|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
มิงกาลาบาห์ เมียนมาร์ ( 10 )
อย่างไรก็ตาม เสียง morning call เช้าวันรุ่งขึ้นดังขึ้นเวลา 04.00 น. จนเริ่มเป็นเสียงที่เคยชินสำหรับคณะทัวร์ไปแล้ว
หลายราย เริ่มกระวีกระวาดลงไปดูการปล่อยบัลลูนที่สนามใกล้ๆ โรงแรม แต่พบว่าดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ มีหมอกค่อนข้างหนาปกคลุมไปทั่ว การปล่อยบัลลูนต้องงด จึงทะยอยกันกลับมาด้วยความไม่สมหวัง
สำหรับผม ซึ่งเคยเห็นการปล่อยโคมลอยบ่อยๆ ในสมัยเด็ก กลับคิดว่า ไม่เป็นไร ไม่ได้ดูบัลลูน แต่เคยดูโคมลอยทดแทนก็แล้วกัน

เช้าวันนี้ คณะทัวร์ได้พร้อมกันเพื่อรอขึ้นเครื่องบินไปยังสนามบินเฮโฮ รัฐฉาน
ยังมีนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่แห่งอื่นอีก เช่น เมืองมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง หรือไปยังเมืองอื่นในรัฐฉาน เช่น เชียงตุง ลาเฉียว ก็มี
บรรยากาศจึงคึกคักเป็นพิเศษในเช้าวันนี้

พอได้เวลา เครื่องบินของบริษัท Yangon Airways จากเมืองย่างกุ้ง บินมาถึงสนามบินยองอู
ก่อนที่จะรับผู้โดยสารต่อไปยังสนามบินเฮโฮ รัฐฉาน เป็นลำดับต่อไป
ซึ่งรัฐฉานนี้ เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในบรรดารัฐทั้งหมดของประเทศพม่า

ว่าถึงการโดยสารเครื่องบินสำหรับผม บทที่จะไม่มีก็ห่างเหินไปมาก
ครั้นพอได้เดินทางกันจริงๆ กลับประดังเข้ามาแทบจะรายวัน แถมเป็นเครื่องจากหลากบริษัทด้วยสิ
แต่เป็นที่ต่างประเทศนะ

ด้วยระยะเวลาบินเพียงลูกอมคนละสองเม็ดที่สายการบินนำมาแจกให้ผู้โดยสาร ชาวคณะได้เดินทางมายังสนามบินเฮโฮโดยสวัสดิภาพ
แต่ตอนนี้ขอดูโฉมแอร์โฮสเตสไปพลางๆ ก่อน

สนามบินเฮโฮ เป็นสนามบินขนาดเล็ก แต่รองรับบริการจากเครื่องบินหลากบริษัท ซึ่งล้วนแต่ใช้เครื่องกังหันใบพัดทั้งสิ้น
เรียกว่าไม่แตกต่างกันสักนิดเรื่องยี่ห้อเครื่อง ต่างเพียงชื่อสายการบินที่ให้บริการเท่านั้น
แถมเป็นสายการบิน low cost ทั้งหมดอีกด้วย

ครั้นคณะทัวร์ขึ้นรถพร้อมหน้ากันเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าทัวร์และไกด์ ช่วยกันสรุปรายการนำเที่ยวประจำวันนี้โดยมิรอช้า
เป็นรายการนั่งเรือล่องทะเลสาบกันทั้งวัน โดยแวะชมที่ วัดผ่องต่ออู วัดงาเพจอง สวนผักลอยน้ำ โรงงานผ้าทอใยบัว และโรงงานผลิตบุหรี่ไชโย
สำหรับเส้นทางที่จะต้องเดินทางข้ามเขาไปนั้น มีปลายทางที่เมืองใหญ่ของรัฐฉาน คือเมืองตองยี ซึ่งรวมทั้งเป็นปลายทางรถไฟสายย่างกุ้ง - มัณฑะเลย์ แยกจากชุมทางทาซีอีกด้วย
หัวหน้าทัวร์กล่าวหยอกเอินว่า วันนี้ไกด์อารมณ์ดีเป็นพิเศษ เพราะนำชมบ้านของตัวเอง
ทั้งๆ ที่บ้านอยู่จริงนั้น เมืองเชียงตุง ต้องนั่งเครื่องบินต่อไปอีกนานร่วมชั่วโมง

จากเฮโฮไปไม่เท่าไหร่ เส้นทางเริ่มคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามไหล่เขาของรัฐฉาน โดยมีเส้นทางรถไฟสายตองยี แล่นสลับกันไปมา

บางช่วง มีการปรับปรุงเส้นทางเพื่อลดค่าโค้งผ่านภูเขา ทำให้เส้นทางแบ่งออกเป็นสองเส้นแยกต่างหาก โดยที่ยังมีรถวิ่งบนเส้นทางแต่ละสายโดยไม่ปะปนกันอีกด้วย

มีอยู่ช่วงหนึ่ง เส้นทางรถไฟได้แยกขวาข้ามสะพานไปยังอีกฝั่งหนึ่งของหุบเขา เสียดายที่คว้ากล้องมาบันทึกภาพไว้ไม่ทันครับ เพราะมีคนงานอยู่กลุ่มใหญ่ทำหน้าที่บำรุงทางอยู่ช่วงนั้นด้วย
มาเปิดดูจาก google earth ยิ่งเสียดายหนักเข้าไปอีก เพราะเป็นสะพานรถไฟอันมีชื่อเสียงนามว่า Bava Than Tha Yar Bridge ซึ่งทางรถไฟพอข้ามสะพานแล้ว จะโค้งซ้ายวนต่ำ ลอดตัวสะพานอีกทีหนึ่ง สู่เมืองตองยีต่อไป
ขอยืมภาพจาก google earth ครับ

แล้วถนนก็ลดลงต่ำสู่บริเวณที่ราบสูง อันเป็นที่ตั้งของเมืองฉ่วยยอง
ต้องขออภัยที่เรียกชื่อลำลองไปก่อนนะครับ ชื่อจริงอาจเรียกไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า shwenyaung

ปั๊มน้ำมันเริ่มมีให้เห็นประปราย

รถอีแต๋นสไตล์พม่า
ต่างจากของบ้านเราตรงที่เราวางเครื่องแนวขวาง ส่วนของเขาวางตามแนวนอนครับ

รถอีหอบ เหมือนๆ กับของบ้านเรา เพราะมาจากต้นตำหรับของชาวญี่ปุ่น

ที่น่าทึ่งไม่เหมือนใครตรงที่ขบวนของทั่นอธิบดีกรมทางนี่แหละ
เดินลอยชายยกฝูงผ่านตลาดหน้าตาเฉย

ผ่านชุมชนเมืองฉ่วยยองได้สักพัก รถก็เลี้ยวขวาสู่เส้นทางเข้าเมืองยองฉ่วย อันเป็นเมืองท่าต้นทางล่องทะเลสาบอินเล

เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางลาดยางสองเลน มีรถราวิ่งสวนไปมาแทบไม่ขาดสาย
แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง รถต้องหยุดรอให้รถที่สวนทางมาวิ่งมาก่อน เพราะข้างหน้ากำลังมีการซ่อมบำรุงทางพอดี

เห็นวิธีการซ่อมบำรุงทาง ยังเป็นการซ่อมปะผิวจราจรแบบเก่าครับ
ซึ่งบ้านเราได้เปลี่ยนไปใช้วิธีซ่อมบำรุงแบบแอสฟัลติกหมดแล้ว

อาจเป็นเพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่มาก ประหยัดงบประมาณกระมัง ?

มีคนงานผู้หญิงด้วยแฮะ

แล้วเราได้มีโอกาสเห็นทะเลสาบอินเลเป็นครั้งแรก แต่ปลายทางยังอยู่อีกไกล

มีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งอีกด้วย

จอดรถเพื่อชำระเงินค่าเข้าชมทะเลสาบอินเลกันก่อน
ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวมาเป็นคณะ หรือแบกเป้มาคนเดียว ต้องชำระไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
เงินที่ได้ ไม่ได้เอาไปใช้ที่ไหน ก็บำรุงแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆแหละ ซึ่งเราจะได้เห็นกันต่อไป
สังเกตธงของรัฐฉาน คงจะเป็นที่สนใจของรัฐบาลเมียนมาร์มาก มีการขอยืมไปใช้โดยเปลี่ยนจากรูปวงกลมสีขาว เป็นดาวขาวแทน
ข้อนี้ผมว่าเองนะ ฮ่า...

มาถึงเมืองยองฉ่วยแล้วครับ ต้นทางท่าเรือล่องทะเลสาบอินเล

หน้าตาของเมืองก็ประมาณนี้แหละ จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่าครึ่งค่อน
ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวฝรั่งมังค่ามากกว่า

หัวหน้าทัวร์ปล่อยอิสระให้ชาวคณะลงไปซื้อข้าวของเบ็ดเตล็ดที่ร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่ติดแอร์นะครับ
แว่บลงไปดูพักหนึ่ง นึกดีใจทีมีขนมขบเคี้ยวจากเมืองไทยวางขายกันหลายยี่ห้อ ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับของที่ผลิตจากโรงงานในประเทศเขา หรือ มาจากประเทศจีน

และเราได้มาถึงท่าเทียบเรืออันมีเรือหลากสี หลายบริษัทที่จอดรอรับลูกค้าครับ
หลังจากนั้น ต่างออกแรงยกข้าวของบนรถมากองเรียงกันเพื่อลงเรือบริการไปยังโรงแรมที่พักในคืนนี้
แต่เจ้าของกระเป๋า ต้องทนรอนแรมในเรือไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในทะเลสาบกันแทบทั้งวัน ก่อนที่จะมาเจอกระเป๋าของตัวเองในตอนเย็น ซึ่งมานอนรอที่โรงแรมตั้งนานแล้ว

แผนที่สังเขปบริเวณทะเลสาบ พร้อมที่ตั้งของจุดที่น่าสนใจ
จุดที่เรากำลังยืนอยู่ ด้านบนสุดของแผนที่ครับ

กำลังมองหาเรือที่จองไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
โดยมีเรือสำหรับนักท่องเที่ยว 4 ลำ และเรือที่ขนกระเป๋าไปยังโรงแรมโดยเฉพาะ อีก 1 ลำ

เรือเหล่านี้ ปกติหากใช้ขนผู้คนไปมาในทะเลสาบ ผู้โดยสารจะนั่งรวมกันที่ท้องเรือนั่นแหละ ความจุเรือราวเที่ยวละ 20 คน
หากเป็นเรือสำหรับนักท่องเที่ยว จะจัดเก้าอี้นั่งไว้ให้ลำละ 5 คน และต้องจัดชูชึพให้สวมครบทุกที่นั่ง ผ้าห่มกันละอองน้ำ และร่มกันแดดคนละคันอีกด้วย
ผู้โดยสารที่สวมชูชีพแล้ว เห็นสะดุดตาตั้งแต่ไกลเชียวล่ะ

ขอยืมภาพจากน้องมาโชว์ให้เห็นถึงส่วนที่เป็นหางเรือ จะเป็นหางสั้น ไม่หางยาวแบบของบ้านเรา
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาใบพัดติดพันสาหร่ายน้ำจีดในทะเลสาบที่มีอยู่มากมาย
ส่วนเครื่องยนต์นั้นเป็นเครื่องเบนซินครับ
ด้วยรูปแบบลำเรือที่ออกแบบเหมือนมีดดาบโบราณ ทำให้เรือพุ่งฉิวออกไปได้ไม่ยาก

จากท่าเรือ เราจะแล่นไปตามคลองอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ก่อนที่จะออกสู่ผืนน้ำอันกว้างขวางของทะเลสาบอินเล
Create Date : 03 พฤษภาคม 2561 |
Last Update : 3 พฤษภาคม 2561 8:32:33 น. |
|
2 comments
|
Counter : 888 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: owl2 วันที่: 3 พฤษภาคม 2561 เวลา:13:19:05 น. |
|
|
|
|
|
|
|