Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
20 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 

O นิราศนรินทร์ และ คำแปล...บทที่ ๑๐๑ - ๑๔๔ O





....................................................


๑๐๑. พระลบสุริยเลี้ยว......ไศลลา โลกเอย
ทุกทิศชระมัวมา...............มืดแล้ว
เนตรหนึ่งว่ายนภา.............เพียงเมฆ
เนตรหนึ่งตรวจไตรแผ้ว......แผ่นหล้ามาสมร


ตอนที่เขียนนี้แสดงว่า เป็นเวลาพลบค่ำ
บาท ๑...ดวงตะวันลับเหลี่ยมเขา ลาโลกไปแล้ว
บาท ๒...ความมืดแผ่เข้ามาทุกทิศแล้ว
บาท ๓...ตาหนึ่ง (ของพี่) มองกวาดไปในท้องฟ้าไปจนจดก้อนเมฆ
บาท ๔...อีกตาหนึ่งตรวจค้นหาน้องบนพื้นแผ่นดิน

ศัพท์...
- พระลบ.......พลบ เวลาเริ่มค่ำ
- ชรมัว..........มืดคลุ้ม
- ว่ายนภา......เป็นภาษากวี ตาว่ายไปในฟ้า หมายความมองกวาดไป
- ตรวจไตร.....ค้นดู ค้นหา
- แผ้ว............สะอาด ราบ เตียน ในที่นี้หมายความว่า ทั่ว


๑๐๒. โพธิ์สลับโพธิ์เทพไท้...เทพา พ่อฤา
เอาพระโฆษผยองยา........สวาทชู้
อาราธน์พระเอยอา...........รักษ์เร่ง ราพ่อ
เชิญช่วยพาสมรู้...............รสน้องแรมนาน


มาถึงตำบลโพธิ์สลับ พอมาถึงตำบลนี้ ก็นึกถึงพระโพธิ์เทพารักษ์ในเรื่องสมุทรโฆษ เนื้อเรื่องนั้นว่า พระสมุทรโฆษไปประพาสป่า ไปประทับแรมใต้ต้นโพธิ์ ก่อนบรรทมได้กล่าวบวงสรวงพระโพธิ์เทพารักษ์ พระโพธิ์ได้ยินคำบวงสรวงก็เกิดเมตตา ครั้นพระสมุทรโฆษบรรทมหลับ ก็อุ้มพระสมุทรโฆษไปสมนางพินทุมดี ธิดาแห่งกรุงรมยนคร ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง พระโพธิ์เทพารักษ์ก็กลับไปอุ้มพระสมุทรโฆษซึ่งกำลังหลับอยู่บนแท่ กลับมาไว้ที่รถตรงใต้ต้นโพธิ์ ครั้นเวลารุ่งเช้า นางพินทุมดี และพระสมุทรโฆษต่างก็คร่ำครวญหากัน นางพินทุมดีนั้นมีพี่เลี้ยงชื่อ ธารี เป็นหญิงมีฤทธิ์ ครั้นทราบว่านางพินทุมดีโศกเศร้าเรื่องอะไร ก็เหาะไปพาพระสมุทรโฆษมาให้ได้พบกับนาง


๑๐๓. ลับยักษ์ลับเยาวให้...เรียมหา แม่แฮ
ฤาอสุรพาลพา.................แวะเว้น
ลับหลังพี่ลับตา................แสนโยชน์
รำลึกลับนุชเร้น................ร่วมรู้ในใจ


บาท ๑...ถึงตำบลลับยักษ์ (พี่) จากน้อง (ไม่เห็นตัวนาง) จึงได้แต่มองหาน้องอยู่
บาท ๒...หรือว่ายักษ์ใจพาลจะพานางไปไว้เสียที่ไหน (ในบาทนี้สงสัยคำว่า เว้น ฟังดูไม่เข้ากับเนื้อความ หรือ เป็นคำสร้อยของ แวะ)
บาท ๓...น้องอยู่ลับหลังพี่ ไกลตาตั้งแสนโยชน์ (ความจริงไม่ถึงแสนโยชน์ แต่พูดตามอารมณ์กวี)
บาท ๔...บทนี้ไม่ค่อยเข้าใจความชัด พอจะเดาความได้รัวๆ ว่า ถึงแม้จะจากนางมาไกล แต่ยังรำลึกได้ถึงสิ่งที่เราเคยร่วมรู้กันสองคน


๑๐๔. ยากมาเมืองแม่น้ำ....ใจหมอง
เมืองก็ศูนย์กลสอง............สวาทว้าง
ขวัญเมืองอยู่เมืองครอง.....ใจเครา พี่ฤา
ฤาพี่จากมาค้าง................ขวบแล้วนางลืม


บาท ๑...ยกทัพมาถึงตำบลเมืองแม่น้ำ ให้รู้สึกไม่สบายใจ
บาท ๒...เมืองที่ตรงนี้ก็ศูนย์ไปเสียแล้ว เช่นเดียวกับที่เราทั้งสองศูนย์ความรัก
บาท ๓...น้องอยู่ที่เมือง จะยังคอยพี่อยู่หรืออย่างไร
บาท ๔...หรือการที่พี่จากมาตั้งปีนั้น จะทำให้น้องลืมพี่เสียแล้ว


๑๐๕. อู่สะเภาพาณิชใช้.....ใบคลา
ทุกข์พี่พ้นเภตรา...............เลื่อนโล้
จากสมรแม่เสมอมา..........กลางสมุทร
แลบ่เห็นตระหลิ่งโอ้..........อกคว้างกลางชล


บาท ๑...มาถึงตำบลอู่สะเภา (เมื่อได้ยินคำ อู่สะเภา ก็นึกถึง) พวกพ่อค้าที่ใช้เรือแล่นใบเดินทางไป
บาท ๒...ทุกข์ของพี่ยิ่งกว่าเรือที่แล่นไปนั้นเสียอีก (ที่เปรียบกับเรือ เพราะเรือบรรทุกของ) คำบรรทุก-ทุกข์ เสียงคล้ายกัน)
บาท ๓...พี่จากนางมานี้เปรียบเหมือนมาอยู่กลางทะเล
บาท ๔...มองไม่เห็นตลิ่ง มาเคว้งคว้างอยู่กลางน้ำ (คำว่า โอ้อก นั้นเป็น อุทาน)

ศัพท์...
- พาณิช........พ่อค้า พาณิชย์ - การค้าขาย
- เภตรา.........เรือ
- โล้...............ทำให้แล่นไป โล้เรือ
- ตระหลิ่ง.......ตลิ่ง แผลง ต เป็น ตระ


๑๐๖. หนองบัวบงกชช้อย...ชูชวน ชื่นเอย
บัวดั่งบัวนุชอวล...............อ่อนน้ำ
กระบอกทิพย์ผกากวน.......กาเมศ กูเอย
ภุมเรศแรมรสกล้ำ............กลีบฟ้ายาไฉน


บาท ๑...มาถึงตำบลหนองบัว เห็นบัวขึ้นงอกงาม ชวนชื่นใจ
บาท ๒...บัวนั้นเหมือนกับบัวของน้อง บัวของน้อง = นม, อวล = หอม
อ่อนน้ำ = งามอยู่ในน้ำ หมายความเพิ่งตูม
บาท ๓...กระบอกทิพย์ผาก เป็นคำกล่าวเชิงเทียบหมายถึง นม ดอกไม้สวรรค์อันตูมนั้น กวนให้ข้าเกิดความใคร่
บาท ๔...คำว่า กลีบฟ้า ก็เป็นคำกล่าวเชิงเทียบ หมายถึง นม ก็ได้ แมลงภู่ (คือตัวนายนรินทร) ได้จากการ่วมรสมาดังนี้ กลีบฟ้า (น้อง – นม) บัดนี้จะเป็นประการใด
คำว่า ยา นั้น สงสัยว่าจะหมายถึง พี่ยา หรือ ยาใจ น้องยา ดูตามความของบทนี้ น่าจะหลายถึง น้องยา

ศัพท์...
- บงกช.........บัว
- กาเมศ........กาม + อีศ (คำสกรรถ)
- ภุมเรศ........ภมร + อีศ (คำสกรรถ)


๑๐๗. ศิขรศิขเรศเงื้อม......เงางาม
แลเล่ห์ฉากเขียนเขา.........คั่นห้อง
พ่างเพียงแผ่นผาเฉลา.......ฉลักลวด ลายแฮ
กลหนึ่งเตียงนอนน้อง........ม่านกั้นกำบัง


คำ ศิขร ในบาทหนึ่งมีผู้สงสัยว่า จะเป็นด่านสิงขร แต่เห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะนายนรินทรไปไม่ถึงที่นั่น
บาท ๑...(แลเห็น) ภูเขาสูง (สลับซับซ้อน) งดงาม
บาท ๒...เหมือนภูเขาที่เขียนไว้บนฉากที่คั่นห้อง
บาท ๓...ภาพภูเขาเหล่านี้ (อีกทีหนึ่ง) เปรียบเหมือนม่านที่บังเตียงนอนของน้อง)
บาท ๔...มองดูภูเขาเหล่านี้ (อีกทีหนึ่ง) เปรียบเหมือนม่านที่บังเตียงนอนของน้อง)
คำว่า ศิขรศิขเรศ นั้น บางท่านแปลว่า ยอดเขาน้อย ยอดเขาใหญ่ แต่ศัพท์ แปลว่า เขา – เขา (ศิขร + ศิขร) ซ้ำกันเท่านั้นเอง

ศัพท์...
- เล่ห์............ เงื่อน อุบาย ล่อลวง คล้าย เปรียบ


๑๐๘. ผาเผยพุพ่างน้ำ.......ฝอยฝน
คือสุหร่ายโรยชล.............ช่วยร้อน
สาครร่วมสรงสกนธ์..........ไกลพี่ แล้วแม่
อ้าแม่เอยจักอ้อน.............อาบน้ำตาแทน


บาท ๑...ที่ผาแห่งหนึ่งมีพุพลุ่งออกมา ดังฝอยฝน
บาท ๒...คล้ายๆ กับสุหร่ายที่โปรยน้ำ มาช่วยระงับความร้อน
บาท ๓...น้ำ – ที่เราใช้อาบร่วมกันนั้น ยู่ไกลพี่เสียแล้ว
บาท ๔...น้องของพี่จะโศกเศร้า (ร้องไห้) อาบน้ำตาแทนน้ำ

ศัพท์...
- สุหร่าย.......ฝักบัว ที่ใช้โปรยน้ำ
- สาคร.........น้ำ
- อ้อน...........ร้องไห้


๑๐๙. เคยปรุงประทิ่นแป้ง....ปนละออง อบเอย
สรงสว่างใจสอง...............ครุ่นครั้ง
จอกจันทร์จากจรุงหมอง.....ราแม่
พานใส่เสาวคนธ์ตั้ง...........แต่งให้ใครทา


ให้สังเกตว่า ตั้งแต่โคลงบาทที่ ๑๐๗ นายนรินทรพูดถึการอาบน้ำ แล้วความคิดก็ต่อเนื่องมาถึงบทที่ ๑๐๙ – ๑๑๐ เกี่ยวกับเรื่องอาบน้ำทั้งนั้น
บาท ๑...(ครุ่นคิดเมื่อครั้ง) เคยใช้แป้งหอมปรุงกับน้ำอบ
บาท ๒...ใช้แป้งปรุงนั้นทาตัวสบายใจทั้งสองคน
บาท ๓...จอก (ที่ใส่) กระแจะจันทร์นั้น เมื่อ (พี่) จามาคงคลายหอมแล้วกระมังน้อง
บาท ๔...ส่วนพานที่ใส่น้ำหอมตั้งไว้นั้น น้ำหอมจะให้ใครทา

ศัพท์...
- ประทิ่น.......เครื่องหมอ หอม
- สรง............อาบ ทา
- จรุง............หอม ยั่วใจ
- เสาวคนธ์....เสาว (สุ = ดี) คนธ์ (กลิ่น) กลิ่นหอม น้ำหอม


๑๑๐. คันฉายคันฉ่องน้อย....เสนียดนาง พี่เอย
จากจะลืมเสยสาง.............สระเผ้า
โศกเสียสิ่งสำอาง.............อายโอ่ ฤาแม่
พักตร์จะผัดผจงเกล้า.........เยี่ยมแย้มแกลคอย


บาท ๑...คันฉาย คันฉ่อง อันน้อยๆและหวีเสนียดของนาง
บาท ๒...(เมื่อพี่) จากมานางคงจะลืมสระผม...หวีผม
บาท ๓...คงจะมีแต่ความโศก ละทิ้งเครื่องสำอาง เพิกเฉยต่อความงามเสียแล้วกระมัง
บาท ๔...(หรือว่า) แม่จะผัดหน้า เกล้าผม เยี่ยมหน้าต่างคอยพี่อยู่

ศัพท์...
- คันฉาย......กระจกส่องมีด้ามถือ
- คันฉ่อง......กระจกตั้ง
- เสนียด.......หวีฟันถี่
- แกล...........หน้าต่าง
- สิ่งสำอาง....เครื่องหอม


๑๑๑. หลัดหลัดพลัดพรากแก้ว...กานดา พี่เอย
ลิ่วแต่ตัวเรียมมา..............ตกไร้
ขวัญแขวนอยู่ขวัญตา.......ทุกเมื่อ
เรียมร่ำไข้ฟ้าไข้................แผ่นพร้องรำพัน


บาท๑...อยู่หลัดๆ ก็ต้องมาพรากจากน้องที่รักของพี่ไป
บาท๒...ตัวพี่จากมาตกไร้อยู่ห่างไกล
บาท๓...(แต่) ขวัญ (คือใจ) ของพี่ยังคงอยู่กับน้องทุกเวลา
บาท ๔...พี่ร่ำไห้ เป็นทุกข์และรำพันถึงน้อง (และ) ท้องฟ้าก็ดูคลุมเครือดังจะเป็นไข้ (ใจ) อย่างพี่
(บาท๔ นี้แม้จะไม่มีคำศัพท์ที่ยากเลย แต่นายนรินทร์ก็ละคำไว้ในฐานที่เข้าใจ จนไม่อาจตีความให้ชัดเจนได้)

ศัพท์...
- กานดา....... เมีย หญิงที่รัก
- ขวัญ..........มิ่งขวัญ ที่ประจำอยู่กับตัวคน จะหมายถึงจิตใจก็ได้
- ขวัญตา......นาง เมีย หญิงที่รัก
- พร้อง.........พูด กล่าว


๑๑๒. ลงลุแก่งตุ่มตั้ง........โศกา
แสนตุ่มตวงชลนา.............พี่พ้น
กลืนโศกสุดอกอา............ดูรเทวษ วายเลย
ซับแต่สายเนตรล้น...........ลูบร้อนฤาเย็น


บาท ๑...กองทัพมาถึงตำบลแก่งตุ่ม (พี่) ก็ได้แต่โศกเศร้า
บาท ๒...น้ำตาของพี่นั้น แม้จะเอาตุ่มตั้งแสนมาตวง (ใส่) ก็ไม่พอ
บาท ๓...(พี่) ได้แต่คอยซับน้ำตาที่ล้นเบ้าตาไหลออกมา ใช้น้ำลูบกาย น้ำก็ร้อน ไม่รู่สึกเย็นเลย

ศัพท์...
- ชลนา........น้ำตา ควรเป็น ชลนัยนา (ตัดคำกลาง นัย ออก)
- อาดูร.........เดือนร้อน เจ็บปวด ซอกช้ำ


๑๑๓. คุลาตีอกไห้............หาใคร
นามจึ่งปรากฏใน..............แก่งนี้
เจ็บจากพี่เจ็บใจ...............เจ็บยิ่ง เจ็บฤา
เจ็บบ่ปานกูลี้...................ลาดข้อนทรวงครวญ


บาท ๑...ตำบลแก่งคุลาตีอก (ที่ชื่ออย่างนี้นั้น เพราะ) คุลาตีอกร้องไห้หาใครหรือ
บาท ๒...จึงมีชื่อปรากฏที่แก่งนี้
บาท ๓...การที่พี่จากมานั้น เจ็บยิ่งกว่าสิ่งใดๆ (บาท ๓ – ๔ เล่นคำ เจ็บ)
บาท ๔...เจ็บอะไรก็ไม่เท่ากับที่ (ข้า) ต้องจากนางมา ต้องมาตีอกด้วยความทุกข์ (ถึงนาง)

ศัพท์...
- คุลา...........คุลา คนจำพวกหนึ่ง (ชาวมะละแหม่งในพม่า) พวกนี้สักเต็มตัว ไทยเรายังหมายถึง คนดำ
คนต่างถิ่น ชาวทางเหนือของไทย เรียกฝรั่งว่า คุลาขาว)
- แก่ง.............ร่องน้ำไหล ที่มีหินขวางระเกะระกะ


๑๑๔. สงสัยด้วยแก่งแก้ว...สงสาร
จากสิ่งใดใดราญ..............ร่นร้อง
แก่งเกิดวิการดาล.............ดุจอก พี่ฤา
เรียมก็โศกาก้อง..............แก่งแก้วกันแสง


ตอนนี้ เดินทัพมาถึงแก่งแก้วสงสาร
บาท ๑...มีความสงสัยชื่อแก่งนี้ ว่าเหตุใดจึงชื่อก่งแก้วสงสาร
บาท ๒...แก่งต้องจากสิ่งใด หรือะไรมาทำอันตราย จึงร้องคร่ำครวญ (ความในบาท ๒ นี้ ทำให้เข้าใจว่า แก่งแก้วสงสารนี้ คงจะมีน้ำไหลเสียงซู่ซ่า นายนรินทร จึงว่า แก่ง (ร่น) ร้องไห้
บาท ๓...หรือว่าแก่งจะเกิดความเดือดร้อนอย่างอกของพี่
บาท ๔...พี่ก็ร้องไห้ก้องไป เช่นเดียวกับแก่งเหมือนกัน

ศัพท์...
- ราญ...........รบ ทำอันตราย
- ร่น..............ตามศัพท์แปลว่า ถอย เลื่อนกลับ แต่ในที่นี้เข้าใจว่าเป็นคำคู่กับร้องนั่นเอง
- กันแสง.......ร้องไห้


๑๑๕. เดินทางพลางพี่ไห้...โหยหวน
ถึงแก่งนามนางครวญ........ครุ่นนั้น
อ้าแม่จักกำสรวล..............เสมอแก่ง นี้ฤา
ฤาว่าโศกสมรกลั้น............เทวษถ้าเรียมถึง


บาท ๑...เดินทัพมา พี่ก็ร้องไห้คร่ำครวญเรื่อยมา
บาท ๒...จนถึงแก่งนางครวญนั้น (คำว่า ครุ่น คือ ครวญ กลุ้มใจ ไม่สบายใจ)
บาท ๓...น้องจะคร่ำครวญเหมือนแก่งนี้หรือประการใด
บาท ๔...หรือว่าน้องกลั้นความทุกข์ไว้คอยเวลาที่พี่จะกลับไปถึง


๑๑๖. ถับถึงปากร่วมน้ำ......คะนึงนาง
ถามข่าวไปปากพราง.........พี่พร้อง
อรมาท่าหลงทาง..............ฉงนอยู่
ปากร่วมวานปากร้อง.........เรียกเจ้ามาจร


บาท ๑...มาถึงตำบลปากร่วมน้ำ ก็ให้คิดถึงนาง
บาท ๒...พี่ได้ถามข่าวถึงนาง แต่ปากน้ำก็ไม่บอกพี่
บาท ๓...น้องจาคอยพี่อยู่ที่นี้ แล้วหลงทาง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนกระมัง (ที่นายนรินทรคิดดังนี้ เพราะคำว่า ปากร่วมน้ำ ชักนำให้นึกไปเช่นนั้น)
บาท ๔...ขอยืมปากของตำบลปากร่วมนั้นนี้ เรียกน้องให้มาที่นี่

ศัพท์...
- ฉับ.............ทันที เร็ว พลัน


๑๑๗. เมืองเพชรเขาเพชรแพร้ว....พรายฉาย
เฉกนุชนาดกรกราย..........นพเก้า
แสงเพชรพิศอับอาย.........แหวนนุช พี่เอย
ยอดและยอดรุ่งเร้า..........รอบก้อยกรสมร


มาถึงตำบลเมืองเพชร ไม่ใช่เมืองเพชรบุรี น่าจะเป็นชื่อตำบลแห่งหนึ่งในแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
บาท ๑...ตำบลเมืองเพชรนี้ มีภูเขาหินเป็นประกายแวววาว
บาท ๒...เหมือนนางสวมแหวนนพเก้าเดินนาด
บาท ๓...แสงเพชร (แสงแพรวพราว) ของหินที่ภูเขานั้น พิศดูแล้วแสงของหินนั้นก็อับอาย (สู้ไม่ได้) แสงเพชรที่แหวนของนาง
บาท ๔...แหวนของนางแต่ละยอดนั้น เป็นประกายรุ่งเรืองอยู่รอบนิ้วก้อยของนาง

ศัพท์...
- นพเก้า........หมายถึง แหวนนพรัตน์ ประดับด้วยแก้วเก้าอย่าง


๑๑๘. ถึงตระนาวตระหน่ำซ้ำ...สงสาร อรเอย
จรศึกโศกมานาน..............เนิ่นช้า
เดินดงท่งทางละหาน.........หิมเวศ
สารสั่งทุกหย่อมหญ้า........ย่านน้ำลานาง


ตอนนี้มาถึงตำบลตระนาว (หรือ ตะนาวศรี) อันเป็นระยะทางสุดท้ายที่ปรากฎในนิราศนรินทร์ บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นเมืองตะนาวศรี แต่ตามเรื่องไม่น่าเป็นไปได้ เพราะตามพระราชพงศาวดาร ไม่มีกล่าวว่าเดินทัพไปถึงที่นั้น แต่ว่าได้เดินทัพไปทางเมืองชุมพร จึงสงสัยว่า ตำบลตระนาวศรีคงจะเป็นตำบลหนึ่ง
ตำบลในระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับ ชุมพร

บาท ๑...ถึงตำบลตระนาว (ศรี) ความสงสารนางยิ่งมีเพิ่มพูนขึ้น
บาท ๒...มาในการศึก ได้มีความโศก เป็นเวลาอันนาน
บาท ๓...มาเดินทางในดง ในทุ่ง ในลำธาร ในป่า
บาท ๔...ทุกๆ หย่อมหญ้า ทุกย่านน้ำ พี่ได้สั่งลาฝากถึงน้อง
บาทที่๔ นั้นความดีมาก

ศัพท์...
- ตระหน่ำ.....กระหน่ำ ซ้ำเติม
- หิมเวศ.......ที่อยู่อันหนาว ป่าหิมพานต์ แล้วมาใช้ในความหมายทั่วไปว่า ป่า
- สาร...........เรื่องราว


๑๑๙. แสนศึกแสนศาสตร์ซ้อง...แสนพัน มาแม่
สุดแต่เวทยากัน...............ชีพไว้
ศึกทรวงพี่สุดผจัญ............ใจซู่ โศกแม่
จักยุธยาใจได้.................ชีพด้วยนางเดียว


บาท ๑...ถึงข้าศึกตั้งแสนพุ่งอาวุธตั้งพันตั้งแสนมา
บาท ๒...ถ้ามีวิทยาอาคมดี ก็อาจป้องกันรักษาชีวิตไว้ได้
บาท ๓...แต่ศึกภายในใจ เหลือที่จะต่อสู้ เหลือที่จะหักความโศกถึงน้องได้
บาท ๔...จะต่อสู้กับความที่รักน้อง ให้คงชีพอยู่ ก็มีแต่น้องคนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยได้

ศัพท์...
- ศาสตร์........อาวุธ (คำเดิม ศัสตร)
- เวทยา.........วิทยา วิชา คาถาอาคม
- ซู่................สู้ (ต้องการเอก)
- ยาใจ..........นาง (ความรัก)


๑๒๐. รอยโฉมนุชเปลี่ยนปั้น...เป็นทรวงพี่ฤา
ฤาแม่เป็นมณีดวง.............เนตรด้วย
จับจิตพี่จึงตวง.................เต็มเทวษ รักแม่
ดับชีพเกิดใหม่ม้วย...........แผ่นหล้าฤาลืม


โคลงบทนี้นับว่ามีความ และโวหารดีมาก

บาท ๑...ชะรอยว่า นางจะกลายร่างเป็นหัวใจของพี่ หรืออย่างไร
บาท ๒...หรือว่านางจะเป็นดวงตาของพี่อีกด้วย
บาท ๓...พี่จึงมีใจจดจ่อ มีความรักนาง และในใจของพี่จึงตวงเอาความทุกข์ถึงน้องไว้จนเต็ม
บาท ๔...ถึงแม้พี่จะตายแล้วเกิดใหม่ หรือแม้โลกจะทำลายไป พี่ก็จะไม่ลืมน้อง

ศัพท์...
- มณีดวงเนตร...แก้วตา ดวงตา


๑๒๑. บวงเทพทุกเถื่อนถ้ำ....มณฑล ทวีปเอย
ยกแต่สองหัตถ์ตน............ต่างเบี้ย
ขอคนร่วมวิมล.................มาโนชญ์ เรียมนา
แสดงสดับโสตเหงี้ย..........เงียบสิ้นสุดสวรรค์


บาท ๑...ขอบวงสรวงเทวดาอารักษ์ในป่า ในถ้ำ และในที่ทุกแห่ง
บาท ๒...(ไม่มีอะไรบูชา) ได้แต่ยกมือทั้งสองขึ้นไหว้บูชาต่างเบี้ย (เครื่องบวงสรวง)
บาท ๓...ขอให้ได้กลับคืนไปอยู่ร่วมกับน้อง
บาท ๔...เมื่อกล่าวบวงสรวงแล้วก็คอยฟัง แต่ก็เงียบไปหมดจนถึงสวรรค์

ศัพท์...
- เบี้ย............หอย เครื่องในการบวงสรวง
- วิมล...........ไม่มีราคี งาม บริสุทธิ์
- มาโนชญ์....เป็นที่พอใจ งาม เมีย หญิง
- เหงี้ย..........เงี่ย


๑๒๒. พันเนตรภูวนาถตั้ง....ตาระวัง ใดฮา
พักตร์สี่แปดโสตฟัง..........อื่นอื้อ
กฤษณนิทรเลอหลัง..........นาคหลับ ฤาพ่อ
สองพิโยคร่ำรื้อ................เทพท้าวทำเมิน


บาท ๑...พระผู้มีพันตานั้น ตั้งตาคอยระวังใครอยู่
บาท ๒...พระผู้มีสี่พักตร์แปดโสต ก็ฟังแต่เสียงอื่นเสียหมด
บาท ๓...พระนารายณ์ ก็บรรทมหลับเหนือพระยานาคหรืออย่างไร
บาท ๔...ท่านเหล่านั้นจึงได้เมินเฉยต่อความโศกเศร้า ร่ำร้องของเราทั้งสอง

ศัพท์...
- พันเนตร......สหัสนัยน์ พระอินทร์ เจ้าแห่งอากาศเป็นเทพซึ่งคอยช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกยาก มีชื่ออย่างอื่นเช่นเพชรปาณี สวรรคบดี เมฆวาหน
- พักตร์สี่แปดโสต...พระพรหม
- กฤษณะ......พระนารายณ์
- นาค............พญาอนันตนาคราช ที่พระนารายณ์บรรทม


๑๒๓. นิทานนิเทศท้าว...องค์ใด ก็ดี
ทุเรศแรมสมรไท.............ท่านร้าง
แสนเทวษเท่าไรไป..........ปานอก พี่เอย
ปวงประสบคู่ค้าง............แต่ข้านานคืน


บาท๑...นิทานที่เล่าเรื่องท้าวพระยาองค์ใดก็ตาม
บาท ๒...ที่ท่านได้จำพรากกับนางผู้เป็นที่รัก
บาท ๓...ถึงท่านเหล่านั้นจะมีความทุกข์โศกสักเท่าใด ฤๅอาจเปรียบกับความทุกข์ในอกพี่
บาท ๔...และท่านเหล่านั้นก็ได้กลับคืนมาพบกับนางผู้เป็นที่รักทุกองค์ ส่วนพี่นั้นนานแล้วยังไม่ได้คืนไปพบนางเลย
เรื่องนิทานท้าวพระยาที่นายนรินทร์พูดถึงนี้ มีหลายคู่
เช่น พระราม - นางสีดา, พระอนิรุทธ์ - นางอุษา, พระสมุทรโฆษ - นางพินทุมดี, พระสุธน – นางมโนรา ล้วนจากกันแล้วได้กลับคืนสู่กันทุกคู่

ศัพท์...
- นิเทศ.........แสดง จำแนก ชี้แจง เรื่อง
- ทุเรศ.........ลำบาก น่าสมเพช
- ไป....ไป่ ไม่


๑๒๔. กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง...เพรงกาล
จากจุฬาลักษณ์ลาญ.........สวาทแล้ว
ทวาทศมาสสาร...............สามเทวษ ถวิลแฮ
ยกทัดกลางเกศแก้ว..........กึ่งร้อนทรวงเรียม


บาท ๑...ที่ศรีปราชญืเศร้าโศกในกาลก่อน
บาท ๒...เพราะมีความทุกข์ที่จาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
บาท ๓...และเรื่องทวาทศมาส ที่กวีสามคนแต่ง แสดงความเศร้าโศก ที่จากหญิงที่รัก
บาท ๔....ความโศกของท่านทั้งสามนี้ดังจะยกไว้เหนือหัวทีเดียว แต่ถึงกระนั้นยังไม่รุนแรงเพียงกึ่งหนึ่งของความโศกของพี่

ศัพท์...
- ศรีปราชญ์..กวีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้องพรากท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จึงแต่งเรื่องพรรณนาความรัก ชื่อ กำสรวล บางทีเรียกว่ากำสรวลศรีปราชญ์ (ซึ่งเป็นการเรียกที่ผิดพลาด..->>..ชื่อที่ถูกต้องคือ...กำสรวลสมุทร) เป็นทำนองนิราศอย่างเรื่องนิราศนรินทร์
- ทวาทศมาส...แปลว่า ๑๒ เดือน เป็นโคลงทำนองนิราศเหมือนกัน แต่งในราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผู้แต่งว่ามี ๓ คน คือ ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ


๑๒๕. ชายาเยาวยอดชู้....โฉมสวรรค์ พี่เอย
รอยว่าอินทร์พรหมสรรค์....เสกแสร้ง
เลือกลักษณ์ละอันปัน........เป็นรูป นุชฤา
มอบมิ่งสมรมาแกล้ง.........พี่กลั้นใจตาย


บาท ๑...น้องที่รักผู้มีโฉมอันงามดังนางฟ้าของพี่
บาท ๒...ชะรอยว่า พระอินทร์ พระพรหม ได้แกล้งปั้นรูปนาง
บาท ๓...โดยเลือกสิ่ง (อันสวยงาม) แต่ละอย่างมาปั้นเป็นรูปนางขึ้น
บาท ๔...แล้วส่งนางมาแกล้ง ให้พี่ต้องกลั้นใจตาย (ด้วยความรัก)

ศัพท์...
- ชายา..........เมีย
- เยาว...........อ่อน
- ยอดชู้..........เมีย
- โฉมสวรรค์...นางฟ้า
- ลักษณะ.......รูป แบบ


๑๒๖. คิดคลึงสาโรชสร้อย....เสาวมาลย์ แม่นา
ภุชเคนทรสำราญ.............แหล่งเหล้น
สระสวรรค์นิราสนาน.........ไฉนนาฎ เรียมเอย
สรงเกษมสระสมรเฟ้น.......ฝั่งฟ้าฝันถึง


โคลงบทนี้ เป็นเชิงสังวาสตลอด ข้อความกล่าวพาดพิง เป็นนัย มีความคิดต่อเนื่องกัน คือ พูดถึงดอกบัว แล้วก็คิดถึงสระ แล้วคิดถึงพระยานาค (บาท ๒) ซึ่งลงเล่นนั้น เมื่อนึกถึงสระ นึกถึงพระนาคเล่นน้ำ แล้วก็เลยนึกถึงสระของนางที่เขา (นายนรินทร) ร้างไป

ศัพท์...
- สาโรช........ดอกบัว
- สร้อย.........นาง หมายว่า งาม ก็ได้
- เสาวมาลย์..เสาว (สุ = ดี งาม) + มาลย์ (ดอกไม้)
- สาโรชสร้อยเสาวมาลย์ หมายถึง นม
- ภุชเคนทร....ภุชค + อินทร (ภุชค = งู ภุชเคนทร์ คือ งูใหญ่ พระยานาค)


๑๒๗. เปรมปรางปรุงธูปฟ้า....อรอวล ใจเอย
จูบฤจางหอมหวน.............ละห้อย
โฉมทิพย์สุคนธ์ควร..........จากพี่ เจียวแม่
ถนอมนิเบามือน้อย..........จิตเจ้าจากไฉน


บทนี้ก็ยังอยู่ในเชิงสังวาส
บาท ๑...แก้มของนางนั้นหอมเหมือนกับธูปสวรรค์
บาท ๒...จูบแล้วกลิ่นหอมติดมิจาง เมื่อคิดถึงก็ให้ละห้อยใจ
บาท ๓...นางผู้มีกลิ่นหอมอย่างทิพย์ จะควรจากพี่ไปเชียวหรือ
บาท ๔...เวลาพี่จับต้อง ก็จับแต่น้อยๆ เบาๆ อย่างทะนุทถนอม ดังนี้แล้วน้องจะจากไปได้อย่างไร

ศัพท์...
- โฉมทิพย์สุคนธ์...เมีย แต่พูดเป็นทำนองยกย่องว่า นางผู้มีกลิ่นหอมดังกลิ่นทิพย์
- นิ...............นี่


๑๒๘. งอนถันทิพย์ยอดย้อน...ยันทรวง พี่แม่
กอดนักเยียวอบพวง.........พุ่มลื้น
ถนอมแอบอุ่นคือดวง........ตราติด พี่ฤา
จากอกออกราชื้น.............ชุ่มช้ำเป็นหนอง


เช่นนี้ก็เช่นเดียวกับบท ๑๒๗ ที่กล่าวเป็นเชิงสังวาสเช่นนี้ ประเพณีของกวีท่านยอมให้ ไม่ว่าเป็นเรื่องหยาบคาย เว้นแต่จะแต่ง นอกนอกลู่นอกทางเกินสมควร

ศัพท์...
- ทิพย์...........เป็นเทวดา ดี วิเศษ ถ้าจะแสดงว่า อะไรเป็นของดีวิเศษอย่างยิ่ง ก็เอา คำทิพย์ ประกอบเข้า
- ถัน.............นม
- พวงพุ่ม.......นม
- ลื้น.............สลด เศร้า เจ็บ อาย ชอกช้ำ


๑๒๙. แว่วแว่วเสาวณิตน้อง....นางทรง เสียงฤา
สรวลกระซิกโสตพะวง.........ว่าเจ้า
คล้ายคล้ายดำเนินหงส์.......หาพี่ ฤาแม่
อ้าใช่อรเรียมเศร้า...............ซบหน้ากันแสง


บาท ๑...ได้ยินเสียงแว่วๆ คล้ายเสียงน้องพูด
บาท ๒...หูได้ยินเสียงหัวเราะ ใจก็พะวงฟังว่าเป็นเสียงน้อง
บาท ๓...ตามองเห็นว่าน้องเดินนวยนาดมา คลับคล้ายคลับคลา
บาท ๔...(แต่ครั้นแล้ว) ก็หาใช่น้องไม่ พี่เลยต้องเชยหน้าร้องไห้

ศัพท์...
- โสต............ หู
- ดำเนินหงส์...เดินอย่างหงส์ มีท่าทางอ่อนชดช้อยน่าดู


๑๓๐. พวงจาวเจิดแจ่มแก้ว...จักรพรรดิ พี่เอย
สมเสมอสมรรัตน์.............แท่งแท้
จำเริญจำเราสวัสดิ์............สังวาส
เล็งเลียบดินฟ้าแพ้............ภพนี้ฤาหา


บทนี้กล่าวเป็นเชิงสังวาส
บาท ๑...ถันของน้องนั้นเจิดแจ่มดังแก้ว
บาท ๒...(ความบทนี้สู้ชัดเจนนัก คำว่า แท่ง นั้นอะไร แต่พอเดาเอาความได้ว่า) รูปร่างของนางนั้นเสมอด้วยนางแก้วแห่งจักรพรรดินั่นเทียว
บาท ๓...เราได้ร่วมรสกันด้วยความสุขสำราญ
บาท ๔...ความสุขสำราญแห่งการร่วมรสของเรานั้น จะหา(ความสุข) บนฟ้าบนดินมาเทียบมิได้

ศัพท์...
- จาว............ แปลได้หลาย เช่น ฟองน้ำ เทวดา ลง จาวมะพร้าว จาวตาล ในที่นี้คำพวงจาวหมายถึง
นม ถัน
- จักรพรรดิ....ตามศัพท์ว่า ผู้ไปได้ทุกแห่งโดยไม่มีที่ติดขัด หมายถึง ราชาธิราช จักรพรรดิย่อมมีแล้ว ๗ ประการ คือ ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, เมียแก้ว, ขุนคลังแก้ว, ขุนพลแก้ว, ลูกแก้ว, แก้วรัตนะ


๑๓๑. สาวสวรรค์เสพสวัสดิ์ถ้วน...เทวินทร์
พรหมภักษ์ทิพย์ปัถพิน......งอกง้วน
จักรพรรดิร่วมนารินทร์.......รัตนนาฎ
สามเสพทิพย์ลาญล้วน......เล่ห์น้องเรียมเกษม


บาท ๑...นางฟ้าร่วมกับเทวดา
บาท ๒...พรหมกินง้วนดิน
บาท ๓...จักพรรดิร่วมกับนางแก้ว
บาท ๔...ทั้งสามคู่นี้ร่วมกันด้วยสุขารมณ์ ประดุจพี่กับน้องร่วมกัน

ศัพท์...
- สาวสวรรค์...นางฟ้า
- เสพ.............กิน ร่วมกัน คบหา
- สวัสดิ์....ความสะดวก ความสบาย ความเจริญ
- เทวินทร์....เทว + อินทร์
- ภักษ์....กิน อาหาร
- ปัถพิน....แผ่นดิน (ควรเขียน ปัฐพิน – คำบาลี ถ้าเป็นสันสกฤตเขียน ปฤถวี)
ในเรื่องสร้างโลกว่า เมื่อไฟบัลลัยกัลป์ล้างโลกแล้ว พอไฟดับ ดินเกิดมีกลิ่นหอม (เพราะเหตุจากไฟเผา) ขึ้นไปถึงสวรรค์ พวกพรหมได้กลิ่น เหาะลงมา กินง้วนดิน เลยเสื่อมฤทธิ์เหาะไม่ได้ คงอยู่บนพื้นโลกเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์


๑๓๒. จากเจ็บยิ่งโรคเร้า....รึงสกนธ์
แสบเสียดขุมขนจน..........อกด้าน
ยาทาประทับทน...............ทานเทวษ ได้ฤา
แรงรับเหลือแรงต้าน.........พี่แพ้แรงโรย


บาท ๑...ความทุกข์ในการที่จากมานั้นยิ่งกว่าโรคที่สิงอยู่ในกาย
บาท ๒...ความทุกข์ (ความเจ็บ) เที่ยวแทรกอยู่ทุกขุมขน รู้ลึกเจ็บแสบ และอกก็ชาไปด้วยความเจ็บ
บาท ๓...อันความทุกข์นี้จะหายาทารักษาก็มิได้
บาท ๔...ความทุกข์ครั้งนี้เหลือกำลังที่จะรับ ที่จะต้านทานที่หมดสิ้นกำลัง (ด้วยความทุกข์) แล้ว


๑๓๓. ฤดูระด่าวร้อน..........แดนไตร
ลามผ่าวพฤกษ์พรากใบ......หล่นแล้ง
ทรวงพี่ผ่าวเผาไฉน...........นะนาฎ เรียมเอย
ยังยิ่งทินกรแจ้ง...............จวบสิ้นศูนย์กัลป์


เชิงโวหารของโคลงบทนี้ นับว่าดีมาก
บาท ๑...เป็นหน้าร้อน ร้อนแรงไปทั่วสามโลก
บาท ๒...ความร้อนนี้ทำให้ต้นไม้ใบร่วง
บาท ๓...แต่หัวอกของพี่นั้นร้อนเพียงใด น้องรู้หรือไม่
บาท ๔...(หัวอกพี่) ร้อนยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ เมื่อยามจะสิ้นกัลป์

ศัพท์...
- ระด่าว........ร้อนรน ร้อนยิ่ง
- แดนไตร.....สามภพ นรก สวรรค์ มนุษย์ บ้างก็แบ่งว่า รูปภพ อรูปภพ กามภพ
- นาฏ..........ผู้ฟ้อนรำ แต่เราหมายถึงหญิง
- ทินกร.........พระอาทิตย์
- จวบ...........ประจวบ
- กัลป์...........คือเวลา ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ x ๓๖๐ ปี พอครบเวลาเท่านี้ ไฟจะมาล้างโลก เรียกว่า ไฟบัลลัยกัลป์ ก่อนจะเกิดไฟ พระอาทิตย์จะมีแสงแรงกล้า จนสิ่งต่างๆ ลุกเป็นไฟ


๑๓๔. นทีสี่สมุทรม้วย.......หมดสาย
ติมิงคล์มังกรนาคผาย........ผาดส้อน
หยาดเหมพิรุณหาย...........เหือดโลก แล้งแม่
แรมราคแสนร้อยร้อน........ฤเถ้า เรียมทน


บาท ๑...(แม้) สมุทรทั้งสี่จะแห้งไป
บาท ๒...จนปลาติมิงคล์ มังกร และนาค ต้องหาที่ซ่อน
บาท ๓...(รวมทั้ง) ฝนไม่ตกเลยแม้แต่เม็ดเดียว จนโลกแห้งแล้ง ก็ดี
บาท ๔...ความร้อน แสนร้อนนั้น ยังไม่เท่าความร้อนที่ต้องทนทรมานด้วยความใคร่ในตัวน้อง

ศัพท์...
- นทีสี่สมุทร....(นที..น้ำ) สมุทรทั้ง ๔ คือ สมุทรที่อยู่กลางระหว่างทวีปอุตตรกุรุ...ทวีปอมรโคยาน...ทวีปชมพู...ทวีปปุพพวิเท่ห์ ตามตำราไตรภูมิว่า โลกมนุษย์มี ๔ ทวีป
- ติมิงคล์....ปลาใหญ่ที่หนุนโลก คู่กับปลาอานนท์ (อนนต์)
- เหม....ทอง
- พิรุณ....ฝน (เอาคำ เหม ประกอบเพื่อให้ไพเราะขึ้น แต่คำ เหม อาจมาจาก..หิม แปลว่าเย็น ก็ได้)
- เถ้า....เท่า (คำตกตำแหน่งโท...เลยต้องใช้โทโทษ)


๑๓๕. ฤดูเดือนเมฆย้อย.....หยาดเผลียง
โซมสาดธรณิศเพียง..........เพียบน้ำ
ชระมัวทั่วทิศเอียง............อากาศ
อกแผ่นดินฟ้าคล้ำ............คู่คลุ้มทรวงศัลย์


บาท ๑...ถึงฤดู(ฝน) เมฆย้อยลงต่ำ หยาดเม็ดฝนลงมา
บาท ๒...(ฝน) ตกลงมาอย่างหนัก จนแผ่นดินเจิ่งนองไปด้วยน้ำ
บาท ๓...ทั่วทิศก็มืดมัว ท้องฟ้าก็ดูโอนเอนไป (คำว่า เอียงอากาศ คือท้องฟ้าเอียง นั้นพูดตามความนึกคิดของกวี ซึ่งเห็นไปว่า การที่ท้องฟ้าครึ้มมืดมัวนั้นคล้ายฟ้าจะเอียงพังลงมา)
บาท ๔...อาการที่แผ่นดิน แผ่นฟ้ามืดครึ้มไปดังนี้ (ดูราวกับเป็นทุกข์โศก) คู่กับหัวอกพี่ที่เป็นทุกข์

ศัพท์...
- เผลียง....ฝน
- ธรณิศ....ธรณี (แผ่นดิน) + อิศ
- ชระมัว....มืดครึ้ม


๑๓๖. อุทโฆษรามสูรขว้าง....ขวานฉวาง
พรายมณีเมขล์นาง...........ล่อไหล้
อัมพรอุทรคราง...............เรียมคร่ำ ครวญแม่
เสียงสุดเสียงฟ้าไห้...........ครุ่นแค้นครางตาย


บาท ๑...รามสูรขว้างขวานเสียงดังกึกก้อง
บาท ๒...นางมณีเมขลา ล่อแก้วปลาบๆ ให้รามสูรไล่
บาท ๓...ท้องฟ้าคร่ำครวญ (เสียงฟ้าร้อง) พี่ก็คร่ำครวญถึงน้อง
บาท ๔...เสียงร้องคร่ำครวญ (ของพี่นั้น) ดังกว่าเสียงฟ้า พี่เห็นจะครวญครางจนตาย เพราะความแค้น (ทุกข์) ครุ่นอยู่ในอก

ศัพท์...
- อุทโฆษ......อุโฆษ กึงก้อง
- รามสูร.......พญายักษ์ ถือขวาน ตามตำนานทางพราหมณ์ว่า เวลาฤดูฝน นางฟ้า เทวดามาจับระบำกัน นางเมขลากับรามสูรก็มา รามสูรเห็นแก้วของนางเมขลาเกิดชอบใจ ตรงเข้าแย่ง นางเมขลาก็เอาแก้วฉายแสงเข้าตารามสูร (เกิดฟ้าแลบ) รามสูรโกรธก็เอาขวานขว้าง (ฟ้าผ่า)
- มณีเมขล์.....นางมณีเมขลา
- ไหล้............ไล่ (ต้องการ โท)
- อัมพร..........ฟ้า
- อุทร............ท้อง


๑๓๗. ฤดูลมชระล่องเนื้อ...หนาวใด เปรียบเลย
อกพี่เยือกเย็นไกล...........กอดเกี้ยว
พันผืนพัสตราไป..............ปานกึ่ง กรแม่
อุ่นอัคคีเสื้อเสี้ยว..............ซีกนิ้วนางผงม


ให้สังเกตว่า โคลงบทที่ ๑๓๓ นั้น นายนรินทร์พูดถึงฤดูร้อน บทที่ ๑๓๕ พูดถึงฤดูฝน บทนี้พูดถึงฤดูหนาว แต่ล้วนคาบเกี่ยวไปถึงเรื่อความรักเมียเสียทั้งสิ้น
บาท ๑...ฤดูลมพัด เย็นเนื้อ หนาวอะไรก็ไม่เท่า
บาท ๒...หัวอกพี่นั้นเยือกเย็น เพราะห่างจากการกอดน้อง
บาท ๓...เอาผ้าห่มก็ไม่อุ่นแม้เพียงครึ่งหนึ่ง ของความอุ่นที่เกิดจากการกอดของน้อง
บาท ๔...อุ่นด้วยเสื้อ หรือ ด้วยไฟนั้นก็ตาม น้องใช้เพียงเสี้ยว หรือ ซีกหนึ่งของนิ้วมาต้องกายพี่ ก็ยังทำให้อุ่นมากกว่า

ศัพท์...
- ชระล่อง......ล่อง ผ่าน
- พันผืน........อาจเป็นผ้าพันผืน หรือพัน (หุ้มห่อ) ตัวก็ได้ทั้งสองอย่าง
- อัคคี...........ไฟ
- เสี้ยว..........๑ ใน ๔
- ผงม............รักษาดูแล ประคับประคอง


๑๓๘. ลมพัดคือพิษต้อง.....ตากทรวง
หนาวอกรุมในดวง............จิตช้ำ
โฉมแม่พิมลพวง...............มาเลศ กูเอย
มือแม่วีเดียวล้ำ................ยิ่งล้ำลมพาน


บาท ๑...ลมที่พัดมาต้องอก(กาย)นั้น ดังหนึ่งพิษ
บาท ๒...ความหนาวกลุ้มอยู่ในอก รู้สึกช้ำใจ
บาท ๓...อ้า..น้องผู้ประหนึ่งพวงดอกไม้อันงามของข้า
บาท ๔...น้องพัดให้ครั้งเดียวก็รู้สึกเย็นยิ่งกว่าลมพัด

ศัพท์...
- มาเลศ.......มาลา(ดอกไม้) + อิศ
- วี...............พัด
- พาน..........พบ ต้อง ถูก


๑๓๙. เอียงอกเทออกอ้าง...อวดองค์ อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง............เลขแต้ม
อากาศจักจานผจง............จารึก พอฤา
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม.........อยู่ร้อนฤาเห็น


โคลงบทนี้เชิงกวีโวหารดีมาก
บาท ๑...เอียงอกเท (ความรัก) ออกให้นางแลเห็น
บาท ๒...(ความรักของพี่นั้น) จะใช้เขาสุเมรุจุ่มลงไปในมหาสมุทร แล้วมาเขียนบรรยาย
บาท ๓...(ความต่อจากบท๒) เรื่องความรัก บนแผ่นฟ้า แผ่นฟ้าก็หามีที่พอจะเขียนคำบรรยายรักให้จบได้ไม่
บาท ๔...โฉมอันงามดังหยาดฟ้าของพี่ เดี๋ยวนี้น้องจะเป็นทุกข์ร้อน อย่างไร ก็หาทราบไม่


๑๔๐. ตราบขุนคิริข้น.........ขาดสลาย แลแม่
รักบ่หายตราบหาย............หกฟ้า
สุริยจันทรขจาย...............จากโลก ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า.............ห่อนล้างอาลัย


บทนี้เชิงโวหารดีมากอีกบทหนึ่งถือเป็นบทเอก...ในนิราศนรินทร์
บาท ๑...ตราบจนขุนเขาพังทลายลง
บาท ๒...ตราบจนฟ้าทั้งหก หายไป แต่รักของพี่ไม่หาย
บาท ๓...พระอาทิตย์ พระจันทร์จะหายไปจากโลก
บาท ๔...ไฟบัลลัยกัลป์เผาโลกทั้งสี่ก็ตาม แต่จะล้างความรักอาลัยของพี่มิได้เลย

ศัพท์...
- ขุนคิริ....ขุนเขา หมายถึงเขาพระสุเมรุ หรือ เขาไกรลาศ
- หกฟ้า.....คือสวรรค์ทั้งหก ๖ ชั้น มีชื่อดังนี้ สวรรค์ในแนวคิดฮินดูมี หกชั้น คือ จตุมหาราชิก, ดาวดึงส์, ยามะ, ดุสิต, นิมมานรดี, ปรนิมมิตตวสวัตดี
- สี่หล้า....ทวีปทั้ง ๔ (ดูในโคลงบทที่ ๑๓๔)
สรุปความว่า....
แม้นว่าภูเขาสูงใหญ่จะเปื่อยยุ่ยขาดหายถล่มลงไปก็ดี...
แม้นว่าสวรรค์ทั้งหกจะแตกดับสูญไปก็ดี...
แม้จนดวงตะวันดวงจันทร์ถูกห้วงหาวสูบหาย
สูญดับจากโลกไปก็ดี...
แม้จนไฟนรกแล่นเข้าล้างโลกทั้งสี่ก็ดี...
หาได้..ล้างความรักที่พี่มีอยู่ต่อเจ้าลงได้เลยแม้แต่น้อย


๑๔๑. ร่ำรักร่ำเรื่องร้าง.......แรมนวล นาฎฤา
เสนาะสนั่นดินครวญ..........ครุ่นฟ้า
สารสั่งพี่กำสรวล..............แสนเสน่ห์ นุชเอย
ควรแม่ไว้ต่างหน้า.............พี่พู้นภายหลัง


โคลงบทที่ ๑๔๑ ถึง ๑๔๔ เป็นโคลงกล่าวความส่งท้าย
บาท ๑...บรรยายเรื่องความรักความอาลัยที่ต้องจากนาง
บาท ๒...เป็นข้อความอันไพเราะ กล่าวถึงความคร่ำครวญอันดังไปทั่วทั้งฟ้าและดิน
บาท ๓...อันเรื่องนี้เป็นข้อความที่พี่พูดกับน้อง ด้วยความระทมใจ และด้วยความรักน้องอย่างยิ่ง
บาท ๔...ขอให้น้องจงรักษาเรื่องนี้ไว้ต่างหน้าของพี่ในกาลภายหลัง(อนาคต) อันนานโน้นเถิด


๑๔๒. นรินทร์นเรศไท้.......บริบาล
นิพนธ์พจน์พิสดารญาณ.....ยศไว้
กวีวรโวหาร.....................นายหนุ่ม
ควรแก่ปราชญ์ใดได้.........อ่านแล้วเยียรยอ


บาท ๑...นายนรินทร์ ซึ่งเป้นมหาดเล็กของผู้เป็นใหญ่
บาท ๒...ได้แต่งคำอันพิสดารไว้ เพื่อเป็นเกียรติ
บาท ๓...แห่งกวีหนุ่มผู้มีโวหารดี
บาท ๔...พอสมควรที่ปราชญ์ทั้งหลายจะอ่านแล้วยกย่อง

ศัพท์...
- นเรศ...........นร + อิศ = คน
- ไท้...............ผู้เป็นใหญ่
- บริบาล.........ปกป้องรักษา คุ้มครอง รับใช้
- ญาณ...........รู้
- พจน์............ถ้อยคำ
- วร...............ดี วิเศษ


๑๔๓. ใดใดโอษฐ์โอ่อ้าง...ตนดี
เอาปากเป็นกวี.................ขล่อยคล้อย
หากหาญแต่วาที..............เฉลยกล่าว ไฉนนา
ดุจหนึ่งแสงหิ่งห้อย...........ส่องก้นตนเอง


บาท ๑...ผู้ใดก็ตามที่อวดโอ่ว่าเก่งสามารถ
บาท ๒...พูดฟุ้งเฟ้อไปว่าเป็นกวี แต่งกาพย์กลอนได้
บาท ๓...ถ้าแม้กล้าพูดแต่ปากแล้ว (ไม่แต่ง) จะพูดอวดไปทำไม
บาท ๔...ก็เหมือนหิ่งห้อยที่มีแสงวาวๆ สำหรับส่องก้นมันเองเท่านั้น (คือไม่ให้ความสว่างแก่ใคร เปรียบได้กับคนที่โอ้อวดตัวเอง)


๑๔๔. โคลงเรื่องนิราศนี้....นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล...........ว่าไว้
บทใดปราชญ์ปวงฉิน.........เชิญเปลี่ยน แปลงพ่อ
ปรุงเปรียบเสาวคนธ์ไล้.......เลือกลิ้มดมดู


โคลงนี้บอกชื่อผู้แต่งชัดขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง
บาท ๑...โคลงนิราศเรื่องนี้ นายนรินทร์ (อิน)
บาท ๒...ซึ่งเป็นมหาดเล็ก (รองบาท) กรมพระราชวังบวรคิดแต่งไว้
บาท ๓...ถ้าโคลงบทใด นักปราชญ์ยังติว่ามีเสียตรงไหนก็เชิญแก้ไขเถิด
บาท ๔...(เพื่อให้ดีขึ้น) เหมือนกับการปรุงน้ำหอม ปรุงแล้วต้องลองดมดูฉันใด โคลงเรื่องนี้ก็ขอให้ปราชญ์ทั้งหลายเลือกชม และปรับปรุงแก้ไข (ให้ไพเราะ) ขึ้นเถิด



เพลง...ลาวสองคอน





 

Create Date : 20 มีนาคม 2551
74 comments
Last Update : 4 มกราคม 2565 8:22:30 น.
Counter : 257857 Pageviews.

 



ตามมาอ่านและมาศึกษาค่ะ
เวลาพี่เดินทางไปท่องเที่ยว
น่าจะแต่งนิราศมาให้อ่านบ้าง
นกว่า..คงเป็นนิราศที่เยี่ยมอีกเรื่องหนึ่งเป็นแน่นะคะ




 

โดย: Nok_Noah 21 มีนาคม 2551 22:34:13 น.  

 

ขอบคุณมากคะ

 

โดย: น้อง IP: 125.24.58.235 7 กันยายน 2551 20:21:48 น.  

 

ขอบคุณคะ

 

โดย: *-* IP: 117.47.146.46 8 กันยายน 2551 20:18:05 น.  

 

ขอบคุณมากๆค่ะ ดีใจมากๆเลยที่หาเจอ

 

โดย: เด็กม.4 IP: 125.27.146.118 11 กันยายน 2551 17:04:01 น.  

 

มีเด็กฉลาดอยู่ ๓ คนที่หาเจอ
โดยไม่ไปคอยถามอยู่ที่ นิราศนรินทร์ ๑
อยู่นั่น

เวลาเห็นอะไรแล้วไม่ใคร่ครวญว่า....
เขาจะเอาแค่ ตอนเดียว ๔๐ บทมาลงทำไม
ในเมื่อมันไม่จบเรื่อง....

เขาเอาไว้ตรงไหนนะ....
ต้องรู้จักคิดสงสัย...และใช้สมองกันบ้าง

เด็กไทยส่วนใหญ่....
ลองไปอ่านความเห็นกันดู
ในนิราศนิรนทร์ ๑....
หูหนาตาเร่อ...
ไม่อ่านอะไรเลย....ถามกันอยู่นั่น....

๑๐๐ กว่าความเห็น....เขียนบอกไว้ไม่ต่ำกว่า
สองสามหน....ไม่อ่านกันจนต้องปิดช่องความเห็น
ให้อ่านคำชี้แจงแบบนั้น....

ทีนี้ถึงจะ...อ๋อ..เป็นอย่างนี้นี่เอง....
แล้วจะไปเอนทรานซ์ กันไหวหรือแบบนี้

เฮ้อ

 

โดย: สดายุ... 14 กันยายน 2551 8:10:13 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะสำหรับการถอดคำประพันธ์

 

โดย: ฟ้า IP: 203.172.218.220 16 กันยายน 2551 15:54:33 น.  

 

ขอบคุณมากๆเลยนะค่ะ
เว็บนี้ดีจริงๆจ้า

 

โดย: กู๊ดเฟวโล่ว IP: 222.123.94.8 19 กันยายน 2551 19:45:54 น.  

 

คือว่าไม่เคยอ่านนิราศนรินทร์มาก่อน พอมาอ่านดูเพราะดีค่ะ อยากรู้ว่าที่ลงมาทั้ง 4 ตอนนี้ จบรึยังคะ หรือยังมีต่อ จะได้ติดตามค่ะ

 

โดย: เด็กอยากรู้ IP: 61.7.147.193 13 ตุลาคม 2551 8:24:22 น.  

 

4 ตอน...จบแล้วค่ะ

 

โดย: สดายุ IP: 58.137.10.34 14 ตุลาคม 2551 12:27:58 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะพี่

 

โดย: zodiacc IP: 202.5.87.129 24 ตุลาคม 2551 20:14:08 น.  

 

ขอบคุนนะคร้าฟฟ ที่หั่ยข้อมูล ขอบคุนเป็นอย่างสูงคร้าฟฟ มีเนื้อหาดีมากคร้าฟฟฟ ผมจะเอาปัยทำเป็นรายงานส่งอาจารย์ ขอบคุนอีกรอบนะคร้าฟฟฟ

 

โดย: ปุย IP: 125.26.125.80 30 ตุลาคม 2551 0:09:38 น.  

 

ขอบพระคุณอย่างยิ่งนะค่ะข้อมูลทำหั้ยได้ความรู้มากขึ้นเยอะเลยค่ะ เนื้อหาทั้งหมดดีมากเลยค่ะ

 

โดย: น้องม.4 IP: 125.27.48.64 30 ตุลาคม 2551 20:18:32 น.  

 

ขอบคุณมากๆๆคร่า

 

โดย: น้องเมย์ IP: 203.113.17.149 1 พฤศจิกายน 2551 12:36:28 น.  

 

ขอบคุณมากๆเลยนะ

 

โดย: ไก่ IP: 203.172.35.90 5 พฤศจิกายน 2551 20:36:53 น.  

 

ขอบคุณมากๆนะค่ะที่ทำเว็บไซต์นี้ขึ้น
ช่วยหนูในการทำงานเกี่ยวกับภาษาไทยได้มาๆเลยล่ะค่ะ
ขอบคุณจริงๆๆ

 

โดย: ผู้ผ่านมา IP: 124.120.153.57 9 พฤศจิกายน 2551 19:03:32 น.  

 

ขอบคุณมากนะค่ะ

พี่เปนคนดีมากๆๆเลย

ที่อุตส่าห์ช่วยแปลนิราศนรินทร์ตั้งหลายบท

ถ้าไม่ได้พี่หนูคงต้องแปลมั่วๆๆหรือผิดๆๆเป็นแน่

 

โดย: ใครบางคน IP: 58.9.33.22 15 พฤศจิกายน 2551 16:16:22 น.  

 

เนื้อหาดีมากๆ ขอขอบคุณที่ถอดคำประพันธ์ในทุกๆ บท เพราะถ้าไม่เจอในนี้ไม่รุจามั่วที่ไหนแร้ว555
^^

 

โดย: สายลมโบยโบก~ IP: 58.136.51.44 16 พฤศจิกายน 2551 12:12:40 น.  

 

ขอบคุณ นะคะ

ซึ้งมากๆเลย

 

โดย: ม.4 IP: 58.8.188.72 22 พฤศจิกายน 2551 19:26:52 น.  

 

ขอบคุณที่สุดค่ะ . ขอให้มีความสุชความเจริญค่ะ ^^'

 

โดย: ดญม4 IP: 58.8.29.113 25 พฤศจิกายน 2551 1:51:50 น.  

 

ขอบคุณมากๆเลยคร้าฟ ถ้าไมไ่ด้พี่เนี่ย

งานผมแย่แน่ๆเรย พี่ช่วยได้มากเรยนะเนี่นนนนนนนนนนนนนน

ขอบคุณอีกทีนึงคร้าฟฟฟฟฟฟ

 

โดย: RedDazZ IP: 118.173.157.18 3 ธันวาคม 2551 23:09:48 น.  

 

ขอบคุณ

สำหรับข้อมูลในเว็บนะคะ

 

โดย: - IP: 125.26.51.83 21 ธันวาคม 2551 19:52:09 น.  

 

ขอบคุณมั่กมากกกกกกกกกกเลยนะคะ

ที่แปลให้

กำลังเรียนเรื่องนี้อยู่พอดีเลย

ขอบคุณมั่กมากกกกกกกกกกกกเลยนะคะ

 

โดย: เกี๊ยวซ่า IP: 58.9.227.67 21 ธันวาคม 2551 20:01:52 น.  

 

คุณที่แปลสุดยอดมากๆค่ะเก่งมากๆเลย

ขอบคุณนะคะที่มาแปลให้แบบนี้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับบทกลอนนี้


ขอบคุณมากๆค่ะเพราะเมได้ประโยชน์จากที่คุณแปลให้มากๆค่ะ


ขอบคุณจริงๆ

^ ^

 

โดย: เม IP: 117.47.28.52 24 ธันวาคม 2551 20:18:58 น.  

 

ขอบคุณเว็บมาสเตอร์มากคับ

เพราะดี

ถึงบางกลอนจะไม่เต็มหรือแปลตรงเกินไปก็เถอะ

ถือว่าเว็บนี้มีประโยชน์มาก

ขอบคุณครับ

จาก กัมปนาท ขอนแก่นวิทยายน

 

โดย: กัมปนาท ขอนแก่นวิทยายน IP: 114.128.130.166 25 ธันวาคม 2551 20:52:49 น.  

 


สนุกมากๆๆๆๆ
จนจะหลับอยู่แล้ว

 

โดย: เ่รา IP: 222.123.70.244 30 ธันวาคม 2551 15:37:01 น.  

 

แวะมาหานิราศนริทร์ให้เพื่อนค่ะ..

ขอชม..เวบพี่ดีจริงๆ มีอธิบายคำศัพท์ และมีแปลความหมาย..

ปล. ^^

 

โดย: เพื่อน IP: 118.173.145.172 7 มกราคม 2552 23:27:25 น.  

 

หาไม่เจอสักที ............................................

 

โดย: น่ารัก IP: 203.172.168.148 3 กุมภาพันธ์ 2552 16:17:16 น.  

 

ขอบคุนมากๆเลยค่ะ ^^

 

โดย: อาจานร์ช๊านดุ! IP: 115.87.5.62 7 พฤศจิกายน 2552 17:01:19 น.  

 

ขอบคุณนะคะ

 

โดย: หนูรักภาษาแม่ IP: 124.122.219.79 8 พฤศจิกายน 2552 15:58:36 น.  

 

ขอบคุณค๊ะ

 

โดย: แย่ IP: 61.91.163.207 9 พฤศจิกายน 2552 19:27:19 น.  

 

ขอบคุนนะคร่ะที่ช่วยเเปลเหะๆๆ

ไม่งั้นคงไม่เสร็จ


ไงก็มาคุยการได้นะคร่ะ


nets_love@hotmmail.com

ๆไงก่าขอบคุงอีกทีคร๊า

 

โดย: เนสจร้า นามเเฝงยัยเดียงสา IP: 125.27.74.156 11 พฤศจิกายน 2552 5:22:34 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูล

จะได้ส่งงานอาจาร์สักที

 

โดย: หนูนิ IP: 125.24.108.48 17 พฤศจิกายน 2552 16:24:52 น.  

 

ขอบคุณครับ

 

โดย: NONAME IP: 125.24.4.151 22 พฤศจิกายน 2552 16:43:43 น.  

 

ขอบคุณมากๆเลยคะ
กำลังจะสอบ หาคำแปลไม่ได้
มาเจอเว็บนี้ดีมากเลยคะ
ทั้งครบ แล้วก้แปลละเอียด

 

โดย: เด็ก ม.4 ใกล้สอบ IP: 125.25.20.80 13 ธันวาคม 2552 17:12:17 น.  

 

 

โดย: สดายุ... 16 ธันวาคม 2552 20:30:08 น.  

 

ขอบคุณมากเลยค่ะ

ช่วยได้มากจริงๆ

 

โดย: Beam IP: 222.123.24.166 21 มกราคม 2553 20:19:24 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ

ช่วยได้เย๊อะเลย

 

โดย: อทิตยา IP: 112.142.123.135 31 มกราคม 2553 20:10:23 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ โอย ถ้าไม่มีนี่คงจะแปลกันหัวบานเลย

ขอบคุณมากค่ะ ที่สำคัญ ดนตรี เพราะมากค่ะ ฟังแล้วอยากหามาฟังจัง น่าจะหลับสบายนะคะ ^^

 

โดย: ยิ้มแย้ม IP: 203.144.144.164 8 กุมภาพันธ์ 2553 21:15:54 น.  

 

ขอบคุณมากจริงๆค่ะ

 

โดย: แจ่มใส IP: 125.24.61.185 19 มิถุนายน 2553 14:39:56 น.  

 

ขอบคุณมากนะคะ

 

โดย: นิว IP: 119.31.83.202 27 มิถุนายน 2553 11:30:37 น.  

 

ขอบคุณมาครับผม ที่ได้นำสิ่งที่ดี มีความรู้ มีคุณค่าทางภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย มามอบให้ (เพลงเพราะมากเลยครับ เอาไว้นั่งสมาธิได้สงบ อิอิ)

 

โดย: ว่าที่ครูภาษาไทย IP: 125.25.164.99 5 กรกฎาคม 2553 19:28:32 น.  

 

ขอบคุณมากนะค่ะที่ มาเวปนี้ขึ้นมา

ขอบคุณมากๆค่ะ....*-*

 

โดย: น้ำตาหิมะ IP: 1.46.20.77 10 สิงหาคม 2553 21:24:43 น.  

 

ขอบคุณมาก ๆ นะคะ ที่แปลให้

 

โดย: Silence IP: 118.172.127.146 13 สิงหาคม 2553 15:09:49 น.  

 

ขอบคุณมากๆเลยครับ พี่ ช่วยเยอะเลย

 

โดย: m IP: 58.9.222.50 15 สิงหาคม 2553 12:23:08 น.  

 

ขอบคุณมากมากกกกค่ะ
ยอดเยี่ยมจริง ๆ

 

โดย: กิมิชาติ IP: 180.183.153.8 22 สิงหาคม 2553 21:22:36 น.  

 

ขอบคุณมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

 

โดย: THE MINEz IP: 58.9.86.166 31 สิงหาคม 2553 19:59:04 น.  

 

ขอบคุณมากครับ
เป็นประโยชน์มากทีเดียว
ถ้าไห้ผมอ่านแล้วแปลเองก้อคงไม่ไหว
ขอบคุนจากไจ
boy_ton_2007@hotmail.com

 

โดย: นายต้น IP: 125.27.144.193 7 กันยายน 2553 12:28:13 น.  

 

ขอขอบคุณมากๆครับทำให้ผมมีงานส่งอาจารย์ได้

 

โดย: พงศกร พรมฉิม IP: 118.172.221.69 7 กันยายน 2553 16:57:40 น.  

 

สุดยอดจิงๆๆๆๆเลย ขอบคุณมากๆๆคับบบ

 

โดย: รักจัง IP: 125.26.116.41 21 กันยายน 2553 17:18:15 น.  

 

ขอบคุณนะคะ ที่ช่วยแปล
เป็นการช่วยให้คนไทยได้อ่านและเข้าใจวรรณกรรมไทยมากยิ่งขึ้น และ ช่วยสืบสานและอนุรักษ์วรรณกรรมไทย

 

โดย: อัมพิกา IP: 124.120.188.160 24 กันยายน 2553 11:53:52 น.  

 

ดิฉันขอขอบพระคุณมากๆนะค่ะที่แปลคำศัพท์ต่างๆนานามาให้
ขอบพระคุณมากๆๆจริงๆค่ะ*-*

 

โดย: ดรีม IP: 125.27.178.236 31 ตุลาคม 2553 15:36:55 น.  

 

ขอขอบคุณมากจริงๆครับ ถ้าให้แปลเองแปลไม่ได้และไม่ทันแน่ครับ มันเยอะมากๆๆๆๆ

 

โดย: เด็กเรียนไทย IP: 182.232.226.199 3 พฤศจิกายน 2553 17:21:30 น.  

 

ขอบคุนพี่สดายุจิงๆนะคะ ไม่มีพี่สดายุ หยกคงแย่

เพราะแปลได้แต่รวมประโยคเป็นภาษาเขียนไม่ถูกเรยค่ะ T^T

แต่เพราะเจอเว็บของพี่ช่วยชีวิตไว้ หยกเรยมีส่งครูในวันนี้ค่ะ

ขอบคุนจิงๆนะคะ สำหรับ คำแปล+คำอธิบาย ของทุกๆบท

อ่านแร้วเพราะมากค่ะ วันนี้เรียนบทที่ 144 ครูให้แปลความด้วย

โชคดีที่เมื่อวานได้มาอ่านในเว็บของพี่สดายุก่อน

ทำให้หยกสามารถแปลความให้เพื่อนฟังได้

วันนี้มาเม้นอีก เพื่อจะบอกขอบคุนพี่อีกครั้งนะคะ

ปล1.ได้อ่านเรื่องอื่นๆบ้างแล้ว พี่แปลเก่งมาก อยากรุจังค่ะ

ว่าแปลเก่งขนาดนี้ พี่เรียนจบ เอกภาษาไทย มารึป่าวคะเนี่ย

ปล2.เพลงลาวคำหอม เพราะมากๆค่ะ ฟังแล้วรุสึกดีมากเรยค่ะ

จาก หยก 4/8 สารวิทยา บางเขนค่ะ

love_yok2538away@hotmail.com

แอดมาคุยกันบ้างนะคะพี่สดายุ อยากรุจักพี่ค่ะ ^^

 

โดย: ม.4 สารวิทยา 63 ค่ะ IP: 183.89.59.120 3 พฤศจิกายน 2553 19:19:54 น.  

 

หยก...
ผมไม่ได้จบภาษาไทย
ผมจบวิศวะเครื่องกล

 

โดย: สดายุ... 3 พฤศจิกายน 2553 20:13:12 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: kHUN IP: 180.180.238.105 9 พฤศจิกายน 2553 15:15:22 น.  

 

ขอขอบคุณมากๆครับทำให้ผมมีงานส่งอาจารย์ได้
พี่สุดยอด

 

โดย: แอร์ K P IP: 111.84.143.87 15 พฤศจิกายน 2553 21:09:55 น.  

 

เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุดเลยค่ะ

ขอบคุณมากๆนะคะ

 

โดย: ิboongkee IP: 125.27.100.66 23 พฤศจิกายน 2553 21:51:45 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ กำลังทำงานส่งคุณครูพอดีเลย ถ้าไม่ได้จขบ.นี่แย่แน่ค่ะ ถอดความเป็นภาษาพูดแทบไม่ได้เลยซักคำ T-T

ขอบคุณมากๆค่ะ ♥

 

โดย: นุก ;D IP: 117.47.31.90 23 พฤศจิกายน 2553 21:57:16 น.  

 

ขอบคุณมากๆครับ

 

โดย: เต๋า IP: 182.52.201.106 26 พฤศจิกายน 2553 11:09:23 น.  

 

thank you to you

 

โดย: lovely IP: 113.53.20.74 23 มิถุนายน 2554 21:47:02 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: อัน IP: 182.232.178.104 12 กรกฎาคม 2554 18:09:57 น.  

 

ขอบคุณมากนะคะ

 

โดย: เด็กศักย์ IP: 125.24.42.68 15 กรกฎาคม 2554 17:40:37 น.  

 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับข้อมูลดีๆ ถ้าไม่ได้ข้อมูลจากเว็บนี้ กวางคงไม่มีงานส่งครูแน่เลย ขอบคุณอีกครั้งนะคะ^^
deer_131@hotmail.com

 

โดย: KwanG IP: 110.49.232.183 13 กันยายน 2554 17:26:27 น.  

 

ขอบคุณมากๆค่ะ

ปล.ตอนแรกแปลประหลาดมาก

 

โดย: เด็กNoName IP: 58.11.22.235 13 ธันวาคม 2554 22:31:35 น.  

 

เว๊บนี้ทำให้ มีงานส่ง ไม่ได้ 0 . ขอบคุณนะค้ะ^^"

 

โดย: แนทแนท IP: 124.120.180.179 14 ธันวาคม 2554 21:53:35 น.  

 

ขอบคุณมากๆๆๆๆเลยค่ะ ถ้าไม่ได้เวบนี้ช่วยถึงกับมืดแปดด้านเลยค่ะ
เวบนี้เหมือนแสงสว่างๆๆๆในใจเด็กที่โดนครูสั่งให้ถอดความมากๆ

 

โดย: อณ IP: 103.1.164.57 14 ธันวาคม 2554 23:10:44 น.  

 

เป็นพระคุณอย่างสูงจริงๆค่ะ ขอบคุณมากเลยนะคะที่เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่กัน

 

โดย: 789 IP: 61.90.9.88 25 สิงหาคม 2555 22:27:07 น.  

 

ขอบพระคุณอย่างสูงอีกครั้งะครับพี่ช่วยให้กระผมถอดความส่งคุณครูจนเสร็จครับ

 

โดย: ศุภโชค โชค IP: 101.51.213.40 15 พฤศจิกายน 2555 22:01:28 น.  

 

สุดยอดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดไปเลยคับโผมม!!

 

โดย: คนข้างๆ IP: 115.67.98.73 5 ธันวาคม 2555 20:58:51 น.  

 

ขอบคุณมากๆนะคะ

 

โดย: may IP: 58.11.31.144 3 กรกฎาคม 2556 19:35:02 น.  

 

ขอบคุณครับช่วยได้มากเลย

 

โดย: Kei IP: 1.4.168.87 28 สิงหาคม 2556 20:44:04 น.  

 

ขอบคุณมากคะ การบ้านเสดจนได้

 

โดย: kkkk IP: 27.55.64.228 21 พฤษภาคม 2558 19:38:09 น.  

 

ช่วยหนูถอดความบทที่91-99หน่อยได้มั้ยคะ
เฟสบุ๊ค saypin Sangkue ขอบพระคุณค่ะ

 

โดย: แฟ้ง IP: 49.49.21.44 26 สิงหาคม 2563 16:19:39 น.  

 

แฟ้ง

1.เลื่อนขึ้นไปดูที่ -> คำชี้แจง
2.ดูว่าบทที่ต้องการอยู่ นิราศนรินทร์และคำแปล ใดระหว่าง 1 ถึง 4 ... 91-99 นี่ควรอยู่ส่วนไหน ?
(นิราศนรินทร์ 3 มีตั้งแต่บทที่ 75-100 - ใช่ไหม ?)
3.ที่แถบซ้ายมือ จะมีคำว่า Group Blog
4.ที่ด้านล่าง Group Blog จะมีปฏิทิน
5.ที่ด้านล่างปฏิทินจะมีคำว่า All Blog
6.1.นิราศนรินทร์ 1 .. บทที่ 1-40
6.2.นิราศนรินทร์ 2 .. บทที่ 41-74
6.3.นิราศนรินทร์ 3 .. บทที่ 75-100
6.4.นิราศนรินทร์ 4 .. บทที่ 101-144
.
.

อ่าน
คิด
อ่าน
คิด
อ่าน
คิด

 

โดย: สดายุ... 6 กันยายน 2563 7:05:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.