|
สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (6)
สวัสดีครับ...
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านหนังสือพ็อกเก็ตบุ้กอยู่เล่มหนึ่ง เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของฝรั่งทำไม้ของบริษัท บอมเบย์ เบอร์ม่า ที่ป่าแม่งาว อ.งาว จ.ลำปาง ป่าแม่แฮด อ.สอง จ.แพร่ และป่าขุนยม อ.ปง จ.เชียงราย (ในขณะนั้น) รู้สึกประทับใจในสภาพการทำงานและบรรยากาศของป่าแถบลุ่มแม่น้ำยมในสมัยโน้น ที่ฝรั่งมังค่าซึ่งมาจากเมืองไกล ต้องควบคุมดูแลช้างงานนับร้อยเชือก คนงานนับพันคน กระจายไปตามหน่วยต่างๆ ภายในเขตสัมปทาน แถมต้องหัดสื่อสารกับคนงานด้วย "คำเมือง" อีกด้วย
รวมถึงแนวคิดการวางรางรถไฟเล็กในป่าเพื่อขนไม้ออกจากป่าสู่แม่น้ำยม ที่ อ.ปง ซึ่งแนวทางรถไฟดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงจังหวัดจาก อ.จุน ไป อ.ปง และ อ.เชียงม่วน ในทุกวันนี้ โดยไม้ซุงจากบริษัทดังกล่าวจะถูกรวมหมอนที่บ้านวังไม้ขอน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ก่อนล่องโดยเรือกลไฟลากจูงมายังกรุงเทพฯ
หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อว่า นายห้างป่าไม้ ซึ่งคุณทัศน์ทรง ชมภูมิ่ง ผู้เขียน ได้เรียบเรียงจากการพบปะพูดคุยกับ มร.ไมเคิล มาร์ติน อดีตผู้จัดการป่าแม่แฮด ที่ประเทศอังกฤษ คิดว่าหลายๆ ท่านคงมีโอกาสได้อ่านกันบ้างแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมติดใจคือเรื่องของช้างงานนั่นแหละ
พูดถึงเรื่องช้างงาน ก็เช่นเคยครับ ขอนำสารคดีสั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้พร้อมภาพประกอบ จากนิตยสารรายเดือน คนเมือง ปีที่ ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 ประจำเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2498 จากฝีมือการบรรยายของ คุณทำนุ นวรัฐ ส่วนภาพประกอบนั้น ค่อนข้างจะเป็นพิเศษโดยทางกองบรรณาธิการได้รับความเอื้อเฟื้อจาก มร. ยาก๊อป คอมม์ กงสุลอังกฤษประจำจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น (พ.ศ.2498) ซึ่งคงนิยมชมชอบเรื่องราวเกี่ยวกับช้างงานนี้เหมือนกัน
ผมขอคารวะทั้งสองท่านเป็นเบื้องต้น และรำลึกถึงนิตยสารรายเดือน คนเมือง แหล่งต้นฉบับ ก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวของช้างงานกันต่อไปครับ
............................
ช้างงาน
ภาพโดยความเอื้อเฟื้อของ มร. ยาก๊อป คอมม์ กงสุลอังกฤษประจำจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๙๘)
เรื่องโดย... ทำนุ นวรัฐ
.
พูดถึงเรื่อง ช้าง เราท่านก็ย่อมรู้กันว่า มันเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย... จากประวัติศาสตร์ ช้าง เกือบจะเป็นชนวนศึกใหญ่ในรัชชสมัยพระมหาจักรพรรดิ , นอกจากนั้นกษัตริย์แห่งโบราณสมัย ก็ทรงมี ช้างคู่บารมี ทุกพระองค์
สำหรับดินแดนแถบเหนือนั้นเล่า พระนางเจ้าจามเทวี ก็มี ช้างปู๊ก่ำงาเขียว เป็นช้างคู่บุญ -
ความสำคัญของ ช้าง แต่โบราณนั้น เป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญูรู้คุณ พระเจ้าแสนเมืองมา ผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงปูนบำเหน็จ อ้ายออบ และ ยี่ระขา ทหารกล้าที่พาพระองค์เตลิดทัพเป็นขุนช้างซ้ายขวา จนมีอนุสสาวรีย์ ช้างเผือก ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
ช้าง นอกจากจะมีความสำคัญดังว่า จนถึงกับสมัยหนึ่งธงชาติของเราก็มี ช้าง ประดิษฐานอยู่แล้ว ช้าง ยังเป็นเครื่องทุ่นแรงอย่างดีเลิศ ในการทำป่าไม้มาทุกกาลสมัยอีกโสดหนึ่งด้วย
ป่าไม้ทุกแห่งต้องอาศัยช้าง จนขาดกันไม่ได้ แม้ว่าทุกวันนี้จะมีรถยนต์ มีปั้นจั่นขนาดใหญ่ เป็นเครื่องทุ่นแรงอยู่แล้วก็ตาม ช้างก็ยังมีความจำเป็นอยู่นั่นเอง เพราะท้องถิ่นบางแห่งรถยนต์เข้าไปไม่ถึง
ช้างที่จะใช้ในงานป่าไม้นั้น คนควาญ (เฉพาะในภาคเหนือมักจะเป็นชาวยาง [กะเหรี่ยง] หรือขมุ [ไทยใหม่] เป็นผู้ฝึกและควบคุมช้าง) จะเริ่มฝึกตั้งแต่ลูกช้างอายุได้ ๓ ขวบ สำหรับช้าง และ ๕ ขวบสำหรับช้างตัวเมีย
เริ่มฝึกนั้น ต้องสร้าง คอก ขนาดพอดีกับช้าง และมั่นคงแข็งแรงพอเพียง เพื่อให้มันอยู่ในที่จำกัด และไม่อาจทำอันตรายใครได้... ยากมากทีเดียวในการที่จะฝึกช้างซึ่งเป็นสัตว์ให้รู้จักและเข้าใจภาษาคน ถึงขนาดที่จะทำตามคำสั่งให้ถูกต้อง ราวกับว่ามันเป็นคนๆ หนึ่งนั่นทีเดียว
ดังนั้น, การฝึกซึ่งมีกระบวนต่างๆ หลายอย่างหลายประการนั้น บางอย่างก็เป็ฯการทรมานสัตว์อยู่เหมือนกัน อาทิ การฝึกให้มันรู้จัก ยกเท้า แต่ละข้าง ตามคำสั่งของควาญ บางคราวมันยืนทำเฉย ก็ต้องใช้เหล็กเผาไฟจี้กันก็มี นอกจากนั้น , การที่จะสอนให้มัน หมอบ หรือคู้เข่าหน้า... สอนให้มันเดินเลี้ยวขวา - ซ้าย แต่ละอย่างก็ต้องลง ขอ กันถึงเลือด และต้องใช้เวลาฝึกสอนกันเป็นแรมปี กว่าสัตว์มันจะฟังและเข้าใจภาษาคนที่ควาญสั่ง
ในภาคเหนือนั้น ยาง หรือ ขมุ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนควาญนั้น มีภาษาเฉพาะใช้กับช้าง เป็นอีกภาษาหนึ่งทีเดียว บางครั้งบางคำเราท่านไม่คุ้นเคยกับภาษา พิเศษ นั้น ก็ไม่อาจที่จะฟังได้รู้เรื่องรู้ราวเหมือนกัน
ตามธรรมดา เมื่อเริ่มลงมือฝึก จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๔ - ๕ ปี จนช้างรุ่นมีอายุย่างเข้า ๙ ๑๐ ขวบ จึงจะเริ่มใช้งานลากไม้ได้ โดยค่อยหัดให้มันลากไม้ท่อนเล็กๆ ตามช้างใหญ่ซึ่งอาจเป็นพ่อหรือแม่ของมันไปก่อน และตลอดเวลาคนควาญต้องคอยควบคุมมันอย่างใกล้ชิด เป็นการฝึกคั่นปฏิบัติหลังจากได้สอนให้มันรู้และเข้าใจภาษาคนมาแล้ว จนกระทั่งมันชินกับงาน จึงจะให้คนมาประจำควบคุมมันไปทำงานได้
โดยที่ช้างมันเป็นสัตว์ ไม่ใช่เครื่องจักรที่ไร้ชีวิต คนควาญจึงต้องรู้และเข้าใจ ว่ามันย่อมจะมีโรคภัยเบียดเบียนเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไป และต้องรู้จักรักษาพยาบาลเมื่อมันเจ็บป่วย ไม่ใช่สักแต่จะใช้งานกินแรงมันตะพึดไป
ตลอดปี- ดูเหมือนว่าจะมีแต่ฤดูหนาวเท่านั้น ที่ช้างจะรู้สึกสบายและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ นอกนั้น, มันมักจะเป็นโรคไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ไม่เป็นโรคที่เล็บหรือเท้าก็เป็นโรคภายใน ที่คนควาญต้องเยียวยากันอย่างดีที่สุด ซึ่งแต่ละโรคก็มี ยา เฉพาะของมันเหมือนโรคสัตว์ , โรคคนเรานี่เอง ผิดกันแต่ว่า- มันเป็นยารักษาโรคเฉพาะช้างเท่านั้น
ทุกวันนี้งานป่าไม้ทุกแห่ง ช้าง ก็ยังมีบทบาทสำคัญร่วมอยู่ด้วยเสมอ กิจการป่าไม้ขาดช้างไม่ได้เลย ตราบใดที่ป่าไม้ยังขาดการคมนาคมที่ดีพอสำหรับรถยนต์
สำหรับป่าไม้ภาคเหนือ ช้าง เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง และก็ด้วยเหตุนี้เอง จึงมักปรากฏว่าชาวจ่างประเทศที่มาภาคเหนือ จึงมักจะหาโอกาสไปดูช้างปฏิบัติงานของมันในป่าไม้จนได้
ภาพชุดนี้ก็มาจากเหตุนั้น เป็นภาพชุดที่ มร.ยาก๊อป ลาคอมม์ กงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ ได้เดินทางไปดูและบันทึกภาพมา และเรานำมาเสนอต่อคุณผู้อ่านอีกทอดหนึ่ง
...........................................

ลูกช้าง มันก็เหมือนสัตว์โลกทุกจำพวก มันจะติดตามแม่ของมันไปต้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นยามที่แม่ของมันต้องทำงาน หรือยามที่แม่ของมันว่างงาน
เพราะมันยังเล็กเกินไป มันจึงไม่รู้ว่าสักวันหนึ่งเมื่อมันมีอายุได้พอสมควรแล้ว มันเองก็จะถูกเอาตัวไปฝึกสอน เพื่อว่าเมื่อมันเติบโตขึ้นมาก็จะต้องทำงาน แทนแม่ของมันซึ่งแก่เฒ่าลงไปจนทำงานไม่ไหว

ช้างถึงแม้จะเป็นสัตว์ใหญ่ที่ทรงพละกำลังก็จริง แต่ว่าในบางครั้งมันก็ต้องร่วมแรงกันหลายตัว เพราะไม้ที่มันจะต้องชักลากนั้นใหญ่เกินไป จนเกินแรงที่มันตัวเดียวจะลากไปได้
มันเป็นสัตว์และแน่เหลือเกิน การร่วมแรงของมันจึงไม่ใช่ การลงแขก อย่างที่มนุษย์เรารู้จัก หากเพราะว่าสายโซ่นั้นต่างหากที่มันจำต้องร่วมแรงกัน

ป่าไม้แต่ละแห่ง ต้นไม้ที่โค่นแล้วแต่ละท่อน วางทิ้งระเกะระกะอยู่ที่นั่น ที่โน่น และห่างไกลกัน
ช้างนั่นเอง, ที่จะทำหน้าที่ของมันด้วยการชักลากด้วยการออกแรงงัด เพื่อให้ไม้ซุงแต่ละท่อนจะได้มารวมอยู่เป็นแห่งเดียวกัน และเจ้าของกิจการป่าไม้จะได้รวมรวม ล่องแพ นำไม้ไปขายเป็นสินค้าต่อไป

เมื่อไม้ถูกช้างลาก, งัด, มารวมกันที่แม่น้ำแล้ว ช้างอีกน่ะแหละที่จะต้องทำหน้าที่รวบรวมไม้ให้เป็นหมวดหมู่ โดยที่เจ้าของกิจการป่าไม้สร้างพะนังกั้นน้ำไว้ เปิดช่องว่างขนาดพอไม้ลอดได้แล้วให้ช้างเที่ยวได้ไล่ต้อนท่อนไม้ที่ลอยฟ่องอยู่ให้มารวมกัน
งานของมันยังไม่เสร็จสิ้นได้ง่ายๆ นัก

มันต้องลุยน้ำเที่ยวได้ชักลากไม้ทุกๆ ท่อน สุดแต่คนควาญจะสั่งให้มันทำ น้ำแม้จะให้ความชุ่มเย็นก็จริง แต่ขณะยืนแช่อยู่ในน้ำมันต้องออกแรงทำงานไปด้วย
หากมันพูดภาษาคนได้ มันคงร้องอุทธรณ์หรือบ่นงึมงำราวกับหมีเคี้ยวผึ้งว่า สายน้ำนี้ มิได้ชุ่มเย็นอย่างที่คนซึ่งนั่งอยู่บนคอของมันคิดกันเลย

แต่ว่ามันเป็นแต่เพียง ช้าง สัตว์โลกจำพวกหนึ่งที่รู้และเข้าใจภาษาคนเท่านั้น มันพูดออกมาให้คนรู้ไม่ได้เหมือนกับคนพูดให้มันรู้
หน้าที่ของมันจึงมีแต่ทำและทำเรื่อยไป เพื่อให้เป็นที่พอใจของผู้เป็นเจ้าของ และเพื่อความปลอดภัยที่บริเวณโหนกหัวของมันจะพ้นจากการถูกสับด้วยขอเหล็ก

จนกระทั่งเมื่อมันชักลากและออกแรงจูงเอาท่อนไม้หลายขนาดมารวมกันเป็นกระจุกแล้ว ก็เป็นอันว่างานของมันสิ้นสุดลงช่วงหนึ่ง และก็จะต้องเริ่มต้นชักลากและงัดไม้จากป่าลงน้ำต่อไปใหม่อีก
ส่วนไม้ที่มันเอามารวมกันไว้แล้ว เจ้าของกิจการป่าไม้ ก็จะได้จัดการ รวมหมอน ผูกเป็นแพล่องไปจำหน่ายต่อไป

เมื่อเสร็จจากการทำงานที่แสนหนักและเหน็ดเหนื่อยแล้ว คนควาญก็จะช่วยอาบน้ำขัดถูให้มันบ้าง และบำเหน็จที่มันจะได้รับก็เป็นเพียงหญ้า, กล้วย, อ้อย, มะพร้าวอ่อน, หรือบางทีก็ เหล้าเถื่อน สักค่อนไห เพื่อให้มันมีแรงทำงานได้ต่อไป
คนเราอาจจะมีบ้านไม้สักสวยๆ สักหลังที่อยู่ได้อย่างแสนสุข แต่คงจะมีน้อยคนเหลือเกินที่จะรู้ว่า กว่าไม้สักจะมาเป็นบ้าน ช้างต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยสักปานใด
.......................
(จากนิตยสารรายเดือน คนเมือง ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 ประจำเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2498)
Create Date : 01 กันยายน 2553 |
Last Update : 11 กันยายน 2553 22:02:17 น. |
|
0 comments
|
Counter : 3504 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|