Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2561
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
1 พฤษภาคม 2561
 
All Blogs
 
มิงกาลาบาห์ เมียนมาร์ ( 5 )

หลังจากบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานที่จะไปชมในวันนี้ที่เมืองหงสาวดีแล้ว ทางทีมงานได้ปล่อยให้คณะทัวร์ได้เอนหลัง หลับตาพักผ่อน หรือชมทิวทัศน์สองข้างทางตามอัธยาศัย



สำหรับผมนั้นไม่หลับหรอกครับ มัวตื่นเต้นกับทิวทัศน์สองข้างทาง และบันทึกภาพไว้กันลืมอีกด้วย



ร้านขายถ่านริมทางก็น่าสนใจไม่น้อย



กลับมายังสะพานข้ามแม่น้ำสะโตงอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นมุมมองทางทิศเหนือของแม่น้ำ เลยคุ้งน้ำ เป็นที่ตั้งของเมืองสะโตง รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำทั้งทางรถไฟและรถยนต์



กลับเข้าสู่เขตหงสาวดี



ชำระค่าผ่านทางกันก่อนครับ



ดูรถสกายแล็บขนาดใหญ่กันให้ชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง



สองข้างทางในบางช่วง คล้ายๆ บรรยากาศเมืองของญี่ปุ่น เท่าที่เห็นจากหนังการ์ตูนทาง ทีวี.



เป็นไงครับ ? ภาพชีวิตประจำวันในต่างจังหวัดของพม่า



ได้ยินจากไกด์เล่าว่า ชาวมอญมักสร้างหอพระยื่นจากตัวบ้าน ทำให้แยกออกถึงความแตกต่างนี้ได้ชัดเจนจากบ้านเรือนทั่วไป



ไม่ว่าจะมีฐานะไม่เหมือนกันก็ตาม



ข้ามทางรถไฟสายใต้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนเข้าสู่เมืองหงสาวดี

ไม่เห็นเจ้าของรางสักทีครับ ขณะที่อยู่เที่ยวเมืองพม่า



แวะปั๊มระหว่างทางกันสักนิด

ที่นี่ ปั๊มน้ำมันไม่ค่อยมีมากเหมือนในบ้านเรา เวลามีกิจธุระจำเป็นต้องบอกกันแต่เนิ่น จะได้หาจุดแวะที่ใกล้ที่สุด หากไม่มีก็ใช้บริการ ปตท. (ปล่อยตามทุ่ง) โดยกางร่มที่บริษัทแจกให้บังหน้าคนทำธุระไม่ให้ใครเห็นชัดก็พอ ว่ากันเล่นๆ ครับ

ตามจริงแล้ว ทันทุกเที่ยวแหละ ปั๊มนี้ใหม่เอี่ยม ยี่ห้อ PT ซึ่ง ปตท.ของบ้านเราได้เข้ามาถือหุ้นส่วนในพม่า เปิดบริการแข่งขันด้วย

จะค้าขายก๊าซกับรัฐบาลพม่าอย่างเดียวก็ยังไงๆ อยู่กระมัง ?

ดังนั้น ผมจึงแทบหลับตาเดินไปยังห้องน้ำในปั๊มได้แม่นยำ เพราะแปลนปั๊มกำหนดไว้เหมือนกันหมดแทบทุกแห่ง ขาดเพียงร้านสะดวกซื้อเท่านั้น



ขอมองโฉมหน้ารถทัวร์ที่นั่งมาตลอด 2 วันให้ชัดๆ หน่อยครับ

ยี่ห้อ "ฮุนได" เสียด้วย ยังไม่มีรถทัวร์สองชั้นแบบบ้านเรา



พอเข้าตัวเมืองหงสาวดีได้ ก็ลัดเลาะชมเมืองไปตามถนนนั้นออกถนนนี้ทีเดียวล่ะ

แถมด้วยป้ายโฆษณาแข่งกับทานาคาของเจ้าบ้านอีกด้วย



สักพักหนึ่ง แล่นเข้าไปจอดยังลานโล่ง มีแผงลอยขายสินค้าหลากหลาย

พอเห็นชาวบ้านเดินถอดรองเท้าแล้ว คงอยู่ใกล้วัดตามธรรมเนียม



เห็นสิงห์คู่เฝ้าประตูวัดรูปร่างอันใหญ่โต น่าเกรงขาม

ใช่แล้วครับ เรากำลังเข้าชมสักการะพระเจดีย์ชเวมอว์ดอว์อันมีชื่อเสียง หรือเรียกตามภาษาชาวมอญว่า "พระธาตุมุเตา" นั่นเอง



หากไม่นับชื่อบริษัทผู้เป็นสปอนเซอร์ในการจัดทำแล้ว

คำเตือนนี้ กระทัดรัด เป็นภาษาสากลอีกด้วย



เรากำลังจะเข้าสู่ทางเดินไปยังพระเจดีย์ชเวมอว์ดอว์กันแล้ว

ตู้รับบริจาคเงินตามวัดในพม่า มีเงินจากผู้มีจิตศรัทธากันมากมายทีเดียว หลายแห่งที่ผมเห็น มีมากกว่านี้อีก

ถ้าเป็นที่บ้านเรา คงถูกมิจฉาชีพแอบยกเค้าไปนานแล้ว แต่ที่นี่ เขากลัวบาป

วัดหลายแห่งในพม่า จึงสวยสดงดงามเพราะเงินบริจาคนี่แหละครับ



เมื่อพร้อมแล้ว ก็ถอดรองเท้า วางให้เป็นระเบียบ แล้วเดินเข้าสู่บริเวณภายในพระเจดีย์กันเลย



เดินไปตามลานวัดอันสะอาดกว้างขวางกันอีกสักนิดนะครับ



แล้วองค์พระเจดีย์อันใหญ่โต ก็ปรากฎต่อสายตาเบื้องหน้า

พระเจดีย์องค์นี้ เป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสูงสุดของพม่า ถึอเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองหงสาวดีมายาวนาน

คำว่า "มุเตา" เพี้ยนมาจากภาษามอญ แปลว่า จมูกร้อน อันเนื่องมาจากความสูงถึง 114 เมตร (บางตำราบอกว่าสูงถึง 125 เมตรทีเดียว) เวลามอง ต้องแหงนหน้าจนแสงแดดกระทบจมูก และชาวพม่าได้เรียกเพี้ยนไปจากภาษามอญอีกทีหนึ่ง เป็น ชเวมอว์ดอว์ (ชเว แปลว่า ทองคำ)

ตัวเจดีย์เป็นศิลปแบบมอญ ภายในบรรจุเส้นพระเกษาธาตุของพระพุทธเจ้า ทรงประทานให้แก่นายวานิชชาวมอญผู้ไปสักการะพระองค์ จำนวน 2 เส้นด้วยกัน

ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ (หรือ มังตรา) เคยมาทำพิธีเจาะหูที่พระธาตุมุเตา ทั้งที่ขณะนั้นยังเป็นหัวเมืองมอญ ศัตรูของพม่า ครั้นทำพิธีเจาะหูเสร็จแล้ว นำกำลังทหารซึ่งมาอารักขาจำนวน 500 นาย ตีฝ่ากำลังทหารมอญที่ล้อมอยู่ กลับไปได้ ครั้นเมื่อทรงครองราชย์ ได้กลับมายึดเมืองหงสาวดี และตั้งเป็นเมืองหลวงของพม่าเสียเลย

เหตุการณ์ในครั้งนั้น น่าจะมีพระเจ้าบุเรงนอง อันเป็นนายทัพคนสำคัญ ร่วมอยู่ด้วย

นอกจากพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้แล้ว ยังมีกษัตริย์หลายพระองค์ เคยมาสักการะพระธาตุมุเตาก่อนออกทำศึกทุกครั้ง เช่น พระเจ้าบุเรงนอง แม้แต่สมเด็จพระเจ้านเรศวรของไทย



มีผู้คนมาสักการะกันมากมาย ตั้งแต่เช้าครับ



น้องผมคงติดใจบริเวณสถานที่มาก เดินชมแบบไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยทีเดียว



เห็นชาวบ้านพาครอบครัวมาไหว้สักการะองค์พระธาตุแล้ว ชื่นใจจนบอกไม่ถูก



พาชมบรรยากาศรอบๆ ไปพลางๆ ครับ



ลานอันสะอาด กว้างขวาง มองแล้วโล่งตาจริงๆ



เมื่อปี พ.ศ.2473 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองหงสาวดี ทำให้ยอดพระเจดีย์หักลงลงมา แต่ไม่ปรักหักพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่พุทธศาสนิกชนผู้พบเห็น

หลังจากนั้น ได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่จนกลับคืนเหมือนเดิม



นอกจากนั้น ยังได้นำส่วนที่หักมาตั้งไว้ติดกับองค์พระธาตุด้านทิศเหนือ ซึ่งถือว่า เป็นจุดอธิษฐานอันศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เอามือหรือหน้าผากแตะส่วนที่หักแล้วอธิษฐาน เป็นเสร็จพิธี



ขอเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกสักเล็กน้อย



เจอร่มไม้ที่บริเวณลานพระเจดีย์พอดี สวยด้วยสิ ไกด์บอกชื่อไว้เสร็จสรรพ

แต่ผมลืมแล้วว่าเป็นร่มไม้อะไร ? น่าเขกหัวตัวเองจริงๆ



มีพี่น้องขาวบ้านไปอาศัยร่มเงากันค่อนข้างหนาตา

หรืออีกนัยหนึ่งว่า แดดเริ่มแรงแล้ว



เผื่อภาพให้น้องชุดหนึ่ง เพราะได้ยินคำชมอยู่ไม่ขาดปาก



ถ่ายรูปแล้ว ถึงคราวพี่บ้างสิ



อ้อยอิ่งกันเป็นเวลานานพอสมควร ถึงเวลาออกเดินทางไปพระราชวังบุเรงนองกันต่อไป



พระราชวังแห่งนี้ อยู่ไม่ไกลกันนัก แต่ลืมบันทึกภาพขณะที่เดินเข้าไปชมของจริง เอาแค่รูปถ่ายที่เขาขยายไว้ไปก่อนเนาะ



แถมด้วยภาพของจุดที่ตั้งพระราชวังแห่งเดิมด้วย



ขอแสดงท่าเป็นนายทวารบาลอีกเล็กน้อย



เสร็จแล้ว จึงก้าวเข้าไปในตัวพระราชวัง โดยไม่ต้องถอดรองเท้าครับ

ที่ไม่ต้องถอด เพราะไม่ใช่เขตธรณีสงฆ์ แถมตัวพระราชวังนั้น ยังเป็นของสร้างขึ้นใหม่ ทดแทนของเดิมที่ถูกเผาทำลายคราวราชวงศ์ตองอูเสื่อมอำนาจอีกด้วย

ผมว่าน่าจะเป็นทำนองพิพิธภัณฑ์มากกว่า



ทรากของเสาพระราชวังและส่วนประกอบต่างๆ ที่รัฐบาลขุดขึ้นมาตั้งแสดง



ส่วนที่เป็นเสานั้น คงหลงเหลือในเฉพาะในส่วนที่อยู่ใต้ดิน และแน่นอน เป็นต้นสักทองทั้งต้น สมกับว่าเป็นเจ้าของทรัพยากรอันมีค่า

จนพวกฝรั่งชาวตะวันตกเข้ามา เป็นเหตุให้พม่าต้องสูญเสียเอกราชไปในที่สุด



ส่วนประกอบของพระราชวัง ที่ยังหลงเหลือและถูกนำมาแสดง

เหตุที่มีเหลืออยู่น้อย อาจเป็นเพราะตัวพระราชวังเป็นไม้ทั้งหลัง เวลาถูกเผาทำลาย ข้าวของต่างๆ ย่อมสูญหายไปกับเพลิงไหม้ด้วย



อดีตกษัตริย์พม่า 3 พระองค์ ได้แก่

1.พระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งอาณาจักรพุกาม ซึ่งมีหลักฐานคือ ดินแดนแห่งทะเลเจดีย์ 4,000 องค์ ที่เรากำลังจะไปเยือน

2.พระเจ้าบุเรงนอง หรือตามภาษาพม่าเรียกว่า กษัตรบายินหน่อง แห่งราชวงศ์ตองอู ผู้มีความสามารถด้านการรบ สามารถรวบรวมหัวเมืองต่างๆ มาอยู่ในอำนาจ จนได้สมญาว่า "ผู้ชนะสิบทิศ" รวมทั้งเราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ในรัชสมัยนี้ด้วย

3.พระเจ้าอลองพญา แห่งราชวงศ์คองบอง ซึ่งเราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในรัชสมัยต่อมา คือพระเจ้ามังระ แห่งราชวงศ์คองบองนี่แหละ

ต้องไม่ลืมว่า กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้ คือพระเจ้าสีป้อ หรือกษัตริย์ธีบอแห่งพม่า ก่อนที่จะเสียเอกราชให้กับอังกฤษ อาจไม่สันทัดจัดเจนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงปฏิรูปการปกตรองของประเทศเพื่อเตรียมรับมือกับชาวฝรั่งในครั้งนั้น



พระราชบัลลังก์ คราวพระเจ้าบุเรงนองเสด็จออกว่าราชการกับเหล่าขุนนางฝ่ายต่างๆ ในท้องพระโรงครั้งนั้น



ภาพวาดแสดงถึงการเสด็จออกว่าราชการของพระเจ้าบุเรงนอง



ราชรถจำลอง ทำให้ผมคิดถึงภาพวาดจากฝีมือของอาจารย์เหม เวชกร ประกอบการบรรยายในวรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์" ในนิตยสาร วิทยาสาร สมัยก่อน



น้องผมผิวอร่ามไปทั้งตัว ด้วยสีทองสะท้อนแสงจากพระราชวังบุเรงนองนี่แหละ



หลังจากการเข้าชมพระราชวังบุเรงนองแล้ว ชาวคณะได้ถือโอกาสไปเยี่ยมชมวัดจ๊ะไค้ทวายน์ อันเป็นสถานศึกษาด้านปริยัติธรรมของบรรดา พระภิกษุ สามเณร ใหญ่เป็นอันดับสองของพม่าด้วย

สถานศึกษาพระปริยัคิธรรมใหญ่ที่สุดของพม่า อยู่ที่วัดมหากันดายง เมืองอมรปุระ ที่มัณฑะเลย์ มีพระภิกษุ สามเณรเล่าเรียนอยู่นับพันรูปทีเดียว

ถึงเป็นวัดแห่งนี้ ก็มีมากมายไม่แพ้กัน



มีชาวบ้านนิยมฝากลูกหลานมาบวชเรียนกันมาก

แต่ระเบียบวินัยที่สำนักสงฆ์ได้วางไว้ ทำให้ พระภิกษุ สามเณรที่นี่ ล้วนแต่มีความประพฤติเรียบร้อย งามตา สร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้พบเห็น



นอกจากจะมีระเบียบวินัยอันงามตาแล้ว ยังขยันต่อการศึกษาด้านธรรมปริยัติธรรม และข้อศึกษาทางศาสนาอย่างเข้มข้นอีกด้วย

ทางสถานศึกษามีการจัดเลี้ยงภัตตาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้น ปกติจะมีเพียงข้าว น้ำพริก ผักนึ่งง่ายๆ และซุปถั่วเหลืองไว้กลั้วคอเท่านั้น



โดยเฉพาะข้าวที่หุงเลี้ยงพระภิกษุ สามเณร ในแต่ละวัน จะใช้ถึงครั้งละ 7 กระสอบทีเดียว

เตาที่เห็นในโรงครัว เป็นเตาขนาดใหญ่ สามารถนึ่งข้าว และปรุงอาหารได้ครั้งละ 7 เตา โดยมีปล่องควันอยู่ตรงกลางเพียงปล่องเดียวเท่านั้น



เตาแบบเก่า ซึ่งจะใช้คราวมีงานกิจกรรมอื่นๆ ภายในวัด ต้องปรุงอาหารเพิ่มจากเดิม



ยืนเทียบขนาดกับฝาหม้อหุงข้าวครับ



ชาวคณะผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมบริจาคปัจจัยเพื่อบำรุงวัดแก่รองเจ้าอาวาสกันหลายราย



หนึ่งในจำนวนนั้น ที่ร่วมบริจาคปัจจัยด้วย



ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่มีข้อจำกัดในจิตศรัทธาบริจาคหรอกครับ



ท้ายสุด ทางบริษัท ได้ร่วมบริจาคปัจจัยจากผู้มิจิตศรัทธา และของคณะทัวร์แก่รองเจ้าอาวาส เพื่อจัดซื้อข้าวสารเลี้ยงดูพระเณรต่อไป

ในฐานะชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีผู้ชายเพียงไม่กี่คน เป็นตัวแทนของคณะทัวร์ร่วมบริจาคปัจจัยในครั้งนี้ด้วย



ใบอนุโมทนาบัตรจากทางวัด แจกให้ผู้บริจาคทุกท่าน แต่คงใช้เป็นหลักฐานขอลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีไม่ได้

เพราะเป็นการบริจาคนอกพระราชอาณาจักร



พอดีได้เวลาที่ พระภิกษุ สามเณรท่านฉันเพลเสร็จ ต่างทยอยเข้าแถวเดินกลับกุฎิ ก่อนเข้าช่วงเรียนภาคบ่ายต่อไป



เป็นระเบียบ งามตามากเลยล่ะ



หลากหลายทั้งองค์เล็ก องค์ใหญ่ก็มี



ขออนุโมทนาบุญ และนำผลบุญมาฝากยังทุกท่านด้วยครับ



แถมท้าย นึกถึงสมัยเด็ก คราวเรียนชั้นประถมต้น ยังไม่มีคูลเลอร์ หรือเครื่องทำน้ำเย็นแต่อย่างใด



คราวนี้ ถึงเวลาอิ่มอร่อยของชาวคณะ ยังร้านอาหารเจ้าประจำของบริษัททัวร์ชาวไทยแล้วล่ะสิ

มีกุ้งแม่น้ำของพม่า แจกให้ทานคนละตัวด้วยครับ ฮิ ฮิ



หลังจากอิ่มอร่อยกันทั่วหน้าแล้ว ทีมงานได้พาชาวคณะไปนมัสการพระนอนชเวตาเลียว ผ่านบ้านทรงคลาสสิก ทำให้ผมนึกถึงสมัยยังเด็กขึ้นมาทันที เพราะสมัยโน้น ยังมีบ้านไม้แบบนี้เหลืออยู่มาก ขรึมขลังดีด้วย

ถึงวัดพระนอนชเวตาเลียงแล้วครับ



ให้เกียรติกับน้องผมก่อน แต่เจ้าตัวบ่นว่า ช่างภาพเน้นองค์พระมากกว่า



จากประวัติข้อมูล เป็นพระพุทธรูปปางสีหไสยาสย์ ตะแคงขวา พระเนตรเปิด พระบาทวางเหลื่อมกันเหมือนธรรมชาติ ต่างจากพระพุทธรูปของไทย ซึ่งพระบาทจะวางเสมอกัน

คาดว่าคงถูกสร้างเกือบ 1,000 ปีล่วงมาแล้ว แต่ทิ้งร้างไปคราวสงครามระหว่างมอญกับพม่า

จนถึงสมัยอังกฤษเข้าปกครองพม่า ได้มีการสำรวจแนวทางรถไฟ จึงค้นพบและถูกสร้างขึ้นมาใหม่



เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งมีความยาวองค์พระถึง 55 เมตร สูง 16 เมตรทีเดียว จึงขอบันทึกภาพไว้เป็นส่วนๆ ก็แล้วกันครับ เริ่มจากส่วนพระเศียรที่วางบนพระเขนยก่อน



ส่วนของพระเศียร



ส่วนของร่างจนจรดปลายพระบาท เสียดายอยู่นิดที่มีโครงเสาเหล็กถักบังอยู่ ทำให้ไม่สามารถบันทึกภาพได้ในคราวเดียว



มองจากด้านปลายพระบาทขึ้นมาครับ



ลวดลายที่พื้นพระบาท



จากนั้น ทางทีมงานได้ปล่อยให้คณะทัวร์ทำหน้าที่ละลายทรัพย์ตามใจชอบ เพียงแต่เตือนว่า ขอได้เก็บทรัพย์ไว้ใช้จ่ายที่เมืองมัณฑะเลย์ไว้บ้าง 55555



มีร้านจำหน่ายของที่ระลึกเป็นชื่อไทยด้วยนะ "ร้านหอมหงสา"

เรียกลูกค้าชาวไทยได้ตรึม แถมราคาจำหน่ายยังเป็นธรรมอีกด้วย



ยังมีพนักงานประจำร้านเป็นลูกหลานที่ว่างจากการปิดภาคเรียนมาช่วยขายสินค้าด้วยนะ

หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พูดคำเชิญชวนได้หลายภาษา มีแววเป็นแม่ค้าตั้งแต่เล็กเชียวแหละ

หลังจากใช้เวลาเที่ยวชมสินค้า ละลายทรัพย์กันพอหอมปากหอมคอแล้ว

ทางคณะทัวร์ได้กลับขึ้นรถ บ่ายหน้ากลับเข้าสู่เมืองย่างกุ้งต่อไป


Create Date : 01 พฤษภาคม 2561
Last Update : 1 พฤษภาคม 2561 8:08:49 น. 2 comments
Counter : 924 Pageviews.

 
สวยครับ อยากไปบ้าง เพื่อนชวนไปหลายครั้ง แต่ไม่กล้าไปซะที


โดย: ON THE WAY with (MyEos50 ) วันที่: 1 พฤษภาคม 2561 เวลา:8:32:18 น.  

 
ไปดูสักหนสิครับ ใกล้แค่นี้เอง แทบไม่มีความแตกต่างอะไรเลยจากบ้านเราสำหรับพม่าในวันนี้


โดย: owl2 วันที่: 1 พฤษภาคม 2561 เวลา:9:46:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.