Group Blog
 
 
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
29 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (1)



สวัสดีครับ...

นิตยสารต่างจังหวัดรายเดือน "คนเมือง" นอกจากจะคัดบรรดานางงามขึ้นเป็นทรามวัยบนแผ่นปกแล้ว เรื่องราวที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็น "จุดขาย" ที่ถนัดของกองบรรณาธิการก็คือ สารคดีสั้น พร้อมทั้งภาพประกอบราวๆ 8 ภาพ เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในท้องถิ่นล้านนา ดังที่ได้เห็นจากเรื่อง อุโมงค์ขุนตาน ที่คุณ tintila ได้นำลงเป็นตัวอย่างไปแล้ว แต่เรื่องสั้นภายในเล่มรายเดือน จะกระชับกว่า ด้วยจำนวนหน้าที่จำกัดเอาไว้นั่นเองครับ

ลองติดตามดูเรื่องราวเรื่องแรกจากนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ดูสักหน่อยเป็นไร ?

ที่ผมค้นเรื่องนี้มาลง ก็มีเหตุจูงใจจากภาพของลุงหนุ่มเมืองพานนั่นแหละครับ เรื่องของลำไยซึ่งในทุกวันนี้มีให้เลือกชิมกันหลากหลายพันธุ์ แต่สมัยโน้น จะมีเพียงไม่กี่พันธุ์ เช่นพันธุ์พื้นเมือง ที่เนื้อบางเม็ดโต และพันธุ์กะโหลก ที่สายพันธุ์มาจากจีน ซึ่งผมคิดว่ามีเนื้อหนา เม็ดในเล็กกว่าพันธุ์ใดๆ ในขณะนั้น

สารคดีสั้นเรื่อง"ลำไย" นี้ ไม่ได้ระบุว่าถ่ายทำจากที่แห่งใด คิดว่าคงจะเป็นสวนแถวๆ จ.เชียงใหม่ แต่สวนลำไยที่ จ.ลำพูนนั้น ผลิตลำไยสู่ท้องตลาดมากที่สุดในภาคเหนือ พอถึงหน้าผลไม้ในภาคเหนือ ใครๆ ก็รู้จักแต่ลำไย ยังไม่มีผลไม้อื่นเข้ามาตีตลาดเหมือนเช่นทุกวันนี้

สารคดีสั้นในสไตล์ของนิตยสาร"คนเมือง" จะเกริ่นด้วยเรื่องสั้น หรือข้ออธิบายที่น่ารู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาพที่นำลง ดังนั้น ผมจะขอนำเรื่องสั้น มาให้อ่านกันก่อนเป็นการปูพื้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าสถานที่ในเรื่องจะอยู่แห่งหนตำบลใด เพราะตัวเมืองเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแทบจะสิ้นเชิง แต่ที่คงเอาไว้คือลักษณะการเขียน ตัวสะกดในสมัยนั้น และบรรยากาศบ้านเมืองสมัยปู่ย่าตายายยังหนุ่มฟ้อ จะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง

เชิญติดตามได้เลยครับ และขอคารวะท่านผู้เขียนเรื่อง ซึ่งมักใช้นามปากกา และคณะผู้ถ่ายทำด้วยความเคารพมา ณ โอกาสนี้...



อุตสาหกรรมลำไยกระป๋อง

เรื่องและภาพ นิคม กิตติกุล

................................

ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ในขบวนคณะทัศนาจรฤดูลำไยของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเดินทางมาถึง ข้าพเจ้าได้พบเพื่อนเก่าคนหนึ่งร่วมขบวนมาด้วย หลังจากทักทายกันตามทำเนียมแล้ว ในตอนหนึ่ง, เขาเอ่ยขึ้นว่า “ไง, อยู่เชียงใหม่คงฟัดลำไยเปรมไปเลยนะ”
ข้าพเจ้าหน้าม่อย ตอบเสียงอ่อยว่า “เปล่า, ไม่ได้กินเลย”

เขาฉงน “อ้าว, ทำไมงั้นล่ะ คุณก็อยู่กับดงลำไยนี่นา ?”

“ถึงว่าซี...” ข้าพเจ้าตอบเลี่ยง

“ลำไยมีน้อย หรือว่าเงินสดคุณไม่ค่อยจะมีตามเคย ?” เขาถามซ้ำอีก

ข้าพเจ้าชักโมโห “ลำไยน่ะมีมากเสียด้วย แต่พ่อค้าเขาเหมาส่งพวกคุณเสียหมด คิดดูซี, วันละไม่ต่ำกว่า ๑๐ ตู้รถไฟ - ตู้หนึ่งไม่น้อยกว่า ๔๐๐ เข่ง ส่งทุกวันจนกว่าจะหมดฤดูลำไย ก็ลองคิดดูเอาเองเถอะ ราคาขายที่นี่เผ่นจากกิโลละ ๘ บาท เป็น ๑๐ ถึง ๑๕ บาทแล้ว”

เพื่อนข้าพเจ้าหัวเราะเสียงใส “จริงแฮะ, คุณเลยไม่มีเงินซื้อกิน โถ, น่าสงสาร”

ข้าพเจ้าอัดอั้นตันใจที่ไม่ได้กินลำไย ในฤดูลำไยทุกปีมาด้วยประการฉะนี้

แต่ให้ตายเถอะ, วันนี้- ลูกหนี้ค้างสามปีของข้าพเจ้าไม่รู้ฟลุคมาจากไหน นั่งรถจิ๊ปป๋อมาถึงสำนักงาน เดินกระแทกเท้ากึงๆ มาที่โต๊ะข้าพเจ้า ไม่พูดไม่จาเพราะเคยใช้ศิลปะจากลิ้นสองนิ้วเจรจาบ่ายเบี่ยงประวิงหนี้ด้วยวิธีปลาดมานานแล้ว เขาควักเงินสดปึกหนึ่งจ่ายให้ข้าพเจ้า แถมยังเชิญไปก๊งกันในตอนเย็นอีกคาบหนึ่งเสียด้วย วันนั้น, ข้าพเจ้าจึงร่าเริงผิดเคย นึกอยู่ในใจว่า “ฮั่ดโธ่, กะอีลำไยในบ้านเราจะกินมันทำไม มันต้องลำไยต่างประเทศซีถึงจะอร่อย”
เย็นนั้น, ข้าพเจ้าไม่นำพาต่อคำเชิญชวนของลูกหนี้แช่เย็น แต่กลับชวนวิจิตร ไชยวัณณ์ เพื่อนร่วมงานไปหาซื้อลำไยกะป๋อง อ๋อ, แน่ละ มันต้องเป็นของต่างประเทศที่ไม่ปรากฎอักษรไทยบนกะป๋อง ตามแบบฉบับของผู้รักชาติชาวไทยที่นิยมปฏิบัติกันในขณะนี้

เมื่อจีนคนขายเอาลำไยกะป๋องมาให้ เพื่อความแน่ใจ, ข้าพเจ้าถามว่า เป็นลำไยกะป๋องของประเทศไหน เพราะบนฉลากปิดกะป๋องไม่เห็นมีชื่อประเทศผู้ผลิต จีนเจ้าของร้านเหลียวหน้าเหลียวหลัง เมื่อเห็นปลอดคนแกก็กระซิบเบาๆ ว่า “ทำจากเมืองจีน เพิ่งลักลอบส่งมาอาทิตย์ที่แล้วนี้เอง” เป็นอันเชื่อถือได้ว่า ได้กินลำไยต่างประเทศสมใจแน่ ตั้งยังงี้ซีน่า ไหนๆ จะกินลำไยเมืองนอกทั้งที, ก็กินของจีนแดงเสียด้วย เมื่อหมดไป ๔ กะป๋อง ข้าพเจ้าบอกกับวิจิตรว่า

“ลำไยกะป๋องของจีนแดงเขาไม่เลวนา รสชาดเด็ดขาดเลย”

วันต่อมา บรรณาธิการเรียกข้าพเจ้าไปพบ แล้วว่า “ทราบว่ามีโรงงานทำลำไยกะป๋องที่ฟ้าฮ่าม คุณไปเก็บภาพมาทีเถอะ”

“ครับ” กล้องและข้าพเจ้าพร้อมด้วยคุณวิจิตรจึงมุ่งสู่บ้านฟ้าฮ่ามทันที

เลยวัดลังกาไปเล็กน้อย เลี้ยวเข้าตรอกทางซ้ายมือ อุตสาหกรรมลำไยกะป๋องแห่งเวียงพิงค์ก็ปรากฎโฉม กลางทุ่งกว้าง เพิงไม้ไผ่หลังคามุงตองตึง เป็นสถานที่บรรจุคนงานร่วม ๑๒๐ คน ส่วนมากเป็นหญิงสาวเขียวๆ แดงๆ ปากจิ้มลิ้มนั่งแกะเปลือกลำไยละลานตาไปหมด ข้าพเจ้ากดชัตเตอร์กล้อง ไฟแว่บๆ ด้วยความร่าเริงใจ เสียงวิจิตรว่า “ถ่ายคนขาวๆ นุ่งเสื้อจีนร่างท้วมๆ นั่นอีกทีเถอะน่า”
ภายในตึกโรงงาน ซึ่งอยู่ติดๆ กันกับโรงแกะเปลือก เสียงเครื่องยนต์อัดกะป๋อง และเสียงหม้อไอน้ำดังกระหึ่ม คนงานอีกกว่าสิบ บ้างคัดเนื้อลำไยบรรจุกะป๋อง ชั่งน้ำหนัก เติมน้ำหวาน อัดกะป๋องวุ่นวายไปหมด

เจ้าของโรงงานอธิบายว่า คั่นแรกเมื่อแกะเปลือกซึ่งต้องอาศัยความประณีตไม่น้อย คือใช้มีดค่อยๆ ปอกเปลือกก่อนแล้วอาศัยความชำนาญแงะเนื้อหลุดจากเม็ดโดยมิให้เนื้อต้องช้ำหรือขาดเป็นชิ้นๆ เสร็จแล้วจึงนำเนื้อลำไยล้วนๆ ใหญ่เล็กปนกันมาคัดความใหญ่เล็กแยกกันไว้ เพื่อบรรจุกะป๋องในสองราคา แล้วลงล้างในน้ำเย็นแล้วต้มเพื่อไม่ให้เนื้อเปื่อย

ภายหลังต้มกะป๋องเปล่าเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้ว จึงนำลำไยลงบรรจุกะป๋อง โดยชั่งให้ได้น้ำหนักเท่ากันทุกกะป๋อง แล้วจึงเติมน้ำหวานส่งช่างเข้าเครื่องอัดทันที คนงานต่อไปก็นำกะป๋องที่อัดแล้ววางเรียงเป็นแถวๆ ในตะแกรงชักโซ่ลูกรอกนำลงต้มในถังซิเมนต์ ซึ่งมีน้ำเดือดด้วยเครื่องไอน้ำตลอดเวลาอีกประมาณ ๔๕ นาที เพื่อมิให้ลำไยเสีย แล้วปิดตราเป็นเสร็จ ส่งไปขายได้ทั่วประเทศ..

...................................

(จากนิตยสาร "คนเมือง" รายเดือน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ เดือน กันยายน ๒๔๙๘)

ฤดูลำไย...

เรื่องโดย แผ้ว ผาเขียน
ภาพโดย นิคม กิตติกุล, ชัชวาล ชุติมา และ อาคม ศาสตราสิงห์


........................




เมื่อฤดูลำไยเวียนมาถึงอีกครั้ง นั่นหมายถึงว่า ทรัพย์ในดินประเภทนี้จะกลายเป็นเงินทองคุ้มค่ากับทุนรอนและเรี่ยวแรง ที่เจ้าของสวนได้ลงไว้ ลำไยนั้น, แม้จะเป็นผลไม้ที่ได้ผลปีละครั้ง แต่ทุกๆ ปีมันก็ให้ผลที่น่าชื่นใจอยู่เสมอ




เมื่อลำไยแก่และสุกพอที่จะเก็บได้แล้ว พ่อค้าผู้รับซื้อเหมาไว้ ก็จะลำเลียงเข่งและคนที่จ้างทำหน้าที่เก็บ ทั้งคนขึ้นและคนริดใบไปที่สวนลำไย เพื่อทำการเก็บลำไยแก่ได้ที่ลงบันจุเข่งเพื่อส่งไปจำหน่ายในท้องตลาดต่อไป




เมื่อเก็บเกี่ยวลำไยจากต้นลงมาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคนริดใบและคัดเลือกจะช่วยกันเด็ดใบทิ้งและเลือกเอาแต่ลำไยผลงาม แยกเป็นพวกๆ จัดการบันจุเข่ง ตามปกติเข่งหนึ่งๆ เมื่อบันจุลำไยแล้วจะได้น้ำหนักรวมไม่เกิน ๒๐ กิโลกรัม

คนขึ้นเก็บลำไยจากต้นก็ดี คนริดใบและคัดเลือกลำไยก็ดี ล้วนเป็นคนงานรับจ้างทั้งสิ้น บางทีก็เหมาหมดทั้งสวน และบางทีก็ตกลงกันเป็นรายวัน หน้าที่ริดใบและคัดเลือกเป็นงานของผู้หญิง ส่วนการขึ้นเก็บจากต้นเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เมื่อถึงฤดูลำไยคนงานประเภทนี้จึงมีงานทำตลอดเดือน




คำพังเพยที่ว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” นั้น มีความเป็นจริงอยู่ แม้กับคนที่อยู่ใกล้แหล่งของลำไย เพราะว่า, หลังจากลำเลียงลำไยจากสวนมาถึงบ้านแล้ว พ่อค้าจะคัดเลือกเอาลำไยที่ผลไม่ค่อยงามอออกขายปลีกเสียชั้นหนึ่งก่อน โดยมีแม่ค้าย่อยมารับซื้อไปขายอีกทอดหนึ่ง คนเชียงใหม่จึงสู้คนที่อื่นไม่ได้ เพราะลำไยดีราคาก็แพง ของดีจึงถูกคัดเอาส่งไปขายที่อื่นมากกว่าจะขายในท้องถิ่น

หลังจากคัดเลือกลำไยอีกชั้นหนึ่งแล้ว ส่วนที่เป็นลำไยชั้นดี, ผลใหญ่ น่ารับประทาน พ่อค้าจึงบันจุเข่งแยกไว้ เพื่อเตรียมส่งไปขายตลาดกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ




การขนส่งลำไยเพื่อส่งทางรถไฟไปกรุงเทพฯ นั้น พ่อค้าบางรายก็ใช้รถยนต์และมากรายที่ใช้เกวียน (ล้อวัว) ในฤดูลำไยถนนแทบทุกสายจึงมีเกวียนบันทุกเข่งลำไยเต็มเพียบ มุ่งหน้าไปสู่สถานีรถไฟขบวนแล้วขบวนเล่า จนกว่าฤดูลำไยจะหมด การขนลำไยด้วยเกวียนนี้, ปรากฎว่ามีมากกว่าการขนด้วยรถยนต์ เนื่องจากค่าขนถูกและระยะทางก็ไม่ไกลเกินไปนั้น เจ้าของเกวียน (หรือล้อวัว) จึงมีงานเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง

การขนลำไยไปสถานีรถไฟนี้ สุดแต่ตกลงกันว่าจะคิดราคาเป็นเที่ยวหรือจะเหมาตามจำนวนเข่งก็ได้ เมื่อลำเลียงมาถึงสถานีรถไฟแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดลง




เมื่อเข่งลำไยลำเลียงมาที่สถานีรถไฟแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของกรรมกร ร.ส.พ. ที่จะแบกขนขึ้นตู้รถไฟ มันเป็นงานที่หนักอยู่ไม่น้อย เพราะวันหนึ่งๆ มีลำไยที่จะต้องจัดส่งไปไม่ใช่น้อยๆ เข่งลำไยนับร้อยวางระเกะระกะแยกเป็นหมวดหมู่ตามชื่อผู้ส่ง ซึ่งบางรายก็มีคราวละหลายตู้ กรรมกรต้องทำงานกันอย่างเร่งรีบ เพราะลำไยก็เป็นสินค้าที่ต้องแข่งกับเวลาเหมือนกัน ขืนชักช้าลำไยก็จะเสียหาย

ในปีหนึ่งๆ ลำไยจากเชียงใหม่ที่ส่งไปตลาดกรุงเทพฯ เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท เศรษฐกิจเชียงใหม่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการส่งลำไยเป็นสินค้า “ขาออก” นี้เหมือนกัน




พ่อค้าทางกรุงเทพฯ ที่รับซื้อลำไย ก็ได้เตรียมเช่าที่ดินบริเวณวัดเทพศิรินทราวาสไว้ จัดเป็นตลาดขายส่งลำไยชั่วคราวขึ้น พอขบวนรถไฟถึงกรุงเทพฯ เข่งบันจุลำไยก็จะถูกลำเลียงมารวมกันที่นี่ทางรถยนต์ ณ ที่นั้น บรรดาแม่ค้าพ่อค้าขายปลีกก็มารออยู่ก่อนแล้ว พอลำไยมาถึงทุกคนก็จะลุกฮือขึ้น ไปขดูและชิมต่อรองราคา สภาพของตลาดขายส่งลำไยชั่วคราวที่เงียบเหงาก็คึกคักขึ้นมาฉับพลันทันใด

พ่อค้าแม่ค้าขายปลีกเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจะรับซื้อลำไยได้จากพ่อค้าที่รับซื้อลำไยจากเชียงใหม่โดยตรง หากต้องรอรับซื้อเหมาอีกทอดหนึ่ง การค้าลำไยจึงผ่านคนกลางหลายทอด




หลังจากพ่อค้าใหญ่จัดแบ่งขายลำไยให้แก่พ่อค้าเหมาไปแล้ว พ่อค้าที่ซื้อเหมาไปจะจัดการจำหน่ายให้แก่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่มารอรับซื้ออีกทอดหนึ่งและขายโดยวิธีประมูลเป็นรายเข่ง โดยตั้งโต๊ะขายกันในบริเวณนั้นเอง โครอยากทดลองชิมดูก่อนก็ได้... ไม่ซื้อไม่หาก็ไม่ว่าอะไร... เมื่อเป็นที่พึงพอใจ จึงค่อยรับซื้อภายหลัง ซึ่งแน่ละ, เมื่อผ่านคนกลางหลายทอดเช่นนี้ ราคาก็ย่อมจะสูงตามไปด้วย มันเป็นเรื่องของการค้าที่มุ่งกำไรเป็นสำคัญ

การซื้อการขายลำไยที่ตลาดขายส่งชั่วคราวแห่งนี้ จะดำเนินติดต่อกันไปตั้งแต่เช้าจนเย็น ใครที่ซื้อได้แล้ว ก็จัดการนำไปสู่ตลาดผลไม้ วางขายให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อปลีกทีละกิโลครึ่งกิโลต่อไป.

.............................

(จากนิตยสาร "คนเมือง" รายเดือน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ เดือน กันยายน ๒๔๙๘)








Create Date : 29 สิงหาคม 2553
Last Update : 10 ตุลาคม 2561 11:13:43 น. 2 comments
Counter : 2897 Pageviews.

 
ดีใจจังค่ะที่ได้พบเจอคนเมือง

ขอติดตามบล็อกด้วยคนนะค่ะ


โดย: Benfyy วันที่: 7 ตุลาคม 2554 เวลา:17:01:39 น.  

 
ขอบคุณที่แวะชมครับ


โดย: owl2 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:22:42:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.