Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
1 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (5)

สวัสดีครับ.....

ฝนกำลังตกชุกๆ แบบนี้ บอกให้พี่น้องชาวชนบทได้ทราบว่า เข้าหน้าทำนากันจริงๆ แล้ว

ปัจจุบันนี้ ถึงแม้ในบ้านเราจะนิยมใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ช่วยในการทำไร่ไถนาจนเด็กสมัยนี้แทบจะนึกไม่เห็นภาพวัวควายลากคันไถแล้วก็ตาม แต่ในสมัยก่อน ชาวนาของเราใช้วัวควายในการเกษตรอยู่เหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้วนานนับด้วยศตวรรษ เพราะสัตว์ทั้งสองประเภทนี้เป็น “เครื่องทุ่นแรง” ชนิดเดียวที่เขารู้จักและพอจะขวนขวายหามาใช้ได้

ถึงแม้วัวควายจะมีความสลักสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มชนที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศดังกล่าวแล้ว แต่การหาซื้อวัวควายสำหรับมาทำนานั้นกลับเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะต้องเสียเวลาเดินทางรอนแรม เที่ยวถามซื้อไปตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นเวลาหลายวันทีเดียว หนทางก็ไม่สะดวก ไม่มีถนนลาดยางผ่านแทบทุกหมู่บ้านเหมือนทุกวันนี้ นอกจากนั้น ในระหว่างออกเดินทาง ต้องจัดหาเสบียงกรังติดตัวไปด้วย เพราะไม่มีตลาด ร้านชำสะดวกซื้อเหมือนปัจจุบัน ต้องเสียเวลานานนับสัปดาห์กว่าจะหาซื้อได้ก็มี หรือบางครั้งโชคไม่ดี อาจเสียเวลาเปล่า แถมอาจถูกผู้ร้ายที่ทราบว่าพกเงินมา ปล้นชิงทรัพย์ไปอีกก็ได้

เล่ากันว่า เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นราษฎรบ้านท่าต้นกวาว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้มาครุ่นคิดว่าถ้าหากจะจัดตั้งตลาดวัว หรือ “กาดงัว” ขึ้นสักแห่ง เพื่อเป็นแหล่งกลางสำหรับซื้อหาวัวควายเหมือนอย่างตลาดทั่วๆ ไป คงจะเป็นการดีอย่างแน่แท้ ดังนั้น เขาจึงลงทุนหาสถานที่แห่งหนึ่ง ในตำบลท่าต้นกวาวเป็นตลาดวัวขึ้น

ในตอนแรก ก็ใช้วิธีช่วยป่าวร้องไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ใกล้เคียงให้ทราบถึงหลักการ โดยทางเจ้าของตลาดยินดีที่จะเปิดที่ดินของตนให้เป็นตลาดนัด โดยขอค่าป่วยการจากเจ้าของวัวควายที่ขายได้เพียงตัวละ 2 - 3 บาท ปรากฎว่าได้รับการนิยมต้อนรับจากพวกชาวนาเป็นอย่างดี เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวถามซื้อตามหมู่บ้านเหมือนอย่างแต่ก่อน ใครต้องการวัวควายก็จะจูงมาผูกไว้ยัง “หลัก” ที่ตลาด และผู้ที่ต้องการซื้อก็ม๊โอกาสไปเลือกซื้อเอาได้ตามความพอใจ

ตลาดวัวที่ตำบลท่าต้นกวาว อำเภอสารภี จึงนับว่าเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนปศุสัตว์แห่งแรกที่สุดของเมืองไทย ต่อมาพวกอำเภอต่างๆ ที่ได้ไปเห็นวิธีการแบบนี้เข้า จึงได้นำเอาไปลองทำบ้าง ซึ่งก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน และเป็นที่แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศในทุกวันนี้

ในขณะนั้น จังหวัดเชียงใหม่มีตลาดวัวอยู่หลายแห่งด้วยกัน คือ ที่ตำบลท่าต้นกวาว อำเภอสารภี , ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง , ตำบลทุ่งเสี้ยว อำเภอสันป่าตอง , ตำบลบ้านเปียง อำเภอสันป่าตอง , ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย และที่อำเภอสันกำแพง นอกจากนี้ที่จังหวัดลำพูนก็มีตลาดวัวอีกประมาณ 2 - 3 แห่ง

การเปิดตลาดวัวนี้ ส่วนมากเปิดสัปดาห์ละ 2 วันเท่านั้น และแต่ละแห่งก็พยายามที่จะไม่เปิดซ้ำวันกัน เพื่อเปิดโอกาสให้แก่เจ้าของตลาดวัวด้วยกัน สำหรับตลาดวัวที่นับว่าใหญ่และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมากที่สุดในขณะนั้น คือ ตลาดวัวที่ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ซึ่งจัดเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกวันอังคารและวันศุกร์ หากจะเอาเงินทองของพวกพ่อค้า หรือชาวนาที่จะนำเอาไปซื้อวัวควายมารวมกันแล้ว ในวันหนึ่งๆ คงจะเป็นจำนวนนับแสนบาททีเดียว จนปรากฎเมื่อกลางเดือนกันยายน 2497 มีการดักปล้นพ่อค้าวัวบนรถยนต์ ขณะที่เดินทางไปตลาดวัวหารแก้ว คนร้ายได้เงินไปร่วมสามหมื่นบาท

ตลาดวัวที่ตำบลหารแก้ว ตั้งอยู่ห่างจากถนนสายเชียงใหม่ – สันป่าตอง ตรงหลัก กม.ที่ 17 ประมาณ 2 กิโลเมตร ตัวตลาดมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ เป็นที่ร่มรื่นเพราะเต็มไปด้วยไม้ยืนต้นทั้งนั้น ภายใต้ร่มไม้เหล่านี้ เมื่อถึงวันติดตลาด จะมีวัวควายผูกเชือกกับหลักไว้แน่นขนัดไปหมด โดยผูก "หลัก" แยกไม่ปะปนกัน เพื่อสะดวกในการซื้อขาย ยิ่งสาย ทั้งวัวควายผู้คนยิ่งหนาแน่นขึ้นทุกที ร่วม 300-400 ตัวทีเดียว มีหลายขนาด ตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน ยังไม่หย่านมแม่ รุ่นหนุ่มรุ่นสาวไปจนถึงขนาดแก่ตัว ใช้งานไม่ค่อยได้แล้ว

ลูกวัวขนาดเล็กนี้ เวลาซื้อขายจะต้องเอาทั้งแม่และลูกด้วย ส่วนมากพวกอาบังชอบซื้อ เพราะเอาแม่ไปรีดนมขายได้อีกต่อหนึ่ง วัวหนุ่มสาวที่แข็งแรงใช้งานได้ดีนั้น ซื้อขายกันมากในหมู่ชาวนา ชาวสวน และพ่อค้าวัวต่างทั่วไป ส่วนวัวแก่ โดยมากจะขายให้กับพ่อค้าเนื้อ ทั้งนี้ ทางอำเภอจะจัดเจ้าหน้าที่ไปช่วยทำการโอนวัวควายให้เรียบร้อย โดยทั้งผู้ซื้อผู้ขายไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงตัวอำเภอเลย

นอกจากนั้น ในภายหลังได้มีการซื้อขายรถจักรยานสองล้ออีกด้วย (สมัยโน้น มอเตอร์ไซต์นานายี่ห้อจากญี่ปุ่นยังไม่มีจำหน่ายแพร่หลายในเมืองไทย แถมรถจักรยานต้องจดทะเบียนกับทางตำรวจด้วยนะครับ) จนเจ้าของตลาดต้องจัดที่ไว้ต่างหาก และยังมีพ่อค้านำเอาอุปกรณ์ในการทำนา ยารักษาโรคสัตว์พื้นบ้านไปจำหน่าย ซึ่งมีสรรพคุณใช้ได้ดีพอสมควร และยังมีเหล่านักการพนันแอบไปเล่นในที่ลับตา ซึ่งเจ้าของตลาดมักจะสอดส่องดู ไม่ยอมให้มีการเล่นพนันได้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบและเข้าจับกุม ตลาดวัวของตนอาจถูกสั่งปิด อันเป็นการตัดประโยชน์อย่างสำคัญทีเดียว

เรามาดูบรรยากาศในตลาดวัวหารแก้วแห่งนี้กันหน่อยครับว่า จะแตกต่างกับบรรยากาศตลาดวัวยุคปัจจุบันนั้นอย่างไรบ้าง เพราะกลายเป็นภาพในอดีต ที่ตั้งตัวตลาดเป็นย่านชุมชนไปหมดแล้ว

สำหรับสารคดีสั้นชุดนี้ ได้นำลงพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม พ.ศ.2497 โดยคุณอดิศัยมงคล พรหมาสตร์ เป็นผู้บรรยาย คุณนิคม กิตติกุล เป็นผู้บันทึกภาพ และคุณเศวต นิลุบล เป็นผู้วาดภาพลายเส้นประกอบเรื่องครับ


....................


โคทาส

ตากล้อง... นิคม กิตติกุล
ภาพลายเส้น... เศวต นิลุบล
พากษ์โดย... อดิศัยมงคล พรหมาสตร์


.......................

มันเป็นเวลาดึกโขอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังตกอยู่ในความเงียบสงัด บนที่นอนอันเก่าคร่ำคร่า เด็กชายวัย ๑๒ ขวบผู้หนึ่ง กำลังนอนพลิกตัวไปมาอย่างกระสับกระส่าย เขาพยายามข่มตาตั้งใจจะให้หลับตั้งหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถจะทำได้ เสียงของพ่อที่พูดกับเขาเมื่อตอนหัวค่ำยังคงก้องอยู่ในหู

“แก้ว พรุ่งนี้ตื่นแต่เช้าหน่อยนะ พ่อจะพาไปเที่ยวตลาดวัว และบางทีเราอาจจะซื้อวัวมาใช้งานสำหรับฤดูนาปีนี้สักคู่หนึ่ง...”

แก้วครุ่นคิดอยู่ในใจว่า ถ้าหากแม่ของแก้วไม่ด่วนจากไปเมื่อ ๕ ปีก่อนโน้นแล้ว เวลานี้พ่อของเขาก็คงจะมีวัวควายสำหรับใช้งานตั้งหลายตัวเป็นแน่ เพราะนับตั้งแต่แม่ของแก้วล้มเจ็บลงด้วยไข้ป้าง เมื่อ ๕ ปีก่อน พ่อก็ต้องขายวัวควายไปหมดเพื่อชำระเป็นค่ายาและค่าหมอ แต่แล้วพ่อก็ต้องสูญเสียทั้งแม่และวัวควาย เหลือแต่ผืนนาเล็กๆ แปลงหนึ่งอันเป็นมรดกตกทอดมาจากปู่สำหรับเลี้ยงตัวมาจนบัดนี้

เมื่อสิ้นบุญแม่แล้ว พ่อก็พยายามเก็บหอมรอมริบจากการขายข้าวที่เหลือกินมาเป็นเวลาตั้ง ๕ ปี จึงสามารถเก็บเงินได้พอสำหรับจะซื้อวัวมาช่วยแรงได้สักคู่หนึ่ง แก้วนึกในใจว่าถ้าได้วัวมาแล้ว พ่อก็จะไม่ต้องไปเช่าวัวของคนอื่นมาช่วยทำนาอีกต่อไป และฐานะของพ่อก็จะพลอยแจ่มใสยิ่งขึ้นกว่าเก่า

แก้วงีบหลับลงไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มารู้สึกตัวตื่นขึ้นเมื่อพ่อมาปลุก และท้องฟ้ากำลังจะเริ่มสาง

หลังจากที่จัดการอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองพ่อลูกก็ชวนกันออกจากบ้าน โดยฝากบ้านช่องไว้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียงผู้หนึ่งให้ช่วยดูแลแทน แก้วรู้สึกตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เขาจะได้มีโอกาสไปเห็นตลาดวัว ซึ่งพ่อบอกว่าจะต้องเดินทางไปไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงจึงจะถึง

ระหว่างที่เดินไปตามทาง แก้วเห็นเพื่อนบ้านตำบลเดียวกันหลายคนสมทบไปกับพ่อ ทุกคนต่างมุ่งไปสู่ที่แห่งเดียวกัน เพื่อนบ้านบางคนก็มุ่งจะไปหาซื้อวัวอย่างพ่อ แต่ก็หลายคนที่ไม่มีธุระอย่างใดอื่น นอกจากจะไปเที่ยวเล่นเฉยๆ

เมื่อแก้วกับพ่อไปถึงตลาดวัว ยังเป็นเวลาเช้าอยู่มาก ในบริเวณตลาดเพิ่งมีคนนำวัวมาผูกหลักไม่กี่ตัว พ่อชวนแก้วไปเดินดูสักประเดี๋ยวแต่ก็ไม่เห็นวัวตัวใดที่ถูกใจ ส่วนมากเป็นวัวแก่ ที่เหมาะสำหรับจะส่งไปขายยังโรงงานเนื้อสัตว์มากกว่าจะใช้งาน

“งัวบ่าโหกทั้งนั้น...” แก้วบ่นกับพ่อ “เพียงแต่เทียมไถก็เกือบไม่ไหวอยู่แล้ว”

“อย่าเพิ่งบ่น แก้ว...” พ่อปรามอย่างอารมณ์ดี “เวลายังเช้านัก คอยอีกสักครู่ใหญ่ก็จะมีวัวมาให้เราเลือกถมไป แก้วรอพ่ออยู่แถวนี้ก่อนนะ พ่อจะไปพบลุงหนานขัติเจ้าของตลาดประเดี๋ยว”

เมื่อพ่อเดินลับไปแล้ว แก้วก็เดินเตร่ไปดูรอบๆ ขณะนั้นผู้คนกำลังทะยอยกันเข้ามาในตลาด พ่อค้าวัวต่างจูงวัวเข้ามาผูกหลักกันทีละตัวสองตัว บางคนก็นำเอาแม่วัวพร้อมกับลูกอ่อนที่ยังไม่หย่านมเข้ามาด้วย

พ่อยังไม่กลับมา แก้วจึงฉวยโอกาสเดินตระเวณสำรวจดูวัวไปตามลำพัง เขานึกวาดโครงการอยู่ในใจว่า เนื่องจากพ่อมีเงินติดตัวมาเพียงพันเดียว เพราะฉะนั้นการเลือกวัวจึงจะทำได้เพียงภายในขอบเขตที่จำกัด แก้วคิดว่าเขาจะพยายามแนะให้พ่อซื้อวัวหนุ่มที่เป็นตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัว เพราะนอกจากจะได้อาศัยแรงงานของมันแล้ว วัวตัวเมียยังจะมีโอกาสตกลูกในปีต่อๆ ไปอีกด้วย

แก้วหมายตาจับดูวัวสีดำปลอดคู่หนึ่ง ซึ่งเจ้าของนำมาผูกไว้กับหลักใต้ต้นขี้เหล็ก มันเป็นวัวหนุ่มที่งามที่สุดในสายตาของแก้ว เจ้าตัวผู้รูปร่างใหญ่กำยำพ่วงพี และมีเขาโค้งสลวยราวกับปั้นด้วยน้ำผึ้ง นัยน์ตาของมันใสแจ๋วแหววราวกับทำด้วยกระจก แสดงว่ากำลังฉกรรจ์เต็มที่ เจ้าตัวเมียถึงแม้จะย่อมกว่าเล็กน้อยแต่ก็มีลักษณะงามเหลือเกิน ขนของมันดำขลับราวกับขนนกกาน้ำ แสดงถึงความสมบูรณ์เต็มที่ นี่สิ จึงจะสมกับเป็นวัวงามแท้ๆ แก้วนึก...

แก้วรู้สึกใจคอไม่ค่อยดี พ่อก็ยังไม่กลับมาอีก ถ้าอาบังเกิดตัดสินใจซื้อวัวคู่นี้ไปเสียก่อนที่พ่อจะได้มาเห็น ก็จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง พ่อ...พ่อไปอยู่เสียที่ไหน ?

แก้วรีบผลุนผลันตรงไปยังบ้านเจ้าของตลาด ซึ่งอยู่อีกฟากถนนหนึ่งทันที เมื่อไปถึง แก้วก็เห็นแต่พ่อหนานขัติคนเดียว กำลังเดินออกจากบ้าน

“ป้อหนาน ป้อเฮาเปิ้นไปไหน ?” แก้วตะโกนถาม

“เข้าไปในกาดกั๋บบ่าสิงห์ตะกี้ลอ...” พ่อหนานว่า “คิงหลงป้อก๊า ?” ประโยคสุดท้ายแกพูดอย่างขบขัน

หลงพ่อ ? แก้วครางในใจอย่างโมโห ตัวโตป่านนี้หลงพ่อก็บ้าเต็มทีละ

เขารีบสาวเท้ากลับเข้าไปในตลาดอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับสอดส่ายตามองไปรอบๆ บริเวณอย่างวุ่นวายใจ เขาเวียนตระเวณหาพ่อไปรอบๆ ตลาดตั้ง ๒-๓ ตลบแต่ก็ไม่เจอะ ไม่รู้ว่าพ่อแกแอบไปเมาดิบอยู่เสียที่ไหน

ขณะที่เขากำลังยืนเป็นทุกข์อยู่นั้น ก็รู้สึกมีมือมาแตะที่โคนแขนพร้อมกับมีเสียงร้องเรียกชื่อเขาเบาๆ แก้วหันขวับไปทันที ผู้ที่เผชิญหน้าเขาในบัดนั้นคือน้อยสิงห์ คนบ้านเดียวกับเขา

“น้าสิงห์ ป้อไปไหน ?” แก้วถามเสียงกระเส่า

“ป้อคิงอยู่หลังโฮงก๋วยเตี๋ยวนั้น” ชายผู้นั้นว่า “คิงไปตวยหาเต๊อะ ฮาห้ามก่าบ่ฟัง...”

“น้าสิงห์...” แก้วตะโกนอย่างตกใจ “ป้อไปเยียะหยังตี้นั้น ?”

นายสิงห์สั่นหัว “คิงไปผ่อเอาเต๊อะ ฮาบอกบ่ได้...” แกว่า

แก้ววิ่งต่อเข้าไปในโรงก๋วยเตี๋ยวนั้นทันที พร้อมกับส่ายตามองไปรอบๆ ข้างหลังโรงก๋วยเตี๋ยว เขาเห็นเป็นช่องเล็กๆ ขนาดบานประตูอยู่ช่องหนึ่ง ปิดไว้ด้วยผ้าม่าเก่าๆ สีกรมท่า เขาจึงก้าวพรวดเข้าไปทันที

ในห้องนั้นมีแสงสว่างเพียงสลัวๆ แก้วเห็นคน ๓-๔ คน กำลังล้อมวงกันอยู่บนเสื่อ ตรงกลางวงมีไม้สีดำเล็กๆ ขนาดหัวแม่มือวางคว่ำอยู่หลายอัน มีลูกเต๋า ๒ ลูก และมีเงินกองอยู่ ๓-๔ กอง พ่อของเขากำลังนั่งยองๆ อยู่ตรงหน้าเงินกองหนึ่ง

“พ่...” แก้วครางเหมือนคนกำลังจะสิ้นใจ

ชายทั้งหมดเงยหน้าขึ้นมองดูแก้วเป็นตาเดียว พ่อของเขาตกใจกว่าเพื่อน รวบเงินหน้าตักใส่กระเป๋าพร้อมกับเดินรี่เข้ามาหาเขา

ขณะที่ก้าวออกไปสู่ที่โล่งแจ้งนอกโรงบ่อนเถื่อนอีกครั้งหนึ่งนั้น แก้วรู้สึกว่า วิมานที่เขาวาดไว้เมื่อสักครู่เกี่ยวกับการจะเป็นเจ้าของวัวดำปลอดคู่นั้น ได้พังทลายลงมาเสียแล้ว.

...............................

(จาก "คนเมือง" วารสารรายเดือน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม 2497)


หมายเหตุ

ไข้ป้าง = ไข้จับสั่น , มาลาเรีย
บ่าโหก = ขี้โรค , ไม่สมบูรณ์
หนาน = ผู้เคยบวชเป็นภิกษุ
น้อย = ผู้เคยบวชเป็นสามเณร
ตวย = ตาม
เยียะหยัง = ทำอะไร
ฮา = ข้า


...............................




ถ้าหากชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ จริงอย่างที่ผู้เก็บภาษีเขาว่า วัวควายก็ต้องเป็นกระดูกสันหลังของเกษตรกรอีกต่อหนึ่ง เพราะหากปราศจากการ “ร่วมแรง” ของทาสกินฟางเหล่านี้เสียแล้ว ความเป็นชาววัฒนาก็จะไม่มี และผืนแผ่นดินไทยก็จะกลายเป็นนิคมของชาวเวทนาไปหมด

เกษตรกรของเวียงพิงค์ได้ยอมรับนับถือความสำคัญของวัวควายมาตั้งแต่สมัยมนุษย์เริ่มรู้จักจับคันไถ ถึงแม้ความนับถือจะไม่ถึงคั่นปั้นรูปไว้กราบไหว้แบบพวกฮินดู แต่วัวควายก็เป็นการออมทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างหนึ่ง ของเกษตรกรทั่วๆ ไปยิ่งกว่าธนาคารหรือพันธบัตร์ทองคำของรัฐ เพราะด้วยความร่วมมือร่วมแรงของทาสใบ้เหล่านี้แต่เท่านั้น ที่คมผานของเขาจะไถเอาทองขึ้นมาจากแผ่นดินอันได้ชื่อว่าแหลมทองนี้ได้




ในนครพิงค์ เกษตรกรผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการกินแรงสัตว์เลี้ยง จะต้องพึ่งบริการของตลาดนัดวัวควายเป็นประจำ เพราะที่ตลาดนัดประเภทนี้ไพร่ฟ้าหน้าใสต่างยึดหลักของพ่อขุนรามคำแหง (องค์เดียวกับที่กำลังแสดงอยู่ที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรมเวลานี้) ที่ว่า..”ใครใคร่ค้าช้างม้า..(วัวควาย)..ค้า เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบ..”

ตลาดนัดวัวควายแบบลดค่าครองชีพนี้มีอยู่ทั่วไปกว่า ๑๐ แห่งทั่วเวียงเชียงใหม่ เมื่อถึงวันนัดซึ่งมักจะเป็นสัปดาห์ละสองครั้ง ก็จะมีประชาชนไปร่วมชุมนุมกันอย่างคับคั่ง บางคนไปซื้อ บางคนไปขาย บางคนก็ไปจี้ไปล้วง (กระเป๋า) และบางคนไปเบ่ง นับว่าเป็นเสรีประชาธิปไตยโดยแท้

......................

หมายเหตุ

(เวลานี้ คือปี พ.ศ.2497 ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น ต่อมาได้ถูกยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งขึ้นใหม่ในปัจจุบัน)





ที่ตลาดนัด นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายวัวควายตามปกติแล้ว ยังเป็นที่ชุมนุมแลกเปลี่ยนซื้อขายจักรยานสองล้ออีกด้วย ชาวนาบางคนเมื่อใกล้ถึงฤดูทำนาก็มักจะเอาจักรยานไปแลกวัวควาย เพื่อนำมาใช้ทำนาชั่วคราว และเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วก็จะจูงทาสกินฟางกลับไปแลกแบ๊งค์ที่โรงงานเนื้อสัตว์ หรือแลกเอาจักรยานมาไว้ขี่อีก

การแลกเปลี่ยนเช่นนี้จะทำกันโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ส่วนการชำระเงินทองนั้นมักจะชำระผ่านเจ้าของตลาด ซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่พยานรู้เห็นในการแลกเปลี่ยน และรวมทั้งชักค่าป่วยการตามแต่จะตกลงกันอีกด้วย




ตลาดนัดวัวควายนอกจากจะเป็นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายบรรดาทาสใบ้ต่างๆ ของมนุษย์เป็นปกติแล้ว ยังเป็นแหล่งชุมนุมซื้อขายสินค้าอื่นๆ อีกหลายประเภท ฉะเพาะอย่างยิ่งสินค้าจำพวกเครื่องอุปกรณ์สำหรับวัว และชาวนา ซึ่งเป็นสินค้าประเภทขายคล่องไม่แพ้กัน

พ่อค้าแผงลอยประเภทเคลื่อนที่ซึ่งเราจะพบเห็นบ่อยๆ ในตลาดวัวของเวียงพิงค์ มักจะใช้จักรยานเป็นพาหนะ เพราะสะดวกกว่าแผงลอยประเภทอื่น เมื่อสินค้าที่บรรทุกมาถูกจำหน่ายไปหมดแล้ว หากขี้เกียจเอา “แผงลอยเคลื่อนที่” กลับไปบ้าน จะเปลี่ยนเป็นครุฑหรือแลกเอาวัวควายขี่กลับไปบ้านก็ยังได้ นับว่าเป็นการสะดวกดีอยู่ไม่น้อย




โบราณว่า วัวดี ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นวัวที่หายใจได้อยู่เท่านั้น หากยังจะต้องเป็นวัวที่แข็งแรงและสามารถทำงานอย่างทาสให้กับเจ้าของได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นในตลาดทาสกินฟางทุกแห่ง “ยางัว” จึงเป็นสินค้าที่จำเป็นและอยู่ในความสนใจของพ่อค้าวัวทั่วไป

“ยางัว” จะมีสรรพคุณวิเศษแค่ไหนต้องแล้วแต่ลมปากของผู้ขาย ถ้าผู้ขายพูดได้น่าเลื่อมใสเพียงใด ยาที่ขายก็ยิ่งมีอิทธิฤทธิ์วิเศษเพียงนั้น เพราะอันที่จริงผู้ซื้อไปก็ไม่ได้กินเอง และผู้ที่ต้องกินก็บังเอิญพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นยาทุกตำหรับจึงล้วนแล้วแต่เป็นยาวิเศษ ซึ่งสามารถจะแก้โรคได้ทุกอย่างที่มีอยู่ในสารบบของสัตวแพทย์




เมื่อการซื้อขายได้เป็นที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายก็ชวนกันไปวางเงินชำระกันต่อหน้าเจ้าของตลาด ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางรับรู้เห็นในเรื่องการซื้อขาย

หน้าที่ของเจ้าของตลาดก็คือ จะต้องช่วยรักษาประโยชน์ให้ลูกค้าของตนทั้ง ๒ ฝ่าย และช่วยเหลือดูแลให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนได้เป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม

แต่หน้าที่อันสำคัญที่สุดของเจ้าของตลาดโดยทั่วๆ ไปก็คือ จะต้องพยายามดูแลผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่ลืมที่จะเรียกร้องค่า “หลัก” ซึ่งเป็นเงินค่าบริการที่ตนได้เอื้อให้แก่ลูกค้า




ตลาดโคแต่ละแห่งมักจะเปิดทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันตลอดทั้งวัน ฉะนั้น ในตลาดทุกแห่งจะต้องมีพวกแม่ค้ามาเช่าร้านแผงลอยเปิดขายอาหารกันอย่างเนืองแน่น อาหารที่ขายคล่องที่สุดก็คือ ลาบสด ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของหมู่คนเมือง

บริการขายลาบของเจ้าของร้านบางแห่งเขาแน่มาก พี่แกมักจะไปหาซื้อ “วัตถุดิบ” มาจากตลาดวัวนั่นเอง เมื่อซื้อได้แล้ว ก็จัดการเชือด ชำแหละเนื้อ และทำเป็นลาบออกขายแก่ลูกค้าภายในตลาดนั้นอีกต่อหนึ่ง ว่ากันสดๆ ร้อนๆ เลยทีเดียว

เจ้าของวัวบางคนขายวัวไปแล้ว พอตกบ่ายกลับมากินลาบวัวที่ตัวจูงมาขายเมื่อตอนเช้าก็มี ยิ่งกว่านั้นบางคนยังแถมหิ้วเอาตับไตไส้อ่อนไปให้เมียแกงอ่อมที่บ้านสำหรับมื้อเย็นอีกด้วยซ้ำ นับว่าทันอกทันใจดีแท้ๆ


>

เมื่อตะวันคล้อยต่ำลงไปแล้ว ผู้คนในตลาดก็ทะยอยกันกลับบ้านในที่สุดภายในตลาดวัวอันจอแจนั้น ก็ปกคลุมไปด้วยความเงียบและอ้างว้างอีกครั้งหนึ่ง คงเหลือหลักเปล่าว่างอยู่เป็นแถว บนพื้นดินคงเกลื่อนไปด้วยมูลสัตว์และเศษใบตอง ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าของตลาดจะต้องทำความสอาดต่อไป

แต่บรรยากาศภายในร้านอาหารร้านเหล้ากลับยิ่งทวีความครึกครื้น และเสียงร้องรำทำเพลงก็ดังสนั่นยิ่งขึ้น จนกว่าสุราจะหมด หรือท้องจะบรรจุต่อไปอีกไม่ไหว จึงจะหิ้วปีกกันกลับบ้าน

ตลาดวัวก็ถึงอวสานต์ลงอีกนัดหนึ่งด้วยประการฉะนี้...

.......................

(จาก "คนเมือง" วารสารรายเดือน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม 2497)





Create Date : 01 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 21:38:52 น. 0 comments
Counter : 2011 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.