Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
15 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (12)

สวัสดีครับ.....

สารคดีสั้นประกอบภาพจากนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ตอนนี้ เป็นตอนสุดท้ายที่นำเสนอ สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องเก่าๆ จากสารคดีสั้นชุดนี้และติดตามตอนแรกๆ ไม่พบนั้น ผมได้จัดรวมไว้ใน bloggang ทั้งหมด ตามคำแนะนำของคุณ "จริงใจ.......สบายจริง" และผมต้องขอขอบคุณในคำแนะนำมา ณ ที่นี้

ขอย้อนบรรยากาศกันสักนิด..... ช่วงผมยังเด็กนั้น ที่ห้องของ "ป้ออุ๊ย" ซึ่งเป็น "ปู่อาจารย์" ประจำวัดอีกตำแหน่งหนึ่ง จะมี "ปั๊บกะตืน" หรือหนังสือพับเล่มหนาๆ ทำด้วยกระดาษสา เขียนด้วยตัวเมืองทั้งหมด ตั้งซ้อนกันอยู่หลายพับ หากพลิกดูในเล่มจะประกอบด้วยตาราง และยันต์ต่างๆ สอบถามดู ก็ได้รับคำตอบว่า เป็นหนังสือเกี่ยวกับพิธีกรรม รวมถึงเลขผานาที ฤกษ์ยามต่างๆ โดยซื้อมาจากพ่อค้าชาวไตมานานแล้ว และยังมีโอกาสได้เห็นการประกอบพิธีกรรมด้าน "เฮียกขวัญ" "ขึ้นท้าวทั้งสี่" "สืบชตาคน" การเขียน"ยันต์ปกหัวเสา" ตอนขึ้นบ้านใหม่อีกด้วย

พอได้เห็นสารคดีสั้นประกอบภาพชุดนี้จากนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" เป็นอันเข้าใจโดยไม่ต้องถามอีกว่า เขาทำอะไรบ้าง ?

หลังจากที่ "ป้ออุ๊ย" ได้สิ้นบุญลง บรรดา "ปั๊บกะตืน" ได้ตกไปอยู่กับลูกชายซึ่งเป็น "หนาน" เคยบวชโดย "ครูบาศีลธรรม" (ครูบาศรีวิชัย) คราวมานั่งหนัก (เป็นประธาน) บูรณะวัดศรีโคมคำ และพระเจ้าตนหลวงแห่งเมืองพะเยา เป็นพระอุปัขฌาย์และสามารถอ่าน "ตั๋วเมือง" ได้คล่องแคล่ว แต่แล้ว "ลุงหนาน" ได้เสียชีวิตตามอายุขัยไปอีกรายหนึ่ง "ปั๊บกะตืน" เหล่านั้นได้สูญไป โดยที่ผมไม่มีโอกาสได้เห็นอีกเลย

เสียดายที่ผมไม่เอาถ่านด้านศึกษา "ตั๋วเมือง" จึงไม่สามารถอ่าน "ปั๊บกะตืน" เหล่านี้ได้

แต่ยังนึกถึงบรรยากาศในงาน "ตานก๋วยสลาก" ซึ่ง "ป้ออุ๊ย" ผมได้เขียนลงใน"เส้น" หรือสลากที่เป็นใบลานด้วย "ตั๋วเมือง" ทั้งหมด

ร้อนถึงพระภิกษุท่านที่ไม่ชำนาญ "ตั๋วเมือง" แต่บังเอิญจับได้ "เส้น" ของรายนี้เข้า ต้องไปนิมนต์พระภิกษุรูปอื่นมาอ่านคำถวายจาก "เส้นตั๋วเมือง" ให้

ทำเอาลูกหลานเจ้าของ "เส้น"รายนี้ ต้องวุ่นวายเวียนหัวไปตามๆ กัน

ครับ... เรามาติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ "ฮีต" หรือจารีตประเพณีของคนเก่าแก่ชาวเมืองเหนือดูสิว่า มีอะไรบ้างนั้นได้เลยครับ


............................

ฮีตไผ....ฮีตมัน



เชียงใหม่ ๒ พฤศจิกา’ ๙๘

คุณ- ที่รัก

จดหมายของคุณที่บอกไปว่า “อยากรู้จักคนเมืองเหนือที่แท้จริง ก็ต้องรู้ถึงขนบทำเนียมประเพณีของคนเมืองเหนือด้วย” และพร้อมกันนั้น, คุณก็ขอร้องเป็นเชิงบังคับเอากับผมว่า “ต้องเล่าถึงสิ่งที่ฉันอยากรู้ให้ได้นะ มิฉะนั้น, โกรธจนตายเลย” ผมเคยชนะก็แต่สิ่งอื่นอย่างอื่นเท่านั้นเอง แต่กับคุณ- ผมต้องแพ้อยู่ตลอดมา, และตลอดไปด้วย

คนเมืองเหนือก็เช่นเดียวกับคนไทยในภาคอื่นทั่วไป ที่ย่อมจะมีจารีตประเพณีของตน และยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาไม่ขาดสาย ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งถ้าจะเอาประเพณีทั้งหมดของคนเมืองเหนือมาเล่าสู่กันฟัวอย่างละเอียดละออแล้ว แน่นอนเหลือเกิน, จดหมายฉบับนี้คงจะยืดยาวมากทีเดียว และข้อสำคัญ, ก็จะซ้ำกับบางสิ่งบางอย่างที่คุณเคยรู้เคยเห็นมาบ้างแล้ว ๒ อย่างยากจะหลีกเลี่ยงเสียได้


ผมไม่เคยขัดใจคุณ- เท่าๆ กับที่คุณเคยตามใจผม ดังนั้น, เอาอย่างนี้จะดีไหม ... ผมจะเล่าถึงประเพณีหรือ “ฮีตฮอย” ของคนเมืองเหนือสู่กันฟังแต่เพียงบางสิ่งบางอย่าง- ที่ถึงอย่างไรคุณก็สนใจใคร่รู้- แทนการเล่าถึงทุกสิ่งทุกอย่างให้ยาวความไป ... อย่างนี้ผมว่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ


ในงานมงคล- ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร คนเมืองเหนือมีประเพณีอยู่ว่า ก่อนอื่น, จำต้องทำพิธีบอกกล่าวท้าวจตุโลกบาล- ผู้ปกปักพิทักษ์โลก ให้รับทราบและร่วมในงานมงคลนั้นด้วย เพื่อคุ้มครองป้องกันอัปมงคลไปด้วยในขณะเดียวกัน คนเมืองเหนือเรียกพิธีนี้ว่า “ขึ้นท้าวทั้งสี่”

ประเพณี “ขึ้นท้าวทั้งสี่” นี้ จะผิดแผกแตกต่างกับคนภาคกลางอยู่บ้างตรงที่ว่า- ทางภาคกลางนั้น มีพิธี “ชุมนุมเทวดา” ก่อน แต่ความมุ่งหมายนั้น, ผมคิดว่าเป็นอย่างเดียวกัน

ประเพณี “ขึ้นท้าวทั้งสี่” ของคนเมืองเหนือนั้น ในทุกวันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่ (และคุณก็คงจะรู้ว่า “คนหัวสมัยใหม่” เขาไม่ค่อยจะนำพากันนัก) เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาช้านานนักหนาแล้ว ผมอยากให้คุณได้เห็น, ได้ฟัง “โองการ” เชื้อเชิญท้าวจตุโลกบาลเหลือเกิน เพราะเป็นถ้อยคำพรรณาโวหารที่กวีแต่เก่าก่อนเรียบเรียงไว้และมีความไพเราะซาบซึ้งมาก


ผมเคยได้ไปในพิธี “ส่งหาบส่งคอน” หลายครั้ง เป็นพิธีการแบบเดียวกับพิธีทิ้งข้าวแม่ซื้อนั่นเอง ตามความเชื่อถือของคนเมืองเหนือ, เชื่อกันว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๕ ขวบมี “พ่อเกิดแม่เกิด” ประจำตัว เช่นเดียวกับ “แม่ซื้อ” ของภาคกลาง เวลาที่เด็กไม่สบาย, ตัวร้อน, นอนผวา ก็ถือกันว่า “พ่อเกิดแม่เกิด” (หรือแม่ซื้อ) ให้โทษ ต้องทำพิธี “ส่งหาบส่งคอน” เป็นการติดสินบล “พ่อเกิดแม่เกิด” มิให้มารบกวนเด็ก


เล่ามาแต่ย่อๆ แค่นี้ คุณก็คงจะรู้ว่าพิธี “ส่งหาบส่งคอน” นั้น ก็แบบเดียวกับพิธีทิ้งข้าวแม่ซื้อนั่นเอง แต่ว่า, นอกจากพิธีการบางอย่างจะแตกต่างกันแล้ว “โองการ” เชื้อเชิญ “พ่อเกิดแม่เกิด” ให้มารับเครื่องเซ่นสรวงก็พิศดารมากกว่าโองการ “ฟาดเคราะห์” ในพิธีทิ้งข้าวแม่ซื้อ ที่คุณก็เคยได้ยินได้ฟังอย่างมากมายด้วย เพราะโองการสำหรับพิธี “ส่งหาบส่งคอน” ยืดยาวมากกว่า “แม่ซื้อแม่นาง ลูกเองเป็นลูกเรา อย่ามาหยิกมาข่วน อย่ามารบกวนให้ร้าย อย่ามากวนให้ทุกข์ให้ไข้ เราจะเลี้ยงดูไว้ ให้อยู่เย็นเป็นสุขสนุกสบาย อยู่กับเราไปจนแก่จนเฒ่าอันเป็นคำ “ฟาดเคราะห์” ที่คุณเคยรู้เคยได้ยินมาก่อน

คนเราหลีกหนีการเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่พ้น และเมื่อเจ็บไข้ได้ทุกข์คนไทยเราก็มีประเพณีในการนี้หลายอย่าง สำหรับคนเมืองเหนือก็มีพิธีส่งแถน- พิธีเฮียกขวัญ- พิธีสูดก๋วม- และพิธีสืบชตา แต่ละพิธีล้วนใช้สำหรับกรณีที่มีผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งสิ้น

พิธี “ส่งแถน” ของคนเมืองเหนือนั้น จากพิธีการที่กระทำ, ผมเข้าใจว่าเป็นแบบเดียวกับพิธี “ส่งส่วยเสียกบาล” ในภาคกลาง พิธี “เฮียกขวัญ” ก็แบบเดียวกับการรียกขวัญนั่นเอง- ดูจะไม่แตกต่างกันเลย พิธีสูดก๋วมนั้น แตกต่างไปจากการสวดโพชฌงค์มาก ถึงกระนั้น ผมก็ยังเห็นว่ามีความมุ่งหมายไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนพิธี “สืบชตา” นั้นเทียบได้กับพิธีต่ออายุ- พิธีค้ำโพธิ์จะผิดกันก็ตรง “พิธีการ” เท่านั้นเอง ความมุ่งหมายก็ลงรายเดียวกันได้

พิธีการสำหรับคนเจ็บนั้น มีมากกว่าพิธีการอย่างอื่น ไม่ฉะเพาะแต่คนเมืองเหนือเท่านั้น คนท้องที่อื่นก็เหมือนกัน เพราะการเจ็บหมายถึงอาจจะตาย เป็นการจากที่ไม่มีวันจะได้พบกันอีก และใครๆ ก็ไม่ต้องการดังนั้น, ญาติมิตรจึงต้องพยายามเต็มที่ ในอันที่จะช่วยให้คนเจ็บได้มีอายุยืนยาวต่อไป พิธีการแม้จะต่างกัน, แต่ความมุ่งหมายก็มิได้ต่างกันแต่อย่างไรเลย

พิธีการ “แฮกนา” หรือแรกนาของคนเมืองเหนือนั้น ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างกันกับพิธีการที่กระทำกันในท้องถิ่นอื่น เพราะแผ่นดินไทยเรานี้, การกสิกรรมยังเป็นงานหลักประจำชาติอยู่ สิ่งปลีกย่อยของพิธีการเท่านั้นที่ต้องดัดแปลงให้ “เข้ากันได้” กับภาวะแวดล้อมของท้องถิ่น


สำหรับพิธี “สืบชตาบ้าน” ก็เหมือนกัน ทางภาคกลางก็มีพิธีทำบุญกลางบ้านและมีความหมายเป็นอย่างเดียวดันอีกน่ะแหละ

คุณอาจผิดหวังอย่างมากทีเดียวที่จดหมายฉบับนี้, ผมไม่ได้ช่วยให้คุณรู้จักขนบทำเนียมของคนเมืองเหนือดีขึ้นกว่าเดิมเลย ผมจึงสอดภาพมาให้คุณอีกชุดหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นภาพชุดที่แสดงถึงพิธีการต่างๆ ที่ดียิ่งกว่าผมจะเล่าให้คุณฟังเป็นก่ายกอง

แต่อย่างไรก็ตามทีเถิด, ผมก็อยากจะย้ำกับคุณว่า การดำรงคงอยู่ของความเป็นไทยนั้น จารีตประเพณีที่เรายึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็น “บุคคลิกภาพประจำชาติ” หรือที่คุณจะเรียกว่าวัฒนธรรมสาขาระเบียบประเพณี มีส่วนอย่างสำคัญทีเดียว ที่ทำให้ไทยไม่มีวันจะสูญชาติ !

คนเมืองเหนือมีคำกล่าวอยู่ประโยคหนึ่งว่า “ฮีตไผ ฮีตมัน” ซึ่งเป็นการย้ำเตือนมิให้ลูกหลานลืมกำพืดของตน ! พิธีการที่ผมเล่าให้คุณฟังมาแต่ต้น ที่ยังคงมีอยู่ก็เพราะการยึดมั่น “ฮีตไผ ฮีตมัน” นี่เอง ผมคิดและอยากจะให้คนไทยทุกคนถือ “ฮีตไผ ฮีตมัน” เป็นคติธรรมประจำใจ เหตุว่าในทุกวันนี้- ความเป็นไทยของเรากำลังถูกวัฒนธรรมสมัยใหม่ปรกแผ่เข้ามาท่วมท้น

จนผมอดประหวั่นพรั่นใจไม่ได้ว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอีกไม่นานนัก “สัญญลักษณ์ประจำชาติไทย” จะหาดูได้ยากยิ่งกว่าสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แล้วไทยเราจะไม่เป็นเช่นโรมที่เคยล่มมาแล้วล่ะหรือ ?



ยังรักคุณเหมือนเคย


แมน เมืองเหนือ

....................


ฮีตฮอยของคนเมือง

ภาพโดย นิคม กิตติกุล

พากษ์โดย ๑๕๕


...............................


ลานนาไทยเคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต จวบจนถึงปัจจุบัน คนเมืองเหนือก็เช่นเดียวกับคนไทยในท้องถิ่นอื่น ที่มีจารีตประเพณีของตนเองถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาไม่ขาดสายจนกระทั่งทุกวันนี้ จารีตประเพณีนี้เองที่เป็นเสมือนฉัตรชัย ซึ่งรวมพลังใจหมู่คนเมืองเข้าไว้ด้วยกันตลอดมา

จารีตประเพณีบางสิ่งบางอย่าง เมื่อตกมาถึงสมัยนี้ แม้จะไม่เหมาะแก่กาลสมัย แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า ขนบทำเนียมประเพณีนั้นเป็นวัฒนธรรมทางจิตใจ- เป็นหลักใจ มิใช่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีแต่อย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การที่จะมองจากมุมเดียว โดยไม่นึกถึงเหตุผลทางใจบ้างเลยนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ฉลาดนัก

จารีตประเพณีของคนเมืองเหนือ ที่เราประมวลมาเสนอต่อท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้ เป็นจารีตประเพณีที่หมู่คนเมืองได้ถือปฏิบัติต่อกันมาช้านาน และแม้ว่าทุกวันนี้ก็ยังมีปฏิบัติกันอยู่ มิใยว่าสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ จากตะวันตกจะไหลบ่าเข้ามาสักเพียงใด จารีตประเพณีที่หมู่คนเมืองเชื่อถือ ก็มิได้เสื่อมสูญไป เพราะหมู่คนเมืองที่ไม่ลืมกำพืดของตน ยังยึดมั่นในคำกล่าวของบรรพบุรุษของตนว่า “ฮีตไผฮีตมัน”


................................



ขึ้นท้าวทั้งสี่




เมื่อจะมีงานมงคล ตามจารีตของคนเมืองเหนือ, จะจัดให้มีพิธี “ขึ้นท้าวทั้งสี่” เสียก่อน เพื่อบอกกล่าวให้ท้าวจตุโลกบาลทราบ จะได้มาคุ้มครองงานนั้น ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นมหามงคลยิ่งๆ ขึ้น และเพื่อให้ท้าวจตุโลกบาลช่วยปกป้องมิให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นด้วย

พิธี “ขึ้นท้าวทั้งสี่” นี้ เครื่องบูชาประกอบด้วย...สะตวง (กะทงกาบกล้วย) ๖ อันบันจุหมาก, เหมี้ยง, บุหรี่, กล้วย, อ้อย, มะพร้าว, แกงส้ม, แกงหวาน, ข้าว, ขนม, น้ำ, ข้าวตอก, ดอกไม้, เทียน, ช่องตุง(ธง) และฉัตร อย่างละ ๔ การประกอบพิธีก็มี “อาจารย์” เป็นผู้อ่านโองการอัญเชิญท้าวจตุโลกบาลจากสมุดข่อยให้มารับเครื่องเซ่นสรวงบูชา


ส่งหาบส่งคอน




คนเมืองเหนือเชื่อกันว่า เด็กตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุ ๕ ขวบ จะมี “พ่อเกิด-แม่เกิด” ซึ่งอยู่เบื้องบนคอยรบกวน ทำให้เด็กเจ็บป่วย, นอนไม่หลับ, ร้องไห้ยามค่ำคืน, สะดุ้งผวาตื่นละเมอ เป็นต้น เหล่านี้เป็นการดลบันดาลของ “พ่อเกิด-แม่เกิด” ทั้งสิ้น

เพื่อที่จะเอาอกเอาใจ “พ่อเกิด-แม่เกิด” มิให้รบกวนเด็ก คนเมืองเหนือจึงต้องมีพิธี “ส่งหาบส่งคอน” ให้ “พ่อเกิด-แม่เกิด” อยู่เรื่อยๆ การ “ส่งหาบส่งคอน” ทำตะกร้าเล็กๆ บันจุเครื่องเซ่นสรวงแบบเดียวกับสะตวง “ขึ้นท้าวทั้งสี่”

เวลาทำพิธีก็มี “อาจารย์” อ่านโองการอัญเชิญ “พ่อเกิด-แม่เกิด” ให้มารับเครื่องบูชา และเลิกรบกวนเด็กเล็กเสียที


ส่งแถน




เมื่อมีการเจ็บป่วยขึ้น เยียวยารักษาอย่างไรอาการก็ไม่ทุเลา จารีตของคนเมืองเหนือเมื่อเป็นเช่นนั้น, ญาติพี่น้องของคนป่วยก็จะไป “ถามเมื่อ” (ถามโชคเคราะห์) จากคนทรง หรือ “อาจารย์”

และถ้าถูกแนะนำให้ “ส่งแถน” ก็กลับมาทำสะตวงแบบเดียวกับสะตวงขึ้นท้าวทั้งสี่ แต่เพิ่มจำนวน “เครื่องบูชา” เป็นอย่างละ ๑๒, ใช้ดินเหนียวปั้นรูปคน ๑ รูป, ใช้กาบกล้วยทำกระจก, หวี, ปิ่นปักผม, สร้อยข้อมือ, และเบี้ยใส่สะตวง เสร็จแล้วนำมาวางตรงหน้าคนป่วย “อาจารย์” อ่านโองการเชื้อเชิญปู่แถนย่าแถนมารับเครื่องบูชา

เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว, ก็นำสะตวงไปแขวนไว้ข้างรั้ว และตรวจน้ำอุทิศให้ “แถน”

พิธีส่งแถนนี้ใช้สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ขวบขึ้นไปตลอดทั้งผู้ใหญ่ด้วย


เฮียกขวัญ




ประเพณีของคนเมืองเหนือถือว่า คนทุกคนมีขวัญประจำตัวอยู่ ๓๒ ขวัญ ตราบใดที่ขวัญยังอยู่ครบ ตราบนั้นก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ดังนั้น, เมื่อมีผู้เจ็บป่วยและทำพิธี “ส่งแถน” แล้วอาการก็ไม่ทุเลาเบาบางลง คนเมืองเหนือก็จะทำพิธี “เฮียกขวัญ” เรียกขวัญให้มาสู่เนื้อตัวผู้ป่วย

พิธี “เฮียกขวัญ” ใช้บายศรีประดับดอกไม้, ไก่ต้ม ๒ ตัว “อาจารย์” ผู้ทำพิธีเรียกขวัญจะอ่านพรรณาโวหารเป็นร่ายยาวคล้องจองกัน เชิญขวัญทั้ง ๓๒ กลับมา... พลางนับเมล็ดข้าวสาร คู่-ขวัญกลับมาแล้ว, คี่-ขวัญยังไม่กลับ ต้องนับให้เป็นคู่จนได้ เมื่อขวัญกลับมาแล้ว “อาจารย์” ก็ผูกมือผู้ป่วยด้วยด้ายมงคล พิธีนี้ใช้กับการแต่งงาน, การบวช, และผู้จะเดินทางไกลด้วยก็ได้


สูดก๋วม




ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการผอมแห้ง จะหายก็ไม่หาย, จะตายก็ไม่ตาย ทำให้ญาติพี่น้องเดือดร้อน รำคาญ- ในกรณีนี้, คนเมืองเหนือถือว่าผู้นั้นถูก “พราย” คือถูกผีสิง- ต้องทำพิธีขับไล่ ! พิธีนี้เรียกว่า “สูดก๋วม” ทำที่ทางสี่แพร่ง, มีตาแหล๋ว (เฉลว) ๔ อัน, แล้ววงด้วยเชือกที่ขวั้นด้วยใบคาสดๆ ให้คนป่วยนั่งอยู่กลางปริมณฑล, เอาบาตรคลุมหัว, แล้วมีพระ ๔ องค์ถือจีวร ๔ มุมเป็นหลังคาคลุมคนป่วยและสวดพระปริตต์ เป็นการแสดงว่าผู้ป่วยอยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์... ที่มุม ๔ ด้านซึ่งปักตาแหล๋ว (เฉลว) ไว้มีสะตวงบันจุผักดิบ, เนื้อดิบ, ปลาดิบ วางอยู่...

พิธีนี้ในปัจจุบันมีตามชนบทบางแห่งเท่านั้น เพราะคณะสงฆ์ไทย “รังเกียจ” พิธีการนี้และพยายามจะเลิกล้มเสีย เพราะเห็นว่าเป็นพิธีการที่ไม่เหมาะสมกับสมณะสารูป


สืบชตาคน




การ “สืบชตา” เป็นพิธีมงคลอย่างหนึ่ง ที่คนเมืองเหนือกระทำกันอยู่เนืองๆ ฉะเพาะอย่างยิ่งเมื่องานวันเกิด, หรือแม้งานขึ้นบ้านใหม่ เพราะถือว่ามงคลพิธีนี้เป็นการสืบต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไป เพื่อเกื้อกูลพระพุทธศาสนา

พิธี “สืบชตาคน” นี้ ใช้กระบอกข้าว, กระบอกทราย, กระบอกน้ำ, สะพานลวดเงิน, สะพานลวดทอง, เบี้ยแถว, หมากแถว, ไม้ค้ำเล็กเท่าอายุ, ไม้ค้ำยาวสูงเท่าผู้จะสืบชะตา, ต้นมะพร้าว, กล้วย, อ้อย, เสื่อ, และหมอน สิ่งของเหล่านี้ตั้งสุมเป็นกระโจม ๓ ขา ผู้จะสืบชตานั่งอยู่ในกระโจม โยงสายสิญจน์จากศีร์ษะติดกับกระโจมทั้ง ๓ ขา แล้วเลยไปให้พระถือสวดพระปริตต์ ต้นไม้เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็นำไปปลูกไว้ในวัด


แฮกนา




พิธี “แฮกนา” หรือแรกนานั้น คนเมืองเหนือกระทำในไร่นาที่ได้รับน้ำจากลำเหมือง ที่เรียกกันว่า “ไฮ่ปากต๊าง” เครื่องประกอบพิธีมี ตาแหล๋ว (เฉลว) ขนาดใหญ่อยู่บนยอดไม้รวกสูงลิ่ว มีโซ่ทำด้วยตอกแขวนจากตาเหล๋ว (เฉลว) ลงมา ๒ เส้น ปลายโซ่ผูกปลาตะเพียนทำด้วยไม้เส้นละตัว รอบๆ เสาไม้รวก ๔ ทิศมีแท่นวางสะตวงทิศละแท่น ในสะตวงมีเครื่องบริโภคต่างๆ

การทำพิธีก็มี “อาจารย์” อ่านโองการจากสมุดข่อยอัญเชิญเทพาอารักษ์ ถือกันว่าเมื่อทำพิธีนี้แล้ว ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงาม ไม่มีปู, และเพลี้ย ตลอดจนตัวแมลง หนู มาทำลายรบกวนเพราะมีเทวดาคอยคุ้มครองรักษาต้นข้าวให้ได้ผลสมบูรณ์เต็มเม็ดเต็มหน่วย


สืบชตาบ้าน




การ “สืบชตาบ้าน” ก็แบบเดียวกันกับการสืบชตาคน ผิดกันก็ตรงความมุ่งหมาย พิธี “สืบชตาบ้าน” ก็เพื่อให้เกิดศิริมงคลแก่หมู่บ้านนั้นๆ เป็นการป้องกันมิให้คนในหมู่บ้านเจ็บไข้ได้ป่วย ....... รวมทั้งกำจัดสิ่งอัปมงคลบรรดามีในหมู่บ้านนั้นให้หมดไปด้วย

พิธี “สืบชตาบ้าน” นี้ทำกันที่ทางสี่แพร่ง มีการทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ, บูชาท้าวจตุโลกบาล, และบูชาเทพยดาอารักษ์ทั้งหลาย, รวมทั้งเสื้อบ้านเสื้อเมืองด้วย คนเมืองเหนือจะกระทำพิธีสืบชตาบ้านนี้ก่อนฤดูทำนา- ราวต้นพรรษา ปีหนึ่งก็ทำกันครั้งหนึ่ง เป็นประเพณีที่คนทั้งหมู่บ้านกระทำร่วมกัน

ในปัจจุบัน พิธี้นี้ก็ยังนิยมกระทำอยู่ทั่วไปทั้งภาคเหนือ

..........................

(จากนิตยสารรายเดือน “คนเมือง” ปีที่ 2 ฉบับที่ 5 พฤศจิกายน 2498)










Create Date : 15 กันยายน 2553
Last Update : 12 ตุลาคม 2560 10:47:19 น. 4 comments
Counter : 4889 Pageviews.

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: TREE AND LOVE วันที่: 15 กันยายน 2553 เวลา:18:21:30 น.  

 
สวัสดีครับ แค่อยากเห็นหน้าเฉยๆ เท่านั้นหรือ ?

ผมว่าไม่ใช่มั้ง ?


โดย: owl2 วันที่: 15 กันยายน 2553 เวลา:21:09:42 น.  

 
ตามมาอ่านจากคำค้น ขึ้นต๊าวตังสี่ ค่ะ


โดย: ป้าทุยบ้านทุ่ง วันที่: 3 มกราคม 2560 เวลา:9:15:06 น.  

 
ขอบคุณที่มาแวะเยี่ยมครับ


โดย: owl2 วันที่: 12 ตุลาคม 2560 เวลา:10:48:22 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.