'แฮมเบอร์เกอร์' หนึ่งในอาหาร fast food สไตล์อเมริกันที่มีชื่อเสียงที่สุด ด้วยภาพลักษณ์ที่ทานง่าย พกพาสะดวก มีส่วนประกอบของมื้ออาหารที่ครบทั้งเนื้อ แป้ง และผัก แฮมเบอร์เกอร์จึงเป็นเมนูยอดนิยมที่ง่ายและเร็ว เหมาะกับสังคมการทำงานที่มีการแข่งขันสูง
วัฒนธรรมการกินเนื้อบดสืบย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยเจงกิสข่านเรืองอำนาจ ช่วงประมาณศตวรรษที่ 13 ชาวมองโกลจะพกเนื้อสัตว์บดเอาไว้ใต้อานม้า หิวเมื่อไหร่จึงล้วงลงไปหยิบมากิน ทำให้ง่ายและสะดวกต่อการบริโภคและพกพา กองทัพมองโกลสามารถพิชิตแผ่นดินยูเรเซียไปได้กว่าครึ่งค่อนทวีป ยาวไปตั้งแต่ดินแดนจีนไปจนถึงเยอรมัน เมนูเนื้อบดจึงถูกสืบทอดต่อกันเรื่อยมาในดินแดนเยอรมันจนถึงปัจจุบัน
ภายหลังช่วงประมาณศตวรรษศตวรรษที่ 19 มีชาวเยอรมันกลุ่มใหญ่อพยพมายังทวีปอเมริกาภายใต้ชื่อของบริษัทเดินเรือ hamburg American Line ชาวเยอรมันเหล่านี้มักจะถูกเรียกด้วยศัพท์แสลงว่า แฮมเบอร์เกอร์ (hamburger) จนภายหลังคำๆนี้จึงถูกเหมารวมไปถึงเมนูเนื้อบดยัดไส้ขนมปังที่พวกเขาเอาติดตัวมาจากดินแดนบ้านเกิดด้วย
แต่ผู้ที่มีทำให้เมนูเนื้อบดมีชื่อเสียงจริงๆก็คือ หมอ Atkin Salisbury ผู้ที่เป็นหมอประจำกองทัพอเมริกันฝ่ายเหนือในช่วงสงครามกลางเมือง หมอAtkin เชื่อว่าการกินเนื้อบดจะช่วยทำให้ร่างกายดึงเอาพลังงานของโปรตีนไปใช้ได้ง่ายขึ้นเพราะเนื้อบดนั้นย่อยง่าย ยิ่งถ้ากินคู่กับพวกผักสดๆจะยิ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย หมอAtkin จึงผลักดันให้กองทัพฝ่ายเหนือเลี้ยงเนื้อบดแก่กองทัพเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดีของเหล่าทหารหาญ
แต่เมนูเนื้อบดของ หมอAtkin นั้นก็ไม่ใช่เมนูแฮมเบอร์เกอร์เสียทีเดียว เพราะหมอAtkin เชื่อว่าการบริโภคแป้งมากๆจะนำมาซึ่งอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมถึงโรคทางระบบทงเดินอาหารอื่นๆ เมนูเนื้อบดของหมอ Atkin จึงมีลักษณะคล้ายสเต๊กเนื้อบดกินคู่กับซอสและผักสดที่ไร้แป้ง และเพื่อเป็นเกียรติแก่หมอผู้นี้ ชาวอเมริกันจึงมักเรียกสเต๊กเนื้อบดว่า สเต็กซอลส์บรี (salisbury steak) นั่งเอง
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐได้ไปตั้งฐานทัพที่ประเทศญี่ปุ่น ได้นำวัฒนธรรมสไตล์มะกันไปเผบแพร่มากมาย เมนูแฮมเบอร์เกอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น พ่อครัวชาวญี่ปุ่นหัวใสจึงประยุกต์เอาเมนูแฮมเบอร์เกอร์มาดัดแปลงเป็นสเต๊กเนื้อบดสไตล์ญี่ปุ่นที่ว่า 'วาฟุ แฮมบากุ' (wafu hambagu) นั่นเอง

เริ่มต้นง่ายๆจากการเตรียมเนื้อบดกันก่อน ผสมเนื้อวัวบดประมาณ 300 กรัม กับ
แครอทสับ 2 ช้อนโต๊ะ
หอมใหญ่สับ 2 ช้อนโต๊ะ
ก้านขึ้นฉ่ายสับ 2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมสับ 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือ 1 ช้อนชา
พริกไทย 1 ช้อนชา
ไข่ไก่ 1 ฟอง
แป้งมัน 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
ผงฟู 1 ช้อนชา
ถ้ากลัวเนื้อวัวอย่างเดียวจะกระด้างเกินไป ก็แบ่งผสมกับเนื้อหมูอย่างละครึ่งครึ่งก็ได้
ผสมเสร็จก็ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจะเอาไปแช่เย็นไว้ก่อนหรือเอามาใช้เลยก็ได้
ก่อนเอามาย่างก็แบ่งก้อนเนื้อเป็นขนาดเท่าๆกัน ตบไปมาเพื่อไล่อากาศ ถ้าฟาดลงไปบนโต๊ะหรือชามแข็งๆเลยได้ก็ยิ่งดี เนื้อจะได้แน่นไม่แตกเวลาย่าง

เอาไปย่างในกระทะไฟปานกลางกับเนยประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ใส่กระเทียมทุบลงไปผัดกับเนยก่อนสักหน่อยเพื่อความหอม ระหว่างย่างก็ตักน้ำมันเนยราดลงไปบนตัวเนื้อเรื่อยๆเพื่อความมันฉ่ำ ย่างด้านละประมาณ 3-5 นาทีแล้วแต่ระดับความสุขที่ชื่นชอบ สุกได้ที่แล้วก็เอาออกมาพักไว้ก่อน

น้ำมันเนยในกระทะยังเหลือ เอามาหอมใหญ่แผ่นหนาๆลงย่างแค่ประมาณด้านละนาทีให้พอสุกนิ่ม พอสุกดีก็ตักออกมาพักไว้

wafu hambagu นั่นแสนง่าย ไม่จำเป็นต้องไปเคี่ยว brown sauce หรือ gravy อะไรให้ยุ่งวุ่นวาย ใช้แค่ของที่เหลือๆจากการย่างในกระทะนี่แหละ ก็อร่อยแล้ว
เสร็จจากเมื่อกี้ก็อย่าพึ่งล้างกระทะ น้ำมันเนยที่ยังเหลือๆติดก้นกระทะอยู่ เอามาผัดกับ
ซอสมะเขือเทศ 2 ช้อนโต๊ะ
เหล้า 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันหอย 1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาล 1 ช้อนชา
ผัดจนเข้ากันแล้วเติมน้ำเปล่าแค่เล็กน้อย จากนั้นจึงผสมน้ำละลายแป้งมันลงไปอีกนิดหน่อย เคี่ยวให้พอข้นๆ ปิดไฟแล้วเอาเนื้อวัวบดที่เตรียมไว้ลงไปคลุกเคล้าเร็วๆในเข้ากันไปเลย จากนั้นก็จัดใส่จานตามชอบ

ประกอบร่างตามใจชอบ ในรูปนี่คือ เอาเนื้อวัวบดคลุกซอสวางด้านล่าง วางทับต่อด้วยหอมใหญ่ย่างชิ้นหนาๆ ปิดหน้าอีกทีด้วยก้านขึ้นฉ่ายกรีดซอยเป็นเส้นๆเล็กๆ
เนื้อวัวบดมีความแน่นแต่ก็แฝงไปด้วยความนุ่ม ได้ทั้งรสชาติของเนื้อวัวและเครื่องหมักที่ผสมรวมกัน เคลือบไปด้วยซอสเปรี้ยวหวานรสกลมกล่อม กินคู่กับหอมใหญ่ย่างหวานๆและขึ้นฉ่ายซอยแก้เลี่ยนนับว่าเป็นจังหวะดนตรีที่เข้ากันอย่างดี
เรียบร้อยแล้วครับกับเมนู wafu hambagu สเต๊กเบอร์เกอร์สไตล์ญี่ปุ่นที่แสนจะเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยรสชาติอร่อยเข้มข้นครบรส
กินไปสักก้อนรับรองว่าทั้งอิ่มท้องและอิ่มเอมใจแน่นอน

Facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
