Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน



การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน

การฉีดยา ในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย มีผู้ป่วยหลายคนที่บอกกับแพทย์ว่าต้องการให้ฉีดยา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข หรือประชาชนทั่วไป ก็มักจะมองแต่ข้อดีของการฉีดยา จนบางครั้งละเลยเรื่องผลเสียที่อาจเกิดขึ้น เช่น

1.การแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ซึ่งอาการแพ้ยานี้อาจเป็นได้ตั้งแต่การแพ้ยาเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นผื่น หน้าบวม ปากบวม จนกระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง

2. การติดเชื้อ หรือการอักเสบบริเวณที่ฉีดยา

3. ราคาแพง

4. ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะ ( ยาฆ่าเชื้อ ) อาจทำให้เกิดการดื้อยา

5. การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย (ถ้าอุปกรณ์การฉีดยาและวิธีการฉีดยาที่ไม่สะอาดพอ)

6. การฉีดยาผิดตำแหน่ง ทำให้แทงถูกเส้นเลือดหรือเส้นประสาท



ทำไมผู้ป่วยจึงชอบฉีดยา?

ก็เป็นคำถามที่มีผู้ทำการศึกษาจากหลายแห่ง พบว่ามีคำตอบที่คล้าย ๆ กันว่า อาจจะเนื่องจากเชื่อว่ายาฉีดออกฤทธิ์แรงกว่า เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพดีกว่ายารับประทาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก เพราะในปัจจุบันยารับประทาน ก็มีการออกฤทธิ์ที่รวดเร็ว อาจช้ากว่าวิธีฉีดประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนประสิทธิภาพก็แทบจะไม่แตกต่างกัน

ยาฉีดควรจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้ ต้องได้ยาอย่างเร่งด่วนทันที หรือ ยาบางชนิดที่มีเฉพาะแบบฉีดเท่านั้น


บทความเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้เลิกฉีดยา หรือ ต่อต้านการฉีดยา เพียงแต่ต้องการให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปได้ทราบถึง อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยาเท่านั้น และ ถ้าไม่จำเป็นก็ควรฉีดยา จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลเสียที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แถมต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย …..
 
 
**************************************
 
 
#RDU20190111
#การฉีดยาเข้ากล้ามมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรงประชาชนจึงไม่ควรขอฉีดยาอย่างพร่ำเพรื่อ
📌 Nicolau syndrome เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดยาบางชนิดเข้ากล้าม มีรายงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1925
👉 ยาที่มีรายงานมีหลายชนิด เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด ยาปฏิชีวนะบางชนิด รวมทั้งวิตามินชนิดฉีดบางชนิด
👉 กลไกการเกิดเชื่อว่าเป็นผลจากการอักเสบของหลอดเลือดแดง หลอดเลือดแดงหดตัว เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเือด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดเช่นผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ขาดเลือดไปเลี้ยง จนในที่สุดเกิดเนื้อตายเป็นบริเวณกว้าง หนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการชา และกล้ามเนื้อของแขนหรือขาอ่อนแรงในด้านที่ฉีด กว่าจะรักษาแผลให้หายก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์ หากโชคร้ายติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาแทรกซ้อนก็อาจเสียชีวิตได้
✔️ แม้ผลข้างเคียงนี้จะมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันตรายร้ายแรง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรถือหลักปฏิบัติดังนี้
1. ประชาชนลด ละ เลิก พฤติกรรมการขอให้หมอฉีดยา
2. แพทย์ไม่ฉีดยาให้ผู้ป่วยตามคำขอ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
3. พยาบาลฉีดยาให้ถูกเทคนิค ได้แก่ฉีดยาในตำแหน่งที่มีเส้นเลือดน้อยได้แก่บริเวณ upper outer quadrant ของสะโพก ฉีดยาด้วยเข็มที่ยาวพอสำหรับคนไข้แต่ละคนเพื่อให้แน่ใจว่ายาถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ฉีดยาเกินกว่า 5 มล. ในคราวเดียว หากยามีปริมาณมากควรแบ่งฉีดคนละตำแหน่ง
4. ก่อนดันยาเข้าสู่ร่างกายคนไข้ ต้องดูดยากลับก่อนเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าปลายเข็มไม่ได้ปักอยู่ที่เส้นเลือด
5. หลังฉีดยาทุกครั้งให้ประชาชนสังเกตความผิดปกติ ถ้ามีอาการปวดรุนแรงผิดปกติ มีการนูนแดงในตำแหน่งที่ฉีด ให้รีบกลับไปพบแพทย์ ห้ามใช้น้ำแข็งประคบ
6. สถานพยาบาลควรรายงานผลข้างเคียงจากการฉีดยาไปยังศูนย์ ADR ของกระทรวงสาธารณสุขเสมอ

📖 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
Nicolau syndrome due to diclofenac sodium (Voltaren®) injection: a case report
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4295277/
Nicolau syndrome: A literature review
https://www.wjgnet.com/2218-6190/full/v4/i2/103.htm
Nicolau syndrome as an avoidable complication
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3326772/

CLINICAL PROCEDURES FOR SAFER PATIENT CARE
https://opentextbc.ca/clinicalskills/chapter/6-8-iv-push-medications-and-saline-lock-flush/?fbclid=IwAR1hjHg2x0qpQEzjIyIx3KpIO-cqmESk-9du_768EKmX7iQ50sFPSDNJkI0



 


Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 30 กันยายน 2565 15:54:26 น. 2 comments
Counter : 7762 Pageviews.  

 
ไปพบบทความของ อ.พินิจ . .ในเวบหมอชาวบ้าน ..

//www.doctor.or.th/node/5743
นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม :353
เดือน-ปี :09/2551
คอลัมน์ :คุยกับ หมอ 3 บาท
นักเขียนหมอชาวบ้าน :นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์


เรามักจะได้ยินคนพูดกันบ่อยๆ ว่า

"ถ้า จะให้หายป่วยเร็วๆ ต้องฉีดยา" หรือ "ยาฉีดแรงกว่ายากิน เลยได้ผลดีกว่า"

แม้แต่บทสนทนากับหมอ...

"หมอ ผมขอยาฉีดได้ไหม จะได้หายเร็วๆ" หรือ
"ถ้า ไม่ฉีดยาแล้วจะหายหรือคะ"

จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยบางคน ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และยังมีความเชื่อว่ายาฉีดนั้นต้องดีกว่าหรือแรงกว่ายากินซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะโลกปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ขนาดที่ว่ามีการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อรองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น นับประสาอะไรที่มนุษย์เราจะทำยาที่ใช้ง่ายและปลอดภัยต่อร่างกายตนเองไม่ได้

คนไทยเราบางกลุ่มอาจยังมีค่านิยมผิดๆ ในเรื่องยาฉีด โดยเฉพาะกลุ่มคนในชนบทที่ยังฝังใจว่ายาฉีด ดีกว่ายากิน ทำให้หายเร็ว ถ้าเปรียบเทียบกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะทางตะวันตก หากหมอจะฉีดยาให้ ก็มักจะซักถามละเอียดเลยว่า "เป็นยาอะไร ฉีดเพื่ออะไร ทำไมต้องฉีด ไม่ฉีดได้ไหม" ต่างจากคนไทย ซึ่งขี้เกรงใจหมอ พอบอกว่าจะฉีดยาก็เปิดก้นรอเลย

โดยทั่วไปแล้วตามหลักการใช้ยา แพทย์จะคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ไม่ได้มุ่งที่การออกฤทธิ์เร็วเพียงอย่างเดียว การใช้ยากินจึงค่อนข้างปลอดภัย ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้ยาฉีดในบางกรณีคือ
- โรคบางโรค ต้องใช้ยาที่มีสรรพคุณดีบางอย่างที่ไม่สามารถกินได้
- ป่วยหนักมาก (ฉุกเฉิน หรือวิกฤติ)
- กินยาไม่ได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว อาเจียนมาก กลืนลำบาก สำลัก
- ไม่มียากินที่มีสรรพคุณดีเท่ากันหรือดีกว่า

หรือ หากมีทางเลือกอื่นแทนก็จะพิจารณา เช่น การเหน็บยา สูด พ่น แปะผิวหนัง ซึ่งปลอดภัยกว่า เพราะการฉีดยาต้องอาศัยเทคนิคการฉีดที่ถูกต้อง ถูกตำแหน่ง ถ้าฉีดผิดอาจถูกเส้นประสาทได้

มีตัวอย่างผู้ป่วยที่เคยมาหาหมอ บางคนไปฉีดยาแก้ไข้หวัด แต่ปรากฏว่าเท้าขวากระดกไม่ขึ้น ชาใต้เข่าลงไปถึงหลังเท้า ทั้งๆที่ก่อนไปฉีดยาลดไข้ก็ปกติดี รายนี้เป็นตัวอย่างของการฉีดยาที่สะโพกผิดตำแหน่งทำให้ถูกเส้นประสาท หรือบางคนที่อ้วนมากฉีดแล้วแทงเข็มไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อและยาระคายเคือง มากก็อาจเกิดฝีได้ นอกจากนี้ถ้าเทคนิคการฉีดไม่สะอาดพอก็เกิดการอักเสบติดเชื้อได้

บาง รายเจอเหตุการณ์ที่ร้ายแรงจากการฉีดยาเพราะ "ฉีดยาผิดคน" "ฉีดยาผิดประเภท" หรือ "ฉีดยาผิดขนาด" อย่างนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แค่ป่วยก็นับว่าแย่อยู่แล้ว เจอฉีดยาผิดแบบนี้อันตรายมาก ถือว่าเป็นเรื่องผิดพลาดร้ายแรงในวงการแพทย์ เพราะบางครั้งอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต แต่มักพบนานๆ ครั้ง และจะเป็นข่าวดังโดยเฉพาะเมื่อมีการฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดจากความประมาท ความเร่งรีบ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการทำงาน ดังนั้นส่วนของผู้ป่วยเมื่อจะต้องถูกฉีดยาควรถามว่าเป็นยาอะไร เป็นยาที่จะใช้กับเราจริงหรือไม่ ให้เพื่ออะไร ใครเป็นคนสั่ง และต้องสังเกตอาการผิดปกติอะไรบ้าง

จะเห็นว่าการฉีดยานั้นมี ความเสี่ยงอยู่มาก ตัวยาฉีดเองก็อันตรายกว่ายากิน โดยเฉพาะยาฉีดเข้าเส้นเลือดซึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที หากพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาหรือได้ยาผิด ก็จะมีอาการรวดเร็ว และรุนแรงกว่ายากินมาก

คลินิกบางแห่งยังนิยมฉีดยาให้ผู้ป่วย อาจเพราะผู้ป่วยมักจะตื๊อขอยาฉีดเพราะคิดว่าต้องดีกว่ายากิน อย่างนี้หมอควรอธิบายให้เห็นถึงคุณและโทษของยาฉีดเทียบกับยากินด้วย หรือหมอบางคนอาจเห็นว่าการฉีดยาจะสามารถคิดเงินได้มากกว่า เพราะผู้ป่วยบางกลุ่มชอบฉีดยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ปวด แก้ท้องเสีย หรือแม้แต่ฉีดวิตามิน ซึ่งโดยมากต้นทุนยาแต่ละหลอดไม่ถึง 10 บาท บวกค่าเข็มก็ไม่เกิน 5 บาท แต่สามารถคิดค่าฉีดยาได้เป็นหลักร้อย

ดังนั้นการใช้ยาฉีด ควรพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้ และผู้ป่วยควรเตือนสติตัวเองว่า

"คนรุ่นใหม่ ไม่ฉีดยาถ้าไม่จำเป็น"

"ยาฉีดอันตรายกว่ายากิน"

และถ้าหมอ จะฉีดยา ให้ถามว่า "จะฉีดยาอะไร ทำไมต้องฉีด มียากินที่ดีเท่ากันหรือดีกว่าไหม และไม่ฉีดได้ไหม"



โดย: หมอหมู วันที่: 20 พฤษภาคม 2553 เวลา:15:33:55 น.  

 
ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB ) https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

ฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-02-2008&group=4&gblog=8



โดย: หมอหมู วันที่: 30 กันยายน 2565 เวลา:15:55:14 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]