Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
30 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
สะบายดี...จำปาสัก (ตอนที่ 2)



เช้าวันรุ่งขึ้น ตื่นนอนแล้วออกมาสูดอากาศข้างนอกระเบียง อากาศเย็นสดชื่นจริงๆ เลยทราบว่าเสียงก๊อกน้ำที่ดังทั้งคืนนั้น มาจากฝนที่ตกรับคณะทัวร์ทั้งคืน มิใช่เจ้าที่เจ้าทางมาหยอกเอินแต่ประการใด

ถือว่าโชคดีครับ เพราะตามปกติ อากาศช่วงกลางฤดูร้อนที่ปากเซนั้น น้องเหลือง ไกด์ลาวบอกว่า ทำให้เป็นเมืองที่ร้อนที่สุดของลาวเชียวล่ะ



ตัวเมืองปากเซเหมือนอยู่ในห้วงหลับไหลรับอรุณ แค่ความเป็นจริงนั้น ชาวบ้านชาวเมืองเขาตื่นไปตลาดสดซื้อหาข้าวของกันตั้งแต่เช้ามืดแล้วล่ะครับ



ก่อนรับประทานมื้อเช้านั้น เลยถือกล้องลงมาวนเวียนเก็บภาพด้านล่างโรงแรมสักหน่อย



พอรำลึกถึงบรรยากาศสมัยเจ้าของวังยังครอบครองอยู่นะครับ



เป็นข้อที่น่าชมเชยครับ ที่โรงแรมได้จัดหาเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงมาใช้งาน ทำให้กลมกลืนกับสภาพบรรยากาศสถานที่ได้สนิทใจ



เช้าวันนี้ น้องเหลืองได้มาเพิ่มความรู้ด้านเงินตราของลาว โดยทางการลาวได้จัดแบ่งเงินตราออกเป็น 50,000 กีบ (อ่านว่าห้าสิบพันกีบ) 20,000 กีบ (อ่านว่าซาวพันกีบ) 10,000 กีบ (อ่านว่าสิบพันกีบ) 5,000 กีบ 2,000 กีบ และ 1,000 กีบ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนบัตรไทยกับเงินกีบของลาว โดยประมาณ 250 กีบต่อ 1 บาท

หรือถ้าคิดแบบร้านตลาดจะเป็น 2500 กีบต่อ 10 บาท หรือ 5000 กีบต่อ 20 บาท

1 กีบมีมูลค่าเท่ากับ 100 อัด (อัฐ) แต่ไม่มีธนบัตรมูลค่า"อัด" ออกใช้ และที่สำคัญ ลาวไม่มีเงินเหรียญเลย เวลานักท่องเที่ยวให้เงินเหรียญห้าบาท สิบบาท แก่เด็กน้อยลาว ปรากฎว่าเด็กส่ายหน้า บอกว่าใช้ไม่เป็น ต้องรับเหรียญคืนแล้วให้ใบละ 20 แทน

ที่เล่ามานั้น อย่าได้ตกใจ เพราะในลาวนั้น เงินบาทเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางตามเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว ตลอดเวลาที่อยู่ในลาว ผมเพิ่งได้เงินทอนเป็นกีบคืนมาเป็นที่ระลึกเพียงใบเดียว มูลค่า 10,000 กีบ ทำเอาแม่ค้าที่ตลาดดาวเฮืองโล่งใจแทบแย่ ไม่เช่นนั้นต้องเหนื่อย วิ่งไปแลกเงินบาทจากเพื่อนแม่ค้าด้วยกันมาทอนผมอีก

นอกเรื่องไปนาน วันนี้เราจะเดินทางไปยังดินแดนใต้สุดของลาว เที่ยวสี่พันดอน ชมน้ำตกหลี่ผี และคอนพะเพ็ง




ออกจากโรงแรม รถบ่ายหน้าไปทางใต้ เห็นกลุ่มเยาวชน กำลังแบ่งกันฝึกอะไรสักอย่าง

พอดีน้องเหลืองเหลือบไปเห็นเข้าเช่นกัน เลยอธิบายว่า เป็นการฝึกวิชาทหารของนักศึกษาวิทยาลัยครูปากเซ ช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ เช่นเดียวกับการเรียน รด.ของเรา โดยใช้เวลาฝึกวิชาทหารเพื่อรับใช้ชาติเป็นเวลา 3 เดือน

ที่อธิบายได้นั้น เพราะเจ้าตัวเคยเข้ารับการฝึกวิชาทหารเช่นเดียวกัน แถมได้รับคำชมเชยยิงเป้าแม่น โดยเข้าเป้าทั้งสามนัด ครบจำนวนกระสุนที่แจกให้ยิงพอดี




ทางเข้าวิทยาลัยครูปากเซครับ



พอถึงแยกหลักแปด (ก.ม.8) หากตรงไปจะเป็นเส้นทางหลวงไปแขวงอัตปือ แขวงสาละวัน และแขวงเซกอง

แต่ทางหลวงสายที่ 13 จะแยกลงใต้ ซึ่งผ่านสถานีรถโดยสารหลักแปด โดยบรรดารถโดยสารจากจำปาสัก หรือกำแพงนครเวียงจันทน์ ที่จะไปยังแขวงต่างๆ ทางภาคใต้ของลาว จะมาจอดรับผู้โดยสารกันที่นี่

รวมถึงรถสองแถวที่ไปยังเมืองต่างๆ ของแขวงจำปาสักด้วย




ร้านตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร ถึงแม้ว่าพี่น้องชาวลาวยังมีกำลังซื้ออยู่น้อยราย แต่เขากล้าลงทุนค้าขายเพื่ออนาคต



ผ่านหน้าค่ายกองทัพแห่งชาติลาว ผมคิดว่าน่าจะเป็นค่ายใหญ่ เพราะมีพื้นที่กว้างขวางทีเดียว



ส่งท้ายบริเวณค่าย ก่อนค่อยๆ ลับไปจากสายตา



รถอีแต๊กสัญชาติลาว พร้อมเจ้าของ จอดอยู่ริมเส้นทาง

จากมาตรฐานที่เคยจัดเอาไว้ ผมว่าท่าทางเจ้าของรถพอมีฐานะครับนี่




ทางด้านขวามือถัดจากแม่น้ำโขง มองเห็นเมฆหลังฝน ลอยเคลียคลอกับทิวเขาสูงแบบนี้ ลืมเรื่องการงานที่บ้านเราไปชั่วขณะ



สถานบันฟื้นฟู และรักษาผู้ติดยาเสพติดแขวงจำปาสัก เช่นเดียวกับสถาบันธัญญรักษ์ในบ้านเรา

ทราบข้อมูลจากน้องเหลือง ไกด์ลาวว่า สร้างโดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากประเทศไทยนี่เอง




หมู่ทหารที่ออกไปดำนาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกลมเกลียว กับพี่น้องชาวบ้านได้เป็นอย่างดี


ที่ทำการปกครองเมืองปะทุมพอน (เทียบเท่ากับอำเภอ) แขวงจำปาสัก

หากท่านใดถามว่าเมืองใดที่อยู่ใต้สุดของลาว คำตอบก็คือ เมืองดอนโขง แขวงจำปาสัก ครับ




ครั้นแล้ว ผู้จัดทัวร์ได้บอกกับคณะว่า จะแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มแห่งนี้ และเปิดโอกาสให้ลูกทัวร์ลงไปใช้บริการห้องน้ำโดยไม่ต้องชำระค่าบริการแต่ประการใด

ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า การท่องเที่ยวใน สปป.ลาวนั้น ยังขาดความสะดวกด้านห้องน้ำ
สำหรับลูกทัวร์ที่เป็นผู้หญิง จึงเป็นข้อพึงระวัง จัดการธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางทุกครั้งด้วยครับ




ขณะที่เติมน้ำมันกาซวน (ดีเซล) อยู่นั้น ได้มีรถทัวร์ของลาวที่คันย่อมกว่า นำนักท่องเที่ยวฝรั่งมาแวะเข้าห้องน้ำที่ปั๊มนี้เหมือนกัน แถมออกเดินทางไปก่อนด้วยสิ



สำหรับข้าวของสำเร็จรูปในร้านมินิมาทที่นี่ แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากร้านมินิมาร์ทในบ้านเราครับ

ลูกทัวร์กลุ่มนี้ จึงหันมาสนใจกับ "ซิ้นฟานดาด" ที่แม่ค้านำมาจำหน่ายในราคาพื้นบ้านมากกว่า


(ชิ้น = ชิ้นเนื้อ , ฟาน = เก้ง , ดาด = ตากแห้ง)

เรื่อง "ดาดซิ้น" น้องเหลือง ได้เก็บมาตั้งปริศนาในรถว่า สถานที่ "ดาดซิ้น" ที่มีประสิทธิภาพที่สุดนั้น เป็นอะไร ?

กว่าจะได้คำเฉลยก็ค่อนบ่าย คือ "อ่างดาวเทียม" นั่นแล...
มิน่า ดู "อ่างดาวเทียม" ชาวบ้านแล้ว สีกระดำกระด่างชอบกล



มองดูระยะทางตามหลักกิโลดูแล้ว ดอนโขงยังอยู่ห่างออกไปประมาณ 60 หลัก คงนั่งกันนานอยู่ไม่น้อย หากขับตามความเร็วที่กำหนดในลาว

แต่สำหรับผม เดินทางไปเรื่อยๆ แถมมองสองข้างทางแบบไม่เร่งร้อนอย่างนี้ คือว่าคุ้มค่าครับ




หลังจากเติมน้ำมันเรียบร้อยแล้ว รถทัวร์ได้บ่ายหน้าล่องใต้ต่อไป และน้องเหลือได้กล่าวปูพื้นถึงเส้นทางรถไฟซึ่งเชื่อมระหว่างดอนเดด(ดอนเดช) และดอนคอน สมัยฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม ได้สร้างขึ้นด้วย

สมัยนั้น ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสได้ลงเรือจากเมืองไซ่ง่อนลัดเลาะทวนกระแสน้ำมาตามลำน้ำโขง ผ่านพนมเปญ มายังลาว แล้วขบวนเรือมาหยุดที่หมู่เกาะสี่พันดอน โดยมี คอนพะเพง และ หลี่ผี ซึ่งเสมือนปราการหลังบ้านของลาวขวางอยู่ ทำให้ไม่สามารถนำเรือแล่นผ่านได้

จึงได้มีการ "ม้าง" เรือแล้วใช้แรงงานลำเลียงข้ามดอนคอนมาประกอบใหม่ที่ดอนเดด(ดอนเดช) จึงสามารถแล่นเรือได้ตลอดลำน้ำโขงขึ้นไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง


คำว่า "ม้าง" ทำให้ผมนึกถึงคำพูดสมัยป้ออุ๊ยผมทางเหนือ แปลว่า "ถ่างออก" หรือ "ถอดรื้อ" ขึ้นมาทันใด

คำว่า สี่พันดอน เป็นคำเรียกจำนวน ดอน (เกาะ) บนแม่น้ำโขง ซึ่งมีมากที่สุดตรงที่แห่งนี้ ซึ่งมีลักษณะทางธรณีวิทยาพื้นโลกทรุดลงทั้งผืน ทำให้แม่น้ำโขงทั้งสาย กลายสภาพเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ แต่ทางด้านเหนือน้ำ กลับเป็นผืนน้ำที่กว้างใหญ่ราบเรียบ เช่นที่ปากเซ ไม่แห้งเหือดดังเช่นบริเวณอื่น




เมื่อการค้าขายและการล่องไม้ซุงตามลำน้ำโขงมีมากขึ้น ปัญหาใหญ่ของหมู่เกาะสี่พันดอน เริ่มทำให้ฝรั่งเศสคิดหาทางเอาชนะธรรมชาตินี้ให้ได้ โดยมีการระเบิดแก่ง แต่เนื้อหินที่แข็งแกร่ง และตัวแก่งมีขนาดใหญ่โตกว่าที่คาด ทำให้วิธีนี้ไม่ได้ผล

จึงใช้วิธีก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนาดเล็กความยาว 6.5 ก.ม.เพื่อลำเลียงสินค้าจากเรือที่แล่นในแม่น้ำโขงตอนบนลงสู่เรือที่แล่นในแม่น้ำโขงตอนล่าง เมื่อปี พ.ศ.2460 พร้อมทั้งสร้างหลักแสดงระดับน้ำให้ชาวเรือได้สังเกตด้วย หากตัวหลักใหญ่โผล่พ้นจากน้ำเมื่อใด จะแสดงให้ทราบว่าเรือที่กินน้ำลึก ไม่สามารถแผ่นผ่านร่องน้ำตรงนั้นได้

ในการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างดอนเดด(ดอนเดช) กับดอนคอนนั้น ประสบปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บและขาดแคลนเสบียงอาหาร กองทหารอาณานิคมซึ่งเป็นชาวเวียตนามผู้ดำเนินการก่อสร้างต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก หลังจากก่อสร้างเส้นทางรถไฟแล้วเสร็จ ได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่บรรดาทหารเวียตนามผู้เสียชีวิตที่ดอนคอน ซึ่งตั้งอยู่จนทุกวันนี้

แต่เปิดพอใช้งานได้ไม่นาน เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และฝรั่งเศสได้หมดอำนาจจากอาณานิคมอินโดจีนในที่สุด เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกทิ้งร้างไป

อย่างไรก็ตาม เพิ่อลำเลียงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไม้ซุง และแร่ธาตุ ที่มีอยู่มากมายในลาวออกสู่ตลาดภายนอกให้ได้มากที่สุด นอกเหนือจากการลำเลียงทางเรือที่มีข้อจำกัดด้านอุปสรรคจากสี่พันดอน ฝรั่งเศสยังได้ก่อสร้างเส้นทางหลวงอาณานิคมหมายเลข 13 จากเมืองหลวงพระบาง ลัดเลาะตามแม่น้ำโขงจนเข้าสู่ดินแดนของกัมพูชาและเวียตนามตอนใต้ และทางหลวงสายนี้ได้เริ่มพัฒนาจนเป็นเส้นทางสายหลักของ สปป.ลาว


พูดถึงเรื่องสี่พันดอน หลายท่านอาจจะนึกถึงนามสกุลของ ท่านคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศลาวขึ้นมาได้ ซึ่งท่านมีภูมิลำเนาอยู่ถิ่นนี้เองครับ

ฟังน้องเหลือง ไกด์สาวลาวเล่ากำลังเพลินๆ อยู่นั้น พอดีรถเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนน "ลาดยางหมด" (หมดทางลาดยาง) สู่บ้านนากะสัง ต้นทางลงเรือล่องแม่น้ำโขงไปยังดอนเดด(ดอนเดช) กันล่ะ




แล้วถนนมาสิ้นสุดที่หน้าร้านอาหาร ในหมู่บ้านนากะสัง แต่ยังมีเส้นทางในหมู่บ้านลัดเลาะริมแม่น้ำโขงไปยังวัดและตลาดสดด้วยครับ

น้องเหลืองกล่าวเพิ่มเติมให้คณะทัวร์ทราบว่า จะต้องลงเรือหางยาวต่อไปอีกราว 20 นาที ไปขึ้นที่ท่าดอนเดด(ดอนเดช) แล้วต่อ "รถห้าแถว" อีกทอดหนึ่ง ไปยัง น้ำตกหลี่ผี

เคยได้ยินแต่คำว่ารถสองแถว สามแถว แล้วรถห้าแถว หน้าตาจะเป็นอย่างไรหนอ ?




จากนั้น บรรดาลูกทัวร์ ต่างพากันลงจากรถแล้วเข้าแถวรอรับเสื้อชูชีพสีสะดุดตาก่อนลงเรือครับ ส่วนรถทัวร์นั้น ออกไปจอดรอตั้งหลักพักนอนที่ลานกลางหมู่บ้าน รอจนกว่าลูกทัวร์จะกลับนั่นแหละ

สภาพเรือหางยาวที่จะพาคณะทัวร์ล่องแม่น้ำโขงไปสู่ดอนเดด(ดอนเดช)นั้น ถึงแม้จะเรียกว่าเป็นเรือหางยาว แต่ความจุผู้โดยสารนั้นเกินตัว เพียงแค่สองลำเท่านั้น สามารถรองรับคณะทัวร์ ไกด์และทีมงานผู้จัดลงเรือได้ทั้งหมด




หลังจากผมเอาหัวระโครงหลังคาเรือได้สองโป๊ก เพราะกะระดับความสูงผิด ก็ลงนั่งประจำเรือได้เรียบร้อยครับ โดยนั่งได้พอหลวมๆ สี่คนต่อ 1 แถว

หลังจากตรวจสอบความเรียบร้อยของผู้โดยสารแล้ว นายท้ายก็เริ่มออกเรือ บ่ายหัวล่องใต้ไปยังดอนเดด(ดอนเดช)




ผ่านแนวหลักแสดงระดับน้ำ สร้างมาตั้งแต่ยุคฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม



ตัวหมู่บ้านนากะสัง ด้านใต้ ซึ่งเป็นชุมชนค่อนข้างหนาแน่นแห่งหนึ่งริมแม่น้ำโขง ก่อนเข้าสู่ คอนพะเพ็ง



วิถีชาวบ้านขณะหาปลา ช่วงเรือเริ่มลัดเลาะตามดอนกลางแม่น้ำโขงครับ



และท่าเรือบ้านดอนเดด(ดอนเดช) เริ่มปรากฎให้เห็นเบื้องหน้า

เห็นโครงสร้างคุ้นๆ ตานี้แล้ว คงไม่ต้องบอกนะครับว่าคืออะไร เราจะเข้าเทียบท่ากันตรงนี้แหละ




ตามที่น้องเหลืองกล่าวมาตั้งแต่แรกว่า การเดินทางไปยังน้ำตกหลี่ผี พอขึ้นจากเรือที่ดอนเดด จะต่อ "รถห้าแถว" อีกทอดหนึ่งไปยังดอนคอน จึงจะไปถึงน้ำตกซึ่งอยู่ติดชายแดนลาว-กัมพูชา

ผมไม่ติดใจเรื่องการเดินทาง เพราะเป็นรสชาติของชีวิต แต่สงสัยว่า "รถห้าแถว" นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร ?

พอเห็นตัวจริงแล้ว ก็เลิกสงสัยอีกต่อไป





หลังจากทะยอยขึ้นรถห้าแถวกันเรียบร้อยแล้ว ก็แล่นตามกันไปบนถนนที่สร้างทับแนวเส้นทางรถไฟเก่าสายดอนเดด - ดอนคอนนั่นแหละครับ



ขณะข้าม "ขัวฝรั่ง" หรือสะพานรถไฟฝรั่งเศส สร้างข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่างดอนเดด กับ ดอนคอน

ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวมาตามลำพัง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ด่านใต้สะพานด้านดอนคอน




เจอกลุ่มนักท่องเที่ยวฝรั่งบนดอนคอน โบกมือทักทายด้วยแหละ

ผมว่าเรามาช้ากว่าพวกฝรั่งทุกทีสิน่า




ยังมีทรากทางรถไฟเก่าอีกนิดหน่อย ที่ถูกนำมาพิงไว้ริมทางช่วงใกล้สะพานบนดอนคอน พอให้นักท่องเที่ยวรู้ว่า เคยมีรถไฟขนถ่ายสินค้าของฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมอินโดจีน วิ่งบนเกาะแห่งนี้



ผ่านหัวรถจักรไอน้ำโบราณ ซึ่งปัจจุบันถูกยกไปไว้ในอาคารโถงถาวรให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้เข้าแวะชม ไม่ต้องถูกทิ้งไว้ตากแดดตากฝนอีกต่อไป



เส้นทางแยกลงจากแนวทางรถไฟเก่า ผ่านบ้านคอนใต้ แล้วมาสิ้นสุดตรงหน้าบอนขายปี้ (ที่จำหน่ายตั๋ว) เข้าชมน้ำตกหลี่ผีครับ

ในเมืองลาว ทางรัฐมักจะใช้วิธีให้เอกชนยื่นสัมปทานแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และโบราณสถานต่างๆ โดยจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ความเรียบร้อย และอื่นๆ ตามข้อตกลง โดยเรียกเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวเพื่อบริหารกิจการ ทำให้ลดภาระด้านงบประมาณที่มีอยู่จำกัดลงไปได้มาก

สำหรับน้ำตกหลี่ผีแห่งนี้ ทราบจากไกด์ลาวว่า ผู้รับสัมปทานเป็นชาวเวียตนามครับ




ขณะที่รอให้ไกด์ไป "ซื้อปี้"

นอกจากจะบรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว ไกด์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบด้านประสานงานอำนวยความสะดวกแก่คณะทัวร์ รวมถึงการซื้อ "ปี้" ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่พึงมีอีกด้วย นับว่าเป็นงานที่ค่อนข้างรับผิดชอบมากทีเดียว




จะแอบมั่วนิ่มข้ามไปก่อนก็ไม่ได้ เพราะพนักงานรอคุมเชิงเจาะตรวจ "ปี้" อยู่แล้ว




มาแล้วครับ "ปี้" เข้าชมน้ำตกหลี่ผี ที่ผู้จัดนำมาแจกให้กับลูกทัวร์ ก่อนแจ้งให้เดินข้ามสะพานเป็นคู่ๆ เพื่อความสะดวกของพนักงานที่รอตรวจ "ปี้" และเจาะรู "ปี้" ไว้เป็นหลักฐาน



พอผ่านด่านตรวจ "ปี้" มาได้ ต่างถอนหายใจโล่งอก แล้วรีบเดินตัวปลิวไปยังน้ำตกหลี่ผีโดยมิชักช้า



พอพ้นจากหมู่บ้านท้ายสะพานแล้ว จะข้ามสะพานอีกแห่งหนึ่ง ไปยังบริเวณน้ำตก



และแล้ว ตัวน้ำตกหลี่ผี หรือน้ำตกโสมพะมิด ที่ส่งเสียงครึกโครม ก็ปรากฎอยู่ข้างหน้า



ด้วยความใหญ่โตของตัวน้ำตก แถมด้วยข้อจำกัดของมุมกล้อง ทำให้ภาพที่ได้ไม่ใหญ่โตอลังการเท่าที่ควร



มาไกลทั้งที ขอเก็บภาพตัวเองไว้กับสถานที่ไว้เป็น "ที่ละนึก"(ภาษาลาวแปลว่า ที่ระลึก) ก่อนครับ



บริเวณตัวน้ำตก



ที่มุมมองมหาชน ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพกันมาก แสดงถึงตัว "หลี่" หรืออุปกรณ์จับปลาของชาวบ้านที่นำมาตั้งบริเวณน้ำตก ในช่วงสงคราม มักจะมีศพของทหารและชาวบ้านไหลตามกระแสน้ำตกมาค้างที่ตัว "หลี่" เสมอ

น้ำตกแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า "น้ำตกหลี่ผี"




ที่ทิวไม้เห็นไกลๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น คือประเทศกัมพูชา

นี่ผมมาถึงชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอีกแห่งหนึ่งแล้วกระมัง ?




หลังจากได้อิ่มเอมกับทิวทัศน์น้ำตกหลี่ผี หรือน้ำตกโสมพะมิด กันทั่วหน้าแล้ว บรรดาลูกทัวร์ต่างทะยอยกันนั่งรถห้าแถวกลับไปลงเรือ

คงเหลือแต่ขาช้อปปิ้งเหล่านี้ ยังยังให้ความสนใจกับบรรดา "ของที่ละนึก" จนกระทั่งผู้จัดค่อยๆ เข้ามาตะล่อมชวนกันกลับนั่นแหละ ถึงได้ออกจากร้านแบบไม่ค่อยเต็มใจเท่าใดนัก




อาจเป็นโชค ที่ยังมีเพื่อนร่วมทางมารอสบทบก็ได้ครับ เพราะว่าลูกทัวร์ที่กลับไปก่อนนั้น มีอยู่คันหนึ่ง รถยางแตกกลางทาง ต้องรอมาลงขึ้นรถจากคิวท่าดอนเดดกลับมารับ แต่ทว่า มาติดหล่มริมทางเข้าอีก ต้องทุลักทุเลกันอยู่นาน กว่าจะกลับถึงท่าเรือ



ลำน้ำย่อยจากแม่น้ำโขง บริเวณ "ขัวฝรั่ง" เชื่อมระหว่างดอนเดด และ ดอนคอน



ไปล่ะเด้อ ดอนเดด - ดอนคอน คงอีกนาน... กว่าจะมีโอกาสกลับมาเยือนอีก



ระหว่างเดินทางกลับ มีนักร้องสมัครเล่นซึ่งเป็นลูกหลานนายท้ายเรือ อาสาขับกล่อมในเรือด้วยครับ เพลงลูกทุ่ง หมอลำซิ่งที่ฮิตๆ ในเมืองไทย นักร้องอาสาเหล่านี้ฮ้องได้เหมิ๊ด...

"ยึกๆ ยักๆ เป๋นหยังยึกๆ ยักๆ" ฮ่า....

เลยได้สินน้ำใจเป็นค่าทุนการศึกษาจากลูกทัวร์ในเรือไปอีกหลายบาท แต่ต้องไปแลกเป็นเงินกีบที่บนฝั่งเอาเองนะ



ชุมชนบ้านนากะสัง มองจากในเรือตอนขากลับ



กว่าจะถึงบนฝั่ง เข้าสู่ร้านอาหาร "วงวิวัน" ที่ท่าเรือ บรรดาลูกทัวร์ที่กลับมาเที่ยวแรกๆ ต่างโซ้ยมื้อเที่ยงไปตั้งครึ่งค่อนแล้วครับ

รีบทำเวลาตามให้ทัน โดยว่ากันเต็มพิกัด มื้อนี้ล้วนแต่ปลาน้ำโขงทั้งสิ้น


Bon Appetit !!!

จบตอนที่สอง...





Create Date : 30 มิถุนายน 2555
Last Update : 4 กรกฎาคม 2555 13:32:00 น. 2 comments
Counter : 5405 Pageviews.

 
พักที่เดียวกันเลยครับ .. กินที่เดียวกันด้วย ..
...
ผมเพิ่งไปมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ..
ตอนนั้นที่บ้านนากะสังน้ำลง ..
จากปลายบันไดกลายเป็นหาดทราย
ยาวออกไปกลางแม่น้ำซักเกินครึ่งสนามฟุตบอลได้ ..
ชาวบ้านลงไปตั้งเพิงขายของกันติดริมน้ำกันเลย ..
...
แต่ร้อนมากๆๆๆๆ จริงๆ ครับ ..
...
กำลังเอามาเขียนบล็อคอยู่เหมือนกัน ..
...


โดย: tombass วันที่: 1 กรกฎาคม 2555 เวลา:3:04:27 น.  

 
ถ้าเขียนเสร็จ ช่วยนำมาแชร์กันด้วยนะครับ จะได้มีมุมมองที่เพิ่มเติม


โดย: owl2 วันที่: 1 กรกฎาคม 2555 เวลา:11:24:12 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.