Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรคที่มากับน้ำท่วม ไฟฟ้าดูด โรคฉี่หนู ... (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)










 
ประเด็นถามตอบ โรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม
ให้สัมภาษณ์ในรายการ รหัสลับหน้าหนึ่ง ออกอากาศทางชอง นิวทีวี
โดย นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค
https://thaigcd.ddc.moph.go.th/2016/informations/view/442
16 กันยายน 2557

¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬
ประเด็นคำถาม    ประเด็นคำตอบ
สาเหตุปัจจัยโรคที่มากับน้ำท่วม    เนื่องจากขณะนี้ เป็นช่วงฤดูฝน จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด เกิดการระบาด แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อโรคและภัยสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก

 โรคที่เกิดตอนน้ำท่วม มีอะไรบ้าง มีกี่ชนิดหลักๆ    โรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม มีดังนี้ คือ โรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคผิวหนัง โรคตาแดง ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคไข้ฉี่หนู สัตว์ แมลงมีพิษกัด ต่อย ได้แก่ งู แมลง และสัตว์อื่นๆ ปลิง อุบัติเหตุ ได้แก่ จมน้ำ ไฟฟ้าดูด วัตถุแหลมคม

โรคติดเชื้อ

โรคผิวหนัง ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดไม่แห้งเป็นเวลานาน อาการในระยะแรก อาจมีอาการเท้าเปื่อยและเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนา และแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังอักเสบได้ การดูแลเบื้องต้น ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และเมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดแล้วเช็ดเท้าให้แห้ง สวมใส่ถุงเท้ารองเท้าและเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้นหากมีอาการเท้าเปื่อยคันให้ทายารักษาตามอาการ

โรคตาแดง ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสน้ำตา ขี้ตาของผู้ป่วยหรือจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย หรือจากแมลงวัน แมลงหวี่ ที่มาตอมตา อาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1 - 2 วันจะเริ่มระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบ แดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปตาอีกข้าง หายได้เองภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ดังนั้น หากมีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที เมื่อมีอาการของโรคควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตาหรือยาป้ายตา หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา ควรนอนแยกจากคนอื่นๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน และไม่ควรไปในที่มีคนมากเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย น้ำมูก และสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่าย อาการคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่บุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อาจมีอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อ และเมื่อไข้สูง เจ็บคอ ไอมาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบหรือปรึกษาแพทย์

โรคปอดบวม เกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสําลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทําให้มีการอักเสบของปอด ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหากมีการสําลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด นอกจากนี้ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย อาการคือ มีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย หรือซึม ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที  โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแตกและมีลมรั่วในช่องปอด หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในผู้ป่วยมีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจหัวใจวายได้ การป้องกัน ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

โรคอุจจาระร่วง เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืน ทำให้มีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือดหรือมูกปนเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย การดูแลตนเองเบื้องต้น ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่(โอ อาร์ เอส) บ่อยๆ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ ที่สูญเสียไปจากการขับถ่าย ไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้ง ก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร  หลังการขับถ่าย และหลังจับสิ่งของสกปรก เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นให้ร้อน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด

โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อนสารพิษหรือท็อกซิน (Toxin) ที่แบคทีเรียสร้างไว้ในอาหาร สารเคมีต่างๆ เช่น โลหะหนัก สารหรือวัตถุมีพิษ ซึ่งพบในพืชและสัตว์ เช่น เห็ด ปลา หอย และอาหารทะเลต่างๆ รวมทั้งกลุ่มเชื้อโรคที่มีการสร้างสารพิษในลำไส้ อาการอาการของโรคนี้มักพบหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2 - 4 ชั่วโมง ในกลุ่มที่มีอาการอาเจียนเป็นหลัก หรือภายใน 1 - 3 วัน ในกลุ่มที่มีอาการท้องเสียเป็นหลัก ทั้งนี้อาการประกอบด้วย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ ปวดมวนท้อง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด การป้องกันทำได้โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกในขณะที่ยังร้อน ปรุงสะอาด เก็บรักษาอาหารไว้ในที่เย็น เพื่อชะลอการเติบโตของเชื้อโรค หากเก็บอาหารนานเกิน 4 ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จ ต้องอุ่นให้ร้อนจัด เพื่อให้ความร้อนฆ่าเชื้อโรคก่อนรับประทานอาหาร

โรคไข้ฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยเชื้อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัข แล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู ได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ ผู้ที่เดินลุยน้ำท่วม คนงานบ่อปลา ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ เชื้อโรคฉี่หนูในสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยทางบาดแผลหรือเข้าทางเยื่อบุอ่อนๆ เช่น  ง่ามมือ ง่ามเท้า เยื่อบุตา ขณะที่แช่น้ำ รับประทานอาหารหรือ ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนู อาการ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ต่อมาอาจมีเยื่อบุตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลืองปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้ การดูแลตนเองเบื้องต้น หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆเมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ซับให้แห้งโดยเร็วที่สุดควรสวมรองเท้าหรือรองเท้าบู๊ทที่เหมาะสม ดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู
 
........................................

กระบวนการเตือนภัยโรคระบาดที่มากับน้ำมีขั้นตอนอย่างไร ประสานกับหน่วยงานอื่นอย่างไรบ้าง     
กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่มากับน้ำมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไรในการควบคุมโรค  

วิธีการป้องกันเบื้องต้น หากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมขัง    เมื่อมีน้ำท่วมขังประชาชนควรระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

สัตว์ แมลงมีพิษกัด ต่อย เช่น
งู พบได้กรณีน้ำท่วม ผู้ถูกงูกัดควรตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ ในกรณีที่ได้รับพิษงู ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้าม กรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล ประคบน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัด แต่จะมีผลเสีย เช่น เพิ่มการติดเชื้อ เนื้อตาย เคลื่อนไหวร่างกายบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดและใช้ผ้าพันยึด หรือผ้าสะอาดพันทับให้แน่นพอประมาณ นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด แจ้งให้แพทย์ทราบลักษณะงูที่กัด และกัดบริเวณใด ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เคยมีประวัติแพ้ยาหรือสารใดๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

แมลง สัตว์อื่นๆ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน กัดต่อย ให้ใช้หลอดเล็กๆ แข็งๆ หรือปลายด้ามปากกาลูกลื่นที่ถอดไส้ออกแล้ว ครอบจุดที่ถูกกัดต่อยและกดให้เหล็กในโผล่ขึ้นมา แล้วจึงใช้วิธีคีบดึงออก อย่าใช้วิธีบีบหรือเค้น เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัดต่อยบวมได้ ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลนตะขาบ แมงป่องกัด ให้ทาแผลด้วยแอมโมเนีย หรือครีมไตรแอมซิโนโลน ถ้ามีอาการปวดมาก มีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์

ปลิง เป็นสัตว์ที่กัดและดูดเลือดคนและสัตว์เป็นอาหาร โดยปล่อยสารที่กระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และสารต้านทานการแข็งตัวของเลือด ทำให้คนที่ถูกกัดเลือดไหลไม่หยุดและเสียเลือดเรื่อยๆ อาการ ที่พบจากการถูกปลิงกัด คือ มีเลือดไหลไม่หยุด ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำท่วมสูงระดับเอวขึ้นไป ควรแต่งตัวให้มิดชิด ใส่กางเกงชั้นในสวมกางเกงขายาวและสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและ หุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง แล้วรัดปากถุง  ให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ปลิงเข้าไปได้ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำนานๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่น้ำท่วมขัง ระมัดระวังบุตรหลานหรือเด็กเล็กที่เล่นน้ำในบริเวณน้ำท่วมขัง เพราะเสี่ยงต่อการที่ปลิงจะเกาะและชอนไชเข้าไปในทวาร รู ช่อง และโพรงต่างๆ ของร่างกายได้ กรณีถูกปลิงกัดหรือดูดเลือด

อุบัติเหตุ
    จมน้ำ ประชาชนที่ประกอบอาชีพทางน้ำ เช่น หาปลา ต้องเข้าพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ควรเดินทางเป็นกลุ่ม และต้องสวมเสื้อชูชีพ หรือเตรียมอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยในการลอยตัวในน้ำได้ เช่น ห่วงยาง เป็นต้น ไม่ควรลงเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำไหลหลาก หากจำเป็นต้องเดินผ่านทางน้ำไหล ให้ใช้ไม้ลองจุ่มน้ำเพื่อวัดระดับความลึกทุกครั้ง ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง หากพบคนจมน้ำ มีวิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องดังนี้ ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้ง 1669 หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตั้งสติอย่าวู่วามลงไปช่วยทันที ควรหาอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อโยนหรือยื่นให้คนจมน้ำลอยตัวได้ แล้วลากเข้าฝั่ง หากจำเป็นต้องลงน้ำไปช่วยเหลือ ต้องมั่นใจว่าว่ายน้ำเป็น และควรมีอุปกรณ์ช่วยเหลือติดตัวไปด้วยเพื่อยื่นให้จับแล้วลากเข้าฝั่ง เมื่อช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำได้แล้ว ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดดหรือวิ่งไปมา เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจอาจเสียชีวิตได้ วางคนจมน้ำให้นอนราบ ตะแคงหน้า เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ไฟฟ้าดูด
    ข้อแนะนำในการป้องกันตนเองจากการถูกไฟฟ้าดูด ดังนี้

    1. ก่อนน้ำท่วมเข้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน ให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือ  ที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน

    2. กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง ให้ปลดสวิตช์ (เบรกเกอร์เมน) ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง และปลดเบรกเกอร์ย่อยลงให้หมด

    3. กรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบน โดยให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าปลดสวิตช์ที่ชั้นล่างให้   เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าเพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง

    4. กรณีบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิตช์ไฟ ด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอาจอยู่
เหนือระดับน้ำ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ *** ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมห้ามใช้งานเด็ดขาด ***

    5. ขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก ห้ามแตะสวิทซ์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า      ที่กำลังเสียบปลั๊ก รวมทั้งการใช้เครื่องสูบน้ำชนิดที่แช่ในน้ำ หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจมีกระแสกระแสฟ้ารั่วขณะใช้งาน และถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตได้

    6. หากระดับน้ำที่ท่วมขังสูงเกินกว่าปลั๊กหรือเมนสวิทซ์อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น  ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดิน ไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ

    7. ระมัดระวัง และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าให้เล่นน้ำบริเวณใกล้เสาไฟฟ้า

การป้องกันเด็กจากการถูกไฟฟ้าดูด ดังนี้

     1. ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย โดยติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากระดับพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากติดตั้งปลั๊กไฟในระดับต่ำที่เด็กเอื้อมมือถึง ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้า หรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ

    2. ไม่วางสายไฟหรือรางปลั๊กไฟกีดขวางทางเดินหรือผนังในจุดที่เด็กสามารถหยิบจับได้ เพราะเด็กอาจนำสายไฟหรือรางปลั๊กไฟมาเล่นจนถูกไฟฟ้าดูดได้

    3. ติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อป้องกันการถูกไฟดูด นอกจากนี้ยังควรต้องศึกษาคู่มือการใช้ให้ดี จะช่วยให้ปลอดภัยทั้งจากไฟดูดและอัคคีภัย

    4. จัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม     หลังจากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ให้ถอดปลั๊ก     เครื่องไฟฟ้าและจัดเก็บให้พ้นมือเด็ก สำรวจอยู่เสมอว่าไม่ให้มีสายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าห้อยลงมาจากโต๊ะ พร้อมที่จะให้เด็กเล็กดึงสายไฟเล่นจนเกิดไฟช็อต หรือดึงสายไฟจนเครื่องใช้ไฟฟ้าตกลงมาใส่ตัว

    5. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกบ้าน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเปียกชื้น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีน้ำเกี่ยวข้องกับระบบการทำงาน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ ควรเช็ดให้แห้งก่อนใช้งาน
ควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังบริเวณที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้าและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เช่นอย่าแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ โดยเฉพาะในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก
หากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าแรงสูงขาดหรือหย่อนลงใกล้พื้น ไม่ควรเข้าใกล้เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และควรรีบแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบเพื่อแจ้งแก่การไฟฟ้าทราบและแก้ไขต่อไป อย่าเสียดายว่าวหรือลูกโป่งที่ติดตามสายไฟ เพราะสายไฟฟ้าแรงสูงนั้นแค่เพียงเข้าใกล้จนเกินไป ก็อาจถูกไฟช็อตอย่างรุนแรงได้

    การช่วยเหลือเบื้องต้นจากการถูกไฟฟ้าดูด ดังนี้ พบผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้าหรือตัวนำที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยางหรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนา แล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือใช้ผ้าคล้องหรือให้ผู้มีความรู้ด้านไฟฟ้าปลดสวิตช์ จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669 หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง ให้หลีกเลี่ยงและรีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือสายด่วน กฟภ. โทร 1129 โดยเร็วที่สุด อย่าลงไปในน้ำ กรณีมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง หาวัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้าเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้นหรือแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จึงค่อยช่วยผู้ประสบอันตราย

    เกิดบาดแผลจากวัตถุแหลมคม เช่น เศษแก้ว ไม้ ตะปู  ที่อาจติดเชื้อโรคแทรกซ้อนและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้การป้องกันอุบัติเหตุจากวัตถุแหลมคม ดังนี้ เก็บกวาดขยะ วัตถุที่แหลมคม ตะปู ในบริเวณพื้นบ้านและทางเดินอย่างสม่ำเสมอสวมใส่รองเท้าบู๊ทขณะเดินในน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคมหากเกิดบาดแผลควรล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดรอบๆแผลแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน แผลที่มีการฉีกขาดมาก หรือแผลลึกมากและมีเลือดไหล ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด



 
สิบห้าโรคที่มากับน้ำท่วม
https://visitdrsant.blogspot.com/2011/11/blog-post_12.html
12 พฤศจิกายน 2554

โรคที่มากับน้ำท่วมแบ่งใหญ่ๆก็มีอยู่ 5 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1. คือโรคที่มากับน้ำจริงๆ (water borne) ที่สำคัญมีอยู่ห้าโรค ได้แก่โรคฉี่หนู ไทฟอยด์ ตับอักเสบจากไวรัสเอ. บิดไม่มีตัว และอหิวาต์ ประเด็นสำคัญคือโรคที่มากับน้ำทั้งหมดนี้มีวิธีป้องกันเหมือนกันหมด ซึ่งมีหลักสำคัญ 5 ข้อ คือ
(1) การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของชุมชน เช่นการบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำขัง การกำจัดขยะ เป็นต้น
(2) การจัดหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม ดีที่สุดคือการนำน้ำดื่มบรรจุขวดจากนอกแหล่งน้ำท่วมเข้ามาดื่ม ดีรองลงมาคือการต้มน้ำก่อนดื่ม ดีรองลงมาคือการใส่คลอรีนในน้ำที่ทำให้ใสแล้ว
(3) การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยันล้างมือ การทานอาหารที่สุกแล้ว เป็นต้น
(4) การกำจัดสัตว์และแมลงพาหะโรค เช่นแมลงวัน แมลงสาบ เพื่อไม่ให้นำสิ่งปนเปื้อนสกปรกมาสู่อาหารหรือน้ำดื่มน้ำใช้
(5) การไม่สัมผัสกับน้ำหรือดินสกปรก ถ้าจำเป็นก็ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่นถุงมือยาง รองเท้าบู้ท กางเกงพลาสติกกันน้ำก็เข้าท่าดีนะครับ แต่ผมเจอคนที่ใส่บอกว่าใส่แล้วต้องระวังนั่งไม่ได้ ไม่งั้นมันฉีกแคว่ก

กลุ่มที่ 2. คือโรคที่มากับพาหะ (vector borne) ซึ่งพาหะเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะมีน้ำ เช่น ยุง และโรคเจ้าประจำที่ยุงนำมาที่เป็นโรคเอ้ก็มีอยู่สองโรคคือไข้เลือดออก และมาเลเรีย

กลุ่มที่ 3. คือพวกที่เป็นโรคจากการสัมผัสแตะต้อง ซึ่งบางครั้งเป็นกันมากทั้งบ้านทั้งเมืองแต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ที่เด่นๆก็มีอยู่สี่โรค คือ ราน้ำกัดเท้า ผิวหนังอักเสบ ตาแดง และโรคมือเท้าปาก (hand foot mouth)

กลุ่มที่ 4. โรคจากการบาดเจ็บ ที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือโรคแผลติดเชื้อแบบไฟลามทุ่ง และโรคร้ายที่ซุ่มเงียบพร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลาคือโรคบาดทะยัก

กลุ่มที่ 5. เป็นโรคทางใจ ซึ่งมีพบบ่อยที่สุดสองโรคคือโรคเครียด กับโรคซึมเศร้า

เบ็ดเสร็จโหลงโจ้งรวมแล้วก็มีด้วยกัน 15 โรค ซึ่งผมขอจาระไนเฉพาะประเด็นสำคัญของแต่ละโรคดังนี้


1. โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

สาเหตุ โรคนี้เกิดบักเตรีชื่อเล็พโตสไปรา มีรูปร่างขดเป็นเกลียว มาจากสัตว์เช่นหนู หรือวัวควาย หรือสุนัข หรือสุกร เป็นเชื้อโรคระดับหัวแข็งทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน

การติดต่อ โรคนี้ออกจากตัวสัตว์โดยมากับมูลหรือปัสสาวะของสัตว์ ปนเปื้อนบนพื้นดินและในน้ำ แล้วเข้ามาสู่คนทางผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผลบ้าง บางทีผิวหนังไม่มีแผลอะไรแต่ผิวหนังเปื่อยเพราะแช่น้ำนานๆ เชื้อโรคก็ผ่านเข้ามาได้ บางครั้งก็เข้ามาทางเยื่อเมือกเช่นเยื่อตา ปาก (น้ำและอาหาร) จมูก อวัยวะเพศ หรือบางครั้งไม่ได้ไปลุยน้ำเน่าน้ำครำที่ไหนกับเขาเลย บังเอิญเจอฝอยละอองของน้ำเข้าจังๆเช่นน้ำกระเด็นเป็นฟองใส่ ก็ติดโรคนี้ได้เหมือนกัน บางรายเป็นทารกยังไม่ทันคลอดออกมาเลยก็ติดโรคแล้วจากคุณแม่ที่เป็นโรคนี้อยู่

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเข้ามาอยู่ในร่างกายคนแล้วเชื้อจะฟักตัวนาน 2-30 วัน ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อเข้าไปในกระแสเลือด ไปซุ่มแบ่งตัวที่เซลตับ เมื่อสะสมกำลังพลได้ที่แล้วก็เฮโลกระจายไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการไข้สูง ไม่สบาย เรียกว่าเป็นโรคระยะเฉียบพลัน ซึ่งจะเป็นอยู่นาน 1-7 วัน แล้วก็จะเข้าระยะสงบ 1-3 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ฝ่ายร่างกายสะสมกำลังรบตั้งหน้าผลิตภูมิคุ้มกันอยู่ จากนั้นก็จะเข้าระยะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำสงครามสู้กับเชื้อโรค ซึ่ง 90% ของผู้ป่วยจะเป็นแบบเบาๆเรียกว่าแบบ “ไม่เหลือง (anicteric)” มีอาการแบบไข้หวัดใหญ่เป็นไข้ปวดเมื่อยตามตัวแล้วก็ค่อยๆซาไป ที่เหลืออีก 10% จะเป็นแบบหนัก เรียกว่าแบบ “เหลือง (icteric)” แบบนี้บางทีเรียกว่าโรคไวล์ตามชื่อคุณหมอไวล์ผู้ค้นพบ จะมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองจากตับอักเสบ อาจมีเลือดออกมาทางปัสสาวะจากไตอักเสบ หรืออาจมีผื่นแบบจุดเลือดออกตามผิวหนังและเพดานปากเนื่องจากหลอดเลือดที่ผิวหนังอักเสบ อาจมีตาแดง อาจปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่องจากการอักเสบที่กล้ามเนื้อ อาจมีอาการไอเป็นเลือดและหอบเหนื่อยจากปอดอักเสบ ตัวหลอดเลือดเองอาจรั่วทำให้สูญเสียของเหลวจากระบบไหลเวียนร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออก และเลือดไหลไม่หยุดจากมีสารช่วยการแข็งตัวของเลือดถูกใช้ไปมาก (DIC) อาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย เจาะเลือดไปตรวจหาภูมิคุ้มกันของโรคฉี่หนู

การรักษา รีบให้ทานยาฆ่าเชื้อภายในไม่เกินวันที่ 5 นับจากเริ่มมีอาการ ยาที่ให้ก็เช่น doxycyclin 100 มก.วันละสองครั้งนาน 7-10 วัน หรือ azithromycin 1 กรัมวันละครั้งนาน 3 วัน เป็นต้น ถ้าเป็นแบบหนักก็ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล โรคนี้จัดว่าเป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่ง คือมีอัตราตายได้ตั้งแต่ 5-40%

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


2. โรคไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อบักเตรีชื่อซาลโมเนลลา ไทฟี ซึ่งเป็นเชื้อที่มาจากคนเท่านั้น ไม่มีในสัตว์อื่นๆ

การติดต่อ เชื้อมาจากคนที่เป็นพาหะ โดยออกมาทางทางอุจจาระและปัสสาวะ แล้วปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่มที่สกปรก หรือติดไปกับมือแล้วเข้าสู่ปากของผู้รับเชื้อ เรียกว่าเป็นเส้นทางจากอุจจาระสู่ปาก (feco–oral route)

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเชื้อเข้ามาในตัวแล้วจะมีระยะฟักตัว 7-14 วัน แล้วจะเริ่มมีไข้แบบสูงขึ้นๆ หนาวสั่น ไม่สบาย ปวดท้อง กดท้องแล้วเจ็บ ท้องผูก ปวดหัว มึนงงสับสน บางครั้งบักเตรีไปตามกระแสเลือดไปเกิดเป็นกลุ่มของจุดสีแดงรูปกลีบกุหลาบเล็กๆอยู่ตามผิวหนัง ยิ่งป่วยนานไปหลายสัปดาห์อาการยิ่งทรุด มีอาการหลายระบบ ทั้ง ท้องเสีย ปอดบวม มีอาการได้ทั้งทางหัวใจ กล้ามเนื้อ ข้อ สมองและประสาท เป็นต้น หรือบางทีก็มีอาการแปลกๆอื่นๆที่คาดไม่ถึง

การวินิจฉัย เจาะเลือดไปตรวจหาภูมิคุ้มกันของโรค (Widal test) หรือนำเลือดไปเพาะหาเชื้อไทฟอยด์

การรักษา ให้ยาฆ่าเชื้อตามผลการตรวจความไวของเชื้อ กรณีที่ยังไม่ทราบผลการตรวจความไวของเชื้ออาจให้ยาฆ่าเชื้อแบบเหวี่ยงแหคลุมไปก่อน เช่นยากิน azithromycin หรือ cefixime หรือยาฉีด ceftriaxone เป็นต้น โรคไทฟอยด์ ถ้าได้รับการรักษาจะมีมีอัตราตายเพียง 0.2% แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราตายได้ถึง 9-13%

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


3. โรคตับอักเสบไวรัสเอ.

สาเหตุ เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ. ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นเตอโรไวรัส

การติดต่อ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เชื้อโรคนี้มากับอุจจาระของคนด้วยกัน แล้วอุจจาระนั้นปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำดื่มหรือมือที่จับสิ่งสกปรกแล้วไม่ได้ล้าง เช่นเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือทำกิจกรรมทางเพศ (ใช้มือสัมผัสอุจจาระ) แล้วมาเข้าปาก เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในดิน หรือในน้ำได้นานหลายเดือน เป็นเชื้อหัวแข็ง ทนแห้ง อยู่ได้แม้ในอุจจาระแห้งๆ แต่ไม่ทนความร้อน คือทนได้เพียง 56 องศาเซลเซียส ขณะที่ทนความเย็นได้ถึง -20 องศา

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเข้ามาสู่ร่างกายแล้ว มีระยะฟักตัว 2-6 สัปดาห์ โดยเชื้อจะเข้าไปในเซลตับแล้วก็จะอาศัยเซลตับปั๊มลูกหลานตัวเองออกมาขยายจำนวนไปโจมตีเซลตับอื่นๆอีกจนตับเสียหาย และเริ่มมีอาการนำให้เห็น คือมีอาการแบบไข้หวัดใหญ่คือไข้ๆต่ำๆ ไม่สบาย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน บางรายก็ปวดท้องเหมือนไส้ติ่ง จากนั้นก็เข้าระยะคัน (icteric phase) อันสืบเนื่องจากตับอักเสบ คือมีตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง คันตามผิวหนัง ท้องเสีย น้ำหนักลด อาจมีปวดข้อ และมีผื่นแบบหลอดเลือดฝอยอักเสบขึ้นตามผิวหนัง จากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นจนหาย แต่มีคนไข้ส่วนหนึ่งจำนวนไม่มากนักที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่นไตวาย ลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น ถ้าเป็นคนสูงอายุ ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 3-20%) จะกลับวนมาเข้าระยะเป็นซ้ำ (relapse phase) คือกลับมามีอาการแบบเดิมได้อีกรอบหนึ่งหรือหลายๆรอบกลายเป็นโรคแบบเรื้อรังไป

การวินิจฉัย เจาะเลือดตรวจดูภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอ. (anti HAV)

การรักษา โรคนี้ไม่มีวิธีรักษาด้วยการทำลายเชื้อโดยตรง ได้แต่ช่วยประคับประคองร่างกายให้อยู่ได้ เช่น ถ้าอาเจียนหรือท้องเสียจนสูญเสียน้ำมากก็อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ เป็นต้น แต่การให้นอนพักให้มากยังไม่มีหลักฐานว่าจะช่วยให้หายจากโรคนี้เร็วขึ้นจริงหรือไม่ โรคนี้จัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง มีอัตราตายในระดับต่ำกว่า 1-2% กล่าวคือถ้าเป็นในคนทั่วไปจะมีอัตราตายต่ำเพียง 4 ใน 1000 แต่ถ้าเป็นในผู้สูงอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปจะมีอัตราตายสูงขึ้นได้ถึง 17.5 ใน 1,000

การปัองกัน นอกจากใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว โรคนี้ยังมีประเด็นสำคัญในแง่ของการป้องกันอยู่สามประเด็น คือ
(1) ถ้ามีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคนี้ เช่นมีคนใกล้ชิดเป็น หรือต้องไปอยู่ในที่แออัดยัดเยียดเช่นศูนย์พักพิง ควรรีบฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะวัคซีนช่วยป้องกันโรคนี้ได้ค่อนข้างดีถึง 80-100%
(2) หากเป็นโรคนี้ในระยะสองสามสัปดาห์แรกจะแพร่โรคได้ง่ายมาก ควรหยุดงานหรือกักตัวเองสักพัก
(3) เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรงดยาแก้ปวดลดไข้พาราเซ็ตตามอลทันที เพราะยานี้มีพิษต่อเซลตับ ถ้าตับอักเสบด้วย กินยานี้เข้าไปด้วย โอกาสที่ตับจะมีปัญหาแบบถาวรจะมากเป็นทวีคูณ นอกจากยาพาราเซ็ตตามอลแล้วแอลกอฮอล์และยาหรือสารพิษต่อตับอื่นๆเช่นยาลดไขมันก็ต้องหลีกเลี่ยงด้วย


4. โรคอหิวาต์

สาเหตุ เชื้อบักเตรีชื่อวิบริโอ โคเลร่า มีอยู่สองสายพันธ์คือพวก O1 หรือ O139 ซึ่งระบาดรวดเร็วและรุนแรง กับพวกที่ไม่ใช่ O1 หรือ O139 ซึ่งมีอาการน้อยและไม่ถึงกับเป็นโรคระบาดรุนแรง เชื่อนี้ชอบอาศัยอยู่ในตัวคนที่เป็นพาหะ และอยู่ในน้ำเน่าเสีย

การติดต่อ โดยการกินเชื้อที่มักมากับน้ำหรืออาหารที่สกปรกเข้าไป มักเกิดในกรณีวิบัติภัยต่างๆที่น้ำดื่มสะอาดหายาก

การดำเนินของโรคและอาการ เชื้อนี้เมื่อกินเชื้อเข้าไปแล้ว มีระยะฟักตัวสั้นมาก ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงถึงห้าวัน แต่คนที่ได้รับเชื้อแล้ว 75% จะไม่ป่วย มีเพียง 25% ที่ป่วย คือเชื้อโรคจะไปแบ่งตัวในสำไส้จนเกิดอาการท้องร่วงถ่ายเหลวเป็นน้ำโกร๊กอย่างเฉียบพลัน ถ้ารักษาด้วยการให้น้ำทดแทนไม่ทันก็อาจถึงตายได้ ทั่วโลกมีคนตายเพราะโรคนี้เป็นแสนทุกปี ยิ่งสกปรก ยากจน ขาดอาหาร ร่างกายทรุดโทรม และลงมือรักษาช้า ยิ่งมีอัตราตายมาก กรณีที่ได้รับการรักษารวดเร็ว โรคนี้มีอัตราตายต่ำมากจนเกือบเป็นศูนย์ แต่ในอดีตซึ่งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา โรคนี้เป็นโรคที่มีอัตราตายได้สูงถึง 50-60%

การวินิจฉัย นำอุจจาระไปเพาะหาเชื้ออหิวาต์

การรักษา โรคนี้รักษาง่ายด้วยการดื่มน้ำเกลือโออาร์เอส.อย่างเดียวก็หายได้ 80% เฉพาะรายที่สูญเสียน้ำระดับรุนแรงเท่านั้นที่ต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อเช่น azithromycin หรือ ciprofloxacin

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น การให้วัคซีนชนิดกินป้องกันอหิวาต์มักสงวนไว้ใช้เฉพาะเมื่อมีการระบาดแล้วเพราะภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะคงอยู่ไม่นาน คือคงอยู่ประมาณ 4-6 เดือนเท่านั้น


5. โรคบิดชนิดไม่มีตัว (shigellosis)

สาเหตุ เชื้อบักเตรีชิเกลลา

การติดต่อ เชื้อโรคนี้มาสู่ตัวเราโดยการกินสิ่งปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะ การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้เพียงแต่กินเชื้อเข้าไปจำนวนไม่กี่ตัว การติดเชื้ออาจเกิดจากการไม่ได้ล้างมือ หรือเกิดจากสัตว์เช่น แมลงสาบ และแมลงวันเป็นตัวนำเชื้อมาสู่อาหารและน้ำดื่ม

การดำเนินของโรคและอาการ เชื้อนี้มีระยะฟักตัว 1-7 วัน โดยมันจะไปขยายจำนวนที่ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก แล้วทำให้มีอาการท้องเสียร่วมกับอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ตะคริว และปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ ในเด็กอาจพบอาการชัก อาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มูก หรือหนอง ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกของฝีเล็ก ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มุดผ่านเยื่อบุลำไส้ เข้าไปก่อฝีในชั้น lamina propria ของลำไส้ใหญ่ นอกจากนั้นเชื้อนี้ยังปล่อยสารพิษ enterotoxin ทำให้อุจจาระเหลวเป็นน้ำ ร่วมกับอาเจียน ส่วนใหญ่เป็นอยู่ 4-7 วันก็หาย แต่ถ้าเจอเชื้อสายพันธุ์ที่สร้างพิษมากเช่น Shigella dysenteriae ก็อาจมีอาการรุนแรงและมีอัตราตายได้ถึง 20% ยิ่งผู้ป่วยอายุน้อยเช่นเด็กเล็กก็ยิ่งเสียชีวิตง่าย

การวินิจฉัย ใช้วิธีนำอุจจาระหรือเอาสำลีพันปลายไม้ป้ายอุจจาระที่ทวารหนัก (rectal swab) ไปเพาะหาเชื้อ

การรักษา ส่วนสำคัญที่สุดของการรักษาคือการให้น้ำเกลือโออาร์เอส.ดื่มทดแทนการสูญเสียน้ำและสารเกลือแร่ การให้ยาปฏิชีวนะที่จำเพาะกับเชื้อที่เพาะได้ (เช่น Norfloxacin) ก็ช่วยลดเวลาการป่วยได้

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


6. โรคไข้เลือดออก

สาเหตุ เชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีสี่สายพันธ์

การติดต่อ เป็นโรคที่ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยมีพาหะคือยุงลายซึ่งเกิดจากลูกน้ำในน้ำใสที่ขังตามภาชนะรอบบ้าน เมื่อโตเป็นตัวยุงแล้วก็ชอบมาอาศัยอยู่ในบ้านคน

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเชื้อเข้ามาสู่ตัวคนแล้วจะมีระยะฟักตัว 3-14 วัน จากนั้นจึงเข้าระยะเป็นไข้สูงอยู่นาน 2-7 วันจากปฏิกริยาที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายพยายามกำจัดเชื้อ อาจชักเพราะไข้สูง อาจมีจุดเลือดออกตามตัว มีตับโตเนื่องจากเกิดการอักเสบที่ตับ แล้วเมื่อไข้เริ่มจะลงก็เข้าสู่ระยะช็อก จากการที่ผนังหลอดเลือดที่เกิดการอักเสบจนปล่อยให้สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด ทำให้เลือดข้นขึ้นแต่ปริมาตรเลือดลดลงจนไม่พอไหลเวียน ผู้ป่วยจะมีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ไม่ถ่ายปัสสาวะ ชีพจรเบาและเร็ว อาจมีเลือดออกง่าย ถ้าเป็นมากก็ช็อกจนเสียชีวิตได้ ระยะนี้จะนาน 1-2 วัน เมื่อผ่านไปได้ก็จะเข้าระยะพักฟื้น คือค่อยๆดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โรคนี้มีอัตราตายต่ำกว่า 1% แต่ถ้ามีอาการช็อกจะมีอัตราตายสูงถึง 12-44%

การวินิจฉัย เจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้เลือดออก หรือตรวจหาตัว (antigen) เชื้อไข้เลือดออก

การรักษา ไม่มีวิธีฆ่าเชื้อไวรัสเดงกีโดยตรง การรักษาจึงมุ่งไปที่การลดไข้ด้วยยาพาราเซตตามอล (ไม่ใช้แอสไพรินเพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น) การให้ดื่มน้ำเกลือโออาร์เอส.หรือน้ำผลไม้เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวที่ไหลเวียนในหลอดเลือด ถ้ามีอาการช็อก (ซึม ปัสสาวะน้อย กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น) ต้องรีบให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนทางหลอดเลือด

การป้องกัน ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยการกางมุ้งนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนอนหลับตอนกลางวัน เปลี่ยนหรือทำลายแหล่งน้ำทีเพาะพันธ์ยุงรอบๆบ้านเช่นน้ำท่วมขังตามเศษภาชนะ และในบ้านเช่นแจกัน จานรองขาตู้กับข้าว โดยทำลายทุก 7วัน (เพราะวงจรชีวิตของลูกน้ำยุงลายต้องอาศัยน้ำมากกว่า 7 วัน) หรือไม่ก็ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว


7. โรคมาลาเรีย

สาเหตุ เชื้อปาราสิตชนิดหนึ่งชื่อพลาสโมเดียม ซึ่งมีอยู่สี่ชนิด

การติดต่อ เชื้ออยู่ในยุงก้นปล่อง (เพราะเวลากัดคนมันจะกระดกก้นชี้ขึ้นเหมือนปล่องไฟ) ซึ่งเป็นยุงที่อยู่ตามป่า ชอบออกหากินพลบค่ำ กลางคืนไปจนถึงเช้ามืด เมื่อถูกยุงนี้กัด เชื้อมาลาเรียก็จะเข้ามาสู่กระแสเลือด

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อได้รับเชื้อจากยุงแล้ว มีระยะฟักตัว 7-14 วัน โดยเชื้อจะมุดเข้าไปเติบโตในเซลเม็ดเลือดหรือเซลตับ ถึงจุดหนึ่งก็ทำให้เซลเม็ดเลือดและเซลตับแตกเป็นจำนวนมากจนมีอาการหนาวสั่นแล้วเป็นไข้แล้วเหงื่อแตก โดยเป็นในช่วงเวลาแน่นอน เช่น วันละครั้งบ้าง วันเว้นวันบ้าง วันเว้นสองวันบ้าง ในรายที่รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่นโลหิตจาง ไตวาย มีอาการทางสมอง เป็นต้น

การวินิจฉัย เจาะเลือดไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดูตัวเชื้อมาลาเรียในเม็ดเลือด

การรักษา ใช้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย ซึ่งต้องเลือดชนิดยาให้จำเพาะกับชนิดของเชื้อ เช่นยา คลอโรควิน (ถ้าเชื้อยังไม่ดื้อ) ด๊อกซี่ไซคลิน อารติมิสินิน เป็นต้น มาลาเรียจัดเป็นโรคร้าย ในรายรุนแรงมีอัตราตายได้ถึง 20%

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรียอยู่ ซึ่งยังมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย รวมทั้งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพ เช่นบางตำบลของอำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี เป็นต้น ในกรณีที่อยู่อาศัยหรือจำเป็นต้องเข้าไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรีย ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดย
(1) ใช้ยาทาผิวหนังกันยุง ยาที่งานวิจัยพบว่าทากันยุงได้จริงนั้นคือยาที่มีส่วนผสมของสาร DEET (N, N dimethyl-m-toluamide) โดยเลือกยี่ห้อที่มีความเข้มข้นของ DEET สูง คือถ้าสูงถึง 35% จะกันยุงได้นาน 4-6 ชม. ถ้าเข้มข้นถึง 100% จะกันยุงได้นาน 10 ชม.
(2) สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
(3) นอนกางมุ้ง หรือในบ้านที่มีมุ้งลวด
(4) หลีกเลี่ยงการเดินทางช่วงที่ยุงก้นปล่องออกหากิน คือพลบค่ำ กลางคืน ไปจนถึงเช้ามืด


8. โรคราน้ำกัดเท้า

สาเหตุ เชื้อราในกลุ่ม Dermatophytes

การติดต่อ เชื้อราซึ่งมีอยู่ทั่วไปมาเกาะบริเวณผิวหนังของเท้าที่ชื้นแฉะและเปื่อยยุ่ย

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเท้าแช่น้ำหรือย่ำน้ำบ่อยๆนานๆ หนังกำพร้าของเท้าจะหยุดลอก เปื่อยยุ่ย กลายเป็นอาหารสำหรับเชื้อรา ทำให้เชื่อราที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในน้ำ ในดิน ในอากาศ มาเจริญเติบโตที่ผิวหนังของเท้า โดยเฉพาะที่ง่ามนิ้ว หลังเท้า และฝ่าเท้า ทำให้ผิวหนังกลายเป็นขุยขาวๆ ต่อมาก็เป็นร่องแตกเป็นแผล เจ็บ และมีกลิ่นเหม็น

การวินิจฉัย ขูดเอาผิวหนังที่เป็นขุยไปตรวจด้วยกล้องจะพบเชื้อรา

การรักษา ทายาฆ่าเชื้อรา เช่น miconazole ร่วมกับรักษาเท้าให้แห้งอยู่เสมอ

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการย่ำหรือแช่เท้าอยู่ในน้ำนานๆ ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นรองเท้าบู้ท และเมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบล้างเท้าและเช็ดให้แห้ง


9. โรคผิวหนังอักเสบ

สาเหตุ สิ่งระคายเคือง เช่นสารเคมีในน้ำ

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อผิวหนังของเท้า หรือของมือ ต้องสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่นสารเคมีที่อยู่ในน้ำเน่าเสีย จะเกิดการอักเสบของผิวหนัง มีตุ่มน้ำผสมกับปื้นแดงบนผิวหนัง มีอาการคัน เมื่อเกา ก็จะเกิดผิวหนังหนาตัวขึ้นจากการเกา

การรักษา ทาด้วยสะเตียรอยด์ครีม เช่นเบตาเมตาโซนครีม เป็นต้น

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกต้องน้ำเน่าหรือสารเคมี ถ้าจำเป็นต้องสัมผัส ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นถุงมือยาง รองเท้าบูท กางเกงพลาสติก เป็นต้น


10. โรคตาแดง (Conjunctivitis)

สาเหตุ เชื้อไวรัสชนิดอะดีโนไวรัส

การติดต่อ เชื้อจากผู้ป่วย จะผ่านมาทางการคลุกคลีใกล้ชิด ใช้ของร่วมกันเช่นเสื้อผ้า หรือมีสิ่งสกปรกเช่นฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หรือแมงหวี่ตอมตา หรือไม่ได้รักษาความสะอาดของมือทำให้มือนำเชื้อจากสิ่งสกปรกมาเข้าตา

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อรับเชื้อมาแล้วจะมีระยะฟักตัว 12 ชม.ถึง 3 วัน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มีขี้ตามาก มักเป็นนาน 5-14 วัน

การรักษา ไม่มียาที่จะฆ่าเชื้อไวรัสตาแดงได้โดยตรง การรักษาเป็นการบรรเทาอาการ เช่นลดการใช้สายตา หรือแม้กระทั่งปิดตาหากแสบตาหรือแพ้แสงมาก ถ้ามีขี้ตามากซึ่งบ่งบอกว่าอาจมีการติดเชื้อบักเตรีก็อาจใช้ยาหยอดหรือยาป้ายตาที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อบักเตรี

การป้องกัน
1. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากจับหยิบหรือแตะต้องสิ่งสกปรก
2. เข้มงวดเรื่องสุขศาสตร์ส่วนบุคคล ดูแลรักษาเสื้อผ้าและของใช้ให้สะอาด และแห้งอยู่เสมอ
3. หากมีฝุ่น หรือน้ำกระเด็นเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำก๊อกที่สะอาดมากๆทันที
4. เมื่อเป็นตาแดง ควรหยุดงานและหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น


11. โรคมือเท้าปาก

สาเหตุ เชื้อไวรัสในกลุ่มคอกแซกกี้ และเอ็นเตอโรไวรัส

การติดต่อ โรคนี้เป็นกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการกินเข้าปาก ซึ่งเชื้ออาจจะมากับมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ของคนเป็นโรค หรือมากับสิ่งสกปรกเช่นน้ำเน่า หรืออาจจะมากับฝอยละอองของการไอจามผ่านมาทางอากาศ

การดำเนินของโรคและอาการ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของคอหอยและลำไส้ มีระยะฟักตัว 3-5 วัน แล้วจะไปแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่ต่อมทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองที่ลำไส้ จนก่อให้เกิดอาการมีไข้ มีผื่น หรือตุ่มน้ำพอง รวมทั้งที่มือ เท้า และปาก แล้วเชื้อส่วนหนึ่งจะออกไปกับอุจจาระ ส่วนใหญ่โรคนี้จะหายเองภายใน 3-6 วัน แต่มีส่วนน้อย ไม่ถึง 1% ที่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรงเช่นปอดอักเสบ สมองอักเสบ เยื่อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิต

การวินิจฉัย นำอุจจาระ หรือน้ำจากตุ่มพุพอง หรือเมือกในคอ ไปเพาะดูเชื้อไวรัส

การรักษา ไม่มียารักษาโดยตรง รักษาแบบประคับประคองตามอาการที่มี

การป้องกัน
1. ดูแลเรื่องสุขศาสตร์ส่วนบุคคล เช่นการล้างมือบ่อยๆ การไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน รวมทั้งช้อนและซ่อมด้วย
2. หลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกเช่นขยะ น้ำเน่า
3. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่นำเด็กไปในที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก
4. กรณีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ ควรหยุดเรียนอยู่กับบ้านจนหาย


12. โรคแผลติดเชื้อแบบไฟลามทุ่ง

สาเหตุ เชื้อบักเตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบักเตรีในกลุ่มสะเตร็พโตคอคคัส

การดำเนินของโรคและอาการ มักจะเริ่มจากการมีแผลก่อน บางครั้งเป็นแผลเล็กๆเช่นแผลแมลงกัด บางครั้งแผลต้นกำเนิดเล็กหรือปิดไปแล้วจึงมองหาไม่เห็น บางครั้งเป็นแผลที่เกิดจากการเหยียบเศษแก้วหรือของมีคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินลุยน้ำเน่า เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายที่แผล แล้วลุกลามไปยังเซลรอบๆแผล ทำให้เห็นเป็นพื้นที่สีแดง บวม ร้อน รอบๆแผล พื้นที่นี้จะค่อยๆขยายวงกว้างออกไปแบบไฟลามทุ่ง อาจลุกลามไปติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจจบลงด้วยการเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย ใช้วิธีตรวจ (มอง) ดูลักษณะของการเกิดบริเวณปวดบวมแดงที่ขยายตัวออกไปจากแผล

การรักษา ให้ยาฆ่าเชื้อบักเตรีเช่นเพนนิซิลลิน หรือ roxithromycin หรือ pristinamycin

การป้องกัน
1. เมื่อมีบาดแผล ต้องล้างแผลด้วยน้ำก๊อกอย่างทั่วถึงและเขี่ยเอาสิ่งสกปรกออกจากแผลจนแผลสะอาดก่อนที่จะปิดแผล
2. ไม่เกาหรือแกะตุ่ม สิว หรือรอยแมลงกัด เพื่อป้องกันการเกิดแผล
3. เมื่อต้องเดินลุยในน้ำเน่าหรือน้ำครำ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นรองเท้าบู้ท การเกงพลาสติก เป็นต้น


13. โรคบาดทะยัก

สาเหตุ บักเตรีชื่อ โคลสติเดียม เตตานี ซึ่งมีอยู่ในดิน หรือในมูลสัตว์

การติดต่อ เมื่อเกิดบาดแผลสกปรก เช่นแผลของมีคมบาดขณะลุยน้ำท่วม ตะปูตำ แผลสัตว์กัด งูกัด แมลงกัด เชื้อบาดทะยักจะเข้าสู่ร่างกายทางแผล

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัว 2 วันถึง 2 เดือน ในระหว่างนี้มันจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและในที่สุดมันจะผลิตพิษชื่อเตตาโนสปาสมิน ทำให้เกิดอาการเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจนหายใจไม่ได้และเสียชีวิต โรคนี้จัดเป็นโรคร้ายแรง มีอัตราตาย 48-73%

การวินิจฉัย ตรวจหาพิษ (toxin) ของเชื้อบาดทะยักในกระแสเลือด หรือเพาะเชื้อบาดทะยักจากแผล

การรักษา ล้างและตัดแต่งทำความสะอาดแผลให้พอเพียง ให้ยาฆ่าเชื้อบาดทะยักเช่นยา metronidazole ฉีดเข้าเส้น ร่วมกับให้ซีรั่มแก้พิษบาดทะยัก ให้ยาลดการชักเกร็งกล้ามเนื้อ และช่วยการหายใจให้ร่างกายได้ออกซิเจนพอเพียง

การป้องกัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะได้วัคซีนครบอย่างน้อยสามเข็มมาแล้วตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน แต่มักขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น ซึ่งปกติต้องฉีดกระตุ้นอีกหนึ่งเข็มทุกๆสิบปี ดังนั้น กรณีที่มีบาดแผล และในสิบปีที่ผ่านมายังไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้น ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นหนึ่งเข็มทันที


14. โรคเครียด

สาเหตุ มีสิ่งเร้าภายนอกเกิดขึ้น แล้วบุคคลสนองตอบต่อสิ่งเร้านั้นในลักษณะที่เกิดความเครียดต่อร่างกายและจิตใจตนเอง

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเกิดความเครียด จะมีผลกระทบสี่ด้านคือ
(1) ด้านร่างกาย จะมีอาการของความเครียดเช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือท้องเดิน หรือท้องผูก ใจสั่น นอนไม่หลับ อ่อนเปลี้ย
(2) ด้านจิตใจ จะเกิดความวิตกกังวล รู้สึกไม่มั่นคง ขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้รำคาญ โกรธง่าย ขาดสมาธิที่จะจดจ่อทำอะไร ให้เป็นชิ้นเป็นอัน หมดพลัง อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากยุ่งกับใคร
(3) ด้านพฤติกรรม กินมาก หรือกินไม่ได้ หรือระเบิดอารมณ์ง่ายๆ ติดบุหรี่ ติดแอลกอฮอล์ ติดยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือชอบร้องไห้บ่อยๆ หรือเข้ากับคนอื่นยาก
(4) ด้านทัศนคติ มีความรู้สึกว่ากุมสภาพหรือควบคุมเรื่องสำคัญไม่ได้ มีความรู้สึกว่ามีเรื่องยากๆกองรออยู่ท่วมไปหมดจนยากที่จะทำได้หมด รู้สึกเศร้าใจที่จัดการเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวไม่ได้อย่างใจต้องการ

การวินิจฉัย ใช้แบบประเมินความเครียด ซึ่งเป็นการให้คะแนนใน 20 ประเด็น คือการนอนไม่หลับ ความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ การทำอะไรไม่ได้ ความรู้สึกวุ่นวายใจ การไม่อยากพบปะผู้คน อาการปวดหัวข้างเดียว ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกหมดหวัง ความรู้สึกไร้ค่า ความกระวนกระวาย การไม่มีสมาธิ อาการเพลีย ความเบื่อหน่าย อาการใจสั่น เสียงสั่น ปากสั่น ความกลัวผิดพลาด อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ อาการตื่นเต้นง่าย อาการมึนงง และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การรักษา เริ่มต้นด้วยการจัดการความเครียดด้วยตนเอง ด้วยการ
(1) ค้นหาว่าต้นเหตุของความเครียดคืออะไร แล้วหลีกเลี่ยงได้ถ้าหลีกเลี่ยง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ปรับเปลี่ยนต้นเหตุ ถ้าปรับเปลี่ยนไม่ได้ (เช่นน้ำท่วมเกิดขึ้นแล้ว) ก็ปรับใจยอมรับมัน
(2) เพิ่มศักยภาพของตนเองในการเผชิญความเครียด โดยการ
(2.1) ฝึกให้ร่างกายตอบสนองแบบผ่อนคลาย (relaxation response) อย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ ฝึกหายใจลึก รำมวยจีน ฝึกโยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
(2.2) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ ข้อหนึ่ง ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารต่อต้านความเครียดโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด ข้อสอง รับประทานอาหารให้ถูกต้อง ข้อสาม นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ในการทำงานก็เบรกสั้นๆเพื่อผ่อนคลาย ข้อสี่ ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยา กาแฟ หรือแม้กระทั่งน้ำตาล
(2.3) การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพดี และต้านความเครียดได้ชะงัด ถ้าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะหัวเราะเองได้ ก็ควรพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง
(2.4) เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก สื่อสัมพันธ์คบหากับคนที่คิดบวก ถอนตัวเองออกจากปลักของการชิงดีชิงเด่นเอาชนะคะคานหรือเสริมอัตตาของตัวเอง หันมาสนใจการทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น
(2.5) หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ไปอยู่กับธรรมชาติ จุดเทียนหอม เขียนบันทึก นอนแช่น้ำนานๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสวน ดมดอกไม้ อ่านหนังสือดีๆ ไปใช้บริการนวดคลายเครียด ฟังดนตรี ดูหนังตลก เล่นเปียโน เขียนภาพ ถีบจักรยาน ดูดาว เป็นต้น
หากการจัดการความเครียดด้วยตนเองไม่สำเร็จ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา


15. โรคซึมเศร้า

สาเหตุ เกิดขึ้นจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้หรือหลายอย่างพร้อมกัน เช่น เหตุการณ์เครียดครั้งใหญ่ในชีวิต ปัญหาชีวิตสมรส ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ความเหงา และพันธุกรรม

การดำเนินของโรคและอาการ ผู้ป่วยโรคนี้จะอาการต่อไปนี้อย่างน้อยห้าอย่าง คือ (1) มีอารมณ์ซึมเศร้า (2) ไม่สนใจเรื่องใดๆ หรือสิ่งบันเทิงใดๆ (3) น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่มผิดตา (4) นอนไม่หลับ หรือเอาแต่นอนหลับทั้งวัน (5) การเคลื่อนไหวลนลาน หรือเชื่องช้าผิดจากเดิม (6) เปลี้ยล้าหรือหมดพลัง (7) รู้สึกตัวเองไร้ค่า (8) ตั้งสติไม่ได้ คิดอะไรไม่ตก ตัดสินใจอะไรไม่ได้ (9) คิดวนเวียนเรื่องความตาย อยากตาย การฆ่าตัวตาย

การรักษา ควรเริ่มรักษาตัวเองด้วยวิธีเดียวกับการรักษาโรคเครียด ถ้าไม่สำเร็จ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งมักจะมีการใช้ยาต้านซึมเศร้าด้วย ยาในกลุ่มนี้ต้องใช้นาน 3 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเริ่มเห็นผล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์



หัวข้อ : ช่วงนี้น้ำท่วม....โรคที่มากับน้ำท่วม โรคไหนที่รุนแรง อันตราย และมีวิธีป้องกัน หรือรักษาอย่างไร
ที่บ้านโดนน้ำท่วมแล้วค่ะ และกลัวโรคที่มาจากน้ำท่วม อยากทราบวิธีป้องกัน และ ถ้าเกิดโรคแล้วต้องรักษาอย่างไร ที่ไหน...
ผู้ตั้ง : รักษ์ ปราจีน    อีเมล์ : ruk@gmail.com    2013-10-09 15:03:24
https://www.riskcomthai.org/th/call-center-detail.php?id=20210

      จากสภาวะน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้น มักมีปัญหาสุขภาพอนามัยหลายด้าน เพราะกระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก/เชื้อโรคให้แพร่กระจาย ทำให้แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู โรคผิวหนัง โรคตาแดง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ระมัดระวังสัตว์มีพิษและของมีคม รวมถึงการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟดูดไฟช็อตอีกด้วย ทั้งนี้สภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก จึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วม เป็นต้น

สำหรับการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมที่สำคัญ สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
1. โรคผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า  โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง
    - ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ
    - ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งหลังลุยน้ำ โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า
    - สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น ควรทำความสะอาด ตากแดดให้แห้ง และไม่ควรใส่ซ้ำ
2. โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ
                - ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่บ่อยๆ
                - ให้ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นให้ร้อน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด รวมถึงภาชนะที่ใช้ ควรทำความสะอาดและเก็บไว้ในที่แมลง/สัตว์นำโรคเข้าไม่ถึง
                - อาหารกล่องที่ได้รับแจก ควรรับประทานทันทีอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้อาหารบูด เน่าได้ หากมีเหลือควรทิ้งใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง
                - อาหารกระป๋อง / บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป / อาหารแห้ง ให้ตรวจสภาพและวันหมดอายุก่อน หากมีลักษณะผิดปกติหรือหมดอายุให้ทิ้ง
    - กำจัดสิ่งปฏิกูล/ขยะมูลฝอย โดยตรวจสอบถุงขยะก่อนนำมาใช้ว่าไม่มีรอยชำรุดฉีกขาด และมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด
    - เมื่อมีอาการท้องเสีย ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

3. โรคฉี่หนู
                - หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ หากจำเป็น ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ให้เรียบร้อย เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ซับให้แห้งโดยเร็วที่สุด
                - กินอาหารที่สะอาด และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด
                - ดูแลที่พักให้สะอาด และเก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
    - หากมีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

4. ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม
                - รักษาร่างกายให้อบอุ่น และไม่สวมเสื้อผ้าเปียกชื้น
                - ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
                - หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้หวัด และควรสวมหน้ากากอนามัยเวลาไอจาม
                - เมื่อเริ่มมีอาการไข้ ควรนอนพักมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ  ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว ถ้าอาการไม่ดีขึ้น คือ มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก นานเกิน 2 วัน ให้ไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้เคียงโดยเร็ว

5. โรคไข้เลือดออก
    - นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด และควรตรวจสอบว่ามุ้งลวดคงอยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุดฉีกขาด
    - หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่เป็นมุมมืด และอับลม
    - ให้สวมเสื้อผ้าหลวมๆ แขนยาว ขายาว และควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม   
    - ทายากันยุงในกรณีที่มีความจำเป็น อ่านวิธีใช้และคำเตือนบนฉลาก และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด   

6. โรคตาแดง
    - ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา หรือสัมผัสตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
    - อย่าปล่อยให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา และไม่ควรขยี้ตา
    - หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ และดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ
                - ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
    - ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ และควรหยุดโรงเรียนหรือหยุดงานจนกว่าจะหาย

7. การเสียชีวิตจากการจมน้ำ
                - ห้ามดื่มสุรา รวมถึงงดออกหาปลา/เก็บผัก และเล่นน้ำในบริเวณน้ำลึกและเชี่ยว
                - ให้สวมเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ และให้เดินทางเป็นกลุ่ม

8. ไฟดูดไฟช็อต
    - ให้ตัดวงจรไฟฟ้าในชั้นที่น้ำท่วมไม่ถึง
    - ยกเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง
    - ย้ายปลั๊กไฟให้พ้นน้ำ
    - หากยืนในน้ำ ต้องไม่จับเครื่องใช้ไฟฟ้าและให้อยู่ห่างเสาไฟ

 9. สัตว์มีพิษและของมีคม
    - เก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษและอุบัติเหตุจากของมีคม
    - หากน้ำยังท่วมไม่ถึงบ้าน ให้โรยปูนขาวล้อมรอบบ้าน จะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษมิให้เข้ามาในบริเวณบ้านได้ กรณีน้ำท่วมเข้าบ้านแล้ว ให้ใช้น้ำมันก๊าดราดบริเวณรอบที่พักอาศัย จะทำให้สัตว์ไม่เข้ามาอาศัยอยู่ พร้อมเตรียมยาฆ่าแมลงไว้ฉีดพ่นไล่สัตว์มีพิษ
    - กรณีเดินลุยน้ำ ให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มิดชิด และสวมรองเท้าบูท ควรใช้ไม้เขี่ยหรือกระทุ้งน้ำให้น้ำกระจาย จะทำให้สัตว์ตกใจและหนีไป

10. วัคซีนในเด็ก
    หากมีเด็กเล็กที่ต้องได้รับวัคซีน ควรรีบพาเด็กไปรับวัคซีนตามนัด หรือหากเลยเวลานัดไปแล้ว ควรให้เด็กมารับวัคซีนให้เร็วที่สุด


ที่มาข้อมูล : สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค


 

ในฤดูฝน ฝนตกหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง รู้หรือไม่ว่าคุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคฉี่หนูได้

          โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรคหลัก รวมทั้งสัตว์อื่นๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุนัข สุกร อีกด้วย  มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยอาจเกิดจากการสัมผัสเลือด หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของสัตว์ที่มีการติดเชื้อ ซึ่งการกัดก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน

          ผู้ที่เป็นโรคฉี่หนู มักจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร กดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

          โดยทั่วไปแล้วจะรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ ให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol)
โรคนี้สามารถหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรง อาจทำให้อาการแย่ลง และทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด
ควรรู้จักวิธีป้องกันตัวเองโดย

          - หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ

          - หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร

          - หากไปสัมผัสกับแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ ให้รีบทำความสะอาดร่างกาย

          - กินอาหารสุกใหม่

          - กำจัดขยะให้ถูกต้องไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้

          จะเห็นได้ว่าโรคฉี่หนูนั้นอันตราย หากมีอาการดังกล่าวข้างตน ให้รีบไปพบแพทย์  หากไม่รีบรักษาอาจทำให้อาการแย่ลง จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1817?fbclid=IwAR37AsEU-FzQyFuOMyIwLpQXACx2ubiXX1EQ5lb9Tu4DrbSKXipJFy8lkk8




Create Date : 08 กรกฎาคม 2559
Last Update : 11 กันยายน 2563 16:07:36 น. 2 comments
Counter : 6311 Pageviews.  

 
สวัสดีค่ะคุณหมอหมู...

ข้อมูลเพียบจริงๆ..วันหลังจะขอยืมไปอ้างอิงนะคะ..

ขอบพระคุณค่ะ



โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) วันที่: 8 กรกฎาคม 2559 เวลา:19:14:25 น.  

 
ขอบคุณสาระบทความดีๆค่ะ บัญญัติ 10 ประการ ป้องกันตัวเองจากโรคที่มากับน้ำท่วม


--------------------------------------------------------
บาคาร่าออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง สมัครวันนี้ ฟรี โบนัส 10%


โดย: สมาชิกหมายเลข 3357016 วันที่: 19 สิงหาคม 2559 เวลา:15:46:26 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]