Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ตาปลา



ตาปลา

ตาปลา ก็คือ ผิวหนังที่ด้านหนาขึ้น เนื่องจากถูกแรงกดหรือแรงเสียดสี เป็นเวลานานๆ

มักเกิดบริเวณที่มีปุ่มกระดูกนูน ตำแหน่งที่พบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณฝ่าเท้า และ นิ้วเท้า



สาเหตุ

ที่พบได้บ่อยคือการใส่รองเท้าคับแน่น ไม่เหมาะกับเท้า หรือ ลักษณะการเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้า หรือ นิ้วเท้า

ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็งเป็นก้อน ขึ้นมารองรับแรงกดที่จุดนั้นแทนเนื้อเยื่อธรรมดา และเมื่อเดินบ่อย ๆ เข้าก้อนแข็งนี้จะถูกกดลงลึกลงไปในผิวหนังมากขึ้น เมื่อเดินก็จะทำให้จะเจ็บมาก


อาการ

ผิวหนังส่วนที่เป็นตาปลา จะด้านหนา หรือเป็นไตแข็ง ถ้าตาปลามีขนาดใหญ่ อาจจะเจ็บได้เวลาใส่รองเท้า

ตาปลาอาจมีลักษณะคล้ายหูด ต่างกันที่ถ้าใช้มีดฝาน หูดจะมีเลือดไหลซิบ ๆ แต่ตาปลาจะไม่มีเลือดออก



การรักษา

1) ควรเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับหรือบีบแน่นเกินไป และ ใช้ฟองน้ำรอง ส่วนที่เป็นตาปลาเอาไว้เวลาใส่รองเท้าเพื่อลดแรงเสียดสี ตาปลาที่เป็นไม่มากมักจะค่อยๆหาย ไปได้เองในเวลาหลายสัปดาห์ ถ้ามีรูปเท้าหรือกระดูกผิดรูป อาจต้องใส่รองเท้าที่ตัดขิ้นมาเฉพาะเพื่อลดแรงกดที่บริเวณกระดูก

2) ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกขนาด 40%W/W ปิดส่วนที่เป็นตาปลา ปิดทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน ดึงพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าหรือบริเวณที่เป็นในน้ำอุ่นให้นานพอสมควร ตาปลาจะค่อย ๆ ลอกหลุดไป ถ้ายังลอกหรือหลุดไม่หมดให้ทำซ้ำ

3) ใช้ยากัดตาปลาซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสม มีชื่อทางการค้า เช่น คอลโลแมก(Collomack), ดูโอฟิล์ม (Duofilm), ฟรีโซน (Free zone) ก่อนทายาให้แช่ตาปลาด้วยน้ำอุ่น แล้วใช้ตะไบเล็บ หรือผ้าขนหนูขัดบริเวณตาปลา เพื่อช่วยทำให้ผิวหนังขุย ๆ หลุดออกไป แล้วทาวาสลินรอบผิวหนังข้าง ๆ บริเวณตาปลา เพื่อป้องกันยากัดผิวหนังบริเวณผิวหนังปกติ เสร็จแล้วทายาตรงจุดตาปลา ทายา วันละ 1- 2 ครั้ง ตาปลาจะค่อย ๆ ลอกหลุดไป ทายาจนกว่าตาปลาจะลอกหลุดหมด

4) การผ่าตัด

5) การจี้ด้วยไฟฟ้า




ข้อแนะนำ

1) ควรแก้ไขที่สาเหตุ คือ ลดแรงเสียดสี โดยเลือกใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า

2) ถ้าไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัด หรือจี้ด้วยไฟฟ้า เพราะจะทำให้เกิดแผลเป็น และเจ็บเวลาที่ลงน้ำหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นที่บริเวณส้นเท้า

3) ห้ามใช้มีด หรือของมีคมเฉือน เพราะอาจทำให้แผลอักเสบและบวมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

ตาปลาเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในบุคคลทั่วไป และ เป็นโรคที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้น ในผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งถ้าเป็นตาปลาแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจมีการอักเสบรุนแรงกลายเป็นแผลติดเชื้อ หรือ อาจจะถึงกับต้องตัดขา ก็ได้




 

Create Date : 09 มิถุนายน 2551   
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 19:32:25 น.   
Counter : 65383 Pageviews.  

เลือดออกไต้เล็บ ( ห้อเลือด )



เลือดออกไต้เล็บ ( ห้อเลือด ) ( Subungual hematoma )



พบได้บ่อย โดยเฉพาะ นิ้วหัวแม่เท้า นิ้วหัวแม่มือ

สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากอุบัติเหตุ ถูกกระแทก ถูกหนีบ หรือ ของหนักตกใส่เล็บ บางรายอาจพบ จากการเดินวิ่งนาน ๆ ร่วมกับ ใส่รองเท้าที่คับเกินไป

อาการจะแตกต่างกันได้มาก อาจเป็นแค่ ปวดรำคาญ ไปจนถึง ปวดรุนแรง ที่บริเวณเล็บ โดยเฉพาะเมื่อสวมรองเท้าก็จะมีอาการปวดมากขึ้น

เล็บ จะมี สีเขียวคล้ำ เนื่องจาก มีเลือดอยู่ใต้เล็บ

ถ้ามีรอยเขียวช้ำไต้เล็บ มากกว่า ครึ่งหนึ่งของพื้นที่เล็บทั้งหมด อาจพบมี กระดูกปลายนิ้ว แตกหัก ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจ และ เอกซเรย์กระดูกนิ้ว



แนวทางรักษา

• ในกรณีที่ ปวดไม่มาก หรือ มีเลือดออกไต้เล็บ น้อยกว่า 50% ของพื้นที่เล็บ

รับประทานยาพาราเซ็ตตามอล หรือ ยาแก้ปวดลดการอักเสบ และ ยกเท้าสูง

แช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15 - 20 นาที หรือ ใช้ครีมทาแก้ปวด

ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเล็บงอกขึ้นมาใหม่ แทนที่ รอยคล้ำ ๆ ก็จะหายไปเอง


• ถ้าอาการปวดบวมมากขึ้น หรือ มีเลือดออกไต้เล็บ มากกว่า 50% ของพื้นที่เล็บ

อาจใช้ เข็มเจาะ หรือ ใช้ลวดหนีบกระดาษลนไฟและจี้ที่เล็บให้เป็นรู เพื่อระบายเลือดให้ออกมาข้างนอก

บางรายอาจพบว่ามีเนื้อเยื่อไต้เล็บ ฉีกขาดมาก ต้องผ่าตัดเย็บซ่อม ด้วย

ถ้าพบมีกระดูกแตกหัก จะต้องใส่อุปกรณ์พยุงข้อไว้ 2 – 4 อาทิตย์

การผ่าตัดถอดเล็บออกทั้งหมด ในกรณีที่เป็นมาก แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรใช้วิธีถอดเล็บ เพราะจะทำให้ เล็บที่งอกใหม่ผิวไม่เรียบ นิ้วเท้าผิดรูป และ เกิดอาการปวดปลายนิ้วเท้าได้







แถม อีกกระทู้

ประตูหนีบนิ้ว ทำไงดีครับหมอ -=Byหมอแมว=-

https://topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2009/02/L7559003/L7559003.html




 

Create Date : 09 มิถุนายน 2551   
Last Update : 31 กรกฎาคม 2561 2:08:42 น.   
Counter : 62398 Pageviews.  

เล็บขบ ( Ingrown Nail )



เล็บขบ ( Ingrown Nail )

พบได้บ่อย โดยเฉพาะ นิ้วหัวแม่เท้า

สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม และ การตัดเล็บที่ไม่ถูกวิธี อาจพบได้ในผู้ที่มีลักษณะเล็บผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจาก อุบัติเหตุ การติดเชื้อราที่เล็บ หรือ การที่มีเนื้อด้านข้างของเล็บมากเกินไป

อาการจะแตกต่างกันได้มาก อาจเป็นแค่ ปวดรำคาญ ไปจนถึง ปวดรุนแรง ที่บริเวณขอบเล็บ โดยเฉพาะเมื่อสวมรองเท้าก็จะมีอาการปวดมากขึ้น และ ถ้าเป็นอยู่หลายวันหรือจนกระทั่งแผ่นเล็บกดทะลุชั้นหนังกำพร้า ก็จะมีการอักเสบติดเชื้อตามมา ทำให้มีลักษณะปวดบวมแดงร้อน ไปจนถึงมีน้ำเหลืองและกลายเป็นหนองได้



แนวทางรักษา

• ในกรณีที่เริ่มเป็น หรือเป็นไม่มาก

รับประทานยาพาราเซ็ตตามอล หรือ ยาแก้ปวดลดการอักเสบ และ ทำความสะอาดขอบเล็บ

แช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15 - 20 นาที แล้วสอดก้อนสำลีขนาดเล็ก ๆ ไว้ใต้แผ่นเล็บตรงมุมด้านที่เป็น เพื่อลดการกดของแผ่นเล็บ

ตัดขอบเล็บที่กด เพื่อบรรเทาอาการปวด



• ถ้าอาการปวดบวมมากขึ้น หรือ มีการติดเชื้อเป็นหนอง หรือ ในผู้ที่เป็น ๆ หาย ๆ มานาน

รับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาฆ่าเชื้อ และ ทำความสะอาดขอบเล็บ

ผ่าตัดขอบเล็บออกบางส่วน แล้วตัดเล็บส่วนที่กดเนื้อขอบเล็บออก (ประมาณ 20 % ของแผ่นเล็บ) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เล็บยังดูเหมือนกับเล็บปกติ

ผ่าตัดถอดเล็บออกทั้งหมด ในกรณีที่เป็นมาก แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรใช้วิธีถอดเล็บ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เล็บที่งอกใหม่ผิวไม่เรียบ นิ้วเท้าผิดรูป และ เกิดอาการปวดปลายนิ้วเท้าได้




การป้องกัน

ดูแลเล็บให้แห้ง และ สะอาด ก็จะช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคที่อยู่ในซอกเล็บ

ถ้าเล็บแข็งและตัดยาก อาจแช่ในอ่างน้ำอุ่นก่อนประมาณ 15 - 20 นาที จะช่วยทำให้เล็บนิ่มลงและตัดง่ายขึ้น

ตัดเล็บเท้า ในแนวตรง ไม่ควรตัดเล็บเป็นแนวโค้งเข้าไปลึก ๆ

ไม่ควรสวมรองเท้าคู่เดียวตลอดทุกวัน ควรจะมีอีกคู่ ใส่สลับกัน ทุก 2-3 วัน เพื่อลดความอับชื้น


ใส่รองเท้าที่เหมาะสม เช่น
ขนาดไม่คับแน่นเกินไป
รองเท้าที่มีปลายรองเท้ากว้าง พอที่ให้นิ้วเท้าขยับเคลื่อนไหวได้บ้าง
หลีกเลี่ยงใส่รองเท้าปลายแหลมเพราะจะทำให้นิ้วเท้าถูกบีบมากเกินไป
รองเท้าไม่มีส้น หรือ ส้นสูงไม่เกิน 1 นิ้ว เพราะถ้าใส่ส้นสูงเกินไป จะทำให้น้ำหนักไปลงที่ปลายเท้ามากขึ้น ก็จะทำให้เกิดแรงกดที่เล็บและขอบเล็บมากขึ้น
รองเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือ รองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น รองเท้าผ้าใบ รองเท้าทำจากหนังสัตว์





 

Create Date : 09 มิถุนายน 2551   
Last Update : 4 มีนาคม 2565 14:55:56 น.   
Counter : 70938 Pageviews.  

รองเท้า ใครคิดว่าไม่สำคัญ



รองเท้า ใครคิดว่าไม่สำคัญ

เราสวมรองเท้าเพื่อปกป้องเท้าไม่ให้ได้รับอันตราย แต่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ขนาดไม่พอดี นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบายขณะสวมใส่แล้ว ยังอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือผิดรูปของเท้าตามมาได้

สิ่งที่ต้องพิจารณาซึ่งสำคัญยิ่งกว่าความสวยงาม คือ รูปทรงของรองเท้าที่เข้าได้กับเท้า ซึ่งจะให้ความรู้สึกสบายขณะสวมใส่ และไม่เกิดผลเสียต่อเท้า

เมื่อจะซื้อรองเท้า ให้คิดไว้ว่า “เลือกรองเท้าให้ใส่พอดีกับเท้า ไม่ใช่ ใส่เท้าให้พอดีกับรองเท้าที่เลือก"


ข้อแนะนำในการเลือกซื้อรองเท้า


• ในการวัดขนาดเท้าควรวัดทั้งสองข้าง เนื่องจากขนาดเท้าแต่ละข้างอาจจะไม่เท่ากัน

• ควรวัดขนาดเท้าในช่วงเย็น และควรวัดขนาดเท้าในท่ายืน เพราะเท้าจะขยายออกมากกว่าปกติ

• ควรเลือกซื้อรองเท้าที่มีขนาดกว้าง ยาว พอดีกับเท้า โดยเหลือพื้นที่ส่วนปลายเท้าไว้เล็กน้อย เพราะถ้าเหลือ ที่ว่างมากเกินไป เท้าก็จะเลื่อนได้มาก ทำให้มีการเสียดสีกับรองเท้า ซึ่งจะเกิดเป็นแผล หรือมีผิวหนังพองได้

• ส่วนหลังของรองเท้าควรกระชับพอดีกับส้นเท้า ตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีการเลื่อนหลุดของส้นเท้าเวลาเดิน

• ใส่รองเท้าแล้วลองเดิน เพื่อให้แน่ใจว่าสวมได้พอดี และรู้สึกสบาย จริง ๆ

• ควรวัดขนาดเท้าทุกครั้งที่ซื้อรองเท้า เพราะขนาดเท้าอาจเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเวลาผ่านไป

• ไม่ควรเลือกรองเท้าโดยดูที่เบอร์อย่างเดียว เพราะรองเท้าแต่ละยี่ห้อเบอร์เดียวกันขนาดอาจไม่เท่ากัน

• ควรเลือกซื้อรองเท้าที่สวมได้พอดี และเข้าได้กับรูปเท้ามากที่สุด ถ้าลองแล้วรู้สึกว่าคับเกินไปก็ไม่ควรซื้อมาใส่ โดยคิดว่าเมื่อใส่ไปนาน ๆ แล้วมันอาจขยายออกมาจนพอดี เพราะว่าเท้าจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสียก่อน




รองเท้าสตรี

รองเท้าที่ดี ควรมีส่วนหัวของรองเท้ากว้าง และ ส้นไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้วฟุต

รองเท้าส้นสูงที่มีส่วนหัวของรองเท้าแคบเรียว ทำให้นิ้วเท้าถูกบีบเข้ามาหากันมาก และน้ำหนักจะไปลงที่บริเวณปลายเท้า แทนที่จะลงที่บริเวณส้นเท้าตามปกติ

ถ้าส้นรองเท้ายิ่งสูง น้ำหนักก็จะยิ่งลงไปยังส่วนปลายเท้ามากขึ้น จึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย หรือ ทำให้มีนิ้วเท้าผิดรูป เช่น ตาปลา ข้อนิ้วหัวแม่เท้าเก เป็นต้น


รองเท้าบุรุษ

รองเท้าที่ดีควรมีรูปทรงเข้าได้พอดีกับรูปเท้า โดยที่ส่วนหัวของรองเท้ามีพื้นที่เหลืออยู่เล็กน้อยพอให้นิ้วเท้าขยับได้บ้าง และ ส้นรองเท้าไม่สูง (โดยทั่วไปจะสูงประมาณครึ่งนิ้วฟุต)


รองเท้ากีฬา

จุดมุ่งหมายในการออกแบบรองเท้ากีฬาก็เพื่อปกป้องเท้าของนักกีฬาจากแรงเค้นภายนอกที่มากระทำต่อเท้า และเพื่อให้เกิดแรงเสียดทานระหว่างพื้นรองเท้ากับพื้นสนามมากพอ ที่จะทำให้เล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ไม่เกิดอุบัติเหตุ

รองเท้าสำหรับกีฬาแต่ละประเภทจะถูกออกแบบมาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง น้ำหนัก วัสดุที่ใช้ หรือ ลักษณะการผูกเชือก ดังนั้นในการใช้รองเท้ากีฬาจึงควรเลือกให้เหมาะสมกับกีฬา แต่ละประเภท


สุขภาพเท้า ในผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุ เท้าก็จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยมักจะกว้างออก และ มีไขมันที่ช่วยป้องกันการกระทบกระแทกในบริเวณฝ่าเท้า ลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของกระดูกและ เส้นเอ็น อันเนื่องจากน้ำหนักตัวด้วย

จึงควรวัดขนาดรองเท้าบ่อย ๆ ปัญหาที่เกิดเนื่องจาก ผิวหนังที่แห้ง และ เล็บที่ฉีกขาดง่าย ก็พบได้บ่อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้พบได้มากขึ้นในผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูง โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4 เท่า



ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพเท้า


การเดินเป็นการบริหารที่ดีที่สุดสำหรับเท้า

ถุงเท้า ควรจะมีขนาดที่พอดี ใส่แล้วไม่มีรอยย่น และ ควรเป็นแบบที่ไม่มีตะเข็บ หรือ รอยเย็บ

ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำอุ่นและใช้สบู่อ่อน ๆ อาจจะผสม moisturizer ลงไปด้วยหรือใช้ moisturizer หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว

ตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรง

คอยสังเกตเท้า ทุก ๆ วัน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีสีแดงขึ้น บวม ผิวหนังแห้งแตก หรือ รอยฟกช้ำ ควรปรึกษาแพทย์



รองเท้าสำหรับเด็ก

เด็กเล็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องใส่รองเท้าจนกว่าจะเริ่มเดิน ซึ่งทั่วไปก็ประมาณอายุ 12 ถึง 15 เดือน

ในช่วงที่ยังไม่เดิน การสวมถุงเท้าอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะช่วยให้ความอบอุ่นแก่เท้าหรือปกป้องเท้าไม่ไห้ได้รับอันตรายขณะคลาน

เมื่อเด็กเริ่มยืนหรือเดิน รองเท้าจะเป็นสิ่งจำเป็นและดีที่สุดในการป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นกับเท้า การสวมถุงเท้าจะช่วยลดอาการระคายเคืองจากการที่เท้าสัมผัสกับรองเท้าโดยตรง

สำหรับเด็กวัยหัดเดิน ควรให้เด็กได้เดินด้วยเท้าเปล่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะการเดินด้วยเท้าเปล่าจะทรงตัวได้ง่าย แต่หากพาออกไปนอกบ้าน ก็ควรที่จะให้มีรองเท้าเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งต่างๆ

ข้อแนะนำในการเลือกรองเท้าเด็ก

หัวรองเท้า ควรยาวกว่านิ้วเท้าของเด็กอย่างน้อยครึ่งนิ้ว บริเวณส่วนหัวของรองเท้าควรมีพื้นที่เหลือพอที่ จะให้นิ้วเท้าขยับได้ และเผื่อไว้สำหรับเท้าที่จะเจริญเติบโตขึ้นอีก (เท้าจะยาวขึ้นประมาณ ครึ่งนิ้วฟุตใน 3 - 6 เดือน)

พื้นรองเท้า ควรมีความยืดหยุ่นดี น้ำหนักเบา และไม่ลื่น พื้นรองเท้าควรจะเรียบกว้างและแข็งแรง ซึ่งเมื่อเด็กสวมรองเท้า และเขย่ง รองเท้าจะโค้งตามรูปเท้า พื้นรองเท้าด้านใน ควรบางแต่นุ่มนวล และยืดหยุ่นได้ดีไม่แข็งกระด้าง ถ้าพื้นผิวด้านในอ่อนนิ่มหรือฟูหนาจนเกินไป จะทำให้นิ้วเท้าของเด็กจมลงไปมาก ทำให้เด็กเดินลำบากขึ้น

สายคาด ควรเป็นแบบที่ สามารถเลื่อนเข้าเลื่อนออกให้กระชับพอดี กับขนาดเท้าได้ง่าย

รองเท้าหัวป้านจะช่วยให้นิ้วเท้าไม่ถูกบีบ และจะไม่เจ็บเท้าเมื่อต้องใส่รองเท้าเป็นเวลานาน

คุณภาพของฝีมือในการตัดเย็บ จะต้องประณีต ตะเข็บต้องไม่หนา และไม่กดรัดนิ้วเท้า ควรหลีกเลี่ยง รองเท้าที่เป็นพลาสติก เพราะพลาสติกจะไม่ปรับรูปร่างให้เข้ากับเท้า

ควรเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ให้กับลูกเมื่อเห็นว่ารองเท้านั้นคับเกินไป โดยอาจสังเกตจากขณะยืนสวมรองเท้า นิ้วเท้าแตะโดนด้านในของหัวรองเท้า มีรอยกดของรองเท้า ทำให้เท้าบวมหรือแดงเป็นรอย




 

Create Date : 09 มิถุนายน 2551   
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 18:08:30 น.   
Counter : 3457 Pageviews.  

ภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรี


ทันโลก ทันเหตุการณ์ กับแพทยสภา ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2551
//www.naewna.com/news.asp?ID=109658


ภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรี

โดยปกติแล้วผู้หญิงทุกคน จะมีเลือดออกมาจากมดลูกประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เป็นประจำ หรือที่เรียกว่า ประจำเดือน หรือรอบระดู

จะเริ่มมีเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นประมารณ 9 – 13 ปี และหมดไปเมื่ออายุประมาณ 48 – 52 ปี

ประจำเดือนจะมาประมาณ 3 – 5 วัน ไม่เดิน 7 วัน ใช้ผ้าอนามัยประมาณ 3 – 4 แผ่น มักจะมากมากในวันที่ 2 ของรอบเดือน

บางคนอาจจะมีอาการปวดท้อง เรียกว่าปวดระดู บางคนอาจจะไม่มีอาการปวดเลย บางคนอาจจะปวดมาก

ถ้าผิดจากนี้อาจจะเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ ผู้หญิงทุกคนควรจะหมั่นสังเกตุรอบเดือนของตนเองอยู่เสมอและจะต้องมีการบันทึกในปฏิทินทุกวันว่าวันไหนมีรอบเดือนมาวันไหนมีรอบเดือนน้อย วันไหนกินยาคุมกำเนิด วันไหนกินยาฮอร์โมน หมั่นคอยจดบันทึกไว้เผื่อเวลาเกิดผิดปกติจะได้นำปฏิทินไปยื่นต่อแพทย์ให้ดูไ ด้



ทำไมต้องมีประจำเดือน และประจำเดือนคืออะไร

เพราะว่าผู้หญิงเป็นเพศที่รับหน้าที่ในการตั้งครรภ์ ผนังมดลูกด้านในเป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อน ในแต่ละเดือนจะมีการสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ชื่อเอสโตรเจน ฮอร์โมนจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น

ในช่วงครึ่งแรกของรอบเดือน รอบเดือนหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 28 วัน แยกเป็น 2 ช่วงๆแรกเรียกว่าระยะโปรริเฟอเรทีปเฟส ครึ่งหลังเรียกว่าซิเครทอรีเฟส

นอกจากรังไข่จะสร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้โพรงมดลูกหนาขึ้นแล้ว ยังทำหน้าที่สร้างไข่เพื่อผสมกับอสุจิ โดยจะมีไข่ตกประมาณกลางรอบเดือนซึ่งอยู่ระหว่างระยะแรกกับระยะที่สอง ระหว่างนั้นไข่จะรออสุจิได้หนึ่งวัน

หากมีการผสมกับอสุจิ กลายเป็นตัวอ่อนที่บริเวณท่อนำไข่ และตัวอ่อนจะเดินทางมาฝังตัวในโพรงมดลูกประมาณวันที่ 21 ของรอบเดือน

หลังจากไข่ตก รังไข่จะสร้างฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งชื่อ โปรเจสเทอโรน เพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะของเยื่อบุโพรงมดลูก แตกต่างจากช่วงแรกของรอบเดือน เพื่อให้มีสภาพเหมาะสมที่จะรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน

แต่ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ หรือไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัวในระยะเวลาดังกล่าว ฮอร์โมนทั้งสองชนิดที่สร้างจากรังไข่จะลดน้อยลง และมีการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก หลังจาก 28 วันกลายเป็นประจำเดือน

วันแรกที่ประจำเดือนมานับเป็นวันที่หนึ่งของรอบเดือน การที่กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวเพื่อไล่เลือดประจำเดือนจะทำให้มีอาการปวดบ้าง วันที่ 14 ของรอบเดือนซี่งเป็นวันไข่ตก จะมีสารน้ำเล็กน้อย ระคายเคืองในช่องท้องจนทำให้มีอาการปวดท้องได้ ประมาณ 1- 2 วัน

อาจมีมูกเหนียวๆชุ่มในช่องคลอดได้ในบางคนซึ่งไม่ถือว่าเป็นตกขาวผิดปกติ บางคนอาจมีเลือดออกเล็กน้อยในระยะไข่ตก ทำให้รู้สึกว่ามีประจำเดือนมาเดือนละ 2 ครั้ง กรณีดังกล่าวยังถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่ถ้าไม่เคยเป็นประจำ อยู่ๆมีระดูมาเดือนละ 2 ครั้งอาจจะเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติได้

ภาวะเลือดออกผิดปกติ คือ ภาวะที่มิใช่เป็นภาวะที่เกิดจากการมีประจำเดือนปกติ

อาจเกิดจากภาวะของฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติหรือเกิดจากภาวะจิตใจผิดปกติเช่นความเครียด บางรายอาจจะมีพยาธิสภาพเช่นมีการติดเชื้อโรค เป็นเนื้องอก หรือมะเร็งในอวัยวะสืบพันธ์สตรี มีการบาดเจ็บในบริเวณดังกล่าวหรือมีโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคเลือดบางชนิด หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์

ประจำเดือนที่ผิดปกติอาจจะอยู่ในภาวะที่ประจำเดือนไม่มา มาน้อย มามาก มาบ่อย ไม่ค่อยมา หรือมาไม่หยุด หรือมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง

อารมณ์ ความเครียด สุขภาพจิตที่ผิดปกติ สภาพร่างกายที่อ่อนแอ หรือเจ็บป่วย หรือมีโรคทางกายอื่นๆที่มีผลกระทบต่อการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ ทำให้ประจำเดือนผิดปกติได้ ประจำเดือนจะมาปกติเมื่อสาเหตุและปัญหาต่างๆเหล่านี้หายไป บางรายอาจต้องใช้วิธีการรับประทานฮอร์โมน เพื่อปรับประจำเดือน แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อกำหนดวันที่เริ่มกินยาได้ถูกต้อง

ไม่ควรไปซื้อยามารับประทานเอง เช่นยาแผนโบราณ หรือยาสตรีทั้งหลาย หรือแม้แต่ยาคุมกำเนิดที่ซื้อมารับประทานเองเพราะอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้มีประจำเดือนผิดปกติได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่มีประจำเดือนผิดปกติ ไม่ควรนึกถึงเฉพาะที่เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนเท่านั้น ควรไปพบกับสูตินรีแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุอื่นที่สำคัญกว่า

ถ้าเป็นการติดเชื้อที่บริเวณปากช่องคลอด บริเวณช่องคลอด หรืออวัยวะในบริเวณอุ้งเชิงกราน แม้จะได้ทำการตรวจรักษาให้ยาฆ่าเชื้อ อาจจะเป็นเชื้อโรคที่มิใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ได้ รายที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งในโพรงมดลูก จะทำให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที ก่อนจะสายเกินไปกลายเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

การตั้งครรภ์ผิดปกติบางครั้งมีการตั้งครรภ์โดยทราบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ อาจจะมีเลือดออกเนื่องจากการแท้งคุกคามหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจากการตั้งครรภ ์ กรณีดังกล่าวอาจทำให้เลือดออกปริมาณมาก จนอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการตั้งนอกมดลูก เลือดจะออกบริเวณช่องท้องจนเสียชีวิต

ยาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือดออกผิดปกติได้โดยเฉพาะ ยาที่เป็นฮอร์โมน หรือ ยาที่มีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย แม้กระทั่งยาคุมกำเนิดถ้ากินไม่ถูกวิธีจะทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้ ยาฉีดและยาฝังคุมกำเนิดก็เป็นฮอร์โมนที่มีผลกระทบต่อประจำเดือนผิดปกติได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นการที่มีประจำเดือนผิดปกติหรือภาวะเลือดออกผิดปกติ ผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจและปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงและเ พื่อการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายในรวมถึงการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่นอัลตร้าซาวด์ การตรวจเลือดและการตรวจอื่นๆที่จำเป็น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอาจจะมีโรคร้ายบางอย่างที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายท่าน


ด้วยความปรารถนาดี
นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา




--------------------------------------------------------------------------------
--:: แพทย์ .. ::-- ..เพื่อนคนแรก ...
และอาจเป็นเพื่อนคนสุดท้ายของมนุษย์ ...
ช่วยกันดูแลพวกเขาหน่อยเถอะครับ ....
ส่งโดย: 716:16





 

Create Date : 03 มิถุนายน 2551   
Last Update : 3 มิถุนายน 2551 19:06:46 น.   
Counter : 3369 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]