Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรคพิษสุนัขบ้า


โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ( Rabies ) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว หนู ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าเป็นแล้วถึงตายทุกราย ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาได้


คนติดโรคสุนัขบ้าจากทางใดได้บ้าง?

คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เนื่องจากรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามาจากสัตว์ที่เป็นโรคได้ 2 ทาง คือ

1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด

2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์นั้น นอกเสียจากว่ามีบาดแผล รอยถลอก หรือ รอยขีดข่วนโดยบุคคลนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้ ผู้ที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งการถูกเลียที่ริมฝีปาก หรือนัยน์ตา ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้


ถ้าถูกสัตว์กัดจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพียงใด?

-ถ้าสัตว์ที่กัดไม่ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จะไม่มีโอกาสเป็นโรค แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคไว้ก่อน

-ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด ไม่ป่วยเป็นโรคทุกราย โอกาสเป็นโรคเฉลี่ยประมาณ35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด

ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21 %

ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณ 88 %

ถ้าแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่า แผลลึกหลายๆแผล


ถูกสุนัขบ้ากัด นานเท่าใดจึงมีอาการ?

ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรค (ระยะฟักตัว) จะแตกต่างกันได้มาก พบได้ตั้งแต่ 4 วันจนถึง 4 ปี แต่ส่วนมากมักมีอาการในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 3 จนถึงเดือนที่ 4

ประมาณ 70% จะเป็นโรคภายใน 3 เดือนหลังถูกกัด

ประมาณ 96% จะเป็นโรคภายใน 1 ปีหลังถูกกัด



สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการเป็นอย่างไร พบได้ สองแบบ

1. แบบดุร้าย มีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนและสัตว์อื่น ถ้าผูกโซ่หรือขังไว้ในกรง จะกัดโซ่หรือกรง หรือสิ่งของที่อยู่ไกล้อย่างดุร้าย บางครั้งสุนัขจะกัดจนฟันหักหรือลิ้นเป็นแผลมีเลือดออก เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2-3 วัน ก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซและตายในที่สุด

2. แบบเซื่องซึม มีอาการปากอ้า หุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ห้อยออกมานอกปาก บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่ มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ โดยเจ้าของมักเอานิ้วล้วงออกแต่ไม่พบกระดูก สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้ม ปากและคอจะบวม สุนัขจะลุกนั่งและยืนเดินไปมา บ่อยๆ กินของแปลกๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวก็กินปัสสาวะตัวเอง สุนัขแบบเซื่องซึมนี้จะไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน
สุนัขแบบหลังนี้ จะสังเกตอาการยากมาก ดังนั้นถ้าสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรตัดหัวสุนัขส่งตรวจ


คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการอย่างไร

ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อมาจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลมและเสียงดัง กลืนลำบากแม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลาจะกลืน เพราะมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน ยังมีสติดี พูดจารู้เรื่อง ต่อมาจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายมีอาการชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด



ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่สงสัยว่าบ้า  กัด หรือ เลีย

1. รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงซักฟอกแทนก็ได้

2. ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน น้ำยาพิวิดีน หรือ ทิงเจอร์เมอไทโอเลท
ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก

3. ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ทานยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลมาก ชา หรือ คันรอบ ๆ แผล มีไข้ขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์

4. ถ้าสุนัขตาย ให้ตัดหัวสุนัขไปตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตาย ให้ขังไว้ดูอาการ 16 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีน
การรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณ ไม่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

5. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่าหรือเป็นสัตว์ที่กัดแล้วหนีไป ก็จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีน

6. ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า คือ ผู้ที่มีแผลถลอก แผลเป็นรอยเขียวช้ำ หรือมีเลือดไหล รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก ถ้าถูกเลียที่ผิวหนังที่ไม่มีแผล หรือเพียงแต่อุ้มสุนัข ไม่สามารถติดโรคได้
 
 
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อถูกสัตว์เลี้ยงกัด/ข่วน ให้รีบล้างแผล สบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยา เช่น เบตาดีน แล้วไปพบแพทย์ทันที
( ไม่ต้องรอสังเกตอาการสัตว์ เพราะถ้ามีการติดเชื่อ แล้วรอจนสัตว์มีอาการ อาจรักษาไม่ทัน )
 

#การป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า
== ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง(สุนัข/แมว)ครั้งแรก เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือนขึ้นไป
== ประชาชนที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัด/ข่วน ให้รีบล้างแผล สบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยา เช่น เบตาดีน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่แผล กักหมา ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที หาหมอ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี
== หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที
== หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
Cr.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
อ่านเพิ่มเติม  https://goo.gl/mU1vmf
 


ควรเลือกใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบใด

สถานเสาวภาแนะนำให้ใช้วัคซีนที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง (ฉีด 5 ครั้งเท่านั้น) เพราะมีประสิทธิภาพสูง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ จึงปลอดภัยกว่าวัคซีนที่ทำจากสมองแกะ สมองหนู (ชนิดฉีด 14 เข็ม)

วัคซีนธรรมดา คือ วัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน โดยปกติท่านควรได้รับวัคซีนธรรมดา ซึ่ง 1 ชุดจะมี 5 เข็ม ใช้เวลาในการฉีดประมาณ 1 เดือน ซึ่งอาจจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ก็ได้



เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร

เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือ วัคซีนอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin) เป็นเซรุ่มหรือส่วนของน้ำใสของเลือดที่ได้มาจากม้า หรือคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน

ซีรุ่ม (Serum) คือวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าในปริมาณที่มาก เมื่อให้เซรุ่มดังกล่าวแก่ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด ก็จะไปทำลายเชื้อพิษสุนัขบ้าในร่างกายได้ทันที ก่อนที่ไวรัสจะก่อโรคขึ้น และก่อนที่ภูมิต้านทานของร่างกายจะสร้างขึ้น

วัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน(Immunoglobin) เป็นวัคซีนที่มีราคาแพง เพราะฉะนั้นจะใช้ต่อเมื่อ
-สงสัยว่าสัตว์เป็นโรคแน่ๆ
-โดนกัดเป็นแผลขนาดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อจากน้ำลายมาก
-โดนกัดอวัยวะที่สำคัญซึ่งมีเส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น หน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ






ข้อมูล เพิ่มเติม จาก  ระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า ( THAI RABIES NET )
 
https://www.thairabies.net/dashboard/default.aspx












เปิดพื้นที่สีแดง 22 จังหวัด โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 3 ราย
ล่าสุดวันนี้ 12มีนาคม 2561 กรมปศุสัตว์ ออกมาประกาศพื้นที่สีแดง ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้ากำลังระบาด เพิ่มเป็น 22 จังหวัดแล้ว ได้แก่
.ภาคเหนือ 2 จังหวัด  เชียงราย และ น่าน
.ภาคตะวันตก 2 จังหวัด   ตาก และ ประจวบคีรีขันธ์
.ภาคกลางและตะวันออก 8 จังหวัด   กทม. นนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว
.ภาคอีสาน 8 จังหวัด   นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี
.ภาคใต้ 2 จังหวัด   ตรัง และ สงขลา

.โดยล่าสุดในปี 2561 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ที่จังหวัด ตรัง สงขลา และสุรินทร์
https://www.facebook.com/WorkpointNews/photos/a.153956988306921.1073741828.153951094974177/595264910842791/?type=3&theater


****************************************
อัปเดต ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑
ปีนี้ โรคพิษสุนัขบ้า ระบาดหนัดจริง ๆ ระมัดระวังดูแลตนเองและเด็ก ๆ ให้ดีด้วยนะครับ
จำนวนผู้เสียชีวิต ปี ๖๑ แค่ ๓ เดือน - ๗ ราย (เท่ากับ ปี ๖๐ ทั้งปี) 
จำนวนผู้เสียชีวิต  ปี๖๐ - ๗ ราย  ปี๕๙ - ๑๔ ราย  ปี๕๘ - ๕ ราย



อัปเดต 2566

ด้วยจังหวัดกำแพงเพชรได้รับแจ้งจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ยังคงพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 4 ราย และ พ.ศ. 2566 จำนวน 6 ราย และยังพบผลบวกสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง

ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตปรากฎว่า เมื่อถูกสุนัขหรือแมว กัด ช่วน และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตถูกสุนัขของตนเองกัด ข่วน ซึ่งไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนจึงทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตในที่สุด

เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรปฏิบัติดังนี้

👉1. โรคพิษสุนัขบ้ามีอันตรายถึงชีวิตโดยผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคน โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน

👉2. การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทันทีเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ทันที่พร้อมประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง

👉3. หากพบว่าสุนัขหรือแมว กัด ข่วน ตนเองหรือผู้อื่น ให้นำสุนัขหรือแมวไปขังไว้เพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หรือพบสัตว์สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดทันที

อบต. โป่งน้ำร้อน
https://www.facebook.com/sao.pnrn/posts/pfbid0QPCpJ7nUWZyoQj2baNpsJnk5Yb88EdwDNAR4Jg73ubFWdiLFrzCp6mnbuqEdL3jMl



****************************************


เครดิต โรงพยาบาลสัตว์เศรษฐกิจสัตวแพทย์
https://www.facebook.com/setthakitanimalhospital/

******************************************
 

ปุจฉา!โรคพิษสุนัขบ้า อาเพศเหตุระบาดหนัก
20 มี.ค. 2561 05:01
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา


“โรคพิษสุนัขบ้า”...เค้าว่า กันมาอย่างนี้ไม่ทราบจริงไหม? ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไล่เรียงสรุปข้อมูลจากข่าวตามเงื่อนเวลาไทม์ไลน์ให้เห็นภาพคร่าวๆกรณีเรื่องราวของ สตง. กับวัคซีนพิษสุนัขบ้าของ อปท.
เริ่มจาก...ปี 57 หลังรัฐประหาร สตง. ออกไล่ล่าตรวจสอบการใช้งบของ อปท. ย้อนหลังปี 56...ปลายปี 2557 สตง.ทำหนังสือเสนอแนะว่า เทศบาลตำบลสุรนารี ใช้เงินซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า 2535 ที่ให้เป็นหน้าที่กรมปศุสัตว์ ให้เรียกเงินคืน สอบวินัยย้อนหลังเทศบาล ฯลฯ

เทศบาลตำบลสุรนารีสู้ โดยยื่นต่อกรมปศุสัตว์ ให้กรมปศุสัตว์ยื่นเรื่องตีความ โดยการเรียกเงินคืนนี้ สตง.ออกหนังสือเวียนแจ้งข้อเตือนไปยัง อปท.ทั่วประเทศ อปท.เลยระงับการซื้อวัคซีนมาฉีดให้สัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัด และ “กรมปศุสัตว์” ยื่นตีความต่อกฤษฎีกา ลงวันที่ 29 มกราคม 2558
กฤษฎีกา 2 คณะ ตีความว่ากรมปศุสัตว์มีอำนาจ แต่กรมปศุสัตว์ก็ยังมีอำนาจมอบให้ อปท.ซื้อวัคซีนมาฉีดให้สัตว์แทนด้วย ในต้นปี 2559 แต่โรคพิษสุนัขบ้าก็เริ่มระบาดรุนแรงในระดับหนึ่งแล้วในปี 2560

ระเบียบที่กฤษฎีกาตีความว่าทำได้ สตง.ดันไม่เผยแพร่ ไม่มีหนังสือเวียนแจ้ง อปท. เหมือนตอนห้าม และ สตง.ก็บอกไปอีกว่าจะตรวจสอบเรื่องวัคซีนที่ซื้อไม่มีคุณภาพ สต๊อกแล้วเสื่อม แทนในปี 2560 โดยไม่เอ่ยถึงเรื่องที่ตัวเองไปตรวจสอบว่า อปท.ไม่มีอำนาจตอนปี 2557 สักคำ?

กระทั่งปี 2561 พิษสุนัขบ้าระบาดหนักกว่าเดิมเกินครึ่งประเทศ และ อปท.หลายแห่งก็ยังไม่กล้าซื้อวัคซีนมาฉีด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า ประเด็น สตง.ห้ามพื้นที่จัดซื้อวัคซีนหมาบ้าในสัตว์และทำให้การบริหารจัดการเองในพื้นที่ไม่สามารถกระทำต่อไปได้ และสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น นอกจากนั้นกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยึดถือนโยบายทำงานได้ตามเป้าเสมอ ทั้งนี้ มีการรายงานตัวเลขสวยหรู ในการทำหมันฉีดวัคซีนสุนัขและการรายงานจำนวนหมาในประเทศ โดยที่จะเป็นจำนวนหมาที่ประเมินได้จากหมามีเจ้าของ

“ในขณะที่ “หมาชุมชน” มีเพิ่มขึ้นมากมาย...เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในการรายงานว่าไม่มีไข้หวัดนกในสัตว์ปีก เป็นเวลามากกว่าเก้าปี ทั้งๆที่มีการระบาดมากกว่าครึ่งประเทศแล้ว และสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงพัฒนาขึ้นเป็นรุนแรง รวมทั้งไม่ได้มีการแจ้งเตือนกระทรวงสาธารณสุขจนกระทั่งความแตกเมื่อเดือนสิงหาคม 2560”

เมื่อมีสัตว์ในสวนสัตว์ที่โคราชป่วยตาย ได้แก่ อีเห็น ชะมด เสือปลาและอื่นๆ และลามออกไปนอกสวนสัตว์ ทำให้มีไก่ตามบ้านในหมู่บ้านในพื้นที่โคราช ล้มตายเป็นจำนวนมาก ในปีที่แล้วและกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสอบสวน เนื่องจากมีประชาชนและเจ้าหน้าที่สวนสัตว์สัมผัสกับสัตว์ป่วยตายเป็นจำนวนมาก

กระทั่งนำไปสู่การประชุมระหว่างกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์จึงได้มีการเปิดเผยความจริงว่ามี ไข้หวัดนกระบาดจริงในที่ต่างๆ และเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง แต่ข้อมูลไม่สามารถแพร่ออกสู่สาธารณชนได้
“การปกปิดข้อมูล...เป็นผลร้าย โดยที่โรงพยาบาลต่างๆจะดูแลคนป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ธรรมดาโดยไม่ได้พิจารณาถึงไข้หวัดนก และในที่สุดเชื้อไวรัสก็จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงระดับสุดท้ายคือสามารถแพร่ได้จากคนสู่คน”

สำหรับสถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในหลายปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏในรายงานว่า มีความเสี่ยงมากจนกระทั่งความแตกในช่วงสองถึงสามปีหลังที่มีคนตายมากขึ้น มีคนถูกกัดมากขึ้น มีคนต้องการใช้วัคซีนมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนหมาที่เพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติและจึงปรากฏตัวเลขที่ชัดเจนขึ้นของหัวหมาที่ต้องสงสัยและตรวจว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ในบางพื้นที่มากกว่า 10% จนกระทั่งถึงมากกว่า 30 และ 50%

สถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าที่ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ ภายในระยะเวลาสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยที่เกิดขึ้นหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น

ประการที่หนึ่ง...ความไม่รับผิดชอบของคนไทยเองในการเลี้ยงหมาปล่อยให้เพิ่มจำนวนและไม่ได้ให้การดูแลที่เหมาะสมโดยเฉพาะเรื่องของการให้วัคซีนป้องกันโรค และการคุมกำเนิด ในขณะเดียวกันผลักภาระให้ทางการหรือเจ้าหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนและรวมถึงการทำการฉีด

“จำนวนประชากรหมาที่เพิ่มขึ้นมีปริมาณเกินกว่ากำลังของเจ้าหน้าที่ที่จะช่วยฉีด ซึ่งต้องการความร่วมมือจากชุมชนในการนำหมามาด้วย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะทำการตามจับเอาเอง”

ประการที่สอง...แม้ว่าชุมชนในท้องถิ่นจะช่วยตัวเองถึงในระดับหมู่บ้านโดยที่ผ่านมามีความเข้มแข็งในการจัดหาซื้อวัคซีนและทำการบริหารจัดการได้เอง แต่ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กลับไม่สามารถทำได้ เพราะเกิดมีกระบวนการตีความข้อกฎหมาย แสดงถึงความลักลั่นหรือช่องโหว่ของระบบการทำงานของรัฐ

“สตง.มีอำนาจ แต่อาจทำตามตัวหนังสือ ตัวบทกฎหมาย ทั้งนี้ โดยอาจไม่ได้ประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจนเกิดปัญหารุนแรงขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ขั้นตอนการตรวจสอบ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายน่าจะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงให้รอบด้าน ดังนั้น พอมองแต่งานของตนเอง และสั่งการใช้อำนาจห้ามไปยัง อปท. จึงเกิดผลกระทบต่อประชาชน”

ประการที่สาม...ปัญหาการทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงและการคาดการณ์ไปข้างหน้าในอนาคต โดยที่การประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ต้องคำนึงถึงว่าจำนวนส่งตรวจมีปริมาณเพียงพอที่จะได้ข้อสรุปหรือไม่ และมิหนำซ้ำแม้เมื่อพบสุนัขบ้าตัวเดียวในพื้นที่ จะสะท้อนว่าตัวต้นตอแท้จริงอาจแพร่ไปให้ตัวอื่นๆเรียบร้อยแล้วในพื้นที่ และแต่ละตัวค่อยๆรอเวลาที่จะแสดงอาการและแพร่เชื้อต่อ ดังนั้น...ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนให้หมาทุกตัวในพื้นที่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่อันตรายต่ออย่างน้อย 6 เดือน

ในการพิจารณาความเสี่ยง และการรายงานพื้นที่เสี่ยงใหม่เป็นรายเดือนอาจจะทำให้เบาใจลงได้ แต่ทั้งนี้ พื้นที่เดิมก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ และยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความเสี่ยงลดลง...การประกาศพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดว่า “เสี่ยงน้อย” มีอิทธิพลมากต่อประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้แม้เมื่อมีสัตว์ป่วยตาย ถ้าประชาชนรับทราบเป็นทางการว่าพื้นที่นั้น ดูจะปลอดภัยก็ยังนำสัตว์ที่ป่วยตายมาทำเป็นอาหารและปรากฏอยู่หลายหมู่บ้านในช่วงปีที่ผ่านมาที่มีการนำโค กระบือ หมาที่ป่วยตายและนำมากินเป็นอาหารโดยที่พื้นที่นั้นๆไม่ได้จัดเป็นพื้นที่เสี่ยง ดังนั้น จึงต้องทำการประเมินคนหลายร้อยคน ในหมู่บ้านหลายแห่งว่าจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันขนาดไหน โดยอันตรายจะตกอยู่กับผู้ที่ทำการชำแหละลอกหนังและสัมผัสกับเครื่องใน โดยที่สัตว์ที่เป็นโรคและตาย เชื้อจะไปทั่วร่างกาย

ประการที่สี่...การประเมินความเสี่ยงที่อาจต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ระดับความเข้มงวดในการเฝ้าระวังลดถอยกว่าที่ควรจะเป็น และกระทบถึงจำนวนวัคซีนที่ต้องวางแผนในการใช้แต่ละปี ทั้งนี้ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริษัทที่ผลิตวัคซีนขนาดใหญ่อาจมีกำลังผลิตลดลงหรือรวมทั้งอาจมีปัญหาในด้านคุณภาพและทำให้พื้นที่หลายแห่งของประเทศขาดแคลนวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

“การขาดความเชื่อมโยงในความรู้ความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่การประเมินสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีปัญหาในหลายปีที่ผ่านมาในสัตว์ ทำให้เกิดโรคอุบัติซ้ำและเป็นที่น่าเสียดายที่โรคนี้ซึ่งเคยควบคุมได้ดีและเป็นต้นแบบให้หลายๆประเทศทั่วโลก กลับรุนแรงขึ้นมาใหม่”

ถึงตรงนี้ให้เข้าใจโดยทั่วกันว่า...การกำหนดตัวชี้วัดที่ให้พื้นที่หรือจังหวัดต้องไม่มีโรคอาจต้องเปลี่ยนแนวความคิดเป็นการดูที่ประสิทธิภาพของพื้นที่หรือจังหวัดในมาตรฐานของการเฝ้าระวังโรคอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐานและจังหวัดใดที่สามารถสืบค้นโรคได้หมดจด ถึงแม้จะมีจำนวนมากก็ตาม และเร่งรัดจัดการควบคุมได้เร็วและมีประสิทธิภาพให้ต่อเนื่องถึงจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่ใช่...“การรายงานไม่มีโรคในพื้นที่”

“โรคพิษสุนัขบ้า”...ไม่ใช่โรคเดียวที่ความแตก ยังมีโรคอื่นๆอีกที่รอปะทุอยู่ เสมอเหมือนกวาดขยะซุกใต้พรม.



******************************************

 
เครดิต FB@ Infectious ง่ายนิดเดียว  14ตค61
https://www.facebook.com/Infectious1234/photos/a.133077153789653/571905913240106/?type=3&theater



 
ที่มา FB@ Ped in a Page
https://www.facebook.com/pedinapage/photos/a.788258301376585/873781059490975/?type=3&theater
 
"แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ปี พ.ศ. 2561" จากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ครั้งนี้เพจน้อยๆ ของเราได้รับความร่วมมือจาก ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเรียบเรียงข้อมูลอย่างดีด้วย ขอบคุณมา ณ ที่นี้ค่า

ถ้าพูดถึงการให้วัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือ rabies ก็จะมีทั้ง pre-exposure หรือการฉีดก่อนสัมผัสโรค และ post-exposure คือการฉีดหลังจากสัมผัสโรค

== มาที่ pre-exposure vaccination ก่อน (กรอบสีเขียวบนสุด)

สามารถฉีดได้ทุกอายุ ฉีดรอบเดียวตาม regimen ให้ครบคอร์ส ไม่ต้องฉีด RIG อีกตลอดไป (แต่จะมีฉีดวัคซีน booster ซึ่งจะกล่าวภายหลัง)

สามารถฉีดได้ทั้ง IM และ ID เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งพอนะจ๊ะ
IM ฉีดครั้งละ 1 เข็ม ที่ day 0, 7
ID ฉีดครั้งละ 2 เข็ม ที่ day 0, 7 หรือ 21

สำหรับ immunocompromised host และกลุ่มเสียง* ในที่นี้คือ สัตวแพทย์ และคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ มีโอกาสสัมผัสโรคได้ พวกนี้จะฉีด regimen ต่างไปจากคน host ปกติ
จะฉีดเป็น IM หรือ ID ก็ได้ ครั้งละ 1 เข็ม ที่ day 0, 7, 21 หรือ 28

หลังจากนั้นกลุ่มที่ฉีดแล้วนี้จะนับเป็นกลุ่ม "vaccinated" (สีเขียว)
ส่วนคนที่ยังไม่เคยฉีด จะนับเป็น "non-vaccinated" (สีแดง)

== หลังจากโดนกัดแล้ว (after expose to mammals)
ทุกคนจะต้องผ่านการดูแลแผลอย่างถูกต้อง คือ :
1. ล้างแผลด้วยสบู่ + น้ำ และทำแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จะเป็น povidine, alcohol หรือ chlorhexidine ก็ได้
2. Antibiotics
3. Tetanus vaccine พิจารณาตาม last dose tetanus ที่เคยได้ และจากลักษณะของแผล (clean / dirty wound)

พอหลังจากดูเรื่องแผลแล้ว ก็จะเข้าสู่โหมดการให้ post-exposure vaccination

ซึ่งการให้ post-exposure vaccination จะดูจาก 1. ลักษณะแผล (CAT 1/2/3) และ 2. ลักษณะ host

>>> ลักษณะแผล คือ
ถ้าเป็น CAT 1 คือแค่สัมผัสเฉยๆ ไม่มีแผล ไม่มีรอยข่วนรอยถลอกใดๆ (กรอบวงรีสีเขียว) ถ้าเป็นกลุ่ม CAT 1 นี้ ไม่ว่าจะเคยฉีดหรือไม่เคยฉีด ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องฉีดวัคซีน rabies ตามหลัง

แต่ถ้าเป็น
- CAT 2 คือมีแผลถลอก แผลรอยข่วน "ที่ไม่มีเลือดออก" หรือ กินเนื้อ mammals ที่ปรุงไม่สุก
- CAT 3 คือมีแผลที่ "มีเลือดออก" หรือ น้ำลายสัตว์สัมผัสแผล หรือ มีการสัมผัส mucosal membrane

ถ้าเป็น CAT 2 หรือ 3 นี้ จะต้องเข้าสู่การดูจาก ลักษณะของ host ก่อนเพื่อเลือก regimen วัคซีน

>>> ถ้าเป็น host ที่เป็น immunocompromised host ที่มีลักษณะดัง 5 ข้อต่อไปนี้ คือ
1) เป็นผู้ป่วย primary immunodeficiency
2) เป็นผู้ป่วย HIV infetion ที่มี CD4 level < 200
3) on prednisolone > 20 mg/day มานานมากกว่า 14 วันขึ้นไป
4) เป็นผู้ป่วย malignancy ที่กำลัง on chemo
5) เป็นผู้ป่วย post-organ transplant

ถ้าเข้า 5 ข้อนี้เมื่อไหร่
ไม่ว่าจะเป็น CAT 2 หรือ 3
ไม่ว่าจะเคยได้ pre-vaccination vaccine มาก่อนหรือไม่
** ฉีดเหมือนกัน คือ "full IM regimen + RIG" **
คือฉีด rabies vaccine ทาง IM ครั้งละ 1 เข็ม ที่ day 0, 3, 7, 14, 28
บวกกับต้องได้ RIG ทุกคน

>>> แต่ถ้าไม่เข้า 5 ข้อนี้
ค่อยแยกเป็น vaccinated หรือ non-vaccinated

** ถ้าเป็นกลุ่ม vaccinated เอาไปแค่ booster พอ ::
ดูจากว่าได้วัคซีนมาล่าสุดเมื่อไหร่

-- ได้รับวัคซีนมาไม่เกิน 6 เดือน
ฉีด IM หรือ ID ก็ได้ แค่เข็มเดียว ที่ day 0

-- ได้รับวัคซีนมาเกิน 6 เดือน
ฉีด IM ครั้งละ 1 เข็ม ที่ day 0, 3
หรือ ฉีด ID ครั้งละ 1 เข็ม ที่ day 0, 3 หรือ ID ครั้งละ 4 เข็ม ที่ day 0 รอบเดียวก็ได้

** สำหรับกลุ่ม non-vaccinated แยกตามแผล

=> CAT 2 : ฉีด full IM or ID regimen แต่ไม่ต้องฉีด RIG
IM ครั้งละ 1 เข็ม ที่ day 0, 3, 7, 14, 28 หรือ
ID ครั้งละ 2 เข็ม ที่ day 0, 3, 7, 28

=> CAT 3 : ฉีด full IM or ID regimen เหมือน CAT2 แต่ต้องฉีด RIG ด้วย

------

สำหรับ RIG (Rabies Immunoglobulin) จะมีสองแบบ คือจากม้า (ERIG) และจากคน (HRIG) โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีดเป็นแบบ ERIG ก่อน ยกเว้นว่า ทำ skin test แล้วแพ้ หรือมีประวัติว่าเคยได้วัคซีนเซรุ่มจากม้าแล้วมีอาการแพ ้ถึงจะพิจารณาให้เป็น HRIG ได้

ส่วนการฉีด RIG "ฉีดแค่รอบแผลให้มากที่สุด" ไม่เกิน max dose คือ ERIG ไม่เกิน 40 IU/kg หรือ HRIG ไม่เกิน 20 IU/kg

------

DOSE สำหรับฉีดคือ

IM ครั้งละ 0.5 ml/dose
ID ครั้งละ 0.1 ml/dose

แนะนำเป็นฉีดที่ deltoid m. ได้ทั้งสองข้าง (เช่นถ้า ID ต้องฉีดทีละ 2 เข็ม ก็คือแขนสองข้าง) ยกเว้นว่าใน regimen ที่ฉีดทีเดียว 4 เข็ม อาจจะไปฉีดที่ anterior thigh หรือ scapular ด้วยได้

------

คำถามที่เจอบ่อยคือ "สามารถเป็น route การฉีดได้มั้ย" เช่น ตอนแรกไป รพ. นึงฉีด ID มา แต่มาอีก รพ. จะขอฉีดเป็น IM
จริงๆ ไม่แนะนำให้เปลี่ยน แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ สามารถเปลี่ยนได้ 1 ครั้ง และหลังจากเปลี่ยนแล้วจะเปลี่ยนกลับไม่ได้อีก

อย่างในกรณีที่ฉีด ID มาตอนเข็มแรก แต่เข็ม 2 ฉีด IM ดังนั้น เข็ม 3 4 5 ต้องฉีดเป็น IM ทั้งหมด ไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้นะจ๊ะ

-----

อ่ะอันนี้คือ full version ของ guideline
มีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมาย ลองไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ค่าา

 
 
*****************************************
ลิงค์บทความ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า... ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=15-08-2012&group=4&gblog=94

โรคพิษสุนัขบ้า

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=20-03-2008&group=4&gblog=23

สุนัขจรจัดปัญหาสังคม ระดับประเทศ ...สาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา...แถมเรื่อง ขี้หมา(คนอื่น)หน้าบ้าน(เรา)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-02-2017&group=15&gblog=78

 


 




 

Create Date : 20 มีนาคม 2551   
Last Update : 29 เมษายน 2566 14:13:28 น.   
Counter : 35813 Pageviews.  

โรคบาดทะยัก



โรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อที่อยู่ในดิน มีชื่อว่า คอสติเดี่ยม เตตะไน ( Clostridium tetani ) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสร้าง สารพิษ ( toxin ) ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะจับกับเส้นประสาททำให้การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ

เชื้อมักจะเข้าทางบาดแผลบางครั้งแผลอาจจะเล็กมากจนไม่เป็นที่สังเกต แผลที่ลึก หรือแผลที่มีเนื้อตายมากจะเกิดติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนั้นเชื้ออาจเกิดจากการทำแท้ง ฉีดยาเสพติด แผลไฟไหม้ แผลจากแมลงกัด ก็ได้


หลังรับเชื้อกี่วันจึงเกิดอาการ

ผู้ป่วยจะเกิดอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2 วันถึง 2 เดือน โดยเฉลี่ยจะเกิดอาการภายใน 14 วัน


อาการของโรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักมักเป็นกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบแผล หลังจากนั้น 1 - 7 วันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อจะกระจายทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อกรามทำให้อ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายลำบาก คอ หลังเกร็ง และปวด หลังจากนั้นกล้ามเนื้อทั่วร่างกายก็จะเกร็งทั้งหมดโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ช่วยหายใจทำให้หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตจากหายใจวาย



การรักษา

• ต้องนอนในโรงพยาบาลควรอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก ( ICU ) ห้องที่อยู่ควรเงียบ แสงสว่างไม่มาก

• ให้ยาปฏิชีวนะ นิยมให้ เพนนิซิลิน ( penicillin )

• ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ

• ให้ยา tetanus antitoxin

• ทำความสะอาดแผล



การป้องกัน

• โดยการ ฉีดวัคซีน TOXOID ตามกำหนด และซ้ำทุก 10 ปี

• ทำความสะอาดแผล และให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม



แผลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก

• บาดแผลที่มีเนื้อตายจำนวนมาก

• มีการติดเชื้อเป็นหนอง

• มีสิ่งแปลกปลอมตกค้าง

ตัวอย่างแผล เช่น แผลไฟไหม้ การติดเชื้อของสายสะดือ กระดูกหักชนิดแทงทะลุผิวหนัง การติดเชื้อจากทำแท้ง



ใครควรได้รับการฉีด ฉีดวัคซีน TOXOID

ผู้ใหญ่ทุกคนควรได้รับวัคซีน เมื่อเด็กอายุ 14 – 16 ปี ถ้าภายใน 5 ปียังไม่เคยได้วัคซีนมาก่อนให้ฉีด 1 เข็ม

ผู้ที่มีแผล ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก



จะฉีดวัคซีนอย่างไรกับผู้ป่วยที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน

• ให้ฉีด 3 เข็ม เข็มแรกฉีดได้เลย เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 - 2 เดือน ส่วนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่สอง 6 - 12 เดือน โดยฉีดยาปริมาณ 0.5 ซีซี เข้ากล้ามเนื้อ แล้วฉีดกระตุ้นทุก10 ปี

• ไม่แนะนำให้ฉีด toxoid ถ้าบุคคลผู้นั้นได้ toxoid ครั้งล่าสุดไม่เกิน 5 ปี


ลักษณะแผล

• ในกรณีแผลสะอาดและเกิดในช่วง 10 ปีหลังได้ toxoid ครั้งสุดท้ายแนะนำว่าไม่ต้องฉีด

• กรณีแผลสกปรกแต่เกิดในช่วง 5 ปีหลังการฉีดวัคซีนแนะนำว่าไม่ต้องฉีด

• กรณีแผลสะอาดแต่ได้วัคซีนเกิน 10 ปีแนะนำให้ฉีดวัคซีน

• กรณีแผลสกปรกและได้วัคซีนเกิน 5 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปีให้ฉีดวัคซีน

• ผู้ป่วยได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ทราบถ้าแผลสะอาดให้ฉีด toxoid ถ้าแผลสกปรกให้ฉีดTetanus immune globulin(TIG) ร่วมกับ toxoid

• ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีบาดแผลควรได้รับ Tetanus immune globulin(TIG)


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

โรคบาดทะยัก
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคTetanus
ลักษณะโรค
เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งผลิต exotoxin ที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้โรคนี้จึงมีชื่อเรียกหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งเป็น anaerobic bacteria ย้อมติดสีแกรมบวก มีคุณสมบัติที่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ (spore) ที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อหลายอย่างสามารถสามารถสร้าง exotoxin ที่ไปจับและมีพิษต่อระบบประสาท
ระบาดวิทยา
โรคบาดทะยักพบได้ทั่วไปทุกแห่ง เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในรูปแบบของสปอร์พบติดตามพื้นหญ้าทั่วไปได้นานเป็นเดือนๆ หรืออาจเป็นปี เชื้อจะพบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยจะแบ่งตัวและขับ exotoxin ออกมา เชื้อจะเจริญแบ่งตัวได้ดีในแผลลึก อากาศเข้าไม่ได้ดี เช่น บาดแผลตะปูตำ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวหนังถลอกบริเวณกว้าง บาดแผลในปาก ฟันผุ หรือเข้าทางหูที่อักเสบ โดยการใช้เศษไม้ หรือต้นหญ้าที่มีเชื้อโรคนี้ติดอยู่แคะฟันหรือแยงหู บางครั้งอาจเข้าทางลำไส้ได้
ทางเข้าที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในทารกแรกเกิดคือ เชื้อเข้าทางสายสะดือที่ตัดด้วยกรรไกร หรือของมีคมที่ไม่สะอาด ที่พบบ่อยในชนบทคือ การใช้ไม้ไผ่ หรือมีดทำครัวตัดสายสะดือและการพอกสะดือด้วยยากลางบ้าน หรือโรยด้วยแป้งที่อาจปนเปื้อนเชื้อบาดทะยัก ทำให้เชื้อเข้าสู่แผลรอยตัดที่สะดือ ทำให้เกิดโรคบาดทะยักในทารกเกิด
อาการและอาการแสดง
หลังจากได้รับเชื้อ สปอร์ที่เข้าไปตามบาดแผลจะแตกตัวออกเป็น vegetative form ซึ่งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิต exotoxin ซึ่งจะกระจายจากแผลไปยังปลายประสาทที่แผ่กระจายอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ระยะจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการเริ่มแรก คือ มีอาการขากรรไกรแข็ง ที่เรียกว่าระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-28 วัน เฉลี่ย 8 วัน
  1. บาดทะยักในทารกแรกเกิดอาการมักจะเริ่มเมื่อทารกอายุประมาณ 3-10 วัน อาการแรกที่จะสังเกตได้คือ เด็กดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม ทั้งนี้เพราะมีขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ต่อมาเด็กจะดูดไม่ได้เลย หน้ายิ้มแสยะ (Risus sardonicus หรือ Sardonic grin) เด็กอาจร้องครางต่อมาจะมีมือ แขน และขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้าเป็นมากจะมีอาการชักกระดุกและหน้าเขียวอาการเกร็งหลังแข็งและหลังแอ่นนี้จะเป็นมากขึ้น ถ้ามีเสียงดังหรือเมื่อจับต้องตัวเด็ก อาการเกร็งชักกระดุกถ้าเป็นถี่ๆ มากขึ้น จะทำให้เด็กหน้าเขียวมากขึ้น ทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้เพราะขาดออกซิเจน
  2. บาดทะยักในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เมื่อเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคก่อนที่จะมีอาการประมาณ 5-14 วัน บางรายอาจนานถึง 1 เดือน หรือนานกว่านั้นได้ จนบางครั้งบาดแผลที่เป็นทางเข้าของเชื้อบาดทะยักหายไปแล้ว อาการเริ่มแรกที่จะสังเกตพบคือ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ มีคอแข็ง หลังจากนี้ 1-2 วัน ก็จะเริ่มมีอาการเกร็งแข็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายคือ หลัง แขน ขา เด็กจะยืนและเดินหลังแข็ง แขนเหยียดเกร็งให้ก้มหลังจะทำไม่ได้ หน้าจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายยิ้มแสยะและระยะต่อไปก็อาจจะมีอาการกระตุกเช่นเดียวกับในทารกแรกคลอด ถ้ามีเสียงดังหรือจับต้องตัวจะเกร็ง และกระดุกมากขึ้น มีหลังแอ่น และหน้าเขียว บางครั้งมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้มีการหายใจลำบากถึงตายได้
การวินิจฉัยโรค
อาจจะเพาะเชื้อ C.tetani ได้จากแผล โดยทั่วไปแล้วมักจะเพาะเชื้อไม่ได้ การวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงอาศัยอาการทางคลินิก
โรคบาดทะยักจะวินิจฉัยแยกโรคจากโรคสมองอักเสบได้จากการที่โรคบาดทะยักไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับการรู้สติ นอกจากในรายที่ชักมากจนสมองขาดออกซิเจน
การรักษาพยาบาล
  1. การปฏิบัติก่อนที่จะนำไปพบแพทย์ ถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ดูดนมและไม่อ้าปากแสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืนหรือกรอกนม เพราะอาจจะทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องตัวโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะจะทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้
  2. การรักษาเฉพาะให้ tetanus antitoxin (TAT) 10,000-20,000 หน่วยเข้าหลอดเลือด หรือให้ tetanus immune globulin (TIG) 3,000-6,000 หน่วยกล้ามเนื้อ เพื่อให้ไปทำลาย tetanus toxin ที่ยังไม่จับที่ระบบประสาทให้ยาปฏิชีวนะ penicillin ขนาดสูง เพื่อทำลายเชื้อ C.tetani ที่บาดแผล
  3. ให้การรักษาตามอาการ ให้ยาระงับชัก ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ งดอาหารและน้ำทางปาก ในขณะที่มีอาการเกร็งหรือชักให้อาหารทางหลอดเลือด
  4. ดูแลเรื่องการหายใจ
หมายเหตุ: ก่อนให้ antitoxin ต้องทำ skin test
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Criteria)
วิธีเพาะเชื้อ (Culture) โดยเก็บตัวอย่างเข้าไปลึก ๆ ที่แผล เนื่องจากเชื้อเป็น Anaerobe ใส่ใน Stuart transport media หรือภาชนะที่มีฝาปิดแต่ต้องรีบส่ง การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำในกรณีที่มีบาดแผลโดยจะพบเชื้อได้ประมาณ 30 % แต่การแปรผลจากการพบเชื้ออาจจะเป็นเชื้อที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสาเหตุของบาดทะยักในครั้งนี้ก็ได้ ฉะนั้นการวินิจฉัยบาดทะยักจึงไม่จำเป็นต้องใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การควบคุมป้องกัน
  1. เมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาดเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อถ้าแผลลึกต้องใส่ drain ด้วย
  2. ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน ?-1 ชั่วโมง รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็คด้วย alcohol 70 % เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่างๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือ
  3. ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาให้ tetanus toxoid (T) ป้องกันโรคบาดทะยักให้ครบและให้ TAT หรือ TIG ในรายที่แผลใหญ่สกปรกมาก ในรายที่เคยได้วัคซีนมาแล้วครบ 4-5 ครั้ง ในระยะ 5-10 ปี ให้วัคซีน T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียว ในรายที่ได้วัคซีนนานเกิน 10 ปี และมีบาดแผลมานานเกิด 24 ชั่วโมงให้ T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียวพร้อมกับให้ TAT ด้วย
  4. ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยักต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ
การป้องกันที่ดีที่สุด คือให้วัคซีนป้องกัน DTP ตั้งแต่อายุ 2, 4 และ 6 เดือนและเพิ่มอีก 2 ครั้งเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นอาจให้ทุก 10 ปี โดยให้เป็น T หรือ dT

สำหรับการป้องกันบาดทะยักในทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด คือการคลอดและตัดสายสะดือโดยถูกต้อง สะอาด ดูแลสะดือดังกล่าวข้างต้น และที่ได้ผลดีคือการให้ T แก่หญิงมีครรภ์ โดยให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน ครั้งสุดท้ายควรจะต้องให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ T 2 ครั้ง ตามกำหนดนี้จะสร้าง antitoxin ซึ่งจะผ่านไปยังทารกแรกเกิดในระดับที่สูง พอที่จะป้องกันโรคบาดยะยักได้ และ antitoxin จะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันได้นานถึง 3 ปี แต่เพื่อให้แน่ใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงและอยู่นาน ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ฉีด T เข็มที่ 3 ในระยะ 6-12 เดือน หลังเข็มที่ 2 ซึ่งอาจจะให้ในระยะหลังคลอด การได้รับ 3 ครั้ง จะทำให้ระยะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 5-10 ปี ในพื้นที่ที่มีอุบัติการโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดสูง จะแนะนำให้ T แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ 3 ครั้ง 2 ครั้งแรกห่างกัน 1 เดือน ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน
ตารางที่ 1 ระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง
ระยะห่างระหว่างโด๊ส
T1-T2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์
T2-T3 อย่างน้อย 6 เดือน
T3-T4 อย่างน้อย 1 ปี
T4-T5 อย่างน้อย 1 ปี
ตารางที่ 2 ระยะเวลาที่วัคซีนสามารถป้องกันโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดได้
เมื่อได้ครบ ระยะเวลาที่ป้องกันได้
1 โด๊ส ป้องกันไม่ได้
2 โด๊ส 3 ปี นับตั้งแต่หลังฉีด dose สุดท้าย 15 วัน
3 โด๊ส 5 ปี นับตั้งแต่หลังฉีด dose สุดท้าย 15 วัน
4 โด๊ส 10 ปีนับตั้งแต่หลังฉีด dose สุดท้าย 15 วัน

//www.boe.moph.go.th/fact/Tetanus.htm
//haamor.com/th/บาดทะยัก/
https://medthai.com/บาดทะยัก/
https://www.pobpad.com/บาดทะยัก
:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551   
Last Update : 21 กรกฎาคม 2560 21:23:53 น.   
Counter : 4516 Pageviews.  

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดสมอง ตีบ-แตก-ตัน Fast Track Stroke






โรคเส้นเลือดสมองตีบ


ดัดแปลงจากบทความ ของ นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ( https://www.siammedic.com )

อัมพฤกษ์อัมพาต หมายถึงการที่แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง และมักจะไม่ค่อยหาย หรือ หายแต่ไม่หายสนิท ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสมรรถภาพค่อนข้างนานและมีความพิการหลงเหลืออยู่

คำว่า "อัมพาต" เรามักจะหมายถึงอาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลย ซึ่งอาจจะอ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย หรือครึ่งท่อนล่างของร่างกายก็ได้

ส่วนคำว่า "อัมพฤกษ์" เราหมายถึงอาการอ่อนแรงที่ผู้ป่วยยังพอขยับร่างกายส่วนนั้นได้บ้าง

โดยทั่วไป เรามักจะนึกว่า อัมพาต อัมพฤกษ์ จะต้องมีอาการอ่อนแรงเสมอ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การที่มีเพียงแค่ อาการชา หรือ มีความรู้สึกลดน้อยลงครึ่งซีก ทั้งในแง่การรับรู้สัมผัส ความเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนหรือเย็น ก็อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งสิ้น

อาการโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในทันทีทันใด ในบางคนอาจจะมีอาการเตือนมาก่อน เช่น มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ตาข้างหนึ่งข้างใดมองไม่เห็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ แค่เป็นนาที หรือเป็น ชั่วโมง แล้วอาการดีขึ้นเป็นปกติ อาการนี้แสดงให้เห็นว่ามีสมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยงในช่วงนั้น ๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็จะเกิดภาวะสมองขาดเลือดถาวร หรืออัมพาตครึ่งซีกได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการเตือนแล้วรีบมาพบแพทย์ก็จะมีประโยชน์ในการป้องกัน การเกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ได้



เส้นเลือดสมองตีบหมายถึงอะไร

เส้นเลือดสมองตีบเป็นโรคหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งประกอบ ไปด้วย 3 โรคหลักๆ ได้แก่ เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดแตก และ เส้นเลือดอุดตัน โดยที่ เส้นเลือดสมองตีบ พบได้มากที่สุด (80-85%)

เส้นเลือดที่ตีบเกิดจากการหนาตัวของผนังหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีเกล็ดเลือด หรือองค์ประกอบอื่นๆ ของเลือด มาสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และเกิดความเสียหายต่อเซลสมองได้



มีอาการอย่างไรได้บ้าง

เนื่องจากสมองแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นอาการในผู้ป่วย ขึ้นกับบริเวณของสมองที่มีเส้นเลือดตีบ อาการที่พบได้แก่

 แขนขาอ่อนแรง หรือชาซีกใดซีกหนึ่ง (บางกรณีอาจเป็น ทั้ง2ซีก)

 ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด กลืนลำบาก หรือ สำลัก

 พูดไม่ได้ หรือฟังไม่รู้เรื่อง (มีปัญหาด้านความเข้าใจภาษา)

 เวียนศีรษะมาก เดินเซ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการมึนงง ทรงตัวไม่อยู่ หรือ ล้ม โดยไม่ทราบสาเหตุ

 มองไม่เห็นซีกใดซีกหนึ่ง ตามองไม่เห็น หรือพร่า โดยเฉพาะถ้าเป็นเพียงข้างเดียว

 อาการสับสน หรือ ไม่รู้สติ ในทันทีทันใด หรือปวดศรีษะอย่างมาก

 โดยลักษณะสำคัญของอาการที่เกิดคือ เป็นค่อนข้างเร็ว ภายในเวลาเป็นนาที หรืออาจเป็นหลังตื่นนอน โดยที่ก่อนเข้านอนยังปกติอยู่



ใครมีโอกาสเป็นบ้าง

อายุที่มากขึ้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ที่ไม่สามารถป้องกันได้ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นโอกาสเสี่ยงก็มากขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถควบคุมได้ยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าเราคุมได้ดีก็จะสามารถลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้มากแม้จะไม่100% ก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้แก่

ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มี ความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่า คนที่ไม่เป็นประมาณ 2-4 เท่า

โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่า คนไม่เป็นประมาณ 1-3 เท่า

เบาหวาน

ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน

การสูบบุหรี่



อัมพาตพบในผู้สูงอายุบ่อยแค่ไหน

จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า อัมพาตจะพบมากขึ้นตามอายุทั้งเพศชายและหญิง เช่น

อายุ 45-54ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 1000 ราย
อายุ 56-64ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 100 ราย
อายุ 75-84 ปีพบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 50 ราย
อายุ มากกว่า 85 ปีพบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 30 ราย


จะวินิจฉัยอย่างไร

อาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไปและการตรวจทางทางระบบประสาท และการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ในบางรายหากสงสัยว่าอาจเป็นอย่างอื่น แพทย์ที่ตรวจอาจให้ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) แทนการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ของสมอง จะช่วยให้แยกได้ระหว่างเส้นเลือดตีบหรือแตก ซึ่งการรักษาจะต่างกันไป



รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาอาการที่เกิดขึ้นได้โดยตรง แต่ผู้ป่วยแต่ละคนมีโอกาสที่จะดีขึ้นได้เอง โดยเน้นการทำกายภาพบำบัดเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไปในเรื่องของการฟื้นตัวว่าจะดีขึ้นได้ถึงระดับใด โดยอาจพอบอกแนวโน้มได้คร่าว ๆ หลังเกิดอาการ2-4 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้ทำนายได้ถูกต้องแน่นอนเสมอไป เช่น ถ้าผ่านไป 2 สัปดาห์ อาการอ่อนแรงดีขึ้นมากพอสมควร ก็อาจบอกได้ว่ามีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้มาก แต่ถ้าผ่านไป 3 - 6 เดือนก็ยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าที่ควร ก็มีแนวโน้มว่าอาจไม่ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก



การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แล้ว หลักสำคัญๆ ได้แก่

ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างเคร่งครัด ห้ามขาดยา และ มาพบแพทย์ ตามนัด

ทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยอาจทำเองที่บ้าน การทำกายภาพบำบัด มีส่วนสำคัญที่สุดในการเพิ่มโอกาสที่ทำให้ส่วนที่อ่อนแรง กลับมามีแรงมากขึ้นได้ ส่วนยา จะป้องกันเส้นเลือดสมองตีบซ้ำ ดังนั้นถ้าไม่ค่อยทำกายภาพบำบัด อาการก็จะไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

ให้กำลังใจผู้ป่วย เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยมักจะมีโรคซึมเศร้า หรือเครียดร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากการที่เคยทำอะไรได้ แล้วมาทำไม่ได้

ในผู้ป่วยที่เดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับเตียง จะต้องพลิกตัว จับนั่งบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ แผลกดทับ ทางเดินปัสสาวะอักเสบเป็นต้น ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะสอนการดูแลเหล่านี้ รวมทั้งการให้อาหารทางสายยาง(ถ้าต้องใส่) ก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน



ยาที่ใช้รักษามีอะไรบ้าง

ยาที่ใช้ในโรคนี้ ใช้เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ เนื่องจากถ้าเป็นครั้งหนึ่งแล้ว จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำได้ ยาที่สำคัญคือยาป้องกันเส้นเลือดตีบ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ไม่ควรซื้อทานเองเนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้

ยาที่มีความสำคัญมากอีกกลุ่มหนึ่ง คือยาที่ใช้คุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ยาเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น รวมทั้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องโดยเฉพาะการควบคุมอาหารที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้



ทำไมบางคนหาหมอพระ หรือทานยาหม้อแล้วหายดี กลับมาเดินได้

อย่างที่กล่าวในตอนต้น คือโรคนี้เป็นโรคที่ในระยะแรกๆ ทำนายได้ยาก ว่าแต่ละคนจะดีขึ้นได้แค่ไหน หรือใช้เวลาเท่าใด บางรายอาจดีขึ้นเองโดยไม่ได้ทานยาอะไรเลย บางรายทานยาทุกอย่าง ทำกายภาพบำบัดเต็มที่ ก็อาจจะ ไม่ค่อยดีขึ้นมากนัก

ดังนั้นในรายที่ทานยาหม้อหรือรักษาแบบอื่นๆแล้วดีขึ้น มักเกิดจากการที่คนนั้นจะดีขึ้นเองอยู่แล้ว แต่บังเอิญไปทานยาหม้อด้วย จึงเข้าใจว่าขึ้นจากยาหม้อ แล้วบอกต่อกัน แต่ในรายที่ไม่ดีขึ้นหรือเกิดผลข้างเคียงจากยาหม้อ คนทั่วไปก็จะไม่ค่อยพูดถึง หรือโทษว่า แย่ลงเป็นจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ


ยาบำรุงสมองช่วยได้หรือไม่

มีคนพูดถึงยาบำรุงสมอง แปะก๊วย อาหารเสริม ฯลฯ ว่าจะช่วยให้อัมพาตหายได้หรือไม่ รวมทั้งการรักษาอื่น ๆ อีกหลายรูปแบบ รวมทั้งยาฉีดบางชนิดที่ราคาแพง ซึ่งทุกอย่างดังกล่าว ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ทางการแพทย์ว่า ได้ผล และการรักษาบางอย่างอาจเกิดผลเสียกับผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัวได้ ถ้าไม่แน่ใจ จึงไม่ควรทานหรือฉีด

ยาหม้อ เป็นยาที่นิยมมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งนอกจากไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ แต่คนนิยมทาน เนื่องจากในยาหม้อ มักมีสารสเตียรอยด์ ที่ทำให้ทานแล้วรู้สึกสบาย เหมือนจะดีขึ้น แต่เป็นเพียงความรู้สึก และเป็นชั่วคราว และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลายอย่าง เช่น น้ำตาลในเลือดสูง โรคกระเพาะ ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย หน้าบวม ฯลฯ บางรายที่ทานนานๆ เมื่อหยุดทานก็จะเกิดอาการไม่สบายได้หลายรูปแบบ ยาหม้อจึงเป็นยาที่ไม่ควรทานโดยเด็ดขาด


ทำไมแพทย์มักมีอคติ หรือปิดกั้นการรักษาแบบอื่นๆที่ไม่ใช่แผนปัจจุบัน

แพทย์ไม่ได้ปิดกั้นหรือมีอคติใด ๆ เนื่องจากแพทย์ทุกคนทราบว่าในขณะนี้ แผนปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ทุกราย ถ้าญาติผู้ป่วยก็อยากลองพึ่งการรักษาทางอื่นดูบ้าง เผื่อว่าอาจได้ผล แพทย์ส่วนมากก็ให้ลองได้ แต่ต้องเป็นการรักษาหรือเป็นยาที่ไม่เกิดอันตรายใด ๆ กับผู้ป่วย แต่การรักษาหลายอย่าง อาจเกิดอันตรายได้ เช่น ยาหม้อ การนวดโดยการเหยียบ การนอนในทรายดำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเภทที่ต้องชี้แจง แม้อาจไม่มีอันตรายนัก แต่เกิดจากการหวังผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม โดยฉวยโอกาสบนความเดือดร้อนของผู้ป่วยและญาติ เช่น อาหารเสริม เตียงแม่เหล็ก วิตามินบางชนิด ยาฉีดแพง ๆ ซึ่งอ้างว่ามาจากเมืองนอก เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เกินความเป็นจริง ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการเอาผิดทางกฎหมายกับคนกลุ่มนี้แล้ว



ผลที่เกิดกับผู้ป่วยอัมพาต

ในช่วงเดือนแรก หลังเกิดอาการพบว่ามีอัตราตายถึง 25% และใน 1 ปีมีอัตราตายถึง 40%

โอกาสที่จะเป็นอัมพาตซ้ำในระยะ 1 เดือนแรกหลังเกิดอัมพาตพบได้ถึง 3-5 % และ 10% ใน 1 ปี

เมื่อเราติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ต่อไปจะพบว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 25% ที่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน นอกจากนี้ 30 %ของผู้ป่วยจะเกิดโรคสมองเสื่อมตามมา


ทำอย่างไรจึงจะป้องกันอัมพาตได้

การป้องกันในระยะที่ยังไม่มีอัมพาตเป็นสิ่งที่แพทย์ สามารถให้คำแนะนำได้ ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีประวัติเบาหวานในครอบครัว จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต เอ็กซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ไขมัน ตลอดจนการตรวจหาเชื้อ ซิฟิลิสในเลือด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะทำให้เราทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีโรคเหล่านี้ตั้งแต่ระยะแรกๆ จะทำให้การควบคุมและป้องกัน ผลแทรกซ้อนของโรคสามารถทำได้ง่าย

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรคอัมพาตอยู่แล้ว และกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้อาการนั้นดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ การควบคุมอาหาร เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น

 ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน ควรควบคุม อาหารรสหวานทุกชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้รสหวานทุกชนิด อาหารจำพวกแป้ง เป็นต้น แนะนำให้รับประทานผลไม้จำพวกส้ม หรือมะละกอ

 ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ควรงดอาหาร เช่น ไข่แดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ปลาหมึก หอยนางรม กุ้ง เป็นต้น ควรรับประทานยาและออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นไปพบแพทย์ เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ




**************************************



กรมการแพทย์เตือนประชาชนตื่นตัว ป้องกันตนเองจาก โรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนประชาชนให้ตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี หากมีอาการ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ตามองเห็นภาพซ้อนแบบเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง จะช่วยลดความพิการหรือเสียชีวิต

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) จึงรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยประเทศไทยพบโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจาก โรคมะเร็งและโรคหัวใจตามลำดับ และยังพบว่าเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ของโรคทางระบบประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการ หากประชาชนรู้จักดูแลตนเองและ หมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอจะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม และภาวะน้ำหนักเกิน

แพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองตามหลัก FAST คือ F = Face ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก A = Arm อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง S=Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก และ T= Time เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลันในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ เนื่องจากเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ถ้าได้รับการรักษาช้าอาจทำให้เกิดความพิการมากขึ้น สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร รสเค็มจัดไขมันสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นประชาชนควรตระหนักและมีความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และตลอดจน อาการเบื้องต้นของโรค หากผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วควรรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ
************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #วันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก
ขอขอบคุณ
29 ตุลาคม 2563

https://www.facebook.com/643148052494633/photos/a.644390729037032/1936607003148725/


........................................




โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke, Cerebrovascular Disease) คือ ภาวะที่สมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยง เนื่องจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย เลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่ได้หรือไม่สะดวก โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีความรุนแรง ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ปัจจุบัน เป็นโรคที่พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มที่สมองขาดเลือด ประมาณ 80-90% เป็นภาวะที่ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือภาวะหลอดเลือดตีบ

2.กลุ่มที่มีเลือดออกในสมอง
ประมาณ 15-20% เป็นภาวะที่มีเลือดออกในสมอง ซึ่งเกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดเล็กๆ ที่หลายคนเรียกว่า หลอดเลือดฝอยฉีกขาด

และอีกประมาณ 5% เป็นลักษณะของหลอดเลือดโป่งพองแล้วมันแตก อันนี้ อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

สาเหตุของภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการ เกิดโรคหลอดเลือดสมองในวัยผู้ใหญ่ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วคราว ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุรี่ ภาวะอ้วน การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

โดยหลักการคัดกรองตามหลัก BEFAST จะมีลักษณะอาการสำคัญ ดังนี้
B = Balance การทรงตัวผิดปกติ เดินทรงตัวไม่ได้ บ้านหมุนทันทีทันใด
E = Eyes การมองเห็นไม่ชัดทันทีทันใด โดยเฉพาะตาข้างเดียว เห็นภาพซ้อน ตาเหล่
F = Face ชาที่ใบหน้า หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
A = Arms แขน ขาอ่อนแรงทันทีทันใด
S = Speech พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดจาสับสนทันทีทันใด
T = Time ระยะเวลาที่เกิดอาการ

ถ้ามีอาการ 1 ใน 3 อย่าง มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 72%
แต่ถ้ามีอาการแสดงทั้ง 3 อย่าง จะมีโอกาสเป็น โรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 85%

ให้รีบ โทร 1669 เพื่อรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอาการผิดปกติของระบบ ประสาทแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้น อาการของโรคหลอดเลือดสมองขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด หากเกิดอาการหลอดเลือดแตกจะแสดงอาการทันที ร่วมกับอาการปวดหัวรุนแรง อาเจียน หมดสติหรือมีอาการชัก สำหรับอาการฉุกเฉินจะตรวจพบได้ ในขั้นต้นของการประเมินสภาวะของผู้ป่วย เช่น มีกล้ามเนื้อใบหน้าและแขนขาอ่อนแรง การรักษาที่รวดเร็วถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาภายในระยะเวลา 4.5 ชั่วโมง เพราะยิ่งปล่อยไว้จะทำให้สมองเกิดความเสียหายมากขึ้น เสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิต

#stroke #cerebrovascular #โรคหลอดเลือดสมอง #BEFAST #สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ #เจ็บป่วยฉุกเฉินโทร1669

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669
https://www.facebook.com/niem1669/posts/pfbid0CEaikD9tBttcju7uYG3W5tUeRCRFuJBwsqcUWmfkV5pgFSnp6UV3nzi3HioTdKERl

...........................................................




 

Create Date : 04 มีนาคม 2551   
Last Update : 1 พฤษภาคม 2566 16:10:14 น.   
Counter : 30646 Pageviews.  

ความดันโลหิตสูง



ความดันโลหิตสูง

ค่าความดันโลหิตจะประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า โดย

ค่าความดันโลหิตตัวบน (ตัวเลขค่ามาก) เป็น ความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว

ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (ตัวเลขค่าน้อย) เป็น ความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว

ความดันโลหิตสูง คือ ระดับความดันโลหิต ขณะพักสูงกว่าหรือเท่ากับ 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ค่าความดันโลหิตสูงได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เช่น ถ้าอายุมากขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้น หรือ ถ้าเหนื่อย ร้อน หรือ รู้สึกเครียด ค่าความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นได้ ก่อนที่จะบอกว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็จะต้องวัดความดันโลหิตซ้ำหลาย ๆ ครั้งในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน แล้วจึงนำมาเฉลี่ยว่า “สูง“จริงหรือไม่



หลักการวัดความดันโลหิต

ควรวัดในท่านั่ง ผ่อนคลายตามสบาย วางแขนลงบนโต๊ะที่จะทำการวัด โดยจัดให้ระดับที่วางแขนนั้นอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ

ควรจะทำการวัดหลังจากที่นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที ถ้าความดันโลหิตสูงกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ควรนอนพัก 5-10 นาที แล้ววัดใหม่ ถ้าวัดซ้ำแล้วได้ค่าความดันที่ยังสูงอยู่ตลอดจึงถือว่า เป็นความดันเลือดสูง

ควรจะหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสม อย่างน้อย 30 นาทีก่อนวัดความดันโลหิต


อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีค่าระดับความดันโลหิตสูงเล็กน้อย หรือ ปานกลาง มักจะไม่มีอาการ ยกเว้น ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก โดยเฉพาะในรายที่ยังไม่เคยรับการรักษา หรือ รักษาไม่สม่ำเสมอ อาจมีอาการปวดศรีษะ ซึ่งมักจะปวดบริเวณท้ายทอย เกิดขึ้นในตอนเช้า และมักจะดีขึ้นหรือค่อย ๆ หายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อาจจะมีอาการเวียนศีรษะ มึนงง เลือดกำเดาไหล คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หรือ ตามัว ร่วมด้วย


สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยที่เป็นอยู่ จะไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร มีส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ เช่น โรคไต โรคครรภ์เป็นพิษ การใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาคุมกำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด เป็นต้น


การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะตรวจในผู้ป่วย ก่อนที่จะทำการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แพทย์จะสั่งการตรวจให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

การตรวจพื้นฐานมีหลายอย่าง เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจการทำงานของไต ระดับไขมันในเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ๊กซเรย์ปอดและหัวใจ

การตรวจพิเศษ อื่น ๆ เช่น การเก็บปัสสาวะ 24 ชม. การฉีดสีเพื่อดูการทำงานของไต การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ เป็นต้น ซึ่งจะทำในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะดังต่อไปนี้

• ผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือ มากกว่า 50 ปี

• มีระดับความดันโลหิตสูงมาก

• ผู้ที่สงสัยว่าความดันโลหิตสูงนั้น อาจเกิดจากโรคอื่น

• ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา



วัตถุประสงค์ของการรักษา

1.ป้องกันความพิการและลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนตามมาจากความดันโลหิตสูงผิดปกติ เช่น หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ทำให้ตามัวหรือตาบอดได้ โรคหัวใจโต หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ อาจทำให้เสียชีวิตได้

2.ควบคุมและลดระดับความดันโลหิตให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด



แนวทางในการรักษา

๑. การปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิต เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมความดันโลหิต

หยุดสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะบุหรี่จะลดประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิต และเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
ลดน้ำหนักส่วนเกิน ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ

ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะเพิ่มระดับความดันโลหิตและทำให้ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว หรือ วิ่งเหยาะ ๆ อย่างน้อยวันละ 30 - 45 นาที 3 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์

ผ่อนคลายทางจิตใจ การระงับ หรือ ลดความเครียด

ผู้ป่วยที่รับประทานยาขับปัสสาวะ ควรกินส้มหรือกล้วยเป็นประจำ เพื่อทดแทนโพแทสเซียมที่เสียไปในปัสสาวะ

ลดอาหารเค็ม โดยควรลดปริมาณเกลือแกงให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น

• อาหารที่มีเกลือมาก เช่น น้ำปลา ซีอิ้ว กะปิ เต้าเจี้ยว ปลาเค็ม ไข่เค็ม ผักดอง ผลไม้ดอง อาหารทะเล

• อาหาร / ขนมที่ใช้ผงฟู สารกันบูด เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ ซาลาเปา ปาท่องโก๋

• บะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวเกรียบ ซุบสำเร็จรูป เนยรสเค็ม น้ำอัดลม

ลดอาหารที่มีไขมันสูง จากสัตว์และพืช เช่นอาหารทอดน้ำมัน น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม กะทิ ครีมเทียม


๒. การรักษาด้วยยา

ยาจะมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

โดยแพทย์จะเริ่มให้ยาในปริมาณที่น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยา แต่ถ้าไม่ได้ผลจึงจะเพิ่มปริมาณยา หรือ ให้ยาหลายชนิดร่วมกัน

ดังนั้นในระยะแรก แพทย์อาจจะต้องนัดตรวจบ่อยเพื่อจะดูว่ายาที่ให้ไปได้ผลดีหรือไม่ ใน-บางครั้งกว่าที่จะควบคุมความดันโลหิตได้อาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักต้องใช้ยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ บางครั้งแพทย์อาจมีการปรับเพิ่มหรือลดยา ถ้าอาการดีขึ้นก็จะลดยาลง หรือ ถ้าช่วงไหนเป็นมากก็จะเพิ่มยาขึ้น จึงควรพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยา ไม่ควรหยุดยา หรือ ปรับขนาดยาเอง ถ้ารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ นอกจากจะควบคุมความดันไม่ได้แล้ว แล้วยังอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ทำให้ความดันยิ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติ หรือ เกิดความดันโลหิตสูงเฉียบพลันทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ เป็นต้น


โรคความดันโลหิตสูง รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนได้ โดยที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย แต่ผู้ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวของผู้ป่วยเอง




 

Create Date : 02 มีนาคม 2551   
Last Update : 7 ตุลาคม 2564 15:27:41 น.   
Counter : 8561 Pageviews.  

ยาเม็ดแคลเซียม


ยาเม็ดแคลเซียม

โรคกระดูกพรุนหรือกระดูกโปร่งบาง จะมีปริมาณเนื้อกระดูกลดลง และ โครงสร้างภายในของกระดูกเปลี่ยนแปลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลง เกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น ในระยะแรกผู้ป่วยมักจะปกติดีจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นอุบัติเหตุไม่รุนแรง เช่น ลื่นล้ม หรือ ตกเก้าอี้ แล้วเกิดกระดูกข้อมือหัก กระดูกสะโพกหัก

โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 2 รองจากโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 30-40 ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้เพียงร้อยละ 10 และพบว่าในผู้หญิงไทยอายุ 55 ปีเป็นโรคนี้ร้อยละ 20 แต่ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60 จะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะมีโรคกระดูกพรุนแอบแฝงอยู่

การสูญเสียเนื้อกระดูก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันและรักษาตั้งแต่เริ่มแรกก่อนจะเกิดกระดูกหัก ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนก็คือ ได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวันจะแตกต่างกัน เช่น

คนทั่วไป ควรได้รับวันละ 800 มิลลิกรัม

เด็กและวัยรุ่น ควรได้รับวันละ 800-1,200 มิลลิกรัม

ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับวันละ 1,500-2,000 มิลลิกรัม

ผู้หญิงช่วงหมดประจำเดือน ควรได้รับวันละ 1,500 มิลลิกรัม

ผู้สูงอายุ ควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม

อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น น้ำนม กุ้งแห้ง กะปิ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เต้าหู้เหลือง น้ำเต้าหู้ หรือ อาหารจานเดียว เช่น ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊วใส่ไข่ ข้าวราดไก่ผัดกระเพรา ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถ้าได้รับแคลเซียมจากแหล่งอาหารประจำวันอย่างพอเพียง ก็ไม่จำเป็นต้องได้แคลเซียมเสริม นอกจากบางคนอาจได้แคลเซียมจากอาหารไม่พอเพียง หรือ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างชัดเจน

ถ้าได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอนานประมาณ 18 เดือน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้

ในผู้สูงอายุ ควรได้รับ แคลเซียม ร่วมกับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน แคลซิโทนิน หรือ วิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้แคลเซี่ยมถูกดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น

วิตามินดี ส่วนใหญ่ได้รับจากแสงอาทิตย์ (ช่วงเช้า และ เย็น ) และ อาหาร ซึ่งค่อนข้างเพียงพอ ยกเว้นในผู้สูงอายุ ที่อยู่ในบ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปตากแดด ทำให้ในผู้สูงอายุบางรายขาดวิตามินดี อาจต้องทานวิตามินดีเสริมด้วย

จากการศึกษาพบว่าในผู้ที่กินยาเม็ดแคลเซียมน้อยกว่าวันละ 2 กรัม ไม่พบว่ามีนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น และ ไม่ทำให้เกิดกระดูกงอกเพิ่มมากขึ้น (กระดูกงอกมักเกิดจากข้อเสื่อม ไม่เกี่ยวกับยาเม็ดแคลเซียม)



การเลือกชนิดของแคลเซียมเสริม ปัจจัยที่ควรพิจารณาเมื่อจะเลือกใช้แคลเซียมเสริม ได้แก่

1. ชนิดและปริมาณของเกลือแคลเซียม จะทำให้ร่างกายได้รับแตกต่างกันไป เช่น

แคลเซียมคาร์บอเนต ( calcium carbonate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 40
แคลเซียมซิเตท ( calcium citrate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 21
แคลเซียมแลคเตท ( calcium lactate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 13
แคลเซียมกลูโคเนต ( calcium gluconate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 9

2. ความสะดวกในการกิน จำนวนเม็ดที่ต้องกินในแต่ละวันขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ ถ้าเป็นยาที่มีแคลเซียมต่ำ เม็ดยาที่ต้องกินก็จะต้องมากขึ้น ทำให้ไม่สะดวก และ ทำให้ความสม่ำเสมอในการกินแคลเซียมน้อยลง

3. ราคา ราคาของยาเม็ดแคลเซียมแตกต่างกันมาก โดยทั่วไป ยาเม็ดธรรมดาจะราคาถูกว่ายาเม็ดแคปซูล ส่วนยาเม็ดฟู่จะราคาแพงที่สุด สำหรับผู้สูงอายุที่อาจมีปัญหาการดูดซึมของยาอาจจำเป็นต้องใช้แบบเม็ดฟู่

4. ส่วนผสมอื่น ๆ ในยาเม็ดแคลเซียม เช่น วิตามินดี วิตามินซี แร่ธาตุอื่น ๆ ในผู้ที่ขาดสารเหล่านี้ ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มเติม แต่ผู้ที่ไม่ขาดสารเหล่านี้ก็ไม่จำเป็น เพราะยาเม็ดแคลเซียมที่มีส่วนผสมเสริมจะมีราคาแพงขึ้นไปด้วย














แถม ...

ทำอย่างไรถึงจะตัวสูง ??? สูง ไม่สูง เกิดจากอะไร ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=56

ทำอย่างไรถึงจะตัวสูง อาหารเสริมความสูง ?เวบดร่าม่าแอดดิก

https://drama-addict.com/?p=9106

ผ่าตัดเพิ่มความสูงทางลัดสู่ความสำเร็จหรือเจ็บปวด

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=58

ผ่าตัดยืดกระดูกให้สูงขึ้น ดีจริงหรือ ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=57

นมเพิ่มความสูงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโคลอสตรุ้ม (Colostrum)เพิ่มความสูงได้ ไม่จริง!อย่าหลงเชื่อ!

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-08-2017&group=4&gblog=131

สารพัด " นม" ที่ควรรู้

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-12-2008&group=4&gblog=65

วิธีเลือกนมถั่วเหลืองให้ได้คุณค่าน่าดื่ม .. Cr. เครือข่ายคนไทยไร้พุง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-01-2018&group=4&gblog=135

ยาเม็ดแคลเซียม

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONE DENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16



มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย

https://www.topf.or.th

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง ... ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

https://taninnit-osteoporosis.blogspot.com/

แบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

https://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=21

 

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONEDENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16

 

การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังหักยุบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=21




 

Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 26 เมษายน 2564 21:44:18 น.   
Counter : 43027 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]