Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
29 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
ก่อนที่จะมาเป็นถนนวิภาวดีรังสิต

ย้อนอดีต มาต่ออีกช่วงหนึ่งครับ จากนิตยสาร “เสรีภาพ” ฉบับที่ 129 ปี พ.ศ. 2509 จากชื่อเรื่อง “เปิดเส้นทางหลวงสายกรุงเทพฯ – สระบุรี” ซึ่งต่อเนื่องจากหัวเรื่อง “กรุงเทพฯ – หนองคายใน 8 ชั่วโมง” เส้นทางสายนี้ส่วนใหญ่จะทับแนวถนนพหลโยธิน (เดิม) แต่จะแยกออกจาก ถนนพหลโยธิน ตรงสามแยกหน้าอนุสรณ์สถานฯ ในปัจจุบัน ผ่านหน้าสนามบินดอนเมือง ตัดเส้นทางเดิมอีกครั้งตรง ห้าแยกลาดพร้าว อันแสนจะติดขัดในทุกวันนี้ ก่อนไปสิ้นสุดที่ถนนดินแดง ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

กรมทางหลวงได้ขึ้นทะเบียนเส้นทางสายนี้เป็น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 แต่ชาวบ้านสมัยก่อนมักเรียกติดปากว่า “ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนวิภาวดี รังสิต” ขนานตามพระนามหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ซึ่งสิ้นชีพิตักษัยคราวปฏิบัติราชการสนองพระโอษฐ์ ในเฮลิคอปเตอร์ที่ถูก ผกค.ซุ่มยิง เหนือพื้นที่ กิ่ง อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน

ดูภาพเก่าๆ สมัยนั้นไปพลางๆ นะครับ หลายคนที่สูงวัยหน่อย หากเดินทางผ่านเส้นทางสายนี้เมื่อสิบปีเศษขึ้นไป คงอุทานว่า “ไม่น่าเชื่อ” เพราะปัจจุบันนี้..เป็นถนนที่จอแจที่สุดสายหนึ่งในประเทศไทย แถมมีทางด่วนอยู่ชั้นบนอีกต่างหาก โดยเฉพาะช่วงสี่แยกลาดพร้าว มีตั้งสองชั้นแน่ะ หากโครงการต่อขยายระบบรถไฟฟ้า BTS ไปถึงสะพานใหม่ (หรืออาจจะเป็นลำลูกกา) ได้สำเร็จจริงๆ คงมีถึงสามชั้น มองรถวิ่งผ่านไปมากันสนุกไปเลย

ผมผ่านสี่แยกนี้ทุกวัน เห็นรถยนต์แล้วน่าเกิดเป็นลูกหลานเจ้าของโรงกลั่นน้ำมัน (น้ำมันพืชก็เอาล่ะ…) เผื่อร่ำรวยขี่รถคันละหลายล้านกับเขาบ้าง

เข้าเรื่องเราดีกว่าครับ…..

................................

ทางหลวงสาย กรุงเทพฯ – สระบุรี



การคมนาคมและการขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถทำได้โดยสะดวก รวดเร็ว (ปัจจุบัน ทั้งเครื่องบิน และสามแยกแห่งนี้ กลายเป็นภาพที่ไม่หวนกลับมาอีกแล้ว)

อีกครั้งหนึ่งที่ ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกาได้ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมในงานพัฒนาทางหลวงร่วมกัน ทางหลวงสายใหม่ที่สร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อเช้าวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๙ ณ สี่แยกลาดพร้าว คือ ทางหลวง สายกรุงเทพฯ – สระบุรี โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด ท่ามกลางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และแขกผู้มีเกียรติทั้งไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งมาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง


จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ตัดริบบิ้นเปิดทางหลวงสายกรุงเทพฯ – สระบุรี ณ บริเวณทางแยกใกล้ลาดพร้าว

เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เกรแฮม มาร์ติน ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐ เป็นผู้กล่าวคำปราศรัยก่อน ได้ยืนยันว่า สหรัฐยินดีจะให้ความช่วยเหลือไทยต่อไปเมื่อได้โอกาสที่เหมาะสม และได้ชี้ให้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเสรี เป็นหนทางที่นำไปสู่อนาคตอันแจ่มใสของมนุษยชาติ ท่านกล่าวตอนหนึ่งว่า :

“จากผลของการร่วมมือระหว่างไทยกับอเมริกัน ต่อไปในอนาคตไม่กี่เดือนข้างหน้า เราก็จะได้เห็นว่าถนนที่สร้างขึ้นสำเร็จใหม่นี้จะมีความสำคัญเพิ่มยิ่งขึ้น เพราะทางการจะได้สร้างทางหลวงที่ทันสมัยขึ้นอีกสายหนึ่ง ระหว่าง สระบุรี กับ หล่มสัก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับถนนสายนี้ไปทางภาคเหนือ”

ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดว่า

"ทางหลวงสายนี้ นอกจากจะเป็นอนุสาวรีย์แห่งมิตรภาพอันยั่งยืน ระหว่างประชาชนชาวไทย และประชาชนชาวอเมริกัน ตลอดไปชั่วกาลนานแล้ว ยังจะเป็นสายสัมพันธ์อันดี ที่จะช่วยกระชับมิตรภาพระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น"

และสุดท้ายได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ช่วยไทยครั้งนี้

ทางหลวงสาย กรุงเทพฯ – สระบุรี ซึ่งมีความยาวกว่า ๑๐๔ กม.นี้ เป็นทางหลวงที่สร้างเป็นแบบมาตรฐานสมัยใหม่ และเป็นทางที่มีการจราจรหนาแน่นมากที่สุดของประเทศ ต้นทางเริ่มจาก ดินแดง ชานเมืองด้านเหนือของ กรุงเทพฯ ไปสู่ จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีพลเมืองประมาณ ๓๒๐,๔๐๐ คน

ทางหลวงสายใหม่นี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับลำต้นของต้นไม้ซึ่งมีกิ่งก้านสาขาแยกออกไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางหลวงของประเทศไทย ทางหลวงที่แยกออกไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และครึ่งหนึ่งของส่วนเหนือของภาคกลาง

ทางหลวงสายกรุงเทพฯ – สระบุรี และทางหลวงสายต่างๆ ที่แยกออกไปจากทางหลวงสายนี้ จึงเป็นทางหลวงที่เชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวง และเมืองท่าที่สำคัญของประเทศ กับจังหวัดต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้านทางภาคตะวันออกด้วย


บริเวณทางแยกใกล้ลาดพร้าวเป็นตอนที่มีการจราจรคับคั่งจนต้องติดตั้งสัญญาณไฟจราจรไว้เพื่อความปลอดภัย (ที่โล่งด้านหลัง ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว)

ทางหลวงสายกรุงเทพฯ – สระบุรี และทางหลวงต่างๆ ที่เชื่อมโยงอื่นๆ ในส่วนนี้ ทั้งที่ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว และที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป มีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและในการป้องกันประเทศ

ทางหลวงที่เชื่อมต่อจากทางหลวงสาย กรุงเทพฯ – สระบุรี ก็คือทางหลวงสายมิตรภาพ จาก สระบุรี ไปถึง จังหวัดนครราชสีมา มีระยะทาง ๑๔๘ กม. ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จเปิดการจราจรแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ ทางหลวงตอนที่ต่อจากจังหวัดนครราชสีมา ก็คือ ทางหลวงสายนครราชสีมา - หนองคาย ซึ่งมีระยะทางยาว ๓๖๐ กม. ติดต่อกันจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย โดยมีทางตอน กรุงเทพฯ – สระบุรี เป็นส่วนสำคัญของระบบทางหลวง

ทางหลวงสายกรุงเทพฯ – สระบุรี ถือได้ว่า เริ่มต้นเมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศไทย กับสหรัฐอเมริกา ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒

ข้อตกลงนี้เป็นการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะที่ได้ทำไว้เดิมว่า สำหรับทางสายใหม่จะสร้างสายใดตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง ซึ่งในบัญชีสายทางตามข้อเสนอแนะนั้น มีทางสาย กรุงเทพฯ – สระบุรี เป็นลำดับแรก


ภาพระหว่างการก่อสร้างเพื่อทำผิวจราจรปลายทางซึ่งอยู่ใกล้ทางด้านกรุงเทพฯ

งานก่อสร้างทางตอนแรก จากจังหวัดสระบุรี ถึงหนองแค ระยะทางยาว ๒๑ กม. เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ และก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๔ ตอนจากหนองแค ถึงรังสิต ระยะทางยาว ๕๕ กม. ได้เริ่มก่อสร้างในเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ทางตอนสุดท้ายจากรังสิต ถึง กรุงเทพฯ ผ่านสนามบินดอนเมือง ระยะทางยาว ๒๘ กม. ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทางตอนนี้เป็นตอนเดียวที่สร้างเป็นเส้นทางคอนกรีต ส่วนทางสระบุรี ถึง รังสิต ระยะทางยาว ๗๖ กม. ซึ่งได้ก่อสร้างเป็นผิวทางลาดยางชั่วคราวนั้น ก็ได้ก่อสร้างผิวทางชนิดแอสฟัลติคคอนกรีต เริ่มก่อสร้างในเดือน มกราคม และเสร็จในเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

ทางสาย กรุงเทพฯ – สระบุรี ตอนที่ได้ก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตยาวประมาณ ๒๘ กม.นั้น ช่วง ๒๐ กม.แรกจากดินแดง ถึงสนามบินดอนเมือง เป็นทางคอนกรีต ๔ แนว ชนิดควบคุมทางเข้าออกบางส่วน ช่วงที่เหลืออีก ๘ กม.จากดอนเมือง ถึงรังสิต เป็นทางคอนกรีต ๒ แนว กว้าง ๗.๐๐ เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ ๒.๕๐ เมตร ลาดยางจาก รังสิต กม. ๓๒ ถึง สระบุรี กม. ๑๐๘ เป็นระยะทาง ๗๖ กม. ทางสายนี้ผ่าน ประตูน้ำพระอินทร์ วังน้อย หนองแค หินกอง เป็นทางผิวแอสฟัลติคคอนกรีต กว้าง ๗.๐๐ เมตร และมีไหล่ทางกว้างข้างละ ๒.๕๐ เมตร ลาดยางเช่นกัน



สะพานจากกรุงเทพฯ ถึงสระบุรี ทุกสะพานสร้างใหม่ ตัวสะพานตลอดทางเท้าและราวสะพานทั้งสองข้าง เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความกว้างของสะพาน กว้างกว่าความกว้างของผิวจราจร ๑ เมตร ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการขับรถบนทางสายใหม่นี้ ในจำนวนสะพานที่สร้างทั้งหมดรวม ๒๔ สะพาน มีอยู่สองสะพาน ที่สร้างเป็นแบบสะพานยกได้ เพื่อเตรียมไว้สำหรับเรือขุดของกรมชลประทานลอดผ่านได้

การก่อสร้างทางยาว ๑๐๔ กม. สายนี้ ใช้เวลาก่อสร้าง ๔ ๑/๒ ปี ค่าก่อสร้างตอนถนนคอนกรีต ๒๘ กม. เป็นเงิน ๘๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท ตอนที่เป็นผิวแอสฟัลต์ ๗๖ กม. เป็นเงิน ๑๒๓,๖๐๐.๐๐๐ บาท รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท เฉลี่ยประมาณ กม.ละ ๑.๙๘ ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายทางด้านวิศวกรรม และการก่อสร้างทั้งหมด รัฐบาลไทย และสหรัฐอเมริกาสมทบกันออก รัฐบาลไทยเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดิน.

.............................


Create Date : 29 กันยายน 2553
Last Update : 30 กันยายน 2553 9:11:20 น. 4 comments
Counter : 19959 Pageviews.

 
ขอบคุณครับ
รำลึกถึงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
ผมจำได้ว่าตอนสร้างเสร็จใหม่ๆยังไม่มีไฟฟ้าริมถนนเลยครับ
ขอบคุณและสวัสดีครับ


โดย: nordcapp (nordcapp ) วันที่: 2 ตุลาคม 2553 เวลา:16:25:24 น.  

 
โอ้...มีคนระลึกถึงความหลังได้อยู่หรือนี่ ? ถนนสายนี้ผมมเห็นเป็นครั้งแรกเมื่อนั่งรถไฟมาเที่ยวกรุงเทพฯ ปี 2509 ครับ พอเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วก็ชินตา

ขอบคุณครับที่มาแวะชม


โดย: owl2 วันที่: 2 ตุลาคม 2553 เวลา:23:49:39 น.  

 
บ้านผมอยู่วิทยุหลักสี่ มีบ้านพักของกองช่างวิทยุอยู่ตั้งแต่เด็กเลยครับ เรียนที่ รร ใกล้บ้าน รร วัดหลักสี่ครับจนจบ ป 7 ไปเรียนต่อ ม ศ 1 ที่ หอวัง เสียค่าโดยสาร คูปอง 25 สตางค์ 2 ใบ เช้า เย็นบางวันกะเป๋าไม่เก็บเพราะตัวเล็กบ้านคน 2 ข้างหาทางมีน้อยเป็นทุ่งนาเสียส่วนมากผิดกับปัจจุบันบ้านมากรถติดมากด้วย


โดย: สมพงษ์ สอนประสาร (tanas251235 ) วันที่: 19 ตุลาคม 2558 เวลา:15:51:47 น.  

 
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ ก่อนที่ผมจะเกษียณอายุและกลับมาอยู่ที่อุตรดิตถ ก็พำนักอยู่ที่อพาร์ทเม้นท์ในซอย 1 ใกล้ๆ กับโรงเรียนหอวังนั่นแหละ


โดย: owl2 วันที่: 12 ตุลาคม 2560 เวลา:10:56:49 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.