ตาปลา
ตาปลา
ตาปลา ก็คือ ผิวหนังที่ด้านหนาขึ้น เนื่องจากถูกแรงกดหรือแรงเสียดสี เป็นเวลานานๆ
มักเกิดบริเวณที่มีปุ่มกระดูกนูน ตำแหน่งที่พบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณฝ่าเท้า และ นิ้วเท้า
สาเหตุ
ที่พบได้บ่อยคือการใส่รองเท้าคับแน่น ไม่เหมาะกับเท้า หรือ ลักษณะการเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้า หรือ นิ้วเท้า
ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็งเป็นก้อน ขึ้นมารองรับแรงกดที่จุดนั้นแทนเนื้อเยื่อธรรมดา และเมื่อเดินบ่อย ๆ เข้าก้อนแข็งนี้จะถูกกดลงลึกลงไปในผิวหนังมากขึ้น เมื่อเดินก็จะทำให้จะเจ็บมาก
อาการ
ผิวหนังส่วนที่เป็นตาปลา จะด้านหนา หรือเป็นไตแข็ง ถ้าตาปลามีขนาดใหญ่ อาจจะเจ็บได้เวลาใส่รองเท้า
ตาปลาอาจมีลักษณะคล้ายหูด ต่างกันที่ถ้าใช้มีดฝาน หูดจะมีเลือดไหลซิบ ๆ แต่ตาปลาจะไม่มีเลือดออก
การรักษา
1) ควรเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับหรือบีบแน่นเกินไป และ ใช้ฟองน้ำรอง ส่วนที่เป็นตาปลาเอาไว้เวลาใส่รองเท้าเพื่อลดแรงเสียดสี ตาปลาที่เป็นไม่มากมักจะค่อยๆหาย ไปได้เองในเวลาหลายสัปดาห์ ถ้ามีรูปเท้าหรือกระดูกผิดรูป อาจต้องใส่รองเท้าที่ตัดขิ้นมาเฉพาะเพื่อลดแรงกดที่บริเวณกระดูก
2) ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกขนาด 40%W/W ปิดส่วนที่เป็นตาปลา ปิดทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน ดึงพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าหรือบริเวณที่เป็นในน้ำอุ่นให้นานพอสมควร ตาปลาจะค่อย ๆ ลอกหลุดไป ถ้ายังลอกหรือหลุดไม่หมดให้ทำซ้ำ
3) ใช้ยากัดตาปลาซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสม มีชื่อทางการค้า เช่น คอลโลแมก(Collomack), ดูโอฟิล์ม (Duofilm), ฟรีโซน (Free zone) ก่อนทายาให้แช่ตาปลาด้วยน้ำอุ่น แล้วใช้ตะไบเล็บ หรือผ้าขนหนูขัดบริเวณตาปลา เพื่อช่วยทำให้ผิวหนังขุย ๆ หลุดออกไป แล้วทาวาสลินรอบผิวหนังข้าง ๆ บริเวณตาปลา เพื่อป้องกันยากัดผิวหนังบริเวณผิวหนังปกติ เสร็จแล้วทายาตรงจุดตาปลา ทายา วันละ 1- 2 ครั้ง ตาปลาจะค่อย ๆ ลอกหลุดไป ทายาจนกว่าตาปลาจะลอกหลุดหมด
4) การผ่าตัด
5) การจี้ด้วยไฟฟ้า
ข้อแนะนำ
1) ควรแก้ไขที่สาเหตุ คือ ลดแรงเสียดสี โดยเลือกใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า
2) ถ้าไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัด หรือจี้ด้วยไฟฟ้า เพราะจะทำให้เกิดแผลเป็น และเจ็บเวลาที่ลงน้ำหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นที่บริเวณส้นเท้า
3) ห้ามใช้มีด หรือของมีคมเฉือน เพราะอาจทำให้แผลอักเสบและบวมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
ตาปลาเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในบุคคลทั่วไป และ เป็นโรคที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้น ในผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งถ้าเป็นตาปลาแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจมีการอักเสบรุนแรงกลายเป็นแผลติดเชื้อ หรือ อาจจะถึงกับต้องตัดขา ก็ได้
Create Date : 09 มิถุนายน 2551 |
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 19:32:25 น. |
|
4 comments
|
Counter : 66315 Pageviews. |
|
 |
|
|
//th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20091127141844AAnCx9b
ที่มา: พญ.จิรพร ศรีวสันต์ศักดิ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังและศัลยกรรมเลเซอร์
การรักษาตาปลา โดยการทายา จี้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ เป็นการบรรเทาชั่วคราว โดยกำจัดตุ่มตาปลาออก
ข้อดีของการทายา คือ ราคาถูก หายแล้วไม่มีแผลเป็น ข้อเสีย คือ ถ้าขี้เกียจทายา ก็ไม่หายซักที หรือทายามากไป ผิวถลอก อาจมีการติดเชื้ออักเสบของตาปลาได้
ข้อดีของการใช้ไฟฟ้า และเลเซอร์ คือ รักษาแบบม้วนเดียวจบ ลุยทีเดียว หมดเกลี้ยง ข้อเสียเป็นแผลเป็น และต้องการการดูแลทำแผลที่จี้ไปแล้ว อาจจะเป็นเดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ค่ารักษาแพงกว่าทายาแน่นอน เลเซอร์จะแพงกว่าจี้ไฟฟ้า เพราะเครื่องมือราคาแพงกว่าหลายเท่า
เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ได้ทำให้หลักการรักษาโรคของหมอเปลี่ยนไป แต่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้มากขึ้น
ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไข้ตาปลา คือ อย่าผ่าตัดออกค่ะ เพราะจะได้แผลเป็นหนึ่งขีด พร้อมๆกับตาปลาขึ้นใหม่บริเวณเดิม เนื่องจาก pressure effect อาจยังคงลอยนวลอยู่
อย่าลืมกำจัด pressure effect ไม่ให้มาเสนอหน้ารบกวนฝ่าเท้างามๆของเรา แล้วทุกคนจะประสบความสำเร็จในการรักษาตาปลาในที่สุด
วิธีการรักษาที่สะดวกมากขึ้นและคุณสามารถทำได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้พลาสเตอร์สำหรับรักษาหูด ตาปลา หรือหนังด้าน พลาสเตอร์นี้มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) 40 % ผสมอยู่เพื่อทำให้หูดหรือตาปลาอ่อนตัวลงและหลุดออกได้ง่าย
วิธีใช้ คือ ล้างบริเวณที่เป็นหูด หรือตาปลาให้สะอาดเสียก่อน แล้วปิดพลาสเตอร์ในบริเวณที่ต้องการทิ้งไว้ 2-3 วัน จากนั้นแช่ส่วนที่เป็นตาปลาในน้ำอุ่นประมาณ 15 นาทีหรือจนกว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะนิ่ม ลอกพลาสเตอร์ออก หูดหรือตาปลาจะหลุดตามพลาสเตอร์ออกมาด้วย แต่หากหูดหรือตาปลาหลุดออกมาไม่หมดสามารถทำซ้ำได้อีก
- พลาสเตอร์รักษาหูด ตาปลามีจำหน่ายที่ร้านขายยาชั้นนำทั่วไป