Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ)
(ดัดแปลงจาก เอกสารของ สมาคมโรครูมาติซึม )

ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ มีบ่อยครั้งที่แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ส่งแล็ป) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแพทย์ยืนยันการวินิจฉัย ประเมินความรุนแรงของโรค วางแผนและติดตามการรักษา บทความชิ้นนี้จะให้ความรู้คร่าว ๆ ถึงความสำคัญของการตรวจทางห้องปฏิบัติการแต่ละอย่าง

ทำไมจึงต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ? เราจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อ

1. ยืนยันการวินิจฉัย เนื่องจากโรคกลุ่มข้ออักเสบประกอบด้วยโรคต่าง ๆ มากกว่า 100 ชนิด โรคข้ออักเสบบางอย่างมีอาการและอาการแสดงคล้ายกันมาก หรือ อาจมีอาการแสดงในระบบอื่น ๆ นอกจากข้อ ร่วมด้วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงช่วยแพทย์ในแง่ยืนยันการวินิจฉัยและให้ทราบถึงการมีอาการของโรคในอวัยวะอื่น ๆ

2. ติดตามผลการรักษาและติดตามอาการของโรค เนื่องจากโรคข้ออักเสบส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง และ มักจะมีอาการสงบหรือการกำเริบสลับกันไป การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะช่วยแพทย์ให้ทราบถึงความรุนแรงของโรค และการรักษาว่าได้ผลดีหรือไม่ เพื่อจะปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสม

3. ติดตามผลข้างเคียง ยาทุกชนิดมีผลข้างเคียงด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่า ยาจะมีความสามารถในการระงับ ข้ออักเสบได้ดีก็ตาม แต่ก็มีผลข้างเคียงต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบเลือด ตับ ไต เป็นต้น การตรวจทางห้อง-ปฏิบัติการจะทำให้แพทย์ทราบถึงภาวะข้างเคียงที่เกิดขึ้น และสามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมได้


การตรวจเลือด

1. การตรวจความเข้มข้นของเลือดและเม็ดเลือด ในขณะที่มีการอักเสบเรื้อรังของร่างกาย จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการซีดได้เล็กน้อย จำนวนเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อการอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ยารักษาโรคข้ออักเสบบางชนิดจะทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น เกล็ดเลือดในร่างกายจะช่วยให้เลือดในร่างกายแข็งตัว ยาหลายชนิดทำหน้าที่กดไขกระดูกทำให้เกล็ดเลือดต่ำได้

2. การตรวจอีเอสอาร์ (ESR) เป็นการวัดอัตราการตกของเม็ดเลือดแดง ค่าที่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงการอักเสบของร่างกาย ถ้ายิ่งมีค่าน้อย (เม็ดเลือดแดงตกเร็ว) แสดงว่ายิ่งอักเสบมาก

3. การตรวจหน้าที่ตับ เป็นการตรวจวัดหน้าที่การทำงานของตับ และบ่งบอกถึงปริมาณที่ตับถูกทำลาย เนื่องจาก ยาหลายชนิดมีพิษต่อตับ ในขณะเดียวกัน ถ้าตับทำหน้าที่บกพร่อง ก็อาจทำให้การทำลายยาของร่างกายไม่เป็นปกติ เกิดยาสะสมในร่างกาย และเกิดเป็นพิษจากยาได้

4. การตรวจหน้าที่ไต เป็นการตรวจการทำงานของไต ยารักษาโรคข้ออักเสบบางชนิดอาจมีพิษต่อไต เพราะ ไตเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ทำหน้าที่ขับยาออกจากร่างกาย ในกรณีที่ไตบกพร่องจะทำให้ยาคั่งและเป็นพิษต่อร่างกายได้

5. การตรวจเอ็นซัยม์กล้ามเนื้อ โรคข้ออักเสบบางชนิดจะมีการอักเสบของกล้ามเนื้อร่วมด้วย การตรวจเอ็นซัยม์กล้ามเนื้อจะเป็นการบ่งบอกถึงความรุนแรงที่กล้ามเนื้อถูกทำลายจากการอักเสบ และยังใช้ติดตามผลการรักษาได้ด้วย

6. การตรวจหากรดยูริก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์จะพบว่ามีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งกรดยูริกนี้จะตกตะกอนเป็นผลึกสะสมอยู่ตามข้อต่าง ๆ และก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น แต่ผู้ที่มีกรดยูริกสูงไม่จำเป็นเสมอไปที่จะเป็นโรคเก๊าท์ จะถือว่าเป็นโรคเก๊าท์ เมื่อมีระดับกรดยูริกสูงร่วมกับอาการและอาการแสดงของช้ออักเสบ

7. การตรวจหาสารรูมาตอยด์ เป็นการตรวจหาสารโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือด ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะตรวจพบได้ประมาณร้อยละ50-80 การตรวจพบสารโปรตีนชนิดนี้จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค แต่การตรวจพบสารโปรตีนชนิดนี้สามารถพบได้ในโรคข้ออักเสบอื่น ๆ หรือโรคติดเชื้อบางอย่าง โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็น โรครูมาตอยด์ก็ได้ และมีผู้ป่วยโรครูมาตอยด์บางส่วนที่อาจตรวจไม่พบสารรูมาตอยด์ก็ได้

8. การตรวจหาสารแอนตี้บอดี้ต่าง ๆ เป็นการตรวจหาสารโปรตีนในเลือดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย การตรวจพบสารนี้เป็นการบ่งบอกว่าร่างกายได้สร้างสารเคมีต่อต้านเนื้อเยื่อของร่างกายเอง สารนี้มีอยู่หลายชนิดและสามารถพบได้ในกลุ่มอาการโรคข้ออักเสบหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แพทย์จะใช้การตรวจสารเหล่านี้ในการยืนยันการวินิจฉัยและติดตามการรักษา


การตรวจปัสสาวะ

เนื่องจากโรคข้ออักเสบหลายชนิดอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการแสดงทางไตได้ การตรวจปัสสาวะจึงเป็นการดูว่าผู้ป่วยมีไตอักเสบร่วมด้วยหรือไม่ ยาที่ใช้ในการรักษาบางชนิดอาจมีผลต่อการทำงานของไต ในบางครั้งแพทย์อาจทำการเก็บตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยทั้งวัน เพื่อตรวจดูปริมาณสารต่าง ๆ ที่ไตขับออกมาตลอดทั้งวัน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความรุนแรงของโรคและตัดสินใจรักษาได้อย่างเหมาะสม


การตรวจ น้ำไขข้อ

การตรวจ น้ำไขข้อเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ โดยเฉพาะจะมีประโยชน์ในการช่วยแยกโรคข้ออักเสบว่าเป็นจากการติดเชื้อ หรือเป็นจากผลึกเกลือต่าง ๆ


การตรวจทางภาพรังสี

มีความสำคัญในการช่วยการประเมินสภาพของข้อว่าข้อได้ถูกทำลายไปในขบวนการอักเสบของข้อมากน้อยเพียงใด และอาจช่วยในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคบางอย่าง ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางภาพรังสีจะค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลานาน เป็นเหตุให้แพทย์ต้องตรวจภาพรังสีซ้ำเป็นระยะ ๆ


การตรวจชิ้นเนื้อ

ส่วนใหญ่แพทย์จะสามารถทำการตรวจวินิจฉัยโรคข้ออักเสบได้ไม่ยากนัก แต่ในบางกรณีที่การวินิจฉัยไม่แน่นอน แพทย์อาจต้องทำการตัดตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและช่วยในการรักษา

การตรวจชิ้นเนื้อ เช่น การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุข้อในกรณีข้ออักเสบ การตรวจกล้ามเนื้อในกรณีกล้ามเนื้ออักเสบ การตัดตรวจผิวหนังและเส้นประสาทในกรณีผิวหนังอักเสบหรือเส้นประสาทอักเสบ การตรวจชิ้นเนื้อกระดูกในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งกระดูก เป็นต้น




Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2551 11:33:54 น. 2 comments
Counter : 9741 Pageviews.  

 

//www.doctor.or.th/node/5884

นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม : 359
เดือน-ปี :03/2552
คอลัมน์ :คุยกับ หมอ 3 บาท
นักเขียนหมอชาวบ้าน :นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์

ผู้เขียนจำวลีที่ว่า "มัวเบ่งทางแล็บ บัดซบจริงกู" ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี ซึ่งสื่อมวลชน ยกย่องเป็นราษฎรอาวุโส นักวิชาการกล่าวถึงในนามปัญญาชนสยาม และบรรดาแพทย์ทั้งหลายยกย่องท่านเป็นหนึ่งในบรมครูแพทย์ ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดว่าปัจจุบันหมอจะให้ความสำคัญกับผลตรวจจากห้องปฏิบัติการหรือแล็บ (lab) หรือตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ มากกว่าการซักประวัติตรวจร่างกายเสียอีก

บรมครูแพทย์ที่ยังมีชีวิต อยู่ยังมีอีกหลายท่าน แต่ที่ผู้เขียนชื่นชมเป็นพิเศษคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา และศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่ง ท่านสุดท้ายนี้คงเป็นที่คุ้นเคย ในฐานะที่เป็นบิดาของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของแพทย์ที่ทำ งานโดยใช้ความรู้และทักษะในการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียดก่อนใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เอกซเรย์ และอื่นๆ เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัย

พูดกันเล่นๆ ว่านิยมไฮทัช - โลเทค (High touch - Low tech) ที่ต้องบอกว่าพูดเล่นๆ เพราะบางคนอาจเข้าใจว่า High touch แปลว่าลูบข้างบน และถ้าไปเจอกับ Low touch ก็จะยิ่งหวาดเสียวไปกันใหญ่ แต่ความหมายจริงๆ ที่ต้องการสื่อคือ ให้หมอใช้มือตรวจผู้ป่วยให้ มากกว่าการเน้นไปที่ผลตรวจจากเครื่องมือแพงๆ โดยละเลยความรู้และทักษะการตรวจร่างกายไป

สำหรับวลี "มัวเบ่งทางแล็บ บัดซบจริงกู" ของอาจารย์ประเวศ วะสี นั้น ท่านได้เตือนสติถึงพฤติกรรมของหมอที่ใช้ทักษะในการซักประวัติและตรวจร่างกายน้อยเกินไป แต่จะไปมุ่งที่ผลแล็บ หรือผลตรวจจากเครื่องมืออื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้สิ้นเปลืองและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ยิ่งปัจจุบันมีการตรวจแล็บมากมาย ถ้าใช้ถูกก็เป็นคุณ ใช้ผิดก็เกิดโทษ ใช้ฟุ่มเฟือยก็สิ้นเปลือง ใช้บ่อยเกินไปก็จะทำให้ใช้สมองน้อยลง และถ้าใช้แล้วมีความผิดพลาดก็จะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยมีสิทธิ์เลือกหรือไม่?

โดยจรรยาแพทย์และสิทธิของผู้ป่วย ย่อมต้องให้ ผู้ป่วยมีสิทธิ์เลือก แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก หมอมักจะอ้างว่าไม่มีเวลาอธิบาย หรืออธิบายยากเพราะเป็นวิชาการแพทย์ที่ซับซ้อน

มีความจำเป็น แค่ไหน?

เป็นคำถามที่บางครั้งก็ดูกวนใจหมอ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่พึงตระหนักเมื่อจะทำอะไรกับร่างกาย ลำพังตรวจแค่อุจจาระ-ปัสสาวะก็ไม่เท่าไหร่ ตรวจเลือดก็ต้องเจ็บตัว ตรวจเอกซเรย์ก็โดนกัมมันตภาพรังสี ส่องกล้องหรือสวนหลอดเลือดก็เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น ดังนั้นการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษควรทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น

ไม่ ตรวจได้ไหม?

อันนี้ยิ่งกวนใจหมอยิ่งกว่า เพราะเป็นการปฏิเสธสิ่งที่หมอต้องการจะทำ แต่ผู้ป่วยก็ควรที่จะพิทักษ์สิทธิของตน โดยขอหมอให้อธิบายและชี้แจงข้อดีข้อเสีย รวมทั้งความจำเป็นในการตรวจพิเศษต่าง ๆ (โดยเฉพาะที่ต้องใส่เครื่องมือเข้าสู่ร่างกาย) หมอที่ดีจะเต็มใจให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเลือก รวมถึงแนะนำหนทางที่ดีที่สุด โดยต้องเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดด้วย

อย่างไรก็ตาม หากโชคร้ายเจอหมอที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเอง อาจแสดงความไม่พอใจถ้าผู้ป่วยปฏิเสธ และข้อมูลที่สื่อออกมาอาจยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจมากขึ้น

แล้วจะทำอย่างไร?

ในเมื่อหมอได้ชี้แจง "ข้อเท็จจริง" หรือ "เหมือนจริง" ว่าจำเป็นต้องตรวจพิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ คงต้องพิจารณาดูให้รอบคอบ หากยังสงสัยหรือไม่สบายใจก็คงต้องขอโอกาสในการปรึกษาหมอท่านอื่น (second opinion) เพื่อนำมาช่วยในการตัดสินใจ

อย่าลืมว่าร่างกายเป็น ของเราและมีอยู่หนึ่งเดียว การที่จะทำอะไรกับร่างกายต้องรอบคอบ เพราะบางครั้งผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสียนะครับ



โดย: หมอหมู วันที่: 20 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:23:06 น.  

 


โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=05-01-2008&group=5&gblog=2

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ กายภาพบำบัด
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=20-01-2008&group=5&gblog=3

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อแนะนำเกี่ยวกับยา MTX (เมทโทรเทรกเสด หรือ ยาต้านมะเร็ง)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-02-2008&group=5&gblog=4

โรครูมาตอยด์ในเด็ก
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-02-2008&group=5&gblog=7

โรคเอสแอลอี หรือ โรคลูปัส
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-03-2008&group=5&gblog=9

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-02-2008&group=4&gblog=9

โรคข้ออักเสบ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-12-2007&group=5&gblog=1

เวบสมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย ( หมออายุรกรรมโรคข้อ )
//www.thairheumatology.org/index.php

เวบสมาคมรูมาติซั่ม รายชื่อแพทย์รูมาโต ( หมออายุรกรรมโรคข้อ )
//www.thairheumatology.org/list_bkk.php



โดย: หมอหมู วันที่: 21 มิถุนายน 2555 เวลา:23:57:37 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]