Group Blog
All Blog
### ควบคุมความคิด ###

















"ควบคุมความคิด"

พวกเราควรทุ่มเทเวลาให้กับการภาวนา ดีกว่าทำอย่างอื่น

งานภายนอกทำเท่าไหร่ก็จะไม่จบไม่สิ้น ต้องทำไปเรื่อยๆ

 ต้องบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ

 แต่ใจของพวกเรานี้ถ้าทำให้ดีแล้ว จะดีไปเรื่อยๆ จะไม่เสื่อม

 งานต่างๆภายนอกนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ทำเท่าที่จำเป็น

 จะได้มีเวลามาทำงานที่สำคัญจริงๆ คืองานพัฒนาจิตใจ

 ใจได้รับการพัฒนามากน้อยเพียงไร

 พวกเราก็จะมีความสุขมากน้อยเพียงนั้น

ถ้าใจไม่ได้รับการพัฒนา ก็จะมีแต่ความทุกข์

ความสุขความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เรื่องภายนอก

แต่อยู่ที่ใจที่ได้รับการพัฒนา ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือไม่

ถ้านำธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ใจได้มากเท่าไหร่

ใจจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากเท่านั้น

ยิ่งใจมีความสุขมากเท่าไหร่

 ยิ่งจะเห็นความไม่สำคัญของสิ่งอื่นๆภายนอกมากขึ้นเท่านั้น

เพราะใจสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ โดยไม่ต้องมีอะไรเลย

 แม้แต่ไม่มีร่างกายใจก็ยังอยู่ได้

เช่นเวลาใจเข้าสู่ความสงบเข้าสู่สมาธิ

ตอนนั้นใจกับร่างกายก็แยกออกจากกันชั่วคราว

 ใจไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย และเรื่องต่างๆ

ที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย เหมือนกับไม่มีอะไร

เหมือนกับลอยอยู่ในอวกาศ ไม่มีอะไรมารบกวนใจ

พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

 ใจเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์

 ใจเป็นผู้สร้างความสุขและความทุกข์

และใจเป็นผู้รับผลของความสุขและความทุกข์

เกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจ

ถ้าคิดไปทางสมุทัยก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา

 ถ้าคิดไปทางมรรคก็จะสร้างความสุขขึ้นมา

หน้าที่ของพวกเราจึงอยู่ที่การควบคุมความคิดของพวกเรา

 ถ้าอยากจะมีแต่ความสุขก็ต้องคิดไปในทางมรรค

ถ้าคิดไปในทางมรรคไม่ได้ ก็จะคิดไปในทางสมุทัย

 เพราะใจมีอวิชชาคอยกำกับคอยสั่ง ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง

 ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา

อวิชชาเป็นผู้กำกับให้สังขารคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัย

 พอมีเวทนาก็จะเกิดตัณหาเกิดความอยากตามมา

 ถ้าเป็นสุขเวทนาก็อยากจะให้สุขไปนานๆ

ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อยากจะให้ดับไปเร็วๆ

แต่สุขกับทุกขเวทนามีเหตุมีปัจจัยของเขา

 ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของความอยากของใจ

เช่นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นมา

ใจก็จะอยากให้ทุกขเวทนาทางกายหายไปดับไป

 แต่เขาไม่ดับไปตามความอยาก เพราะเขาเป็นอนัตตา

ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของใจ เขามีเหตุมีปัจจัย

ที่ทำให้เขาเกิดขึ้นมา เช่นยามเจ็บไข้ได้ป่วย

เนื่องจากมีเชื้อโรคทำให้ร่างกายผิดปกติ

 ใจอยากจะให้มันหาย แต่มันก็ไม่หาย

พออยากให้หายก็จะมีความทุกข์ทรมานใจซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

เพราะไม่สามารถห้ามความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง

ถ้าฝึกใจอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย ก็จะไม่ทรมานใจ

เช่นเวลาเกิดความเจ็บปวดขึ้นมาทางร่างกาย

ก็อย่าไปคิดอยากให้หายปวด ด้วยอุบายที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

 เช่นบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ ในขณะที่มีความทุกข์ทรมานใจ

กับความเจ็บปวดของร่างกาย ถ้าบริกรรมพุทโธๆ

 ก็จะควบคุมความคิดไม่ให้คิดในทางสมุทัยได้

 พอไม่คิดอยากจะให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยหายไป

หรือคิดหนีจากความเจ็บไข้ได้ป่วยไป ก็จะไม่ทรมานใจ

 ถ้าไม่สามารถควบคุมความคิดได้ ก็อาจจะคิดฆ่าตัวตายก็ได้

ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง

เพราะความทุกข์ทรมานใจไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย

 แต่อยู่ที่ความคิดปรุงแต่ง ที่ถูกอวิชชาความหลง

ความไม่รู้เรื่องของความทุกข์ของใจ

ว่าเกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจนี้ พาให้คิดฆ่าตัวตาย

 ถ้ารู้ว่าความทุกข์ทรมานใจนี้เราสามารถดับได้

 ด้วยการควบคุมความคิด ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย

หรือให้หยุดคิดชั่วคราว ให้จิตรวมลง ให้เข้าสู่สมาธิ

ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมด

จะเหลือแต่ความเจ็บปวดของร่างกาย

 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ทรมานใจแล้ว

 เป็นเหมือนฟ้ากับดิน เป็น ๑ ต่อ ๑๐๐ เท่า

จะเห็นได้ชัดเลยว่าความเจ็บปวดของร่างกายนี้

ใจสามารถรับรู้ได้อย่างสบาย ถ้าไม่มีความทุกข์ทรมานใจ

ที่เกิดจากความคิดอยากให้ความเจ็บปวดของร่างกายหายไป

 หรือความคิดอยากจะหนีจากความเจ็บปวดนี้ไป

 ถ้าใจนิ่งเฉยๆจะไม่รู้สึกทรมานใจแต่อย่างใด

เพราะเราสามารถยับยั้งความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง

จะปวดก็ปวดไป อยู่ด้วยกันได้

ทำได้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ ๑. ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

เพื่อไม่ให้ใจคิดไปในทางสมุทัย

๒. ให้คิดว่าความเจ็บปวดของร่างกายเป็นเรื่องปกติ

 เป็นเหมือนกับฝนตก ถ้าไม่ได้อยากให้ฝนหยุดตก

 ก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ถ้าอยากจะให้หยุดตก แต่ยังตกอยู่

ใจก็จะกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ไม่สบายใจ

ถ้าคิดไปในทางที่ถูกต้องที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ ใจก็จะสงบ

เขาเป็นอย่างนี้ อย่าไปถามว่าทำไม อย่าไปอยากให้เขาหายไป

 ให้คิดว่าเขาเป็นอย่างนี้ มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดขึ้น

จะอยู่นานหรือไม่นาน ก็เป็นเรื่องของเขา

เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสั่งให้เขาหายไปได้

แต่สิ่งที่เราสั่งให้หายได้ก็คือสมุทัย ที่สร้างความทุกข์ให้แก่ใจ

ถ้าสอนใจให้คิดอย่างนี้ ใจก็จะไม่คิดอยาก

ให้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

 เมื่อไม่มีความคิดที่เป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ใจขึ้นมา

 ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ

อยู่ที่การควบคุมใจด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา

 ที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการควบคุมความคิดปรุงแต่ง

 ให้อยู่ในทำนองคลองธรรม อยู่ในมรรค .

...................................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

กัณฑ์ที่ ๔๑๖ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ ๒๓)

"ความคุมความคิด"











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 ธันวาคม 2558
Last Update : 24 ธันวาคม 2558 9:50:17 น.
Counter : 1047 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ