Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

เคล็ดลับการตักบาตรให้ได้บุญ (นำมาฝาก)



เคล็ดลับการตักบาตรให้ได้บุญ!!!
.
ความเร่งรีบบวกกับความเคยชินอาจชวนให้คนส่วนใหญ่หลงลืมไปว่าในอาหารชุดสำเร็จรูปซึ่งเรานำมาใส่บาตรให้พระสงฆ์ ที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่มีโปรตีนและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไม่ครบถ้วน ในขณะที่มีปริมาณน้ำตาล น้ำมัน เกลือ กะทิ หรือโซเดียมมากเกินกว่าความต้องการ
.
เมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้พระสงฆ์อาพาธ (เจ็บป่วย) ด้วยโรคต่างๆ ซึ่งหากดูจากรายงานสถานการณปัญหาโภชนาการในสงฆ์ ของโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ปี 2559 ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะพบว่า 5 โรคยอดฮิตของพระสงฆ์ไทยคือ

1. โรคไขมันในเลือดสูง
2. ความดันโลหิตสูง
3. เบาหวาน
4. โรคปอด
5. โรคหัวใจและหลอดเลือด
.
ซึ่งสาเหตุของการเจ็บป่วยในพระสงฆ์เกิดจากการฉันอาหารที่มีไขมันสูงและดื่มน้ำปานะที่มีรสหวาน เฉลี่ย 2 แก้ว/วัน รวมถึงออกกำลังกายน้อย เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายของพระสงฆ์อย่างการเดินรอบวัด กวาดลานวัด ยังไม่เพียงพอสำหรับการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวัน
.
ดังนั้นวันนี้เรามาดูเคล็ดลับการตักบาตรให้ได้บุญกันค่ะ ซึ่งนั่นก็คือ การเลือกอาหาาใส่บาตรด้วยความคำนึงและใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์ไทย ด้วยการ ‘ใส่ใจสุขภาพ เสริมข้าวกล้อง เสริมผัก เสริมปลา เสริมนม สรร-ปานะ และ สรร-กิจนิมนต์’ ดังนี้

1. เสริมข้าวกล้อง เพิ่มใยอาหารด้วยวิตามิน : ด้วยการผสมข้าวกล้องและข้าวขาวอย่างละครึ่ง ข้าวกล้องมีประโยชน์ต่อหัวใจ ลดความเสี่ยงไขมันอุดตันเส้นเลือด ช่วยระบบขับถ่าย และอุดมไปด้วยวิตามินบี เนื่องจากในข้าวกล้องมีสารเส้นใยสูงกว่าข้าวขาวถึง 3-7 เท่า
.
2. เสริมผัก หลากชนิด : ด้วยการบริโภคผักและผลไม้ 2 ส่วน ต่อข้าว 1 ส่วน และเนื้อสัตว์หรือไข่ 1 ส่วน เพราะผักและผลไม้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และเบาหวานได้มากในผักและแร่ธาตุ กากใยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
.
ทั้งนี้ผักในท้องตลาดมีหลากหลายชนิดด้วยกัน ยิ่งมีผักหลากหลายชนิดในเมนูอาหารก็ยิ่งมากไปด้วยประโยชน์ แต่น่าเสียดายที่พระสงฆ์ไม่ได้ฉันในปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากในอาหารตักบาตรไม่มีผลไม้ และญาติโยมไม่ได้นำมาถวาย ท่านจึงไม่ได้ฉันผักสดหรือผลไม้รสหวานน้อย อย่าง มะละกอ ฝรั่ง แอปเปิ้ล และสาลี
.
3. เสริมปลา ลาไกลมะเร็ง : ปลาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ถือเป็นอาหารสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง
.
ซึ่งปลายังเป็นวัตถุดิบที่รังสรรค์อาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ ปลาผัดขึ้นฉ่าย ปลานึ่งมะนาว ยำปลาสลิด เมี่ยงปลาทู เป็นต้น อีกทั้งยังมีกรรมวิธีการทำที่หลากหลาย ทั้งนึ่ง ต้มโคล้ง ต้มยำ แกงส้ม ผัด ทอด ย่าง หรืออ่อม
.
4. เสริมนม ผสมกะทิ กระดูกดี : ปรับให้เมนูของคาวและหวานที่มีส่วนผสมจากกะทิเป็นเมนูสุขภาพมากขึ้น ด้วยการใช้สูตรกะทิครึ่ง+นมครึ่ง ได้สุขภาพดีโดยที่ไม่เสียรสชาติอาหาร อาหารยังคงอร่อย มีคุณค่าอาหารและแคลเซียมสู
.
แต่สำหรับพระสงฆ์ที่ไม่สามารถฉันนมวัว สามารถใช้นมถั่วเหลืองแทนได้ เพราะการกินไขมันมากเกินความจำเป็นอาจทำให้อ้วนง่ายและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
.
ที่นำนมวัวมาผสมสอดแทรกในเมนูอาหารเนื่องจากยังคงมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุน กระดูกบาง เพราะพระบางท่านไม่ดื่มนมวัวเลย ประกอบกับไม่ได้รับอาหารที่มีแคลเซียมมากนัก จึงมีความเสี่ยงมีภาวะกระดูกไม่แข็งแรงด้วย
.
5. สรรปานะ ลดน้ำตาล : น้ำปานะ หรือ เครื่องดื่มที่จะช่วยบรรเทาความหิวขณะท้องว่างได้ ควรมีปริมาณน้ำตาลน้อยและมีโปรตีนอยู่ด้วย อย่างเช่น โยเกิร์ต นมวัว-นมถั่วเหลือง ทั้งนี้ควรเลือกชนิดไขมันต่ำ รสชาติจืดหรือหวานน้อยแทน
.
6. ลดเค็ม ลดมัน รสชาติไม่จัดจ้าน : เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพพระสงฆ์ควรลดปริมาณการปรุง ทั้ง น้ำปลา เกลือ น้ำบูดู น้ำไตปลา ปลาร้า ปลาจ่อม รวมถึงควรใช้น้ำมันในปริมาณที่น้อย หรือเปลี่ยนเป็นกรรมวิธีการต้ม อบ ตุ๋น นึ่ง แทน
.
เพื่อเป็นการส่งเสริมและเอื้อให้พระสงฆ์ไทยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหารที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต
.
อ้างอิง: ดนยา สุเวทเวทิน.โยมสะดวก แต่พระอาจไม่สบาย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ https://bit.ly/2H4DXVe



ที่มา FB@Smart Consumer
https://www.facebook.com/smartconsumer4.0/photos/a.332188787193559/700720087007092/?type=3&theater


*******************************




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2562   
Last Update : 15 สิงหาคม 2562 20:56:35 น.   
Counter : 3077 Pageviews.  

12 โรค " กินน้ำแก้วเดียว " ก็ติดได้ ... จัดงาน "รับน้อง" ก็ต้องระวัง



เตือนภัย กินน้ำแก้วเดียวกันเสี่ยงติด 12 โรค

ช่วงนี้กำลังเข้าสู่เทศกาล “รับน้อง” จะพบว่ากิจกรรมรับน้องในหลายมหาวิทยาลัยสร้างความสามัคคีในหมู่คณะด้วยการให้เด็กดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน หรือกินอาหารจากช้อนเดียวกัน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ก็จำยอมทำตามรุ่นพี่ แต่การดื่นน้ำหรือกินอาหารจากภาชนะเดียวกันอาจเสี่ยงติดโรค 12 โรค

1.ไข้หวัด

อาการ ไข้ต่ำ ๆ หรืออาจไม่มีไข้เลยก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงออกถึงการเป็นหวัดจากทางจมูกและทางเดินหายใจ อันได้แก่ ผู้ป่วยจะมีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมาจากจมูก

ติดต่อโดย ผ่านน้ำมูก น้ำลาย ผ่านทางการหายใจ ไอ จามรดกัน

ป้องกัน พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

 
2.โรคอตีบ

อาการ มีอาการคล้ายหวัด ไข้ต่ำ ๆ พบแผ่นเยื่อสีขาวบริเวณทอนซิลและลิ้นไก่ รายที่รุนแรง เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้

ติดต่อโดย ผ่านน้ำมูก น้ำลายผ่านทางการหายใจ ไอ จามรดกัน

ป้องกัน ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน 4 ปี และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนชั้นประถมปีที่ 6

 
3.โรคเริม

อาการ ชนิดที่ 1 มักเกิดบริเวณริมฝีปาก

ติดต่อโดย การดื่มน้ำหรือกินอาหารร่วมกัน

ป้องกัน ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาต้านไวรัสรักษาโรคเริมชนิดรับประทานทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ไม่ล้างคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำลาย เพราะอาจมีการแพร่เชื้อเริมที่ปากไปที่ดวงตาได้

 
4.โรคไอกรน

อาการ 1-2 สัปดาห์แรกมีอาการคล้ายวัด ต่อมาไอถี่ ๆ หายใจลึกมีเสียงดัง ไปจนมีเลือดออกที่ตาขาวได้

ติดต่อโดย ผ่านน้ำมูก น้ำลายผ่านทางการหายใจ ไอ จามรดกัน

ป้องกัน ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งแพทย์จะฉีดวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี เริ่มฉีด 3 เข็มแรกเมื่อเด็กที่มีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และเข็มที่ 4 เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน จากนั้นควรฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีดครบชุด 4 ครั้งแรกแล้ว ตอนอายุ 4-6 ปี และเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปี

ผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กจะหมดลงในช่วงวัยรุ่น และในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในช่วงสัปดาห์ที่ 27 และ 36 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจช่วยปกป้องทารกจากโรคไอกรนในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการคลอดอีกด้วย

 
5.โรคคางทูม

อาการ ร้อยละ 30 ของผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ มีอาการไข้ต่ำ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมา 2-3 วันจะมีอาการปวดหู บริเวณขากรรไกร จากนั้นบริเวณขากรรไกรบวมและลามไปยังหลังใบหู ประมาณ 1 สัปดาห์จะค่อย ๆ ลดขนาดลง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอย่าง เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรง

ติดต่อโดย ผ่านน้ำมูก น้ำลายผ่านทางการหายใจ หรือกินอาหารน้ำร่วมกัน

ป้องกัน รับวัคซีนป้องกันคางทูม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน 1 ครั้งในเด็กชั้นป.1

 
6.โรคหัด

อาการ โรคหัดจะเริ่มด้วยอาการคล้ายกับหวัด อาการแรกเริ่มของโรคหัดที่จะเริ่มขึ้นประมาณ 10 วันหลังติดเชื้อ จะมีอาการคล้ายหวัด ตาแดง ไข้สูง เบื่ออาหาร เกิดจุดขาวในกระพุ้งแก้ม

ติดต่อโดย ผ่านน้ำมูก น้ำลายผ่านทางการหายใจ ไอ จามรดกัน โดยเชื้อแพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็กในอากาศ

ป้องกัน กลุ่มเด็กแรกเกิด – 4 ปี ให้นำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง

 
7.โรคหัดเยอรมัน

อาการ ไข้สูง น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง มีผื่นหรือตุ่มที่เยื่อบุช่องปาก กระพุ้งแก้ม (Koplik spots) หลังมีอาการ 3 – 7 วันจะมีผื่นทีไรผม ซอกคอ หน้า ลำตัว

ติดต่อโดย รับเชื้อที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยผ่านทางการหายใจ จากการไอจาม ทารกที่เป็นโรกจะมีเชื้ออยู่ในลำคอและขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะได้นาน 1 ปี

ป้องกัน การฉีดวัคซีน ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 4 – 6 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน

 
8.โรคอีโบลา

อาการ  ระยะแรก ไข้ขึ้นสูง (39-40 ?C) อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ                                         ระยะที่2 ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหารโดยจะเริ่มแสดงอาการ 2-4 วันและจะคงอยู่นาน 7-10 วัน                                                                                            
ระยะที่3 ความดันเลือดต่ำส่งผลให้อวัยวะเสื่อมหน้าที่

ติดต่อโดย การสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลังจากผู้ป่วย ได้แก่ เลือด น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ของใช้ของผู้ป่วย หรือสัตว์ที่ป่วยป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย หรือหากมีอาการให้พบแพทย์ทันที

 
9.โรคไข้หวัดใหญ่

อาการ ไข้ขึ้นทันที (38.5-40?C)ติดต่อกัน 3-4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย มีน้ำมูกใส เมื่อตามกล้ามเนื้อ ปวดหัว เบื่ออาหาร

ติดต่อโดย ผ่านน้ำมูก น้ำลาย ผ่านทางการหายใจ ไอ จามรดกัน

ป้องกัน ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ล้างมือบ่อย ๆ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ตา ปากของตัวเองหากสัมผัสกับผู้ป่วย

 
10.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS)

อาการ ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไม่ได้แสดงอาการทุกราย ควรจะต้องระมัดระวังสังเกตตนเองเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ อาการสำคัญที่คือ ไข้สูงกว่า 38?C และปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดหัวมาก หนาวสั่นหลังจากนั้นประมาณ 3-7 วันก็จะเริ่มมีอาการเจ็บคอ ไอแห้ง ๆ ผู้ปวยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 อาการจะทุเลาอย่างช้า ๆ หลังจาก 7 วัน ไปแล้วและหายเป็นปกติ บางรายอาจอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีอาการแทรกซ้อนที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวมอักเสบ

ติดต่อโดย ผ่านน้ำมูก น้ำลาย ผ่านทางการหายใจ ไอ จามรดกัน

ป้องกัน เลี่ยงเดินทางไปประเทศเขตโรคระบาด เลี่ยงไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการของโลก และรักษาสุขภาพดีอยู่เสมอ

 
11.มือ เท้า ปาก

อาการ มีไข้ตํ่า ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1 – 2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนนํ้าลายไม่ได้ และไม่ยอมกินอาหารเพราะมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม จะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มจะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7 – 10 วัน

ติดต่อโดย กินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

ป้องกัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยได้
 

12.ไวรัสตับอักเสบ A และ E

ติดต่อโดย กินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

หมายเหตุ: โรคไวรัสตับอักเสบBและไวรัสตับอักเสบC

ติดต่อโดย โดยการสัมผัสกับเลือด สารกัดหลั่งของผู้ป่วย ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันเพศสัมพันธ์ติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

 
*** สำหรับ โรควัณโรค

ติดต่อโดย ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ ไม่ติดต่อผ่านการกิน

ป้องกัน ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ในเด็กหรือบุคคลที่แสดงผลลบต่อทูเบอร์คูลิน (Tuberculin test) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันวัณโรค

 
ทั้งนี้ช่วงแรกของอาการป่วย ไม่มีอาการบ่งบองได้ว่าอาการนั้นเป็นอาการของโรคอะไร ดังนั้นเราสามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้ด้วยหลักง่าย ๆ อย่าง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ของกระทรวงสาธารณสุข


ที่มา
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มวิชาพัฒนาสุขภาพ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

เขียนโดย   WorkpointShorts   28 มิถุนายน 2019
https://workpointnews.com/2019/06/28/infectious_diseases_in_saliva-02/




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2562   
Last Update : 1 กรกฎาคม 2562 12:58:56 น.   
Counter : 2542 Pageviews.  

เลือดกำเดา (Epistaxis) ... นำมาฝากจากเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)



เลือดกำเดาหรือเลือดออกจมูก (Epistaxis หรือNosebleed) หมายถึง ภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงจมูกทางส่วนหน้าหรือส่วนหลังของโพรงจมูกพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้สูงในเด็กอายุ 2-10 ปีและคนวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ประมาณ 10-12% ของประชากรจะมีเลือดกำเดาออกครั้งหนึ่งในชีวิตมีเพียง 10% เท่านั้นที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่มีเลือดออกจำนวนน้อย ๆ และหยุดไหลได้เองแต่เป็นมาแล้วหลายครั้ง กลุ่มนี้มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีเลือดออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก

2. กลุ่มที่มีเลือดออกจากจมูกเพียงครั้งเดียวแต่มีเลือดออกจำนวนมากและไม่สามารถหยุดไหลได้เอง มักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วเช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย โดยเลือดที่ออกมักจะมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก

สาเหตุที่เลือดกำเดาไหล

1. สาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก เช่น

o การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูกได้แก่ การแคะจมูก การสั่งน้ำมูกแรง ๆ ภาวะอากาศหนาวซึ่งมีความชื้นต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศอย่างรวดเร็ว(เช่น ในระหว่างขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำ) การได้รับแรงกระแทกที่จมูกการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอย่างไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น

o ความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงจมูกเช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอก หรือมีรูทะลุ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศที่ผ่านเข้าออกและมีเลือดกำเดาไหลข้างที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบ

o การอักเสบในโพรงจมูกเช่น ภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกการสัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ เป็นต้น

o เนื้องอกของโพรงจมูกเช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายอย่างริดสีดวงจมูก เนื้องอกของหลอดเลือด ซึ่งมักพบในเด็กผู้ชายและเป็นข้างเดียวมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ เป็นต้น เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยและทำให้ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกทีละมากๆ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกจากจมูกแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีเลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมากๆ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก หรือได้รับการตรวจเอกซเรย์ว่ามีเนื้องอกเป็นสาเหตุหรือไม่

o ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูกเช่น เส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มาเชื่อมต่อกันจากอุบัติเหตุเป็นต้น

2. สาเหตุที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ ได้แก่

o โรคเลือดมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตับแข็งไตวาย โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ การขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน (เช่น วิตามินซี วิตามินเค)

o โรคของหลอดเลือดเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นต้น

o ไม่ทราบสาเหตุซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ราวร้อยละ 10

3. สาเหตุที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหลง่ายกว่าปกติ เช่นยาแอสไพริน (Aspirin),ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)


ระดับความรุนแรงของเลือดกำเดาไหล

1. ระดับน้อย หมายถึง มีเลือดออกปริมาณน้อยไม่สามารถวัดปริมาณได้ชัดเจน เช่น เปื้อนกระดาษชำระหรือเปื้อนผ้าเช็ดหน้าและมักหยุดไหลได้เอง

2. ระดับปานกลาง หมายถึงมีเลือดออกมากขึ้นและระบุปริมาณได้ เช่น มากกว่า 100 มิลลิลิตร (ครึ่งแก้วน้ำดื่ม)เป็นต้น และยังมีสัญญาณแสดงชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. ระดับรุนแรง หมายถึง มีเลือดออกมากจนมีภาวะช็อก เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เบา ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลมเวลาเปลี่ยนท่าและรวมถึงในกรณีที่มีเลือดไหลไม่หยุด

เมื่อมีเลือดกำเดาไหลแพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

· ก่อนอื่นแพทย์จะห้ามเลือดไม่ให้ไหลและจะซักถามประวัติของโรคต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงตรวจร่างกาย โดยใช้เครื่องตรวจในช่องจมูกเมื่อพบจุดเลือดออกจะห้ามเลือดด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

· การตรวจทางห้องทดลอง เช่น เจาะเลือดตรวจเกล็ดเลือดและตรวจหาระยะเวลาที่ใช้การแข็งตัวของเลือด

· การตรวจหาตำแหน่งที่คาดว่าเป็นต้นเหตุของเลือดออกเช่น การเอกซเรย์ไซนัส การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจหลอดเลือดของจมูกและลำคอ




วิธีรักษาเลือดกำเดาไหล

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองเมื่อมีเลือดกำเดาไหล (วิธีนี้ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่) ให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรงและก้มหน้าเล็กน้อยแล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบ (กด) ปีกจมูกทั้ง 2 ข้างเข้าหากันในแนวกลางโดยหนีบบริเวณผนังกั้นจมูกเอาไว้เพื่อกดจุดเลือดออกเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที (การกดหรือบีบ ต้องกดหรือบีบให้แน่น) แล้วค่อยคลายออก และในระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทนการใช้วิธีนี้ส่วนมากมักจะได้ผล (เพราะประมาณ 90% เลือดมักจะไหลออกมาจากส่วนหน้าของจมูก การบีบหรือกดที่ปีกจมูกจึงช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้)แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งเป็นเวลานาน 10 นาที

1. หลักสั้น ๆ จำง่าย ๆ เมื่อเลือดกำเดาไหล คือ “บีบจมูกนั่งหลังตรง ก้มหน้าเล็กน้อย อ้าปากหายใจ”

2. ห้ามเงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน แต่ให้นั่งหลังตรง (การนั่งหลังตรงจะช่วยบังคับให้ปริมาณและความแรงของเลือดลดลงเพราะศีรษะอยู่สูง)และก้มหน้าลงเล็กน้อย (เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองและสำลักเลือดเลือดจะออกมากขึ้น และเลือดอาจเข้าไปในปอดก่อให้เกิดปอดอักเสบตามมาได้)

3. อาจใช้ผ้ารองใต้จมูกเพื่อซับเลือดได้และถ้าเลือดหยดลงด้านหน้าอาจหาถ้วยชามขนาดใหญ่มารองไว้

4. ทำให้ตัวเย็นลง ประคบเย็นที่บริเวณสันจมูกที่บริเวณหน้าผากและคอร่วมด้วยก็ได้และวิธีที่เด็ดกว่านั้นก็คือ “การอมน้ำแข็งเอาไว้ในปาก” จากการศึกษาพบว่า การอมน้ำแข็งนั้นให้ผลได้ดีกว่าการกดจมูกด้วยน้ำแข็ง ( ส่วนการเลียไอติมแท่งก็ให้ผลไม่ต่างกัน)การประคบเย็นหรืออมน้ำแข็งควรทำ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ10 นาที แล้วค่อยทำใหม่เป็นเวลา 10 นาทีโดยให้ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ

5. อาจใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) ซึ่งตัวยาจะช่วยทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกหดตัวโดยให้หยดยาประมาณ 1-2 หยดลงบนก้อนสำลีแล้วใส่ก้อนสำลีเข้าไปในโพรงจมูก บีบจมูกอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 10 นาที ให้ดูว่ายังมีเลือดไหลอยู่อีกหรือไม่ ถ้าเลือดหยุดไหลแล้วอย่าเพิ่งเอาก้อนสำลีออกจนกว่าจะครบ1 ชั่วโมง เพราะเลือดอาจจะไหลได้อีกครั้ง(สามารถใช้ยาพ่นจมูกรักษาได้ ถ้าไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและควรใช้ในกรณีที่ลองบีบจมูก 10 นาทีแล้วเลือดยังไม่หยุดไหลเท่านั้น)

6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้จมูกแห้ง

7. หลีกเลี่ยงการพูดการไอหรือจามในขณะที่เลือดกำเดากำลังไหลอยู่ (ถ้าจะจามให้อ้าปาก)

8. ห้ามสั่งจมูกหรือแคะจมูกเพราะอาจทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วหลุดออกและเลือดไหลอีกครั้ง

การดูแลตนเองหลังเลือดกำเดาหยุดไหล ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกจะต้องป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำโดยการ

  • หลังเลือดหยุดไหลสนิทแล้ว สามารถทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำอุ่นได้
  • พักผ่อน หยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ และให้นอนหัวยกสูง รวมถึงทำใจให้สบาย เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลง
  • อาจประคบเย็นด้วย
  • หลีกเลี่ยงการแคะจมูก ขยี้จมูกแรง ๆ และการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การเบ่ง การไอ การจาม
  • ไม่ยกหรือหิ้วของหนัก ๆ ไม่เล่นกีฬาที่หักโหม ไม่สัมผัสอากาศที่ร้อน
  • ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่อุ่นหรือร้อน

การรักษาโดยแพทย์ แพทย์จะทำการห้ามเลือดกำเดาด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้ (การจะใช้วิธีใดนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการมีเลือดออก สาเหตุการเกิดและดุลยพินิจของแพทย์) ซึ่งวิธีการต่าง ๆ จะเรียงตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมากและตามตำแหน่งที่เลือดออก ดังนี้

1. การกดบีบห้ามเลือด ตามที่กล่าวไปแล้วในข้อ 1

2. การให้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ (Topical decongestants) เช่น 1–3% Ephedrine หรือ 0.025–0.05%Oxymethazoline เป็นต้น มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณน้อย

3. การจี้จุดเลือดออก (Cauterization) มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณไม่มากหรือเลือดออกซ้ำที่เดิมอยู่บ่อย ๆ และเห็นตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ชัดเจน

4. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้า (Anterior nasal packing) เช่น ผ้าก๊อซชุบวาสวีน (Vaseline gauze), การใช้ถุงมือยางยัดด้วยผ้าก๊อซ,ฟองน้ำ (Nasal sponge), การใช้บอลลูนในจมูกห้ามเลือด,MerocelÒ (เป็นวัสดุห้ามเลือดที่ขยายตัวได้หลังสัมผัสกับเลือดหรือน้ำ)และอาจเลือกใช้วัสดุที่ละลายได้เองโดยไม่ต้องดึงออก เช่น Gel foam หรือ SurgicelÒ (Oxidized cellulose) เป็นต้น

5. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงหลังจมูก (Posterior nasal packing) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรงจากส่วนหลังของโพรงจมูก หรือในกรณีที่กดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าแล้วเลือดยังไหลไม่หยุด

6. การฉีดสารอุดหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกรุนแรงจากทางส่วนหลังของโพรงจมูกและยังไม่หยุดไหลหลังใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าและโพรงหลังจมูกไปแล้วหรือใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดผิดปกติหรือมีเนื้องอกที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก

7. การผูกหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรง

8. การผ่าตัด

ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เลือดออก)เมื่อ

  • เลือดไหลไม่หยุดภายใน 20-30 นาที
  • เลือดกำเดาไหลซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง
  • เลือดออกมากผิดปกติจนรู้สึกวิงเวียน มึนงง ซีด อิดโรย เหงื่อออกมาก ใจสั่น เป็นลม
  • เลือดกำเดาออกบ่อยหรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งชวนให้สงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก
  • เลือดกำเดาไหลที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกกระแทกด้วยของแข็งที่จมูกอย่างรุนแรง
  • หายใจลำบาก
  • มีประวัติเป็นโรคเลือด และ/หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคตับและไต
  • เด็กในขณะที่เป็นโรคไข้เลือดออก เพราะเมื่อมีเลือดกำเดาไหล เลือดมักไม่หยุดเองง่าย ๆ
  • เมื่อใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือเกิดจากการรับประทานยาแอสไพรินทุกวัน
  • เมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

วิธีป้องกันเลือดกำเดาไหล

1. ค้นหาและรักษาที่ต้นเหตุ เช่นการสอนเด็กไม่ให้แคะจมูก หรือขยี้จมูกแรง ๆ การรักษาผนังกั้นช่องจมูกคด การรักษาเนื้องอกหรือโรคมะเร็งเป็นต้น

2. อย่ารุนแรงกับจมูก หลีกเลี่ยงการแคะจมูกหรือขยี้จมูกแรงๆ ขณะไอหรือจามควรอ้าปากเสมอเพื่อไม่ให้มีแรงดันอากาศผ่านโพรงจมูก เวลาสั่งจมูกให้สั่งเบาๆ และสั่งทีละข้างเท่านั้น ควรตัดเล็บให้สั้น

3. เพิ่มความชื้นในอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เช่น เครื่องทำความชื้นหรือ ภาชนะใส่น้ำ

4. ใช้สเปรย์พ่นน้ำเกลือสำหรับจมูก โดยให้ใช้พ่น2-3 ครั้งต่อวันเพื่อช่วยทำให้จมูกชุ่มชื้น อาจทำสเปรย์น้ำเกลือด้วยตัวเองโดยการใช้เกลือไม่ผสมไอโอดีน3 ช้อนชาพูน กับเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนชานำมาผสมให้เข้ากันในภาชนะที่สะอาด แล้วตักผง 1 ช้อนชาใส่น้ำสะอาดอุ่นๆ (หรือน้ำต้มเดือด) ประมาณ 240 มิลลิลิตร แล้วผสมให้เข้ากัน

5. รับประทานอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ให้มากขึ้น เพราะฟลาโวนอยด์ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอยได้โดยอาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้มทั้งหมด กล้วย ใบแปะก๊วย ผักชีฝรั่งหัวหอม ชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ไวน์แดง ดาร์กช็อกโกแลต บลูเบอร์รี่รวมถึงเบอร์รี่ชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

6. ป้องกันอาการท้องผูก เพราะการเบ่งถ่าย ทำให้ความดันในเส้นเลือดแดงเพิ่มสูงขึ้นชั่วขณะ

7. ลดการรับประทานอาหารร้อนและเผ็ด เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและอาจทำให้เลือดไหลได้

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เลือดกำเดา(Epistaxis/Nose bleed)”.  (นพ.สุรเกียรติอาชานานุภาพ). หน้า 470-471.

2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เลือดกำเดาไหล(Epistaxis)”.  (ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 ม.ค. 2017].

3. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “ภาวะเลือดกำเดาไหล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [29 ม.ค. 2017].

4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 218 คอลัมน์ :ถามตอบปัญหาสุขภาพ.  “เลือดกำเดา”. (พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [29 ม.ค.2017].

5. หาหมอดอทคอม.  “เลือดกำเดา การตกเลือดกำเดา (Epistaxis)”.  (ร.ท. พญ.นทมณฑ์ ชรากร).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ม.ค. 2017].

6. wikiHow.  “วิธีการหยุดเลือดกำเดาไหล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com. [30 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย(MedThai)

https://medthai.com/เลือดกำเดาไหล/




 

Create Date : 31 มกราคม 2562   
Last Update : 31 มกราคม 2562 22:08:20 น.   
Counter : 2784 Pageviews.  

3 สิ่งสำคัญที่ แม่ลูกอ่อน ควรรู้ก่อนเลี้ยงลูกน้อยด้วย นมแม่



คุณแม่ทุกคนควรมีข้อควรรู้พื้นฐานซึ่งบางท่านอาจยังไม่ทราบ ก่อนให้นมลูก ดังนี้

1.นมแม่ถือเป็นสุดยอดอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับทารก ไม่ว่านมผงหรือนมชนิดใดก็ไม่สามารถเทียบเท่า โดยอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ฮอร์โมนและสิ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แม่ลูกอ่อนไม่ควรตกเป็นเหยื่อทางการตลาดเข้าใจผิดคิดว่าผลิตภัณฑ์นมผงดีกว่า หรือมีประโยชน์เท่ากับนมแม่  โดยในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ.นมผง”  ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2560 เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการส่งเสริมการขายในทางที่ผิด

2.แม่มือใหม่ควรมีความรู้เรื่องอาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสมควบคู่กับการให้นม นมแม่สามารถให้แก่ลูก ได้เรื่อย ๆ จนน้ำนมแม่หมด แต่ต้องเสริมอาหารในวัยที่เหมาะสมเพื่อฝึกการกลืน การรับประทาน และเพิ่มสารอาหารให้แก่ลูก

- ทารกในช่วง 6 เดือนแรกนั้นให้นมแม่อย่างเดียวพอ ห้ามป้อนอาหารให้ลูกก่อน 6 เดือน เพราะทำให้ลูกน้อยเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ โดยอาจทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเกิดลำไส้อุดตัน ซึ่งในกรณีนี้เคยมีเด็กอายุเพียง 7 วันที่ถูกป้อนกล้วยแล้วเสียชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว 

- ทารก 6 เดือนขึ้นไป ควรมีอาหารเสริมที่เหมาะสมควบคู่กับนมแม่ อาจจะเริ่มจากอาหารบดพวกผัก ผลไม้ ไข่แดงหรือข้าวบด โดยควรเริ่มอาหารทีละอย่างและทีละน้อย ๆ ก่อน เพื่อสังเกตอาการต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการแพ้อาหาร

1. รู้จักสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหากให้นมบุตร เนื่องจากบางสิ่งที่เรารับประทานสามารถส่งผ่านทางน้ำนม รวมถึงมีผลต่อการสร้างน้ำนมได้ โดยมีดังนี้

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ

- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

- หลีกเลี่ยงการใช้ยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะใช้ เพื่อ ป้องกันอันตราย หรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นและไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อ้างว่าเพิ่มน้ำนม หรือลดความอ้วนหลังคลอดบุตร เนื่องจากอาจปลอมปนสารที่เสี่ยงอันตรายต่อทารกได้

           หากคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกน้อยของตัวเองเจริญเติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรงสมบรูณ์ ก็ควรจะหาข้อมูลการเลี้ยงดูลูกน้อยเพิ่มเติม เพราะยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรรู้

https://oryor.com/oryor2015/print-detail.php?cat=44&id=1510





 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2561   
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2561 15:40:18 น.   
Counter : 3274 Pageviews.  

วิธีเลือกนมถั่วเหลืองให้ได้คุณค่า น่าดื่ม .. Cr. เครือข่ายคนไทยไร้พุง






มาดื่มนมถั่วเหลืองให้ได้คุณค่าที่ดีกันเถอะ

https://www.raipoong.com/content/detail.php?section=10&category=34&id=527

นมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมมานาน เนื่องจากมีสารอาหารที่ครบถ้วน อีกทั้งยังเหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้ที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพบางกรณี เช่น

-ผู้ที่มีภาวะทนต่อน้ำตาลแลคโตสในนมวัวไม่ได้ คือ ผู้ที่มีอาการท้องเสีย ท้องอืด ไม่สบายท้องหลังจากดื่มนมวัว 

-ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้โปรตีนนมวัว

-ผู้ที่เป็นมังสวิรัติแบบที่ไม่เลือกดื่มนมวัว

แต่เราก็มักประสบปัญหาการ “เลือกไม่ถูก” เมื่อเดินเข้าไปในร้านซูเปอร์มาเก็ตหรือร้านขายของชำที่มีนมถั่วเหลืองมากมายหลายสูตรให้เลือกดื่มกัน วันนี้เรามีเคล็ดลับจากนักกำหนดอาหารมาฝากกันว่า ควรเลือกนมถั่วเหลืองอย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพที่สุดครับ


วิธีเลือกนมถั่วเหลือง (ที่วางขายให้เลือกละลานตาเหลือเกิน)

1.ผ่านสายตากับคำกล่าวอ้างด้านหน้ากล่องก่อนสิ่งอื่นใด ควรมองหานมถั่วเหลืองหรือเครื่องดื่มธัญพืชที่มีการระบุว่า ...

• น้ำตาลน้อย, น้ำตาลน้อยกว่าสูตรปกติ, หวานน้อย, หวานพอดี 

• มีแคลเซียม, มีแคลเซียมสูง

• มีวิตามิน, มีแร่่ธาตุ 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เอาใจใส่ผู้บริโภคในการปรับเพิ่มคุณค่าสารอาหาร ก่อนที่จะหยิบมาอ่านฉลากโภชนาการดูรายละเอียดกันต่อ 

2.พลิกไปดูจำนวนหน่วยบริโภค

การอ่านฉลากโภชนาการจะทำให้เราได้ทราบข้อมูลสารอาหารต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์ที่เราสนใจ ข้อสำคัญคือ ด้านบนสุดของกรอบฉลากโภชนาการจะมีการระบุ “จำนวนหน่วยบริโภค” เอาไว้ เพื่อแสดงให้เราทราบว่า ผลิตภัณฑ์กล่องหรือขวดที่เราถืออยู่ “ควรแบ่งกินกี่ครั้ง” และข้อมูลสารอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ด้านล่างลงไป เป็นข้อมูลของสารอาหาร ต่อการรับประทาน 1 ครั้ง ถ้าใครบริโภคกล่องที่เขียนว่า จำนวนหน่วยบริโภคต่อกล่อง : 4  แปลว่าแบ่งรับประทานได้ 4 ครั้ง แต่หากเราเทดื่มรวดเดียวหมด ก็ให้นำสารอาหารที่อ่านเจอคูณ 4 ไปด้วยนะครับ

3.มองหาปริมาณโปรตีน

เนื่องจากนมถั่วเหลืองหรือนมธัญพืชต่างๆ จะมีปริมาณโปรตีนที่ต่ำกว่านมวัวโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เราจึงควรเปรียบเทียบปริมาณโปรตีนจากแต่ละยี่ห้อให้ดี คำแนะนำในการบริโภคคือ ควรมีโปรตีนตั้งแต่ 6 กรัมขึ้นไปต่อ 1 หน่วยบริโภคหรือ 1 กล่องขนาดทั่วไป (ปริมาณ 200-250 มิลลิลิตร) เทียบจากการบริโภคไข่เบอร์ 3 หนึ่งฟอง เพื่อให้ได้โปรตีนอย่างคุ้มค่า

4.อ่านน้ำตาลให้ขาด

เรารู้กันดีว่า น้ำตาลเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความอ้วนได้ กระนั้นก็อย่าถึงกับแบนน้ำตาลเลย เราสามารถบริโภคน้ำตาลได้ประมาณวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา (24 กรัม)โดยเราสามารถทราบว่านมถั่วเหลืองแต่ละกล่อง หรือแต่ละหน่วยบริโภคมีน้ำตาลกี่ช้อนชาได้ ด้วยการอ่านปริมาณน้ำตาลเป็นกรัม จากฉลากโภชนาการและนำมาหารด้วยเลข 4 จะได้จำนวนช้อนชาของน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคหรือกล่องนั้น ๆ (เพราะน้ำตาล 1 ช้อนชาจะหนักประมาณ 4 กรัมครับ) ยกตัวอย่าง นมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งกล่าวอ้างว่าบนฉลากว่ามีน้ำตาลน้อย แล้วอ่านพบว่ามีน้ำตาล 2 กรัม เราก็จะทราบได้ว่ามีน้ำตาลอยู่ 2 หาร 4 เท่ากับ 0.5 หรือครึ่งช้อนชาต่อการดื่ม 1 กล่องนั่นเอง เราก็สามารถดื่มได้วันละ 2 กล่องอย่างสบายใจ (แต่ก็ต้องระวังปริมาณน้ำตาลเพิ่มเติมจากเครื่องดื่มหวานอื่นๆ ด้วยนะครับ)

5.ไขมันล่ะ ต้องแคร์ไหม

หลายๆ คนก็ยังคงเกรงกลัวการกินไขมัน แต่ความจริงแล้วไขมันสามารถช่วยในการดูดซึมวิตามินหลากหลายชนิด รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทในการต้านมะเร็งได้ และยังทำให้เราอิ่มท้องได้หลังจากกินอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราควรดูตัวเลขปริมาณไขมันอิ่มตัวบนฉลากโภชนาการ ซึ่งไม่ควรได้รับมากจนเกินไป แต่โดยธรรมชาติแล้ว นมถั่วเหลืองจะมีปริมาณไขมันอิ่มตัวอยู่น้อยมาก (ไม่เกิน 1-2 กรัมต่อกล่อง) จึงไม่ต้องกังวลครับ

6.แคลเซียม วิตามิน ธาตุเหล็ก ต้องมี

นอกจากน้ำตาลและไขมันที่เราต้องให้ความสนใจแล้ว แร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ ที่ได้จากการบริโภคนมถั่วเหลืองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่ได้รับกันน้อยในแต่ละวัน หลายท่านอาจสังเกตพบว่า ทำไมบนฉลากถึงระบุปริมาณแร่ธาตุหรือวิตามินเป็น % หรือร้อยละ ความหมายคือ หากบริโภค 1 หน่วยบริโภคของเครื่องดื่มนั้นๆ แล้ว จะได้รับแร่ธาตุหรือวิตามินที่ระบุบนฉลาก คิดเป็นร้อยละ ของความต้องการต่อวัน เช่น หากพบว่ามีแคลเซียม 50% แปลว่า เมื่อดื่มนมนี้หมด 1 หน่วยบริโภค จะได้รับแคลเซียมคิดเป็น 50% หรือครึ่งนึงของความต้องการในแต่ละวัน

เมื่อเรานำข้อมูลข้างต้นมารวมกันแล้ว จะพิจารณาได้อย่างไรบ้าง มาดูตัวอย่างกันเลยครับ

หากเรากำลังซื้อนมถั่วเหลืองกล่องละ 13 บาท และพบว่า นมถั่วเหลืองยี่ห้อนี้มีขนาด 220 มิลลิลิตร ซึ่งมีรายละเอียดระบุดังนี้

- จำนวนหน่วยบริโภค คือ 1 “แปลว่า กล่องนี้บริโภคได้ 1 ครั้ง”

- มีไขมันทั้งหมด 4 กรัม ไขมันอิ่มตัว 1 กรัม ความหมายตรงตัวครับ ไม่มากเกินไป

- โปรตีน 6 กรัม ถือว่ามีปริมาณพอดีๆ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ถือว่ารับได้ครับ

- น้ำตาล 14 กรัม ลองนำมาหาร 4 ดู จะคิดออกมาเป็นปริมาณน้ำตาล 3.5 ช้อนชา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคำแนะนำในการบริโภคน้ำตาลต่อวัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา ก็พบได้ว่า “ไม่มากเกินไป” หากดื่ม 1 กล่องนี้

- มีแคลเซียม 35% วิตามินเอ 10% วิตามินอี 20% ความหมายคือ หากดื่มนมนี้ 1 กล่อง จะได้รับแคลเซียมคิดเป็น 35% ของความต้องการต่อวัน หากเราต้องการให้ได้รับแคลเซียมครบถ้วน ก็จะเหลืออีก 65% ที่จะบริโภค หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้หาเครื่องดื่มหรือนมอื่น ๆ ให้ได้รับแคลเซียมรวมกันให้ได้อีก 65% 

ลองเอาข้อมูลเหล่านี้ เทียบกับนมถั่วเหลืองสัก 1-2 ยี่ห้อ หรือรสชาติ ที่เรากำลังเลือก เท่านี้เราก็จะมีแนวทางในการเลือกนมถั่วเหลืองที่ดีที่สุดและตรงตามความต้องการสำหรับเราแล้วครับผม


พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์ (กอ.ช.)

ผู้ให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดโรคต่างๆ 

วิทยากรด้านโภชนาการและสุขภาพ – จัดอบรม, Workshop เพื่อสุขภาพร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน 

ในโครงการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานในองค์กร

ด้วยการวางระบบ  Intervention & Toolsเพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็น Healthy Organization  

เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


********************************
แถม

ทำอย่างไรถึงจะตัวสูง ??? สูง ไม่สูง เกิดจากอะไร ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=56

ทำอย่างไรถึงจะตัวสูง อาหารเสริมความสูง ?เวบดร่าม่าแอดดิก

https://drama-addict.com/?p=9106

ผ่าตัดเพิ่มความสูงทางลัดสู่ความสำเร็จหรือเจ็บปวด

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=58

ผ่าตัดยืดกระดูกให้สูงขึ้น ดีจริงหรือ ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=57

นมเพิ่มความสูงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโคลอสตรุ้ม (Colostrum)เพิ่มความสูงได้ ไม่จริง!อย่าหลงเชื่อ!

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-08-2017&group=4&gblog=131

สารพัด " นม" ที่ควรรู้

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-12-2008&group=4&gblog=65

วิธีเลือกนมถั่วเหลืองให้ได้คุณค่าน่าดื่ม .. Cr. เครือข่ายคนไทยไร้พุง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-01-2018&group=4&gblog=135

ยาเม็ดแคลเซียม

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONE DENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16




 

Create Date : 30 มกราคม 2561   
Last Update : 30 มกราคม 2561 20:47:22 น.   
Counter : 3148 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]