Group Blog
 
 
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
11 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
O เลื่อมลายรุ้ง...O








Secret Garden - End Of A Journey



O แล้วเลื่อมลายสีรุ้ง..บนคุ้งฟ้า-
ก็ทอดฝ่าเรื้องละออง..แต้มฟองฝน
เผยราศีล้ำล่วงให้สรวงบน-
รู้..อำพนพร่างพรายที่ปลายวัน
O แรงโอภาสงามลออทอดทอสู่
ให้โลกรู้บรรเจิด..ความเฉิดฉัน
สัตตรงค์เรื้องรอง, รูปผ่องพรรณ-
ก็ล้อมขวัญโดยรูป..โลมลูบใจ
O จึงเลื่อมลายสีรุ้ง..บนคุ้งฟ้า-
ก็คลุมครอบลงมา..เกินฝ่าไหว
กุสุมาหวานหอมแวดล้อมใบ-
ค่อยแกว่งไกวรสประทิ่น..ร่ำรินพร้อม
O ฝนทิ้งช่วง, ดวงวัน-ถวัลย์รูป
ลมผ่านลูบโลมถิ่นด้วยกลิ่นหอม
โดยรูปคราญ..จึงถวิลแต่ยินยอม-
การหว่านล้อมหวานรสเข้าบดเบียน
O สรวงเบื้องบนชลอลงก็คงใช่
เมื่อหัวใจต้องหวาน..จนผ่านเปลี่ยน
หลังรูปองค์..พักตร์ละม่อม..คอยล้อมเวียน
ตา..เนื้อเนียน..ปรารมภ์..อย่างสมยอม
O แต่สบรูปงามลออ..ก็รออยู่-
ว่านัยชู้รสละลานด้วยหวานหอม-
จะแผ่รอยรสล้ำให้ด่ำดอม
จนหลั่งหลอมแรงชู้..ซ่านสู่ใจ
O ปุยเมฆขาว, ฟ้าคราม..แห่งยามนี้
สายลมวีวาดพรรณ, ที่สั่นไหว-
คืออาวรณ์แหนหวงพร้อมห่วงใย-
พลุ่งเปลวขึ้นโลมไล้หัวใจคน
O จะรู้ฤๅ..ว่าอกสะทกสะท้อน-
จากอาวรณ์สุมสั่งกี่ครั้งหน ?
จะรู้ฤๅ..ว่าวิตกอันวกวน-
ด้วยอับจนถ้อยคำ..ร้อยรำพัน !
O ต้องเยี่ยงไรเล่าหนอ..จะพอเทียบ-
ความ, คำ เปรียบปรุงนัย..ดั่งใฝ่ฝัน
ทั้งอาวรณ์อาลัย..ยามไกลกัน-
อย่างลึกซึ้งผูกพัน..นะขวัญน้อย ?
O กี่ครั้งและกี่คราแววตานั้น-
คอยไหวสั่นวาบแล้ว..จากแผ่วค่อย-
จนวับวามแววผกาย..ดูคล้ายคอย-
เหลือบชม้อยชม้ายความ..ออกตามใจ
O ไม่มีความหม่นมัวแห่งตัวตน-
จักบันดลกำลังขึ้นตั้งได้
หรือส่วนเสี้ยวโศกสร้อย..สักรอยใด-
จะอาจไล้โลมอกให้ฟกช้ำ
O เพียง..บางการแทรกแฝงของแรงหวง-
อาจโชนช่วงโลมอก..พาวกต่ำ
เพียง..บางความโดดเดี่ยวคอยเคี่ยวกรำ-
ให้จิตคร่ำครวญหา..ด้วยอาวรณ์
O จึงบ่อยครั้ง..เฝ้าคอยรูปรอยชู้-
ราวผึ้งภู่ห้อมเห่รสเกสร
มีหวานหอมอาลัยดุจไฟฟอน-
คุ..โชนร้อนเร้ารุมคอยสุมทรวง
O จะ..หม่นเมฆทึมทาฟากฟ้าบน
หรืออำพนแจ่มแจ้ง..ทั้งแหล่งสรวง
ก็จะเพียงรูปพิไล..ที่ในดวง-
ตาคู่หวงแหนงามสุดห้ามใจ
O จึงว่ารุ้งรองเรืองที่เบื้องหน้า-
ทาบโค้งฟ้าเบิกบทความสดใส
ก็เช่นเมื่อรูปเงาแห่งเยาว์วัย
กั้นขวางให้รูปจริต..คอยติดตา
O สายหยุด..เจ้าหยุดกลิ่นแต่สิ้นสาย
เมื่อแดดฉาย..ลมเห่..ห้วงเวหา
ฝากรำพัน..ลมเอย-รำเพยพา-
ปรารถนาอาลัย..พร้อมใจนี้-
O –อยู่รายล้อมกล่อมเกล้าลบเปล่าเปลี่ยว
ทุกเหลือบเหลียวคอยเคียงแต่เพียงพี่
กระซิบฝากปรารถนาผ่านวาที-
ให้ลมวีวาดสายรำบายความ
O อ้อมกอดแห่งราตรีเมื่อคลี่คลุม-
จงโอบอุ้มนวลพรรณ..ให้-หวั่น..หวาม
แสงดาวจงกระพริบรับอยู่วับวาม
ให้อาวรณ์ลุกลามในท่ามกลาง-
O –ความอบอุ่นละมุนละไมห้วงใจนั้น
ที่จะสั่นระทึกอยู่..จนตรู่สาง
เฝ้ารอคอยแขนหนุน..อกอุ่น-วาง-
นิ่มนวลปรางแนบซบ..ผ่านพลบนั้น
O เอ็นดู..ความรุมเร้าแห่งเยาว์วัย
ดูเถิด..อกทรวงใครหนอ..ไหวสั่น ?
เสียงออดอ้อนแว่วอยู่..ฤๅ-รู้กัน-
การแทรกขวัญฝากรูป..ให้จูบประคอง !



Create Date : 11 ตุลาคม 2553
Last Update : 19 พฤษภาคม 2566 7:26:09 น. 20 comments
Counter : 5601 Pageviews.

 
วันนี้เห็นรุ้งด้วยค่ะ


โดย: medkhanun วันที่: 11 ตุลาคม 2553 เวลา:21:30:03 น.  

 
เรน..คิดถึงนะคะ...


โดย: เรนโมเมจัง... IP: 118.172.22.78 วันที่: 13 ตุลาคม 2553 เวลา:5:40:32 น.  

 
เอ่อ...สวัสดีครับคุณสดายุ พอดีผมกำลังหาอ่านเรื่องมหาภารตยุทธในอินเทอร์เน็ตอยู่อ่ะครับ และก็ได้มาเจอฉันท์มหาภารตยุทธที่คุณแต่งไว้ครับ ไพเราะมากๆครับ ก็เลยอยากเรียนถามว่า ผมจะขอก็อปไปอ่านอ่ะครับ คงได้ใช่ไหมครับ ตอนแรกที่อ่านก็ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง เนื่องจากสำนวนภาษา โวหาร และวรรณศิลป์ดีมากเลยครับ เลยลองหาค้นหาว่ามีกวีคนไหนที่แต่งมหาภารตยุทธคำฉันท์ไว้บ้าง ซึ่งก็ไม่มี เลยมาอ่านรายละเอียดในบล็อกของคุณ ถึงทราบว่าเป็นผลงานของคุณสดายุเอง ผมขอเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์งานดีๆต่อไปครับ


โดย: ขาจรครับ IP: 124.122.213.245 วันที่: 14 ตุลาคม 2553 เวลา:16:52:03 น.  

 

สวัสดีคะคุณสดายุ

ปรางอ่านบทกลอนของคุณ..ในแต่ละบท
ล้วนแต่มีความงามทางด้านภาษาที่นวลเนียนกลมกลืน
เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและมีความโดดเด่น

ในการนำธรรมชาติมาล้อกับอาการของดรุณีได้อย่างลงตัว
สละสลวยด้วยการใช้....ถ้อยคำที่อ่อนหวาน
แสดงให้เห็นถึงการมีชั่วโมงบินที่สั่งสมมานาน....

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสาวๆถึงเป็นปลื้ม...
เมื่อได้อ่านกลอนของคุณ... ยกเว้นปราง

เพราะปรางอ่านแล้วจะวิเคราะห์การเล่นคำในบทกลอนเท่านั้น

ปรางขอฝากชมน้องใบเฟิร์น..น้องก็เขียนกลอนได้น่ารักดี
เพราะเคยอ่านที่ผ่านๆมา...เขียนสดได้ขนาดนี้ก็ถือว่ามี..พรสวรรค์แล้วละคะ

มีความสุขในทุกๆวันกับสิ่งที่ต้องใจเหมือนกันนะคะ





โดย: มะปราง IP: 182.232.36.188 วันที่: 15 ตุลาคม 2553 เวลา:10:38:06 น.  

 
คุณขาจร....

เชิญครับตามสบาย...ผมไม่หวงห้ามงานที่เขียนทั้งหมด
ยกเว้นการเอาไปหาประโยชน์เชิงพานิชย์ที่ไม่อนุญาต

คำฉันท์..หาคนเขียนได้ยาก...เพราะมันยาก
ผมเห็นที่ฝีมือเข้าท่าอยู่สองคนในปัจจุบัน...
คือคนที่เขียน..."ภัทรมหาราชคำฉันท์"...ชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว
อีกคนก็ที่เขียน..."จันทรคุปต์มหาราชาคำฉันท์"...ชูชาติ ชุ่มสนิท

ผมกำลังเขียนพุทธประวัติอีกเรื่องค้างอยู่...อยู่ในบล็อค
"พุทธมรรคา"






น้องเล็ก...
วิจารณ์ได้...ไม่เป็นไร
ช่วงหลังจะเขียนน้อยลง...คนมันไม่ค่อยเศร้าเลยเขียนได้อยู่
แนวเดียว...

ไว้จะเขียนแนว.."นรกวาที"...ให้อ่านมากขึ้น
ใกล้เลือกตั้งแล้วนี่..
ผู้คนในสังคมเชื่องเชื่อที่อัตราการอ่านหนังสือยังต่ำมากแบบนี้...

มันต้องกระแทกด้วยคำแรงๆ..!





มะปราง....
บทร้อยกรอง...ที่ติดหูคนไทยมาข้ามศตวรรษทั้งปวง
ผมคิดว่า"คำ"ที่เหมาะสมกลมกลืนกับบริบทจะเป็นปัจจัยหลัก
เรื่อง"เนื้อหา"ผมว่าเป็นเรื่องรอง

กลอนสุทรภู่ทั้งปวงที่ติดปากคน...เป็นบริบทในเชิงชู้สาว
และจารีตประเพณี...ทั้งสิ้น คนจำกันมาร่วม 200 ปี

ส่วนกลอนที่เน้น"เนื้อหาเชิงการเมือง" นับย้อนไปแค่ ตุลา 2516
เหลือติดหูคนแค่บทเดียว...ของวิสา คัญทัพ บทนั้น
...เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ
...ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

นอกนั้นตายสนิท....เพราะคำที่ใช้มันไม่กินใจคน
คำ...จึงค่อนข้างสำคัญ

ส่วนของอังคาร กัลยาณพงศ์...ไม่ใช่คำสะสวย
แต่เป็นคำใหญ่ คำโต...อย่างในบท..."เสียเจ้า"


เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย

จะเจ็บจำไปถึงปรโลก
ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย
อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ

ถ้าเจ้าอุบัติบนสวรรค์
ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟเราเป็นไม้
ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ

แม้แต่ธุลีมิอาลัย
ลืมเจ้าไซร้ชั่วกัลปาวสาน
ถ้าชาติไหนเกิดไปพบพาน
จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา

ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า
ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา
ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย.


คำใหญ่คำโตในบทร้อยกรองจึง.."กินใจ"คนอ่านมาทุกยุคทุกสมัย
จริงไหม ?


ไม่ว่าบทเอกของนายนรินทร์
๑๔๐. ตราบขุนคิริข้น.........ขาดสลาย แลแม่
รักบ่หายตราบหาย............หกฟ้า
สุริยจันทรขจาย...............จากโลก ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า.............ห่อนล้างอาลัย

บทนี้เชิงโวหารดีมากอีกบทหนึ่งถือเป็นบทเอก...ในนิราศนรินทร์
บาท ๑...ตราบจนขุนเขาพังทลายลง
บาท ๒...ตราบจนฟ้าทั้งหก หายไป แต่รักของพี่ไม่หาย
บาท ๓...พระอาทิตย์ พระจันทร์จะหายไปจากโลก
บาท ๔...ไฟบัลลัยกัลป์เผาโลกทั้งสี่ก็ตาม แต่จะล้างความรักอาลัยของพี่มิได้เลย

ศัพท์...
- ขุนคิริ....ขุนเขา หมายถึงเขาพระสุเมรุ หรือ เขาไกรลาศ
- หกฟ้า.....คือสวรรค์ทั้งหก ๖ ชั้น มีชื่อดังนี้ สวรรค์ในแนวคิดฮินดูมี หกชั้น คือ จตุมหาราชิก, ดาวดึงส์, ยามะ, ดุสิต, นิมมานรดี, ปรนิมมิตตวสวัตดี
- สี่หล้า....ทวีปทั้ง ๔ (ดูในโคลงบทที่ ๑๓๔)
สรุปความว่า....
แม้นว่าภูเขาสูงใหญ่จะเปื่อยยุ่ยขาดหายถล่มลงไปก็ดี...
แม้นว่าสวรรค์ทั้งหกจะแตกดับสูญไปก็ดี...
แม้จนดวงตะวันดวงจันทร์ถูกห้วงหาวสูบหาย
สูญดับจากโลกไปก็ดี...
แม้จนไฟนรกแล่นเข้าล้างโลกทั้งสี่ก็ดี...
หาได้..ล้างความรักที่พี่มีอยู่ต่อเจ้าลงได้เลยแม้แต่น้อย



หรือบทโศกรันทดของเจ้าฟ้ากุ้ง...ที่เขียนถึงเจ้าฟ้าสังวาลย์
พระสนมของพระบิดา


นี่สุดหมายที่จะมาดสุมาลย์สมาน
สุดหาญที่จะเหิรเวหาสห้อง
สุดคิดที่จะเข้าเคียงประคอง
สุดสนองใจสนิทเสน่ห์กัน

โอ้แต่นี้นับทวีแต่เทวศ
จะต้องนองชลเนตรกันแสงศัลย์
จะแลลับเหมือนหนึ่งดับเดือนตะวัน
เมื่อเลี้ยวเหลี่ยมสัตภัณฑ์ยุคนธร


อ่านแล้วได้อารมณ์ดีมาก...จริงไหมครับ




โดย: สดายุ... วันที่: 15 ตุลาคม 2553 เวลา:16:49:39 น.  

 
สวัสดีคะคุณสดายุ

ปรางต้องขอขอบคุณในความเอื้อเฟื้อและอนุเคราะห์
อธิบายความหมายของบทกลอนที่นำมาเสนอ..สมแล้วคะที่

คุณได้รับการชมเชยจากผู้คนมากมายมานานว่า..เป็นคนที่มี
คุณภาพในเรื่องการแต่งโคลง กาพย์ กลอน จริงๆ

ในส่วนตัวปรางจะชอบแนวการแต่งกลอนของบรมครู
คือท่านสุนทรภู่คะ ต.ย เช่น สุภาษิตสอนหญิงคะ

๏จะนุ่งห่มดูพอสมศักดิ์สงวน
ให้สมควรรับพักตร์ตามศักดิ์ศรี
จะผัดหน้าทาแป้งแต่งอินทรีย์
ดูฉวีผิวเนื้ออย่าเหลือเกิน
จะเก็บไรไว้ผมให้สมพักตร์
บำรุงศักดิ์ตามศรีมิให้เขิน
เป็นสุภาพราบเรียบแลเจริญ
คงมีผู้สรรเสริญอนงค์ทรง
ใครเห็นน้องต้องนิยมชมไม่ขาด
ว่าฉลาดแต่งร่างเหมือนอย่างหงส์
ถึงรูปงามทรามสงวนนวลอนงค์
ไม่รู้จักแต่งองค์ก็เสียงาม

ปรางคิดว่าเป็นกลอนที่อ่านและเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้อง
มาตีความกันอีกง่ายกว่าการแต่งฉันท์มาก..จริงอย่างคุณพูด

ในปัจจุบันหาคนแต่งฉันท์ยาก..เหตุผลอาจจะมีหลายประการ
ปรางเองต้องยอมรับว่าจบอักษรศาสตร์มายังแต่งให้ดีได้ไม่เท่า

คุณซึ่งจบวิศวะมาเลย..คุณมีความสามารถอาจจะเกิดจาการชอบ
และใส่ใจที่เขียนบ่อยๆจึงทำให้มีทักษะมาก..ก็ถือว่าเป็นการ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันนะคะ

อ๋อ! ปรางขอถอนคำพูดที่ว่า"ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสาวๆถึงเป็นปลื้ม...เมื่อได้อ่านกลอนของคุณ" ปรางกลัวคนที่เข้ามาอ่านโดยไม่มีเจตนาอื่นจะเข้าใจผิด..ต้องขอโทษด้วยนะคะ

มีความรื่นรมย์สุขสมกับคนรู้ใจนะคะ







โดย: มะปราง IP: 182.232.96.123 วันที่: 16 ตุลาคม 2553 เวลา:22:29:11 น.  

 
น้องเล็ก...

อ้อ ครับ...ช่วงผมเริ่มเขียนฉันท์ใหม่ๆ...จะเปิดพจนานุกรมหาคำเลยทีเดียว...และผมเขียนฉันท์มากกว่าอย่างอื่น...แต่มันไม่ได้เรื่องเลยสักบทเดียว...ผมจึงลบทิ้งทั้งหมด

แล้วอ่านคำฉันท์จากวรรณกรรมเก่าแล้วดูลีลาที่เขียน...
ก็ยอมรับว่า...สามัคคีเภทคำฉันท์...โดยนายชิต นั้นไร้เทียมทาน
โดยเฉพาะอินทรวิเชียรฉันท์ นายชิต เขียนได้ดีมาก

คำฉันท์...จำเป็นต้องใช้คำ"บาลีสันสกฤต"...เท่านั้น
เพราะติดที่ฉันทลักษณ์บังคับตัว...ลหุ...ที่สามารถยักเยื้องอ่านแยกเสียงได้....ซึ่งคำไทยทำไม่ได้...

ไม่มีคำฉันท์ไหนจะเลี่ยงบาลีได้พ้น !

เขียนบ่อยอ่านบ่อยจะจำได้เอง...
คนสนใจศาสนาจะเข้าใจได้ง่ายเพราะคุ้นเคยกับคำแขกมากกว่าคนทั่วไป







มะปราง...
ครับ...สุนทรภู่...เป็นแบบฉบับกลอนสัมผัสในโดยแท้...

หากพิจารณากลอนยุคก่อนหน้าท่าน...ไม่ว่าของพระยาตรัง
หรือเจ้าฟ้ากุ้ง...จะเห็นได้ว่าสัมผัสในวรรคเน้น"สัมผัสอักษร"
มากกว่าสัมผัสสระ

แม้นกุศลเราสองเคยร่วมสร้าง ...ศล..สอง..สร้าง
ขอร่วมห้องอย่าได้ห่างเสน่หา...ห้อง..ห่าง..หา
เสียงผลที่ได้เพิ่มบำเพ็ญมา ...ผล..เพิ่ม..เพ็ญ
ขอร่วมชีวาร่วมวางชีวาวาย...วา..วาง..วาย

เกิดไหนขอให้ได้ถนอมพักตร์ ...ไหน..ถนอม
ความรักอย่าได้ร้างอารมณ์สลาย...รัก..ร้าง..สลาย
รักนุชอย่าได้สุดเสน่ห์คลาย ...นุช..เสน่ห์
ขอสมหมายที่ข้ามาดสมาทาน...หมาย..มาด..สมา

อันสาราบำราศบำรุงคิด ...รา..ราศ..รุง
จาฤกไว้โดยสุจริตสาร...ฤก..ริต
พยายามตามสัตย์ปัติญาณ ...ยาม..ญาณ
พอแจ้งการที่กรรมในกายเอยฯ...การ..กรรม..กาย
(จาก..เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง)


อีกอย่างที่ผมเอาของท่านสุนทรภู่มาใช้...คือสัมผัสในท้ายวรรคเป็น"สัมผัสคร่อม"

ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส ...นา..ดู..อาวาส
เมื่อตรุษสารทพระพรรษาได้อาศัย...ษา..ได้..อาศัย
สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย ...ดี..ไม่..มีภัย
มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น...ราม..เมื่อ..ยามเย็น
(จาก...นิราศภูเขาทอง)

ลักษณะสัมผัสคร่อมท้ายวรรคแบบนี้ผมว่าเสียงกระทบกัน
สร้างความไพเราะให้บทกลอนได้ดีกว่าสัมผัสชิด

แลกเปลี่ยนกันครับ



โดย: สดายุ... วันที่: 17 ตุลาคม 2553 เวลา:0:08:11 น.  

 

สวัสดีคะคุณสดายุ

ปรางก็มีความคิดเห็นเหมือนคุณว่า..สัมผัสคร่อมท้ายวรรค
จะมีความไพเราะได้ดีกว่า...สัมผัสชิดคะ

คนที่จะมีความสามารถแต่งกลอนได้ไพเราะใน..ระดับกวีได้
จะต้องมีความแม่นในเรื่องของ..ฉันทลักษณ์และมีประสบการณ์ในการใช้และเล่นคำอยู่บ่อยๆก็จะทำให้ชำนาญ..เหมือนบรมครู

ท่านสุนทรภู่..ท่านจะเดินทางไปไหนก็สามารถแต่งนิราศได้ทั้งหมด..กวีปัจจุบันปรางก็ชอบของคุณ เนาวรัตน์ พงไพบูลย์

ในหนังสือคำหยาด และบทล้อการเมืองต่างๆ..คุณเองแต่งได้เก่งขนาดนี้ก็หมายถึง...การคร่ำหวอดอยู่ในวงการ...อักษรงามมานานถึงได้มีความไพเราะทุกลิขิตคะ

ปรางขออนุญาตคุยกับน้องใบเฟิร์นด้วยคน..น้องจะไปต่อป.ตรีหรือป.โท ที่ประเทศอังกฤษคะ..เห็นน้องน่ารักดีอยากคุยด้วย..คงไม่รังเกียจพี่มะปรางนะคะ

มีความสุขกับคนรู้ใจซึ่งกันและกันในทุกๆวันนะคะ










โดย: มะปราง IP: 110.49.84.69 วันที่: 17 ตุลาคม 2553 เวลา:8:39:07 น.  

 


สวัสดีคะน้องใบเฟิร์น

พี่ขอบใจน้องมากที่ตอบรับไมตรีจากพี่คะ
เมื่อตอนที่พี่จบป.ตรีใหม่ๆพี่เคยใฝ่ฝันจะไปเรียน
ต่อโทที่อังกฤษเหมือนกัน..แต่มีอุปสรรคบางอย่าง
เลยไม่ได้ไปก็เลยเรียนจบที่ไทยนี่เองคะ

พี่เคยถามเด็กๆที่พี่สอนว่า..หนูอยากทำงานอะไร?
เมื่อเรียนจบแล้ว..แต่ละคนมีจุดหมายที่ต่างกัน

บางคนที่สมหวังก็สมความตั้งใจ..แต่บางคนที่ผิดหวัง
ก็เสียใจ..แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้พี่ว่าไม่ใช่ประเด็นของชีวิต
ประเด็นของชีวิตที่แท้จริงตามความนึกคิดของพี่

มันคือ..การที่จะเป็นอะไรก็ได้แต่ขอให้ใจมีสุขไม่เบียดเบียน
ตนเองและผู้อื่น..เพราะฉะนั้นค่านิยมสำหรับคนที่มีฐานะดีๆ
ในเรื่องต่างๆที่เน้นถึงความมีเงินแต่จริงๆแล้วอาจจะไม่มีความสุข
เลยก็ได้ แต่ก็พยายามดันทุรังจะทำ..ไม่รู้จะทำเพื่ออะไร?

น้องเห็นด้วยกับพี่ไหมคะ?

พี่บ่นให้ฟังซะยืดยาว..น้องอย่าเพิ่งเบื่อพี่นะ
พี่ชอบแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ

มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่นะคะ







โดย: มะปราง IP: 110.49.66.198 วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:10:33:48 น.  

 
ขอบคุณคุณสดายุมากครับ ผมเอาไว้อ่านเอง ถ้ามีโอกาสอาจจะบอกต่อให้เพื่อนๆได้อ่านบ้าง ไม่มีธุรกิจอะไรหรอกครับ อยากเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับบทกลอนที่กินใจของคนไทยอีกบทหนึ่งคือ "บทฝากนาง" ครับ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกและความสามารถของกวีได้เป็นอยางดี เช่น "โฉมควรจักฝากฟ้า ฤาดิน ดีฤา" จากนิราศนรินทร์ เป็นต้น ส่วนตัวผมนั้นชื่นชมในโวหารของกวีศรีปราชญ์ครับ "โฉมแม่ใครสงวนได้ เท่าเจ้าสงวนเอง" ส่วนใหญ่กวีมักจะไม่บอกว่าต้องฝากไว้ที่ใคร ที่ใดก็ไม่ดีจะมีแต่อันตราย แต่ศรีปราชญ์ได้สรุปไว้ว่าให้นางนั้นรักษาตัวเองแหละดีที่สุด ไม่ต้องฝากใคร ผมคิดเอาเองนะครับว่า อาจจะเป็นอารมณ์ขันของศรีปราชญ์ก็เป็นได้ครับ เพื่อนๆคนอื่นทราบบทฝากนางบทใดบ้าง ลองแลกเปลี่ยนดูนะครับ ขอบคุณครับ


โดย: ขาจรครับ IP: 124.121.171.31 วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:20:11:33 น.  

 
สวัสดีคะคุณสดายุ

บทกลอนของท่านศรีปราชญ์ที่ปรางชอบก็ตอนที่นางสนมเอกของพระนารายณ์ต่อว่าท่านที่ไปยืนใกล้ชิดเป็นโคลงดังนี้คะ

หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหางกระสัน ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อยเดียรฉาน

แล้วท่านศรีปราชญ์ก็ตอบนางสนมเอกด้วยโคลงว่า

หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นเดียวกัน

แสดงให้เห็นถึงปฏิภาณ ไหวพริบ และ พรสวรรค์เฉพาะตัว
ที่ท่านมีเหนือคนอื่นจริงๆ และอีกตอนที่พระยารามเดโชโดนลิงถ่ายอุจจาระรดศรีษะเป็นที่ขบขันของทหาร เสียงดังจนทำให้พระนารายณ์ตื่นจากบรรทม แล้วเรียกศรีปราชญ์เข้าไปถามว่าเกิดเหตุการณ์อะไร ศรีปราชญ์ได้ตอบเป็นคำคล้องจองว่า

"พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยารามเดโช"

ด้วยคำตอบนี้พระนารายณ์เลยตรัสกับศรีปราชญ์ว่า

"ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้เถิด"

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ขอฝากเรียนผ่านคุณขาจรว่าท่าน...บรมครูศรีปราชญ์...เป็นอัจฉริยะกวีอีกท่านหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับปรางคะ..ไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อกนี้ขออนุญาตคุณสดายุนะคะ

ขอให้คุณสดายุมีความสุขกับความพอใจในทุกๆวันนะคะ









โดย: มะปราง IP: 110.49.60.36 วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา:10:26:54 น.  

 
คุณขาจร...
สวัสดีครับ...ยินดีครับกับข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน

เพียงแต่ผมมีอีกข้อเท็จจริงที่ลงความเห็นกันในหมู่นักประวัติศาสตร์จนได้รับการยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวกับ..กำสรวลศรีปราชญ์...ว่า...


ชื่อ "ศรีปราชญ์" ไม่เคยพบหลักฐานในทำเนียบนามสำคัญๆ ไม่ว่าศิลาจารึกหรือพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนและทหารหัวเมืองที่ตราขึ้นในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา แล้วใช้สืบมาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์

แต่มีชื่อ"ศรีปราชญ์"ในคำบอกเล่าที่มีผู้จดจำได้ราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วบันทึกเป็นภาษาพม่า 2 ชุด เมื่อถอดเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า "คำให้การชาวกรุงเก่า" กับ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" นอกจากคำให้การทั้ง 2 เรื่องนี้ ก็ไม่มีที่อื่นอีก


ศรีปราชญ์ไม่ได้แต่งกำสรวลศรีปราชญ์

บรรดานักปราชญ์กับนักค้นคว้า รวมถึงนักวิชาการเกือบหมดประเทศต่างเชื่อถือแล้วแต่งตำราใช้สอนในสถาบันทุกระดับว่า...ศรีปราชญ์แต่งกำสรวลศรีปราชญ์...แต่ พ.ณประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) คัดค้านเรื่องนี้ไว้นานแล้ว ทรงมีพระนิพนธ์เป็นหนังสือเล่มโตว่า..กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์...พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พศ.2502 มีความตอนหนึ่งโดยสรุปว่า

"ข้าพเจ้าจะแสดงจากตัวบทกำสรวลว่าปฏิภาณกวีในสมัยพระนารายณ์ที่เรารู้จักกันว่าศรีปราชญ์มิได้แต่งนิราศที่เรารู้จักกันว่า..กำสรวลศรีปราชญ์ (นิราศนครศรีธรรมราชก็เรียก...กำสรวลเฉยๆก็เรียก..ในจินดามณีบางฉบับ) หากเราจะเชื่อว่าหลักฐานทั้งหลายไม่มีอะไรดีกว่าหรือลบล้างตัวบทได้..ไม่ว่าหลักฐานนั้นจะเป็นการบอกเล่ากันมาเป็นเวลานับร้อยๆปีแล้วก็ตาม เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ยิ่งเขียนให้สั้นยิ่งเข้าใจได้ง่าย"

พ.ณ ประมวญมารค เรียกชื่อวรรณคดีเล่มนี้ว่า"กำสรวลสมุทร" (ตามชื่อในจินดามณี) แทนชื่อเรียกผิดๆว่า กำสรวลศรีปราชญ์ตลอด


กำสรวลสมุทร เป็นพระราชนิพนธ์
พ.ณ ประมวญมารค มีพยานหลักฐานและลักษณะกวีโวหาร ฉันทลักษณ์ รวมถึงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่กรุงศรีอยุธยา สอดคล้องกันว่า กำสรวล เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระบราราชาธิราชที่ 3 (โอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ)


"ศรีจุฬาลักษณ์" นามตำแหน่งสนมเอก
ศรีจุฬาลักษณ์...เป็นนามตำแหน่งสนมเอก 1ใน 4 คนของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต้องมีเชื้อสายเจ้านายฝ่ายรัฐสุโขทัย

ชื่อ..ศรีจุฬาลักษณ์ มีในโคลงกำสรวลสมุทร เมื่อกวีครวญถึงหญิงคนรักที่ต้องอยู่ห่างไกลกัน เนื่องจากกวีไม่ได้เชิญหญิงคนรักลงเรือเดินทางไปด้วยกัน (บทครวญนี้เป็นต้นแบบให้นรินทร์อิน กวีสมัยรัชกาลที่ 2 แต่งนิราศนรินทร์)


ขอยกบทครวญถึง ศรีจุฬาลักษณ์ ในโคลงกำสรวลมา..มีดังนี้

หน้าเจ้าชู้ช้อยฉาบ.........แรมรัก
สาวสื่อมาพลางลืม.........แล่นให้
บาศรีจุฬาลักษณ์..........เสาวภาค กูเอย
เรียมเรียกฝูงเข้าใกล้......สั่งเทา

โฉมแม่จักฝากฟ้า..........เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทร์ท่านเทอกโฉมเอา..สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน..........ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤๅขัดเจ้าหล้า...........สู่สมสองสม

โฉมแม่ฝากน่านน้ำ.........อรรณพ แลฤๅ
เยียวนากเชยชมอก........พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ.............จอมสวาท กูเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้........เท่าเจ้าสงวนเอง

สรเนาะนิราศน้อง...........ลงเรือ
สาวสั่งเลวงเต็ม.............ฝั่งเฝ้า
สรเนาะพี่เหลียวเหลือ......อกสั่ง
สารดั่งข้าสั่งเจ้า..............สั่งตน

โคลงคร่ำครวญ 4 บทถึงหญิงคนรักผู้สูงศักดิ์นาม ศรีจุฬาลักษณ์ ที่ยกมานั้น กวีผู้แต่งต้องไม่ใช่ขุนนางอำมาตย์ หรือแม้แต่ โหราธิบดี หรือ ลูกชายเช่น ศรีปราชญ์ แต่ต้องเป็นเจ้านายผู้มีอำนาจในราชอาณาจักรเท่านั้น เพราะ ศรีจุฬาลักษณ์ ไม่ใช่สามัญชน

พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ในกฎหมายตราสามดวงให้ชื่อ"สนมเอก" 4 คนของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาว่ามี

ศรีจุฬาลักษณ์...เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย
อินทรสุเรนทร์...เชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ
อินทรเทวี...เชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ศรีสุดาจันทร์...เชื้อสายราชวงศ์ละโว้ อโยธยา

สนมเอกทั้ง 4 คือสัญญลักษณ์ของอำนาจกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ปกแผ่ออกไปทั้ง 4 ทิศนั่นเอง


นานมาแล้วเราเชื่อกันว่าโคลงกำสรวลสมุทรที่มีอยู่นั้น "ศรีปราชญ์" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกวีในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราชเป็นผู้แต่ง

ต่อมาอาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เสนอว่าแต่งในแผ่ดินสมเด็จพระเพทราชา และ พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) ทรงคัดค้านทั้งหมดพร้อมทั้งอ้างข้อพิสูจน์เส้นทางเดินของแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดมเป็นผู้จัดทำ และสรุปว่ากำสรวลสมุทรจะต้องแต่งขึ้นก่อนแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาธิราช

พ. ณ ประมวญมารค เสนอว่า กำสรวลเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และแต่งในระหว่าง พศ.2025-2030 (หรืออาจถึง พศ.2034)

สาระสำคัญที่ พ.ณ ประมวญมารค สรุปเช่นนั้นคือ

1 กำสรวลสมุทรกล่าวไว้ในโคลงวรรคหนึ่งว่า
"ฤๅกล่าวคำหลวงอ้า.....อ่อนแกล้งเกลาฉันท์"
คิดว่า "คำหลวง" ในที่นี้หมายถึง "มหาชาติคำหลวง" ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเมื่อ พศ. 2025 ที่เมืองพิษณุโลก

ดังนั้น กำสรวลจะต้องแต่งขึ้นหลังการพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวง และเพราะเหตุที่กำสรวลครวญถึง "ศรีจุฬาลักษณ์" ซึ่ง พ. ณ ประมวญมารค เชื่อว่าเป็นนามเจ้าหญิงเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงสมัยสุโขทัย และเป็นมเหสีพระบรมราชาธิราชที่ 3 ..."ศรีจุฬาลักษณ์" องค์นี้แหละที่เป็นพระราชมารดาของ "พระราชนัดดา" ในพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งบวชเณรที่พิษณุโลกเมื่อ พศ.2027

เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สวรรคตเมื่อ พศ.2031 พระบรมราชาธิราชที่ 3 ขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาต่อมา..หลังจากนั้นได้สวรรคตลงในปี พศ.2034

ดังนั้นพระองค์จะต้องพระราชนิพนธ์กำสรวลก่อน พศ.2034


2 โคลงกำสรวลสมุทรใช้ราชาศัพท์ในการครวญหา"ศรีจุฬาลักษณ์" ประกอบกับเนื้อหาในโคลงแสดงอยู่เสมอว่า "ศรีจุฬาลักษณ์" เป็นผู้มีศักดิ์สูง จึงเชื่อว่ากำสรวลสมุทรเป็นพระราชนิพนธ์ และจะเป็นพระราชนิพนธ์ของใครไปไม่ได้นอกจากพระบรมราชาธิราชที่ 3 ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสของพระบรมไตรโลกนารถที่ทรงครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระบรมไตรโลกนารถเสด็จไปประทับอยู่เมืองพิษณุโลก

ด้วยเหตุผลสำคัญดังกล่าวข้างต้น ทำให้สมควรเชื่อถือมติของ พ.ณ ประมวญมารคได้ว่า โคลงกำสรวลสมุทรเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบรมราชาธิราชที่ 3


พระราชนิพนธ์ของพระบรมราชาธิราชที่ 3 มี
1 ยวนพ่าย พศ. 2017-2025
2 กำสรวลสมุทร พศ. 2025-2031
3 ทวาทศมาส พศ. 2027-2031



ยาวอยู่สักหน่อย
แลกเปลี่ยนกันครับ


โดย: สดายุ... วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา:17:21:48 น.  

 
มะปราง...

ครับ โคลงทั้งสองบทนั้นผมรู้จักดี...
นับเป็นปฏิภาณกวีได้ทั้งคู่...หากที่มาของเรื่องราวเป็นเรื่องจริง

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยว่า...ผู้เริ่มต้นบทแรกเป็นพระสนมเอกของพระนารายณ์...เพราะเหตุว่าศรีปราชญ์นั้นเป็นแค่ขุนนางคือเป็นลูกชายของพระโหราธิบดีเท่านั้นเอง...

และคนในสมัยโบราณมักจะรู้ที่ต่ำที่สูง...อีกทั้งคำว่า"พระสนม"นั้นหมายถึงเป็นภรรยาเล็กโดยตรงของพระเจ้าแผ่นดิน...ผมเชื่อว่าศรีปราชญ์ที่เป็นแค่ขุนนางระดับล่างจะไม่กล้าต่อปากต่อคำด้วยในลักษณะชู้สาวเช่นนี้...

ที่มองว่าเป็นไปได้คือ...หญิงผู้แสดงวาทะเชิงโคลงเหยียดหยามชายหนุมอย่างศรีปราชญ์จะเป็นเพียง ข้าราชบริพารนางในของพระสนมพระนารายณ์อีกที ที่พอรู้หนังสืออยู่บ้างมากกว่า

ยุคสมัยนั้น...ผู้ชายเรียนหนังสือกับพระสงฆ์ตามกุฏิในวัด
ส่วนผู้หญิงที่ครอบครัวส่งเข้าไปฝึกงาน เรียนรู้งานสตรี..และรับใช้ในวังหรือตำหนักพระสนม พระเชษฐภคินี พระขนิษฐา หรือพระราชนิกูล ต่างๆ ก็มีโอกาสเรียนรู้หนังสือในตำหนักนั้นเอง...นี่พูดถึงสตรีในตระกูลสูงศักดิ์ทั้งหลายที่เป็นลูกหลานของครอบครัว อำมาตย์ ขุนนาง ขุนศึกที่ทำงานรับใช้ราชสำนักอยู่


และจากข้อมูลที่ผมยกมาใน คคห ก่อนหน้า...ว่าถึงชื่อศรีปราชญ์..ที่มีปรากฏอยู่เฉพาะในส่วน..คำให้การชาวกรุงเก่า...และคำให้การขุนหลวงหาวัด เท่านั้น...ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือน้อยมาก...เนื่องจากเกิดจากการสอบถามเหล่าเชลยศึกไทยที่พม่ากวาดต้อนกลับไปเมืองพม่าหลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2

หลากหลายเรื่องราวจึงเป็นเพียงตำนาน...เช่นเดียวกับเรื่องราวของ "ศรีธนนชัย" ซึ่งเป็นเพียงตำนานเล่าต่อๆกันมา เพียงแต่

ศรีปราชญ์..ให้ภาพของปัญญาชนที่เก่งกาจเรื่องโคลงกลอนและค่อนข้างเจ้าชู้

ศรีธนนชัย...ให้ภาพของคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย และเถรตรง เก่งกาจเรื่องไหวพริบปฏิภาณการโต้ตอบปัญหาต่างๆ


และชื่อ "ศรีปราชญ์" นี้ไม่เคยปรากฏให้เห็นในพงศาวดารชาติไทยฉบับ หลวงประเสริฐ ที่ได้รับการยอมรับกันมากที่สุดจากนักประวัติศาสตร์ เลย


แลกเปลี่ยนกันครับ


โดย: สดายุ... วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:8:00:40 น.  

 

สวัสดีคะคุณสดายุ

คะ..เรื่องราวของท่านศรีปราชญ์เท่าทุกวันนี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่า
มีตัวตนจริงหรือเป็นเพียง..ตำนานที่กล่าวอ้างสืบต่อกันมา

โดยผ่านแต่ละยุคสมัย..และยิ่งโดยเฉพาะเราเป็นคนยุคหลังยิ่งไม่มีโอกาสทราบถึงข้อเท็จจริงที่ชัดเจน..ผู้รู้ที่เขียนประวัติศาสตร์
และยึดถือต่อๆกันมาก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้..มากน้อยแค่ไหน..

แต่ปรางคิดว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงตำนาน
เรื่องราวของท่านก็มีคุณค่าในตัวเองที่สามารถจะนำมาเป็น
บทเรียนในแง่ต่างๆได้เป็นอย่างดี และเรื่องที่ศรีปราชญ์

ถูกเจ้าครองนครศรีธรรมราชประหารชีวิต สถานที่บ้างก็ว่าอยู่หลังจวนผู้ว่า บ้างก็ว่าอยู่ที่โรงเรียนกัลยานีศรีธรรมราช และตอนที่ศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปอยู่นครศรีธรรมราชนั้น มีนิราศนรินทร์
แต่งไว้อยู่บทหนึ่งว่า

กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง เพรงกาล

จากจุฬาลักษณ์ลาญ สวาทแล้ว

ทวาทศมาสสาร สามเทวษ ถวิลแฮ

ยกทัดกลางเกศแก้ว กึ่งร้อนทรวงเรียม

คะ..ที่ปรางกล่าวมาทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่การแลกเปลี่ยน
ความรู้ซึ่งกันและกันคะ


มีความสุขตามที่ใจนึกปราถนาในสิ่งที่ดีงามอยู่ทุกกาลนะคะ







โดย: มะปราง IP: 182.232.9.237 วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:9:19:47 น.  

 
น้องใบเฟิร์นคะ

น้องชอบสายรุ้งหลังเวลาฝนตกไหมคะ?
พี่เองเป็นคนที่หลงใหลในธรรมชาติมาก..ไม่ว่าจะเป็นทะเล
ภูเขา ท้องฟ้ายามใกล้พระอาทิตย์อัศดง ป่าดงดิบ

พี่ว่าธรรมชาติเป็น..มารดาแห่งชีวิตมนุษย์
ที่พี่คิดอย่างนี้ก็เพราะว่า..ธรรมชาติจะเป็นผู้ให้และให้ทุกอย่างกับ
มวลมนุษย์ แม้ว่ามนุษย์จะทำลายธรรมชาติ..แต่ธรรมชาติ
ก็ไม่เคยคิดที่จะทำร้ายมนุษย์ก่อน นอกจากมนุษย์จะทำลาย
ธรรมชาติจนทำให้เสียสมดุลย์เอง..พี่เห็นน้องชอบสายฝน

ก็เดาเอาว่าน้องคงชอบธรรมชาติเหมือนกับพี่
เมื่อตอนพี่บรรจุใหม่ๆพี่เลือกที่จะไปสอนในที่ๆกันดารที่สุด
เพื่อจะได้สัมผัสกับความยากลำบากที่พี่ไม่เคยเจอ

และสิ่งต่างๆเหล่านั้นก็เป็นบทเรียนทำให้พี่ได้รู้ว่า
ในความยากลำบากของนักเรียนในการที่จะขึ้นเขา ลงห้วย
มาเรียนหนังสือกัน..พี่มองดูว่าเด็กๆลำบากมาก

แต่พอพี่ได้สัมผ้สแล้ว..เขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความยากลำบากเลย
เขากับมีความสุข แววตาเวลาที่มองคุณครูเต็มไปด้วย
ประกายแห่งความอยากรู้ สนุก และตื่นเต้น

พี่เองก็พลอยมีความสุขไปกับเขาด้วย ลืมเรื่องราวของตัวเอง
ในโลกของเด็กบนดอยมีแต่ความไร้เดียงสา น่ารัก ไม่มีมารยา
เป็นความบริสุทธิ์ที่สัมผัสได้ในทุกกาลเวลา

พี่คงคุยแกมบ่น..รำคาญพี่หรือยังคะ? ไว้น้องมาคุย
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ้างก็ดีเหมือนกันนะคะ

มีความสุขกับสิ่งที่น้องพอใจทุกๆวันนะคะ







โดย: มะปราง IP: 182.232.9.237 วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:10:16:04 น.  

 
มะปราง...

นักวิชาการประวัติศาสตร์จะไม่"เดา"กันส่งเดชครับ
เขาจะต้องมีหลักฐานอ้างอิงเสมอ เพราะการนำเสนอความเห็นออกมาสู่สังคมนั้น จะมามั่วข้อมูลหรือเอาแต่"ความเห็นส่วนตัว"ไม่ได้...จะถูกตอกกลับหน้าหงายเอาได้

เนื่องจากลักษณาการของชนชาติไทย...มีการจดบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรน้อย...ชอบแต่การฟังเขาพูดแล้วเอาไปพูดต่อ...ซึ่งลักษณาการทางพฤติกรรมเช่นนี้เองทำให้ใน"คำให้การชาวกรุงเก่า" มีชื่อ "พระพันวษา" เจ้านายของ"ขุนแผน"เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเข้าไปด้วย ซึ่งในการรับรู้ของเรานั้นไม่มีเรื่องเช่นนี้

ยิ่งเป็นเหล่าเชลยศึกในช่วงปี พศ. 2310 แล้วการจะไปจดจำเหตุการณ์ในยุคเจ้าสามพระยาต่อมาถึงพระบรมไตรโลกนารถซึ่งเป็นเรื่องราวในยุคสมัย พศ. 2010 อันห่างกันถึง 300 ปีจะมีความถูกต้องแม่นยำนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ส่วนเรื่องตัวบุคคลที่ถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราชในยุคพระนารายณ์จะเป็น"ศรีปราชญ์..ลูกชายพระโหราธิบดี-ผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์"จริงหรือไม่นั้น..ผมยังไม่มีเวลาค้นคว้า...ไว้จะนำมาเล่าสู่ให้รับรู้กันต่อไปครับ



โดย: สดายุ... วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:19:58:59 น.  

 
เพราะมากคับ ชอบจังเลยคับ


โดย: iamsamba (iamsamba ) วันที่: 21 ตุลาคม 2553 เวลา:0:13:46 น.  

 
๏ ศรีอยุธยนิเวศไท้ ทรงทศ ธรรมแฮ
ปราบอรินทร์ยาวยศ ยิ่งหล้า
กฤษดาญสุดโสฬศ เลืองโลกย์
พระเกียรติขจรจบฟ้า ฟากฟุ้งแดนดิน ฯ


โดย: สดายุ... วันที่: 4 ตุลาคม 2561 เวลา:15:08:06 น.  

 
O ดั่งแสงแรกทอดสู่ยามตรู่สาง
เพื่อร่วมสร้างสุขโศกบนโลกเสมือน
พร้อมน้ำค้างวางสิทธิ์เกินบิดเบือน
หมุนคล้อยเคลื่อนเริ่มต้นเวียนวนไป


โดย: สดา IP: 49.228.65.103 วันที่: 14 ตุลาคม 2564 เวลา:21:18:25 น.  

 
O บอกว่าการเริ่มต้นหมุนวนนี้
ก่อนหลังมีส่งรับลำดับให้
อาจมีบ้างข่มข้ามเอาตามใจ
แต่ต้องในบริบทของกฎเกณฑ์


โดย: สดา IP: 49.228.65.103 วันที่: 14 ตุลาคม 2564 เวลา:21:29:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.