Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
1 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (7)

สวัสดีครับ... สารคดีสั้นตอนนี้ ไม่ค่อยเหมือนตอนอื่นๆ ตรงที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับงานศพ งานศพพระภิกษุในท้องถิ่นภาคเหนือ

ถึงแม้จะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกพ้น แต่การจัดงานศพให้กับผู้ตายก็แตกต่างกันไป โดยเฉพาะผู้เป็นพระภิกษุ ยิ่งมีพรรษามากๆ ลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ จะเข้าหลักเกณฑ์ที่ทุกคนจะกุลีกุจอเข้ามาร่วมมือกันจัดการงานศพตามประเพณีทางเหนือที่มีมาแต่ดั้งเดิมทันที

สำหรับการจัดงานศพพระภิกษุในท้องถิ่นภาคเหนือตอนบน จะเป็นอย่างไรนั้น ขอได้ติดตามจากสาระเนื้อหากันต่อไปครับ เพราะบรรยายค่อนข้างยาว

สารคดีสั้นชุดนี้ ถ่ายภาพโดย คุณนิคม กิตติสุข บรรยายโดยคุณ "ศิริชัย" นามปากกาของผู้เขียนนิรนาม และเพิ่มเติมด้วยสารคดีนำฉบับ โดยคุณ ทำนุ นวรัฐ ลงพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน “คนเมือง” ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 ประจำเดือน มกราคม 2499 โดยยังคงสำนวนการเขียนในสมัยนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงด้วยครับ

ขอเชิญติดตามสารคดีนำฉบับ และตามด้วยสารคดีสั้นประกอบภาพ "ประเพณีงานศพพระ" ได้เลยครับ...


.................................

อนิจจา วต สงขารา

โดย... ทำนุ นวรัฐ


“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นและการเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับ....” พระพุทธภาษิตข้อนี้เราท่านก็รู้กันอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่า “ความตาย” เป็นการเสื่อมสลายของการเกิด- เป็นการดับที่ทุกคนต้องประสบอย่างไม่มีทางจะเลี่ยงได้

แม้กระนั้น, โดยที่เราท่านยังเป็นปุถุชน ย่อมจะเสียใจ, พิราปรำพัน เพราะการต้องพลัดพรากจากคนที่เคยรักใคร่, นับถือ, และบูชา การตายหมายถึงการจาก- ที่ไม่มีวันจะได้พบกันอีก ด้วยประการฉะนี้เอง, คนที่ยังอยู่จึงจัดทำเพื่อรำลึกถึงคนที่ตายไปแล้วนั้น และเป็นจารีตประเพณีไป- สุดแล้วแต่ภาวะแวดล้อม, ความเชื่อถือและสภาพของท้องถิ่นนั้นๆ หมู่คนเมืองก็มีประเพณีเกี่ยวกับการตายเช่นเดียวกับคนไทยในท้องถิ่นอื่น ซึ่งย่อมเป็นการแน่นอนว่าประเพณีดังว่า ต้องผิดแผกแปลกกันไปบ้าง- ฉะเพาะอย่างยิ่งในงานศพพระภิกษุสงฆ์

เพราะศรัทธาปสาทะของหมู่คนเมืองที่มีต่อพุทธศาสนา ได้หยั่งลงลึกและจำหลักหนักแน่นอยู่ในจิตใจหลายชั่วอายุคนมาแล้ว- จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ “งานศพพระ” จึงกระทำกันเป็นงานใหญ่มาก ขนาดเดียวกับงานศพเจ้าบ้านผ่านเมืองนั่นทีเดียว

ตามจารีตประเพณีของหมู่คนเมืองนั้น ไม่นิยมจัดให้มีป่าช้า (หรือสุสาน) ไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดวาอาราม หากจัดไว้อีกแห่งหนึ่งต่างหาก นอกกำแพงเมือง ห่างไกลออกไป ผิดกับความนิยมของคนไทยทางภาคกลางและภาคอื่นๆ ซึ่งบรรจุศพและเผาศพในวัด

ด้วยเหตุนี้ เวลาจัดงานศพจึงต้องชักลากจากวัด (หรือถ้าเป็นชาวบ้านก็ชักลากจากบ้าน) ไปฌาปนกิจที่สุสาน ได้กล่าวมาแล้วว่า “งานศพพระ” นั้นเป็นงานใหญ่ ปราสาทศพจึงสร้างกันโอฬาริก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย เพราะจัดทำกันอย่างประณีตและใหญ่โต สูงเสมอเสาไฟฟ้าโทรศัพท์ กล่าวกันว่า, แต่ก่อนนี้การจัดทำ “ปราสาทบันจุศพ” นั้น จัดสร้างกันสูงใหญ่ยิ่งกว่าปัจจุบันนี้นัก

ประเพณีการจัดทำ “ปราสาทบันจุศพ” ตั้งไว้บนบุษบกสำหรับเจ้านายในราชตระกูล, และพระภิกษุสงฆ์นั้น ไม่ใช่เพิ่งจะมีขึ้น, หากมีมานานเกือบ ๔ ศตวรรษแล้ว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (พงศาวดารโยนก) กล่าวว่า “เมื่อจุลศักราช ๙๔๐ (พ.ศ.๒๑๒๐) พระวิสุทธิราชเทวี ราชินีผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงทิวงคต พญาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินขนาดใหญ่ รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองออกไปถึงทุ่งวัดโคก ก็กระทำฌาปนกิจถวายเพลิง ณ ที่นั้น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงทำเป็นทำเนียมในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา”

ตั้งแต่นั้นมา งานศพเจ้านายในราชตระกูล, และพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล หมู่คนเมืองจึงจัดทำเสมอเหมือนกัน และโดยที่ภาวะการณ์ในสมัยต่อๆ มาได้เปลี่ยนแปลงไป ประเพณีเนื่องในงานศพจึงย่อขนาดลง ไม่ใหญ่โตเหมือนดังกาลก่อน แต่ก็ยังคงรักษาวิธีการไว้ไม่เปลี่ยนแปลงไปด้วยแต่อย่างใด
แม้จะได้ “ย่อขนาด” ลงแล้ว แต่ในสมัยนี้ยัง “ใหญ่” อยู่นั่นเอง

ไม่ว่าจะมองจากมุมของคนในท้องถิ่นหรือคนต่างถิ่น ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็น่าเสียดายและสิ้นเปลืองอยู่ไม่น้อย เพราะลงทุนลงแรงสร้างอย่างประณีต และใหญ่โต แล้วก็นำไปเผาไฟเป็นเถ้าถ่านไป แต่ถ้าจะพิจารณาหนักไปในแง่ที่เป็นจารีตประเพณี และพินิจพิจารณากันในทางธรรมแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มี “เหตุผล” สมควรอยู่มาก

การที่คน- ผู้ซึ่งเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้ประพฤติปฏิบัติแต่คุณงามความดี ทั้งในส่วนที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตน, และประโยชน์ผู้อื่น ฉะเพาะอย่างยิ่ง- พระภิกษุสงฆ์ผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา จนกระทั่งเรียกกันอย่างสามัญว่า “ตายในผ้าเหลือง” ด้วยแล้ว พุทธมามกะก็ย่อมจะสำนึกถึงคุณความดีนั้น แล้วช่วยกันจัดงานศพอย่างใหญ่โตสมเกียรติเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นการสมควร

ถ้าจะพิจารณากันในทางธรรมะ การจัดงานศพอย่างไม่คำนึงถึงความสิ้นเปลืองเช่นนั้น ส่อสำแดงให้คนอยู่ได้รู้ว่า ร่างกายชีวิตย่อมแตกดับย่อยยับไป แต่เกียรติคุณและชื่อเสียงที่กระทำคุณงามความดีไว้ จะยังคงอยู่ นอกจากนั้นการจัดสร้าง “ปราสาท” อย่างสวยงาม แล้วเอาไปเผาจนเป็นภัสม์ธุลีไปนั้นเล่า ก็เป็นการเตือนให้สำนึกถึงความไม่เที่ยงแท้ถาวร... ระลึกถึงหลักอนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา เพื่อสำเหนียกและสังวรณ์ไว้ว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่- ก็จงอย่าอยู่อย่างคนประมาท

ประเพณีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของคนชาติไหน, เผ่าใด, หรือท้องถิ่นใด ย่อมจะเป็นสิ่งที่มีเหตุผล มิฉะนั้น, จารีตประเพณีนั้นๆ ก็จะสูญสิ้นไป ไม่ตกทอดมาได้จนถึงปัจจุบันให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็นและปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันเรื่อยไปได้ ด้วยเหตุนี้เอง, ไม่ว่าจารีตประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมจะถูก “สิ่งใหม่ๆ” ห้อมล้อมบีบกระชับเข้ามาสักปานใด ผู้ที่ไม่หันหลังให้กำพืดของตนก็ยังไม่ทอดทิ้ง ”ของดั้งเดิม” ที่บรรพบุรุษของตนได้ทิ้งไว้เป็นมรดก และเพราะเหตุนี้, วัฒนธรรมไทยเราแท้ๆ จึงยังคงอยู่ ยังมีอยู่ตราบเท่าที่คนไทยยังสำนึกถึงความเป็น “ไท” ของตน

“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น, และการเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับ...” นี่เป็นพระพุทธวจนะที่พระสมมาสัมพุทธเจ้า บรมครูของเราท่านทั้งหลาย และ ”...ท่านทั้งหลายจงมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด” นี้ก็เป็นปัจฉิมวจนะของพระองค์ท่าน

ทุกวันนี้, สิ่งที่เรียกว่าอารยะธรรม, และวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของไทย กำลังท่วมท้นไหลบ่าเข้ามาในชีวิตประจำวันของคนไทยมากยิ่งขึ้นทุกขณะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว, เราท่านจะรู้อย่างไรเล่าว่า สักวันหนึ่งข้างหน้า- สัญญลักษณ์ของไทยเราจะไม่หมดสิ้นไป ?

ด้วยเหตุฉะนี้, เราท่านจะไม่ช่วยกันพิทักษ์รักษาอารยธรรม, และวัฒนธรรมของเราแท้ๆ ไว้เชียวหรือ ?

.............................


ประเพณีงานศพพระ

ภาพโดย นิคม กิตติกุล
พากษ์โดย “ศิริชัย”



ประเพณีเนื่องในงานศพนั้น “งานศพพระ” ที่บวชมานาน, พรรษามาก จัดทำกันเป็นงานใหญ่โต เทียบได้กับงานเจ้าบ้านผ่านเมือง ประเพณีเช่นนี้ หมู่คนเมืองได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาร่วม ๔๐๐ ปีมาแล้ว และยังคงถือปฏิบัติกันอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ นับว่าเป็นประเพณีที่ไม่มีวันจะเสื่อมสูญไปได้ ตราบเท่าที่หมู่คนเมืองยังคงนับถือพระบวรพุทธศาสนาเป็นหลักชัยอยู่..


เอาศพลงนอนไม้...




หมู่คนเมืองไม่นิยมการฝังศพ ดังนั้น, เมื่อพระภิกษุองค์ใดถึงแก่กรรม บรรดาทายกทายิกาก็จะบำเพ็ญกุศลให้ตามทำเนียม และเก็บศพไว้ชั่วระยะหนึ่ง เพื่อตระเตรียมสร้าง “ปราสาท” (บางทีก็ทำ “ธรรมาสน์” ถาวร) สำหรับบันทุกศพนำไปฌาปนกิจตามประเพณี

การจัดสร้าง “ปราสาท” นี้ ทำกันใหญ่โตและประณีตอย่างยิ่ง เพราะมีจารีตมาแต่โบราณเกือบ ๔๐๐ ปีแล้ว ว่าการจัดการศพเจ้านายต้องกระทำกันเป็นงานใหญ่ และพระภิกษุสงฆ์ที่บวชมานาน, มีพรรษามาก ก็ได้รับเกียรติเสมอกัน เมื่อจัด “ปราสาท” ประดิษฐานบนบุษบกแล้ว ก็มีพิธีนำหีบศพมาตั้ง เพื่อชักลากไปสู่สุสานต่อไป


หมู่เฮา... ช่วยกัน




เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของหมู่คนเมือง ที่ถือปฏิบัติกันตลอดมาว่า งานศพเป็นงานที่ต้องช่วยกันโดยไม่ต้องบอกกล่าว หรือต้องออกบัตรเชิญ พอรู้ว่ามีคนตายเท่านั้น ก็กุลีกุจอมาช่วยอย่างเต็มสติกำลังและความสามารถของตน

ยิ่งเป็น “งานศพพระ” ด้วยแล้ว หมู่คนเมืองก็จะมาช่วยกันมากต่อมาก เพราะถือกันว่า การช่วยงานศพพระนั้นได้ผลานิสงส์แรงยิ่งกว่าการบุญอื่นใด การมาช่วยงานดังว่านี้ พอมาถึงใครถนัดงานอย่างใด ก็ลงมือช่วยกันทีเดียว ผู้หญิงก็ช่วยจัดหมาก เมี่ยง ดอกไม้ ธูปเทียน สำหรับรับแขกและถวายพระ


ช่วยกัน... หมู่เฮา




ข้างฝ่ายพวกผู้ชายเล่า บ้างก็ตักน้ำ ผ่าฟืน หุงข้าว กวนขนมปาด (ซึ่งเป็นขนมของพื้นเมือง ปรุงด้วยน้ำตาลอ้อยผสมแป้ง โรยหน้าด้วยเมล็ดงา) รับเอางานหนักมาจัดทำกัน ทุกคนมาช่วยทำงานด้วยศรัทธาปสาทะแท้ๆ มิได้มีการว่าจ้างกันแต่อย่างใดเลย

สามัคคีธรรมผสมกับน้ำใจที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเป็น “เจ้าภาพ” เช่นนี้ ต่อให้เป็นงานใหญ่สักปานใด ก็ต้องสำเร็จไปด้วยดี วัฒนธรรมซึ่งแสดงออกมาเห็นปานนี้ ประชาชนคนไทยได้ประพฤติปฏิบัติกันมานานนักหนาแล้ว จนกล่าวได้ว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติประการหนึ่ง ที่ชนผู้เจริญแล้วเท่านั้นจะพึงมี


อ่านอภิธรรมนำศพ




เมื่อขบวนชักลากศพเคลื่อนจากที่ ก็มีการอ่านอภิธรรมนำหน้าศพ โดยมีพระภิกษุนั่งอ่านอยู่บนเสลี่ยงที่ทายกช่วยกันหามนำหน้าขบวนไป พระคุณเจ้าก็อ่านอภิธรรมไปตลอดทาง จนกว่าขบวนชักลากศพจะถึงสุสาน

การอ่านอภิธรรมนำหน้าศพนั้น มิได้ถือปฏิบัติกันเป็นการทั่วไป หากจะมีฉะเพาะในงานศพพระที่บวชมานาน, มีพรรษามาก (หรือเจ้านายในราชตระกูล) เท่านั้น จึงจะจัดให้มีการอ่านอภิธรรมนำหน้าศพเช่นนี้ได้ จารีตประเพณีเช่นนี้ของหมู่คนเมืองจึงผิดแผกแตกต่างกับท้องถิ่นอื่นอยู่บ้าง แต่ความมุ่งหมายก็ลงรอยเดียวกัน


ขบวนชักลากศพ




ขบวนชักลากศพอันยาวเหยียดนี้ หมู่คนเมืองมีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งคือผู้หญิงต้องอยู่ตอนหน้าขบวน, ส่วนผู้ชายต้องอยู่ตอนหลัง ประเพณีนี้แสดงว่า, หมู่คนเมืองให้เกียรติสตรีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว พวกผู้ชายจึงรับเอา “งานหนัก” มาไว้เป็นภาระของตน

ด้วยเหตุที่ขบวนชักลากศพมีคนมากต่อมาก การเดิน, การหยุด อาจทำได้ไม่พรักพร้อมกัน อันอาจก่อให้เกิกดความยุ่งยากขึ้นได้ เพื่อแก้ปัญหานี้, ในขบวนอันยาวเหยียดนั้น จึงมี “ธงสัญญาณ” อยู่ต้นขบวน, กลางขบวน, และท้านขบวน คอยโบกให้เดินหรือหยุด นอกจากนั้นยังมี “กังสดาล” หรือฆ้องตีบอกจังหวะชลอหรือเร่งในการเดินอีกด้วย


แย่งเงินขวัญถุง




งานศพใหญ่ๆ เท่านั้นจึงจะมีการโปรยมะนาว (ใส่เงินเหรียญกษาปณ์) เป็นทาน สำหรับภาคเหนือ นอกจากงานศพเจ้านายในราชตระกูล งานศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือคหบดี ก็มีงานศพพระ ที่มีการโปรยมะนาวเป็นทานแก่คนทั่วไป

ถือกันว่า เงินที่อยู่ในผลมะนาวที่โปรยในงานศพนั้น เป็นเงิน >“ขวัญถุง” ประเสริฐนักหนา ใครผู้ใดได้เอาไปสำหรับเป็น“เงินขวัญถุง” แล้ว ก็จะทำมาค้าขึ้น ด้วยเหตุฉะนี้ ก่อนจะฌาปนกิจ เมื่อมีการโปรยมะนาวบันจุ “เงินขวัญถุง” เป็นทาน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงแย่งกันชุลมุนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร


ตุ๊หลวง “จิมะผาบ”




เมื่อขบวนชักลากศพมาถึงสุสานแล้วก็ปลงขบวน จัดบุษบกสวยงามที่บันทุกศพลงมา และถือเป็นทำเนียมในงานศพพระนั้น ต้องอาราธนาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ให้จุดฝักแค หรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า “จิมะผาบ” เสียก่อนคนอื่นๆ แต่บางแห่งก็ใช้ “บอกไฟหล่อ” ทำเป็นรูปสัตว์ขนาดใหญ่พุ่งใส่ “ปราสาทศพ” ก็มี

“มะผาบ” หรือ “ฝักแค” นั้น เป็นสายชนวนบันจุดินปืน เมื่อจุดแล้วดินชนวนนั้นก็จะลามไหม้ไปที่ “ปราสาท” และ ณ ที่นั้น มีดินปืนห่อใหญ่อยู่ที่ปลายสายชนวน พอไฟลามมาถึงก็จะลุกพรึ่บขึ้น แล้วไหม้เชื้อเพลิง ธูป เทียน ดอกไม้จันทน์ และฟืน


สู่... สุขคติภพ




ปราสาทและบุษบกที่สร้างอย่างประณีตงดงาม ก็จะถูกเผาเป็นภัสม์ธุลีไป การฌาปนกิจศพนี้- เป็นการเผาทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือ และด้วยเหตุที่ “ปราสาท” ใหญ่โตมาก จึงต้องมีวิธีการเผาจากยอดลงมาข้างล่าง ไม่ให้ “ปราสาท” พังทะลายลงมาก่อนที่ศพจะไหม้จนเหลือแต่กระดูก

งานศพพระนั้น ต้องใช้ไม้ไผ่ทั้งลำแทนเสาเมรุ ๔ ต้น และดาดหลังคาด้วยผ้าจีวรทั้งผืน ขณะที่ไฟลุกโชติช่วงนั้น ก็จะมีการตีกังสดาล (หรือฆ้อง) ส่งวิญญาณ และคอยดูลูกไฟจะไหม้จีวรที่ดาดเป็นหลังคา ถ้ามีรอยไหม้เป็นช่องโหว่ก็แสดงว่าวิญญาณของพระคุณเจ้าไปดีแล้ว

ประเพณีงานศพพระของหมู่คนเมืองเหนือ เป็นมาดังที่ประมวลมาเล่าโดยสังเขปแต่เพียงนี้

......................

(จากนิตยสารรายเดือน “คนเมือง” ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 ประจำเดือน มกราคม 2499)


Create Date : 01 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 22:25:48 น. 0 comments
Counter : 4697 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.