Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน



ต่อเนื่องจาก ... เรื่อง ... ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=09-06-2008&group=4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน
บทความพิเศษ …. สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ( สปรส. )
โดย ….. พท.นพ. สุรจิต สุนทรธรรม

ตรวจสุขภาพดีจริงหรือ
ในปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญต่อการตรวจสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นการตอบรับต่อกระแสการป้องกันโรคก่อนการรักษา ตามทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพ แต่การตรวจสุขภาพที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือยัง และการตรวจสุขภาพเป็นแนวทางของการป้องกันก่อนรักษาจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่บุคลากรสาธารณสุขรวมทั้งประชาชนทั่วไปต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้การตรวจสุขภาพแต่ละครั้งเป็นการตรวจที่ก่อให้เกิด "สุขภาพดี" อย่างแท้จริง

ตรวจสุขภาพเพื่ออะไร
ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคเอกชนได้กำหนดให้พนักงานหรือบุคลากร โดยเฉพาะการรับคนที่จะสมัครเข้าทำงาน เข้ารับการศึกษา หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ต้องได้รับการตรวจร่างกายหรือต้องมีใบรับรองการตรวจร่างกายหรือต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ป่วยด้วยโรคตามที่กำหนด เพื่อคัดกรองไม่ให้บุคคลที่อาจมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ได้เข้าทำงาน เข้ารับการศึกษา หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อันจะลดการก่อให้เกิดภาระแก่หน่วยงาน มากกว่าที่จะมีจุดประสงค์เพื่อการป้องกันโรคและการสร้างเสริมให้บุคคลเหล่านั้นมีสุขภาพดี การตรวจสุขภาพในลักษณะนั้นจึงเป็นการ "ตรวจหาโรค" คือพยายามค้นหาว่า บุคคลนั้นมีโรคอะไรอยู่ในตัวบ้างหรือไม่ จากความเข้าใจนั้นได้กลายเป็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมว่า "การตรวจสุขภาพ คือการตรวจหาว่ามีโรคอะไรอยู่บ้างหรือไม่"

ต้องการอะไรกับการตรวจสุขภาพ
ขอให้เราได้ไตร่ตรองดูว่า หากเราต้องการจะรับการตรวจสุขภาพของตัวเราเองแล้ว เราต้องการอะไร สิ่งที่เราต้องการก็คือ ต้องการให้ตัวของเรามีสุขภาพพีและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บใช่หรือไม่ และหากเราต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวการตรวจสุขภาพนั้นจะต้องนำไปสู่การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ

ความหมายของ "การตรวจสุขภาพ"
ดังนั้น ความหมายที่ถูกต้องของ "การตรวจสุขภาพ" คือ การตรวจสอบภาวะอันเป็นสุข และตรวจหาอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีผลทำให้ภาวะอันเป็นสุขนั้นเสียไป และหัวใจของการตรวจสุขภาพ คือการตรวจค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค และหากสามารถขจัดได้ก็จะส่งผลให้ไม่ต้องเป็นโรค

ส่วนการตรวจหาความเจ็บป่วยหรือหาว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่นั้นควรเป็นเรื่องสุดท้ายในการตรวจสุขภาพ ซึ่งโรคที่สมควรตรวจหานั้น ต้องมีหลักฐานจากการศึกษาค้นคว้าอย่างชัดเจนแล้วว่า การตรวจพบโรคนั้นๆ ตั้งแต่ระยะที่ยังปราศจากอาการแล้ว มีประโยชน์ต่อตัวเรามากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการปรากฎแล้ว

ป้องกันย่อมดีกว่าแก้
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุเป็นแดนเกิด เมื่อเหตุดับแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ดับ (ไม่เกิดอีก) นี้เป็นพุทธอมตพจน์ที่เราทุกคนทราบกันดีอยู่โรคทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน คือมีเหตุมีปัจจัยชักนำให้เกิดเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายเหมือนกัน เราเรียกสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคดังกล่าวว่า "ปัจจัยเสี่ยง" ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหรือทุกขภาพมีมากมายหลายอย่าง สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
พฤติกรรมหรือแบบรูปชีวิตที่ส่งเสริมการเป็นโรค (เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การกินอาหารสุกๆ ดิบๆ) ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นเหตุปัจจัยที่ทรงอิทธิพลก่อให้เกิดโรคหรือก่อทุกขภาพได้มากที่สุด คือถึงร้อยละ 53
สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ (เช่นการอาศัยอยู่ในบ้านหรือทำงานในบริเวณที่มีคนสูบบุหรี่) เป็นปัจจัยที่สร้างเสริมให้เกิดโรค หรือก่อทุกขภาพที่สำคัญเช่นเดียวกัน คือถึงร้อยละ 31
ปัจจัยชีวภาพ (เช่น พันธุกรรม) เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคร้อยละ 16 และโรคที่มีพันธุกรรมเป็นปัจจัยเสริมส่วนใหญ่ (เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ) หากบุคคลนั้นได้รับการสร้างเสริมสุขภาพพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ก็จะสามารถลดโอกาสการเป็นโรคดังกล่าวลงได้อย่างมาก แต่อาจต้องทำมากกว่าเข้มงวดกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยพันธุกรรมเท่านั้น

การตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง
องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของการตรวจสุขภาพไว้คือ การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอันจะส่งผลทำให้สุขภาพเสียไป ซึ่งเราไม่ได้ตระหนัก (คือยังไม่ทราบ ยังไม่ยอมรับ และยังไม่ปฏิบัติ) ดังนั้นการตรวจสุขภาพจึงเน้นที่การตรวจก่อนการเป็นโรค ไม่ได้เน้นที่การตรวจหาว่าที่เป็นโรค ไม่ได้เน้นที่การตรวจหาว่าเป็นโรคอะไรบ้างแล้วหรือยัง การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องจะทำให้เราได้รู้ว่า "เรายังมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง" เพื่อจะได้ขจัดเหตุปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะได้ไม่ต้องเป็นโรค ดังนั้น การตรวจสุขภาพก็คือ การตรวจดูว่า สิ่งที่เราควรละนั้น เราได้ละแล้วหรือยัง และสิ่งที่ควรทำเราได้ทำอย่างเพียงพอแล้วหรือยังเป็นสำคัญ แล้วนำคำแนะนำที่ได้ไปปฏิบัติ

ตรวจพบโรคตั้งแต่ต้นดีกว่าจริงหรือ
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นอยู่หลายประการ และบางครั้งถ้าไม่ทราบที่ไปที่มาของข้อมูลสถิติอาจชักนำให้เข้าใจผิดได้มาก โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เช่น มีข้อมูลว่า โรคมะเร็งอวัยวะหนึ่งหากตรวจพบในระยะที่ 1 (แรก) แล้วได้รับการรักษาพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตที่ระยะ 5 ปี ร้อยละ 80 และหากตรวจพบในระยที่ 4 (สุดท้าย) พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตที่ระยะ 5 ปี ร้อยละ 10 ข้อมูลดังกล่าวหมายความว่า การตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวตั้งแต่ระยะที่ 1 แล้วให้ผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการแล้วจริงหรือไม่

คำถามข้างต้นดังกล่าวอาจตอบได้ทั้ง "จริง" และ "ไม่จริง" สิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นประการแรก ได้แก่ระยะเวลาการดำเนินโรค หากโรคมะเร็งดังกล่าวมีการดำเนินโรคจากระยะที่ 1 ไป จนถึงระยะที่ 4 ใช้เวลานานมาก เช่น 20 ปี ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอาจหมายความว่า ผู้ที่ตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะที่ 1 ไปจนถึงระยะที่ 4 ใช้เวลานานมาก เช่น 20 ปี ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอาจหมายความว่า ผู้ที่ตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะที่ 1 จำนวนถึงร้อยละ 20 ที่เสียชีวิตในระยะ 5 ปี แต่ถ้าไม่ได้รับการตรวจพบหรือไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจำนวนร้อยละ 20 ที่เสียชีวิตในระยะ 5 ปี แต่ถ้าไม่ได้รับการตรวจพบหรือไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจำนวนร้อยละ 20 ดังกล่าวอาจไม่เสียชีวิต หรือยังไม่มีอาการเลยก็ได้ ดังมีตัวอย่างจากการศึกษาการตรวจศพผู้ชายอายุที่มากกว่า 70 ปี ที่ไม่เคยมีอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเลย และเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเลย พบว่าตรวจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในตัวผู้ชายดังกล่าวถึงมากกว่าร้อยละ 60

ดังนั้นที่จะตอบได้ว่า "จริง" อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อมีผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะที่ 1 แล้ว มีการวิจัยด้วยการสุ่มแบ่งผู้ช่วยดังกล่าวออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับการรักษา และมีการศึกษาติดตามผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวไประยะเวลาหนึ่งแล้วพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการรักษามีอายุยืนยาวกว่า มีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และมีคุณภาพชีวิตดีกว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างชัดเจน ในปัจจุบันมีโรคมะเร็งเพียง 3 อวัยวะเท่านั้นที่ได้มีผลการวิจัยที่แสดงว่า การตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะต้น โดยเฉพาะการตรวจพบรอยโรคก่อมะเร็ง แล้วให้ผลประโยชน์ดังกล่าวต่อผู้ป่วยเหนือกว่าการตรวจพบระยะที่มีอาการแล้ว ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในทำนองเดียวกัน ยังมีโรค / ภาวะอื่น (ที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง) ที่ได้รับการพิสูจน์ด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วยืนยันได้ว่า การตรวจพบภาวะดังกล่าวตั้งแต่ระยะต้นแล้วส่งผลดีให้แก่ผู้รับการตรวจ คือทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ลดการเจ็บป่วยแทรกซ้อนและความพิการ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน สายตาผิดปกติ เป็นต้น

ส่วนคำตอบที่ว่า "ไม่จริง" อย่างชัดเจนนั้นก็คือ โรคมะเร็ง (หรือโรคอื่นใด) ที่ได้รบการวิจัยตามวิธีดังที่กล่าวมาแล้วพบว่า ผู้ที่ได้รับการรักษามีอายุสั้นกว่า มีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า หรือมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่กว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือผู้ที่ได้รับการรักษาเมื่อมีอาการแล้ว ซึ่งก็มีโรคมะเร็งหลายชนิดที่ผลการศึกษาแสดงออกมาในลักษณะนี้กรณีอย่างนี้ก็ไม่ควรไปตรวจหาโรคชนิดนั้น รอให้มีอาการแล้วค่อยรักษาอาจจะดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดที่ยังไม่ได้รับการดำเนินการศึกษาด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งคำตอบสำหรับกรณีนี้ก็คือ "ไม่ทราบชัดเจน" ดังนั้นในกรณีนี้จะตรวจหรือไม่ตรวจ ก็ต้องเสี่ยงดวงกันเอาเองก็แล้วกัน

ความแม่นยำของวิธีการตรวจโรค
เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่า โรคนั้นหากได้ตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้นแล้วได้ผลดีแน่ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ วิธีตรวจหาโรคดังกล่าวนั้นมีกี่วิธี และแต่ละวิธีนั้นมีความแม่นยำเพียงใด รวมทั้งวิธีการตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคจริงนั้นมีอันตรายหรือไม่

ความแม่นยำของวิธีการตรวจหาว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งดูได้จากคนที่เป็นโรคแล้ว เมื่อตรวจด้วยวิธีนั้นสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคนั้นอย่างถูกต้อง เรียกว่าได้ผล "บวกจริง" และเมื่อนำวิธีดังกล่าวไปตรวจคนที่ไม่เป็นโรค แล้วก็บอกได้ว่าไม่เป็นโรคนั้นได้อย่างถูกต้อง เรียกว่าได้ผล "ลบจริง"

ในสภาพของความเป็นจริงวิธีการตรวจทั้งหลายไม่สามารถให้ผลบวกจริงและผลลบจริงได้อย่างแม่นยำมากนัก เนื่องจาก
เป็นการใช้ค่าสถิติมาตัดสิน การตรวจบางอย่างกว่าจะให้ผลบวกก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นมากแล้ว เช่น การตรวจการทำงานของไตโดยดูระดับครีอะตินินในเลือดกว่าระดับสารดังกล่าวจะเริ่มเห็นผิดปกติ ก็ต่อเมื่อไตบกพร่องไปแล้วกว่าร้อยละ 75 ดังนั้นหากไตบกพร่องไปแล้วแต่น้อยกว่าร้อยละ 75 ผลที่ตรวจได้ก็ยังบอกว่าปกติอยู่ เรียกผลที่ออกมานี้ว่า "ผลลบลวง" คือเป็นโรคแล้ว แต่ผลตรวจบอกว่าปกติในทางตรงกันข้าม การตรวจบางอย่างกลับให้ผลบวกทั้งที่ยังไม่ได้เป็นโรค เรียกผลในลักษณะดังกล่าวนี้ว่า "ผลบวกลวง"

ผลการตรวจที่เป็น "ผลลบลวง" อาจทำให้ประมาท คือไม่ก่อให้เกิดการปรับปรุงตัวเพื่อป้องกันโรคตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่ แล้วไปเอกซเรย์ปอดแล้วผลเป็นปกติ ก็ยังสูบบุหรี่ต่อไป หรืออาจจะสูบหนักขึ้นก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น เท่ากับผลการตรวจไปสร้างเสริมพฤติกรรมให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ดังนั้นการตรวจดังกล่าวแทนที่จะช่วยป้องกันโรคกลับเป็นการสร้างเสริมการเป็นโรค

ผลการตรวจที่เป็น "ผลบวกลวง" อาจก่อความทุกข์อกทุกข์ใจได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจหาโรคร้ายแรง ซึ่งไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้หรือวิธีการรักษามีอันตรายสูงถ้าไปทำในคนที่ไม่ได้เป็นโรค เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งมะเร็งต่างๆ ทั้งมะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ มักมีผลบวกลวงถึงมากกว่าร้อยละ 90 ในบุคคลที่ปราศจากอาการผิดปกติ ถ้าไปตรวจแล้วผลออกมาเป็น "บวก" (ซึ่งมีโอกาสเป็นผลบวกลวงมากกว่าร้อยละ 90) แล้วจะทำอย่างไร

วิธีการตรวจที่ได้รับการยอมรับว่ามีความแม่นยำเพียงพอในบริบทของประเทศไทยสำหรับโรคมะเร็งซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์แล้วว่าการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นมีประโยชน์ได้แก่ การตรวจแพ็บ (Papanicolaou test) สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูก จึงแนะนำให้หญิงตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ได้รับการตรวจแพ็บปีละหนึ่งครั้งหากได้ผลลบติดต่อกัน 3 ปี ก็แนะนะให้ตรวจต่อไปทุก 3 ปี

โรคมะเร็งเต้านม จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การตรวจเต้านมทางเวชกรรม (การตรวจคลำเต้านมโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึก) มีความไวร้อยละ 87 (คือคนเป็นโรคมะเร็งเต้านม 100 คน ตรวจแล้วพบว่าเป็น 87 คน) และการตรวจภาพรังสีเต้านม (mammogram) ในหญิงอายุ 50 - 69 ปี มีความไวร้อยละ 75 ส่วนในหญิงอายุ 40 - 49 ปี มีความไวเพียงร้อยละ 60 - 65 เท่านั้น รวมทั้งความจำเพาะก็ไม่สูงมากนัก จึงอาจส่งผลให้มีผลบวกลวงเป็นจำนวนมาก การตรวจภาพรังสีเต้านมมีแนวโน้มให้ความไวสูงกว่าโดยเฉพาะในผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ที่คลำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงความแม่นยำดังกล่าวในประเทศไทย แต่คาดว่าการตรวจเต้านมทางเวชกรรมน่าจะมีความไวมากกว่าในต่างประเทศ เนื่องจากคนไทยมีเต้านมไม่ใหญ่นัก ทำให้คลำได้ง่าย ดังนั้นจึงแนะนำให้มีการฝึกบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการตรวจคลำเต้านมได้อย่างถูกต้อทั่วประเทศและแนะนำให้ตรวจพร้อมกับการตรวจแพ็บ (มะเร็งปากมดลูก) ทุกครั้งรวมทั้งแนะนำให้สอนหญิงทุกคนได้มีทักษะในการตรวจเต้านมด้วยตนเองด้วย โดยเฉพาะในหญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

การตรวจภาพรังสีเต้านม ยังไม่สามารถให้คำแนะนำได้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะกายวิภาคของคนไทย ซึ่งมีเต้านมไม่ใหญ่นัก ผลที่ได้ไม่น่าจะดีกว่าการตรวจเต้านมทางเวชกรรม นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงปริมาณรังสีที่ได้รับจากการตรวจ (0.1 แรดต่อครั้ง) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีดังกล่าวนี้ในคนที่อายุน้อย

การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในต่างประเทศแนะนำให้ใช้การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ แต่ยังไม่สามารถให้คำแนะนำได้ว่าในประเทศไทยควรตรวจหรือไม่ เพราะจากการวิจัยในประเทศไทยพบว่ามีผลบวกลวงสูงมาก เนื่องจากคนไทยมักกินอาหารที่มีเลือดสัตว์ปนอยู่ ดังนั้นหากต้องรับการตรวจก็แนะนำให้งดอาหารที่มีเลือดสัตว์ปน เนื้อสีแดงวิตามินซี ยาแอสไพริน และยาต้านการอักเสบต่างๆ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการเก็บอุจจาระส่งตรวจสำหรบการตรวจด้วยการหาสารบ่งมะเร็ง (CEA) นั้น แม้ในต่างประเทศก็ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากมีผลบวกลวงสูงมาก

สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจสุขภาพ
แพทย์ทั้งหลายทั่วโลกตระหนักยิ่งว่า การที่จะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ การจัดการบำบัดรักษาได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการจัดการตรวจและการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผลนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลประวัติสุขภาพอย่างละเอียด ได้แก่ ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบันและอดีต ประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว ผู้ร่วมงาน และผู้ใกล้ชิด ประวัติสิ่งแวดล้อมและการทำงาน รวมทั้งประวัติอุปนิสัยปและพฤติกรรม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด

ตามปกติ แพทย์สามารถรวบรวมข้อมูลดังกล่าวได้จากการซักประวัติ ซึ่งก็คือการพูดคุยสนทนากันระหว่างแพทย์และผู้รับบริการอย่างไรก็ตาม แพทย์ส่วนใหญ่มักมีเวลาไม่มากเพียงพอในการซักประวัติดังกล่าวได้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นผลให้การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงได้ไม่ครบถ้วน และอาจพลาดในส่วนที่สำคัญบางประการได้

การรวบรวมข้อมูลประวัติสุขภาพ ซึ่งได้จากการตอบแบบสอบถามโดยผู้รับบริการกรอกด้วยตนเองหรือบุคลากรผู้ช่วยแพทย์ช่วยและจัดทำเป็น "สมุดบันทึกสุขภาพ" ก่อนพบแพทย์ จะช่วยให้แพทย์สามารถทราบข้อมูลประวัติของผู้มารับบริการได้อย่างละเอียด เพื่อจะได้วิเคราะห์และซักถามเพิ่มเติมในส่วนที่สำคัญเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงอันอาจทำให้เกิดโรค รวมทั้งสามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องใช้เวลามากนัก เมื่อแพทย์ได้พิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว รวมทั้งเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีความจำเพาะสำหรับเรา เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำเฉพาะสำหรับตัวเราได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การจัดทำห้องสมุดบันทึกสุขภาพด้วยตนเองยังนับเป็นการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะทำให้เราได้ทบทวนและค้นพบปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นด้วยตนเอง ก็ยิ่งสร้างความตระหนักให้แก่เรายิ่งขึ้นและส่งผลให้เราระมัดระวังขจัดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย

การจัดทำสมุดบันทึกสุขภาพนี้จึงนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการตรวจสุขภาพ ซึ่งจะขาดเสียมิได้ นอกจากนี้สมุดบันทึกดังกล่าวยังสามารถใช้ในการติดตามสุขภาพอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราอาจไม่ได้ตระหนักได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และบุคคลทุกคนควรได้รับการทบทวนความตระหนักต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเราเรียกการตรวจทบทวนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวนี้ว่า "การตรวจสุขภาพประจำปี"

ดังนั้นในการตรวจใดๆ ถ้าขาดการจัดทำสมุดบันทึกสุขภาพซึ่งบันทึกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (ได้แก่ประวัติการเคยตรวจสุขภาพในอดีต ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา ประวัติการแพ้ ประวัติการรับวัคซีน ประวัติการเจ็บป่วยและสาเหตุของการเสียชีวิตในเครือญาติ ประวัติการทำงานและสิ่งแวดล้อม และประวัติการทบทวนอาการตามระบบต่างๆ) อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็ไม่สามารถเรียกการตรวจนั้นได้ว่าเป็นการตรวจสุขภาพ


กระแสตรวจสุขภาพกับคนไทย
ในสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สังคมไทยมีความตื่นตัวต่อการตรวจสุขภาพเป็นอย่างมาก (เช่นกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าศึกษา การจัดให้มีการตรวจสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การตรวจสุขภาพของลูกจ้าง) โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นสถานพยาบาลหลายแห่ง แม้แต่ภาพรัฐ ก็ได้จัดโครงการตรวจสุขภาพด้วยการจัดโปรแกรมต่างๆ อย่างหลากหลาย นอกจากนี้สถานบริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยังได้ใช้กลยุทธ์การตลาด คือเสนอบริการตรวจสุขภาพแบบเข้าแถวตรวจเป็นชุด (package) เป็นจุดขาย โดยมีการซักประวัติและการค้นปัจจัยเสี่ยงเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากผู้ใช้บริการไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และผลที่ออกมาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็อาจทำให้เจ็บตัว เสียสุขภาพจิต เสียโอกาสในการเข้าทำงานหรือเข้ารับการศึกษา และสร้างเสริมพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้

การตรวจสุขภาพไม่ถูกต้อง "เสียมากกว่าดี"
การตรวจสุขภาพเพื่อนำไปสู่การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ต้องไม่มุ่งเฉพาะการตรวจหาว่าเป็นโรคอะไรบ้างแล้วหรือยัง การตรวจที่มุ่งเน้นที่การตรวจหาโรค อาจทำให้ผู้รับการตรวจกังวล เมื่อตรวจแล้วพบโรคที่วิทยาการในปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าได้ผลดี (รักษาไม่หาย) นอกจากนี้เครื่องมือที่ใช้ตรวจก็ไม่ได้มีความแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลการตรวจที่ได้จึงอาจไม่ตรงความเป็นจริง ส่งผลทำลายสุขภาพทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ

ดังนั้นการตรวจหาโรคโดยไม่จำเป็นจึงมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะถ้าเป็นโรคหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคแล้วตรวจไม่พบโรคก็จะส่งผลให้พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ถูกตรวจเหมือนเดิมหรือชะล่าใจกระทำมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทนที่จะลดความเสี่ยง และเท่ากับเป็นการสร้างเสริมการเกิดโรคแทนที่จะเป็นการป้องกันโรค นอกจากนี้การตรวจแล้วพบโรคร้ายที่วิธีการรักษาตั้งแต่ระยะต้นยังไม่ได้ผลดี ก็จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตหลังการตรวจย่อมแย่ลงได้

ทิศทางการตรวจสุขภาพในประเทศไทย
ดังนั้นหากต้องการให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้าแล้ว การตรวจสุขภาพที่กำหนดขึ้นจึงต้องนำไปสู่การป้องกันก่อนการเกิดโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่การค้นหาผู้ที่เป็นโรคแล้วมารักษาดังนั้น ทิศทางการตรวจสุขภาพในประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งด้านแนวคิด วิธีการ และเนื้อหาสาระ ดังต่อไปนี้

ต้องทำให้ทั้งสังคมเข้าใจตรงกัน ว่าหัวใจหลักของการตรวจสุขภาพ เน้นและให้ความสำคัญยิ่งที่การตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น ส่วนการตรวจหาความเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนการตรวจหาความเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดขึ้นแล้วนั้นเป็นเรื่องรอง ซึ่งแนะนำให้ตรวจเฉพาะเมื่อโรคนั้นมีข้อพิสูจน์จากการวิจัยแล้วว่า การตรวจพบโรคนั้นตั้งแต่ระยะต้นให้ผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการแล้วและวิธีการตรวจนั้นให้ผลที่มีความแม่นยำในระดับที่ยอมรับได้เท่านั้น

ต้องทบทวนข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพประจำปี ที่ให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญมีและเบิกได้ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยปรับปรุงคัดเลือกให้ทำเฉพาะวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิชาการแล้วว่ามีอรรถประโยชน์ เพื่อสร้างเสริมให้ข้าราชการไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และเป็นมาตรฐานที่สังคมสามารถยึดถือเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องได้

ระบบ / โครงการต่างๆ ที่ดูแลเรื่องการจัดบริการสุขภาพ ควรเร่งดำเนินการให้ทุกคนมี "สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัว" รวมทั้งสร้างเสริมทักษะการประเมินสุขภาพตนเองแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง


สรุป
ศาสตราจารย์นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ ฝากแง่คิดเพิ่มเติมว่า การหันมาให้ความสนใจและใส่ใจในเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเชื่อว่าการตรวจสุขภาพเป็นการเสริมสร้างสุขภาพจำเป็นต้องหันกลับมาทำความเข้าใจกันเสียใหม่ คำว่า "สร้างนำซ่อม" ต้องมุ่งให้ทุกคนร่วมสร้างสุขภาพดี โดยเจ้าของสุขภาพต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตัวเอง จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การสร้างสุขภาพด้วยการตรวจสุขภาพอาจจะเป็นการไปย่ำรอยเดิมที่เรื่องสุขภาพกลับไปอยู่ในมือหมอในโรงพยาบาล ต้องพึ่งยา พึ่งเครื่องมือทางการแพทย์เกินจำเป็นต่อไปอีก

ดังนั้นต้องมุ่งสร้างศักยภาพประชาชนในการดูแลตนเอง สร้างให้เกิดความตระหนักว่า สุขภาพคือสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เป็นความสุขที่เกิดจากความสมดุลระหว่างกายกับใจของตน และระหว่างกายใจของตนกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการบริการตรวจสุขภาพชุดใดที่จะเป็นคำตอบของสุขภาพดีอย่างที่ฝันไว้

ในเมื่อการตรวจสุขภาพกำลังกลายเป็นความต้องการที่เกินความจำเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของธุรกิจ หรือเหตุผลทางวิชาการที่ไม่สมบูรณ์ก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขแพทยสภา หรือกลไกอื่นใดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง น่าจะออกมาดูแลเรื่องนี้ให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม สร้างความเข้าใจใหม่แก่ประชาชนในเรื่องการสร้างสุขภาพไม่ให้ประชาชนตกเป้นเหยื่อของธุรกิจสุขภาพที่กำลังฉวยโอกาสแห่งความ "ไม่รู้" ของประชาชนมาสร้างผลประโยชน์กอบโกยเข้ากระเป๋าตัวเองอีกต่อไป



ปล. แถมเรื่องตรวจสุขภาพ ค้นหามะเร็ง ของ สถาบันมะเร็ง มีราคา รายละเอียดพร้อมสรรพ ..

https://www.nci.go.th/service/search_cancer.html

คลินิกตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
การ บริการตรวจสุขภาพเพื่อค้นความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเป็นการตรวจสุขภาพ สำหรับ ผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ ใด ๆ และเมื่อตรวจพบว่าเป็นผู้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดใด จะส่งเข้ารับการตรวจในคลินิกเฉพาะ โรค เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป เช่น คลินิกเต้านม คลินิกตับและทางเดินอาหาร คลินิกนรีเวช เป็นต้น

การตรวจประกอบด้วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ-ปัสสาวะ การตรวจด้วย X-ray ปอด การตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า การตรวจเซลล์มะเร็งปากมดลูก การตรวจร่างกายโดยแพทย์ และการซักประวัติ


ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52

ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝากไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... bydrcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93

ตรวจสุขภาพประจำปี ที่แท้จริงหมายถึงอะไรตรวจไปเพื่ออะไร

https://www.hitap.net/167211

ตรวจคัดกรองต่างจากตรวจวินิจฉัยอย่างไร

https://www.hitap.net/167233

ตอนที่ 1ตรวจร่ายกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้หญิง

https://www.hitap.net/167411

ตอนที่ 2ตรวจร่างกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้ชาย

https://www.hitap.net/167420

ตรวจอะไรได้ไม่คุ้มเสีย

https://www.hitap.net/167523

ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการคัดกรองทางสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชนไทย

https://www.hitap.net/research/17560

การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย

https://www.hitap.net/research/17573

เว็บไซต์ตรวจสุขภาพด้วยตนเองอย่างง่าย

https://www.mycheckup.in.th/

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ

https://www.hitap.net/news/24143

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย

https://www.hitap.net/documents/18970

https://www.hitap.net/research/17573




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 12 กันยายน 2561 13:49:05 น.   
Counter : 10795 Pageviews.  

การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ป้องกันแผลกดทับ




เป็นกระทู้ในเวบ ไทยคลินิก ซึ่งมีคุณหมอ doglover ตอบได้อย่างละเอียด จึงอยากจะนำมาให้อ่านกัน ...

หัวข้อ 10584: การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว (จำนวนคนอ่าน 25 ครั้ง)

« เมื่อ: Feb 9th, 2007, 11:09pm »

อยากทราบวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ปู่ดิฉันเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ท่านอายุ 80 ปี แต่ก่อนปู่ก็แข็งแรงดี แต่เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมาปู่มีอาการไม่มีแรง ไม่สามารถเดินได้ ต้องพยุงไปไหนมาไหน มีอาการไม่อยากอาหาร ทานข้าวได้น้อยมาก เมื่อ 1 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้นำปู่ไปโรงพยาบาล หมอได้ให้อาหารทางสายยาง จนเมื่อวานนี้ปู่ไม่รู้สึกตัว แต่สามารถขับถ่ายได้ปกติ(ค่อยโล่งใจหน่อย) เรียกก็ไม่ตื่น หมอได้ให้เครื่องช่วยหายใจ ตอนนี้อาการไม่ดีเลย อยากทราบว่าเราจะสามารถดูแลปู่ตอนนี้อย่างไรได้บ้าง อยากให้ปู่รู้สึกตัว(จะมีโอกาสไหมนะ) อือ

เกือบลืมถามแน่ะ แผลกดทับส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณไหนจะป้องกันอย่างไร (การพลิกผู้ป่วยจะพลิกอย่างไรไม่ให้เกิดแผลกดทับ) ถ้าพูดกับปู่ตอนไม่รู้สึกตัวปู่จะได้ยินรึเปล่านะ การช่วยบีบมือ แขน เท้า จะมีส่วนช่วยไหม มีคำถามเยอะแยะไปหมดเลย ช่วยตอบหน่อยนะคะ

ส่งโดย: หลานปู่



« ความเห็นที่ #2 เมื่อ: Feb 10th, 2007, 8:54pm »

ดีใจจังครับ ที่มีญาติของผู้ป่วยคิดจะดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวอย่างจริงๆจังๆ มีวิธีดูแล ไม่ยากครับที่จะเข้าใจ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เป็นปัญหาจุกจิก และ อาจทำให้เราท้อได้ครับ เพราะเราต้องดูแลแบบนี้ ทุกวัน ตลอดทั้งวัน ยิ่งคนไม่รู้ตัว หรือ ไม่ค่อยมีสติ อาจมีอาการวุ่นวาย สับสน ซึ่งจะยิ่งทำให้เราหงุดหงิด ก็ต้องอดทนนะครับ

ก่อนอื่น คำถามที่ว่า ผู้ป่วยจะหายได้หรือไม่ อันนี้ต้องขึ้นกับว่าการไม่รู้สึกตัวเป็นจากอะไร โดยทั่วไปมักเป็นจากปัญหาในสมอง เช่น เนื้อสมองขาดเลือด เลือดออกในสมอง หรือ สมองฝ่อมาก รวมถึงปัญหานอกสมอง ซึ่งมักเป็นจากเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ หรือมีของเสียในเลือดคั่ง (มักเป็นในโรคไตวาย) ดังนั้นจะหายหรือไม่ แล้วแต่โรคที่เป็นครับ

ส่วนการให้การดูแลผู้ป่วย ผมจะให้หลักการโดยแบ่งตามระบบของร่างกายดังนี้ครับ

1. การหายใจ
- ถ้าผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก และแนวโน้มจะไม่สามารถเอาท่อออกได้ภายใน 2 สัปดาห์ แนะนำให้ผ่าตัดเจาะคอ ครับ เพราะทำให้ระยะทางในการหายใจสั้นลง ดูดเสมหะ และ การดูและเรื่องเสมหะทำได้ง่าย และภายหลังเอาเครื่องช่วยหายใจออกได้ ก็สามารถคาท่อนี้ไว้ต่อได้ โดยให้ผู้ป่วยหายใจทางท่อนี้ อีกทั้ง สามารถดูแลความสะอาดในปากได้ง่าย ถ้าผู้ป่วยสามารถกินทางปากได้ ก็ให้กินได้ (นี่คือประโยชน์ของการเจาะคอนะครับ)

- ถ้าได้เจาะคอแล้ว ก็ดีแล้วครับ การดูแลก็คือ ทำความสะอาดแผลรอบท่อ วันละครั้ง หรือ มากกว่านั้น ขึ้นกับว่า มีเสมหะเลอะมากแค่ไหน และ คอยดูดเสมหะให้เขาเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ต้องทำใจนะครับว่า คนที่มีท่อคาอยู่ และ ไม่สามารถเคลื่อนไหว จะมีเสมหะมากเป็นปกติอยู่แล้ว และก็มีความเสี่ยงต่อปอดอักเสบอยู่แล้วครับ

- ถ้าหายใจเองได้ แนะนำว่า ควรสังเกตว่า ผู้ป่วยมีเสมหะมากน้อยแค่ไหน พอจะไอออกได้หรือไม่ อาจจะลองดูดเสมหะทางปาก แต่โดยปกติมักจะไม่ค่อยได้ผลครับ เพราะสายดูดมักลงหลอดอาหารมากกว่า การจะดูดทางปากได้ ผู้ป่วยมักต้องไอได้พอสมควร ถ้าไม่สามารถไอได้ โดยมากมักต้องเจาะคอ

- ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรดูแลโดยการเคาะปอดบ่อยๆ (อย่างน้อย 3-4 รอบ ต่อวัน) เพื่อดันเสมหะให้ออกมาทางหลอดลมใหญ่ เพื่อดูดเสมหะได้ง่ายขึ้น ป้องกันปอดอักเสบ โดยทำร่วมกับการพลิกตัวไปมา และ ยกส่วนหัวขึ้น หรือ ลง แล้วเคาะปอด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดันเสมหะให้ง่ายยิ่งขึ้นครับ


2. เรื่องอาหารการกิน
- โดยมากคนกลุ่มนี้ มักกินทางปากไม่ได้ จึงให้อาหารทางสายจมูก โดยให้เป็นอาหารบด (Blenderized diet) หรือ ให้อาหารเหลวทางการแพทย์ การให้อาจให้ทางกระบอกแก้ว แล้วเทลงพรวดเดียว (เหมาะสำหรับคนที่รับอาหารได้ดี ไม่ท้องอืดไม่อาเจียน) แต่ถ้ามีปัญหาท้องอืด อาเจียน หรือ มีอาหารเหลือในการให้ครั้งต่อมา ก็ควรให้โดยการหยดผ่านสาย ความเร็วก็แล้วแต่ผู้ป่วยจะรับได้ครับ (แล้วแต่แพทย์นะครับ)
ดังนั้น ก่อนให้อาหารทุกครั้ง ต้องทำการดูดดูว่า มีอาหารเหลือแค่ไหน ถ้าไม่เกิน50 ซีซี (บางตำรา ไม่เกิน 100 ซีซี ) ก็สามารถให้ต่อได้ รวมถึงดูลักษณะน้ำที่เหลือเป็นยังไง ถ้าเป็นน้ำเขียว-เหลือง หรือ นมที่ย่อยบ้างแล้ว ก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนมที่ยังไม่ย่อย ควรยืดระยะเวลาในการให้ออกไปอีก 1-2 ชม. แล้วมาดูดซ้ำ ถ้าออกน้อยลงหรือไม่มี ก็ให้ต่อได้

- ดูแลเรื่องสายจมูก โดยเปลี่ยนทุกเดือน คอยทำความสะอาดบริเวณจมูก และรูจมูกทั้งสองข้าง และ สังเกตว่า สายกดบริเวณจมูกหรือไม่ และ คอยป้องกันสายเลื่อน หลุด หรือ ผู้ป่วยดึง

- ดูแลเรื่องการขับถ่าย โดยปกติ อาหารบด มักจะมีไฟเบอร์อยู่แล้ว แม้ไม่ได้กินผักผลไม้ ก็มักจะถ่ายได้ ถ่ายปกติควรเป็นโคลนๆ 1-2 ครั้ง ถ้าถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไป บ่งว่าท้องเสีย ต้องดูว่า เราทำอาหารสะอาดดีหรือไม่ อาหารบูดหรือไม่ หรือความเข้มข้นมากเกินไป ก็ท้องเสียได้ครับ
ไม่ควรปล่อยให้ท้องผูก (ไม่ถ่ายเกิน2 วัน) เพราะอุจจาระยิ่งแข็ง ก็ยิ่งออกยาก ท้องจะอืดง่าย และทำให้รับอาหารไม่ได้


3. เรื่องแผลกดทับ
- ถ้ายังไม่มี ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดครับ และบ่งว่า มีการดูแลผู้ป่วยที่ดีจริงๆ เพราะเป็นภาวะที่เกิดคู่กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
การป้องกันไม่ว่าจะยังไม่มีแผล หรือ มีแล้วก็ตาม ก็คือ
-- พลิกตะแคงผู้ป่วย เป็นประจำ ตามทฤษฎี คือ ทุก 2 ชม. ก็เพราะถ้านานกว่านั้น เนื้อบริเวณที่กดทับจะขาดเลือด จนไม่สามารถกลับคืนสภาพได้ การพลิกก็คือ สลับระหว่าง นอนหงาย พลิกซ้าย พลิกขวา โดยเอาหมอนมาวางพิงเพื่อป้องกันผู้ป่วยหงายหลัง ทำให้กลับมาเป็นท่านอนหงายอีก
โดยปกติการนอนหงายจะสบาย และ ง่ายที่สุด ผู้ป่วยจึงมักจะพยายามกลับมานอนหงาย ทำให้เกิดแผลที่กระเบนเหน็บได้ง่ายที่สุด

-- ตำแหน่งที่เป็นบ่อย คือ จุดที่มีกระดูกนูน คลำได้ชัด เช่น กระเบนเหน็บ (มักเป็นตรงกลาง) กระดูกสะโพก กระดูกตาตุ่ม (มักเป็นด้านนอก มากกว่าด้านใน) กระดูกสะบัก กระดูกสันหลัง ตรงกลางหลัง (กรณีคนที่หลังโกง)
แนะนำว่า ควรลงทุนซื้อ ที่นอนอัดลม ซึ่งจะมีลักษณะเป็นลูกระนาดเรียงกัน ประมาณ 18-22 ลูก โดยจะมีเครื่องอัดลมสลับกัน เพื่อถ่ายเทแรงกด ราคาประมาณ 7000 -8000 บาทครับ จะช่วยลดปัญหาแผลกดทับได้ดี
(กับคุณแม่ของผม ผมก็ลงทุนครับ ใช้ได้ดีมาก พอท่านเสีย ผมก็บริจาคให้โรงพยาบาลไป ได้บุญอีกต่างหาก)
ส่วนบริเวณตาตุ่ม แนะนำว่า ใช้ถุงมือยาง หรือ ถุงยางอนามัย ใส่น้ำแล้วนำมารองที่ตาตุ่ม จะช่วยได้ดีครับ

- ถ้ากรณีมีแผลกดทับแล้ว ก็ลำบากหน่อยละครับ แผลพวกนี้ หายยาก โดยเฉพาะถ้าเป็นลึก แม้จะตื้นขึ้นมา ก็จะหายยากอยู่ดี ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน เลือดจะมาเลี้ยงได้ไม่ดีเท่าคนปกติ จะยิ่งหายยากเข้าไปอีก
-- ต้องทำความสะอาดแผล อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ถ้าเลอะอุจจาระ ก็ต้องทำเพิ่มอีกครับ
-- คอยป้องกันอย่าให้อุจจาระ ปัสสาวะเลอะแผล ถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรใช้ แพมเพอร์สครับ เพราะมันจะเป็นระบบปิด พอมีอึ หรือ ฉี่ออกมาเราก็อาจยังไม่รู้ จึงหมักหมม กว่าจะรู้ แผลก็แช่อึ ฉี่นานแล้ว ผมแนะนำให้ใช้ ผ้ารองเปื้อน (blue /white pad) จะดีกว่า พออึออกมา ก็รู้ทันที หรือ ถ้าจะใช้แพมเพอร์ส ก็ควรเปิดแผ่ออก ไม่ควรปิดพลาสเตอร์


4. ช่วงระหว่างที่นอนป่วย แม้ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว แต่อย่าเพิ่งเหมาว่าเขาจะไม่รู้เรื่องเลยนะครับ ฉะนั้น การพูดจากับเขาบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ถ้าคุณนับถือพุทธ ผมขอแนะนำว่า ควรพูดถึงบุญกุศลที่เขาเคยทำมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงบุญที่เราไปทำมาด้วยนะครับ พูดย้ำบ่อยๆ อย่าได้เบื่อ หรือ อายนะครับ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะรู้ตัวช่วงไหน ถ้าเขาลืมตา ก็เอารูปพระพุทธ พระสงฆ์ให้เขาดู (เห็นหรือไม่เห็นอีกเรื่องนึง) เอาเทปธรรมะ เทปสวดมนต์มาเปิดให้เขาฟังบ่อย บางคนเอาเทปเพลงเปิดให้ฟัง ก็จะเอามาแทรกคั่นรายการบ้างก็ได้

ที่ผมปฏิบัติกับคุณแม่ของผม คือ ผมจะสวดมนต์ให้ท่านฟังครับ สวดบทเดิมๆนี่แหละ เช่น อะระหัง สัมมา ฯ นะโมตัสสะ ฯ อิติปิโสฯ พาหุง มหากาฯ ชินบัญชร ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก เป็นต้น สวดวันนึงก็หลายสิบรอบ เอาให้อย่างน้อย ก็เข้าหูท่านบ้าง

และก็ควรนิมนต์พระมา เพื่อถวายสังฆทานบ้างครับ โดยคอยบอกผู้ป่วยเรื่อยๆ เผื่อเขาจะได้ยินบ้าง ถ้าจะทำบุญอะไร แนะนำให้เอาเงิน หรือ ทรัพย์สินของผู้ป่วยไปใช้ทำบุญนะครับ บุญจะได้เป็นของเขาเป็นหลัก

นวดมือ นวดเท้า ก็เอาเลยครับ เอ้อ...อย่าลืม ทาโลชั่น ทาน้ำมันให้ด้วยนะครับ เพราะมักจะผิวแห้งแตก อีกทั้งการนวดก็ช่วยให้เขาผ่อนคลายด้วยครับ

เท่าที่ผมนึกได้ก็ประมาณนี้นะครับ ผมไม่ได้ลงในแง่วิชาการมากนัก เพราะจะยิ่งงง ผมเน้นแง่ปฏิบัติมากกว่า เพราะผมก็มีประสบการณ์ทั้งของคุณแม่ของผม และ ผู้ป่วยของผมด้วย

ขอให้โชคดีครับ


________________________________________
คนเป็นหมอ ได้เปรียบกว่าอาชีพอื่นตรงที่เรามีโอกาสเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นักโทษ สมณะ คนเมา คนบ้า

ฉะนั้นเราน่าจะอาศัยความได้เปรียบนี้เร่งศึกษาธรรมะเถิด อย่าได้ประมาทในชีวิตเลย เพราะถ้าเราประมาท เราอาจต้องวนเวียนในสังสารวัฏอีกนานไม่รู้จบ

ส่งโดย: doglover
สถานะ: Newbie
จำนวนความเห็น: 44

.......................................................................

นวัตกรรม สสจ.กาญจนบุรี ‘เตียงไดนามิคพิชิตแผลกดทับ’ ราคาถูก ใช้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 ณ โรงแรมพีลูส อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ในการประชุมวิชาการสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2560 “สานพลัง สร้างการเรียนรู้ คู่สุขภาพดียุค 4.0”

นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านบริหาร วิชาการ บริการ และมีการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการ การดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของจังหวัดกาญจนบุรี ช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ การพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนผู้รับบริการ ของจังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมใหม่ “เตียงไดนามิคพิชิตแผลกดทับ” เป็นเตียงที่ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ ลดภาระการดูแลผู้ป่วยของพยาบาลและญาติ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วย เนื่องจาก‘แผลกดทับ’ เป็นความทุกข์สาหัสของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้าน – ติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีความจำกัดในการเคลื่อนไหวแล้ว ยังนำไปสู่ปัญหาการติดเชื้อและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

เตียงไดนามิคพิชิตแผลกดทับเป็นเตียงที่มีขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตรและความสูง 65 เซนติเมตร ใช้มอเตอร์เป็นกลไกการขับเคลื่อนแม่แรงในการยกเตียง มีอุปกรณ์สำหรับตั้งเวลา และควบคุมการทำงานรองรับน้ำหนักได้ตามสัดส่วนของผู้ป่วยที่ใช้ได้เป็นอย่างดี และเคลื่อนย้ายได้ง่าย มีความสะดวกในการใช้งานและการเก็บรักษา ประดิษฐ์ง่าย กลไกการทำงานไม่ซับซ้อน ราคาถูก เนื่องจากนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำเตียงเก่ามาปรับปรุงเป็นเตียงป้องกันแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยนอนติดเตียงได้ พร้อมจะขยายให้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดนำไปปรับใช้

https://www.hfocus.org/content/2017/09/14628

................................................................



[ Infographic ] 4 วิธีพื้นฐาน การจัดท่าผู้ป่วยติดเตียง
https://www.facebook.com/CreativeCitizen/photos/a.528783353940268/1178985728920024/?type=3&theater
ผลงานโดย: อาสาสมัคร Creative Citizen
กิจกรรม: Infographic Design for Health (Physical Theory Guideline)
รายละเอียด: www.facebook.com/pg/CreativeCitizen/photos/?tab=album&album_id=925670730918193


การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวป้องกันแผลกดทับ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=51

โรคเส้นเลือดสมองตีบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-03-2008&group=4&gblog=21

อัมพาตเป็นแล้วรักษาหายหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-05-2008&group=4&gblog=39




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 18 กันยายน 2561 21:12:57 น.   
Counter : 24146 Pageviews.  

เพื่อชีวีมีสุข....นพ. สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์



หลักการ 20/80 เพื่อชีวีมีสุข

สิ่งที่เป็นยอดปราถนาของทุกคนก็คือ การมีสุขภาพกาย และใจที่ดี สิ่งนี้ไม่สามารถ หาซื้อหรือเกิดขึ้นเองได้ แต่จะต้องมีการสร้างขึ้นเองและด้วยตนเอง

การสร้างเสริมสุขภาพจึงได้ถูกกำหนดเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งที่เข้มแข็ง สามารถดำเนินการด้านนี้ได้อย่างดี แต่สำหรับในวงกว้างแล้ว ปัจจุบันความตระหนักรู้ของสังคมยังน้อย ตัวชี้วัดง่าย ๆ ที่จะสังเกตุเห็นคือ โรคหรือภาวะที่เป็นภัยต่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคอ้วนซึ่งเป็นต้นตอของโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน นำไปสู่โรคที่มีผลต่ออวัยวะสำคัญคือ โรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย แม้ว่าส่วนน้อยอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นจากทำให้เกิดเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือป้องกันไม่ให้เกิดได้

บทความนี้หวังว่าจะสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้อ่านได้ส่วนหนึ่ง สำหรับผู้เขียนเองในฐานะที่จะต้องให้คำแนะนำและดูแลรักษาผู้อื่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตัวให้ได้เป็นแบบอย่าง นั่นคือ ต้องไม่อ้วน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลจิตใจตนเองให้ดี ฝึกจิตให้เข้มแข็งตามหลักพระพุทธศาสนา

หลักการเช่นนี้หลายท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการนำเสนอและหวังว่าจะเป็นประโยชน์ก็คือ กลวิธีที่จะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนี้ ผมขออนุญาตนำมาแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ที่ได้ปฏิบัติมา ในประเด็นหลัก 3 ประการดังนี้ครับ

1. อาหาร ต้องจำกัดการกินอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาลเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้แคลอรี่สูง โดยเฉพาะน้ำหวาน น้ำอัดลมต่าง ๆ ที่สามารถบริโภคอย่างง่ายดาย การดื่มเพียง 300 มิลลิลิตรก็เกือบเท่ากับแคลอรี่สำหรับอาหารที่ควรได้ 1 มื้อแล้ว การจะลดความอ้วนให้ได้ต้องไม่บริโภคน้ำหวานหรือน้ำอัดลมเลย

ของหวานที่สามารถบริโภคได้ควรเป็นผลไม้ซึ่งจะได้สารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ด้วยได้แก่ วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร

สำหรับอาหารควรกินอาหารไทยที่จะมีแคลอรี่ต่ำ และมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าอาหารของชาวตะวันตก ในเรื่องของพฤติกรรมการกินอาหารมีโรคหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งพบอุบัติการณ์มากในพวกที่กินอาหารแบบชาวตะวันตก สำหรับคนไทยเมื่อมีพฤติกรรมการกินอาหารเช่นชาวตะวันตก ก็จะพบอุบัติการณ์โรคนี้มากขึ้นเช่นกัน

2. อารมณ์ การมีจิตใจที่เคร่งเครียด มีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมาก นอนไม่หลับทำให้ฮอร์โมนที่สำคัญของร่างกายหลั่งลดลง หลอดเลือดแดงหดรัดตัวทำให้ความดันโลหิตสูง การฝึกจิตตามแนวพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะฝึกแนวไหนก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น

3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายชนิดที่มีประโยชน์ทำให้สมรรถนะของหัวใจและกล้ามเนื้อแข็งแรงจ ะต้องเป็นแบบแอโรบิค คือการออกกำลังกายที่ใช้กำลังเบา หรือปานกลางแต่ต่อเนื่องได้แก่ วิ่ง ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค อย่างน้อยครั้งละ 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

หลายท่านมักจะอ้างว่าไม่มีเวลา แต่ขอให้ท่านพิจารณาดูตามกฎ 20/80 ที่เป็นกฎธรรมชาติของทุกสิ่งในโลกนี้ ที่กล่าวว่าผลงานหรือผลผลิตใด ๆ ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยร้อยละ 20 ตัวอย่างเช่น

ทรัพยากรในโลกนี้ร้อยละ 80 ถูกใช้ไปโดยประชากรในประเทศร่ำรวยที่มีเพียงร้อยละ 20

ความร่ำรวยของโลกร้อยละ 80 อยู่ในกลุ่มประชากรร้อยละ 20

เงินฝากในธนาคารร้อยละ 80 จะมีอยู่ในกลุ่มคนเพียงร้อยละ 20

เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของเรา เสียเวลาไปกับสิ่งที่จะเกิดผลต่อเราน้อยเป็นจำนวนมาก ขณะที่เวลาเพียงน้อยนิดสำหรับการออกกำลังกายครั้งละ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง รวมเป็น 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดเป็นเวลาที่ใช้ไปเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น แต่มีผลต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

ท่านที่เล่นกีฬาเป็นประจำ ก่อนการเล่นกีฬานั้น ๆ ก็ควรจะ วิ่งต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาที หรือ 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ให้วิ่งต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง

ในระหว่างการเล่นกีฬาร่างกายจะมีสารแห่งความสุขเกิดขึ้นคือ Endorphine จะทำให้จิตใจสบาย นอกจากนี้ในระหว่างการวิ่งหรือว่ายน้ำต่อเนื่องสามารถฝึกสมาธิไปพร้อมกันได้ ด้วย เรียกว่าได้ฝึกทั้งกายและใจไปพร้อมกันทีเดียว



นอกจาก 3 ประการ หรือ 3 อ.ข้างต้นแล้ว 3 อ.ที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่

อนามัย คือ มีสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี

อโรคยา คือห่างโรคภัย โดยการตรวจร่างกายประจำปี ในวัยเกิน 30 ปี ควรตรวจเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในสตรีควรตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจเต้านมด้วยตนเอง

และสุดท้าย

อบายมุข คือห่างไกลจากยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน

หากปฏิบัติได้เช่นี้แล้วท่านจะห่างไกลจากโรคร้อยละ 80 ที่ป้องกันได้ครับ ช่วยกันดูแลสุขภาพตนเองให้ดีนะครับ เพื่อจะได้มีกำลังที่พร้อมในการช่วยครอบครัว สังคม และประเทศชาติได้อย่างมีคุณภาพ

ฝากคำขวัญว่า “ประเทศชาติจะเข้มแข็งถ้าประชาชนแข็งแรง”

ด้วยความปรารถนาดีจาก
นพ. สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา



--------------------------------------------------------------------------------
--:: แพทย์ .. ::-- ..เพื่อนคนแรก ...
และอาจเป็นเพื่อนคนสุดท้ายของมนุษย์ ...
ช่วยกันดูแลพวกเขาหน่อยเถอะครับ ....

ส่งโดย: 716:16







 

Create Date : 14 มิถุนายน 2551   
Last Update : 14 มิถุนายน 2551 19:24:09 น.   
Counter : 2094 Pageviews.  

โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease )



โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease )

นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ประสาทวิทยา

เมื่อพูดถึงโรคสมองเสื่อม คนส่วนมากจะนึกโรคอัลไซเมอร์ก่อนอย่างอื่น ซึ่งความจริง สมองเสื่อมไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของสมอง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยที่อัลไซเมอร์ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้น

ภาวะสมองเสื่อม (dementia) นั้น ต่างจากความจำเสื่อม (forgetfullness) โดย มักมีอาการอื่นนอกจากความจำเสื่อมร่วมด้วย และ มีผลต่อชีวิตประจำวัน อาการอื่น ๆ เช่น นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่าย ๆ ไม่ได้ ไม่สามารถ ทำอะไรที่ง่าย ๆ ที่เคยทำประจำเช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ค่อยได้ พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น

สาเหตุของสมองเสื่อมแบ่งเป็นสองแบบ คือ แบบรักษาให้หายได้กับแบบรักษาไม่ได้ คนที่สงสัยว่าจะมีอาการสมองเสื่อม ควรพบแพทย์ทางระบบประสาท เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุที่ สามารถรักษาได้ โรคในกลุ่มนี้เช่น โรคซึมเศร้า เนื้องอกในสมอง โรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อ โรคขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น

สำหรับสมองเสื่อมจากสาเหตุที่รักษาไม่หายนั้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดก็คือโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง นอกนั้นก็เป็นโรคทางสมองอื่นๆที่พบได้รองลงไป เช่น เส้นเลือดสมองตีบ(บางราย) เป็นต้น

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ โดยในกลุ่มคนที่อายุ 65 ปี พบได้ประมาณ 10% ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งพบได้บ่อยขึ้น โดยเมื่อดูผู้ที่อายุเกิน 85ปี จะพบได้ถึงเกือบ 50% อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่พบตั้งแต่อายุ 40-50ปี แต่ก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีประวัติโรคนี้ ในครอบครัวค่อนข้างชัดเจน หรือผู้ที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจมีส่วนจากกรรมพันธุ์ โดยที่อาจมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อาหาร สิ่งแวดล้อม การติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้

การตรวจชิ้นเนื้อของสมองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลังเสียชีวิต พบว่ามีโปรตีนบางชนิดในปริมาณที่มากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์

อาการ

ในระยะแรกๆอาจแยกจากภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุได้ลำบาก แต่ไม่นานก็มัก จะมีลักษณะบางอย่างที่เด่นชัดขึ้นมาซึ่งต่างจากการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ ในผู้สูงอายุ อาการแรก และมักเป็นอาการที่ญาติจะสังเกตได้ค่อนข้างเร็วและมักพามาพบแพทย์คือ ความจำที่แย่ลง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในผู้สูงอายุก็จะมีอาการนี้เกิดขึ้นได้บ่อย โดยมักเป็นความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ที่ผ่านมาไม่นาน เช่น ลืมว่าต้มน้ำทิ้งไว้ พอนึกออกก็ตกใจวิ่งไปถอดปลั๊กไฟ แต่ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะเป็นมากกว่าคือลืมไปด้วยซ้ำว่าต้มน้ำไว้ อาจถามญาติว่าใครเป็นคนต้มน้ำ หรืออาจต้องคิด นานกว่าจะนึกออกว่าเป็นคนต้มไว้เอง เป็นต้น

เมื่อโรคดำเนินต่อไป นอกจากความจำที่แย่ลงเป็นลำดับ ก็จะมีอาการอื่นเพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ เช่น คิดเลขง่าย ๆ ไม่ค่อยถูก ทอนเงินผิด การตัดสินใจหรือความคิดต่าง ๆ ไม่ค่อยสมเหตุสมผล ซึ่งผิดจากความจำเสื่อมทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุที่ความจำเสื่อมโดยธรรมชาติ อาจลืมของบ่อย เช่น มักลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ในห้องแล้วนึกไม่ออก แต่ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาจลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ในตู้เย็น กล่าวคือ นอกจากความจำไม่ดีแล้ว ความมีเหตุผล การตัดสินใจหรือความคิดต่าง ๆ ก็จะผิดแปลก ออกไปด้วย

ระยะต่อไปก็จะเริ่มมีอาการที่ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติ เริ่มพบกับความลำบากหรือยุ่งยากมากขึ้น ได้แก่ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป บางคนซึมลง บางคนก้าวร้าว บางคนเคยมีเหตุผล ใจเย็น ก็กลายเป็นไร้เหตุผล หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวบ่อย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาการที่ญาติต้องคอยระวังคือ บางคนจะเดินไปเรื่อย โดยไม่มีจุดหมาย ไม่มีเหตุผล ที่สำคัญคือจะจำทางไม่ค่อยได้ ถ้าเดินออกไปนอกบ้าน มักจะกลับไม่ถูก บางคนเดินไปขึ้นรถเมล์นั่งไป ๆ กลับ ๆ ทั้งวัน จนตำรวจต้องช่วยพากลับบ้าน

ระยะหลังๆ ผู้ป่วยจะเริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น แต่งตัว อาบน้ำ ทานข้าว โดยต้องให้ญาติคอยช่วยเหลือตลอด อาจไม่สามารถบอกเมื่อจะปัสสาวะ หรืออุจจาระ โดยปล่อยออกมาเองโดยอาจรู้หรือไม่รู้สึกตัวก็ได้ เมื่อช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็จะเริ่มมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น การติดเชื้อในปอด หรือทางเดินปัสสาวะ แผลกดทับ ขาดสารอาหารเนื่องจากทานได้น้อย ร่างกายจะค่อยๆอ่อนแอลง ในที่สุดส่วนมากจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อแทรกซ้อน โดยระยะเวลาทั้งหมด ตั้งแต่อาการแรกจนเสียชีวิตนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละคน มีตั้งแต่ 3-4 ปี จนถึงเกือบ 20 ปีก็มี แต่โดยเฉลี่ยจะประมาณ 8-10 ปีเป็นส่วนใหญ่

การวินิจฉัย

อาศัยการซักประวัติจากญาติที่ดูแล การตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ตรวจเลือด, เอ็กซเรย์สมองด้วยคอมพิวเตอร์หรือถ้าสงสัยสาเหตุบางอย่างอาจตรวจสมองด้วย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ) เพื่อดูให้แน่ว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นซึ่งรักษาได้ ซึ่งถ้าดูแล้วไม่มีสาเหตุอื่น แพทย์ก็มักจะพอแยกได้จากความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ โดยมีความแม่นยำในการวินิจฉัยประมาณ 80-90% เนื่องจากการวินิจฉัยให้ได้ 100% นั้น มีวิธีเดียว คือการตรวจชิ้นเนื้อของสมอง ซึ่งถ้าจะทำก็จะทำเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วเท่านั้น

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาให้หายขาดได้ แต่มียาซึ่งอาจช่วยควบคุมอาการต่างๆ ให้น้อยลงได้ชั่วคราว แต่โรคก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงระยะที่เป็นมาก ยาก็จะไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม มีการพยายามคิดค้นยาเพื่อรักษา และวิธีการทางการแพทย์ที่จะใช้วินิจฉัย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เพื่อจะได้สามารถให้มีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ทั้งผู้ป่วยและญาติ หรือแม้แต่การวินิจฉัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์เพราะไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคต อาจมีการตัดต่อสารพันธุกรรมเพื่อไม่ให้เป็นโรคนี้ได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์

ปัจจุบัน คนทั่วไปมักพูดถึงสมุนไพรบางชนิด หรือน้ำมันปลา ว่าสามารถรักษาได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วยังไม่มีการยืนยันได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจชะลออาการได้บ้าง คือทำให้อาการแย่ลงช้ากว่าที่ควรบ้างเล็กน้อย และไม่ได้ผลเสมอไป คือบอกไม่ได้ว่าใครได้ผลหรือใครไม่ได้ผล แต่ไม่สามารถทำให้หายขาดได้แน่นอน

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องให้ความเข้าใจ เห็นใจ ว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างที่เราเห็น แต่เป็นจากตัวโรคเอง ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ อาย หรือหงุดหงิด เช่น ถ้าคุยอะไรแล้วผู้ป่วยนึกไม่ค่อยออกหรือจำไม่ได้ ควรเปลี่ยนเรื่อง เอาเรื่องที่คุยแล้วมีความสุข หรือถ้ามีความคิดอะไรผิด ๆ ไม่ควรเถียงตรง ๆ ถ้าไม่จำเป็นก็อาจไม่ต้องอธิบายมาก เนื่องจากจะทำให้หงุดหงิด และหมดความมั่นใจ
ควรจัดห้องหรือบ้านให้น่าอยู่ สดใส ใช้สีสว่าง ๆ ถ้าในรายที่ชอบเดินไปมามาก ๆ ต้องใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออาจใช้การพาดเสื้อผ้า ไว้ที่ลูกบิดประตูเพื่อไม่ให้เห็นลูกบิด ต้องเก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาวล์เตาแก๊สไว้เสมอ เป็นต้น

ในรายที่มีอาการที่เริ่มจะดูแลยาก เช่น ก้าวร้าวมาก เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือ เดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยลดอาการดังกล่าว



สรุป ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่

• อัลไซเมอร์เป็นโรค ไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติ หรือตามอายุที่มากขึ้น

• สาเหตุยังไม่ทราบชัด แต่น่าจะมีส่วนจากพันธุกรรม อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดังนั้นสามารถเกิดได้กับทุกคน

• ขณะนี้ ยังไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

• การดูแล ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วย

• ถ้ามีญาติที่เริ่มมีอาการหลงลืม ควรพบแพทย์ระบบประสาท อาจเป็นสาเหตุอื่นที่รักษาหายขาดได้

• โรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ที่รู้สึกว่าหลงลืมบ่อยโดยที่อายุไม่มาก (20-50 ปี) มักเกิดจากสาเหตุอื่น ส่วนมากเกิดจากการพักผ่อนไม่พอ เครียด ไม่มีสมาธิ ควรแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่ดีขึ้นค่อยปรึกษาแพทย์

• ไม่ควรกลัวโรคนี้จนเกินไป เนื่องจากขณะนี้มีการวิจัยเรื่องนี้มากมายทั่วโลก เชื่อว่าอีกไม่นานนัก อาจมียาที่รักษาหรือป้องกันได้

• ในทางการแพทย์ ยังไม่แนะนำให้ทานยาใด ๆ เพื่อป้องกัน เพราะมักไม่ได้ผล และยาหรือสมุนไพรหรืออาหารเสริมเหล่านี้ส่วนมากมีราคาแพง และมักโฆษณาเกินความจริง




 

Create Date : 12 มิถุนายน 2551   
Last Update : 12 มิถุนายน 2551 18:27:07 น.   
Counter : 2558 Pageviews.  

ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่






ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

การตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นขั้นตอนการตรวจสอบว่า ปัจจุบันสุขภาพของเรายังดีอยู่หรือไม่ มีโรคแอบแฝงที่ต้องรีบรักษาหรือไม่ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องทำ

แต่ปัจจุบันการตรวจสุขภาพมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาโรคเป็นสำคัญ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ ฯลฯ แล้วนำมาใช้ตัดสินว่าสุขภาพดีหรือไม่ดี โดยดูแต่ค่าตัวเลขหรือผลการตรวจเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดในการแปลผลได้มาก


การตรวจสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องเป็นการตรวจที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพที่แท้จริงของผู้รับการตรวจ ไม่ใช่มุ่งแต่หาโรค

การตรวจที่ดีจะต้องมีการชี้แนะให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ต้องไม่สร้างความทุกข์ใจ และต้องไม่ทำให้ ผู้รับการตรวจมีความประมาทเมื่อตรวจไม่พบโรค


การตรวจสุขภาพตามหลักสากลจะประกอบด้วยหลัก 4 ประการคือ

1. การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

การคัดกรอง แต่เดิมนั้นเชื่อว่าทำเพื่อค้นหาโรค แต่ความจริงแล้วการคัดกรองที่ดี คือ การค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นก่อนที่จะทำให้เกิดโรค

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค มีหลายอย่าง เช่น การทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารที่มีไขมันสูง ก็ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง เกิดปัญหาโรคหัวใจ, การดื่มเหล้า เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคตับ ตับอ่อนอักเสบ โรคพิษสุราเรื้องรัง รวมถึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ, การไม่ออกกำลังกาย ทำให้อ้วนเกิดปัญหา โรคเบาหวาน ไขมันสูง ปวดข้อ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่สามารถค้นหาได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งการซักประวัติมากถึง 80% ส่วนที่เหลือคือการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติเฉพาะที่จำเป็นตามปัจจัยเสี่ยงที่ได้จากประวัติ ซึ่งในบางครั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจไม่มีความจำเป็นเลยก็ได้

การคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเงิน และคุ้มค่า ซึ่งมีขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่การซักประวัติทั่วไป เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ การทำงาน อาชีพ การซักประวัติโรคประจำตัว โรคของคนในครอบครัว การรับประทานอาหาร การใช้สารเสพติด การออกกำลังกาย เมื่อได้ข้อมูลแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจเน้นพิเศษในบางเรื่องที่มีปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย

หลังจากทำการตรวจเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินผลการตรวจสุขภาพ โดยประเมินปัจจัยเสี่ยงที่พบ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อกำจัดปัจจัยเสี่ยง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต

2. การให้คำแนะนำ

โดยส่วนใหญ่พบว่ามักจะเป็นการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น แนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย แนะนำให้งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้เข็มขัดนิรภัยหรือใส่หมวกกันน๊อค เป็นต้น

คำแนะนำอื่นๆ เช่น แนะนำวิธีตรวจคลำหาก้อนที่เต้านมทุกสัปดาห์ การสอนให้สังเกตอาการเจ็บหน้าอก ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

การให้คำแนะนำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับการตรวจสุขภาพควรได้รับทุกครั้งที่มารับการตรวจสุขภาพ


3. การให้วัคซีนที่จำเป็น

การให้วัคซีนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ การให้วัคซีนที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรค และช่วยให้สุขภาพแข็งแรง

การให้วัคซีนส่วนใหญ่จะให้ในวัยเด็ก

ส่วนในผู้ใหญ่นั้น มีวัคซีนที่แนะนำว่าควรได้รับคือ

1.วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ ควรได้รับการฉีด เริ่มต้น 3 เข็ม และ รับการกระตุ้น 1 เข็ม ทุก 10 ปี

2.วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ (ให้ก่อนตั้งครรภ์)

3.วัคซีนอื่นๆ ควรได้รับตามความเสี่ยง เช่น

-วัคซีนตับอักเสบ บี ควรได้รับในผู้ที่มีคู่สมรสเป็นพาหะตับอักเสบ บี และได้รับการตรวจแล้วว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน

-วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ควรให้กับผู้ที่จะไปยังแหล่งที่มีโรคระบาด เช่น ไปแสวงบุญเมกกะ

-วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับในผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในเขตที่มีการระบาดของโรครุนแรง


4. การให้สารเคมีหรือยาเพื่อป้องกัน

อาจให้ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น การให้ฟลูโอไรด์ในเด็ก การให้โฟลิกในผู้ที่มีโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย การให้ฮอร์โมนในกลุ่มหญิงวัยทอง การให้แคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น

สรุปแล้วการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังมีความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะจะช่วยตรวจสอบค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค การให้วัคซีน ยาหรือสารเคมีบางชนิดเพื่อป้องกันหรือรักษาโรค

การตรวจสุขภาพที่มีประโยชน์คุ้มค่า จะต้องเป็นการตรวจที่มีจุดประสงค์ เพื่อป้องกันโรค มากกว่ามุ่งการรักษา เลือกเฉพาะการตรวจเฉพาะที่มีประโยชน์ เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่การตรวจแบบเหวี่ยงแห เหมือนในอดีตอีกต่อไป


การตรวจคัดกรองที่แนะนำสำหรับคนทั่วไป แยกตามอายุได้ดังนี้

อายุ 18 - 34 ปี :

1. วัดความดันโลหิต

2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก (หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว)


อายุ 35 – 59 ปี :

1. วัดความดันโลหิต

2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก

4. ตรวจไขมันในเลือด (ชายอายุ 35 ปี หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป)

5. ตรวจน้ำตาลในเลือด (อายุ 40 ปีขึ้นไป)

6. ตรวจมะเร็งเต้านม โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม


อายุมากกว่า 60 ปี :

1. วัดความดันโลหิต

2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก

4. ตรวจไขมันในเลือด

5. ตรวจน้ำตาลในเลือด

6. ตรวจมะเร็งเต้านม โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม

7. ตรวจการได้ยินโดยการซักประวัติ

8. ตรวจการมองเห็นโดยใช้ Snellen test

9. ตรวจมะเร็งลำไส้โดย ตรวจเลือดในอุจจาระ

*****************************







แวะไปอ่านต่อ อาจยาวหน่อย แต่ มีประโยชน์มาก .. คุ้มค่า ..

ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52

ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝากไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... bydrcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93

ตรวจสุขภาพประจำปี ที่แท้จริงหมายถึงอะไรตรวจไปเพื่ออะไร

https://www.hitap.net/167211

ตรวจคัดกรองต่างจากตรวจวินิจฉัยอย่างไร

https://www.hitap.net/167233

ตอนที่ 1ตรวจร่ายกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้หญิง

https://www.hitap.net/167411

ตอนที่ 2ตรวจร่างกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้ชาย

https://www.hitap.net/167420

ตรวจอะไรได้ไม่คุ้มเสีย

https://www.hitap.net/167523

ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการคัดกรองทางสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชนไทย

https://www.hitap.net/research/17560

การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย

https://www.hitap.net/research/17573

เว็บไซต์ตรวจสุขภาพด้วยตนเองอย่างง่าย

https://www.mycheckup.in.th/

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ

https://www.hitap.net/news/24143

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย

https://www.hitap.net/documents/18970

https://www.hitap.net/research/17573





 

Create Date : 09 มิถุนายน 2551   
Last Update : 12 กันยายน 2561 13:48:09 น.   
Counter : 16798 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]