|
ล่องใต้ ไปอีสาน ( ๑๐ )
หลังจากชำระค่าเข้าชมหอ ผมก็เข้าไปในลิฟท์ กดปุ่มขึ้นไปยังชั้นบนสุดทันที

พอประตูลิฟท์เปิด ก็เห็นพระพุทธนวมิ่งมงคลมุกดาหาร (พระประจำเมือง) เป็นพระพุทธรูปเนื้อเงินแท้บริสุทธิ์ผสมทองคำ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ และพระพุทธรูปประจำวันเกิด โดย ผู้ชมสามารถสักการะและบริจาคเงินได้ตามอัธยาศัย
หลังจากนมัสการพระพุทธรูปเสร็จ ก็เดินดูเรื่องราวความเป็นมาและความสำคัญของ จ.มุกดาหาร ที่ติดแสดงไว้ตามผนังด้านในของตัวหอล่ะครับ

หอแก้วมุกดาหารนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมุกดาหาร ถูกเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๙
ตัวหอนั้น เป็นหอคอยรูปทรงกระบอก ความสูง ๖๕.๕๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ เมตร ส่วนฐานเป็นอาคาร ๒ ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ ๙ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๐ เมตร มีทางเข้าออก ๓ ทาง

ส่วนที่เป็นแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น ๓ ถึงชั้น ๖ บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ ลูกแก้วมุกดาหาร มีลักษณะกลมสีขาวหมอก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เมตร โดยนักท่องเที่ยวสามารถใช้ฟต์และบันไดเวียนเพื่อขึ้นไปชั้นต่าง ๆ และจุดชมวิว โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการและทัศนียภาพรอบด้าน ทั้งหมด ๔ ชั้น คือชั้นที่ ๑ ๒ ๖ และ ๗
โดยเฉพาะชั้นที่ ๖ มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้านเพื่อชมวิวตัวเมืองมุกดาหาร และยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขต ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน

ภายในตัวหอ ยังมีข้อมูลบ่งถึงความสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economics corridor) เอาไว้ด้วย
ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ได้มีรถทัวร์โดยสารของเอกชนวิ่งระหว่างมุกดาหาร - แม่สอด เรียบร้อยแล้ว

ขอภาพชัดๆ อีกนิดหนึ่งนะครับ แฮ่ม... 

ในขณะเดียวกัน ก็พูดถึงความสำคัญของแม่น้ำโขง แม่น้ำสายสำคัญแห่งเอเซียเอาไว้ด้วย แต่ผมคิดว่าประเทศจีนจะกอบโกยผลประโชน์ไปมากกว่าพี่น้องประเทศที่อยู่ปลายลำน้ำนะครับ

พอได้ข้อมูลที่น่าสนใจแล้ว ผมก็ลองใช้กล้องส่องทางไกลที่ต้องหยอดเหรียญคราวละ ๑๐ บาท แต่ดูได้ครั้งละ ๑ นาทีเท่านั้น เลยใช้วิธีซูมเลนส์เอาจากกล้องของตัวเองดีกว่า
ฝั่งเมืองมุกดาหารบ้านเราครับ

มองข้ามโขงไปฝั่งเมืองสะหวันนะเขตดูบ้าง บ้านเมืองดูหนาแน่นทีเดียว

"เดิ่นยนต์" หรือในภาษาปัจจุบันบ้านเขาเรียกว่าสนามบินสะหวันนะเขต แอบมาหลบอยู่ด้านใต้เมืองนี่เอง
สำหรับยนต์ (เครื่องบิน) ที่จะร่อนลงเดิ่นแห่งนี้ จำเป็นจะต้องร่อนขึ้นลงทางด้านทิศตะวันออกเท่านั้น จะล้ำแดนประเทศไทยไม่ได้ 

ด้านท้ายน้ำที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่าน อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร และ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ตามลำดับ
ตรงนี้ จะเป็นจุดแยกระหว่างถนนชยางกูล หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒ กับแม่น้ำโขง โดยไม่มีโอกาสได้เจอกันอีก

ภาพเราจะสุดลงที่เขามโนรมย์ ริมเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒ ซึ่งมีวัดป่าอยู่ที่นั่น

หันมาข้างในหอแก้วมุกดาหารอีกนิดหนึ่ง จะเห็นท้องตราพระราชสาส์นแต่งตั้งเจ้าเมืองมุกดาหาร

รวมทั้งตราประทับตำแหน่งเจ้าเมือง ซึ่งลูกหลานเจ้าเมืองมุกดาหารได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และมอบให้เป็นสมบัติของหอแก้วมุกดาหารในคราวนี้

นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ (จัดทำโดยคุณสุจิตต์ จันทรสาขา ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองมุกดาหารในอดีต) สตรีในชุดเครื่องแต่งกายประยุกต์ไทยมุกดาหาร ๘ เผ่า อีกด้วย

หลังจากอิ่มอกอิ่มใจกับการขึ้นไปชมหอแก้วมุกดาหาร ผมก็เรียกโชเฟอร์รถสกายแล็ปที่จอดรออยู่นั้น นำมาส่งที่ตลาดในเมืองล่ะ

ระหว่างที่รับประทานมื้อสำรวม (คือไม่ทราบว่าจะเป็นมื้อเช้า กลางวัน หรือมื้อเย็นดี) ในหัวคิดผมเริ่มวางแผนที่จะเดินทางต่อไปยัง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นจังหวัดอุดท้ายในแผนตระเวณครบ ๗๗ จังหวัด ซึ่งผมจะออกเดินทางสายนิดหน่อยก็ได้ เพราะระยะทางไม่ห่างกันมากนัก
แต่วันนี้ ขอกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนเอาแรงไว้ก่อน
Create Date : 26 มีนาคม 2560 |
Last Update : 26 มีนาคม 2560 13:47:13 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1763 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|