Group Blog
All Blog
### เครื่องมือกำจัดกามฉันทะ ###
















“เครื่องมือกำจัดกามฉันทะ”

เครื่องมือชิ้นแรกที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้แก่ผู้บำเพ็ญจิตตภาวนา

 ก็คือศีลสังวรณ์หรืออินทรีย์สังวรณ์ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย

 สำรวมกาย วาจา การกระทำทางกาย ทางวาจา

ไม่ให้ออกไปทางเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ไม่ให้ไปทำกิจกรรมหรือกระทำสิ่งที่จะทำให้เกิดโทษ

กับจิตใจและร่างกาย เช่นศีลที่เป็นศีล ๕ก็คือการฆ่าสัตว์

การลักทรัพย์ การพูดปด การเสพสุรายาเมา

 อันนี้เป็นการกระทำที่ถ้าทำแล้ว ก็จะทำให้จิตวุ่นวาย

 มีปัญหามีโทษมีเรื่องมีราวตามมา

 จะทำให้ไม่สามารถที่จะไปบำเพ็ญจิตตภาวนาได้

 นอกจากศีลหลัก ๔ ข้อนี้แล้ว ศีลข้อที่ ๓ ที่ผู้ที่ถือศีล ๕ ถือนั้น

ก็ต้องเปลี่ยนเป็นศีลของผู้ที่ถือศีล ๘

คือแทนที่จะไม่ประพฤติผิดประเวณี

 ก็จะไม่ประพฤติเรื่องการร่วมหลับนอนกันเลย

ให้ถืออะพรัหมะจะริยา เวระมณี ให้ถือศีลพรมหจรรย์

 พรหมไม่เสพกาม พรหมเสพความสงบ

ผู้ที่ต้องการสงบ จะต้องถือศีลพรหมจรรย์คือ

 อะพรัหมะจะริยา เวระมณี ไม่ร่วมหลับนอน ไม่เสพกามกับใครทั้งนั้น

 นี่คือข้อ ๑ ที่จะกำจัดหรือยุติ

การบำเพ็ญกิจกรรมทางกามฉันทะ การเสพกาม

ข้อที่ ๒. ก็คือการรับประทานอาหาร

ต้องควบคุมให้รับประทานเพื่อร่างกายเพียงอย่างเดียว

 ไม่ให้รับประทานเพื่อกามฉันทะ เพื่อความอยาก

ที่จะเสพในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ของอาหาร

ให้รับประทานเพื่ออยู่ เพื่อเลี้ยงร่างกายให้อยู่ไม่เดือดร้อน

ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีความหิวที่จะมารบกวน

การบำเพ็ญจิตตภาวนาให้รับประทานพอประมาณพอให้อยู่ได้ก็พอ

ไม่ต้องถึงกลับอิ่มมากก็พอ ไม่ให้รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว

 และการรับประทานก็ถ้ารับประทานมื้อเดียวได้ก็ยิ่งดี

หรือรับประทานแบบผ่อนอาหารคือไม่รับประทานให้อิ่ม

พอรับประทานไปได้สักพักหนึ่ง พอรู้สึกจะอิ่มก็ให้หยุดทันที

แล้วให้ดื่มน้ำเข้าไปแทน ดื่มน้ำเข้าไปทำให้อิ่ม

 แล้วความอิ่มนี้มันไม่หนักไม่นาน ถ้าอิ่มด้วยอาหารนี้มันจะหนักจะนาน

 จะทำให้เกิดความเกียจคร้าน เกิดความง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมา

 แทนที่จะไปเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ก็จะอยากจะนอน

เวลานั่งสมาธิก็จะนั่งสัปหงก

ผู้ที่บำเพ็ญจิตตภาวนาจำเป็นจะต้องรู้จักประมาณ

ในการรับประทานอาหาร อันนี้คือศีลข้อที่ ๖ ของผู้ที่ถือศีล ๘

แล้วก็ต้องละเว้นการหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

จากพวกมหรสพและเครื่องบันเทิงทั้งหลาย

ไม่ดูภาพยนต์ ไม่ดูลิเก ไม่ดูรำตัด ไม่ดูคอนเสิรต์ ไม่ดูอะไรทั้งนั้น

 ไม่ดูไม่ฟัง ไม่ร้องรำทำเพลง ไม่หาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

แล้วก็ไม่เสริมสวยร่างกายให้สวยงาม

 ให้เพียงแต่ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาดก็พอ

 เช่นอาบน้ำฟอกสบู่เสร็จแล้วก็หวีเผ้าหวีผมให้เรียบร้อย

ถ้ามีผมจะหวี ถ้าไม่มีผมก็สบาย ไม่ต้องหวี เช็ดแป๊บเดียวก็แห้ง

ไม่ต้องไปเสียเวลากับการหาเสื้อผ้าสวยๆงามๆ มาสวมใส่

 เอาเครื่องสำอางมาแต่งหน้าทาปาก

 เอาน้ำมันน้ำหอมต่างๆ มาชะโลมร่างกายเพื่อให้เกิดกลิ่นที่หอม

 สร้างให้เกิดกามารมณ์ขึ้นมา นี่คือศีลข้อที่ ๗

ส่วนศีลข้อที่ ๘ ก็ให้เลี่ยงการหลับนอนมากเกินความจำเป็น

 ร่างกายนี้วันหนึ่งต้องการพักผ่อนหลับนอน

ประมาณ ๔ -๕ ชั่วโมงก็พอ

ถ้าต้องการพักผ่อนร่างกายไม่ให้มากเกินกว่า ๔-๕ ชั่วโมง

 ก็ควรนอนพักผ่อนบนพื้นแข็งๆ อย่านอนบนฟูกหนาๆนิ่ม ๆ

เพราะว่าถ้านอนบนฟูกหนาๆ นิ่มๆ ถ้าร่างกายได้นอนพักผ่อน

 ตื่นขึ้นมาแล้ว จะไม่อยากลุกขึ้นมา เพราะความสบายของที่นอน

ก็เลยทำให้นอนต่ออีก ๓ -๔ ชั่วโมงก็จะเสียเวลาในการบำเพ็ญ

นี่คือหน้าที่ของศีลก็คือยุติการทำกิจกรรมทางร่างกายนั่นเอง

การหาความสุขทางร่างกาย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 เพื่อจะได้เอาเวลาที่ใช้ในการหาความสุขทางร่างกายนี้

มาหาความสุขทางจิตใจ มาบำเพ็ญจิตตภาวนา

นี่คือเครื่องมือชิ้นที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้าได้มอบไว้

ให้กับผู้ที่แสวงหาความสงบ หาความสุขทางจิตใจ

ควรที่จะใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการบำเพ็ญจิตตภาวนา

เครื่องมือชิ้นที่ ๒ ก็คือให้ปลีกวิเวกให้ไปอยู่ที่สงบสงัด

ห่างไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ยั่วยวนกวนใจ

ที่คอยจะฉุกจะลากให้เกิดตัณหา เกิดกามฉันทะ

ความอยากเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เช่นไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขาที่ไม่มีเเสงสีเสียงที่จะคอยรบกวนใจ

 แสงสีเสียงของป่าของเขานี้ จะไม่กระตุ้นให้เกิดกามฉันทะ

 ไม่เหมือนกับแสงสีเสียงของบ้านของเมือง

ที่จะคอยกระตุ้นคอยเขย่าให้ใจนี้ คอยสั่นไปด้วยกามฉันทะ

สั่นไปด้วยกามารมณ์ชนิดต่างๆ นี่ก็คือเครื่องมือชิ้นที่ ๒

 ที่ทรงมอบให้กับผู้บำเพ็ญ

และก็ชิ้นที่ ๓ ก็คือเวลาไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขา

 ถ้ามีกิจกรรมที่จะต้องมาร่วมทำกันก็ให้ทำกันด้วยการไม่คุยกัน

ไม่คลุกคลีกัน ไม่สนทนากัน ต่างฝ่ายต่างมีสติ

จดจ่ออยู่กับภารกิจการงานของตน

เสร็จภารกิจการงานก็ไม่ไปจับกลุ่ม จับเข่านั่งคุยกัน

สนทนาปราศัยเรื่องต่างๆ

 จะคุยกันจะมานั่งฟังกัน ก็เฉพาะเวลาครูบาอาจารย์เรียกประชุม

 เรียกเข้ามาอบรมสั่งสอน ผู้มาก็ตั้งใจฟังเพียงอย่างเดียว

 ไม่สนทนาไม่คุยกันระหว่างที่ครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน

 คืออย่าคลุกคลีกัน ให้แยกกันอยู่ เมื่อไม่มีกิจกรรมที่จะต้องทำ

 เช่นมารับประทานอาหารร่วมกัน

 มาทำความสะอาดสถานที่พักที่อยู่อาศัย หรือมาอาบน้ำอาบท่า

สมัยก่อนพระเณรนี้จะไปอาบน้ำที่บ่อที่สระ เพราะไม่มีห้องน้ำ

 ไม่มีน้ำประปา เวลาไปทำกิจกรรมร่วมกันก็ไม่คุยกัน

 ให้รีบทำกิจกรรมที่จำเป็นจะต้องทำให้เสร็จๆ ไป

เสร็จแล้วก็ให้แยกกันไป ไปเดินจงกรมนั่งสมาธิ

ในสถานที่พักที่ปฏิบัติของตน

เครื่องมือชิ้นสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้

แก่ผู้ที่ปรารถนาที่จะทำใจให้สงบก็คือให้เจริญสติอย่างสม่ำเสมอ

 ตลอดเวลาที่ตื่นยกเว้นเวลาหลับเท่านั้น

 เพราะว่าเวลาหลับนี้ไม่มีสติ ผู้หลับจะไม่มีสติไม่สามารถเจริญสติได้

แต่พอมีความรู้สึกขึ้นมาตื่นขึ้นมาปั๊บให้ตั้งสติทันที

ถ้าใช้พุทโธเป็นเครื่องตั้งสติก็ให้บริกรรมพุทโธๆไป อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะไปทำกิจกรรมอะไร เพราะเวลาตื่นขึ้นมาแล้ว

ก็ต้องไปชำระร่างกาย ไปขับไปถ่ายร่างกาย

ขณะที่ทำกิจเหล่านี้ก็ให้มีสติควบคุมความคิดของตน

 อย่าปล่อยให้จิตคิดไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

คิดไปหาเรื่องที่จะทำให้เกิดกามารมณ์ต่างๆขึ้นมา

ให้ควบคุมสติ ให้จิตอยู่กับเครื่องที่จริญสติ

 ถ้าเป็นพุทธานุสติ ก็บริกรรมพุทโธๆไป

ถ้าเป็นกายคตาสติก็ให้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ดูการกระทำของร่างกายในทุกอริยาบถ

กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังล้างหน้า

กำลังแปรงฟัน กำลังหวีผม กำลังแต่งเนื้อแต่งตัว

ให้อยู่กับภารกิจนั้นๆเพียงอย่างเดียว ไม่ให้คิดไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 เรื่องที่เกิดมาแล้วในอดีตก็ดี เรื่องที่ยังไม่เกิดในอนาคตก็ดี

 ให้ระงับความคิดต่างๆ ไว้ถ้าต้องการทำใจให้สงบ

เรื่องของความคิดต่างๆนี้ต้องรอให้ผ่านขั้นสมาธิไปก่อน

 ต้องให้สามารถควบคุมใจให้เข้าสู่ความสงบได้ก่อน

ให้ใจมีความสุขกับความสงบก่อน

 แล้วถึงค่อยนำเอาใจออกมาคิดในทางปัญญาต่อไป

แต่ในเบื้องต้นนี้อย่าคิดเลย ยิ่งคิดแล้วก็จะยิ่งฟุ้งยิ่งไม่สงบ

 ถ้าคิดว่าใช้ความคิดนี้เป็นปัญญา ก็ต้องพิจารณาดูผล

ว่า แล้วมันเป็นปัญญาอย่างที่คิดหรือไม่ ถ้ามันยังฟุ้งอยู่

ยังควบคุมจิตให้เข้าสู่ความสงบไม่ได้ อันนี้เราไม่เรียกว่าปัญญา

เราเรียกว่าสังขารความคิดปรุงเเต่ง

ดังนั้นผู้ที่จะใช้ความคิดทำใจให้สงบนี้ ต้องดูผลเป็นหลัก

ว่าใช้แล้วได้ผลหรือเปล่า ใช้แล้วจิตรวมเป็นหนึ่ง

เป็นเอกัคคตารมณ์ได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้

ก็ควรจะพิจารณาว่าควรจะใช้แบบที่ครูอาจารย์สอนให้ใช้ไม่ดีกว่าหรือ

 เช่นให้บริกรรมพุทโธๆ หรือถ้าใช้อานาปานสติ

ก็ให้ดูลมหายใจเข้า-ออก ถ้าใช้กายคตาสติ

ก็ให้ดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์

 ถ้าร่างกายมีการเคลื่อนไหว การใช้กายคตาสติก็น่าจะเหมาะสม

หรือถ้ามันไม่ยอมอยู่กับกายคตาสติก็ให้ใช้พุทธานุสติ

บริกรรมพุทโธไปในระหว่างที่ทำกิจกรรมต่างๆ

 ส่วนเวลาที่นั่งเฉยๆ นั่งหลับตาเวลานั้นเป็นเวลาที่เหมาะ

กับการใช้อานาปานสติ เพราะจะสามารถดูลมหายใจ

เข้า-ออกได้อย่างชัดเจน

ถ้าผู้ใช้กายคตาสติ พอเวลานั่งก็มักจะใช้อานาปานสติต่อ

 สำหรับผู้ที่ใช้พุทธานุสติ ก็จะสามารถใช้พุทธานุสติ

เพียงอย่างเดียวได้ตลอดเวลา

ไม่ว่ากำลังทำกิจกรรมทำอะไรต่างๆ ก็พุทโธๆไป

เวลาไม่ได้ทำกิจกรรมเวลานั่งขัดสมาธิหลับตา

 ก็ให้บริกรรมพุทโธต่อไปได้ จิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบได้

นี่คือเครื่องมือต่างๆ ที่พระพุทธเจ้า

ทรงมอบให้แก่ผู้ที่บำเพ็ญจิตตภาวนาเพื่อทำจิตใจให้สงบ

เพื่อทำจิตใจให้สว่างไสวด้วยปัญญา

จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือเหล่านี้ไว้ช่วยในการสนับสนุน

เหมือนกับเวลา ที่เราขับรถแล้วรถเกิดยางแตกขึ้นมา

 เราต้องเปลี่ยนยาง ถ้าเราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ

เราจะไม่สามารถเปลี่ยนยางได้ ถ้าใช้มือเปล่า ๒ มือก็ขันไม่ออก

 จะยกล้อให้ลอยขึ้นมามันก็ไม่มีแรง

แต่ทางบริษัทรถยนต์เขามีเครื่องไม้เครื่องมือมอบติดไว้กับรถ

ในกรณีที่ยางแตก มียางอะไหล่ไว้ แล้วก็แม่แรงไว้

สำหรับยกล้อรถให้ลอยขึ้น แล้วก็มีเครื่องมือ

ที่จะขันน๊อตให้ออกมาได้อย่างง่ายดาย

ขันน๊อตออกมาได้ก็เอายางออกมาได้เปลี่ยนยางได้

 มีแม่แรงก็ยกล้อให้ลอยขึ้นได้ ถ้าล้อไม่ลอยขึ้นมา

 ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนล้อได้ เปลี่ยนยางได้

นี่ก็คือเครื่องมือของทางการเปลี่ยนยางรถยนต์

 เครื่องมือของการทำใจให้สงบก็เช่นเดียวกัน

 จำเป็นจะต้องมีศีลสังวรณ์ มีอินทรีย์สังวรณ์ มีการปลีกวิเวก

 มีการอยู่แบบไม่คลุกคลีกัน

 มีการรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร

 ไม่รับประทานมากจนทำให้เกิดความเกียจคร้าน

เกิดความง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมา เวลานั่งก็สัปหงก

ถ้ามีปัญหาอย่างนี้ ถึงแม้รับประทานเพียงวันละมื้อ

 ก็ยังมีปัญหาอย่างนี้ขึ้นมาได้ ก็จำเป็นจะต้องผ่อนอาหาร

อาจจะทานเพียงครึ่งเดียว จากปริมาณที่เราเคยรับประทานตามปกติ

 ถ้ายังง่วงอยู่ก็อดไปเลย ไม่ต้องรับประทานอาหารสัก ๒ -๓ วันดู

แล้วมันจะทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอนจะทำให้ไม่เกียจคร้าน

 เวลาสั่งให้ไปเดินจงกรม มันก็จะเดินอย่างตัวเบา

 เวลานั่งสมาธิมันก็จะเเข็งเป็นเหมือนท่อนไม้จะหลังไม่งอ คอไม่พับ

จิตจะมีสติรู้อยู่ตลอดเวลา.

...................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๘

“กามคุณ ๕”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




Create Date : 04 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2558 12:44:50 น.
Counter : 1398 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ