Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
28 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 

สะบายดี...จำปาสัก (ตอนที่ 1)

สะบายดี เอ๊ย...สวัสดีทุกท่านครับ

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา น้องสาวผมที่ขอนแก่นโทรจิตมาหา ถามว่าทางหน่วยงานจัดศึกษาดูงานด้านวิชาการที่ ม.อุบลราชธานี และทัศนศึกษาที่แขวงจำปาสัก แต่จำนวนคนไม่เพียงพอ จึงเปิดรับผู้ติดตามไปร่วมทัวร์ครั้งนี้ด้วย โดยมีกำหนดเดินทางในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ สรุปท้ายประเด็นสั้นๆ ว่า สนใจจะไปไหม ?

ในเช้าวันที่ 22 เมษายน ผมจึงมีโอกาสลาพักผ่อนมานั่งบนรถทัวร์สายขอนแก่น โดยนัดกับน้องให้มารับที่ท่ารถทัวร์เมืองขอนแก่นในเวลาประมาณบ่ายห้าโมงเย็น




สิ่งที่ผมเพิ่งจะพบในรถทัวร์สายนี้คือ จัดวางที่นั่งแถวละ 3 ตัว และมีจอ ทีวี.ส่วนตัวพร้อมลำโพงขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่หลังเบาะพิงศรีษะ โดยผู้โดยสารไม่ต้องใช้บริการจาก ทีวี.สาธารณะที่อยู่ด้านหน้า และตอนกลางรถแต่อย่างใด



ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ได้ราวชั่วโมงเศษ ก็ขึ้นสะพานลอยหน้าค่ายอดิศร เข้าสู่ถนนมิตรภาพ ประตูสู่ดินแดนภาคอีสานล่ะครับ

บ่ายสามโมงเศษ รถทัวร์ก็พาผมเข้าสู่พื้นที่ อ.พล จ.ขอนแก่น




เมืองพล ได้ฉายาว่าเมืองหลวงแห่งหม่ำ ที่ผมคิดว่ามองไปทางใด เห็นจะไม่พ้นร้านขายหม่ำล่ะครับ

แวะเข้าตัวเมืองบ้านไผ่นิดหนึ่ง เพื่อส่งผู้โดยสาร และในเวลาราวบ่ายสี่โมงสี่สิบห้า รถทัวร์คันนั้นมาส่งผมลงตรงท่ารถทัวร์ของบริษัทฯ ในเมืองขอนแก่น ต้องใช้เวลารออยู่ราวพักหนึ่ง น้องสาวผมถึงได้ขับรถมารับเข้าบ้าน




คืนนั้น น้องผมกำชับว่าให้เข้านอนแต่หัวค่ำหน่อย เพราะกำหนดเวลาล้อหมุนจาก มข.เวลา ตีสี่สามสิบนาที เพื่อให้ทันกำหนดเวลานัดหมายที่ ม.อุบลราชธานีในเวลาประมาณสี่โมงเช้า

เอื้อก... ดูทีท่าว่าจะเป็นกระหืดกระหอบทัวร์แล้วสิเรา



ถึงแม้จะเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม แต่น้องผมส่งเสียงแว่วเข้าหูมาแต่เช้ามืดทีเดียว

"ลุกเถอะ ตอนนี้ตีสี่ สิบนาทีแล้ว"

โดดผางรีบลุกจากที่นอนเลยล่ะครับ ล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำแต่งตัวเสร็จภายใน 10 นาทีเท่านั้น ก่อนสองคนพี่น้องช่วยกันปิดบ้าน นำรถห้อแน่บมายังจุดนัดพบใน มข.ภายใน 5 นาทีเท่านั้น เพราะบ้านน้องผมอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยนั่นเอง

ผมได้เห็นคณะทัวร์ที่มาถึงตั้งแต่ตีสี่ พลางถามน้องผมด้วยความสงสัยว่าทำไมมีมากขนาดนี้ ?

ได้รับคำตอบว่า ทัวร์ครั้งนี้ไปเที่ยวลาวภาคใต้ จึงเรียกแฟนท่องเที่ยวได้มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ถ้าเป็นแค่ทัวร์ไปเที่ยวกำแพงนครเวียงจันทน์ หรือวังเวียงล่ะก็ จะเหลือไม่ถึงครึ่งหรอก

จนกระทั่งเข้าเวลาตีห้า รถทัวร์คันบักเอ้บ ขนาด 10 ล้อคันหนึ่ง และขนาด 8 ล้อคันหนึ่งเข้ามาเทียบ พร้อมด้วยเหตุผลที่ล่าช้าว่า รอรับหมูปิ้งจากแม่ค้าซึ่งงวดนี้ต้องบริการลูกทัวร์ร่วมร้อยคนเศษ ทำให้ใช้เวลานานกว่าที่คาด




ครั้นลูกทัวร์ขึ้นอยู่บนรถกันเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว ล้อเริ่มหมุนในเวลาตีห้าสิบห้านาที จนกระทั่งเข้าสู่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม จึงจอดพักให้ลูกทัวร์เข้าห้องน้ำเป็นเวลา 20 นาที เพราะรถทัวร์ที่โดยสารมาไม่มีห้องน้ำครับ

และผมเพิ่งมีโอกาสเห็นพาหนะที่ตัวเองนั่งมาชัดๆ ก็คราวนี้เอง




จาก อ.โกสุมพิสัย รถทัวร์ก็วิ่งอ้าวผ่านเมืองมหาสารคามโดยใช้ถนนเลี่ยงเมือง จนกระทั่งเข้าสู่ตัว จ.ร้อยเอ็ด ก็เจอใบหน้าสดใสบนรถทหารที่จอดเคียงกันตรงสี่แยกไฟแดง ก่อนแยกย้ายจากกันเข้าสู่ถนนเลี่ยงเมือง

เมืองร้อยเอ็ด คนโบราณมักเรียกว่า "เมืองร้อยเอ็ดเจ็ดประตู" อาจมาจากมีเส้นทางเข้าสู่เมืองหลายเส้นทาง ถึงแม้ปัจจุบันนี้ก็ตาม ถนนเลี่ยงเมืองต้องตัดผ่านถนนเข้าสู่เมืองร้อยเอ็ดอยู่หลายแยก กว่าจะออกสู่ทางหลวงหมายเลข 23 เส้นทางหลักไปยัง จ.ยโสธร

จะว่าแปลกสำหรับผมก็ได้ เพราะมาร้อยเอ็ดครั้งใด ไม่เคยเข้าถึงใจกลางเมืองสักครั้ง อย่างใกล้ที่สุด เพียงแค่คูเมืองด้านที่ติดค่ายจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ดเท่านั้น




ข้ามแม่น้ำชี ที่บ้านหวายหลืม ต.มะบ้า อ.ธวัชบุรี ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอกับ อ.เสลภูมิ ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

ที่ผมจำชื่อบ้านแห่งนี้ เพราะมักตกเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเป็นประจำ หากเกิดเหตุอุทกภัยสองฝั่งแม่น้ำชีล่ะก็ น้ำมักท่วมสูงจนรถราไม่สามารถแล่นผ่านได้




แวะจอดให้ลูกทัวร์ผ่อนคลายอิริยาบท ยืดเส้นยืดสาย และเข้าห้องน้ำกันอีกครั้งหนึ่ง ที่ปั๊มน้ำมัน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร



คิดว่าเจ้าของปั๊ม ช่างคิดหาสิ่งละอัน พันละน้อย ลงในสวนหย่อมให้ผู้เดินทางผ่านไปมาได้ผ่อนคลายอารมณ์ ขณะนั่งซดกาแฟออนซอนด้วยครับ



กะปอมยักษ์ก็มีนะ แฮ่ม...



และแล้ว คณะทัวร์ก็เข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ในเวลาราวสี่โมงเช้า กับอีกสามสิบนาที

เป็นครั้งแรกสำหรับผม ที่เดินทางเข้าสู่เมืองอุบลราชธานีโดยผ่านทางหลวงหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) เพราะตามปกติ จะมาทางรถไฟ ทางหลวงหมายเลข 212 (ถนนชยางกูล) หรือทางหลวงหมายเลข 226 จากศรีสะเกษเท่านั้น

ด้วยเหตุใช้เวลาเดินทางนานกว่ากำหนด ทางผู้จัดได้เร่งพาคณะทัวร์ผ่านถนนเลี่ยงเมืองอุบลราชธานีด้านตะวันตก ข้ามแม่น้ำมูล เข้าบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 24 (อุบลฯ - เดชอุดม - โชคชัย - สีคิ้ว) และมาถึง ม.อุบลราชธานี โดยสวัสดิภาพ




ลัดเลาะไปตามพื้นที่ ม.อุบลราชธานีอีกเล็กน้อย ก็มาถึงจุดหมายปลายงทางของการดูงานด้านวิชาการแล้วครับ

เห็นทีต้องแปลงกายเป็นอาจารย์(กำมะลอ) ลงไปดูงานกับเขาเสียแล้ว เพราะเกิดมา เพิ่งเคยเข้ามาที่ ม.อุบลราชธานี ก็คราวนี้เอง




ขอข้ามเรื่องราวทางวิชาการไปก่อนนะครับ จนกระทั่งเสร็จสิ้นการบรรยาย ทางเจ้าภาพได้พาคณะทัวร์ออกมาทานอาหารว่าง และแบ่งเป็นกลุ่มย่อย นำไปดูงานตามแต่ละกลุ่มที่ต้องการชม

อาจารย์(กำมะลอ) ถือโอกาสตามกลุ่มย่อยไปด้วย และมาหยุดสนใจตรงห้องแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภาพเก่า... เล่าเรื่องเมืองอุบลฯ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ชี มูล




ที่เห็น คงเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อปวงชนชาวไทยกระมัง ?



ตรงมุมหนึ่งของห้องจัดแสดง ผมขอยกนิ้วใน idea ของผู้จัดครับ ที่นำพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดเท่าองค์จริงของทั้งสองพระองค์ มาติดตั้ง พร้อมจัดเวทียกพื้นให้คณะผู้มาเยี่ยมชมได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก เหมือนเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์ของทั้งสองพระองค์ทีเดียว

ดูภาพตัวอย่างจากอาจารย์(กำมะลอ)รายนี้ก็ได้




มุมแสดงด้านภาพเก่า... เล่าเรื่องเมืองอุบลฯ ซึ่งหากตั้งใจชมกันโดยละเอียดแล้ว จะใช้เวลานานเลยล่ะ



ต่ออีกสักนิด เกี่ยวกับเมืองอุบลฯ ซึ่งมีประวัติยืดยาวตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เลยทีเดียว



เจอเหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็หลายเรื่อง แต่สร้างให้เมืองอุบลฯ เข้มแข็ง ใหญ่โตจนทุกวันนี้ ถึงแม้ในปัจจุบัน จะแยกพื้นที่ออกเป็นจังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ รวม 2 จังหวัดด้วยกัน



มุมแสดงด้านวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ชี มูล ซึ่งครอบคลุมมากมายหลายด้านครับ



ด้านศิลปหัตถกรรมก็มีแสดง



ด้านเชิงช่างก็มี...



ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง ชี มูล ก็มีจัดแสดงครับ

ผมยังสงสัยว่า ถ้าผู้ที่สนใจทั่วๆ ไป เขาไม่มีโอกาสและเวลาเข้ามาชมแล้ว เพราะสถานที่ค่อนข้างจะลึกลับ อยู่ภายในหน่วยงาน น่าเสียดายความรู้ทางวิชาการและเกร็ดต่างๆ คงค้างอยู่ในห้องจัดการแสดงเหล่านี้จริงๆ น่าจะมีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ให้กว้างขวางกว่านี้




กว่าจะเสร็จสิ้นช่วงศึกษาดูงานด้านวิชาการ ตกเวลาเที่ยงครึ่งพอดี ถึงตอนนี้ต้องคิดถึงเรื่องหามื้อกลางวันลงกระเพาะกันแล้วล่ะ

ทางผู้จัดได้พาคณะทัวร์มายังร้านอาหารที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว คือที่ร้าน "กกขาม" คิดว่าท่านที่มีภูมิลำเนาแถว จ.อุบลราชธานี และใกล้เคียง คงรู้จักดีกว่าผมเป็นแน่




ขอบันทึกภาพมื้ออาหาร ก่อนสิ้นสภาพลงสู่กระเพาะของคณะทัวร์ในเวลาอีกไม่นานนัก



ก่อนกลับมาขึ้นรถ ก็มีรายการละลายทรัพย์ของคณะทัวร์ ผันสู่มือพ่อค้าแม่ขายครับ

แต่จะเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใดนั้น ตามแต่อัธยาศัย...




หลังจากละลายทรัพย์กันพอหอมปากหอมคอแล้ว ผู้จัดได้พาคณะทัวร์ผ่านถนนเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี ไปยังบ้านช่องเม็กโดยมิรอช้า เพราะคืนนี้ต้องข้ามแดนไปนอนที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสักของลาว

ข้ามแม่น้ำมูลกันอีกครั้งหนึ่ง ทางด้านตะวันออกของเมืองอุบลฯ ครับ ก่อนไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 217 (อุบลราชธานี - บ้านช่องเม็ก)




ราวบ่ายสามโมงครึ่ง ผมก็พบตัวเองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบ้านช่องเม็ก ซึ่งเจริญผิดหูผิดตาจากที่ผมเคยมาเที่ยวเมื่อสิบกว่าปีก่อนมากมาย



ทางผู้จัดได้นำลูกทัวร์เข้าอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองขาออก โดยขอให้เดินเป็นคู่ เพื่อความรวดเร็วในการผ่านแดนด้วยครับ



พอผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองขาออกเรียบร้อยแล้ว ป้ายสุดเขตประเทศไทยก็ปรากฎอยู่ตรงหน้าล่ะ



และขอยืมตัวนางแบบถ่ายรูปคู่กับป้ายบอกทางเข้า สปป.ลาว กันนิดหน่อย เพราะนายแบบหุ่นไม่ให้เลยครับ แฮ่ะๆ



เส้นทางไปชายแดน สปป.ลาวในวันนี้ ต้องลงอุโมงค์ลอดใต้ถนนอีกทีหนึ่งครับ เรียกว่ามองเห็นการณ์ไกลจริงๆ หากมีรถราผู้คนที่ผ่านแดนไปมา เพิ่มขึ้นมากมายในอนาคต



แล้วลูกทัวร์ทุกรายได้ข้ามแดนเข้าสู่ สปป.ลาว ที่บ้านวังเต่า สมปรารถนา

ถึงตอนนี้ ลูกทัวร์ฝ่ายชายได้หายเข้าร้านปลอดภาษี "ดาวเฮือง" หายากระตุ้นเลือดลมนำไปสังสันทน์กันที่ปากเซในค่ำวันนี้อยู่หลายขวด

ส่วนฝ่ายหญิง ชวนกันไปดูของที่ระลึก เครื่องประดับ กลับไปบ้านตามแต่จะชอบ เหลือเพียงสองคนพี่น้อง ที่มองสำรวจพื้นที่รอบตัวเท่านั้น




ขอนำภาพในอดีต คราวไปเที่ยวช่องเม็กมาโชว์หน่อยครับ แต่จุดที่ถ่ายรูปนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปแทบหมดสิ้นแล้ว



หลังจากรถทัวร์ที่แล่นผ่านด่านบ้านช่องเม็กตามออกมาแล้ว ทางผู้จัดได้ป่าวเรียกบรรดาลูกทัวร์ที่ยังอยู่ในร้านค้าปลอดภาษี ออกมาขึ้นรถเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปยังปากเซกันต่อไป

ก่อนที่จะออกเดินทาง ต้องผ่านจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคระบาดสัตว์ตามระเบียบของทางการลาวที่กำหนดก่อนครับ คิดว่าพนักงานคงเหนื่อยหน่อย เพราะรถทัวร์มีถึง 10 ล้อ แถมซุ้มล้อค่อนข้างทึบด้วย กว่าจะพ่นน้ำยาเสร็จ และปล่อยให้รถเดินทางต่อไปได้




ตามระเบียบของ สปป.ลาว นักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นหมู่คณะเข้าไปในประเทศลาวนั้น จะต้องจ้างไกด์นำทางซึ่งเป็นชาวลาวประจำรถไว้ด้วย คันละคน จนกระทั่งออกจาก สปป.ลาว และคณะนี้ ก็ไม่เว้น

ไกด์สาวลาวประจำรถที่ผมนั่ง หุ่นกระทัดรัด นุ่งผ้าถุงเรียบร้อย ได้ขึ้นมากล่าวทักทายและแนะนำชื่อตัวเองว่า นางเหลือง แปลให้เข้ากับความคุ้นเคยของคนไทยก็คือ นาง ชื่อ เหลือง แต่เจ้าตัวบอกว่า ถ้าจะเรียกจากผู้อาวุโสด้วยความเอ็นดู สนิทสนมล่ะก็ จะเรียก อินางเหลือง ก็ได้


แม่ญิงในประเทศลาว พ้นจาก เด็กหญิง จะข้ามไปเป็น นาง เลยครับ ทั้งๆ ที่โสดสนิทก็ตาม เพราะเมืองลาวไม่มีคำว่า นางสาว

ต่างจากเมืองไทย ที่ยังใช้คำว่า นางสาว ถึงแม้จะจดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้วถึงสามคนก็ตาม

น้องเหลืองผู้นี้ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮานอย สามารถพูดได้ 4 ภาษานอกเหนือจากภาษาลาวถิ่นเกิด คือ ไทย เวียตนาม ฝรั่งเศส และอังกฤษ แต่ทางผู้จัดและลูกทัวร์ซึ่งพูดภาษาใกล้เคียงกัน ขอให้พูดภาษาลาวดีกว่า อินางเหลืองเลยเว้าภาษาลาวโพด...

บางช่วง ขณะเดินทาง น้องเหลืองจะงัดเอาเรื่องสาระน่ารู้ที่จะไปชม เรื่องสัพเพเหระทั่วไป จนกระทั่งเข้าเรต R มาเล่าให้ฟังในรถ เรียกเสียงโห่ฮาจากลูกทัวร์ผู้หญิงดังเป็นระยะๆ นั่นแหละครับ สรรพคุณของไกด์สาวลาวล่ะ




สิ่งแรกที่น้องเหลืองปูพื้นฐานความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อให้ไทยรู้จักซาว ลาวรู้จักยี่สิบนั้น คือการจราจรใน สปป.ลาว รถต้องแล่นชิดขวา สวนกันทางซ้าย และความเร็วสำหรับรถบรรทุก รวมถึงรถบัสด้วยนั้น จำกัดความเร็วไว้ไม่เกิน 60 กม./ชม.

การขับรถแล่นไปตามถนน ต้องระวังบรรดาท่านอธิบดีกรมทางและลูกน้องไปด้วย หากขับไปชนเข้า คนขับเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้กับเจ้าของท่านอธิบดีเหล่านี้เป็นเงินนับหลายแสนกีบ รวมถึงการมีอิสระเสรีด้านกินพืชผลชาวบ้านที่ไม่ได้ล้อมรั้วอย่างแข็งแรงด้วย

จะเห็นได้ว่ารั้วชาวบ้านริมทางที่แข็งแรง เป็นระเบียบนั้น มาจากกรณีดังกล่าว แต่ถ้าเข้าในเขตเมือง หากสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไปกินพืชผลในบ้านผู้อื่น เจ้าของสัตว์จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้กับเจ้าของบ้าน ก็นับว่ายุติธรรมดีนะครับ




สำหรับรถยนต์จะมีป้ายทะเบียนแบ่งตามสีพื้นดังนี้

ป้ายทะเบียนพื้นสีเหลือง ตัวอักษรดำ เป็นรถส่วนบุคคล

ป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวอักษรดำ เป็นรถสาธารณะ (กลับกันกับบ้านเราก็ตรงนี้แหละ)

ป้ายทะเบียนพื้นสีน้ำเงิน ตัวอักษรขาว เป็นรถของหน่วยงานรัฐ หรือรถรัฐการนั่นเอง

ป้ายทะเบียนพื้นสีแดง ตัวอีกษรดำ เป้นรถป้ายแดง และรถตำรวจครับ

สำหรับรถที่ยอดฮิตที่สุดในลาวขณะนี้ คือยี่ห้อโตโยต้า นัยว่ามีค่านิยมจากโฆษณาทาง ทีวี.ของประเทศไทย และตัวแทนจำหน่ายในลาวนำรถให้ทางการให้ใช้ในงานต่างๆ สร้างความประทับใจแก่พี่น้องชาวลาวอีกทางหนึ่งด้วย

แต่มีรถยี่ห้อของเกาหลีและจีน เริ่มเข้ามาตีตลาดอยู่ห่างๆ ส่วนราคาจำหน่ายนั้น จะคิดเป็นเงิน "โดลาสหรัฐ" บวกด้วยภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 140%

จึงนับได้ว่าผู้ที่มีรถยนต์ใช้นั้น เป็นผู้มีอันจะกินอย่างแท้จริง เพราะการซื้อขายนิยมชำระด้วยเงินสด สำหรับบรรดาไฟแนนซ์และสินเชื่อติดล้อที่กำลังฮิตกันโครมๆ อยู่ในบ้านเรา ชาวลาวไม่รู้จัก และการขอสินเชื่อก็มาจากการหยิบยืมกันในวงญาติและผู้ที่รู้จักกันเท่านั้น

จะสังเกตความมีอันจะกินของผู้ที่เป็นเจ้าของรถได้อีกอย่างหนึ่งคือ เลขป้ายทะเบียนรถมักจะเป็นเลขเรียง หรือเลขตอง ผมเจอเลขทะเบียนแบบนี้บ่อยมาก ช่วงที่อยู่ลาวครับ

จะมีอีกประเภทหนึ่ง คือรถยนต์เถื่อน สั่งข้ามแดนตามใบสั่งซึ่งมีราคาต่ำกว่ารถที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้สั่งจะต้องลงทุนด้านดัดแปลงพวงมาลัยจากด้านขวามาด้านซ้าย และกรรมวิธีสวมทะเบียนจนกระทั่งเสียภาษีได้ แต่ไกด์ลาวบอกว่า รถประเภทนี้ เครื่องมักจะแรงกว่ารถสั่งนำเข้า (อาจเป็นเพราะติดเทอร์โบกระมัง ?)




สำหรับการถือครองที่ดิน ประชาชนชาวลาวสามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเอง ยกเว้นชาวต่างประเทศ และสามารถขอจดทะเบียน(ออกโฉนด) จากรัฐได้ ตามอัตราที่กำหนด สำหรับหน่วยวัดพื้นที่จะใช้ เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 2.4771 เอเคอร์ หรือ 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน) ส่วนการทำไร่ไถนาจะนิยมใช้วัว ควาย เช่นบรรพบุรุษ ถ้าสังเกตพื้นที่นาแล้ว จะมีขนาดเล็กกว่าพื้นที่นาบ้านเรา

ส่ำหรับผู้ที่มีรถไถนาหรือควายเหล็กนั้น ถือว่าเป็นชาวนาระดับมีอันจะกินเช่นกันครับ เพราะการซื้อรถไถนามาใช้งานหรือรถยนต์ต่างๆ ก็ตาม ทางลาวจะใช้ระบบชำระเงินสด และเครื่องจักร รถไถนาต่างๆ ล้วนนำเข้ามาจากประเทศไทย

ด้านการศึกษา จะมีโรงเรียนชั้นประถมสมบูรณ์อยู่ทุกหมู่บ้าน ถึงแม้จะมีเพียงชั้นเรียนละห้องก็ตาม สำหรับโรงเรียนมัธยมจะมีขนาดใหญ่กว่า และตั้งในพื้นที่ชุมชนใหญ่เท่านั้น

การศาสนา ปัจจุบันสถาบันศาสนาได้ถูกยกให้เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศเช่นเดียวกับสถาบันอื่น จากแต่เดิมที่ถูกละทิ้ง แต่ขัดความรู้สึกที่หยั่งลึกในจิตใจของชาวบ้านมาช้านาน ทางรัฐจึงล้างสถาบันนี้ไม่สำเร็จ




กองบัญชาการทหารประจำเมืองโพนทอง (เมือง เทียบเท่ากับ อำเภอ) ของแขวงจำปาสัก

เท่าที่ผมเห็น จะมีค่ายทหารตั้งอยู่บนเส้นทางสาย 16 นี้รวมสองแห่งด้วยกัน ได้ยินจากไกด์ลาวว่า ทหารเหล่านี้ได้รับเงินเดิอนน้อยมาก ทางหน่วยจึงมีนโยบายให้ทหารออกไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ดำนา เกี่ยวข้าว เป็นประจำ และได้น้ำใจเป็นข้าวเปลือกมาเป็นเสบียงเลี้ยงดูกันในค่าย




ที่ว่าการเมืองโพนทองครับ หนึ่งในจำนวน 4 เมือง (อำเภอ) ของแขวงจำปาสัก ที่ตั้งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ได้แก่ เมืองโพนทอง จำปาสัก สุขุมา มูลปะโมก โดยมีเส้นทางแยกจากถนนสายนี้ไปยังสี่เมืองดังกล่าวด้วย

ยกเว้นเมืองโขง ซึ่งเป็นเมืองเดียวที่ตั้งอยู่บนเกาะ(ดอน) กลางแม่น้ำโขง




ร้านกินดื่ม(ร้านอาหาร) กับป้ายบอกชื่อร้านซึ่งทางบริษัท เบียร์ลาว มาลงทุนให้ จนกลายเป็นสัญญลักษณ์สามัญบอกผู้ที่ผ่านไปมาว่าเป็นร้านอาหารครับ



หลังจากเดินทางมาเป็นระยะทางประมาณ 42 ก.ม. เราก็ถึง "ขัวมิดตะพาบลาว - ยี่ปุ่น" ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ก่อสร้างสะพานแห่งนี้โดยใช้งบประมาณแบบให้เปล่า (ภาษาลาวเรียกว่าเป็นเงิน "หื้อสูน")

สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองปากเซแห่งนี้ มีความยาวถึง 1,380 เมตรทีเดียว

หากใครที่จำฉากในหนังเรื่อง "สะบายดี 2" ตรงทางเดินเท้าเชิงสะพานแห่งนี้แหละครับ ที่พระเอกขึ้นไปกำกับบทและถ่ายภาพคู่บ่าวสาวที่ตนเองรับจ้างงานไว้ และพบกับนางเอก




เป็นครั้งแรกสำหรับผมที่ได้นั่งรถข้ามสะพานมิตรภาพซึ่งข้ามแม่น้ำโขงเหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นที่เมืองปากเซก็ตาม

บนสะพานช่วงเย็น จะมีผู้คนพากันขึ้นมาเดินเล่นตลอดสะพานกันหลายสิบราย




ใกล้เชิงสะพานฝั่งปากเซ จะเห็นตึกขนาดใหญ่โตมโหระทึกซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ สร้างความสงสัยว่าเป็นตึกอะไร ?

น้องเหลือง ไกล์ลาวประจำรถบอกว่าเป็นคฤหาสน์ของคุณนายดาวเฮือง (ดาวเรือง) เศรษฐินีชาวปากเซ เจ้าของตลาดดาวเฮือง กิจการร้านค้าปลอดภาษีตามด่านชายแดนต่างๆ ทั่วลาว เจ้าของกาแฟ "ดาว" อันมีชื่อเสียงของ สปป.ลาว และกิจการอื่นๆ อีกมากมาย




และคณะทัวร์ก็เข้าสู่ตัวเมืองปากเซ



น้องเหลือง ไกด์สาวลาวบอกว่าในประเทศลาว ข้าวของสินค้าแทบทุกอย่างต้องนำเข้าจากประเทศไทย หากราคาสินค้าฝั่งไทยขึ้นราคา จะกระทบถึงชาวลาวที่มีรายได้ค่อนข้างจำกัดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม จากอิทธิพลของแรงโฆษณาทาง ทีวี. มีหลายผลิตภัณฑ์ที่เล็งเห็นอนาคตสดใสในลาวเข้ามาทำตลาดที่นี่ ถึงแม้ราคาค่างวดจะสูงก็ตาม ดังเช่นโฆษณาในภาพนี้




ปากเซ นอกจากจะเป็นชุมทางรถโดยสารในภาคใต้ของลาวและเชื่อมต่อกับกำแพงนครเวียงจันทน์ได้โดยสะดวกแล้ว ยังมีรถโดยสารระหว่างประเทศให้บริการด้วยครับ เช่น ปากเซ - อุบลราชธานี ของไทย ปากเซ - พนมเปญ ของกัมพูชา ปากเซ - ดานัง และเมืองเว้ ของเวียตนาม

เมืองเว้ ภาษาลาวจะเขียนว่า เหว้ ตรงตัวเปี๊ยบเลย




ตรงสี่แยกกลางเมือง เห็นแม่ญิงลาวนุ่งผ้าซิ่นแบบลาวขี่รถจัก (จักรยานยนต์) แล้ว นึกถึงบรรยากาศค่อนข้างอนุรักษ์นิยมของลาวขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก



แผ่นแป้งที่วางตากแดดหน้าร้านนี้ คงจะเป็นแผ่นแหนมเนือง หรือว่าแผ่นเฝอ กระมัง ? เพราะรถผ่านไปค่อนข้างเร็ว มองไม่ถนัดครับ



ลัดเลาะตามถนนในเมืองปากเซได้สักพัก รถทัวร์ก็ออกมาสู่ถนนแคมโขง (ริมโขง) เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกทัวร์ได้รับประทานอาหารมื้อเย็นก่อนเข้าที่พัก

มีป้ายสัญญลักษณ์ร้านกินดื่มอยู่หลายร้านทีเดียว




ทิวทัศน์แม่น้ำโขง ตรงทางลงแพอาหาร "คำฟอง" สำหรับมื้อนี้ อยู่ตรงปากลำเซโดนที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขงอีกด้วย



อย่าหาว่าผมเห่อเลยนะครับ แฮ่ะๆ คงอีกนาน....กว่าจะมีโอกาสได้มาเที่ยวปากเซอีก



สองคนพี่น้อง ที่ปากเซ ฮิ ฮิ



หลังจากอิ่มหนำสำราญกันทั่วหน้าแล้ว ต่างก็พากันมานั่งผึ่งพุงกันข้างนอกแพ

และขอบอกว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากอาหารตามร้านดังๆ ในเมืองไทยแม้แต่น้อย ยกเว้นข้าวเหนียว ข้าวปุ้น (ขนมจีน) และแหนมเนืองที่เข้ามาแจมเพียงนิดหน่อยครับ




ส่งท้ายค่ำวันนี้กับทิวทัศน์แม่น้ำโขง ซึ่งเห็นท่าแพขนานยนต์ข้ามฟากมาปากเซ ก่อนสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่นก่อสร้างแล้วเสร็จ อยู่ตรงมุมขวาบนของภาพ



จากนั้น รถทัวร์ได้นำคณะทัวร์มาส่งยังที่พักประจำคืนนี้ครับ ที่โรงแรมจำปาสัก พาเลส

ถึงคราวที่ผมจะต้องทึ่งบ้างล่ะ เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเคยเป็นวังเก่าของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสัก มาก่อน ก่อนเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นปัจจุบัน




หลังจากชุลมุนอยู่พักหนึ่ง เพื่อ check in และจัดคู่ buddy เข้าพักในแต่ละห้องแล้ว ผมได้ buddy เป็นอาจารย์จาก มข. และชวนกันขึ้นลิฟท์แก้วด้านหลังตึก เข้าสู่ห้องพักที่ชั้น 3 ตรงปีกตึกด้านใต้



แต่เดิม ห้องปีกตึกจะมีสามด้าน ด้านละห้อง โดยมีโถงกลางและทางเดินระเบียงตึกเป็นจุดเชื่อมต่อ จากห้องเดิมที่กว้างขวางใหญ่โต สามารถแบ่งเป็นห้องพักเมื่อทำเป็นโรงแรมได้ถึง 3 ห้องทีเดียว

ทางโรงแรมจะเปิดห้องให้แขกเข้าพักเพียงสามชั้นเท่านั้นครับ ส่วนชั้นที่ 4 จะสงวนไว้สำหรับแขกระดับ vip เช่นผู้นำพรรค ผู้นำรัฐบาล และแขกเมืองระดับ vip ของรัฐบาล เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา หากเสร็จมาเยือนลาวตอนใต้ ทางรัฐบาลลาวจะจัดให้เป็นเรือนพักรับรองที่นี่




สภาพภายในห้องพักที่กว้างขวาง แต่ผมรู้สึกว่า ยังคงบรรยากาศขรึมๆ ในสไตล์วังเก่า



ลองเปิดดู ทีวี.ซึ่งอาศัยบริการจากค่ายจานสีแดงแล้ว สามารถรับชมรายการจากสถานีโทรทัศน์ฟรี ทีวี.ของไทยทุกช่อง และมีโทรทัศน์แห่งชาติลาว โทรทัศน์ของเวียตนาม และ ทีวี.จากต่างประเทศ เรียกว่าถูกใจสำหรับแขกที่มาพักที่นี่

ผมเลือกดูโทรทัศน์แห่งชาติลาว เพื่อทบทวนความรู้เรื่องภาษาลาวไปด้วย แต่ข่าวที่ดู ตามสายตาคนไทยจะเข้าข่ายว่าจืดชืด ไม่มีสีสันร้อนแรงเหมือนในบ้านเรา เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองของลาวนิ่งสนิท มีเพียงข่าวพัฒนาและกิจกรรมของรัฐบาลเท่านั้น แถมปิดสถานีเพียงสี่ทุ่มอีกด้วย

ขณะลุกเข้ามาห้องน้ำกลางดึก ผมได้ยินเสียงเหมือนใครเปิดน้ำทิ้งไว้ ทั้งๆ ที่ก๊อกทุกตัวปิดสนิท ด้านห้องข้างเคียงที่เอะอะเฮฮากันตั้งแต่หัวค่ำแถวระเบียง ก็เงียบเชียบไปหมดแล้ว

ชักสงสัยว่าเจ้าที่เจ้าทางมาหยอกเอินหรือเปล่า ? เลยรีบเข้านอนต่อโดยเร็วดีกว่า


จบตอนที่หนึ่ง...
 




 

Create Date : 28 มิถุนายน 2555
0 comments
Last Update : 10 มิถุนายน 2563 8:17:11 น.
Counter : 9135 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.