Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

สธ.พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ให้กลุ่มเสี่ยงฟรี ที่ รพ.ของรัฐ เริ่ม 1 มิ.ย. – 31 สค.2560



สธ.พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่3.5 ล้านโด๊ส ให้กลุ่มเสี่ยงฟรี ที่รพ.ของรัฐเริ่ม 1 มิ.ย. – 31 สค.60

//www.thaigov.go.th/news/contents/details/4076

https://www.hfocus.org/content/2017/05/14016

กระทรวงสาธารณสุขให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่3 สายพันธุ์ แก่ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3.5 ล้านโด๊ส ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านฟรี 1มิถุนายน - 31สิงหาคม2560

นายแพทย์โสภณเมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ว่า โรคไข้หวัดใหญ่เกิดได้ประปรายตลอดทั้งปี โดยจะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาวไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันทั้งนี้เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี จากสถานการณ์ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –1 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วย 22,117 ราย เสียชีวิต 2 ราย เพื่อลดความรุนแรงของโรค การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีการฉีดวัคซีนทุกปี

“ปี 2560 นี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคและ สปสช.จึงขอเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นอกจากป้องกันโรคแล้ว ยังลดภาวะแทรกซ้อน และการแพร่ระบาดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีผลป้องกันร้อยละ 60-70 ดังนั้นประชาชนจึงต้องควบคู่กับการดูแลตนเองโดยหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองจากการสัมผัสผู้ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่การทำร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ และล้างมือให้สะอาดซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวว่า ปี 2560องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด3 สายพันธุ์ ประกอบของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1 N1) สายพันธุ์ใหม่/มิชิแกนแทนแคลิฟอร์เนีย2009, ชนิด A(H3 N2) สายพันธุ์เดิม/ฮ่องกง และไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B สายพันธุ์ เดิม/วิคตอเรีย ขณะที่วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ได้เพิ่มชนิดB/ยามากาตะซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกพิจารณาว่ามีโอกาสพบน้อยที่สุดของทั้งหมดโดยมีความชุกไม่ถึงร้อยละ 5 ทางการแพทย์ถือว่าประสิทธิภาพครอบคลุมใกล้เคียงจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีราคาสูงกว่า

ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจำนวน 3 ล้าน 5 แสนโด๊ส ให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4 แสนโด๊สและประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3 ล้าน 1แสนโด๊ส ประกอบด้วย

1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

3.ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมองไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

5.ผู้มีน้ำหนักตัว มากกว่า 100 กิโลกรัม

6.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

7.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

8.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)

การเตรียมตัวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นก่อนฉีดวัคซีน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ สุขภาพโดยรวมสามรถปฏิบัติงานได้ปกติไม่ป่วยหรือมีอาการไข้ก่อนรับการฉีดวัคซีนนอกจากนี้ผู้ที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 6เดือน ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรงมีประวัติเคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง

โดยทั่วไปอาการข้างเคียงพบได้น้อยส่วนใหญ่เป็นอาการเฉพาะที่ เช่น บวม แดง ตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีไข้ต่ำๆอาการที่เกิดขึ้นมักหายได้เองภายใน 1-3 วัน การดูแลรักษาอาการข้างเคียง หากปวดบวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลในขนาดที่เหมาะสม ส่วนอาการแพ้รุนแรงหลังการฉีดนั้นพบได้น้อยมากจะมีอาการปรากฏให้เห็นภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง หลังฉีด อาจมีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงดัง หอบ เสียงแหบลมพิษ หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนควรสังเกตอาการ 2-4 ชั่วโมง หากมีอาการรุนแรงหรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 02-590-3183


แถม...

ข้อมูลสำคัญไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ สถานการณ์ล่าสุด ... แถม เวบน่าสนใจ

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-11-2009&group=4&gblog=79

จากไข้หวัดใหญ่MEXICOถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 .... บทเรียนสาธารณสุขไทย

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-05-2009&group=4&gblog=76

โรคหน้าฝน... (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-06-2016&group=4&gblog=123




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2560   
Last Update : 6 มิถุนายน 2560 13:44:07 น.   
Counter : 3890 Pageviews.  

โรคซึมเศร้า .. (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)






เครดิตภาพ //med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017




โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีอุบัติการณ์เป็นอย่างไร?
    โรคทางอารมณ์ซึ่งรวมถึงโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) ด้วย สามารถพบได้บ่อยถึง 10-20% ของประชากรทั่วโลก หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจ โรคเครียด โรคคิดมาก ครอบครัวหรือสังคมอาจมองว่าผู้ป่วยหนีปัญหาด้วยการร้องไห้เสียใจ องค์ การอนามัยโลก (WHO) มีการประมาณการณ์ว่าในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการสุญเสียมากที่สุดในทางเศรษฐกิจสังคม เพราะโรคนี้มักเป็นตั้งแต่วัยทำงานและเป็นเรื้อรัง ส่งผลทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาสภาวะพึ่งพิงคนอื่นๆในครอบครัว
    โรคซึมเศร้า สามารถพบได้ในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกเศรษฐสถานะ พบในผู้หญิงมาก กว่าผู้ชาย (ญ:ช = 2:1) โรคนี้ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกายจนทำให้เสียชีวิต แต่ความคิดที่ผิด ปกติจากโรคซึมเศร้า สามารถทำให้ผู้ป่วยมีมุมมองต่อตัวเองและคนอื่นผิดไป จนทำร้ายตนเองได้ ดังนั้นจึงเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

อาการของโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะมีอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ หมดความสนุก หรือหมดอาลัยตายอยาก ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยมีอาการด้านต่างๆ ดังนี้
- อาการทางกาย (Neurovegetative or Somatic Symptoms) เช่น ซึมเศร้า ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆลดลงอย่างมาก เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลดลงมากกว่า 5% ใน 1 เดือน นอนไม่หลับ หรือ นอนมากกว่าปกติ
ปวดหัว/ปวดศีรษะ ปวดท้อง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- อาการทางบุคลิกภาพ เช่น มีอาการพูดช้า พูดเสียงเบา คิดช้า เคลื่อนไหวช้า แยกตัว บางรายมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย นั่งไม่ติด ต้องเดินไปมา
- อาการทางความคิด ผู้ป่วยซึมเศร้ามักมีความคิดมองโลกแง่ร้าย รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือ รู้สึกผิด วิตกกังวล ขาดสมาธิและความมั่นใจ ในรายที่มีอาการมากๆ อาจหลงผิดมากจนเข้าขั้นโรคจิต (Psychosis) เช่น คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้ายตนเอง และคิดฆ่าตัวตายได้
อาการเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หรือทำให้การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญ บกพร่องลงอย่างชัดเจน

สาเหตุ

1.     โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากปัจจัยรวมๆ ทางด้านจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชีวภาพ

2.     โรคซึมเศร้ามักเกิดตามหลังความผิด หรือการสูญเสียจากพราก เช่น บุคคลที่รักตายจาก คนรักตีจาก ความกดดันด้านสังคม การเรียน การงาน หรือการเงิน สภาพชีวิตที่โดดเดี่ยวว้าเหว่ ขาดความรักความอบอุ่น เป็นต้น

3.     โรคซึมเศร้ามิได้เกิดจากสภาพจิตใจที่เปราะบาง อ่อนแอ อย่างที่เข้าใจกันผิดๆ หากแต่มีหลักฐานจากการวิจัยมาตลอด 20 ปีนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสมดุลย์ของสารเคมี ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง มีผลต่ออารมณ์ซึมเศร้าของคน โดยเฉพาะสารซีโรโทนิน นอร์เอปิเนฟรีน และโดปามีน

4.     หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติ ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นกันทุกคน ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดอาการก็คือ ความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์

5.     สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่ง ต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเอง และโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่าย เมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น

6.     หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้

7.     สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม ทางสภาพจิตใจ ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย

สาเหตุ
ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก พัฒนาการของจิตใจ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวเป็นต้น

ปัจจัยสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าได้แก่
1.    กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง
2.    สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้เศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้
3.    ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุจากแต่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับการป่วยเป็นไข้หวัด ก็มักเป็นจากร่างกายอ่อนแอ จากพักผ่อนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย ขาดสารอาหาร ถูกฝน อากาศเย็น ร่วมกับการได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ถ้าเราแข็งแรงดี แม้จะได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เป็นอะไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ แต่ไม่ได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เกิดอาการ การเริ่มเกิดอาการของโรคซึมเศร้านั้นมักมีปัจจัยกระตุ้น มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งอาจไม่มีก็ได้ซึ่งพบได้น้อย อย่างไรก็ตาม การมีสาเหตุที่เห็นชัดว่าเป็นมาจากความกดดันด้านจิตใจนี้ มิได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเราไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติหรือไม่ เราดูจากการมีอาการต่าง ๆ และความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น บ่งถึงภาวะของความผิดปกติที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือ

เกณฑ์การวินิจฉัยว่าเกิดเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง (Major Depressive Disorder) แล้ว ได้แก่
ก. ผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการจากอารมณ์รู้สึกเศร้า และ/หรือเบื่อหน่ายไม่มีความสุข ซึ่งต่างไปจากอดีต รวมกับอาการ 5 อาการ (หรือมากกว่า) ดังจะกล่าวต่อไป โดยมีอาการร่วมกันอยู่นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
1.    มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน จากการบอกเล่าของผู้ป่วยหรือจากการสังเกตของผู้อื่น (หมายเหตุ: ในเด็กและวัยรุ่นสามารถเกิดเป็นอารมณ์หงุดหงิด)
2.    ความสนใจหรือความสุขใจในกิจกรรมต่างๆทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
3.    น้ำหนักตัวลดลง (โดยมิได้เป็นจากการคุมอาหาร) หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ/อย่างมาก หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
4.    นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไปแทบทุกวัน
5.    กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้า ไม่อยากทำอะไรแทบทุกวัน
6.    อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
7.    รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควร แทบทุกวัน
8.    สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลงหรือตัดสินใจอะไรไม่ได้แทบทุกวัน
9.    คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ คิดอยากตายอยู่เรื่อยๆ โดยมิได้วางแผนแน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน
ข. อาการเหล่านี้ต้องมิได้เข้ากับเกณฑ์โรคอื่นๆทางจิตเวช
ค. อาการเหล่านี้ก่อให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือกิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆที่สำคัญ บกพร่องลง
ง. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสารต่างๆ (เช่น ยา) หรือจากภาวะความเจ็บ ป่วยทางกาย
จ. อาการไม่ได้เข้ากับเศร้าจากการที่คนรักเพิ่งสูญเสียไป คนทั่วไปมักจะเป็นอยู่ประมาณ 2 เดือนหลังสูญเสียคนรัก

การรักษาโรคซึมเศร้าทำได้อย่างไร?
ยกเว้นกรณีอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ติดยาเสพติด หรือคิด หรือพยายามฆ่าตัวตาย จึงจำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน

หลังจากแพทย์ประเมินอาการจนค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางร่างกายอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ โรคซึมเศร้าสามารถรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้ เริ่มให้การรักษาโดยให้ยาขนาดต่ำก่อน นัดติดตามการรักษาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงอะไรก็จะค่อยๆ ปรับยาขึ้นไปทุกๆ 1-2 สัปดาห์จนได้ขนาดในการรักษา กระบวนการรักษา ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน จึงสามารถบอกได้ว่าตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ และจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1-2 ปี

แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาลเมื่อ
1.    ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ไม่กินอาหารเลย อยู่นิ่งๆ ตลอดวัน คิดอยากตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย
2.    แพทย์ต้องการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
3.    แพทย์เห็นว่าการรักษาด้วยยาต้องดูแลใกล้ชิด เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย ผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น


ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดยมีหลัก  9 ข้อดังต่อไปนี้
    อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน และปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป
    แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้
    อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง
    พยายามทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับบุคคลอื่น ซึ่งดีกว่าอยู่เพียงลำพัง
    เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไปเช่นการออกกำลังเบาๆ การชมภาพยนตร์ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม
    อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือ การหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี และ ต้องเป็นบุคคลที่สามารถพิจารณาเหตุการณ์นั้นอย่าง ที่ยงตรง มีความเป็นกลาง และ ปราศจากอคติที่เกิดจากอารมณ์มาบดบัง ถ้าเป็นไปได้ และ ดีที่สุด คือ เลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าภาวะโรคซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้น มากแล้ว
    ไม่ควรตำหนิ หรือลงโทษตนเองที่ไม่สามารถทำ ได้อย่างที่ต้องการ เพราะ ไมใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้
    อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะ ซึมเศร้าว่าเป็นส่วนหนึ่งที่แท้จริงของตนเองเพราะโดยแท้จริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของโรค หรือ ความเจ็บป่วย และ สามารถหายไปได้เมื่อรักษา
    ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการ ความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นแต่ก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆ ที่ไม่เข้าใจในความเจ็บป่วยของผู้ป่วย และ อาจสนองตอบในทางตรงกันข้ามและกลายเป็น การซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ

คนใกล้ชิดควรจะช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าดังต่อไปนี้
    การช่วยพยุง หรือประคับประคองทางอารมณ์นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอันได้แก่การรับฟัง ความเข้าใจ ความอดทน ความห่วงใย
    การสนับสนุนและให้กำลังใจการรับฟังผู้ป่วยอย่างตั้งใจ โดยแทนที่จะแสดงท่าทีรำคาญ หรือดูแคลนผู้ป่วย แต่ควรจะชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงตลอดจนความหวัง
    การชักชวนผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรืองานอดิเรกที่เคยให้ความสนุกสนานต่อผู้ป่วย มาก่อน เช่น เดินเล่น ชมภาพยนตร์ หรือเล่นกีฬา แต่ไม่ควรผลักดันมากเกินไป และเร็วเกินกว่าที่ผู้ป่วยจะรับได้เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกไร้ค่าไร้ความ สามารถให้มากขึ้น
    อย่าเรียกร้องให้ผู้ป่วยต้องหายจากโรคอย่างรวดเร็ว อย่ากล่าวโทษผู้ป่วยซึมเศร้าว่าแสร้งทำ หรือขี้เกียจ เพราะถึงแม้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาก็ยังต้องใช้เวลา ช่วงหนึ่งจึงจะมีอาการดีขึ้น

.........................................


กรมสุขภาพจิต แนะคนไทยใช้หลัก 3L คือ Look Listen Link ปฐมพยาบาลทางใจในช่วงเผชิญความโศกเศร้า พร้อมปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง    
ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การแสดงความเศร้าโศกและอาการทางใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เป็นเรื่องปกติ ที่ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก และจะค่อยผ่อนคลายจนเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงประมาณ 6 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้ขอให้ดูแลกันและกัน ด้วยการใช้หลัก “3L” : Look Listen Link  หรือ “3ส.” : สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยงคือ ช่วยกัน สอดส่องมองหา (Look) กลุ่มเสี่ยง เช่น  พูดน้อยลง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม เมื่อพบขอให้  ใส่ใจรับฟัง (Listen) เข้าพูดคุย หรือ สัมผัส จับมือ โอบกอด เพื่อให้ผ่อนคลาย กรณีผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้รับฟังท่าน ชวนท่านคุย เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อพระองค์ท่าน เพื่อลดความโศกเศร้าลง รวมทั้ง ชวนทำกิจกรรม เช่น เข้าวัด ทำบุญ หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ แต่หาก ความโศกเศร้านั้นเป็นอยู่นาน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก ขอให้รีบ ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) หรือนำพาพบแพทย์ ให้การช่วยเหลือ

          ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นำมาซึ่งความโศกเศร้าอันใหญ่หลวงของคนไทยทั้งประเทศ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกคำแนะนำวิธีการดูแลสภาพจิตใจในช่วงที่คนไทยกำลังเผชิญกับบรรยากาศความโศกเศร้าในช่วงนี้ โดย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษา กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประชาชนทุกคนสามารถช่วยกันดูแลสภาพจิตใจกันและกันได้ด้วยการปฐมพยาบาลทางใจตามหลัก 3L คือ
วิธีดูแลสภาพจิตใจ
1. Look
          การมองหาคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน คือคนที่แสดงอาการเสียใจอย่างรุนแรง ร้องไห้ไม่หยุด คร่ำครวญ เครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางจิตใจมากกว่าปกติ คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้เจ็บป่วยเรื้อรังทางทั้งกายและทางจิต รวมถึงผู้ที่มีปัญหาชีวิตอยู่แล้วก่อนหน้า

2. Listen
          คือการรับฟังอย่างมีสติ อย่างตั้งใจ ใช้ภาษากาย เช่น สบตา จับมือ โอบกอด แสดงถึงความสนใจและใส่ใจเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาได้ระบายความรู้สึกออกมา ทำให้เขาคลายความทุกข์ในใจ และจัดการอารมณ์ให้สงบ แต่ให้ระมัดระวังว่าอย่าแสดงความเห็นใจจนมีอารมณ์ร่วมไปกับผู้ที่ประสบเหตุวิกฤต เช่น ร้องไห้ตามไปด้วย เป็นต้น

3. Link
          คือการช่วยเหลือแก้ปัญหาในฐานะที่ทำได้ แต่หากช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วไม่ดี ให้ส่งต่อ โดยเฉพาะหากเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตสามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้การแสดงความเสียใจสามารถกระทำได้แต่มีข้อควรระวัง 3 ข้อคือ
          1. อย่าปล่อยให้ความเสียใจท่วมท้นจนมองไม่เห็นความหวัง
          2. การแสดงออกต้องไม่เกินขอบเขตจนไปกระตุ้นความเห็นต่าง
          3. ไม่ควรหาแพะรับบาปจากความผิดพลาด ควรทำใจให้เป็นธรรม ทำจิตให้เป็นกุศล มุ่งปฏิบัติดีต่อกัน



นอกจากนี้ นพ.ยงยุทธ ยังระบุว่า แม้การสูญเสียพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเป็นความโศกเศร้าอันใหญ่หลวงของปวงชนชาวไทย แต่ก็เป็นโอกาสในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะแสดงความรู้สึกกัน และสืบทอดพระราชปณิธานของพระองค์ เพื่อให้สังคมไทยได้ก้าวเดินต่อไป
    ไม่มีใครอยากสูญเสีย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็ควรจะดูแล จิตใจให้เข้มแข็ง แนะนำ "6 ตัวช่วย ดูแลจิตใจจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" เพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลทางใจของตนเองและครอบครัว

1.ร่วมแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและอาลัยรักต่อพระองค์ท่าน
2.แสดงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อพระองค์ท่านผ่านช่องทางต่างๆ
3.ร่วมทำกิจกรรมสาธารณกุศล ทำความดีแก่พระองค์ท่าน
4.มีสติ ใช้ชีวิตตามปกติ หากเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ควรไปรับบริการจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน
5.สอดส่องดูแลคนใกล้ชิดว่ามีความเศร้าโศกเสียใจรุนแรงกว่าปกติหรือไม่ เช่น ร้องไห้หนักมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ โดยเฉพาะเด็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช และผู้สูงอายุ  ถ้ามี ให้ตั้งสติ รับฟังความรู้สึกให้เขาได้ระบาย อาจใช้การโอบกอด สบตา เพื่อให้เขาคลายความทุกข์
6.ร่วมกันสืบทอดพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้อาจพบกับสถานการณ์ความเห็นต่างของผู้คน จึงขอแนะให้พี่น้องคนไทยรวมพลังความจงรักภักดี รวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อผ่านพ้นความเศร้าโศก ก้าวสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคม ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจคนไทยทั้งชาติ ด้วย 3 ข้อคิด ที่ควรระลึกไว้เสมอ ว่า
1. ความเศร้าโศกเสียใจเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรปิดกั้นการแสดงออก
2. ต่างคนต่างความคิด จึงควรเปิดใจกว้าง ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน
3. เวลาที่เศร้าโศกเสียใจ อาจจะมีหลายๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น จึงควรมองด้วยเหตุและผล
ขณะเดียวกัน ขอให้ พึงระวัง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ระวัง อย่าให้รู้สึกผิดหวังมากเกินไป ให้ใช้วิธีเล่าถึงประสบการณ์ที่ดี ข้อคิดที่ได้จากพระองค์ท่าน การสืบสานพระราชปณิธาน และดูแลช่วยเหลือคนที่มีความเศร้ารุนแรง ด้วย 3 ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง”
2. ระวัง เรื่องความเห็นต่าง ควรปฏิบัติต่อกันอย่างมีสติ และเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มองว่าคนที่กระทำไม่เหมือนตนเองเป็นคนไม่ดี หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม ทั้งระหว่างบุคคลและสื่อสังคม อาจใช้วิธี นิ่งเสีย ตลอดจนสื่อสังคมไม่ส่งต่อสื่อที่สร้างความโกรธ
3. ระวัง การใช้อารมณ์และโทษผู้อื่น เพราะจะมีแต่ผลเสีย ทำลายชื่อเสียงของประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะป้องกันความขัดแย้งและความรุนแรง โดย ป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวของฝูงชนที่มีอารมณ์ และไม่นำผู้ต้องหามาเผชิญกับฝูงชน เป็นต้น

************************* 19 ตุลาคม 2559

//haamor.com/th/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2/

//haamor.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B22/

//med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017

//www.manarom.com/article-detail.php?id=666672




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2559   
Last Update : 21 ตุลาคม 2559 16:32:26 น.   
Counter : 2686 Pageviews.  

โรคที่มากับน้ำท่วม ไฟฟ้าดูด โรคฉี่หนู ... (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)










 

ประเด็นถามตอบ โรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม
ให้สัมภาษณ์ในรายการ รหัสลับหน้าหนึ่ง ออกอากาศทางชอง นิวทีวี
โดย นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค
https://thaigcd.ddc.moph.go.th/2016/informations/view/442
16 กันยายน 2557

¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬
ประเด็นคำถาม    ประเด็นคำตอบ
สาเหตุปัจจัยโรคที่มากับน้ำท่วม    เนื่องจากขณะนี้ เป็นช่วงฤดูฝน จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด เกิดการระบาด แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อโรคและภัยสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก

 โรคที่เกิดตอนน้ำท่วม มีอะไรบ้าง มีกี่ชนิดหลักๆ    โรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม มีดังนี้ คือ โรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคผิวหนัง โรคตาแดง ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคไข้ฉี่หนู สัตว์ แมลงมีพิษกัด ต่อย ได้แก่ งู แมลง และสัตว์อื่นๆ ปลิง อุบัติเหตุ ได้แก่ จมน้ำ ไฟฟ้าดูด วัตถุแหลมคม

โรคติดเชื้อ

โรคผิวหนัง ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดไม่แห้งเป็นเวลานาน อาการในระยะแรก อาจมีอาการเท้าเปื่อยและเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนา และแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังอักเสบได้ การดูแลเบื้องต้น ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และเมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดแล้วเช็ดเท้าให้แห้ง สวมใส่ถุงเท้ารองเท้าและเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้นหากมีอาการเท้าเปื่อยคันให้ทายารักษาตามอาการ

โรคตาแดง ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสน้ำตา ขี้ตาของผู้ป่วยหรือจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย หรือจากแมลงวัน แมลงหวี่ ที่มาตอมตา อาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1 - 2 วันจะเริ่มระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบ แดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปตาอีกข้าง หายได้เองภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ดังนั้น หากมีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที เมื่อมีอาการของโรคควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตาหรือยาป้ายตา หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา ควรนอนแยกจากคนอื่นๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน และไม่ควรไปในที่มีคนมากเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย น้ำมูก และสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่าย อาการคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่บุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อาจมีอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อ และเมื่อไข้สูง เจ็บคอ ไอมาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบหรือปรึกษาแพทย์

โรคปอดบวม เกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสําลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทําให้มีการอักเสบของปอด ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหากมีการสําลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด นอกจากนี้ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย อาการคือ มีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย หรือซึม ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที  โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแตกและมีลมรั่วในช่องปอด หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในผู้ป่วยมีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจหัวใจวายได้ การป้องกัน ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

โรคอุจจาระร่วง เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืน ทำให้มีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือดหรือมูกปนเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย การดูแลตนเองเบื้องต้น ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่(โอ อาร์ เอส) บ่อยๆ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ ที่สูญเสียไปจากการขับถ่าย ไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้ง ก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร  หลังการขับถ่าย และหลังจับสิ่งของสกปรก เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นให้ร้อน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด

โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อนสารพิษหรือท็อกซิน (Toxin) ที่แบคทีเรียสร้างไว้ในอาหาร สารเคมีต่างๆ เช่น โลหะหนัก สารหรือวัตถุมีพิษ ซึ่งพบในพืชและสัตว์ เช่น เห็ด ปลา หอย และอาหารทะเลต่างๆ รวมทั้งกลุ่มเชื้อโรคที่มีการสร้างสารพิษในลำไส้ อาการอาการของโรคนี้มักพบหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2 - 4 ชั่วโมง ในกลุ่มที่มีอาการอาเจียนเป็นหลัก หรือภายใน 1 - 3 วัน ในกลุ่มที่มีอาการท้องเสียเป็นหลัก ทั้งนี้อาการประกอบด้วย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ ปวดมวนท้อง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด การป้องกันทำได้โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกในขณะที่ยังร้อน ปรุงสะอาด เก็บรักษาอาหารไว้ในที่เย็น เพื่อชะลอการเติบโตของเชื้อโรค หากเก็บอาหารนานเกิน 4 ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จ ต้องอุ่นให้ร้อนจัด เพื่อให้ความร้อนฆ่าเชื้อโรคก่อนรับประทานอาหาร

โรคไข้ฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยเชื้อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัข แล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู ได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ ผู้ที่เดินลุยน้ำท่วม คนงานบ่อปลา ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ เชื้อโรคฉี่หนูในสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยทางบาดแผลหรือเข้าทางเยื่อบุอ่อนๆ เช่น  ง่ามมือ ง่ามเท้า เยื่อบุตา ขณะที่แช่น้ำ รับประทานอาหารหรือ ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนู อาการ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ต่อมาอาจมีเยื่อบุตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลืองปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้ การดูแลตนเองเบื้องต้น หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆเมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ซับให้แห้งโดยเร็วที่สุดควรสวมรองเท้าหรือรองเท้าบู๊ทที่เหมาะสม ดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู
 
........................................

กระบวนการเตือนภัยโรคระบาดที่มากับน้ำมีขั้นตอนอย่างไร ประสานกับหน่วยงานอื่นอย่างไรบ้าง     
กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่มากับน้ำมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไรในการควบคุมโรค  

วิธีการป้องกันเบื้องต้น หากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมขัง    เมื่อมีน้ำท่วมขังประชาชนควรระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

สัตว์ แมลงมีพิษกัด ต่อย เช่น
งู พบได้กรณีน้ำท่วม ผู้ถูกงูกัดควรตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ ในกรณีที่ได้รับพิษงู ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้าม กรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล ประคบน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัด แต่จะมีผลเสีย เช่น เพิ่มการติดเชื้อ เนื้อตาย เคลื่อนไหวร่างกายบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดและใช้ผ้าพันยึด หรือผ้าสะอาดพันทับให้แน่นพอประมาณ นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด แจ้งให้แพทย์ทราบลักษณะงูที่กัด และกัดบริเวณใด ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เคยมีประวัติแพ้ยาหรือสารใดๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

แมลง สัตว์อื่นๆ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน กัดต่อย ให้ใช้หลอดเล็กๆ แข็งๆ หรือปลายด้ามปากกาลูกลื่นที่ถอดไส้ออกแล้ว ครอบจุดที่ถูกกัดต่อยและกดให้เหล็กในโผล่ขึ้นมา แล้วจึงใช้วิธีคีบดึงออก อย่าใช้วิธีบีบหรือเค้น เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัดต่อยบวมได้ ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลนตะขาบ แมงป่องกัด ให้ทาแผลด้วยแอมโมเนีย หรือครีมไตรแอมซิโนโลน ถ้ามีอาการปวดมาก มีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์

ปลิง เป็นสัตว์ที่กัดและดูดเลือดคนและสัตว์เป็นอาหาร โดยปล่อยสารที่กระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และสารต้านทานการแข็งตัวของเลือด ทำให้คนที่ถูกกัดเลือดไหลไม่หยุดและเสียเลือดเรื่อยๆ อาการ ที่พบจากการถูกปลิงกัด คือ มีเลือดไหลไม่หยุด ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำท่วมสูงระดับเอวขึ้นไป ควรแต่งตัวให้มิดชิด ใส่กางเกงชั้นในสวมกางเกงขายาวและสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและ หุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง แล้วรัดปากถุง  ให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ปลิงเข้าไปได้ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำนานๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่น้ำท่วมขัง ระมัดระวังบุตรหลานหรือเด็กเล็กที่เล่นน้ำในบริเวณน้ำท่วมขัง เพราะเสี่ยงต่อการที่ปลิงจะเกาะและชอนไชเข้าไปในทวาร รู ช่อง และโพรงต่างๆ ของร่างกายได้ กรณีถูกปลิงกัดหรือดูดเลือด

อุบัติเหตุ
    จมน้ำ ประชาชนที่ประกอบอาชีพทางน้ำ เช่น หาปลา ต้องเข้าพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ควรเดินทางเป็นกลุ่ม และต้องสวมเสื้อชูชีพ หรือเตรียมอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยในการลอยตัวในน้ำได้ เช่น ห่วงยาง เป็นต้น ไม่ควรลงเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำไหลหลาก หากจำเป็นต้องเดินผ่านทางน้ำไหล ให้ใช้ไม้ลองจุ่มน้ำเพื่อวัดระดับความลึกทุกครั้ง ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง หากพบคนจมน้ำ มีวิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องดังนี้ ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้ง 1669 หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตั้งสติอย่าวู่วามลงไปช่วยทันที ควรหาอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อโยนหรือยื่นให้คนจมน้ำลอยตัวได้ แล้วลากเข้าฝั่ง หากจำเป็นต้องลงน้ำไปช่วยเหลือ ต้องมั่นใจว่าว่ายน้ำเป็น และควรมีอุปกรณ์ช่วยเหลือติดตัวไปด้วยเพื่อยื่นให้จับแล้วลากเข้าฝั่ง เมื่อช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำได้แล้ว ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดดหรือวิ่งไปมา เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจอาจเสียชีวิตได้ วางคนจมน้ำให้นอนราบ ตะแคงหน้า เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ไฟฟ้าดูด
    ข้อแนะนำในการป้องกันตนเองจากการถูกไฟฟ้าดูด ดังนี้

    1. ก่อนน้ำท่วมเข้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน ให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือ  ที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน

    2. กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง ให้ปลดสวิตช์ (เบรกเกอร์เมน) ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง และปลดเบรกเกอร์ย่อยลงให้หมด

    3. กรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบน โดยให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าปลดสวิตช์ที่ชั้นล่างให้   เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าเพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง

    4. กรณีบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิตช์ไฟ ด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอาจอยู่
เหนือระดับน้ำ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ *** ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมห้ามใช้งานเด็ดขาด ***

    5. ขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก ห้ามแตะสวิทซ์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า      ที่กำลังเสียบปลั๊ก รวมทั้งการใช้เครื่องสูบน้ำชนิดที่แช่ในน้ำ หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจมีกระแสกระแสฟ้ารั่วขณะใช้งาน และถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตได้

    6. หากระดับน้ำที่ท่วมขังสูงเกินกว่าปลั๊กหรือเมนสวิทซ์อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น  ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดิน ไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ

    7. ระมัดระวัง และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าให้เล่นน้ำบริเวณใกล้เสาไฟฟ้า

การป้องกันเด็กจากการถูกไฟฟ้าดูด ดังนี้

     1. ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย โดยติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากระดับพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากติดตั้งปลั๊กไฟในระดับต่ำที่เด็กเอื้อมมือถึง ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้า หรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ

    2. ไม่วางสายไฟหรือรางปลั๊กไฟกีดขวางทางเดินหรือผนังในจุดที่เด็กสามารถหยิบจับได้ เพราะเด็กอาจนำสายไฟหรือรางปลั๊กไฟมาเล่นจนถูกไฟฟ้าดูดได้

    3. ติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อป้องกันการถูกไฟดูด นอกจากนี้ยังควรต้องศึกษาคู่มือการใช้ให้ดี จะช่วยให้ปลอดภัยทั้งจากไฟดูดและอัคคีภัย

    4. จัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม     หลังจากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ให้ถอดปลั๊ก     เครื่องไฟฟ้าและจัดเก็บให้พ้นมือเด็ก สำรวจอยู่เสมอว่าไม่ให้มีสายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าห้อยลงมาจากโต๊ะ พร้อมที่จะให้เด็กเล็กดึงสายไฟเล่นจนเกิดไฟช็อต หรือดึงสายไฟจนเครื่องใช้ไฟฟ้าตกลงมาใส่ตัว

    5. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกบ้าน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเปียกชื้น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีน้ำเกี่ยวข้องกับระบบการทำงาน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ ควรเช็ดให้แห้งก่อนใช้งาน
ควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังบริเวณที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้าและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เช่นอย่าแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ โดยเฉพาะในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก
หากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าแรงสูงขาดหรือหย่อนลงใกล้พื้น ไม่ควรเข้าใกล้เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และควรรีบแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบเพื่อแจ้งแก่การไฟฟ้าทราบและแก้ไขต่อไป อย่าเสียดายว่าวหรือลูกโป่งที่ติดตามสายไฟ เพราะสายไฟฟ้าแรงสูงนั้นแค่เพียงเข้าใกล้จนเกินไป ก็อาจถูกไฟช็อตอย่างรุนแรงได้

    การช่วยเหลือเบื้องต้นจากการถูกไฟฟ้าดูด ดังนี้ พบผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้าหรือตัวนำที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยางหรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนา แล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือใช้ผ้าคล้องหรือให้ผู้มีความรู้ด้านไฟฟ้าปลดสวิตช์ จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669 หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง ให้หลีกเลี่ยงและรีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือสายด่วน กฟภ. โทร 1129 โดยเร็วที่สุด อย่าลงไปในน้ำ กรณีมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง หาวัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้าเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้นหรือแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จึงค่อยช่วยผู้ประสบอันตราย

    เกิดบาดแผลจากวัตถุแหลมคม เช่น เศษแก้ว ไม้ ตะปู  ที่อาจติดเชื้อโรคแทรกซ้อนและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้การป้องกันอุบัติเหตุจากวัตถุแหลมคม ดังนี้ เก็บกวาดขยะ วัตถุที่แหลมคม ตะปู ในบริเวณพื้นบ้านและทางเดินอย่างสม่ำเสมอสวมใส่รองเท้าบู๊ทขณะเดินในน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคมหากเกิดบาดแผลควรล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดรอบๆแผลแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน แผลที่มีการฉีกขาดมาก หรือแผลลึกมากและมีเลือดไหล ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด



 
สิบห้าโรคที่มากับน้ำท่วม
https://visitdrsant.blogspot.com/2011/11/blog-post_12.html
12 พฤศจิกายน 2554

โรคที่มากับน้ำท่วมแบ่งใหญ่ๆก็มีอยู่ 5 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1. คือโรคที่มากับน้ำจริงๆ (water borne) ที่สำคัญมีอยู่ห้าโรค ได้แก่โรคฉี่หนู ไทฟอยด์ ตับอักเสบจากไวรัสเอ. บิดไม่มีตัว และอหิวาต์ ประเด็นสำคัญคือโรคที่มากับน้ำทั้งหมดนี้มีวิธีป้องกันเหมือนกันหมด ซึ่งมีหลักสำคัญ 5 ข้อ คือ
(1) การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของชุมชน เช่นการบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำขัง การกำจัดขยะ เป็นต้น
(2) การจัดหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม ดีที่สุดคือการนำน้ำดื่มบรรจุขวดจากนอกแหล่งน้ำท่วมเข้ามาดื่ม ดีรองลงมาคือการต้มน้ำก่อนดื่ม ดีรองลงมาคือการใส่คลอรีนในน้ำที่ทำให้ใสแล้ว
(3) การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยันล้างมือ การทานอาหารที่สุกแล้ว เป็นต้น
(4) การกำจัดสัตว์และแมลงพาหะโรค เช่นแมลงวัน แมลงสาบ เพื่อไม่ให้นำสิ่งปนเปื้อนสกปรกมาสู่อาหารหรือน้ำดื่มน้ำใช้
(5) การไม่สัมผัสกับน้ำหรือดินสกปรก ถ้าจำเป็นก็ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่นถุงมือยาง รองเท้าบู้ท กางเกงพลาสติกกันน้ำก็เข้าท่าดีนะครับ แต่ผมเจอคนที่ใส่บอกว่าใส่แล้วต้องระวังนั่งไม่ได้ ไม่งั้นมันฉีกแคว่ก

กลุ่มที่ 2. คือโรคที่มากับพาหะ (vector borne) ซึ่งพาหะเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะมีน้ำ เช่น ยุง และโรคเจ้าประจำที่ยุงนำมาที่เป็นโรคเอ้ก็มีอยู่สองโรคคือไข้เลือดออก และมาเลเรีย

กลุ่มที่ 3. คือพวกที่เป็นโรคจากการสัมผัสแตะต้อง ซึ่งบางครั้งเป็นกันมากทั้งบ้านทั้งเมืองแต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ที่เด่นๆก็มีอยู่สี่โรค คือ ราน้ำกัดเท้า ผิวหนังอักเสบ ตาแดง และโรคมือเท้าปาก (hand foot mouth)

กลุ่มที่ 4. โรคจากการบาดเจ็บ ที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือโรคแผลติดเชื้อแบบไฟลามทุ่ง และโรคร้ายที่ซุ่มเงียบพร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลาคือโรคบาดทะยัก

กลุ่มที่ 5. เป็นโรคทางใจ ซึ่งมีพบบ่อยที่สุดสองโรคคือโรคเครียด กับโรคซึมเศร้า

เบ็ดเสร็จโหลงโจ้งรวมแล้วก็มีด้วยกัน 15 โรค ซึ่งผมขอจาระไนเฉพาะประเด็นสำคัญของแต่ละโรคดังนี้


1. โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

สาเหตุ โรคนี้เกิดบักเตรีชื่อเล็พโตสไปรา มีรูปร่างขดเป็นเกลียว มาจากสัตว์เช่นหนู หรือวัวควาย หรือสุนัข หรือสุกร เป็นเชื้อโรคระดับหัวแข็งทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน

การติดต่อ โรคนี้ออกจากตัวสัตว์โดยมากับมูลหรือปัสสาวะของสัตว์ ปนเปื้อนบนพื้นดินและในน้ำ แล้วเข้ามาสู่คนทางผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผลบ้าง บางทีผิวหนังไม่มีแผลอะไรแต่ผิวหนังเปื่อยเพราะแช่น้ำนานๆ เชื้อโรคก็ผ่านเข้ามาได้ บางครั้งก็เข้ามาทางเยื่อเมือกเช่นเยื่อตา ปาก (น้ำและอาหาร) จมูก อวัยวะเพศ หรือบางครั้งไม่ได้ไปลุยน้ำเน่าน้ำครำที่ไหนกับเขาเลย บังเอิญเจอฝอยละอองของน้ำเข้าจังๆเช่นน้ำกระเด็นเป็นฟองใส่ ก็ติดโรคนี้ได้เหมือนกัน บางรายเป็นทารกยังไม่ทันคลอดออกมาเลยก็ติดโรคแล้วจากคุณแม่ที่เป็นโรคนี้อยู่

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเข้ามาอยู่ในร่างกายคนแล้วเชื้อจะฟักตัวนาน 2-30 วัน ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อเข้าไปในกระแสเลือด ไปซุ่มแบ่งตัวที่เซลตับ เมื่อสะสมกำลังพลได้ที่แล้วก็เฮโลกระจายไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการไข้สูง ไม่สบาย เรียกว่าเป็นโรคระยะเฉียบพลัน ซึ่งจะเป็นอยู่นาน 1-7 วัน แล้วก็จะเข้าระยะสงบ 1-3 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ฝ่ายร่างกายสะสมกำลังรบตั้งหน้าผลิตภูมิคุ้มกันอยู่ จากนั้นก็จะเข้าระยะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำสงครามสู้กับเชื้อโรค ซึ่ง 90% ของผู้ป่วยจะเป็นแบบเบาๆเรียกว่าแบบ “ไม่เหลือง (anicteric)” มีอาการแบบไข้หวัดใหญ่เป็นไข้ปวดเมื่อยตามตัวแล้วก็ค่อยๆซาไป ที่เหลืออีก 10% จะเป็นแบบหนัก เรียกว่าแบบ “เหลือง (icteric)” แบบนี้บางทีเรียกว่าโรคไวล์ตามชื่อคุณหมอไวล์ผู้ค้นพบ จะมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองจากตับอักเสบ อาจมีเลือดออกมาทางปัสสาวะจากไตอักเสบ หรืออาจมีผื่นแบบจุดเลือดออกตามผิวหนังและเพดานปากเนื่องจากหลอดเลือดที่ผิวหนังอักเสบ อาจมีตาแดง อาจปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่องจากการอักเสบที่กล้ามเนื้อ อาจมีอาการไอเป็นเลือดและหอบเหนื่อยจากปอดอักเสบ ตัวหลอดเลือดเองอาจรั่วทำให้สูญเสียของเหลวจากระบบไหลเวียนร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออก และเลือดไหลไม่หยุดจากมีสารช่วยการแข็งตัวของเลือดถูกใช้ไปมาก (DIC) อาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย เจาะเลือดไปตรวจหาภูมิคุ้มกันของโรคฉี่หนู

การรักษา รีบให้ทานยาฆ่าเชื้อภายในไม่เกินวันที่ 5 นับจากเริ่มมีอาการ ยาที่ให้ก็เช่น doxycyclin 100 มก.วันละสองครั้งนาน 7-10 วัน หรือ azithromycin 1 กรัมวันละครั้งนาน 3 วัน เป็นต้น ถ้าเป็นแบบหนักก็ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล โรคนี้จัดว่าเป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่ง คือมีอัตราตายได้ตั้งแต่ 5-40%

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


2. โรคไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อบักเตรีชื่อซาลโมเนลลา ไทฟี ซึ่งเป็นเชื้อที่มาจากคนเท่านั้น ไม่มีในสัตว์อื่นๆ

การติดต่อ เชื้อมาจากคนที่เป็นพาหะ โดยออกมาทางทางอุจจาระและปัสสาวะ แล้วปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่มที่สกปรก หรือติดไปกับมือแล้วเข้าสู่ปากของผู้รับเชื้อ เรียกว่าเป็นเส้นทางจากอุจจาระสู่ปาก (feco–oral route)

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเชื้อเข้ามาในตัวแล้วจะมีระยะฟักตัว 7-14 วัน แล้วจะเริ่มมีไข้แบบสูงขึ้นๆ หนาวสั่น ไม่สบาย ปวดท้อง กดท้องแล้วเจ็บ ท้องผูก ปวดหัว มึนงงสับสน บางครั้งบักเตรีไปตามกระแสเลือดไปเกิดเป็นกลุ่มของจุดสีแดงรูปกลีบกุหลาบเล็กๆอยู่ตามผิวหนัง ยิ่งป่วยนานไปหลายสัปดาห์อาการยิ่งทรุด มีอาการหลายระบบ ทั้ง ท้องเสีย ปอดบวม มีอาการได้ทั้งทางหัวใจ กล้ามเนื้อ ข้อ สมองและประสาท เป็นต้น หรือบางทีก็มีอาการแปลกๆอื่นๆที่คาดไม่ถึง

การวินิจฉัย เจาะเลือดไปตรวจหาภูมิคุ้มกันของโรค (Widal test) หรือนำเลือดไปเพาะหาเชื้อไทฟอยด์

การรักษา ให้ยาฆ่าเชื้อตามผลการตรวจความไวของเชื้อ กรณีที่ยังไม่ทราบผลการตรวจความไวของเชื้ออาจให้ยาฆ่าเชื้อแบบเหวี่ยงแหคลุมไปก่อน เช่นยากิน azithromycin หรือ cefixime หรือยาฉีด ceftriaxone เป็นต้น โรคไทฟอยด์ ถ้าได้รับการรักษาจะมีมีอัตราตายเพียง 0.2% แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราตายได้ถึง 9-13%

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


3. โรคตับอักเสบไวรัสเอ.

สาเหตุ เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ. ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นเตอโรไวรัส

การติดต่อ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เชื้อโรคนี้มากับอุจจาระของคนด้วยกัน แล้วอุจจาระนั้นปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำดื่มหรือมือที่จับสิ่งสกปรกแล้วไม่ได้ล้าง เช่นเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือทำกิจกรรมทางเพศ (ใช้มือสัมผัสอุจจาระ) แล้วมาเข้าปาก เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในดิน หรือในน้ำได้นานหลายเดือน เป็นเชื้อหัวแข็ง ทนแห้ง อยู่ได้แม้ในอุจจาระแห้งๆ แต่ไม่ทนความร้อน คือทนได้เพียง 56 องศาเซลเซียส ขณะที่ทนความเย็นได้ถึง -20 องศา

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเข้ามาสู่ร่างกายแล้ว มีระยะฟักตัว 2-6 สัปดาห์ โดยเชื้อจะเข้าไปในเซลตับแล้วก็จะอาศัยเซลตับปั๊มลูกหลานตัวเองออกมาขยายจำนวนไปโจมตีเซลตับอื่นๆอีกจนตับเสียหาย และเริ่มมีอาการนำให้เห็น คือมีอาการแบบไข้หวัดใหญ่คือไข้ๆต่ำๆ ไม่สบาย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน บางรายก็ปวดท้องเหมือนไส้ติ่ง จากนั้นก็เข้าระยะคัน (icteric phase) อันสืบเนื่องจากตับอักเสบ คือมีตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง คันตามผิวหนัง ท้องเสีย น้ำหนักลด อาจมีปวดข้อ และมีผื่นแบบหลอดเลือดฝอยอักเสบขึ้นตามผิวหนัง จากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นจนหาย แต่มีคนไข้ส่วนหนึ่งจำนวนไม่มากนักที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่นไตวาย ลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น ถ้าเป็นคนสูงอายุ ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 3-20%) จะกลับวนมาเข้าระยะเป็นซ้ำ (relapse phase) คือกลับมามีอาการแบบเดิมได้อีกรอบหนึ่งหรือหลายๆรอบกลายเป็นโรคแบบเรื้อรังไป

การวินิจฉัย เจาะเลือดตรวจดูภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอ. (anti HAV)

การรักษา โรคนี้ไม่มีวิธีรักษาด้วยการทำลายเชื้อโดยตรง ได้แต่ช่วยประคับประคองร่างกายให้อยู่ได้ เช่น ถ้าอาเจียนหรือท้องเสียจนสูญเสียน้ำมากก็อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ เป็นต้น แต่การให้นอนพักให้มากยังไม่มีหลักฐานว่าจะช่วยให้หายจากโรคนี้เร็วขึ้นจริงหรือไม่ โรคนี้จัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง มีอัตราตายในระดับต่ำกว่า 1-2% กล่าวคือถ้าเป็นในคนทั่วไปจะมีอัตราตายต่ำเพียง 4 ใน 1000 แต่ถ้าเป็นในผู้สูงอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปจะมีอัตราตายสูงขึ้นได้ถึง 17.5 ใน 1,000

การปัองกัน นอกจากใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว โรคนี้ยังมีประเด็นสำคัญในแง่ของการป้องกันอยู่สามประเด็น คือ
(1) ถ้ามีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคนี้ เช่นมีคนใกล้ชิดเป็น หรือต้องไปอยู่ในที่แออัดยัดเยียดเช่นศูนย์พักพิง ควรรีบฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะวัคซีนช่วยป้องกันโรคนี้ได้ค่อนข้างดีถึง 80-100%
(2) หากเป็นโรคนี้ในระยะสองสามสัปดาห์แรกจะแพร่โรคได้ง่ายมาก ควรหยุดงานหรือกักตัวเองสักพัก
(3) เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรงดยาแก้ปวดลดไข้พาราเซ็ตตามอลทันที เพราะยานี้มีพิษต่อเซลตับ ถ้าตับอักเสบด้วย กินยานี้เข้าไปด้วย โอกาสที่ตับจะมีปัญหาแบบถาวรจะมากเป็นทวีคูณ นอกจากยาพาราเซ็ตตามอลแล้วแอลกอฮอล์และยาหรือสารพิษต่อตับอื่นๆเช่นยาลดไขมันก็ต้องหลีกเลี่ยงด้วย


4. โรคอหิวาต์

สาเหตุ เชื้อบักเตรีชื่อวิบริโอ โคเลร่า มีอยู่สองสายพันธ์คือพวก O1 หรือ O139 ซึ่งระบาดรวดเร็วและรุนแรง กับพวกที่ไม่ใช่ O1 หรือ O139 ซึ่งมีอาการน้อยและไม่ถึงกับเป็นโรคระบาดรุนแรง เชื่อนี้ชอบอาศัยอยู่ในตัวคนที่เป็นพาหะ และอยู่ในน้ำเน่าเสีย

การติดต่อ โดยการกินเชื้อที่มักมากับน้ำหรืออาหารที่สกปรกเข้าไป มักเกิดในกรณีวิบัติภัยต่างๆที่น้ำดื่มสะอาดหายาก

การดำเนินของโรคและอาการ เชื้อนี้เมื่อกินเชื้อเข้าไปแล้ว มีระยะฟักตัวสั้นมาก ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงถึงห้าวัน แต่คนที่ได้รับเชื้อแล้ว 75% จะไม่ป่วย มีเพียง 25% ที่ป่วย คือเชื้อโรคจะไปแบ่งตัวในสำไส้จนเกิดอาการท้องร่วงถ่ายเหลวเป็นน้ำโกร๊กอย่างเฉียบพลัน ถ้ารักษาด้วยการให้น้ำทดแทนไม่ทันก็อาจถึงตายได้ ทั่วโลกมีคนตายเพราะโรคนี้เป็นแสนทุกปี ยิ่งสกปรก ยากจน ขาดอาหาร ร่างกายทรุดโทรม และลงมือรักษาช้า ยิ่งมีอัตราตายมาก กรณีที่ได้รับการรักษารวดเร็ว โรคนี้มีอัตราตายต่ำมากจนเกือบเป็นศูนย์ แต่ในอดีตซึ่งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา โรคนี้เป็นโรคที่มีอัตราตายได้สูงถึง 50-60%

การวินิจฉัย นำอุจจาระไปเพาะหาเชื้ออหิวาต์

การรักษา โรคนี้รักษาง่ายด้วยการดื่มน้ำเกลือโออาร์เอส.อย่างเดียวก็หายได้ 80% เฉพาะรายที่สูญเสียน้ำระดับรุนแรงเท่านั้นที่ต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อเช่น azithromycin หรือ ciprofloxacin

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น การให้วัคซีนชนิดกินป้องกันอหิวาต์มักสงวนไว้ใช้เฉพาะเมื่อมีการระบาดแล้วเพราะภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะคงอยู่ไม่นาน คือคงอยู่ประมาณ 4-6 เดือนเท่านั้น


5. โรคบิดชนิดไม่มีตัว (shigellosis)

สาเหตุ เชื้อบักเตรีชิเกลลา

การติดต่อ เชื้อโรคนี้มาสู่ตัวเราโดยการกินสิ่งปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะ การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้เพียงแต่กินเชื้อเข้าไปจำนวนไม่กี่ตัว การติดเชื้ออาจเกิดจากการไม่ได้ล้างมือ หรือเกิดจากสัตว์เช่น แมลงสาบ และแมลงวันเป็นตัวนำเชื้อมาสู่อาหารและน้ำดื่ม

การดำเนินของโรคและอาการ เชื้อนี้มีระยะฟักตัว 1-7 วัน โดยมันจะไปขยายจำนวนที่ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก แล้วทำให้มีอาการท้องเสียร่วมกับอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ตะคริว และปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ ในเด็กอาจพบอาการชัก อาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มูก หรือหนอง ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกของฝีเล็ก ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มุดผ่านเยื่อบุลำไส้ เข้าไปก่อฝีในชั้น lamina propria ของลำไส้ใหญ่ นอกจากนั้นเชื้อนี้ยังปล่อยสารพิษ enterotoxin ทำให้อุจจาระเหลวเป็นน้ำ ร่วมกับอาเจียน ส่วนใหญ่เป็นอยู่ 4-7 วันก็หาย แต่ถ้าเจอเชื้อสายพันธุ์ที่สร้างพิษมากเช่น Shigella dysenteriae ก็อาจมีอาการรุนแรงและมีอัตราตายได้ถึง 20% ยิ่งผู้ป่วยอายุน้อยเช่นเด็กเล็กก็ยิ่งเสียชีวิตง่าย

การวินิจฉัย ใช้วิธีนำอุจจาระหรือเอาสำลีพันปลายไม้ป้ายอุจจาระที่ทวารหนัก (rectal swab) ไปเพาะหาเชื้อ

การรักษา ส่วนสำคัญที่สุดของการรักษาคือการให้น้ำเกลือโออาร์เอส.ดื่มทดแทนการสูญเสียน้ำและสารเกลือแร่ การให้ยาปฏิชีวนะที่จำเพาะกับเชื้อที่เพาะได้ (เช่น Norfloxacin) ก็ช่วยลดเวลาการป่วยได้

การป้องกัน ใช้หลักป้องกันโรคที่มากับน้ำ 5 ข้อ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


6. โรคไข้เลือดออก

สาเหตุ เชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีสี่สายพันธ์

การติดต่อ เป็นโรคที่ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยมีพาหะคือยุงลายซึ่งเกิดจากลูกน้ำในน้ำใสที่ขังตามภาชนะรอบบ้าน เมื่อโตเป็นตัวยุงแล้วก็ชอบมาอาศัยอยู่ในบ้านคน

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเชื้อเข้ามาสู่ตัวคนแล้วจะมีระยะฟักตัว 3-14 วัน จากนั้นจึงเข้าระยะเป็นไข้สูงอยู่นาน 2-7 วันจากปฏิกริยาที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายพยายามกำจัดเชื้อ อาจชักเพราะไข้สูง อาจมีจุดเลือดออกตามตัว มีตับโตเนื่องจากเกิดการอักเสบที่ตับ แล้วเมื่อไข้เริ่มจะลงก็เข้าสู่ระยะช็อก จากการที่ผนังหลอดเลือดที่เกิดการอักเสบจนปล่อยให้สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด ทำให้เลือดข้นขึ้นแต่ปริมาตรเลือดลดลงจนไม่พอไหลเวียน ผู้ป่วยจะมีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ไม่ถ่ายปัสสาวะ ชีพจรเบาและเร็ว อาจมีเลือดออกง่าย ถ้าเป็นมากก็ช็อกจนเสียชีวิตได้ ระยะนี้จะนาน 1-2 วัน เมื่อผ่านไปได้ก็จะเข้าระยะพักฟื้น คือค่อยๆดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โรคนี้มีอัตราตายต่ำกว่า 1% แต่ถ้ามีอาการช็อกจะมีอัตราตายสูงถึง 12-44%

การวินิจฉัย เจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้เลือดออก หรือตรวจหาตัว (antigen) เชื้อไข้เลือดออก

การรักษา ไม่มีวิธีฆ่าเชื้อไวรัสเดงกีโดยตรง การรักษาจึงมุ่งไปที่การลดไข้ด้วยยาพาราเซตตามอล (ไม่ใช้แอสไพรินเพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น) การให้ดื่มน้ำเกลือโออาร์เอส.หรือน้ำผลไม้เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวที่ไหลเวียนในหลอดเลือด ถ้ามีอาการช็อก (ซึม ปัสสาวะน้อย กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น) ต้องรีบให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนทางหลอดเลือด

การป้องกัน ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยการกางมุ้งนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนอนหลับตอนกลางวัน เปลี่ยนหรือทำลายแหล่งน้ำทีเพาะพันธ์ยุงรอบๆบ้านเช่นน้ำท่วมขังตามเศษภาชนะ และในบ้านเช่นแจกัน จานรองขาตู้กับข้าว โดยทำลายทุก 7วัน (เพราะวงจรชีวิตของลูกน้ำยุงลายต้องอาศัยน้ำมากกว่า 7 วัน) หรือไม่ก็ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว


7. โรคมาลาเรีย

สาเหตุ เชื้อปาราสิตชนิดหนึ่งชื่อพลาสโมเดียม ซึ่งมีอยู่สี่ชนิด

การติดต่อ เชื้ออยู่ในยุงก้นปล่อง (เพราะเวลากัดคนมันจะกระดกก้นชี้ขึ้นเหมือนปล่องไฟ) ซึ่งเป็นยุงที่อยู่ตามป่า ชอบออกหากินพลบค่ำ กลางคืนไปจนถึงเช้ามืด เมื่อถูกยุงนี้กัด เชื้อมาลาเรียก็จะเข้ามาสู่กระแสเลือด

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อได้รับเชื้อจากยุงแล้ว มีระยะฟักตัว 7-14 วัน โดยเชื้อจะมุดเข้าไปเติบโตในเซลเม็ดเลือดหรือเซลตับ ถึงจุดหนึ่งก็ทำให้เซลเม็ดเลือดและเซลตับแตกเป็นจำนวนมากจนมีอาการหนาวสั่นแล้วเป็นไข้แล้วเหงื่อแตก โดยเป็นในช่วงเวลาแน่นอน เช่น วันละครั้งบ้าง วันเว้นวันบ้าง วันเว้นสองวันบ้าง ในรายที่รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่นโลหิตจาง ไตวาย มีอาการทางสมอง เป็นต้น

การวินิจฉัย เจาะเลือดไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดูตัวเชื้อมาลาเรียในเม็ดเลือด

การรักษา ใช้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย ซึ่งต้องเลือดชนิดยาให้จำเพาะกับชนิดของเชื้อ เช่นยา คลอโรควิน (ถ้าเชื้อยังไม่ดื้อ) ด๊อกซี่ไซคลิน อารติมิสินิน เป็นต้น มาลาเรียจัดเป็นโรคร้าย ในรายรุนแรงมีอัตราตายได้ถึง 20%

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรียอยู่ ซึ่งยังมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย รวมทั้งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพ เช่นบางตำบลของอำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี เป็นต้น ในกรณีที่อยู่อาศัยหรือจำเป็นต้องเข้าไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรีย ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดย
(1) ใช้ยาทาผิวหนังกันยุง ยาที่งานวิจัยพบว่าทากันยุงได้จริงนั้นคือยาที่มีส่วนผสมของสาร DEET (N, N dimethyl-m-toluamide) โดยเลือกยี่ห้อที่มีความเข้มข้นของ DEET สูง คือถ้าสูงถึง 35% จะกันยุงได้นาน 4-6 ชม. ถ้าเข้มข้นถึง 100% จะกันยุงได้นาน 10 ชม.
(2) สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
(3) นอนกางมุ้ง หรือในบ้านที่มีมุ้งลวด
(4) หลีกเลี่ยงการเดินทางช่วงที่ยุงก้นปล่องออกหากิน คือพลบค่ำ กลางคืน ไปจนถึงเช้ามืด


8. โรคราน้ำกัดเท้า

สาเหตุ เชื้อราในกลุ่ม Dermatophytes

การติดต่อ เชื้อราซึ่งมีอยู่ทั่วไปมาเกาะบริเวณผิวหนังของเท้าที่ชื้นแฉะและเปื่อยยุ่ย

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเท้าแช่น้ำหรือย่ำน้ำบ่อยๆนานๆ หนังกำพร้าของเท้าจะหยุดลอก เปื่อยยุ่ย กลายเป็นอาหารสำหรับเชื้อรา ทำให้เชื่อราที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในน้ำ ในดิน ในอากาศ มาเจริญเติบโตที่ผิวหนังของเท้า โดยเฉพาะที่ง่ามนิ้ว หลังเท้า และฝ่าเท้า ทำให้ผิวหนังกลายเป็นขุยขาวๆ ต่อมาก็เป็นร่องแตกเป็นแผล เจ็บ และมีกลิ่นเหม็น

การวินิจฉัย ขูดเอาผิวหนังที่เป็นขุยไปตรวจด้วยกล้องจะพบเชื้อรา

การรักษา ทายาฆ่าเชื้อรา เช่น miconazole ร่วมกับรักษาเท้าให้แห้งอยู่เสมอ

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการย่ำหรือแช่เท้าอยู่ในน้ำนานๆ ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นรองเท้าบู้ท และเมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบล้างเท้าและเช็ดให้แห้ง


9. โรคผิวหนังอักเสบ

สาเหตุ สิ่งระคายเคือง เช่นสารเคมีในน้ำ

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อผิวหนังของเท้า หรือของมือ ต้องสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่นสารเคมีที่อยู่ในน้ำเน่าเสีย จะเกิดการอักเสบของผิวหนัง มีตุ่มน้ำผสมกับปื้นแดงบนผิวหนัง มีอาการคัน เมื่อเกา ก็จะเกิดผิวหนังหนาตัวขึ้นจากการเกา

การรักษา ทาด้วยสะเตียรอยด์ครีม เช่นเบตาเมตาโซนครีม เป็นต้น

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกต้องน้ำเน่าหรือสารเคมี ถ้าจำเป็นต้องสัมผัส ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นถุงมือยาง รองเท้าบูท กางเกงพลาสติก เป็นต้น


10. โรคตาแดง (Conjunctivitis)

สาเหตุ เชื้อไวรัสชนิดอะดีโนไวรัส

การติดต่อ เชื้อจากผู้ป่วย จะผ่านมาทางการคลุกคลีใกล้ชิด ใช้ของร่วมกันเช่นเสื้อผ้า หรือมีสิ่งสกปรกเช่นฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หรือแมงหวี่ตอมตา หรือไม่ได้รักษาความสะอาดของมือทำให้มือนำเชื้อจากสิ่งสกปรกมาเข้าตา

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อรับเชื้อมาแล้วจะมีระยะฟักตัว 12 ชม.ถึง 3 วัน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มีขี้ตามาก มักเป็นนาน 5-14 วัน

การรักษา ไม่มียาที่จะฆ่าเชื้อไวรัสตาแดงได้โดยตรง การรักษาเป็นการบรรเทาอาการ เช่นลดการใช้สายตา หรือแม้กระทั่งปิดตาหากแสบตาหรือแพ้แสงมาก ถ้ามีขี้ตามากซึ่งบ่งบอกว่าอาจมีการติดเชื้อบักเตรีก็อาจใช้ยาหยอดหรือยาป้ายตาที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อบักเตรี

การป้องกัน
1. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากจับหยิบหรือแตะต้องสิ่งสกปรก
2. เข้มงวดเรื่องสุขศาสตร์ส่วนบุคคล ดูแลรักษาเสื้อผ้าและของใช้ให้สะอาด และแห้งอยู่เสมอ
3. หากมีฝุ่น หรือน้ำกระเด็นเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำก๊อกที่สะอาดมากๆทันที
4. เมื่อเป็นตาแดง ควรหยุดงานและหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น


11. โรคมือเท้าปาก

สาเหตุ เชื้อไวรัสในกลุ่มคอกแซกกี้ และเอ็นเตอโรไวรัส

การติดต่อ โรคนี้เป็นกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการกินเข้าปาก ซึ่งเชื้ออาจจะมากับมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ของคนเป็นโรค หรือมากับสิ่งสกปรกเช่นน้ำเน่า หรืออาจจะมากับฝอยละอองของการไอจามผ่านมาทางอากาศ

การดำเนินของโรคและอาการ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของคอหอยและลำไส้ มีระยะฟักตัว 3-5 วัน แล้วจะไปแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่ต่อมทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองที่ลำไส้ จนก่อให้เกิดอาการมีไข้ มีผื่น หรือตุ่มน้ำพอง รวมทั้งที่มือ เท้า และปาก แล้วเชื้อส่วนหนึ่งจะออกไปกับอุจจาระ ส่วนใหญ่โรคนี้จะหายเองภายใน 3-6 วัน แต่มีส่วนน้อย ไม่ถึง 1% ที่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรงเช่นปอดอักเสบ สมองอักเสบ เยื่อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิต

การวินิจฉัย นำอุจจาระ หรือน้ำจากตุ่มพุพอง หรือเมือกในคอ ไปเพาะดูเชื้อไวรัส

การรักษา ไม่มียารักษาโดยตรง รักษาแบบประคับประคองตามอาการที่มี

การป้องกัน
1. ดูแลเรื่องสุขศาสตร์ส่วนบุคคล เช่นการล้างมือบ่อยๆ การไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน รวมทั้งช้อนและซ่อมด้วย
2. หลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกเช่นขยะ น้ำเน่า
3. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่นำเด็กไปในที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก
4. กรณีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ ควรหยุดเรียนอยู่กับบ้านจนหาย


12. โรคแผลติดเชื้อแบบไฟลามทุ่ง

สาเหตุ เชื้อบักเตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบักเตรีในกลุ่มสะเตร็พโตคอคคัส

การดำเนินของโรคและอาการ มักจะเริ่มจากการมีแผลก่อน บางครั้งเป็นแผลเล็กๆเช่นแผลแมลงกัด บางครั้งแผลต้นกำเนิดเล็กหรือปิดไปแล้วจึงมองหาไม่เห็น บางครั้งเป็นแผลที่เกิดจากการเหยียบเศษแก้วหรือของมีคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินลุยน้ำเน่า เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายที่แผล แล้วลุกลามไปยังเซลรอบๆแผล ทำให้เห็นเป็นพื้นที่สีแดง บวม ร้อน รอบๆแผล พื้นที่นี้จะค่อยๆขยายวงกว้างออกไปแบบไฟลามทุ่ง อาจลุกลามไปติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจจบลงด้วยการเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย ใช้วิธีตรวจ (มอง) ดูลักษณะของการเกิดบริเวณปวดบวมแดงที่ขยายตัวออกไปจากแผล

การรักษา ให้ยาฆ่าเชื้อบักเตรีเช่นเพนนิซิลลิน หรือ roxithromycin หรือ pristinamycin

การป้องกัน
1. เมื่อมีบาดแผล ต้องล้างแผลด้วยน้ำก๊อกอย่างทั่วถึงและเขี่ยเอาสิ่งสกปรกออกจากแผลจนแผลสะอาดก่อนที่จะปิดแผล
2. ไม่เกาหรือแกะตุ่ม สิว หรือรอยแมลงกัด เพื่อป้องกันการเกิดแผล
3. เมื่อต้องเดินลุยในน้ำเน่าหรือน้ำครำ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นรองเท้าบู้ท การเกงพลาสติก เป็นต้น


13. โรคบาดทะยัก

สาเหตุ บักเตรีชื่อ โคลสติเดียม เตตานี ซึ่งมีอยู่ในดิน หรือในมูลสัตว์

การติดต่อ เมื่อเกิดบาดแผลสกปรก เช่นแผลของมีคมบาดขณะลุยน้ำท่วม ตะปูตำ แผลสัตว์กัด งูกัด แมลงกัด เชื้อบาดทะยักจะเข้าสู่ร่างกายทางแผล

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัว 2 วันถึง 2 เดือน ในระหว่างนี้มันจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและในที่สุดมันจะผลิตพิษชื่อเตตาโนสปาสมิน ทำให้เกิดอาการเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจนหายใจไม่ได้และเสียชีวิต โรคนี้จัดเป็นโรคร้ายแรง มีอัตราตาย 48-73%

การวินิจฉัย ตรวจหาพิษ (toxin) ของเชื้อบาดทะยักในกระแสเลือด หรือเพาะเชื้อบาดทะยักจากแผล

การรักษา ล้างและตัดแต่งทำความสะอาดแผลให้พอเพียง ให้ยาฆ่าเชื้อบาดทะยักเช่นยา metronidazole ฉีดเข้าเส้น ร่วมกับให้ซีรั่มแก้พิษบาดทะยัก ให้ยาลดการชักเกร็งกล้ามเนื้อ และช่วยการหายใจให้ร่างกายได้ออกซิเจนพอเพียง

การป้องกัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะได้วัคซีนครบอย่างน้อยสามเข็มมาแล้วตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน แต่มักขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น ซึ่งปกติต้องฉีดกระตุ้นอีกหนึ่งเข็มทุกๆสิบปี ดังนั้น กรณีที่มีบาดแผล และในสิบปีที่ผ่านมายังไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้น ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นหนึ่งเข็มทันที


14. โรคเครียด

สาเหตุ มีสิ่งเร้าภายนอกเกิดขึ้น แล้วบุคคลสนองตอบต่อสิ่งเร้านั้นในลักษณะที่เกิดความเครียดต่อร่างกายและจิตใจตนเอง

การดำเนินของโรคและอาการ เมื่อเกิดความเครียด จะมีผลกระทบสี่ด้านคือ
(1) ด้านร่างกาย จะมีอาการของความเครียดเช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือท้องเดิน หรือท้องผูก ใจสั่น นอนไม่หลับ อ่อนเปลี้ย
(2) ด้านจิตใจ จะเกิดความวิตกกังวล รู้สึกไม่มั่นคง ขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้รำคาญ โกรธง่าย ขาดสมาธิที่จะจดจ่อทำอะไร ให้เป็นชิ้นเป็นอัน หมดพลัง อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากยุ่งกับใคร
(3) ด้านพฤติกรรม กินมาก หรือกินไม่ได้ หรือระเบิดอารมณ์ง่ายๆ ติดบุหรี่ ติดแอลกอฮอล์ ติดยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือชอบร้องไห้บ่อยๆ หรือเข้ากับคนอื่นยาก
(4) ด้านทัศนคติ มีความรู้สึกว่ากุมสภาพหรือควบคุมเรื่องสำคัญไม่ได้ มีความรู้สึกว่ามีเรื่องยากๆกองรออยู่ท่วมไปหมดจนยากที่จะทำได้หมด รู้สึกเศร้าใจที่จัดการเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวไม่ได้อย่างใจต้องการ

การวินิจฉัย ใช้แบบประเมินความเครียด ซึ่งเป็นการให้คะแนนใน 20 ประเด็น คือการนอนไม่หลับ ความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ การทำอะไรไม่ได้ ความรู้สึกวุ่นวายใจ การไม่อยากพบปะผู้คน อาการปวดหัวข้างเดียว ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกหมดหวัง ความรู้สึกไร้ค่า ความกระวนกระวาย การไม่มีสมาธิ อาการเพลีย ความเบื่อหน่าย อาการใจสั่น เสียงสั่น ปากสั่น ความกลัวผิดพลาด อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ อาการตื่นเต้นง่าย อาการมึนงง และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การรักษา เริ่มต้นด้วยการจัดการความเครียดด้วยตนเอง ด้วยการ
(1) ค้นหาว่าต้นเหตุของความเครียดคืออะไร แล้วหลีกเลี่ยงได้ถ้าหลีกเลี่ยง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ปรับเปลี่ยนต้นเหตุ ถ้าปรับเปลี่ยนไม่ได้ (เช่นน้ำท่วมเกิดขึ้นแล้ว) ก็ปรับใจยอมรับมัน
(2) เพิ่มศักยภาพของตนเองในการเผชิญความเครียด โดยการ
(2.1) ฝึกให้ร่างกายตอบสนองแบบผ่อนคลาย (relaxation response) อย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ ฝึกหายใจลึก รำมวยจีน ฝึกโยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
(2.2) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ ข้อหนึ่ง ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารต่อต้านความเครียดโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด ข้อสอง รับประทานอาหารให้ถูกต้อง ข้อสาม นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ในการทำงานก็เบรกสั้นๆเพื่อผ่อนคลาย ข้อสี่ ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยา กาแฟ หรือแม้กระทั่งน้ำตาล
(2.3) การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพดี และต้านความเครียดได้ชะงัด ถ้าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะหัวเราะเองได้ ก็ควรพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง
(2.4) เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก สื่อสัมพันธ์คบหากับคนที่คิดบวก ถอนตัวเองออกจากปลักของการชิงดีชิงเด่นเอาชนะคะคานหรือเสริมอัตตาของตัวเอง หันมาสนใจการทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น
(2.5) หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ไปอยู่กับธรรมชาติ จุดเทียนหอม เขียนบันทึก นอนแช่น้ำนานๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสวน ดมดอกไม้ อ่านหนังสือดีๆ ไปใช้บริการนวดคลายเครียด ฟังดนตรี ดูหนังตลก เล่นเปียโน เขียนภาพ ถีบจักรยาน ดูดาว เป็นต้น
หากการจัดการความเครียดด้วยตนเองไม่สำเร็จ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา


15. โรคซึมเศร้า

สาเหตุ เกิดขึ้นจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้หรือหลายอย่างพร้อมกัน เช่น เหตุการณ์เครียดครั้งใหญ่ในชีวิต ปัญหาชีวิตสมรส ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ความเหงา และพันธุกรรม

การดำเนินของโรคและอาการ ผู้ป่วยโรคนี้จะอาการต่อไปนี้อย่างน้อยห้าอย่าง คือ (1) มีอารมณ์ซึมเศร้า (2) ไม่สนใจเรื่องใดๆ หรือสิ่งบันเทิงใดๆ (3) น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่มผิดตา (4) นอนไม่หลับ หรือเอาแต่นอนหลับทั้งวัน (5) การเคลื่อนไหวลนลาน หรือเชื่องช้าผิดจากเดิม (6) เปลี้ยล้าหรือหมดพลัง (7) รู้สึกตัวเองไร้ค่า (8) ตั้งสติไม่ได้ คิดอะไรไม่ตก ตัดสินใจอะไรไม่ได้ (9) คิดวนเวียนเรื่องความตาย อยากตาย การฆ่าตัวตาย

การรักษา ควรเริ่มรักษาตัวเองด้วยวิธีเดียวกับการรักษาโรคเครียด ถ้าไม่สำเร็จ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งมักจะมีการใช้ยาต้านซึมเศร้าด้วย ยาในกลุ่มนี้ต้องใช้นาน 3 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเริ่มเห็นผล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์



หัวข้อ : ช่วงนี้น้ำท่วม....โรคที่มากับน้ำท่วม โรคไหนที่รุนแรง อันตราย และมีวิธีป้องกัน หรือรักษาอย่างไร
ที่บ้านโดนน้ำท่วมแล้วค่ะ และกลัวโรคที่มาจากน้ำท่วม อยากทราบวิธีป้องกัน และ ถ้าเกิดโรคแล้วต้องรักษาอย่างไร ที่ไหน...
ผู้ตั้ง : รักษ์ ปราจีน    อีเมล์ : ruk@gmail.com    2013-10-09 15:03:24
https://www.riskcomthai.org/th/call-center-detail.php?id=20210

      จากสภาวะน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้น มักมีปัญหาสุขภาพอนามัยหลายด้าน เพราะกระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก/เชื้อโรคให้แพร่กระจาย ทำให้แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู โรคผิวหนัง โรคตาแดง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ระมัดระวังสัตว์มีพิษและของมีคม รวมถึงการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟดูดไฟช็อตอีกด้วย ทั้งนี้สภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก จึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วม เป็นต้น

สำหรับการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมที่สำคัญ สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
1. โรคผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า  โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง
    - ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ
    - ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งหลังลุยน้ำ โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า
    - สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น ควรทำความสะอาด ตากแดดให้แห้ง และไม่ควรใส่ซ้ำ
2. โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ
                - ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่บ่อยๆ
                - ให้ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นให้ร้อน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด รวมถึงภาชนะที่ใช้ ควรทำความสะอาดและเก็บไว้ในที่แมลง/สัตว์นำโรคเข้าไม่ถึง
                - อาหารกล่องที่ได้รับแจก ควรรับประทานทันทีอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้อาหารบูด เน่าได้ หากมีเหลือควรทิ้งใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง
                - อาหารกระป๋อง / บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป / อาหารแห้ง ให้ตรวจสภาพและวันหมดอายุก่อน หากมีลักษณะผิดปกติหรือหมดอายุให้ทิ้ง
    - กำจัดสิ่งปฏิกูล/ขยะมูลฝอย โดยตรวจสอบถุงขยะก่อนนำมาใช้ว่าไม่มีรอยชำรุดฉีกขาด และมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด
    - เมื่อมีอาการท้องเสีย ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

3. โรคฉี่หนู
                - หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ หากจำเป็น ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ให้เรียบร้อย เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ซับให้แห้งโดยเร็วที่สุด
                - กินอาหารที่สะอาด และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด
                - ดูแลที่พักให้สะอาด และเก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
    - หากมีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

4. ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม
                - รักษาร่างกายให้อบอุ่น และไม่สวมเสื้อผ้าเปียกชื้น
                - ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
                - หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้หวัด และควรสวมหน้ากากอนามัยเวลาไอจาม
                - เมื่อเริ่มมีอาการไข้ ควรนอนพักมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ  ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว ถ้าอาการไม่ดีขึ้น คือ มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก นานเกิน 2 วัน ให้ไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้เคียงโดยเร็ว

5. โรคไข้เลือดออก
    - นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด และควรตรวจสอบว่ามุ้งลวดคงอยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุดฉีกขาด
    - หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่เป็นมุมมืด และอับลม
    - ให้สวมเสื้อผ้าหลวมๆ แขนยาว ขายาว และควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม   
    - ทายากันยุงในกรณีที่มีความจำเป็น อ่านวิธีใช้และคำเตือนบนฉลาก และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด   

6. โรคตาแดง
    - ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา หรือสัมผัสตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
    - อย่าปล่อยให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา และไม่ควรขยี้ตา
    - หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ และดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ
                - ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
    - ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ และควรหยุดโรงเรียนหรือหยุดงานจนกว่าจะหาย

7. การเสียชีวิตจากการจมน้ำ
                - ห้ามดื่มสุรา รวมถึงงดออกหาปลา/เก็บผัก และเล่นน้ำในบริเวณน้ำลึกและเชี่ยว
                - ให้สวมเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ และให้เดินทางเป็นกลุ่ม

8. ไฟดูดไฟช็อต
    - ให้ตัดวงจรไฟฟ้าในชั้นที่น้ำท่วมไม่ถึง
    - ยกเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง
    - ย้ายปลั๊กไฟให้พ้นน้ำ
    - หากยืนในน้ำ ต้องไม่จับเครื่องใช้ไฟฟ้าและให้อยู่ห่างเสาไฟ

 9. สัตว์มีพิษและของมีคม
    - เก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษและอุบัติเหตุจากของมีคม
    - หากน้ำยังท่วมไม่ถึงบ้าน ให้โรยปูนขาวล้อมรอบบ้าน จะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษมิให้เข้ามาในบริเวณบ้านได้ กรณีน้ำท่วมเข้าบ้านแล้ว ให้ใช้น้ำมันก๊าดราดบริเวณรอบที่พักอาศัย จะทำให้สัตว์ไม่เข้ามาอาศัยอยู่ พร้อมเตรียมยาฆ่าแมลงไว้ฉีดพ่นไล่สัตว์มีพิษ
    - กรณีเดินลุยน้ำ ให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มิดชิด และสวมรองเท้าบูท ควรใช้ไม้เขี่ยหรือกระทุ้งน้ำให้น้ำกระจาย จะทำให้สัตว์ตกใจและหนีไป

10. วัคซีนในเด็ก
    หากมีเด็กเล็กที่ต้องได้รับวัคซีน ควรรีบพาเด็กไปรับวัคซีนตามนัด หรือหากเลยเวลานัดไปแล้ว ควรให้เด็กมารับวัคซีนให้เร็วที่สุด


ที่มาข้อมูล : สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค


 

ในฤดูฝน ฝนตกหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง รู้หรือไม่ว่าคุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคฉี่หนูได้

          โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรคหลัก รวมทั้งสัตว์อื่นๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุนัข สุกร อีกด้วย  มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยอาจเกิดจากการสัมผัสเลือด หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของสัตว์ที่มีการติดเชื้อ ซึ่งการกัดก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน

          ผู้ที่เป็นโรคฉี่หนู มักจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร กดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

          โดยทั่วไปแล้วจะรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ ให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol)
โรคนี้สามารถหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรง อาจทำให้อาการแย่ลง และทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด
ควรรู้จักวิธีป้องกันตัวเองโดย

          - หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ

          - หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร

          - หากไปสัมผัสกับแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ ให้รีบทำความสะอาดร่างกาย

          - กินอาหารสุกใหม่

          - กำจัดขยะให้ถูกต้องไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้

          จะเห็นได้ว่าโรคฉี่หนูนั้นอันตราย หากมีอาการดังกล่าวข้างตน ให้รีบไปพบแพทย์  หากไม่รีบรักษาอาจทำให้อาการแย่ลง จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1817?fbclid=IwAR37AsEU-FzQyFuOMyIwLpQXACx2ubiXX1EQ5lb9Tu4DrbSKXipJFy8lkk8




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2559   
Last Update : 11 กันยายน 2563 16:07:36 น.   
Counter : 6316 Pageviews.  

โรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-and-Mouth disease) ..นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง




 
โรคมือเท้าปาก
เวบสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  https://www.pidst.net/A297.html   

โรคมือเท้าปากคืออะไร
            โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

โรคมือเท้าปากติดต่อได้อย่างไร
          เชื้อ ไวรัสแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โรคมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ

อาการของโรคมือเท้าปากเป็นอย่างไร
            เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก มีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้ มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและน้ำน้อยลง
โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มักเกิดจากเชื้ออีวี 71 มีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน

โรคมือเท้าปากรักษาได้อย่างไร
            โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ เด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่าง ใกล้ชิด

โรคมือ-เท้า-ปาก ป้องกันได้อย่างไร
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อได้ ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
            ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ แจ้งโรงเรียนและเด็กควรหยุดเรียนจนกว่าจะหาย ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน โรคนี้หายได้เอง แต่ควรเฝ้าระวังอาการซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น

........................................
 
โรค มือ-เท้า-ปาก และโรคจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาล

โรค มือ-เท้า-ปาก
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีหลายตัวที่ทำให้เกิดได้ โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุด คือ เอนเตอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี71 ที่มีการระบาดรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็เป็นเชื้ออีวี 71 นี่เอง ประเทศไทยเราก็พบเชื้ออีวี71 ร่วมกับเอนเตอโรไวรัสตัวอื่นๆด้วย  แต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยรุนแรง

อาการของโรคมือ-เท้า-ปาก
เด็กที่เป็นโรคมือ-เท้า-ปาก มักเริ่มด้วยอาการไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขาได้ ผู้ป่วยมักมีอาการมากอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่บางรายมีอาการมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้
            โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัว และหายเองโดยไม่มีปัญหา แต่อาจมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือพบปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้ออีวี 71 จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น
            ปัญหาแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือ ก้านสมองอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหายใจและระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ซึ่งถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งเชื้ออีวี 71 อาจทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรงได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบ มือ-เท้า-ปากได้ เด็กที่จะมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงหรือสมองอักเสบ จะมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน การระบาดของโรคมือ-เท้า-ปาก ในประเทศไทยในขณะนี้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดีต้องระวังอาการรุนแรงไว้ด้วย แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม

การรักษาโรคมือ-เท้า-ปาก
            โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยวิกฤต

การติดต่อของโรค มือ-เท้า-ปาก
            โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

 วิธีป้องกันโรค มือ-เท้า-ปาก
            ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น เด็กทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป แล้วทำให้แห้ง ควรระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกัน ควรสอนให้เด็กๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
    โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดี ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ไม่ควรพาไปโรงเรียน หากพบว่าเป็นโรคนี้ควรให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และ เมื่อหายป่วยแล้ว เด็กที่เป็นโรคนี้ยังมีเชื้ออยู่ในอุจจาระได้ นานหลายสัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเด็กหายป่วยแล้ว ยังต้องมีการระวังการปนเปื้อนของอุจจาระต่ออีกนาน ควรเน้นการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนรับประทานอาหารแก่เด็กและผู้ใหญ่ทุกคน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพราะแอลกอฮอลล์เจลจะฆ่าเชื้อเอนเตอโรไวรัสไม่ได้
            ในช่วงที่มีการระบาด ไม่ควรนำเด็กไปในที่ที่มีเด็กอื่นอยู่รวมกันจำนวนมาก เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้เนื่องจากมีเด็กที่เป็นโรคนี้และแพร่เชื้อได้โดยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ที่อาจไปอยู่รวมกัน

การป้องกันการระบาดในสถานรับดูแลเด็กหรือโรงเรียนชั้นอนุบาล
            1. มีการตรวจคัดกรองเด็กป่วย ได้แก่ เด็กที่มีไข้ หรือเด็กที่มีผื่น หรือมีแผลในปาก ไม่ให้เข้าเรียน ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยบางคนที่มีอาการน้อยมาก หรือมีบางคนที่มีอาการไข้แต่ไม่มีผื่น ควรต้องจัดหาเครื่องมือวัดอุณหภูมิ (ปรอท) ไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กจะมีไข้ และมีครูหรือพยาบาลตรวจรับเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน
            2. ควรมีมาตรการในการทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน หรือเมื่อมีการเปื้อนน้ำลาย น้ำมูกหรือสิ่งสกปรก
            3. มีมาตรการเคร่งครัดในการล้างมือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ดูแลสัมผัสเด็กเล็ก โดยเฉพาะในทุกครั้งที่อาจสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้
            4. หากมีการระบาดเกิดขึ้นหลายราย ควรพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนด้วย เพื่อหยุดการระบาด

...........................................


 
โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth Disease)
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
วว.กุมารเวชศาสตร์, อว.โลหิตวิทยา
https://haamor.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81/

บทนำ
โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth disease) เป็นโรคที่ กุมารแพทย์และแพทย์ทั่วไปพบได้บ่อย บางครั้งมีข่าวระบาดที่นั่นที่นี่อยู่เนืองๆ เร็วๆนี้มีการระบาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน มีผู้ป่วย เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดการตื่นตระหนกมาถึงประเทศไทยจากการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านเรา พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรต้องทราบเรื่องโรค การป้องกัน ตลอดจนการดูแลรักษาเพื่อให้ลูกหลานปลอดภัย
โรคนี้พบได้ตลอดปีในแถบร้อนชื้น มักเป็นในเด็กเล็ก พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี แต่พบในเด็กอายุ มากกว่านี้ก็ได้ และหากมีการเกิดโรคในสถานเลี้ยงเด็ก หรือในโรงเรียนอนุบาล ก็จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเพราะโรคนี้ระบาดได้ง่าย หากการควบคุมป้องกันโรคไม่เข้มแข็ง
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ถึง 1 กรกฏาคม 2555 มีเด็กป่วย เป็นโรคมือ เท้า ปาก และเฮอร์แปงไจนา (Herpangina การติดเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนัง และตุ่มน้ำในปาก ซึ่งแยกจากโรคมือ เท้า ปาก ด้วยอาการและการตรวจร่างกายยาก) จำนวน 10,813 คน โดยไม่ได้เกิดจาก เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71, เชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง) และไม่มีรายงานการเสียชีวิต ซึ่งผู้เขียนคาดว่า ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการไม่มาก และอาจไม่ได้ไปโรงพยาบาล จึงไม่ได้รายงานเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าว พบผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน และมากขึ้นกว่า 5 ปีก่อน ซึ่งเชื่อว่าจากระบบการรายงานผู้ป่วยที่ดีขึ้น
จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปากคิดเป็น 17.2 คนต่อประชากร 100,000 คน เด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี พบ 242.76 คนต่อประชากร100,000 คน ตามด้วยกลุ่มอายุ 5-9 ปี 18.70 คนและอายุ 10-14 ปี 2.54 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ
เด็กชายพบบ่อยกว่าเด็กหญิงคิดเป็นอัตราส่วน 1:0.72
ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี พบมากที่สุดในอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 และ 3 ปีโดยมีจำนวนผู้ป่วยเป็น 28.18%, 26.11% และ 17.39% ของผู้ป่วยตามลำดับ
พบผู้ป่วยในภาคเหนือมากที่สุด คือ 26.61 รายต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 26.03, 16.58 และ 8.52 รายต่อประชากร 100,000 คนตามลำดับ
อนึ่ง โรค เท้า-ปาก ที่เกิดในสัตว์ (Foot-and-Mouth disease หรือ Hoof-and-Mouth disease) เป็นคนละโรคกับโรคนี้ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นกัน แต่คนละสายพันธุ์กับที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปากในคน โรคเท้า-ปากในสัตว์เกิดเฉพาะในสัตว์กีบคู่ (เช่น วัว ควาย หมู แพะ และแกะ) มี วัคซีนฉีดป้องกันในสัตว์ และโดยทั่วไปไม่ติดต่อสู่คน ยกเว้นมีรายงานการติดเชื้อบ้าง ในคนที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ป่วย หรือที่ปฏิบัติงานในห้องทดลองเกี่ยวกับโรคในสัตว์นี้

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก?
โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า คอกแซคกีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A 16) ในบางครั้งเมื่อเกิดการระบาดอาจเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71), คอกแซคกีไวรัส เอ 5, 7, 9, 10 และคอกแซคกีไวรัส บี 2 และ 5 และอาจเกิดจากเชื้อไว รัส เอ็คโคไวรัส (Echovirus) ได้บ้าง
***** อนึ่ง เชื้อที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงรุนแรง ถึงกับเสียชีวิตคือ เอ็นเทอโรไวรัส 71

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้อย่างไร? มีระยะฟักตัวนานเท่าไร?
โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง ทางหนึ่งจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระ หรือน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย อีกทางหนึ่งจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายมาจากผู้ป่วย
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 3-6 วัน ผู้ป่วยจึงจะมีอาการ (ระยะฟักตัวของโรค)

โรคมือ เท้า ปากมีอาการอย่างไร?
ส่วนใหญ่ เด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก จะมีอาการน้อย โดยอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ และมีตุ่มน้ำ หรือตุ่มแดงๆที่มีการอักเสบกระจายทั่วไปบริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้านหลังของคอหอย กระพุงแก้ม หรืออาจจะทำให้มีแผลตื้นๆบนเยื่อบุปากที่อักเสบ
มักพบมีผื่น หรือตุ่มน้ำ บริเวณมือและเท้า ซึ่งจะเจ็บ ส่วนใหญ่จะพบตุ่มน้ำบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขนาดประมาณ 3-7 มิลลิเมตร (มม.) มักพบเป็นตุ่มน้ำรูปรีๆ เหมือนลูกรักบี้ อาจพบตุ่มน้ำบริเวณหลังเท้าหรือบริเวณก้นได้ ซึ่งตุ่มน้ำเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับแพทย์หากเห็นตุ่มน้ำที่บริเวณริมฝีปาก ฝ่ามือและฝ่าเท้าก็จะวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปากได้ไม่ยาก
โรคมือ เท้า ปากที่เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าที่เกิดจากเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 โดยมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ทางระบบประสาท (มีการอักเสบของก้านสมอง เนื้อสมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะแขน ขาอ่อนแรง /อัมพาต) ระบบหัวใจ และปอด ได้สูง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากภาวะปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด และภาวะช็อก อย่างไรก็ตามเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่พบได้น้อยกว่า จากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มาก
เด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปากมักจะกินอาหารและนมได้น้อยลง เด็กเล็กๆ จะมีน้ำลายยืดมาก กว่าปกติเพราะมักจะเจ็บปาก กลืนไม่ได้ หากแบมือ และดูที่ฝ่าเท้าจะพบมีตุ่มแดงๆในช่วงแรก ซึ่งต่อมาจะโตขึ้นและเห็นเป็นตุ่มน้ำชัดเจน

แพทย์วินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร?
ส่วนใหญ่ในทางคลินิก แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จาก อาการ และการตรวจร่างกายของผู้ป่วย
การตรวจหาเชื้อไวรัส เช่น การเพาะเชื้อไวรัส หรือการตรวจหาในระดับโมเลกุลเพื่อการวินิจฉัยเฉพาะเจาะจงอาจทำในกรณีที่มี การระบาดของเชื้อไวรัสเหล่านั้น ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ทำสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ อาจต้องแยกจากโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น
•    การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้ออกผื่น เช่น จากโรคไข้รูมาติก
•    การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและตุ่มน้ำในปาก ที่เรียกเฮอร์แปงไจน่า (Her pangina) ซึ่งจะเห็นมีตุ่มน้ำบริเวณเพดานอ่อนหรือบริเวณคอหอย
•    และต้องแยกอาการแผลในปากจากเชื้อโรคเริม เฮอร์ปีย์ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex) ซึ่งทำให้เกิดตุ่มน้ำและแผลที่เหงือกได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หากมีอาการทางระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ หรือ อาการทางหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต้องแยกจากเชื้อที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้นด้วย ซึ่งหากอาการเหล่านั้นเกิดตามหลังการมีตุ่มน้ำในบริเวณที่กล่าวไปแล้ว ก็ทำให้แพทย์นึกถึงว่า เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคมือ เท้า ปากมากขึ้น

รักษาโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร?
เนื่องจากโรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัส และส่วนมากอาการไม่รุนแรง การรักษาที่สำคัญคือ การรักษาตามอาการ
ในขณะนี้ มีการรักษาโดยยาบางชนิด หรือสารที่ช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้นในกรณีที่มีการติดเชื้อชนิด รุนแรง แต่การรักษายังอยู่ในวงจำกัดซึ่งต้องการหลักฐานจากการศึกษาทางการแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นอันตรายจากยาที่รักษา

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรนำเด็ก/ผู้ป่วยพบแพทย์ เมื่อ
1.    เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูงซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อได้รับการรักษาและได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้อง
2.    เมื่อมีแผลที่ริมฝีปาก มือ เท้า และ/หรือ ร่วมกับมีอาการกินไม่ได้ มีไข้สูง
3.    มีอาการซึม หรือหงุดหงิดไม่สุขสบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
4.    มีอาการเขียวคล้ำที่ตัว มือ เท้า หรือชัก ซึ่งแสดงว่ามีอาการหนักมาก
อนึ่ง ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการมาก แพทย์จะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

ดูแลเด็กโรคมือ เท้า ปากที่บ้านอย่างไร?
เด็กที่ เป็นโรคมือ เท้า ปาก จะเจ็บปากมาก กินอะไรไม่ค่อยได้ ผู้เขียนจะแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ลูกกินน้ำเย็น กินนมแช่เย็น หรือเอานมแช่แข็งให้ หรือไอศกรีม เด็กจะกินได้เพราะความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บ
แรกๆพ่อแม่ผู้ปกครอง มักกลัวว่ากินของเย็นแล้วไข้จะขึ้น แต่ที่จริงแม้ไม่กินของเย็น ไข้ก็ขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น หากเด็กเจ็บปาก ลองให้ลูกกินน้ำเย็น นมเย็นดู เขาจะกินอย่างหิวกระหาย การที่เด็กกินได้ ทำให้ไม่เพลียและฟื้นไข้ได้เร็ว
หากมีไข้ให้เช็ดตัวและให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ลดไข้

ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร? มีวัคซีนไหม?
เนื่องจากโรคนี้ติดต่อโดยการได้รับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจ เอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย และปัจจุบัน ยังไม่วัคซีนป้องกันโรคนี้ ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญ คือ
1.    ผู้เลี้ยงดูเด็ก และเด็ก ต้องล้างมือให้สะอาด ทั้งหน้ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ รอบนิ้วมือ เล็บ ข้อมือทั้งสองข้าง หลังขับถ่าย ก่อนปรุงอาหาร หรือก่อนรับประทานอาหาร และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่านำบุตรหลานเข้าไปในที่แออัด เมื่อมีการระบาดของโรค
2.    เมื่อบุตรหลานมีอาการของโรคมือ เท้า ปาก ควรให้อยู่บ้าน ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะนำโรคนี้ไปแพร่ให้เด็กอื่น
3.    สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กที่หน้าโรง เรียนเกี่ยวกับเรื่องไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก มือและเท้าในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากสงสัยโรคมือ เท้า ปาก ควรให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้านและไปพบแพทย์ อย่านำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน และควรให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคให้ทราบโดยทั่วกัน
4.    ในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลควรเน้นบุคลากรและเด็กในการดูแลตนเองตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนอย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่างๆอาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็ก ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
5.    การทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว คลอรอกซ์ หรือ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
6.    หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคมือ เท้า ปากต้องปิดห้อง เรียน หรือโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน 

........................................


อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือน 17 จังหวัดเสี่ยงโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะเด็กเล็กแรกเกิดถึง 4 ขวบ แนะถ้าพบเป็นไข้-มีแผลในปาก และตุ่มที่มือหรือเท้า ให้รีบพบแพทย์
            เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-8 กันยายน 2558 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 26,407 ราย เสียชีวิต 3 ราย ที่ จ.สระบุรี ตาก และชลบุรี โดยล่าสุดเป็นเด็กอายุ 4 ขวบ เสียชีวิตปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ จ.ชลบุรี ทั้งนี้ ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมากในภาคกลางและภาคใต้ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยและเสียชีวิต คือ เด็กเล็กอายุแรกเกิดถึง 4 ขวบ ที่สำคัญในปีนี้พบว่าเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงมีสัดส่วนสูงกว่าทุกปีเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝนนี้มีการพยากรณ์โรคว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากไวรัสหลายชนิด ซึ่งทุกปีจะมีปะปนกันระหว่างเชื้อค็อกซากี เอ 16 (Coxsackie A6) และอีวี 71 แต่ในปีนี้จากการส่งตรวจเชื้อ พบเชื้ออีวี 71 ค่อนข้างมาก ซึ่งเชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงสูงและถูกจับตามองมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยแต่ละปีก็จะพบประปราย แต่ไม่ต้องกังวลเพราะถ้าพบโรคเร็วและรักษาทัน ก็สามารถรักษาหาย วิธีสังเกตอาการเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปากนั้น ปกติจะหายเองร้อยละ 90 ภายใน 7-10 วัน
อาการของโรคว่า หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีตุ่มแดงขนาด 2-8 มิลลิเมตรที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ต่อมาจะเห็นเป็นตุ่มน้ำสีเทาเล็กๆ แต่ตุ่มน้ำจะแตกเร็ว เห็นเป็นแผลตื้นๆสีออกเหลืองเทา และมีผื่นแดงล้อมรอบแผลเล็กๆ อาจรวมเป็นแผลขนาดใหญ่ ซึ่งแผลเหล่านี้จะเจ็บและทำให้เด็กไม่รับประทานอาหาร อีกทั้งยังทำให้ลิ้นมีสีแดงและบวมได้ แต่รอยโรคเหล่านี้มักจะหายไปใน 5-10 วัน
ส่วนผื่นที่ผิวหนังนั้น อาจเกิดพร้อมกับแผลในช่องปาก หรือเกิดหลังแผลในช่องปากเล็กน้อย อาจมีเพียง 2-3 จุด หรือมากกว่า 100 จุด โดยพบที่มือมากกว่าที่เท้า รอยโรคมักเป็นที่หลังมือ ด้านข้างของนิ้วมือ หลังเท้าและด้านข้างของนิ้วเท้า มากกว่าที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นได้ด้วย รอยโรคที่ผิวหนังระยะแรกจะเป็นผื่น หรือตุ่มแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มิลลิเมตร ที่ตรงกลางมีตุ่มน้ำสีเทา มักเรียงตามแนวเส้นของผิวหนัง และมีผื่นแดงล้อมรอบ ผื่นเหล่านี้จะคงอยู่ได้ 2-3 วัน อาจมีอาการเจ็บ กดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ต่อมาจะเป็นสะเก็ดและตกสะเก็ดใน 7-10 วัน จนผิวแลดูปกติไม่มีแผลเป็น
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ด้วยยา ทายาแก้ปวด ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม  การกินน้ำเย็น กินนมแช่เย็น หรือเอานมแช่แข็งให้ หรือไอศกรีม เด็กจะกินได้เพราะความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บ
หากเด็กมีอาการป่วยที่รุนแรง คือ มีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มแดงขึ้นบริเวณหัวเข่า ข้อศอก และก้น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ซึมลง หายใจหอบ และมีอาการเหม่อลอย วินิจฉัยไว้ก่อนว่าเป็นเชื้อ EV71 ให้รีบพาพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เนื่องจากเชื้ออาจกระจายจนก้านสมองอักเสบ ส่งผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้อัตราการเต้นผิดปกติ และเด็กมีโอกาสหัวใจวาย น้ำท่วมปอด และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 วัน ดังนั้นหากมีไข้สูง ขอให้รีบพาพบแพทย์โดยเร็ว.
       ขอความร่วมมือผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงเด็ก เข้มงวดเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ โดยยึดหลักสุขอนามัยที่ดีคือ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ส่วนการป้องกันโรคมือเท้าปาก ทำได้ดังนี้
1. ล้างมือ ฟอกสบู่ (การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้) ไม่ใช้ช้อนป้อนเด็กร่วมกัน พี่เลี้ยง สัมผัสอุจจาระ เปลี่ยนผ้าอ้อมต้องล้างมือ
2. ห้องเด็กควรเป็นห้องโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี
3. ทำความสะอาดเครื่องใช้ของเล่นเด็กด้วยสาร sodium hupochlorite โดยใช้ hypochlorite ทำให้เจือจาง 5:25% ให้เป็น 1 : 50 หรือ clorox สารละลาย คลอรีน เช็ดถูให้สะอาด (สามารถฆ่าเชื้อได้)
การทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยสารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน  ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
4. เด็กที่ป่วยต้องแจ้งให้โรงเรียนพื้นที่ ทราบ และหยุดอยู่บ้าน จนแผลทุกแห่งหาย ประมาณ 1 สัปดาห์ และหากพบเด็กป่วยในเวลาไล่เลี่ยกันมากกว่า 2 คน ขอให้พิจารณาปิดเรียนและทำความสะอาด เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด
5. ผู้ปกครอง ไม่พาเด็กไปที่มีคนหมู่มาก ห้าง สนามเด็กเล่น ในช่วงที่มีการระบาด
6. บอกความเป็นจริงทั้งผู้ปกครองและสถานเลี้ยงเด็ก จะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคลงได้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรนำเด็ก/ผู้ป่วยพบแพทย์ เมื่อ
1.    เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูงซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อได้รับการรักษาและได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้อง
2.    เมื่อมีแผลที่ริมฝีปาก มือ เท้า และ/หรือ ร่วมกับมีอาการกินไม่ได้ มีไข้สูง
3.    มีอาการซึม หรือหงุดหงิดไม่สุขสบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
4.    มีอาการเขียวคล้ำที่ตัว มือ เท้า หรือชัก ซึ่งแสดงว่ามีอาการหนักมาก

       ติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
          สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล ทุกแห่ง
          ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3333
          สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3194
          แจ้งการระบาดของโรคได้ที่ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-1882

........................................

Hand, foot and mouth & Herpangina, Aphthous pharyngitis Bureau of Epidemiology, DDC, MPH  
ICD-10 : B08.4(HFM), B08.5 (Herpangina) กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ
https://www.boe.moph.go.th/fact/Hand-Foot-Mouth.htm

1. ลักษณะโรค
    เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ที่พบเฉพาะในมนุษย์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบการติดเชื้อในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น จะปรากฏอาการดังกล่าว 3-5 วัน แล้วหายได้เอง แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ
    ส่วนใหญ่โรค HFMD โดยเฉพาะที่เกิดจาก coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจาก EV71 อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ในการระบาดที่ไต้หวันพบสูงถึงร้อยละ 30 อาจเป็นแบบ aseptic meningitis ที่ไม่รุนแรง หรือมีอาการคล้ายโปลิโอ ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตจะเป็นแบบ encephalitis ซึ่งมีอาการอักเสบส่วนก้านสมอง (brain stem) อาการหัวใจวาย และ/หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด (acute pulmonary edema)
    โรค HFMD ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ โรค Herpangina ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-7 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ coxsackievirus A1 และ EV71 ผู้ป่วยจะมีไข้ฉับพลันและมีแผลเปื่อยเล็กๆ ในลำคอบริเวณเพดาน ลิ้นไก่ ทอนซิล มีอาการเจ็บคอมากร่วมกับมีน้ำลายมาก ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิต และอาจมีอาการกลืนลำบากปวดท้องและอาเจียน โรคจะเป็นอยู่ 3 - 6 วัน และมักจะหายเอง

2. การวินิจฉัยโรค
    ใช้การวินิจฉัยตามอาการ ส่วนการตรวจหาเชื้อสาเหตุนั้น โดยการเพาะแยกเชื้อไวรัสจากอุจจาระ หรือ throat swab หรือ nasal washing หรือ nasal aspiration ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ควบคู่กับการตรวจทางน้ำเหลือง (serology) ในตัวอย่างเลือด acute และ convalescent serum เพื่อดู antibody ต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุ

3. สาเหตุ
    เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มที่อยู่ในลำไส้ของคน (enteroviruses) มีหลายสายพันธุ์สำหรับสายพันธ์ที่ก่อโรค HFMD ได้แก่ coxsackievirus group A, type 16 (พบบ่อย) และ group A type 4, 5, 9 และ 10 ; group B type 2 และ 5 และ enterovirus 71
    สายพันธ์ที่ก่อโรค Herpangina ได้แก่ coxsackievirus, group A, type 1-10; 16 และ 22 และ enterovirus 71
    ความทนทานของเชื้อ enteroviruses
        ถูกทำลายโดยแสงอุลตราไวโอเล็ต ในสภาพที่แห้งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน
        ถูกทำลายโดยการต้มที่ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แต่ถ้ามีเกลือ magnesium อยู่ด้วย จะยังทนอยู่ได้
        เชื้อมีชีวิตอยู่ได้หลายวันในอุณหภูมิห้องและเมื่ออยู่ในสภาพที่มีโปรตีนผสมอยู่ด้วย เช่น ในน้ำนม ไอศกรีม หรือครีม จะมีชีวิตอยู่นานกว่าในน้ำ การทำให้น้ำนมปราศจากเชื้อ โดยวิธี pasteurization สามารถทำลายเชื้อได้
        คลอรีนผสมน้ำ 0.1 ppm, (part per million) สามารถทำลายเชื้อได้ หากทำลายเชื้อในอุจจาระจะต้องใช้คลอรีนที่เข้มข้นมากกว่านี้
        ฟอร์มาลินขนาด 0.3% สามารถทำลายเชื้อได้
        เชื้อนี้ค่อนข้างทนทาน ไม่ถูกทำลายโดยอีเธอร์ แอลกอฮอล์ และสาร deoxycholate

4. วิธีติดต่อ
    กินเชื้อผ่านเข้าปากโดยตรงจากมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ (ซึ่งอาจจะยังไม่มีอาการ) หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และโดยการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของการไอ จาม ของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ( droplet spread)
    การแพร่เชื้อมักเกิดได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งมีเชื้อออกมามาก เชื้อจะอยู่ในลำคอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของคอหอยและลำไส้ เพิ่มจำนวนที่ทอนซิลและเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ และเชื้อจะออกมากับอุจจาระ
    ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า การแพร่กระจายของโรคเกิดจากแมลง น้ำ อาหาร หรือขยะ

5. ระยะติดต่อ
    ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และอาจยาวนานหลายสัปดาห์

6. ระยะฟักตัว
    ปกติ 3-5 วัน

7. อาการและอาการแสดง
    HFMD มีอาการไข้สูงอาจเกิน 39 องศาเซลเซียส 2 วันแล้วจะมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5 - 38.5 องศาเซลเซียส อีก 3-5 วัน บางครั้ง อาจบ่นเจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่กินอาหาร พบตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม อาจมี 1 แผล หรือ 2-3 แผล ขนาด 4-8 มิลลิลิตร เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล พบตุ่มพอง (vesicles) สีขาวขุ่นบนฐานรอบสีแดง ขนาด 3-7 มิลลิเมตร บริเวณด้านข้างของนิ้วมือ นิ้วเท้า บางครั้งพบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า ส่วนมากมีจำนวน 5-6 ตุ่ม เวลากดจะเจ็บ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแตกเป็นแผล จะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในเด็กเล็กๆ บางครั้งจะพบมีผื่นนูนสีแดงเล็กที่ก้น ส้นเท้า ส่วนใหญ่จะไม่เป็นตุ่มพอง หายไปได้ภายใน 1-3 วัน
    อาการและอาการแสดง : Herpangina จะมีไข้อย่างเฉียบพลัน บางครั้งไข้อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในเด็กโตจะบ่นปวดศีรษะ ปวดหลัง อาจมีอาเจียน เจ็บคอ น้ำลายไหล จากนั้นจะพบตุ่มพองใส ขนาด 1-2 มิลลิเมตร 2 ข้างของบริเวณเหนือต่อมทอนซิล (anteriar fauces) ซึ่งอาจแตกเป็นแผล หลังจากระยะ 2-3 วันแรก แผลจะใหญ่ขึ้นเป็น 3-4 มิลลิเมตร จะเห็นเป็นสีขาวเหลืองอยู่บนฐานสีแดงโดยรอบ ทำให้มีอาการเจ็บคอหรือกลืนลำบากเวลาดูดนมหรือกินอาหาร เด็กจะมีอาการน้ำลายไหล ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 3-6 วัน ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิต

8. ระบาดวิทยาของโรค
    เกิดขึ้นทั่วโลก มีลักษณะเกิดกระจัดกระจายหรือระบาดเป็นครั้งคราว มักมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน (พฤษภาคม - มิถุนายน) มักเป็นกับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ค่อยพบในวัยรุ่น การระบาดมักเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มเด็ก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล กลุ่มเสี่ยงต่อโรค โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี และพบสูงสุดในเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อยู่กันอย่างแออัด และมีฐานะยากจน และถ้ามีการระบาดเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีโอกาสที่จะแพร่ไปสู่เด็กที่มีอายุมากขึ้นจนถึงวัยรุ่น และความรุนแรงของโรคก็จะเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคจาก enterovirus ทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่มิถุนายน 2541 โดยสำนักระบาดวิทยาทำการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งในระยะแรกเป็นการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ใน 14 โรงพยาบาลและขยายเป็นการเฝ้าระวังทั่วประเทศใน พ.ศ. 2544
    ความไวรับและความต้านทานต่อโรค : โดยทั่วไปจะไวรับต่อการติดเชื้อได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะจำเพาะต่อเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุโดยที่อาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่ไม่ทราบช่วงเวลา การติดเชื้อครั้งที่สองอาจเกิดได้จากการติดเชื้อ coxsackievirus group A ชนิดที่ต่างไป

9. การรักษา :
    รักษาตามอาการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด ทายาที่ลดอาการปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ มีอาการสมองอักเสบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายโปลิโอ จำเป็นต้องให้การรักษาแบบ intensive care และดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

10. การป้องกันและควบคุมโรค
    10.1 มาตรการป้องกัน ลดการสัมผัส คนสู่คน เท่าที่จะทำได้ โดย
        ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สนามเด็กเล่นและห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
        หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและระมัดระวังการไอจามรดกันให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
        ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร และรับประทานอาหารและภายหลังการขับถ่าย
        ใช้ช้อนกลางและหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน

    10.2 การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม :-
        การรายงานโรค ระบบเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
        การแยกผู้ป่วย ระวังสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยในหอผู้ป่วยแม่และเด็กเกิดอาการเจ็บป่วยที่ บ่งชี้ว่าจะเป็นการติดเชื้อ enterovirus จะต้องระวังเรื่องสิ่งขับถ่ายอย่างเข้มงวด เพราะอาจทำให้ทารกติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงได้
        ห้ามญาติหรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ enterovirus เข้ามาในหอผู้ป่วยหรือหอเด็กแรกเกิด หรือห้ามเข้าใกล้ทารกหรือหญิงท้องแก่ใกล้คลอด
        การทำลายเชื้อ ต้องทำลายเชื้อในน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ของผู้ป่วยอย่างรวดเร็วปลอดภัย ล้างทำความสะอาด หรือทำลายสิ่งของปนเปื้อน หลังสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนหรือสิ่งขับถ่าย
        การกักกัน ไม่ต้อง
        การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส ไม่มี
        การสอบสวนผู้สัมผัสและค้นหาแหล่งโรค ค้นหา ติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดในกลุ่มเด็กอนุบาลหรือสถานเลี้ยงเด็ก

    10.3. มาตรการเมื่อเกิดการระบาด วิเคราะห์สถานการณ์เป็นรายวัน จำแนกและแยกผู้ป่วยนอก ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม เฝ้าระวังผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ทำการควบคุม ป้องกัน โดยทำลายสารคัดหลั่งต่างๆจากผู้ป่วยทั้งในบ้าน สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงพยาบาล

    10.4.มาตรการควบคุมโรคระหว่างประเทศ ไม่มี

    10.5.โอกาสที่เกิดการระบาดใหญ่ ในสถานรับเลื้ยงเด็ก หากมีผู้ป่วยในสถานรับเลี้ยงเด็ก มีโอกาสแพร่ระบาดได้
 




 

Create Date : 30 มิถุนายน 2559   
Last Update : 19 มีนาคม 2565 15:20:25 น.   
Counter : 7060 Pageviews.  

โรคหน้าฝน ... (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)






โรคที่มากับหน้าฝน


ในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน โดยมี 5 กลุ่ม รวม 15 โรค ได้แก่

1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่ลำไส้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
- โรคไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และบี ยังสามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นในหน้าฝนนี้จึงควรระมัดระวังอาหารการกินเป็นพิเศษ โดยรับประทานอาหารที่สุกใหม่ ๆ สะอาด ใช้ช้อนกลาง

2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนังที่พบบ่อย คือ
- โรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เองใน 3-5 วัน ส่วนน้อยอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้
- โรคแลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู อาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้ โรคนี้มักเป็นเกิดในที่ที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น
-.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา

3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H1N1 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ ที่ขณะนี้พบการระบาดทั่วประเทศ และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปี เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้

4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่
-.ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้านซึ่งจะวางไข่ในน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่าง ๆ ผู้ป่วยระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลง พร้อมกับอาจจะมีอาการเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือ ช็อก ได้
- ไข้สมองอักเสบเจอี(Japanese Encephalitis)มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการซึมลงหรือชักได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือพิการหากไม่ได้รับการรักษา
- โรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงหนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมองได้
- โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา และ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

5.ภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่
- ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนาน ๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก
- อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน
- ภัยจากฟ้าผ่า และภัยจากอุบัติเหตุทางถนน

     สิ่งที่ต้องระวัง คือ การรับประทานยาลดไข้ เช่น ห้ามกินยาในกลุ่มแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอยู่แล้ว หากได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีก จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น และอาจเกิดเป็นกลุ่มอาการไรซินโดรม ซึ่งมีผลต่อทุกอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองและตับ อาการที่พบ ได้แก่ ผู้ป่วยอาเจียนอย่างมาก และมีอาการทางสมอง เช่น สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึมและหมดสติ จนเสียชีวิตได้

     ในการป้องกันโรคในฤดูฝน ทำได้โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่น ๆ อยู่แล้ว ต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้ม รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

................................................................


@@ สธ.เฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดหลังน้ำลด

โรคที่พบได้บ่อยหลังน้ำลดที่เป็นอันตรายถึงเสียชีวิต คือโรคฉี่หนู ส่วนใหญ่เชื้อโรคจะอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และหากมีไข้สูง ตาแดง ปวดน่อง ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ซึ่งโรคนี้มียารักษาให้หายได้ หากรักษาได้ทันท่วงที
#โรคฉี่หนู #โรคหลังน้ำลด

อ่านรายละเอียด
https://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=104581

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ข้อมูลสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรครายงานตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 - 16 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 17,170 คน เสียชีวิต 14 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี รองลงมาคืออายุ 5-9 ปี อายุ 15-24 ปี อายุ 0-4 ปี และ 25-34 ปี ตามลําดับ อาชีพที่มากที่สุดคือนักเรียน ร้อยละ 42.76 รองลงมาได้แก่ รับจ้างร้อยละ 18.85

ซึ่งมาตรการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ คือ ได้แก่ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

..................................................................

กรมควบคุมโรค เตือนช่วงหน้าฝนเก็บเห็ดป่ามากิน อาจเป็น“เห็ดพิษ” อันตรายถึงตายได้ เผยปีที่แล้วพบผู้ป่วยกว่า 1 พันราย เสียชีวิตถึง 10 ราย

          วันนี้ (30 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นประจำ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน แต่เนื่องจากเห็ดป่านั้นมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

            จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 14 พ.ค. 2559 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 65 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 35-44 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ  อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 42.9  รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง  สำหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ จำนวน 1,316 ราย ผู้เสียชีวิต 10 ราย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน (มิ.ย.–ก.ย.) พบผู้ป่วยรวมกันมากถึง 985 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกิดเหตุในช่วงดังกล่าวเช่นกัน สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยโสธร อุบลราชธานี เลย ศรีสะเกษ และพังงา

            นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน  เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก  ซึ่งเห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถกินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงอีกคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า แต่ยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ส่วนเห็ดชนิดสุดท้าย คือ เห็ดหมวกจีน จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็กของบ้านเรา

ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนําไปต้มกับข้าวสาร เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

         นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า สำหรับอาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน  จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย(หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ นัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

         ในโอกาสนี้ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร  รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422


ข้อมูลจาก :
- ผศ.นพ.เมธี ชยะกุลคีรี ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคติดเชื้อฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล https://health.sanook.com/3585/
- สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เผยแพร่โดย : สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
https://www.riskcomthai.org/th/news/mass-media-detail.php?id=33680
https://www.riskcomthai.org/th/news/mass-media-detail.php?id=33708



.............................................

โรคหน้าฝน ... (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-06-2016&group=4&gblog=123

โรคหน้าหนาว ...นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=19-12-2017&group=4&gblog=134

โรคหน้าร้อน โรคลมแดด

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-04-2016&group=4&gblog=11




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2559   
Last Update : 6 กันยายน 2561 14:43:19 น.   
Counter : 6130 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]