และเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ส่วนในอนาคตจะมีการกำหนดสภาวะโรคที่ต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถเพิ่มเติมหรือไม่นั้น กรมการขนส่งทางบกจะประสานความร่วมมือกับแพทยสภาอย่างใกล้ชิดต่อไป https://www.dlt.go.th/th/public-news/view.php?_did=2816:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::: ข้อสังเกตคลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ๑.มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต ๑๑ หลัก ติดไว้หน้าคลินิก ๒.แสดงใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ๓.แสดงใบอนุญาต ให้ดำเนินการสถานพยาบาล ๔.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปี ของปีปัจจุบัน ๕.แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพ พร้อม ชื่อและเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ ๖.แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และ สามารถสอบถามอัตราค่ารักษาได้ ๗.แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สิทธิผู้ป่วย ในที่เปิดเผยและเห็นง่าย อ้างอิง: คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข โทร02 193 7000 ต่อ 18416 - 7 www.mrd.go.th FB@สารวัตรสถานพยาบาลOnline https://www.facebook.com/สารวัตรสถานพยาบาล-Online-1502055683387990/
......................................................................................
"ใบความเห็นแพทย์" . 1. #ใบความเห็นแพทย์ เป็นเอกสารการออกความเห็นของแพทย์ เกี่ยวกับโรค และการรักษาพยาบาล ตลอดจนผลของโรคและการหยุดงานเป็นต้น . 2. #ใบความเห็นแพทย์ มักสับสน กับ #ใบรับรองแพทย์ ซึ่งจะใช้รับรองสุขภาพโดยเฉพาะในการสมัครเรียนสมัครงาน และรับรองว่าสุขภาพปกติ ส่วนใบความเห็นใช้ในกรณีที่ป่วย . 3. การออกความเห็นของแพทย์นั้น สามารถให้ความเห็นในผู้ป่วยที่ดูแล หรือดูแลร่วมได้ โดยความเห็นต้องสอดคล้องกับหลักฐานและเวชระเบียนในการรักษาพยาบาล . โรงพยาบาลสามารถมอบหมายให้แพทย์ซึ่ง ไม่ได้ทำการรักษา สามารถออกใบความเห็นแพทย์ได้เช่นเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย เช่นกรณีแพทย์ผู้รักษา ไม่อยู่ ไปต่างประเทศหรือลาออกไปแล้ว หรือกรณีมีแพทย์รักษาหลายคนแต่มอบหมายให้ท่านใดท่านหนึ่งลงความเห็น รวมถึง ความเห็นทางนิติเวช ของผู้เสียชีวิต โดยต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามเวชระเบียน และสามารถตรวจสอบได้ กับหลักฐานของสถานพยาบาล . 4. ในกรณีแพทย์ออกความเห็น ด้วยตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อความเห็นดังกล่าว และต้องสามารถตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ทางวิชาการได้ . 5. ในการตรวจสอบความเห็นของใบความเห็นแพทย์ ต้องตรวจสอบ ตั้งแต่โรงพยาบาล ถูกต้องหรือไม่ เป็นแพทย์จริงหรือไม่ แพทย์เป็นผู้ลงความเห็น และลงนามเองหรือไม่ ข้อมูลความเห็นตรงกับสำเนาที่เก็บไว้ที่โรงพยาบาลหรือไม่ และตรงกับข้อมูลในเวชระเบียนหรือไม่ มีการถูกแก้ไขหรือไม่ ซึ่งจะตรวจสอบได้กับสถานพยาบาล ที่เป็นผู้ออกใบความเห็นแพทย์ . 6. หน่วยงานที่รับใบความเห็นแพทย์สามารถขอตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและสำเนาได้จากสถานพยาบาล ที่ออกเอกสาร . 7. ในกรณีที่สงสัยความสุจริตของใบรับรอง หรือ ใบความเห็นแพทย์ ผู้ได้รับผลกระทบ /ผู้เสียหาย สามารถกล่าวหา/กล่าวโทษแพทย์ ให้แพทยสภาตรวจสอบมาตรฐานการออกความเห็นทางจริยธรรมได้ ตามข้อบังคับจริยธรรมแพทยสภา . 8. การแก้ไขหรือปลอมแปลงใบความเห็นแพทย์ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย . จะเห็นได้ว่าใบความเห็นแพทย์นั้นมีขั้นตอนการดูแล รับผิดชอบ และแนวทางปฏิบัติชัดเจนครับ . หมออิทธพร 22/08/2565
Ittaporn Kanacharoen https://www.facebook.com/ittaporn/posts/pfbid05JSLkZ7C5ohVx2Vn3d3vV79eLXYp2pY2aX3YXUyX81dMhVNmVbYce36eqFe8PTUCl
::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::: คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=07-07-2017&group=15&gblog=80 ช่องทางร้องเรียนเกี่ยวกับ ...ยา ....หมอ ....คลินิก .....โรงพยาบาล ... https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2009&group=7&gblog=18 ไปคลินิกแล้ว จะดูอย่างไรว่า ผู้ที่ตรวจรักษา เป็น หมอจริง ? https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-07-2020&group=7&gblog=238 แขวนป้ายแขวน ใบว. ถ้ารู้แล้วยืนยันจะเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=12-11-2015&group=7&gblog=193 ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-07-2008&group=7&gblog=3 ข้อแนะนำเมื่อต้องรับการรักษา https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2007&group=4&gblog=2 คำถาม..ที่ควรรู้..คำตอบ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-01-2008&group=4&gblog=3 เคล็ดลับ20 ประการ ที่จะช่วยคุณ "ป้องกันความผิดพลาดทางการแพทย์ในการเข้ารับบริการสุขภาพ "... https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=10-2010&date=19&group=27&gblog=52 หมอคนไหนดี“ ??? .... คำถามสั้น ๆ ง่ายๆ แต่ ไม่รู้จะตอบอย่างไร .. https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=14-01-2012&group=15&gblog=42 ผลของการรักษาโรค https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=01-2008&date=05&group=27&gblog=22 ข้อเท็จจริงในการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยแพทย์ https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=06-2013&date=11&group=27&gblog=12 ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือกโดยอ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-09-2011&group=7&gblog=149 หน้าที่อันพึ่งปฏิบัติของผู้ป่วย(มิย.๖๓) สิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย(สค.๕๘) สิทธิผู้ป่วย(เมย.๔๑) https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=23-12-2007&group=4&gblog=1 ความรู้เกี่ยวกับใบรับรองแพทย์ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=06-01-2008&group=4&gblog=5
Create Date : 06 มกราคม 2551 |
Last Update : 22 สิงหาคม 2565 15:19:52 น. |
|
8 comments
|
Counter : 170367 Pageviews. |
|
 |
|