Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ยาเม็ดแคลเซียม


ยาเม็ดแคลเซียม

โรคกระดูกพรุนหรือกระดูกโปร่งบาง จะมีปริมาณเนื้อกระดูกลดลง และ โครงสร้างภายในของกระดูกเปลี่ยนแปลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลง เกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น ในระยะแรกผู้ป่วยมักจะปกติดีจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นอุบัติเหตุไม่รุนแรง เช่น ลื่นล้ม หรือ ตกเก้าอี้ แล้วเกิดกระดูกข้อมือหัก กระดูกสะโพกหัก

โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 2 รองจากโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 30-40 ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้เพียงร้อยละ 10 และพบว่าในผู้หญิงไทยอายุ 55 ปีเป็นโรคนี้ร้อยละ 20 แต่ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60 จะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะมีโรคกระดูกพรุนแอบแฝงอยู่

การสูญเสียเนื้อกระดูก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันและรักษาตั้งแต่เริ่มแรกก่อนจะเกิดกระดูกหัก ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนก็คือ ได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวันจะแตกต่างกัน เช่น

คนทั่วไป ควรได้รับวันละ 800 มิลลิกรัม

เด็กและวัยรุ่น ควรได้รับวันละ 800-1,200 มิลลิกรัม

ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับวันละ 1,500-2,000 มิลลิกรัม

ผู้หญิงช่วงหมดประจำเดือน ควรได้รับวันละ 1,500 มิลลิกรัม

ผู้สูงอายุ ควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม

อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น น้ำนม กุ้งแห้ง กะปิ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เต้าหู้เหลือง น้ำเต้าหู้ หรือ อาหารจานเดียว เช่น ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊วใส่ไข่ ข้าวราดไก่ผัดกระเพรา ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถ้าได้รับแคลเซียมจากแหล่งอาหารประจำวันอย่างพอเพียง ก็ไม่จำเป็นต้องได้แคลเซียมเสริม นอกจากบางคนอาจได้แคลเซียมจากอาหารไม่พอเพียง หรือ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างชัดเจน

ถ้าได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอนานประมาณ 18 เดือน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้

ในผู้สูงอายุ ควรได้รับ แคลเซียม ร่วมกับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน แคลซิโทนิน หรือ วิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้แคลเซี่ยมถูกดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น

วิตามินดี ส่วนใหญ่ได้รับจากแสงอาทิตย์ (ช่วงเช้า และ เย็น ) และ อาหาร ซึ่งค่อนข้างเพียงพอ ยกเว้นในผู้สูงอายุ ที่อยู่ในบ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปตากแดด ทำให้ในผู้สูงอายุบางรายขาดวิตามินดี อาจต้องทานวิตามินดีเสริมด้วย

จากการศึกษาพบว่าในผู้ที่กินยาเม็ดแคลเซียมน้อยกว่าวันละ 2 กรัม ไม่พบว่ามีนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น และ ไม่ทำให้เกิดกระดูกงอกเพิ่มมากขึ้น (กระดูกงอกมักเกิดจากข้อเสื่อม ไม่เกี่ยวกับยาเม็ดแคลเซียม)



การเลือกชนิดของแคลเซียมเสริม ปัจจัยที่ควรพิจารณาเมื่อจะเลือกใช้แคลเซียมเสริม ได้แก่

1. ชนิดและปริมาณของเกลือแคลเซียม จะทำให้ร่างกายได้รับแตกต่างกันไป เช่น

แคลเซียมคาร์บอเนต ( calcium carbonate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 40
แคลเซียมซิเตท ( calcium citrate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 21
แคลเซียมแลคเตท ( calcium lactate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 13
แคลเซียมกลูโคเนต ( calcium gluconate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 9

2. ความสะดวกในการกิน จำนวนเม็ดที่ต้องกินในแต่ละวันขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ ถ้าเป็นยาที่มีแคลเซียมต่ำ เม็ดยาที่ต้องกินก็จะต้องมากขึ้น ทำให้ไม่สะดวก และ ทำให้ความสม่ำเสมอในการกินแคลเซียมน้อยลง

3. ราคา ราคาของยาเม็ดแคลเซียมแตกต่างกันมาก โดยทั่วไป ยาเม็ดธรรมดาจะราคาถูกว่ายาเม็ดแคปซูล ส่วนยาเม็ดฟู่จะราคาแพงที่สุด สำหรับผู้สูงอายุที่อาจมีปัญหาการดูดซึมของยาอาจจำเป็นต้องใช้แบบเม็ดฟู่

4. ส่วนผสมอื่น ๆ ในยาเม็ดแคลเซียม เช่น วิตามินดี วิตามินซี แร่ธาตุอื่น ๆ ในผู้ที่ขาดสารเหล่านี้ ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มเติม แต่ผู้ที่ไม่ขาดสารเหล่านี้ก็ไม่จำเป็น เพราะยาเม็ดแคลเซียมที่มีส่วนผสมเสริมจะมีราคาแพงขึ้นไปด้วย














แถม ...

ทำอย่างไรถึงจะตัวสูง ??? สูง ไม่สูง เกิดจากอะไร ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=56

ทำอย่างไรถึงจะตัวสูง อาหารเสริมความสูง ?เวบดร่าม่าแอดดิก

https://drama-addict.com/?p=9106

ผ่าตัดเพิ่มความสูงทางลัดสู่ความสำเร็จหรือเจ็บปวด

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=58

ผ่าตัดยืดกระดูกให้สูงขึ้น ดีจริงหรือ ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-08-2008&group=4&gblog=57

นมเพิ่มความสูงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโคลอสตรุ้ม (Colostrum)เพิ่มความสูงได้ ไม่จริง!อย่าหลงเชื่อ!

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-08-2017&group=4&gblog=131

สารพัด " นม" ที่ควรรู้

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-12-2008&group=4&gblog=65

วิธีเลือกนมถั่วเหลืองให้ได้คุณค่าน่าดื่ม .. Cr. เครือข่ายคนไทยไร้พุง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-01-2018&group=4&gblog=135

ยาเม็ดแคลเซียม

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONE DENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16



มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย

https://www.topf.or.th

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง ... ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

https://taninnit-osteoporosis.blogspot.com/

แบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

https://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=21

 

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONEDENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16

 

การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังหักยุบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=21




Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 26 เมษายน 2564 21:44:18 น. 10 comments
Counter : 43050 Pageviews.  

 
ขอถามหมอหมู?
แม่อายุ 50 ต้นๆ เป็นมะเร็งไทรอยด์ ผ่าตัดมาประมาณ 5-6 ปี รักษาที่ รพ.รามา มีอาการปวดเมื่อยตามน่อง หลังบ่อยๆ บางครั้งบ่นว่าปวดจนนอนไม่หลับเลย แพทย์ให้ยาคลายกล้ามเนื้อกิน จนมีอาการปวดท้อง อยากถามว่าโรคมะเร็งไทรอยด์ กับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่อง-หลัง เกี่ยวกันหรือไม่ และการกินแคลเซี่ยมจะช่วยได้ไหมค่ะหมอ


โดย: หมอนิต วันที่: 3 มีนาคม 2551 เวลา:16:00:38 น.  

 

ต้องดูชนิดและการผลิตฮอร์โมนด้วยนะครับ .. ถ้าเป็นชนิดที่ผลิตฮอร์โมน อาจทำให้เกิดแคลเซี่ยมในเลือดต่ำ ก็จะเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ คล้าย ๆ เป็นตะคริวได้

บางคนก็จะปวดมากตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับได้นะครับ

สำหรับยาคลายกล้ามเนื้อ ปกติจะไม่มีปัญหาเรื่องกระเพาะ ปวดท้อง นะครับ ...

ยังไง ก็ลองสอบถามหมอที่รักษาอีกครั้งละกัน ..

ขอให้คุณแม่ ดีขึ้นเร็ว ๆ นะครับ


โดย: หมอหมู วันที่: 22 มีนาคม 2551 เวลา:18:02:15 น.  

 
ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ เก็บความรู้เข้าคลังสมองน้อย ๆ แล้ว

ตอนนี้หนูก็ป่วยเป็นโรคกระดูกผุอยู่ค่ะ


โดย: biebie999 วันที่: 18 กันยายน 2551 เวลา:13:59:36 น.  

 
นำมาจากกระทู้ในห้องสวนลุม ..

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L7283755/L7283755.html#15



จะจ่ายแพง ๆ ซื้อนม"แคลเซียมสูง"ไปเพื่ออะไร

"นม แคลเซียมสูง" กำลังเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุและมีราคาแพงกว่า "นมแบบปกติ" จึงเป็นที่มาของคำถามว่าเราจำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อซื้อ "นมแคลเซียมสูง" จริงหรือ?

พบ"ความจริง"ของการตลาด"นมแคลเซียมสูง" ได้ที่นี่นมวัวเป็นแหล่งแคลเซียมที่สำคัญ เพราะในนมสด 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) จะมีแคลเซียม 240 มิลลิกรัม ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูง จึงมีคำถามที่ควรหาคำตอบว่า ...เหตุใดยังต้องมีนมแคลเซียมสูงออกมาวางขายอีก ?!?

ในปัจจุบันจะ สังเกตได้ว่า บรรจุภัณฑ์ของนมแคลเซียมสูงมีลักษณะดึงดูดผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ได้ผลดี แม้แต่นมถั่วเหลือง ที่ถูกโจมตีว่าแคลเซียมต่ำ ก็หันมาเติมแคลเซียมเพื่อลดจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาด ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าเอะอะอะไร ก็ต้อง "แคลเซียมสูง" ไว้ก่อน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจริงๆ ว่า การที่นมมีแคลเซียมสูงนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการที่ "ร่างกายดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์"

จากการสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตหลาย แห่ง เราได้เลือกหยิบนมพร้อมดื่มและนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม แบ่งเป็นนมโค 3 ยี่ห้อ ได้แก่ แอนลีน นูต้าแม็กซ์ ฟาร์มโชคชัย และโฟรโมสต์ แคลซีแม็กซ์, นมถั่วเหลือง 4 ยี่ห้อ ได้แก่ แลคตาซอย ดีน่า ไวตามิลค์ และวีซอย ซึ่งล้วนอ้างว่ามี "แคลเซียมสูง" มาทดสอบหาปริมาณแคลเซียม

จากการ ทดสอบ พบว่า...

- นมโค ยี่ห้อ แอนลีนและโฟรโมสต์ แคลซีแม็กซ์ มีปริมาณแคลเซียมสูงกว่านมธรรมดาจริง ขณะที่ยี่ห้อนูต้าแม็กซ์ ฟาร์มโชคชัย มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่านมโคธรรมดา

- ส่วนถั่วเหลืองนั้น มีทั้งแบบที่มีแคลเซียม "ต่ำกว่า" "สูงกว่า" และ "ใกล้เคียง" กับนมโคธรรมดา ทั้งนี้ ยี่ห้อวีซอย สูตรน้ำตาลน้อย มีแคลเซียมมากที่สุด ที่ 173 มก./100 มล. ส่วนแลคตาซอยมีแคลเซียมน้อยที่สุด ที่ 66 มก./100 มล.

- ปริมาณแคลเซียมส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกับฉลากโภชนาการที่ระบุไว้ข้างกล่อง ยกเว้น ยี่ห้อนูต้าแม็กซ์ ฟาร์มโชคชัย ทั้ง 2 สูตร ที่มีปริมาณแคลเซียมที่แท้จริงน้อยกว่าปริมาณที่ระบุในฉลากค่อนข้างมาก ส่วนนมถั่วเหลืองที่มีแคลเซียมน้อยกว่าที่ฉลากระบุ คือ ดีน่า สูตรผสมน้ำแครอท และวีซอย สูตรไม่มีน้ำตาล


แคลเซียมสูง...ไม่สำคัญเท่าการดูดซึม

จาก การสอบถาม ผศ.ดร.สมศรี เจริญเกียรติกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทราบว่า การดื่มนมหรือนมถั่วเหลืองแคลเซียมสูงไม่มีดีไปกว่าการดื่มนมธรรมดา เพราะแม้นมจะมีปริมาณแคลเซียมสูงกว่าจริง แต่ร่างกายของเราจะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ทั้งหมด สืบเนื่องจากกระบวนการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย ซึ่งหากบริโภคแคลเซียมปริมาณมากในครั้งเดียว ร่างกายจะดูดซึมน้อย แต่หากทยอยบริโภคทีละนิด ร่างกายจะดูดซึมได้มากขึ้น

นอกจากนี้ กระบวนการดูดซึมแคลเซียมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การดื่มนมขณะท้องว่าง ซึ่งร่างกายจะดูดนำไปใช้ได้น้อยกว่าตอนที่ท้องไม่ว่าง รวมทั้งแคลเซียมไม่ได้มีแค่ในนมเท่านั้น อาหารประเภทอื่นๆ ก็มีแคลเซียมเช่นกัน เช่น เต้าหู้แข็ง ถั่ว งา ปลาเล็กปลาน้อย ปลากรอบ ปลาป่น กะปิด กุ้งแห้ง ผักคะน้า และผักกวางตุ้ง


ความจริงเกี่ยวกับ "แคลเซียม" และความคลุมเครือในโฆษณา

- การระบุแคลเซียม-10 ที่มีขนาดเล็กกว่าแคลเซียมธรรมดา 10 เท่า ซึ่งเรามักเข้าใจว่าจะสามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้ดีกว่านั้น ความจริงแล้วการดูดซึมของร่างกายจะเป็นไปตามกระบวนการที่ระบุไว้ข้างต้น นอกจากนี้ ความจริงแล้วขนาดของแคลเซียมมีเพียงขนาดเดียวเท่านั้น!!

- การที่ระบุว่า การบริโภคนมแคลเซียมสูงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องบริโภค "วิตามิน เค" ให้สูงตามไปด้วย โดยอ้างว่าวิตามิน เค อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันการสลายตัวของแคลเซียมนั้น ความจริงแล้วร่างกายเราสามารถผลิตวิตามิน เค ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องบริโภคจากภายนอก

- การที่ระบุว่า นมแคลเซียม 1 กล่องมีปริมาณแคลเซียมสูงกว่าปกติ 4 เท่านั้น เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะประเด็ญสำคัญคือเรื่องการดูดซึมเข้าร่างกาย

- การที่ระบุว่า มีการผสม "โอลิโก ฟรุกโตส" ในนมแคลเซียมสูง โดยอ้างว่า"โอลิโก ฟรุกโตส"อาจช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมนั้น ความจริงจากการวิจัยพบว่าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน และจำเป็นต้องได้รับการวิจัยต่อไปอีกมาก

ที่มา นิตยสาร ′ฉลาดซื้อ′ ฉบับที่ 90 โดย กองบรรณาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

(ติดต่อ ′ฉลาดซื้อ′ ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 211/2 ซ.งามวงศ์วาน 31 ถ.งามวงศ์วาน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0-2952-5060-2 โทรสาร 0-2580-9337)



www.matichon.co.th/prachachat/news_title.php?id=5394

จากคุณ : หมอค่ะ - [ 3 ธ.ค. 51 21:50:06 A:114.128.12.53 X: TicketID:195020 ]


โดย: หมอหมู วันที่: 4 ธันวาคม 2551 เวลา:12:48:52 น.  

 
( ต่อ )

ขอแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆนะครับ

1. ปัญหาเรื่องการดูดซึม ถูกต้องครับว่าแคลเซียมเม้ด(หรือจากอาหารอื่นๆ) ที่เรากินเข้าไป ไม่สามารถถูกดูดซึมได้หมด 100% โดยทั่วไป จะอยู่ที่ 20-60 % เท่านั้น (ในยาเม็ดทั่วไปโดยเฉลี่ยจะประมาณ 40%)

แล้วที่เหลือ มันไปไหนครับ บางท่านที่คิดว่ามันจะไปเป็นสาเหตุของนิ่วในไต ก็ขอให้ไปเรียนเรื่องระบบดูดซึมอาหารของร่างกาย ตราบใดที่มันไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด มันไม่มีทางที่จะไปก่อให้เกิดปัญหาเรื่องนิ่วในไตได้ครับ

ซึ่งในทางปฎิบัติแล้ว แคลเซียมที่ไม่ถูกดูดซึม ก็จะถูกขับออกจากร่างกายไปกับอุจจาระเท่านั้นครับ

2. กรณีที่ร่างกายได้รับแคลเซียมเกิน

เช่น ในกรณีที่กินยาเม็ดแคลเซียม ที่ปกติกินวันละเม็ด แต่ดันทะลึ่งไปกินวันละ 10 เม็ด แบบนี้มีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับปริมาณแคลเซียมเกินได้ ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้มักจะทำให้ไตทำงานบกพร่อง และยังส่งผลถึงความสามารถในการดูดซึมแร่ธาตุตัวอื่นๆ

ซึ่งทั้งนี้ ยังไม่เคยมีรายงานชิ้นไหนที่ชี้ว่าการกินแคลเซียมมากเกินไป จะทำให้เกิดมะเร็งได้ครับ

ปล.

1. เรื่องการเกิดนิ่วในไตนั้น ถึงแม้ตัวนิ่วที่พบส่วนใหญ่จะเป็น calcium oxalate แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันว่าการกินแคลเซียมเดี่ยวๆ จะทำให้เกิดนิ่วมากขึ้น (บางรายงานยังบอกว่าลดโอกาสเกิดนิ่วได้ด้วย) จุดที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของปริมาณ oxalate ที่ร่างกายได้รับด้วย

2. เรื่องนม high calcium ลองเข้าไปอ่านดูครับ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=marquez&date=04-01-2008&group=7&gblog=20

จากคุณ : Marquez - [ 4 ธ.ค. 51 11:40:57 ]


โดย: หมอหมู วันที่: 4 ธันวาคม 2551 เวลา:12:50:13 น.  

 
อ่านแล้วกระต่างขึ้นมากเลย ขอบคุณจริงๆค่ะ


โดย: แรบบิทแบน (แรบบิทแบน ) วันที่: 14 พฤศจิกายน 2552 เวลา:13:25:27 น.  

 



กระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15


การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (BONE DENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16


ยาเม็ดแคลเซียม

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19


กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน เหมือนกัน ??? ถ้าเป็นโรคกระดูก ต้องกินแคลเซี่ยมเสริม ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=18-09-2008&group=5&gblog=40




โดย: หมอหมู วันที่: 22 มิถุนายน 2555 เวลา:0:06:03 น.  

 

//health.kapook.com/view3108.html

ดื่มนมมากเกิน ร่างกายขับออกไม่ดีต่อกระดูก (คมชัดลึก)

แพทย์เตือนดื่มนมเพื่อสุขภาพ ต้องตระหนักถึงข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ระบุกระหน่ำดื่มมากเกินไป ก่อให้เกิดผลเสียต่อกระดูกมากกว่าผลดี โดยฟอสฟอรัสที่อยู่คู่กับแคลเซียมในนม จะย่อยสลายมวลกระดูก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก

ศ.เกียรติคุณ น.พ.เสก อักษรานุเคราะห์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุน กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่พบมากในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้สูงอายุในไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน

แม้ว่าแคลเซียมในนมจะมีประสิทธิภาพสูง ในการยับยั้งการสลายตัวของมวลกระดูก แต่การดื่มนมเพื่อยับยั้งการสลายกระดูก จะต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

"แคลเซียมจากนมต้องได้มาจากการดื่มนมไม่เกิน 500 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งจะได้ปริมาณแคลเซียม 500 มิลลิกรัม เพราะในน้ำนมประกอบด้วยแคลเซียม 3 ส่วนและฟอสฟอรัส 2 ส่วน หากดื่มนมมากกว่า 500 มิลลิลิตร ร่างกายก็จะได้รับปริมาณฟอสฟอรัสมากเกินจำเป็น ซึ่งจะกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนออกมาสลายกระดูก จนเป็นเหตุให้มวลหรือเนื้อกระดูกบางลง" ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความต้องการแคลเซียมในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกัน โดยเฉลี่ยต่อวันเด็กควรได้รับ 600 มิลลิกรัม วัยรุ่น 1,000-1,500 มิลลิกรัม วัยผู้ใหญ่ 800-1,000 มิลลิกรัม ขณะที่หญิงมีครรภ์ต้องการ 1,500 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่วัยทอง 1,500-2,000 มิลลิกรัม

"เมื่อร่างกายสามารถรับแคลเซียมจากนมได้เพียง 500 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณแคลเซียมที่ยังขาดไปนั้น สามารถหาทดแทนได้จากอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ปลาป่น กุ้งแห้ง กะปิ และปลาร้าสุก เป็นต้น รวมทั้งการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งจะสังเคราะห์กลายเป็นแคลเซียม และออกกำลังกายที่เน้นเพิ่มมวลกระดูก งดเครื่องดื่มกาเฟอีนและแอลกอฮอล์" ศ.เกียรติคุณ น.พ.เสก แนะนำ

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถดื่มนม ก็จำเป็นต้องหาแคลเซียมเสริมในรูปแบบอื่นทดแทน แคลเซียมในรูปแบบเคี้ยวดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีสุด โดยต้องเคี้ยวให้ละเอียดไปพร้อมกับอาหาร เพื่อให้น้ำย่อยได้ละลายแคลเซียมมากที่สุด



โดย: หมอหมู วันที่: 23 กันยายน 2555 เวลา:15:05:27 น.  

 

"นมดี แต่อย่าดื่มเกินวันละ 2 กล่อง"


ข้อมูลจากมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติระบุว่า นมและผลิตภัณฑ์จากนมอื่น ๆ จัดอยู่ในกลุ่มที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงสุด ซึ่งแคลเซียมเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญมากในการเสริมสร้างกระดูก

การดื่มนมประจำช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน

ที่มีผลกระทบต่อผู้หญิง 1 ใน 3 และผู้ชาย 1 ใน 5 ทั่วโลกอายุ 50 ปีขึ้นไป และคาดการณ์ว่าในปี 2050 แถบเอเชียจะมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 โดย อัตราดื่มนมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศออสเตรเลียดื่มนม 102 ลิตรต่อคนต่อปี มาเลเซีย 50 ลิตรต่อคนต่อปี ในขณะที่ไทย 13.36 ลิตรต่อคนต่อปี

การเกิดโรคกระดูกพรุนไม่มีสาเหตุ

แต่มาพร้อมวัยเหมือนการเข้าสู่วัยชรา กระดูกมีมวลหรือเนื้อน้อยลง จึงเปราะบางและแตกหักง่าย การป้องกันคือต้องเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา ด้วยการสะสมแคลเซียม โปรตีนและวิตามินดีจากการดื่มนม เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุที่มีส่วนต่อการเจริญเติบโตของกระดูก

ทว่านมอย่างเดียวไม่เพียงพอ

ต้องมีอย่างอื่นเสริม อาทิ ปลาเล็กปลาน้อย ปลาร้า เป็นต้น มีผู้แนะนำว่าในแต่ละมื้ออาหารต้องโรยด้วยปลาป่นหรือกุ้งแห้งป่น ส่วนในผักแคลเซียมสูง เช่น ผักโขม ไม่สามารถให้แคลเซียมแก่ร่างกายได้เนื่องจากไม่มีตัวดูดแคลเซียม ผักให้แคลเซียมแก่ร่างกายได้ คือผักคะน้า บรอกโคลี ผักกาด เป็นต้น




นมที่ดีสุดคือนมสด มีสารอาหารและโปรตีนจำนวนมาก

ซึ่งโปรตีนเคซิน เป็นโปรตีนเด่นที่สุด จับแคลเซียมเก่งช่วยสร้างความสูงให้ร่างกาย ควรดื่มวันละ 500 ซีซี หรือ 2 กล่อง หากเกินจากนี้ก่อให้เกิดผลเสีย เนื่องจากไปกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ (ต่อมข้างไทรอยด์)

ซึ่งไปสลายกระดูก แต่ในวัยเด็กสามารถดื่มนมได้วันละ 500-800 ซีซี โดยเฉพาะเด็กที่ใช้พลังงานสูงออกกำลังกายเหงื่อออกมาก เพราะฟอสฟอรัสที่เกินจะถูกใช้เป็นพลังงาน ไม่สามารถกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ได้ ส่วนเด็กที่อยู่เฉย ๆ ควรดื่มนมเท่าผู้ใหญ่

ผู้เกิดอาการท้องเสีย ท้องอืดเมื่อดื่มนม

เกิดจากร่างกายขาดน้ำย่อยน้ำตาลในนมหรือน้ำตาลแลคโตส แนะนำว่าควรดื่มวันละอึก ๆ เป็นการกระตุ้นเรื่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มนมขณะท้องว่าง แต่หากไม่สำเร็จแนะนำผสมนมสด 250 ซีซี กับนมเปรี้ยว 250 ซีซี แช่ตู้เย็น 1 คืน ก่อนแบ่งดื่ม

เนื่องจากในนมเปรี้ยวมีแลคโตบาซิลัส

เชื้อโรคที่มีคุณต่อร่างกาย จะกินตัวน้ำตาลแลคโตส นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ยับยั้งการดูดแคลเซียม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน บุหรี่

รวมถึงการรับประทานอาหารไขมันสูงและเกลือสูง และที่ผ่านมาเข้าใจกันว่าดื่มนมแล้วเป็นมะเร็ง ซึ่งองค์การอาหารและยาในประเทศอังกฤษยืนยันว่าการดื่มนม 500 ซีซี ต่อวันไม่เป็นสาเหตุเกิดมะเร็ง นอกจากผู้ดื่มนม แล้วไปกินอาหารทอดในปริมาณมาก คงเป็นไขมันอื่นที่ได้รับเป็นสาเหตุเกิดมะเร็ง.



โดย: หมอหมู วันที่: 23 กันยายน 2555 เวลา:15:13:20 น.  

 
วงการสะเทือน...แคลเซียม วิตามินดี ดีจริงหรือสำหรับกระดูกในผู้ใหญ่?

เป็นระเบียบปฏิบัติกันมาช้านาน ที่ต้องให้สตรีที่เริ่มเข้าวัยทอง หรือเริ่มหมดประจำเดือน หรืออายุ 50 ขึ้นไปต้องเสริมด้วยแคลเซียม วันละไม่ต่ำกว่า 1000 มก. ร่วมกับวิตามินดีไม่ต่ำกว่า 400 หน่วยต่อวัน นัยว่าเป็นการป้องกันกระดูกหัก

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อฮอร์โมนเพศหญิงเริ่มลดลง กระดูกจะเริ่มพรุนบางขึ้น ประกาศของสหรัฐอเมริกาผ่านทางวิทยาลัยอายุรแพทย์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2013 ที่ผ่านมา (US Preventive Service Task Force : วารสาร Annals of Internal Medicine) ไม่สนับสนุนให้เสริมแคลเซียม ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวิตามินดี ด้วยก็ตาม

เนื่องจากเมื่อทำการติดตามสตรีวัยทองจำนวน 36,282 ราย อายุระหว่าง 50 ถึง 79 ปี อัตราหักไม่ว่าจะเป็นกระดูกสะโพกหรือกระดูกส่วนอื่นๆก็ตาม ไม่ต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้หรือไม่ได้รับแคลเซียม-วิตามินดี คนที่อาจสมควรได้เสริมจะเริ่มตั้งแต่สตรีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยที่ควรมีความเสี่ยงของการหกล้มลุกคลุกคลานมาก

การได้รับแคลเซียม-วิตามินดี จะมีความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะในอัตรา 1 ต่อ 273 ราย เมื่อเสริมต่อเนื่องไปนาน 7 ปี

สำหรับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกซึ่งทำกันเป็นประจำ ในรายงานเดียวกันระบุให้ทำในสตรีตั้งแต่อายุ 65 และในผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องทำในอายุน้อยกว่านั้น ยกเว้นแต่ว่าเคยมีกระดูกหักง่าย แม้ถูกกระแทกเบาะๆ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ หรือมีบิดามารดาที่มีกระดูกสะโพกหัก ดื่มจัด สูบหนัก หรือใช้ยาสเตียรอยด์ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับกาแฟนะครับที่เชื่อกันนักกันหนาว่าทำให้กระดูกพรุน


คนที่กระดูกบางเล็กน้อยแล้วเริ่มโหมกระหน่ำแคลเซียม วิตามินดี จากที่หมอให้ หรือซื้ออาหารเสริมกินเติมกระหน่ำเพิ่มอีกด้วย มีโอกาสเกิดแคลเซียมสูงในเลือด และอาจมีผลต่อหัวใจเต้นผิดปกติจนหัวใจหยุด กล้ามเนื้ออ่อนล้า มีอาการทางจิตประสาท ซึมเศร้า กังวล และอาจรุนแรงจนถึงมีภาพหลอน ซึม ไม่รู้ตัว โดยอาจมีอาการนำมาก่อน เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

รายงานที่สำคัญล่าสุด 2 ชิ้น ในวารสารสมาคมแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal 29 กันยายน 2015) ไม่พบหลักฐานว่าการเสริมแคลเซียมเพิ่มเติมจากที่ควร ซึ่งอยู่ในปริมาณ 700-800 มก./วัน ไม่ว่าจากในอาหารหรือการกินเป็นยา อาหารเสริมทั้งร่วมหรือไม่ร่วมกับวิตามินดี ทำให้กระดูกหนาขึ้นหรือป้องกันกระดูกหัก

รายงานแรกวิเคราะห์ทั้งผู้ชายและผู้หญิงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปจำนวน 1,533 คนที่ได้แคลเซียมเพิ่มเติมจากอาหาร (จากการศึกษา 15 ชิ้น) และจำนวน 12,257 คนที่ได้รับเพิ่มจากยาหรืออาหารเสริม (จากการศึกษา 51 ชิ้น) การวัดความหนาแน่นของกระดูกที่สะโพกและทั้งตัว 1 ปีหลังได้แคลเซียมจากอาหารมีการเพิ่มขึ้น 0.6-1% และเมื่อผ่านไป 2 ปี เพิ่มขึ้นจากเริ่มแรก 0.7-1.8% ที่สะโพก และทั้งตัว ที่กระดูกสันหลังระดับเอวและกระดูกโคนขาส่วนคอ แต่ไม่มีผลที่กระดูกแขน

กรณีที่ได้แคลเซียมเป็นยา หรืออาหารเสริม อัตราการเพิ่มความหนาแน่นยังอยู่ที่ 0.7–1.8% ไม่ว่าจะวัดที่ตำแหน่งใดก็ตาม หลังจากใช้ไป 1 ปี หรือมากกว่า 2 ปีครึ่งก็ตาม โดยสรุปความหนาแน่นไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มน้อยมาก และไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่กิน

นอกจากนั้นผลที่ได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะกินอาหารที่มีแคลเซียมเพิ่มในระดับสูงมาก หรือระดับต่ำลงมาบ้าง ผลที่ได้ก็ยังไม่ต่างกัน เมื่อกินแคลเซียมที่เป็นในรูปของยาในขนาดต่ำ หรือสูงมีหรือไม่มีวิตามินดีก็ตาม

รายงานถัดมาประเมินว่าแคลเซียมที่ได้เพิ่มขึ้นจากอาหาร นม หรือเป็นยาทั้งที่มีหรือไม่มีวิตามินดีจะมีผลต่อการหักของกระดูกหรือไม่ พบว่าไม่สามารถป้องกันกระดูกหักได้ในกลุ่มที่ศึกษา คือในคนอายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 44,505 ราย

บทบรรณาธิการในวารสารฉบับดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตถึงภาวะที่จะเกิดโรคกระดูกผิดปกติว่า เกิดจากหลายสภาวะ ทั้งปริมาณแคลเซียมที่ได้รับและระดับวิตามินดีในเลือด แม้ระดับวิตามินในเลือดน้อยก็ไม่จำเป็นที่กระดูกต้องผิดปกติ และแม้ปริมาณที่แคลเซียมที่ได้รับในแต่ละวันอาจไม่มาก แต่ถ้าระดับวิตามินในเลือดยังดีก็ยังไม่เป็นไร ทั้งนี้ยังมีตัวแปรอื่นๆที่ปรับสมดุลของกระดูกโดยไม่ขึ้นกับ 2 ปัจจัยนี้ ทั้งนี้ การวัดระดับวิตามินในเลือดในคนอายุมากกว่า 50 ปี จำเป็นหรือไม่


รายงานใหญ่ทั้ง 2 ชิ้นที่ได้นี้ ผลตรงกันกับที่ทางสหรัฐฯรายงานมาก่อนและเป็นคำแนะนำในปี 2013 ทั้งนี้การได้แคลเซียมจากอาหารตามปกติ ตามธรรมชาติ ในขนาดวันละ 700-800 มิลลิกรัม ที่เป็นมาตรฐานในประเทศอังกฤษและในประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน) น่าจะเพียงพอโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณไปจนถึง 1200 มก. และยังต้องเสริมด้วยวิตามินดีอีกในขนาด 800-1000 หน่วยในผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่แคลเซียมปริมาณมากกว่า 800 มก.นี้ จะได้จากอาหารอย่างเดียว

และนอกจากนั้นการเสริมแคลเซียมในขนาดมากขึ้นจากที่ประจักษ์ในรายงานล่าสุดนี้ก็ดูจะไม่ช่วยกระดูกให้หนาแน่นขึ้น หรือป้องกันกระดูกหัก และอาจมีปัญหาเพิ่มเรื่องท้องผูก นิ่วในไต ระบบทางเดินอาหารแปรปรวนหรือแม้แต่โรคหัวใจดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น ประโยชน์ของวิตามินดี เช่น ดี 3 (D3) ว่าจะช่วยป้องกันโรคแทบทุกชนิด ทั้งสมองเสื่อม สมองอักเสบ (multiple sclerosis) โรคหัวใจ และอีกมากมาย อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัด เป็นเหตุเป็นผลกันนัก

จบเอาดื้อๆนะครับ ว่าหมอดื้อคนเขียนเป็นเพียงอายุรแพทย์และแพทย์ทางสมองธรรมดา แต่เรื่องกระดูกกระเดี้ยวเหล่านี้เป็นประเด็นที่หมอทุกคนควรมีความรู้อยู่บ้าง แม้จะไม่ได้เชี่ยวชาญกระดูกโดยตรงก็ตาม แต่จำเป็นต้องสื่อสารพอสมควรกับคนไข้และครอบครัว บทความนี้สรุปและเล่าให้ฟังตามรายงานทางการแพทย์ตรงไปตรงมา ถ้ามีปัญหาหรือไม่เห็นด้วย กรุณาส่งจดหมายไปยังวารสารของสหรัฐฯหรือของอังกฤษโดยตรงเลยนะครับ.

หมอดื้อ

แคลเซี่ยม
//thairath.co.th/content/532954

คัดลอกจากเฟศ อ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
https://www.facebook.com/thiravat.hemachudha/posts/10153734331091518



โดย: หมอหมู วันที่: 18 ตุลาคม 2558 เวลา:22:05:33 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]