Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ผ่าตัดยืดกระดูก ให้สูงขึ้น ดีจริงหรือ ???


โชว์เทคนิคผ่าตัด "เพิ่มความสูง" ครั้งแรกในไทย


โชว์เทคนิคผ่าตัด "เพิ่มความสูง" ครั้งแรกในไทย
โดย MGR Online       
12 กันยายน 2549 16:43 น.
https://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000115441

        โรงพยาบาลเอกชนประสบความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมใหม่ผ่าตัดเพิ่มความสูงได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้เทคนิคการยืดกระดูกของศัลยแพทย์ชาวรัสเซีย สนองความต้องการทั้งในกลุ่มผู้ที่ต้องการลดปมด้อยของตัวเอง กลุ่มนักกีฬา และกลุ่มความงาม แพทย์ระบุความสูงที่เพิ่มขึ้นต้องสัมพันธ์กับสัดส่วนของร่างกายด้วย เผยค่าใช้จ่ายใน 1 ซม. ต่อ 100,000 บาท บวกอุปกรณ์อีก 300,000 บาท

        นพ.พรเอนก ตาดทอง ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ คลินิกเพิ่มความสูงของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเปิดเผยถึงนวัตกรรมผ่าตัดเพิ่มความสูงว่า ทั่วโลกริเริ่มทำกันมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยใช้เทคนิคการยืดกระดูกของศัลยแพทย์ชาวรัสเซีย ที่ค้นพบว่า เมื่อกระดูกถูกแยกจากกันอย่างถูกวิธี ร่างกายจะสามารถสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาตรงบริเวณช่องว่างได้ และกระดูกใหม่จะเหมือนกับกระดูกของคนไข้ทุกประการ

       นพ.พรเอนก กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ เริ่มทำการผ่าตัดเพิ่มความสูงมาตั้งแต่ปี 1996 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ที่ทำมี 4 ประเภท 1. กลุ่มที่ไม่พอใจความสูงของตนเอง คิดว่าเป็นปมด้อย 2. กลุ่มที่ต้องการความสูงไปใช้ในการทำงานหรือการศึกษา 3. กลุ่มนักกีฬา 4. กลุ่มความงาม

       สำหรับหลักการผ่าตัดเพิ่มความสูงนั้น ต้องเข้าใจถึงสัดส่วนของร่างกาย และต้องสัมพันธ์กับสัดส่วนของผู้ที่ต้องการเพิ่มความสูงด้วย อีกทั้งต้องใช้เวลาที่จะใส่เครื่องยึดตรึงกระดูก (Ilizarov) หรือ อิลิซารอฟ ตรึงอยู่ที่ขา เป็นระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน ต่อความยาวกระดูก 1 เซนติเมตร และเครื่องดังกล่าวยังสามารถรับน้ำหนักตัวได้ มีความคงทนแข็งแรง คนไข้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุงขา ส่วนผลข้างเคียงจะทำไม่ได้กับผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพิ่มความสูง 1 เซนติเมตร ต่อ 100,000 บาท บวกอุปกรณ์อีก 300,000 บาท

       ด้านนายวีรยุทธ วงศ์อมรชัย ผู้เข้ารับการผ่าตัดเพิ่มความสูง กล่าวว่า ขณะนี้ตนมีความสูงเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เซนติเมตร การผ่าตัดเพิ่มความสูง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเข้าสังคมที่เกี่ยวกับสายงานการส่งออก-นำเข้า ซึ่งถือว่าบุคลิกภาพเป็นสิ่งสำคัญ

https://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000115441
https://health.campus-star.com/general/1496.html
..........................................................

เชื่อว่า หลาย ๆ คน คงได้เคยได้ยินข่าวนี้ .. แล้วก็อาจมีความรู้สึกว่า อยากจะไปทำ เพื่อให้สูงขึ้น

ก่อนที่จะตัดสินใจแบบนั้น ลองมาดูข้อมูล กันซะหน่อย ดีกว่านะครับ ...

การผ่าตัดยืดกระดูก นี้ เป็นวิธีใหม่ ????

ไม่ได้เป็นวิธีใหม่ เพราะ เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว มีศัลยแพทย์ชาวรัสเซีย Gavriil A. Ilizarov ได้คิดค้นเครื่องมือ วิธีผ่าตัดแบบนี้ขึ้น




การผ่าตัดยืดกระดูกแบบนี้ ในประเทศไทย เป็นครั้งแรก  ???

มีการผ่าตัดแบบนี้ ในคณะแพทย์ต่าง ๆ ของประเทศไทย (และ รพ.เอกชน บางแห่ง ) มานานกว่า ๑๐ ปี โดยสามารถทำได้ หลายตำแหน่ง เช่น กระดูก นิ้วมือ แขน ต้นขา หน้าแข้ง กระดูกหน้า กระดูกกราม เป็นต้น

เพียงแต่ เป็นการผ่าตัด เพื่อรักษาความผิดปกติ รักษาโรค เช่น กระดูกไม่ติดกันแต่กำเนิด โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้กระดูกผิดรูป หรือกระดูกแขนขา สั้นกว่าปกติ เนื้องอกกระดูก กระดูกหัก แล้ว กระดูกไม่ติดกัน หรือ ติดผิดรูป หรือ กระดูกหักแล้วติดเชื้อ ทำให้กระดูกไม่ติดกัน เป็นต้น




การผ่าตัดไม่มีผลข้างเคียง ???

การผ่าตัด ทุกอย่าง มีความเสี่ยง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ทั้งจากการให้ยาระงับความรู้สึก (ยาชา ยาสลบ) และการผ่าตัดเอง ..

คิดง่าย ๆ ขนาดกินยา ยังมีผลข้างเคียงเลยครับ ..





ปัจจุบัน ได้มีการนำวิธีนี้ มาใช้เพื่อ เพิ่มความสูง (เพื่อความสวยงาม) แต่ ไม่แนะนำ เนื่องจาก

1. การยืดกระดูก จะมีลวดยึดที่กระดูก ผ่านผิวหนัง เมื่อยืดกระดูก ก็จะทำให้เกิด รอยแผลเป็นที่บริเวณขา บางคนเป็นแผลนูน (คีรอยด์) แผลมีสีคล้ำ ยิ่งทำให้ ขา ดูไม่สวย




2. ก่อนที่จะเริ่มยืด ต้องตัดกระดูกปกติให้ขาดออกจากกัน รอประมาณ ๒ – ๔ อาทิตย์ แล้วค่อยๆ ยืดออก ถ้ายืดเร็วไป กระดูกไม่งอก หรือ กระดูกที่งอกใหม่ ไม่แข็งแรง แต่ ถ้ายืดช้า กระดูกอาจเริ่มแข็งตัว ทำให้ยืดไม่ออก

ต้องหมุนปรับอุปกรณ์ให้ยืดวันละ ๑ มิลลิเมตร ( ปรับครั้งละ ๐.๒๕ มิลลิเมตร ทุก ๖ ชม. ทำวันละ ๔ ครั้ง ) ทำทุกวันจนกว่าจะได้ความยาวที่ต้องการ ซึ่งต้องมีการตรวจเป็นระยะว่า กระดูกยืดออกมาดีหรือไม่ ถ้าดี ก็ทำต่อ ถ้าไม่ดี ก็อาจต้องหยุด หรือ ปรับให้ยืดน้อยลง

ถ้าจะให้ปลอดภัย ไม่ควรยืดกระดูกเกิน 5 เซนติเมตร หรือ ไม่ควรเกิน 10% ของ ความยาวกระดูกท่อนนั้น


3. ขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้เวลาหลายเดือน เพื่อให้กระดูกค่อยๆยืดและรอให้เยื่อกระดูกที่ยืดออกสมานกันจนแข็งแรง ซึ่งจะต้องมีอุปกรณ์ดามไว้ จนกว่ากระดูกจะติดสนิท ..

เฉลี่ยถ้ายืดกระดูก ๑ ซม. จะใช้เวลา ๑ เดือน .. เมื่อได้ความยาวที่ต้องการแล้ว ก็จะต้อง รออีก ๓ - ๖ เดือน เพื่อให้กระดูกที่สร้างใหม่นี้ แข็งแรง ใกล้เคียงกับ กระดูกปกติ จึงผ่าตัดเอาอุปกรณ์ออก

คำนวณง่าย ๆ ถ้าต้องการยืดกระดุกให้ยาวขึ้น ๕ ซม. ก็จะมีระยะเวลาประมาณ ๕๐ วัน รวมกับ ระยะเวลาที่รอให้กระดูกแข็งแรงอีก ๑๕๐ วัน หรือ อาจต้องรอ ๓ – ๖ เดือน รวมเวลาทั้งหมด ก็ประมาณ ๕ – ๘ เดือน

4. ความยาวของกระดูก ยืดได้จำกัด ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง เช่น ถ้ายืดตำแหน่งกระดูกหน้าแข้ง ยืดได้ประมาณ กระดูกต้นขา ประมาณ แต่ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน

ตำแหน่งกระดูกหน้าแข้ง การผ่าตัดง่ายกว่า ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า แต่ความยาวที่จะยืดได้ ก็น้อยกว่า

ตำแหน่งกระดูกต้นขา การผ่าตัดยากกว่า ภาวะแทรกซ้อนมากกว่า แต่ความยาวที่จะยืดได้ ก็มากกว่า

5. ภาวะแทรกซ้อน อื่น ๆ เช่น
การติดเชื้อ
ข้อยึด เนื่องจากการผ่าตัดยืดกระดูก ตัวกระดูกยืดได้มากจริง แต่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นไม่ได้มีความสามารถยืดยาวได้เหมือนกระดูก
กระดูกผิดรูป
กระดูกไม่ติด หรือ กระดูกติด แต่กระดูกไม่แข็งแรง


ก็ถือว่า เป็น ข้อมูล อีกด้าน ที่นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจว่า จะเลือกวิธีการผ่าตัดเพิ่มความสูงนี้หรือไม่ .. คุ้มหรือเปล่าที่จะทำ


แถม ..
ถ้าใครสนใจ แนะนำกระทู้นี้เลยครับ จขกท.รีวิว รายละเอียดครบถ้วน อ่านแล้วค่อยตัดสินใจ ...
ประสบการณ์ผ่าตัดเพิ่มความสูง 12 cm ในไทย ( กระทู้จากห้องสวนลุม  )
สมาชิกหมายเลข 7073099
https://pantip.com/topic/41487327

การผ่าตัดเพื่อเพิ่มความสูง (สูงเพิ่ม 5 ซม. หรือ ความเสี่ยง)
https://www.dek-d.com/board/view/1510851/

.................................

ทำอย่างไร ถึงจะตัวสูง ???สูง ไม่สูง เกิดจากอะไร ??? https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=56

ทำอย่างไร ถึงจะตัวสูง อาหารเสริมความสูง ? เวบดร่าม่าแอดดิก https://drama-addict.com/?p=9106

นมเพิ่มความสูง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโคลอสตรุ้ม(Colostrum)เพิ่มความสูงได้ ไม่จริง! อย่าหลงเชื่อ! https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-08-2017&group=4&gblog=131

ผ่าตัดเพิ่มความสูงทางลัดสู่ความสำเร็จหรือเจ็บปวด https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=58

ผ่าตัดยืดกระดูก ให้สูงขึ้น ดีจริงหรือ ??? https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=57

สารพัด " นม " ที่ควรรู้ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-12-2008&group=4&gblog=65




Create Date : 26 สิงหาคม 2551
Last Update : 19 มีนาคม 2566 13:55:44 น. 8 comments
Counter : 46308 Pageviews.  

 



โดย: Mameaw kz (Mameaw kz ) วันที่: 11 มิถุนายน 2555 เวลา:4:13:22 น.  

 
รบกวนหมอหมูช่วยให้คำแนะนำหน่อยได้มั้ยคะ คือเหมี่ยวเองมีลูก1คนปัจจุบันอายุ1ขวบ6เดือน และเค้าเป็น fibular hemimelia ตั้งแต่กำเหนิด และเท่าที่ผ่านมาได้หาหมอหลายที่มากหมอแต่ละท่านก็เก่งทั้งนั้น แต่ละท่านก็ให้การรักษาแตกต่างกันไป ซึ่งตัวเหมี่ยวเองล่าสุดได้พาไปสิริราชไปพบกับ อ.กมลพร แก้วพรสวรรค์ ท่านได้ให้คำตอบว่ายืดกระดูกได้ แต่ตัวเหมี่ยวเองอยากทราบว่าหมอหมูเคยเจอเคสที่เป็นแบบเดียวกันกับลูกเหมี่ยวมั้ยแล้วสำหรับการตัดสินใจยืดกระดูกที่สิริราชดีรึเปล่า เพราะทราบมาว่าผลข้างเคียงสูง และอยากทราบว่าการยืดกระดูกในประเทศไทยประสบผลความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนน่ะค่ะ รบกวนหมอหมูด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ


โดย: Mameaw kz วันที่: 11 มิถุนายน 2555 เวลา:4:19:33 น.  

 
เคยพบตอนสมัยเรียนอยู่ คณะแพทย์ มช. (รพ.มหาราชนครเชียงใหม่) นะครับ ..

การผ่าตัดยืดกระดูกก็ได้ผลค่อนข้างดี ในเด็กครับ ..

ปล. อ.กมลพร เก่ง และ ดูแลคนไข้ดีมากครับ


โดย: หมอหมู วันที่: 12 มิถุนายน 2555 เวลา:14:43:04 น.  

 


การยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความยาว


ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล

ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



การยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความยาวของกระดูกหรือความสูงของผู้ป่วยเป็นการผ่าตัด ที่มีขึ้นบ่อย ใช้เพื่อแก้ไขความพิการผิดรูปของผู้ป่วย ซึ่งหากทำในรยางค์ล่างหรือขาสามารถทำให้ความสูงของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้

หลักการยืดกระดูกมี 2 อย่างคือ

1. การใช้เครื่องมือยึดและยืดกระดูกจากภายนอกหรือภายใน ตัดกระดูกท่อนที่ต้องการยืดที่กลางลำกระดูก แล้วใช้เครื่องมือยึดกระดูกนั้นดึงกระดูกแยกออกจากกันอย่างช้าๆ ประมาณวันละ 1 มม. ความยาวของกระดูกค่อยๆเพิ่มขึ้น เมื่อได้ความยาวเพิ่มขึ้นเท่าที่ต้องการแล้ว ก็นำเครื่องยึดและยืดกระดูกออก ดามกระดูกภายด้วยโลหะและปลูกกระดูกด้วยกราฟกระดูกจากกระดูกเชิงกรานหรือ กระดูกจากธนาคารกระดูก

หลักการนี้นายแพทย์ Wagner แห่ง ประเทศเยอรมันนีเป็นผู้คิดค้นและเสนอผลการรักษาเป็นคนแรก รวมทั้งประดิษฐ์เครื่องมือยืดกระดูกจากภายนอกที่ยึดกระดูกในระนาบเดียว มีส่วนไขยืดกระดูกในตัว ยึดกระดูกด้วยแท่งโลหะขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มม.

ใน ประเทศไทยแพทย์ท่านแรกที่นำหลักการและวิธีการนี้มาใช้คือ รองศาตราจารย์นายแพทย์เพาะพานิช วัชโรทยางกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


2. การใช้เครื่องมือยึดและยืดกระดูกจากภายนอกหรือภายในแล้วตัดกระดูกท่อนที่ ต้องการยืดตามขวาง โดยตัดเฉพาะเปลือกกระดูก ไม่ตัดกระดูกที่อยู่ในโพรงกระดูก มักตัดกระดูกส่วนที่อยู่ใกล้ข้อที่มีโพรงกระดูกใหญ่ แล้วรอให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่ในบริเวณที่ตัดกระดูก ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยๆยืดกระดูกออกวันละ 1 มม. พบว่าเกิดการสร้างกระดูกที่ปลายหน้าตัดของกระดูก

กระดูกที่ร่างกายสร้างขึ้นใหม่นี้เจริญยืดยาวออกตามแรงดึง เมื่อได้ความยาวเพิ่มขึ้นตามต้องการก็หยุดยืดกระดูก ผู้ป่วยสามารถเดินลงนำหนักทั้งที่มีเครื่องยึดและยืดกระดูก ร่างกายจะสร้างกระดูกขึ้นใหม่ที่หน้าตัดจนเต็ม เมื่อมีกระดูกเกิดขึ้นใหม่มากและแข็งแรงพอก็ผ่าตัดนำเครื่องยึดและยืดกระดูก ออก

ผู้ที่เสนอหลักการผ่าตัดนึ้คือนายแพทย์ Ilizarov แห่ง ประเทศยูเครน ท่านได้ประดิษฐ์เครื่องมือยึดกระดูกจากภายนอกชนิดหลายระนาบ โดยมีส่วนหลักเป็นห่วงกลมล้อมรอบขาหรืแขนที่ต้องการยืดออก ใช้แท่งโลหะขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.6 มม.หลายๆแท่ง แทงทะลุกระดูก แล้วดึงให้แท่งโลหะตึงก็สามารถยึดกระดูกได้แข็งแรง

ใน ประเทศไทยแพทย์ท่านแรกที่นำหลักการและวิธีการนี้มาใช้คือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ภาควิชาศัลยาสตร์ออร์โธปิดิกส์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การผ่าตัดยืดกระดูกทั้ง 2 วิธี พัฒนาต่อมาในประเทศไทย มีศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิกส์หลายท่านพัฒนาเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆเพิ่ม เติมและทำการผ่าตัดแก้ความพิการผิดรูปของผู้ป่วยที่มีขาแขนยาวไม่เท่ากัน รวมทั้งบริเวณกระดูกที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งเป็นผลจากกระดูกถูกทำลายจากโรคของกระดูก ได้แก่การติดเชื้อของกระดูก เนื้องอกของกระดูก กระดูกผิดปกติแต่กำเนิด และการบาดเจ็บของกระดูก

การผ่าตัดยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความสูงเพื่อความสวยงามไม่นิยมทำ ยกเว้นในผู้ป่วยที่ร่างกายเตี้ยผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการยืดกระดูกในบางรายที่เหมาะสมเท่านั้น

การยืดกระดูกนิยมยืดไม่เกินร้อบละ 10 ถึง 15 ของ ความยาวเดิมของกระดูกท่อนนั้นๆ และนิยมทำการผ่าตัดยืดกระดูกในผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวที่กระดูกสามารถ หายจากการบาดเจ็บและเชื่อมติดกันได้เร็ว ในผู้ป่วยเด็กเล็กผลการผ่าตัดไม่ดีด้วยการยืดกระดูกมักทำให้ศูนย์การเจริญ เติบโตของกระดูกท่อนนั้น ที่อยู่บริเวณปลายกระดูกเกิดการบาดเจ็บ กระดูกนั้นอาจหยุดเจริญเติบโต และด้วยกระดูกเด็กเล็กบางอาจไม่สามารถยึดกระดูกได้แน่น ทำให้เกิดการเอียงตัวของกระดูกและกระดูกที่ถูกยืดออกติดผิดที่

ในประเทศเยอรมันนี ศัลยแพทย์ในเมืองมิวนิกพัฒนาเครื่องยึดกระดูกที่สอดตรึงกระดูกจากภายในโพรง กระดูกที่ต้องการยืดออก เครื่องมือนี้มีส่วนให้กำลังไฟฟ้าที่สามารถยืดกระดูกออกได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกขึ้น โดยไม่ต้องมีโครงโลหะยึดกระดูกอยู่ภายนอกร่างกาย ต่อมามีการพัฒนาเครื่องมือในลักษณะคล้ายกันในหลายประเทศ และนำหลักการนี้มาใช้ในผู้ป่วยอายุน้อยที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ แกนของข้อเทียมสามารถยืดออกได้ ทำให้ขาแขนของผู้ป่วยมีการเจริญเติบโตได้ใกล้เคียงปกติ


การผ่าตัดยืดกระดูกนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงมาก ตั้งแต่ระดับ 200,000 บาทขึ้นไปและภาวะแทรกซ้อนมักเกิดขึ้นได้บ่อย ประมาณร้อยละ 10 ถึง 15 ของผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้แก่ การติดเชื้อที่บริเวณรอบแท่งโลหะยึดกระดูก การบาดเจ็บของหลอดเลือดและเส้นประสาท กระดูกที่ยืดออกติดผิดที่หรือกระดูกไม่เชื่อมติดและผู้ป่วยต้องมีบาดแผลจาก การผ่าตัดที่ผิวหนังหลายแห่ง

ผู้ป่วยที่สนใจแก้ไขความพิการผิดรูปด้วยการยืดกระดูก ควรปรึกษาแพทย์และทำความเข้าใจในลักษณะพื้นฐานของการผ่าตัดนี้ให้ดีก่อน รวมทั้งชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจรับการ รักษาด้วยวิธีนี้



โดย: หมอหมู วันที่: 13 เมษายน 2556 เวลา:0:45:41 น.  

 
“หมอกระดูก” เตือนผ่าตัดยืดกระดูกเพิ่มความสูงเสี่ยงอัมพาต
โดย MGR Online

7 กุมภาพันธ์ 2554 17:48 น.

ผอ.กองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎฯ เตือนคนคิดเพิ่มความสูงด้วยวิธี “ผ่าตัดยืดกระดูก” เป็นสิ่งไม่จำเป็น ฝืนธรรมชาติ และเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต แนะควรพอใจในรูปร่างดีกว่า

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าโรงพยาบาลบางแห่งมีการเปิดเผยนวัตกรรมการศัลยกรรมเพิ่มความสูง โดยวิธีผ่าตัดยืดกระดูกเพื่อความงามนั้น

พ.อ.ผศ.นพ.ดุษฎี ทัตตานนทน์ ผู้อำนวยการกองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องของการผ่าตัดยืดกระดูกนั้น เป็นวิธีการรักษาของแพทย์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ ที่มีกระดูกบางส่วนแตกหัก หรือ ใช้รักษาผู้ที่มีปัญหาความพิการแต่กำเนิด เช่น กระดูกไม่ติดกันแต่กำเนิดแก้ไขโดยการตัดบริเวณที่มีปัญหาออกแล้วทำการเคลื่อนกระดูกจากด้านบนมาบรรจบกับด้านล่าง แล้วรอให้ร่างกายสร้างกระดูกใหม่มาแทนที่ แก้ไขปัญหาขายาวสั้นไม่เท่ากัน โดยการยืดกระดูกด้านที่สั้นให้ยาวเท่ากันแทนที่จะตัดด้านที่ยาวกว่าให้สั้นลงเหมือนที่เคยรักษามาในอดีต หรือบางครั้งใช้รักษาโรคกระดูกติดเชื้อ โดยตัดกระดูกที่ติดเชื้อทิ้งไปแล้วทำการเคลื่อนกระดูก มาแทนที่เหมือนกรณีที่รักษากระดูกไม่ติดกันได้ ซึ่งในทุกกรณีที่กล่าวมาเป็นสามารถยืดได้สูงสุดประมาณ 5-10 เซนติเมตร จากความยาวของกระดูกเดิมที่มี โดยหลังจากผ่าตัดแล้วร่างกายจะใช้เวลาในการสร้างกระดูกใหม่ตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะสามารถกลับมามีสภาพที่ปกติได้

“โดยปกติกระดูกของคนเราจะสร้างตัวเองวันละ 0.5-1 มิลลิเมตร และสร้างไปเรื่อยๆ จนมีขนาดเท่ากับช่องว่างที่สูญเสียไปอย่างธรรมชาติ แต่แพทย์จะกระตุ้นโดยการตัดกระดูกส่วนที่ชำรุดทิ้ง โดยไม่แตะต้องเยื่อหุ้มกระดูกจากนั้นเยื่อเหล่านี้จะทำหน้าที่ประคองกระดูกในระหว่างการสร้างตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” พ.อ.ผศ.นพ.ดุษฎีกล่าว

พ.อ.ผศ.นพ.ดุษฎีกล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีการผ่าตัดยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความงามหรือเพิ่มความสูงนั้น โดยส่วนตัวคิดว่า เป็นสิ่งไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นการฝืนธรรมชาติและมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะส่วนมากแพทย์จะยืดกระดูกที่ขาหรือไม่ก็แขน ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญต้องใช้งานบ่อยๆ หากกระทำโดยแพทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญพอหรือผู้ป่วยเองมีวิธีการดูแลตัวเองไม่ดี เช่น ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปที่ขามากๆ เคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่มีการระวัง หรือไม่ยอมใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ประคองตัว โอกาสพลาดจะมีสูงมาก อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้เส้นประสาทไม่ทำงานและอาจเป็นอัมพาตในที่สุด ที่สำคัญการผ่าตัดศัลยกรรมกระดูกนั้นหากพลาดแล้วจะแก้ได้ยาก

จึงแนะนำว่า หากไม่ได้เป็นไปเพื่อการรักษาร่างกายก็ไม่ควรทำ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีสุขภาพจิตใจอ่อนแอ ขี้กังวล หรือกลุ่มที่ต้องการเพิ่มความสูงเพียงเพราะอยากประกอบอาชีพที่จำกัดความสูง เช่น พยาบาล ตำรวจ ทหาร หรือนางแบบฯ ก็ไม่แนะนำเพราะหากพลาดขึ้นมาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่ากับเงินและเวลาที่เสียไปแน่นอน ดังนั้นควรพึงพอใจในรูปร่างเดิมจะดีกว่า


โดย: หมอหมู วันที่: 3 มกราคม 2561 เวลา:14:12:54 น.  

 
ผ่าตัดกระดูกเพิ่ม “ความสูง” ดีจริงหรือ
โดย MGR Online

14 กันยายน 2549 09:44 น.
ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยมีความกังวลเรื่องส่วนสูง ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือคนวัยทำงาน ซึ่งคงไม่มีใครอยากเตี้ย เด็กหลายคนจึงตั้งหน้าตั้งตารับประทานแคลเซียมเพื่อเพิ่มส่วนสูง ออกกำลังกายที่ช่วยให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้น เด็กสาวๆ เริ่มมีประจำเดือนก็กังวลว่าการเจริญเติบโตตามธรรมชาติจะชะงักไป โดยเฉพาะบุคคลที่มีรูปร่างเตี้ยก็ถึงกับสูญเสียความมั่นใจ ยิ่งหลากหลายอาชีพในฝันทั้งพยาบาล ทหาร ตำรวจ แอร์โฮสเตสที่มีการจำกัดความสูง แรงกดดันที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกว่า “ความเตี้ย” เป็นปมด้อยปมหนึ่งในชีวิต

ล่าสุดได้มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเปิดตัวเทคนิคการผ่าตัดเพิ่มความสูง ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับผู้คนในสังคมอย่างมาก

ผ่าตัดกระดูกเพิ่ม “ความสูง” ดีจริงหรือ

คำถามและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นก็คือ จริงๆแล้ว “ความสูง” มีความจำเป็นกับชีวิตมากเพียงนั้นเชียวหรือ? ในเมื่อมีผู้คนมากมายที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งๆ ที่เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ เท่านั้น

-1-

ก่อนที่จะไปตอบคำถามและข้อสงสัยข้างต้นคงต้องไปทำความเข้าใจก่อนว่า วิธีการผ่าตัดเพิ่มความสูงนั้น เป็นอย่างไรและมีที่มาและที่ไปอย่างไร

ตามที่ปรากฏเป็นข่าว นพ.พรเอนก ตาดทอง ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การผ่าตัดเพิ่มความสูง (Height Operation) ไม่ใช่การค้นพบใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปี แต่เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว มีการค้นพบว่าถ้ามีการแยกกระดูกออกจากกันอย่างถูกวิธีและให้กระดูกนั้นห่างออกจากกันในอัตราความเร็ววันละ 1 มิลลิเมตร ร่างกายจะสามารถสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาตรงบริเวณช่องว่างนั้นได้ โดยใช้เครื่องมือตรึงกระดูก ที่เรียกว่า Ilizarov กับบุคคลที่มีปัญหาเรื่องส่วนสูงซึ่งถือเป็นการบริการศัลยกรรมความงามด้านหนึ่ง

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อผู้นี้ บอกด้วยว่า การรักษาเป็นการผ่าตัดที่ทำให้ผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างช้าๆ โดยจะต้องใช้เวลาในการยืดกระดูกโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เดือนต่อ 1 เซนติเมตร 5 เดือนก็จะได้ความสูงเท่ากับ 5 เซนติเมตร ซึ่งข้อจำกัดในการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของแต่ละคน โดยไม่ได้อยู่ที่ปริมาณความสูง อายุ หรือเพศ เช่น ยืนแค่ไหนแล้วดูดีสมส่วน ทั้งนี้ ผู้ทำการรักษาต้องไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน

สำหรับผู้ที่ทำการรักษามี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่มีปมด้อย กลุ่มคนที่ต้องการเข้าสถานศึกษาที่มีการกำหนดความสูงขั้นต่ำ กลุ่มนักกีฬา และกลุ่มสุดท้ายกลุ่มที่ต้องการเสริมบุคลิกภาพความงาม

ส่วนการผ่าตัดนั้น แพทย์จะใช้วิธีการตัดเนื้อกระดูกออกเหลือเยื่อหุ้มกระดูกซึ่งกระดูกจะไม่ถูกทำลาย แล้วยึดด้วยเส้นลวด 4 เส้น ถ่างกระดูกออกประมาณ 1 มิลลิเมตร (มม.) ด้วยเครื่องยึดตรึงกระดูก (llizarov)โดยใช้เวลาในการผ่าตัดเพียงชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น หลังจากนั้นต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาล ทำกายภาพบำบัดรอให้กระดูกเชื่อมติดกันสามารถทำได้ทีละข้างหรือพร้อมกันทั้งสองข้าง พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีผลข้างเคียง การผ่าตัดมีความปลอดภัยสูง

ขณะที่ค่าใช้จ่าย ค่ารักษา รวมทั้งค่าอุปกรณ์ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับการรักษา เช่น ถ้าต้องการเพิ่มความสูงน้อยกว่า 5 เซนติเมตร ประมาณ 5 แสนบาท และถ้ามากกว่า 5 เซนติเมตร ค่าใช้จ่ายค่ารักษารวมทั้งค่าอุปกรณ์อยู่ที่ ประมาณ 800,000 บาท

-2-

จากข้อมูลเบื้องต้น ก็มาถึงโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ นั่นก็คือ มีความจำเป็นและปลอดภัยแค่ไหน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ เนื่องจากการผ่าตัดยืดกระดูกนั้นทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นไม่ได้มีการยืดตามไปด้วย หากทำการผ่าตัดอาจทำให้กระดูกขามีการบิดเบี้ยวไม่ได้รูป ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังเสี่ยงในการฟ้องร้องจากคนไข้ในกรณีที่วาดความหวังให้เข้าสวยหรูแต่ผลออกมาไม่เป็นไปตามนั้น เช่น คนปกติเมื่อไปผ่าตัดแทนที่จะสูงสมใจอาจกลายเป็นคนพิการขาสั้นข้างยาวข้างก็เป็นได้


ผ่าตัดกระดูกเพิ่ม “ความสูง” ดีจริงหรือ
"ดีไม่ดีติด เชื้อขาสั้นยาวไม่เท่ากันจากคนดีๆ กลายเป็นคนพิการ แต่หากปรับแก้เพื่อแก้ไขปัญหาทางจิตใจคงไม่มีปัญหา เพราะเรารักษาคนป่วยให้หายป่วย ไม่ใช่ทำให้คนไม่ป่วยป่วยขึ้นมา”

ศ.นพ.สมศักดิ์บอกด้วยว่า ที่สำคัญคนทั่วไปไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มความสูงเพียงเพื่อให้ดูดี ดูสวย หล่อ เท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดลักษณะนี้มีมานานแล้ว แต่แพทย์ทั่วไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคกระดูกต่างๆ อาทิ ความพิการแต่กำเนิดอย่างการขายาวสั้นไม่เท่ากัน โรคกระดูกติดเชื้อ และกระดูกแตก หักจากอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์จะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับคณะกรรมการแพทย์สภาว่าเข้าข่ายอวดอ้างการโฆษณาหรือไม่ ส่วนในด้านจริยธรรมทางการแพทย์การศัลยกรรมตกแต่งเป็นความสมัครใจของแพทย์ปละคนไข้จึงไม่สามารถเอาผิดได้ แต่หากพบว่าเข้าข่ายอวดอ้างจึงจะดำเนินการกับโรงพยาบาลเพราะถือเป็นการชักจูง ผิดจริยธรรมทางการแพทย์

ด้าน นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามกลับไปว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนสำหรับการผ่าตัดเพื่อเพิ่มความสูง และไม่นับรวมถึงคำถามที่ว่า เมื่อทำแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและปลอดภัยหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสร้างหรือทำให้คนเกิดค่านิยมที่ผิดๆ คือไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่

ผ่าตัดกระดูกเพิ่ม “ความสูง” ดีจริงหรือ

ทั้งนี้ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วมีวิธีการต่างๆ อีกมากมายที่สามารถทำให้สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งวิธีการผ่าตัด เช่น ดูแลเรื่องอาหารการกินตั้งแต่เด็กๆ โดยลดสัดส่วนการรับประทานอาหารที่ผิด เช่น รับประทานอาหารขยะ อาหารฟาสต์ฟูดที่มีไขมันมากเกินไป ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต แล้วหันกลับมารับประทานอาหารในสัดส่วนหรือโครงสร้างที่เหมาะสมแทน

หรืออย่างเช่นในอิตาลีได้มีการวิจัยเรื่องการรับประทานอาหารตามแนวธรรมชาติเพื่อเพิ่มความสูงหลังจากที่ทารกดื่มนมติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน โดยกำหนดสัดส่วนของอาหารตามวิถีตะวันออก และไม่ดื่มนมวัว ก็ปรากฏว่า เวลาผ่านไป 20 ปี เด็กๆ เหล่านั้นก็สูงใหญ่ได้เช่นกัน

“ในทางการแพทย์ผมไม่แน่ใจว่า ผ่าตัดแล้วปลอดภัยหรือไม่อย่างไร แต่โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยนะ เพราะเราควรพอใจในสิ่งที่เราเป็น พอใจในสิ่งที่เป็นตัวเราตามธรรมชาติ ถามว่า สูงขึ้นมาอีก 5-6 เซนติเมตรแล้วเป็นยังไง มันทำให้คนดีขึ้นหรือเปล่า เราควรส่งเสริมค่านิยมในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่า”

“ผมเข้าใจ ในกรณีที่บางคนอยากเป็นพยาบาล อยากเป็นแอร์โฮสเตส แล้วความสูงไม่ถึง ก็อยากจะเพิ่มความสูง แต่ผมอยากถามกลับไปว่า ทำไมเราไม่ลองหันไปประกอบอาชีพอื่นล่ะ มีอาชีพอีกมากมายที่ไม่ได้กำหนดความสูงเอาไว้”นพ.จักรกฤษณ์สรุป

...ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่าที่สุดแล้วการภาคภูมิใจในตัวเองและพึงพอใจในในสรีระร่างกายของเรา พร้อมเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองไม่ว่าจะเป็นอาชีพ การงาน น่าจะเป็นทางที่สร้างความคุ้มค่าในการดำเนินชีวิตมากกว่า โดยไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเสียเงินจำนวนมาก ขณะที่ต้องนำชีวิตไปเสี่ยงกับการศัลยกรรมเพียงเพื่อให้สวย หล่อ ดูดีขึ้นเท่านั้น


โดย: หมอหมู วันที่: 3 มกราคม 2561 เวลา:14:14:12 น.  

 
การผ่าตัดเพื่อเพิ่มความสูง
(สูงเพิ่ม 5 ซม. หรือ ความเสี่ยง)
โดยด๊อกเตอร์หมี
https://www.dek-d.com/board/view/1510851/

ความสูง เป็นสิ่งที่น้องๆ และเพื่อนๆ หลายคน ปรารถนา เพราะทำให้มีคุณสมบัติไปประกอบอาชีพบางอาชีพได้ เพิ่มบุคลิก และความน่าสนใจ วิธีเพิ่มความสูง จึงเป็นคำถามยอดฮิตเลย


ด๊อกเตอร์หมี ขออธิบายหลักการผ่าตัดเพื่อเพิ่มความสูงนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และทำได้
ในผู้ใหญ่ที่ร่างกายเจริญเติบโตได้สูงสุดแล้ว คือ ประมาณ อายุ 20 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวใด
เป็นการผ่าตัดยืดกระดูกที่บริเวณขา บริเวณหน้าแข้ง วางยาสลบและใส่เครื่องยึดตรึงกระดูก

การยิงลวดผ่านเข้าไปตัดชั้นกระดูก เฉพาะส่วนนอกของกระดูก ที่เป็นกระดูกแข็ง เพื่อแยกกระดูกออกจากกัน และจะมีการยึดลวดด้านบน ด้านล่าง เพื่อยึดเครื่องมือที่ใช้ดึงกระดูกที่ตัดออกจากกันออก วันละ1 มิลลิเมตร เพื่อดึงกระดูกจากกัน

ร่างกายจะทำการสร้างเนื้อกระดูกขึ้นมาใหม่ตามรอยว่างนั้น ตามทฤษฎี สามารถเพิ่มได้สูงสุด 5 เซนติเมตร (ซึ่งผู้ป่วยต้องไปขันเองที่บ้านทุกวัน 5 ซม.คือ 50 วัน)

การค่อยๆ ดึงกระดูกจะมีหลักการเหมือนการดัดฟัน และกระดูกใหม่ที่สร้างขึ้นจะประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ในระยะเวลาประมาณ 5 เดือน และต้องใช้เครื่องค้ำประคองและทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง


ข้อควรระวัง หรือ ความเสี่ยง ตามความเห็นของด๊อกเตอร์หมี
กระดูกที่ได้จากการต่อเชื่อม ย่อมมีความแข็งแรงสู้กระดูกตามธรรมชาติไม่ได้
แผลเป็นจากการผ่าตัด
ใช้เวลาในการรักษานาน เป็นปี ไม่ใช่ผ่าตัดแล้วสูงเลย ย่อมรบกวนการเดินหรือการทำงานอย่างมาก
ภาวะแทรกซ้อน ที่เกิดจากการผ่าตัด ที่สำคัญที่สุด คือภาวะที่กระดูกไม่ติด (เรียกว่า nonunion )

กระดูกอาจจะติดไม่ตรง เบี้ยวได้ เรียกว่า (malunion )
และภาวะติดเชื้อของกระดูก ซึ่งรักษายากมาก ถ้าติดเชื้อรุนแรง อาจจะต้องตัดขาได้ (amputation)

5. เรื่องของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทรอบๆ กระดูก อาจไม่มีการสร้างใหม่ขึ้นตามกระดูกได้ จะถูกดึงรั้ง ทำให้การเดินทำงานผิดปกติได้

ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก (ข้างละเกือบล้าน)

การรักษาด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความสูงได้แน่นอน แต่อาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนจากการรักษาได้




โดย: หมอหมู วันที่: 3 มกราคม 2561 เวลา:14:15:32 น.  

 
กระทู้จากห้องสวนลุม จขกท. นำมาแบ่งปันกัน ถ้าสนใจก็แวะไปอ่านและสอบถามกันได้ที่ https://pantip.com/topic/41487327

ประสบการณ์ผ่าตัดเพิ่มความสูง 12 cm ในไทย

สวัสดีครับ ผมตั้งกระทู้เพื่อตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา ยาวหน่อยนะแต่มีประโยชน์ แต่ก่อนอื่นเกริ่นว่า
ผมคือคนไทยรายที่ร้อยต้นๆ ที่ได้ผ่าตัดเพิ่มความสูงในไทย ตัวผมเองได้หาข้อมูลก่อนผ่าตัดเพิ่มความสูงมากว่า 15 ปี กว่าจะได้ผ่าตัด ทั้งศึกษางานวิจัย Publication ของต่างประเทศเกี่ยวกับการผ่าตัดรูปแบบนี้ ผมเตี้ยสูงแค่ 164 หยุดสูงตอนอายุ 13 ปี เพราะกระดูกปิด อายุกระดูกเท่ากับคนอายุ 19 ปี ดังนั้นการดูแลสุขภาพ กินนม ออกกำลังกาย นอนเร็ว ทานอาหารเสริม ฝังเข็ม ดึงตัว จัดกระดูก ที่ผมทุ่มเททำไปจนอายุ 18 5 ปี เต็มๆ ไม่ได้ทำให้ผมสูงขึ้นเลยแม้แต่ 1 มิลลิเมตร หมดค่าใช้จ่ายรวมๆประมาณ 1.5 ล้านบาท

สภาพจิตใจแย่มาก รู้สึกมีปมด้อยและโรคซึมเศร้า ต้องทานยาและทำจิตบำบัด รวมถึงบำบัดด้วยไฟ้า มากว่า 15 ปี แม้ว่าเราจะสร้างปมเด่นด้านอื่นๆมาทดแทน เช่น ทำงานไต่เต้าจนเป็นผู้อำนวนการในสถาบันการเงินแห่งหนึ่งตั้งแต่อายุ 28 หรือ สร้างปมเด่นด้านกีฬา ดนตรี การเรียนที่ได้เกรียตินิยม ในมหาวิทยาลลัย Ivy League การพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ในทางกลับกัน กลับรู้สึกแย่ลงเนื่องจากกดดันตัวเองมากเกินไปที่จะลบล้างปมด้อยตรงนี้

วันนี้ผมได้ผ่าตัดเพิ่มความสูงมาทั้งหมด 12 cm และสูงเพิ่มขึ้นอีก 1 cm จากการประท่ายืนท่านั่งและการแก้ไขปัญหาขาโก่งจากการผ่าตัดเพิมความสูง ทำให้สูงขึ้นรวม 13 cm ทำให้ปัจจุบัน สูง 178 พอแอบใส่เสริมส้นหน่อยเดินเท่ากับคนสูง 180 สบายๆ

ขอเข้าเรื่องเลยละกัน คุณรู้ไหมในไทยมีการผ่าตัดเพิ่มความสูงมานานแล้วแต่ในพันทิพยังไม่มีใครออกมาให้ข้อมูลเชิงลึกแบบรู้จริงรู้แจ้งเลยสักคนเดียวตลอกเวลา 15 ปี ที่ผมได้ลองเข้าเว็ปนี้ก็ไม่เจอคนเขียน มีแต่ข้อมูลขยะที่ไม่มีประโยชน์ ผมก็เลยจะมาตอบคำถามส่วนใหญ่ที่คนอยากรู้ให้มันกระจ่างไปเลย

1.การผ่าตัดทำอย่างไร
ง่ายๆมันคือการตัดกระดูกแล้วยืดออก มันเป็นการผ่าตัดใหญ่ต้องบล็อคหลังและวางยา หมอจะผ่าผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อ และใช้ค้อนทุบกระดูกให้แตกออกจากกันโดยยังคงเหลือเยื่อหุ้มกระดูกไว้ หากเพิ่มความยาวกระดูกหน้าแข้ง กระดูก 2 ชิ้นจะต้องถูกหัก นั้นคือ Tibialis กัน Fibula ถ้าเพิ่มความยาวกระดูกต้นขา Femur กระดูกท่อนเดียวจะถูกตัด จากนั้นหมอจะติดตั้งอุปกรณ์ตรึงกระดูกไว้ หลังจาก 1 สัปดาห์ เราะจะเริ่มกระบวนการยืดกระดูกโดยการยืดอุปกรณ์ เราจะสามารถยืดได้ 0.75-1 มม ต่อวัน
https://www.hmpgloballearningnetwork.com/site/podiatry/closer-look-potential-bone-lengthening-distraction-osteogenesis

2. ยืดได้ทั้งหมดกี่ซม
โดยเฉลี่ย เราสามารถยืดได้ 10--15% ของกระดูกท่อนเดิม กระดูกต้นขาจะยืดได้มากกว่าเพราะกระดูกยาวกว่า เส้นประสาทหนากว่า ขนาดยาวกว่า รวมถึงมีผลกระทบต่อการกระดกข้อเท้าน้อยกว่า รวมๆคือ 4-5 ซม สำหรับกระดูกหน้าแข้ง และ ไม่เกิน 8 ซม สำหรับ กระดูกต้นขา หากทำมากกว่านี้อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจนถึงขั้นพอกการได้ ในทางปฎิบัติ เราจะได้น้อยกว่านั้น ต้องดูอาการหลังผ่าอีกทีว่าจะได้เท่าไร ร่างกายรับไหวแค่ไหน ถ้าอยากได้มากกว่านั้นเช่นอยากได้ความสูงรวม 18 ซม สามารถทำได้หลังจากยืดกระดูกไปแล้ว 1 ปีแล้วมาผ่าตัดซ้ำอีก

3. รูปแบบการผ่าตัด
ปัจจุบันในไทยเรามีทางเลือกอยู่ 2 วิธีคือยืดจากภายนอกและยืดจากภายใน
1. ยืดจากภายนอกคือการใช้ Illizarov External Fixator รูปแบบดั้งเดิม (https://www.youtube.com/watch?v=BShrcSp0X7I) จะมีเฟรมครอบขาเราไว้แล้วเราจะใช้มือหมุนตัวอุปกรณ์ให้แกนมันยืดออก ซึ่งจำเป็นจะต้องเจาะกระดูกประมาณ 6-8 จุดเพื่อยึดอุปกรร์เอาไว้ ผลข้างเคียงคือโอกาสติดเชื้อค่อนข้างง่ายมาก เจ็บปวกมากกว่ารูปแบบใหม่ ทำกายภาพได้ค่อนข้ามจำกัด หายช้า มีโอกาสที่เส้นประสาทเสียนหายรุนแรงได้ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำซ้อน และยังมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเพื่อนำอุปกรณ์ออกซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม สรุปคือ 700,000-1,200,000 บาท สำหรับกระดูก 1 ท่อน 2 ข้าง ส่วยใหญ่จะทำในขาท่อนล่างเนื่องจากอุปกรณ์ที่ใหญ๋ทำให้ไม่สามารถใส่ขาท่อนบนได้พร้อมกัน 2 ข้าง
2. แบบ Internal Fixator ในไทยได้ตัว Precise Nail 2.2 (https://www.youtube.com/watch?v=NBIz2_XgqU4)
หลักการยืดคล้ายๆกันแต่ไม่มีอุปกรณ์ครอบจากด้านนอก เจ็บปวดน้อยกว่ามาก ฟื้นตัวเร็ว สามารถทำในกระดูกต้นขาได้พร้อมกัน โอกาสติดเชื้อต่ำ แต่ราคาแพงมาก ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2.7 ล้าน
ผมทำ 2 ข้าง บน และล่าง ร่วมค่าหมอนัดและอาหารเสริม รวทถึงผ่าเอาอุปกรณ์ออก 4 ล้านบาทพอดี

4. ระยะเวลาในการฟื้นตัวเป็นอย่างไร
สิ่งที่ต้องรู้คือเราจะได้ได้เริ่มยืดกระดูก 7 วัน หลังผ่าตัด และหลังจากนั้นโดยส่วนมากระยะเวลาที่กระดูกแข็งตัวจะเท่ากัน 2 เท่าของเวลาที่ยืด สมมุติว่าความยาว 5 ซม ใช้เวลายืด 50 วัน ตกวันละ 1 มม จะต้องใช้เวลาอีก 100 วันกว่าจะดูกจะแข็งพอที่จะเดินได้ แต่หากมีการยืดมากๆเช่น 6 ซม 1ซม จาก 5 ไป 6 อาจใช้เวลาอีก 40 วัน เลย และ 7 ไป 8 อาจใช้เวลา 3 เดือน ต่อ 1 ซม
กรดูกต้นขาจะฟื้นเร็วกว่าเพราะใกล้เส้นเลือดใหญ่ที่ลำเลียงสารอาหารมากกว่า กระดูกมีการล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ทั้งนั้น อายุ การสูบบุหรี่ อาหาร ความเครียด และการพักผ่อนมีผลต่อการฟื้นตัวหมด
ห้ามเด็ดขาดคือการสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเกิดการหยุดหายใจหรือการอุดตันในปอดขณะผ่าตัด ถึงชีวิตได้ แผลจะหายช้าติดเชื้อได้ และกระดูกจะสมานช้าหรือไม่สมานเลยซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำซ้อน อันตรายมาก ควนงดอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนการผ่าตัด
สิ่งที่สรุปได้ว่าเราหายเร็วหายช้าคือฟิล์ม X-Ray
สรุปคือ 7+(จำนวน cm x 30) + ค่า Exponential หากยืดเกิน 5 cm
ผมยืด ท่อนล่าง 5.5  (180 วัน) ท่อน บน 6.5 (165 วัน) เริ่มหักเดินใหม่ กว่าจะเดินได้อีก 2 เดือน

5. ช่วยเหลือตัวเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไง
เข้าห้องน้ำต้องมีคนช่วยพาขึ้นรถเข้็น ถ้าเป็น Illizarov อาบน้ำไม่ได้เลย ติดเชื้อ ต้องเช็ดตัวอย่างเดียว และ Illizarov จำเป็นต้องทำแผลทุกวัน เช้าเย็น ประมาณ 2-3 เดือน เจอหมอ ทุก 2 อาทิตย์ ย้ำว่าเดินไม่ได้ ทำได้แค่นั่งข้างเตียง
แบบ Internal Fixator ไม่ต้องล้างแผล ไม่ค่อยติดเชื้อ แต่ยืนไม่ได้เช่นกัน แนะนำต้องซื้อรถเข็นและเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ที่บ้านและจ้างแม่บ้านที่จะดูแลเราตรงนี้ตลอด และที่สำคัญกายภาพโดยการยืดกล้ามเนื้ออย่างเข้มข้นแม้ว่าจะทรมาณมากก็ตาม

6. มันเจ็บแค่ไหน พอจะเปรียบเทียบอะไรได้บ้าง
มันยากที่จะอธิบายความเจ็บปวดเพราะคนเราทนต่อความเจ็บปวดไม่เท่ากัน ผมเคยถามคนที่ทำความสูงและเคยผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงและทำหน้าอก ศัลยกรรมทั้งหน้ามาแล้ว เค้าบอกว่าผ่าตัดเพิ่มความสูงเจ็บปวดกว่าผ่าตัดทั้งหมดที่เคยผ่านมารวมกัน
ส่วนตัวผม ตอนผ่าขาท่อนล่าง ขาขวาไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนอะไรจึงเจ็บไม่มาก แต่ขาซ้ายเจอภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อ โครงที่ยือแบบ Illizarov เบี้ยวงอกดกระดูกและเส้นประสาทขาซ้ายขาดต้องผ่าแก้ไข ทำให้ทรมานแทบขาดใจ ต้องใช้ยาแก้ปวด 5 ชนิด รวมถึง มอฟีนช่วย นานถึง 3 เดือน
ส่วนท่อนบนยืดแบบ internal lengthening แพงกว่า แต่ผลข้างเคียงน้อย เจ็บน้อยกว่า 10 เท่า แต่แพงกว่ามาก ถึงยังงั้นก็ยังปวดจนไม่สามารถนอนได้ในบางคืน

7. ทำเสร็จแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร
รู้สึกโล่งใจ มั่นใจขึ้นมาก กล้าแต่งตัว ดูแลสุขภาพดีมาก ชีวิตเปลี่ยน ลืมปมในอดีตไปเลยมีความสุขมากๆ รู้สึกว่าจะเสียดายมากถ้าไม่ได้ทำความสูง แต่ก็รู้สึกว่าผ่านความเสี่ยงมาเยอะมากจนน่ากลัว

8. การผ่าตัดนั้นปลอดภัยแค่ไหน
ตรงๆในไทยแพทย์สภาไม่ยอมรับ มีการแอบผ่ากันเอง ทำได้แค่บ้างโรงพยาบาล ดั้งนั้นคนไข้แทบจะต้องรับผิดชอบผลลัพย์ที่จะเกิดขึ้นเองทั้งหมด
การผ่าตัดใหญ่ไม่มีคำว่าปลอดภัย ปัจจัยเสี่ยคือ หมอ พยาบาล ทีมผ่าตัดทั้งหมด นักกายภาพ และตัวเราเอง ซึ่งในไทยทีมที่ดูแลมีประสบการณ์น้อยมาก กลายเป็นเราต้องสอนเค้า รวมๆคือต่างประเทศน่าจะปลอดภัยกว่า เนื่องจากหมอและทีมผ่าตัดมีประสบการณ์มากกว่ามาก ค่าใช้จ่ายถูกกว่าไทย 20-30%
ที่แนะนำคือ Dr. Paley, Dr.Robert Rozbrush, Doghoon Lee, Dr Betz, และ Dr. Guichet 
ส่วนผ่าตัดในไทยตอนนี้มีคนเดียวที่ยอมทำ หลังไมค์ได้เลยครับถ้าอยากรู้

9. มีวิธีอื่นไหมที่ดีกว่านี้
ในอนาคตจะมีตัว Stryde Precise Nail ซึ่งเป็นแบบ Internal สามารถรองรับน้ำหรักได้มากสุด 110 kg แต่ปัจจุบันยังไม่ผ่าน FDA ใน USA
อุปกรณ์ของ DR. Betz และ Guichet สามารถรับน้ำหนักได้ 100% แต่ Feedback ไม่ค่อยดี ต้องหาข้อมูลเพิ่ม

10. ทำออกมาแล้วขายาวผิดสัดส่วนไหม
ไม่สำหรับตัวผม ก่อนทำเพทย์จะทำการตัดต่อรูปว่าเราจะดูเป็นอย่างไรหลังผ่าตัดเสร็จสิ้น แล้วดูว่าเราพอใจหรือเปล่า 
แน่นอนว่าบางคนขายาวตัวสั้น ทำเพิ่งความสูงแล้วดูไม่สวย ผู้ชายอัตราส่วนขาต่อลำตัวไม่ความเกิน 1.4 ซึ่งหาน้อยมาก แต่ถ้าผู้หญิงขายิ่งยาวอาจยิ่งดูดี

11. ความสูงเท่าไรที่ควรจะทำ 
ความสูงเฉลี่ยชายไทย 171 ญ ไทย 158 ใน กทม +  2 ซม จากค่าเฉลี่ย แต่ผมที่สุดแล้วมันอยู่ที่ใจ เพื่อนผมผู้ชายสูง 158 ทำงานเก่ง รวยกว่าเพื่อน ชีวิตดูมีความสุข แต่งงานแล้ว ภรรยาสูง 170 มี ลูก แล้ว 2 คน ไม่ได้มองว่าตัวเองมีปมด้อย ขนะที่อีกคนเป็นนายแบบและนักเพาะการสูง 177 แล้ว แต่ต้องการสูง 183-184 เพื่อตัวเองจะได้มีงานเพิ่ม
แล้วตัวผมอะหรอ - แค่ไม่ชอบเงยหน้ามองคน ไม่มีความมั่นใจออกเวทีเสนองาน ไม่มั่นใจจีบสาวๆตัวสูง ไม่ชอบโดนล้อเลียนเรื่องความสูง และต้องการแก้ปมในใจแค่นั้น

12. คำแนะนำคืออะไร สรุปแล้ว
สำหรับคนที่กระดูกไม่ปิดก็ยังมีโอกาสดูแลตัวเองไปจะได้สูงต่อ ถ้ากระดูกปิดแล้วทำใจยอมรับความจริงอย่าเป็นเหยื่อการตลาดที่มาหลอกลวงต่างๆ
ถ้าทำให้ตัวเองดูดีได้ หรือสร้างปมเด่นมาทดแทนได้เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ายังทุกข์ใจมากก็ปรึกษาจิตแพทย์ให้ดูแลแต่เนิ่นๆ
ถ้าสุดท้ายๆแล้ววิธีสุดท้ายที่ทำให้คุณมีความสุขไม่ได้จริงๆ การผ่าตัดก็เป็นทางเลือกสุดท้าย และแน่นอนมันจำเป็นต้องมีเงิน+เวลา+คนดูแล
คนที่จะตัดสินว่าแพงหรือไม่คือคุณ
คนที่ตัดสินว่าสำคัญหรือไม่คือคุณ 
และคนที่จะตัดสินว่า จะทำหรือไม่ทำก็คือคุณ
ยินดีตอบคำถามทั้งหมดครับ

แถมๆ
เคยมีการผ่าตัดแบบนี้มานานยัง?
มีการผ่าตัดแบบนี้ในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป โดยมีเคสผ่าตัดอย่างปกติตลอดเวลา และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก มีหมอ ทีมแพทย์เก่งๆก็มาก แต่การผ่าตัดแบบนี้ถูกสงวนสิทธิ์สำหรับผู้พิการขาสั้นยาว ไม่เท่ากัน หรือ โรคแคระ แพทย์จะไม่ผ่าให้คนที่สูงปกติ (145 cm+) พราะมองว่าไม่จำเป็นกับการใช้ชีวิต บวกกับแพทย์ที่ผ่าได้มีน้อย การผ่าตัดเพิ่มความสูงจึงถูกกดลำดับความสำคัญลงไป


สมาชิกหมายเลข 7073099
15 มิถุนายน 2565 เวลา 17:00 น.




โดย: หมอหมู วันที่: 16 มกราคม 2566 เวลา:15:15:11 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]