รีวิวหนังสือที่อ่านตามเกม RRR หรือ Rainy Read Rally ต่อ ... ใครที่สงสัยว่ามันคืออะไรคลิกที่ลิงก์ข้างล่างได้เลยค่ะ
-
กระทู้เปิดตัว-
กระทู้ปัจจุบัน ((ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.))เล่มนี้อ่านตามโจทย์
30-4. อ่านหนังสือไทยหรือเทศ 2 เล่ม ที่เนื้อหาเน้น "ผลพวงและพิษภัย" หรือเล่าถึงประเด็นดังต่อไปนี้: สงคราม, ยาเสพติด, คอร์รัปชั่น หรือการทำลายธรรมชาติ(ป่าไม้ ภูเขาแม่น้ำ สิ่งแวดล้อมฯลฯ) จะเป็นเรื่องจริงหรือแต่งก็ได้ สองเล่มห้ามซ้ำประเด็นกัน
เรื่อง : ลูกหินวิเศษ (The Clay Marble)
ผู้เขียน : มินฟง โฮ
ผู้แปล : สาลินี คำฉันท์
* ประเด็นสงคราม

ผลงานเรื่องเยี่ยมของนักเขียนรางวัลซีไร้ท์
ได้รับคัดเลือกเป็น The Best Children's Book of ๑๙๙๑ จากนิตยสาร Parents Magazine ของสหรัฐอเมริกา
จากปกหลัง
เพียงเขียนหนังสือเล่มแรก มินฟง โฮ ก็ได้รับรางวัลจาก The Council of Interracial Books for Children
นับจากนั้นเธอก็เขียนนวนิยาย หนังสือประกอบภาพ และเรื่องสั้น โดยเฉพาะวรรรณกรรมสำหรับเด็กอีกมาก
หนังสือของเธอได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนระดับชาติในสิงคโปร์ และรางวัลระดับนานาชาติมากมายหลายรางวัล เช่น
รางวัล Caldecott Honor Book (๑๙๙๗) No ๑
รางวัลหนังสือเยาวชนยอดเยี่ยมจากสมาคมห้องสมุดอเมริกัน
รางวัลหนังสือแห่งชาติสำหรับสังคมศึกษา โดยคณะกรรมการวรรณกรรมเยาวชน รางวัล Parents' Choice Award
ฯลฯ
และหนังสือของเธอเรื่องหนึ่งที่เขียนจากเพลงกล่อมเด็กของไทย ได้รับค่าเรื่องมากถึง ๒๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ
เรื่อง THE CLAY MARBLE หรือ 'ลูกหินวิเศษ' นี้ได้รับเลือกจากนิตยสาร Parents Magazine ของสหรัฐอเมริกาให้เป็น Best Childrent's Book of ๑๙๙๑
นอกจากนี้ มินฟง โฮ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลสิงคโปร์และรางวัลซีไร้ท์ อันเป็นรางวัลวรรณกรรมของประเทศไทย ในฐานะนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นแห่งสิงคโปร์ ค.ศ. ๑๙๙๖
ขอบคุณรูปภาพจาก เว็บไซต์ของสนพ.ผีเสื้อ
....
ความจริงที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ตั้งใจจะเอาไว้ตอบโจทย์ข้อ
10-9. [อั๊งอังอา] อ่านหนังสือ 1 เล่ม ที่เกี่ยวกับหรือตัวละครเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่อ่านแล้วรู้สึกว่า ตรงกับโจทย์ข้อใหม่ล่าสุด "ผลกระทบจากสงคราม" ของพี่แม่ไก่มากกว่าค่ะ
ลูกหินวิเศษบอกเล่าเรื่องราวด้วยมุมมอง "ฉัน" ของเด็กหญิง "ดารา" อายุสิบสองขวบท่ามกลางไฟสงครามของประเทศเขมร ด้วยภาษาที่เรียบง่าย แต่สะเทือนใจจนจุกอก สงครามเป็นสิ่งที่โหดร้ายและคนที่ได้รับผลกระทบจากมันเต็มๆ ...หิวโหย บาดเจ็บ ล้มตาย บ้านแตกสาแหรกขาด...ก็ไม่ใช่คนที่อยากรบสักหน่อย
เรื่องนี้ไม่ได้เน้นรายละเอียดเกี่ยวกับสงครามเท่าไหร่ ดาราเล่าว่าตอนอายุ 2-3 ขวบ ชีวิตของเธอสงบสุขและเรียบง่าย อาศัยอยู่กับพ่อแม่ พี่ชาย ล้อมรอบไปด้วยญาติมิตร ผลผลิตจากนาดี แต่แล้วก็เกิดการสู้รบ มีการทิ้งระเบิด ทหารคอมมิวนิสต์บอกว่าคนทิ้งระเบิดคือนักล่าอาณานิคมของอเมริกัน และชักชวนให้ชาวบ้านขับไล่เจ้าสีหนุ ... อ่านตรงนี้แล้วก็สะท้อนใจค่ะ ดาราบอกว่า เธอรู้สึกว่าพวกนั้นเหมือนผี จะไปขับไล่ได้ยังไง ที่เห็นก็มีแต่เครื่องบินที่บินว่อน
หลังจากนั้นพวกคอมมิวนิสต์หรือเขมรแดงของพอลพตก็ประกาศว่า "ปลดปล่อย" เขมรแล้ว ซึ่งดาราบอกว่า "การปลดปล่อยพวกเราเป็นฝันร้ายอันยาวนาน ความหิวโหย ความทุกข์ และความหวาดกลัว ความหวาดหวั่นอันเย็นยะเยือกอยู่ลึกๆ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง" ... มีการเกณฑ์ผู้ชายไปเป็นทหาร ... พ่อของดาราก็ถูกฆ่าตอนนี้เอง
หลังจากนั้นพวกเวียดนามก็มา "ปลดปล่อย" เขมรอีก "สะรัญ" พี่ชายของดาราหนีจากการเป็นทหารกลับมาหมู่บ้านได้ แม่ สะรัญและดารา ก็เดินทางอพยพหนีความแร้นแค้น หิวโหย ไปที่ชายแดน เพราะได้ยินข่าวว่ามีการแจกอาหารอย่างเหลือเฟือที่นั่น ... เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อครอบครัวของดาราไปถึงชายแดนบริเวณที่เรียกว่า "หนองจาน"
ที่นั่นดาราได้พบและสนิทกับครอบครัวของ "พี่ณี" อันประกอบไปด้วย พี่ณี ปู่เข็ม จันทู และน้องเล็ก
การได้ใช้ชีวิตเรียบง่ายร่วมกัน ได้แบ่งปัน "ข้าว" ร่วมกัน ทำให้ทั้งสองครอบครัวสนิทสนมกันเป็นครอบครัวเดียว ... สะรัญกับณีตกหลุมรักซึ่งกันและกัน ส่วนดารากับจันทูซึ่งอายุมากกว่าหนึ่งปีก็สนิทกันมากเหมือนพี่น้อง
จันทูนี่เองที่เป็นตัวละครสำคัญ เธอเป็นเด็กที่เข็มแข็ง เด็ดเดี่ยว มองโลกในแง่ดี ความคิดเกินอายุ 13 ขวบมากๆ ... ดาราบอกว่าจันทูมีนิ้ววิเศษที่สามารถเสกอะไรก็ได้ เพราะจันทูมีความสามารถในการประดิษฐ์ ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็สามารถสร้างเป็นสิ่งของสวยงามได้ทั้งนั้น
จันทูเป็นคนสอนเรื่องราวต่างๆ ให้ดารา และเป็นคนปั้นก้อนดินให้ดาราและบอกว่าเป็น "ลูกหินวิเศษ" ที่ทำให้ดาราเข้มแข็ง
และ "ลูกหินวิเศษ" นี้เองที่เป็นแหล่งกำเนิดพลังใจให้ดารายามที่เกิดความทุกข์ยาก ทำให้เธอฝ่าฟันทุกอย่างไปได้ แต่...สุดท้ายแล้วดาราก็ได้พบว่า ความวิเศษไม่ได้อยู่ที่ลูกหิน แต่อยู่ที่ "ผู้ปั้น" มากกว่า
....
ไอซ์เคยอ่านเรื่อง "4 ปีนรกในเขมร" เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จำได้ว่าถูกตัวอักษรกดทับจนอึดอัด หดหู่ไปหมด เรื่องนี้ให้ความรู้สึกคล้ายกันแต่เบาบางกว่า เพราะเป็นวรรณกรรมเยาวชน เขียนด้วยมุมมองของเด็ก ซึ่งถึงจะอยู่ในความทุกข์ยากระหว่างสงคราม ก็ยังคงมีมุมมองที่บริสุทธิ์สดใสอยู่ดี
สงครามคือความโหดร้าย ซึ่งผู้ได้รับเคราะห์มักไม่ใช่ผู้ก่อสงคราม อย่างที่จันทูบอกในเรื่องว่า ผู้นำเขมรเหมือนกับพี่น้องหูหนวกที่เห็นจรเข้เข้ามา แต่ทั้งหมดต่างไม่ได้ยินกัน เข้าใจผิดและทำร้ายกัน จรเข้เลยหนีไปทางหน้าต่าง
หรืออย่างที่ดาราบอกว่า ไหนบอกว่าจะพัฒนาเขมร จะพัฒนาได้อย่างไรในเมื่อไม่มีคนทำนา และยังเอาข้าวเปลือกพันธุ์ดีสำหรับปลูกไปตำให้ทหารกินอีก
ผู้เขียนบอกในหน้าคำนำว่า "ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพไม่ใช่เหยื่อของสงคราม แต่เป็นผู้มีชัยชนะต่างหาก เพราะพวกเขาได้ผ่านการต่อสู้มามาก และรอดชีวิตเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่"
ไอซ์ก็ขอแนะนำให้ลองอ่าน "ชัยชนะ" ของดาราดูนะคะ ^^
ท้ายเล่มมีบอกว่าถ้าอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ให้สมบูรณ์ ควรอ่านเพิ่มเติมเรื่อง
- 4 ปีนรกในเขมร ของ ยาสึโกะ นะอิโต
- หนีไฟนรก ของ เจีย กิมลั้ง
ไอซ์อ่านเล่ม 4 ปีนรกในเขมร เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หนีไฟนรก นี่ดองเด็มอยู่ตรงไหนสักแห่งในบ้าน แต่คงอีกนานกว่าจะหยิบขึ้นมาอ่านค่ะ หดหู่เหลือเกิน
....
สปอยล์แหลก
หลังจากที่ครอบครัวของดาราอยู่ร่วมกับครอบครัวของจันทูได้ระยะหนึ่ง เก็บตุนของแจกไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ เครื่องมือทำมาหากินได้พักหนึ่ง ก็เกิดเหตุสู้รบใกล้เข้ามา ทำให้ทุกคนในบริเวณหนองจานหนีเป็นพลันวัน
ดารา จันทู และน้องเล็ก พลัดหลงจากครอบครัวใหญ่ แถมน้องเล็กยังถูกสะเก็ดระเบิดเป็นแผลที่ขาอีก หมอจากกาชาดบอกว่าจะต้องเข้าโรงพยาบาลที่ค่ายอพยพอีด่าง จันทูจึงไปกับน้องเล็ก และปลุกปลอบให้ดาราไปตามหาครอบครัว โดยให้ก้อนหินวิเศษซึ่งจริงๆ แล้วเป็นก้อนดินเหนียวซึ่งจันทูปั้นให้ไปด้วย
ดารา...เด็กผู้หญิงอายุเพียงสิบสองต้องร่อนเร่หาครอบครัวตามลำพัง เธอกลับไปที่หนองจาน แต่ไม่พบใครที่นัน "ไฉน" เด็กชายกำพร้าบอกเธอว่า เห็นครอบครัวของเธอไปค่ายทหาร เด็กทั้งสองจึงเดินทางไปพร้อมกัน
เมื่อไปถึงที่ค่ายทหาร ดาราและไฉนใช้เวลาตามหาครอบครัวอยู่นาน แต่ก็ได้พบกัน สะรัญเปลี่ยนไป เขากลายเป็นทหารเกณฑ์ ถือปืน พูดถึงเรื่องสู้รบมากกว่าจะอยากกลับไปทำนา ... ดาราซึ่งเข้มแข็งขึ้นมากด้วยกำลังใจจากหินวิเศษจึงชวนณีจัดเตรียมข้าวของเพื่อเดินทางกลับไปทำนาเอง
ดาราและณีไปรับจันทูและน้องเล็กจากเขาอีด่าง ... ที่นั่นผู้ที่บาดเจ็บล้วนเป็นเด็กและชาวบ้าน ... คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างแท้จริง
ตอนขากลับซึ่งมืดแล้ว จันทู ถูกเพื่อนทหารของสะรัญยิงใส่ที่ท้อง เพราะมองไม่เห็น และเด็กสาวไม่ได้ประกาศตัว ... ทหารที่มาจากชาวนาตื่นตะหนกมากเกินไป
แทนที่สะรัญจะรีบพาจันทูไปรักษา เขากลับห่วงพิธีสวนสนามที่จะมีในวันรุ่งขึ้น ... รอนานจนกระทั่งจันทูตายไป
ตอนนี้เองที่ดาราปั่นก้อนหินและทำตามคำพูดของจันทูที่บอกไว้ก่อนตายว่า "ดาราจะต้องเป็นคนทำในสิ่งที่ต้องการ จะต้องกล้าหาญ" ชักชวนสะรัญกลับหมู่บ้านพร้อมกันจนได้ ((ตรงนี้อยากตื๊บสะรัญมาก พวกชอบรบ อยากกำจัดศัตรู จนโดนดาราด่าเข้าให้ว่า จะกำจัดศัตรูได้ยังไงเมื่อคนที่ยิงใส่เป็นเด็กผู้หญิง))
บทส่งท้ายสิบปีต่อมาบอกว่า สะรัญและณีแต่งงานและมีลูกด้วยกัน ส่วนดาราเองก็มีลูกแล้วเช่นกัน ทั้งหมดยังใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบท่ามกลางไฟสงครามที่ห่างไกล
แต่จากรีวิวคุณไอซ์เรื่องนี้คงไม่หดหู่มากเกินไป อ่านแล้วรู้สึกคล้ายๆหนังเรื่อง Pan's Labyrinth เลยค่ะ... สงสารเด็กที่ต้องประสบภัยสงคราม
ปล.ขอร่วมตื้บสะรัญด้วยคน