ล่องใต้ ไปอีสาน ( ๙ )
กลับจากล่องใต้ พักผ่อนที่บ้านพอหายเมื่อยขบ โครงการใหม่ก็เกิดขึ้นโดยเร็ว นั่นคือไปเบิ่งอีสานช่วงต้นหนาวที่จังหวัดตั้งใหม่ถอดด้าม คือ บึงกาฬ กับ อำนาจเจริญ แถมมีรถทัวร์ไป จ.บึงกาฬ ผ่านอุตรดิตถ์บ้านผมด้วยสิ
ไปถามเส้นทางเดินรถของสองบริษัทที่จะไป จ.บึงกาฬ เพื่อจองตั๋ว ได้รับคำชี้แจงว่ามี กรีนบัส รถทัวร์บ้านเฮา จาก จ.เชียงราย กับบริษัทเพชรประเสริฐทัวร์ (คันสีเหลือง) จาก จ.เชียงใหม่ ไป จ.บึงกาฬ แต่กรีนบัสนั้นจะแวะเข้า จ.ขอนแก่น และ จ.อุดรธานี ก่อน ส่วน บริษัทเพชรประเสริฐทัวร์ จะผ่าน จ.เลย แวะผ่าน จ.อุดรธานี (บ้านครูตุ๊) ก่อนจะเข้า จ.บึงกาฬ จบลงด้วยคำถามว่าผมจะเลือกใช้บริการของบริษัทใด ?
ผมคิดว่าเพิ่งใช้บริการของกรีนบัสมาได้ไม่กี่วันจากภูเก็ตมาอุตรดิตถ์ ลองอีกบริษัทดูสิ
ดังนั้น ตั๋วจองช่วง อุตรดิตถ์ - บึงกาฬ ก็อยู่ในมือผมอย่างง่ายดาย ยิ่งไม่อยู่ในช่วงเทศกาลล่ะก็ เป็นโอกาสเหมาะเชียวล่ะ
บริษัท เพชรประเสริฐทัวร์ แต่เดิม เป็นบริษัทรถประจำทางประจำ จ.เพชรบูรณ์ ครับ สีแดงเลือดหมู วิ่งระหว่าง อ.หล่มสัก ผ่านตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ ไปสุดสายส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟตะพานหิน ก่อนที่จะรับผู้โดยสารจากรถไฟไปยัง จ.เพชรบูรณ์ และ อ.หล่มสัก พอรัฐบาลได้ก่อสร้างทางหลวงสายพุแค - หล่มสักแล้วเสร็จ เลยกลายเป็นรถร่วม บขส. วิ่งแทบผูกขาดระหว่างกรุงเทพฯ - หล่มสัก จนกระทั่ง บขส.เพิ่งจะได้รถใหม่ๆ มาวิ่งแข่งขันในตอนหลังนี้เอง
เส้นทางอีกเส้นหนึ่งที่บริษัทนี้แอบโกยเงินเงียบๆ ช่วงตื่นพลอย คือเส้นทางสายแม่สอด - บ่อไร่ แต่ปัจจุบันกิจการเหมืองพลอยเริ่มวาย เลยเปลี่ยนสายทางมายัง อ.แหลมงอบ จ.ตราด และขยายกิจการเดินรถไปตามเส้นทางสู่จังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนเส้นทางข้ามภาคเช่น แม่สอด - มุกดาหาร , เชียงใหม่ - อุบลราชธานี , หล่มสัก - ระยอง , เชียงใหม่ - นครพนม , เชียงใหม่ - บึงกาฬ และล่าสุดคือสาย แม่สอด - สวนผึ้ง
คราวนี้ทางบริษัทจะเปลี่ยนสีรถเป็นสีเหลือง นัยว่า ให้ผู้โดยสารสังเกตได้ง่ายจากรถทัวร์บริษัทอื่น หากจอดใกล้เคียงกัน
ตกเย็นวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ผมคว้าเป้มารอขึ้นรถที่สถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมกับฝันหวานว่ามีโอกาสได้ทานมื้อเย็นฟรีแถวๆ พิษณุโลก เหมือนที่เคยนั่งรถสมบัติทัวร์
แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เปล่า พวกเล่นจอดที่ร้านครัวเทียนหอม ต.ป่าเซ่า อ.เมืองอุตรดิตถ์ ก่อนที่จะปล่อยให้ผู้โดยสารที่ท้องกิ่วมาตั้งแต่เชียงใหม่ลงไปทานข้าวเป็นเวลา ๒๐ นาที แถมต้องจ่ายเงินเองด้วยนะ
จากพิษณุโลก รถทัวร์เจ้านี้จะวิ่งแซงสลับกันกับสมบัติทัวร์สายเชียงราย - นครพนม ผ่าน อ.นครไทย ซึ่งบรรยากาศข้างนอกหน้าต่างเริ่มเย็นลงตามลำดับ (จากมือสัมผัส) โดยมีรถบรรทุกยางแผ่นจาก อ.ทาลี่ จ.เลย แล่นสวนมาเป็นระยะๆ ประมาณ ๒๓.๓๐ น. ก็เห็นไฟพราวพร่างจากตัวชุมชน อ.ด่านซ้าย ที่อยู่เบื้องล่าง
แต่ช้าก่อน ต้องชลอความเร็วลงเขาชันน้องๆ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๑๐๙๕ (สายแม่มาลัย) แถวห้วยน้ำดัง ร่วม ๓ กม. ถึงจะเข้าสู่ตัวอำเภอด่านซ้ายได้
จากนั้น รถจะวิ่งไปบนเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๐๓ ซึ่งแปลงร่างกลายเป็นทางหลวงหมายเลข ๒๑ แล้วตอนนี้ ฝ่าฟ้าใส อากาศเย็นเจี๊ยบ ถึง อ.ถูเรือเวลาประมาณ ๐๐.๓๐ น. ของวันใหม่
๐๑.๓๐ น. เราก็ถึงสถานีขนส่งจังหวัดเลย
๐๒.๓๐ น. จอดส่งผู้โดยสารที่หน้าสถานีรถไฟอุดรธานี แอบผ่านบ้านครูตุ๊ เข้าสู่ถนนนิตโย (ทางหลวงหมายเลข ๒๒) ก่อนที่จะเลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลขตองสอง (ทางหลวงหมายเลข ๒๒๒) จาก อ.พังโคน จ.สกลนคร ไปสุดสายที่สถานีขนส่งจังหวัดบึงกาฬซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬพอดี ในเวลา ๐๖.๐๐ น.
พอลงจากรถได้ ผมกวักมือเรียกสารถึสกายแล็บที่คลุมหน้าคลุมมือเป็นอ้ายโม่งกันลมหนาวมาสอบถามเรื่องที่พักทันที แต่คำตอบที่ได้นั้น ทำให้ความฝันลดลงเหลือครึ่งเดียวเท่านั้น
"ผมไม่แน่ใจนะครับ เพราะตอนนี้โรงแรมในบึงกาฬเต็มหมด เพราะทาง สปจ.บึงกาฬ กำลังประกวดการแข่งขันโปงลางนักเรียนของจังหวัด ขนาดบางโรงเรียนที่จองโรงแรมไม่ทันต้องขอพักนอนที่โรงเรียนแถว อ.บุ่งคล้า โน่น"
ถ้างั้น พาผมไปส่งที่เขื่อนริมแม่น้ำโขงก็แล้วกัน จะได้มีโอกาสเห็นตัวเมืองปากซันด้วย
ที่เขื่อนริมโขง มีบรรดาเวทีแข่งขันโปงลางของบรรดาเด็กนักเรียนตามที่เห็น ผมลองไปสอบถามห้องว่างกับเจ้าของโรงแรมริมโขงแห่งหนึ่ง แกส่ายหัวยืนยันตามที่สารถีรถสกายแล็บบอกไว้ทุกประการ
บางเวที บรรดานักเรียนก็เริ่มซ้อมกันแล้ว สร้างบรรยากาศรื่นเริงแก้หนาวได้ดีนัก
ขอบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึกว่า อันตัวขัาพเจ้าเอง ได้เดินทางมาถึง จ.บึงกาฬ เรียบร้อยแล้ว
ผมสงสัยตะหงิดๆ ขึ้นมาว่า อำเภอนี้ได้ยกฐานะขึ้นมาเป็นอำเภอเมืองบึงกาฬมาก็หลายปีอยู่ เทศบาลตำบลบึงกาฬน่าจะยกระดับเป็นเทศบาลเมืองได้แล้ว
คำตอบก็อยู่ใกล้ๆ ว่าเทศบาลแห่งนี้ยังคงสมถะคงเส้นคงวา ตรงที่ว่าการอำเภอบึงกาฬ (หลังเก่า) นั่นแหละ
เหล่ข้ามโขงไปดูเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ดูบ้าง รู้สึกว่าแม่น้ำโขงจะอยู่ห่างไปสักนิดหนึ่ง
แพนกล้องมาตามลำน้ำโขง รู้สึกว่าตัวเมืองจะตั้งอยู่ค่อนข้างห่างกัน ไม่คึกคักหนาแน่นแบบเมืองท่าแขก หรือสะหวันนะเขต
ด้านท้ายน้ำ สุดกำลังซูมของกล้องแล้วครับ
แต่เราจะเห็นสองฝั่งโขงเป็นระยะๆ จาก จ.บึงกาฬ ไปยัง จ.นครพนม แถมมีรีสอร์ทเยอะด้วยสิ
เสร็จจากการถ่ายวิวริมน้ำโขง ผมได้เรียกรถสกายแล็บไปส่งยังสถานีขนส่งจังหวัดบึงกาฬ
เหตุผลหรือครับ ? เพื่อจะหารถโดยสารเลาะคมขวานไปหาที่พักที่ จ.นครพนม ต่อไป ซึ่งพนักงานจำหน่ายตั๋วบอกด้วยว่า รถตู้จาก จ.อุดรธานี ที่จะไป อ.บ้านแพง นั้น มีกำหนดมาถึงสถานีขนส่งจังหวัดบึงกาฬในเวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. และที่ อ.บ้านแพง จะมีรถประจำทางจากนครพนมเดินประจำ สามารถต่อรถได้สะดวก
รถไมโครบัสที่เห็นในภาพนั้น ไม่ได้ไป อ.บ้านแพง จ.นครพนม นะครับ เพียงแค่วิ่งรับผู้โดยสารจาก จ.อุดรธานี ผ่าน จ.หนองคาย มาสุดสายที่ จ.บึงกาฬ เท่านั้น ก่อนที่จะรับผู้โดยสารกลับ จ.อุดรธานี
เวลา ๐๘.๓๐ น. รถตู้สายอุดรธานี - บ้านแพง เข้ามาจอดรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งจังหวัดบึงกาฬดดยจอดแช่อยู่ประมาณ ๑๕ นาที แล้วล้อหมุนไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒ หนองคาย - อุบลราชธานี ด้วยความเร็วปานลมพายุพัดเชียวล่ะ
ผมคิดว่า ผมเห็นป้ายบอกจุดกว้างที่สุดในประเทศไทยด้วยนะ
ราวสองชั่วโมงเศษเห็นจะได้ รถตู้คันนั้นก็มาส่งผู้โดยสารที่ตลาด อ.บ้านแพง จอดพักโดยไม่ดับเครื่องราวครึ่งชั่วโมง ก็วิ่งกลับเส้นทางเดิม คราวนี้ก็เป็นคราวผมที่รอลุ้นว่า รถประจำทางสายนครพนม - บ้านแพง หน้าตาจะเป็นยังไงหนอ ?
พออีกสักครึ่งชั่วโมง รถคันดังกล่าวถึงแล่นมาจอดที่ป้ายรถประจำทาง สาระรูปพอๆ กับรุ่นผมเลยแฮะ
แถมยังวิ่งเอื่อยๆ ชวนให้ผมนึกถึงบรรยากาศนั่งรถเมล์ต่างจังหวัดสมัยก่อนเข้าอีก คือด้วยความเร็ว ๖๐ กม./ชม. ไม่มีแอร์ด้วยนะ
พอรถวิ่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำสงคราม ก็เป็นอันว่าเราหลุดจากพื้นที่ อ.บ้านแพง เข้าสู่พื้นที่ อ.ศรีสงคราม
แม่น้ำแห่งนี้ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงชาว อ.ศรีสงคราม มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
แวะจอดส่งนักเรียนที่นี่คนหนึ่ง แต่ผมยังงงๆ กับคำว่า ตลาดโลตัสครับ เพราะเท่าที่เห็น จะมีที่ภาคอีสานเท่านั้น
พอถึงสถานีขนส่งจังหวัดนครพนม มีคำถามอยู่ในใจผมว่า จะต่อรถไปที่ จ.มุกดาหาร ดีไหม ?
นั่งรถผ่านไปมาก็หลายหน ยังไม่เคยแวะนอนสักครั้งเดียว
เท้าไวดังความคิด ก้าวขึ้นรถตู้สาย นครพนม - อุบลราชธานี ทันที
แต่ผมลงที่มุกดาหารนะ
ถนนชยางกูร ยังลัดเลาะตามฝั่งแม่น้ำโขงจนกระทั่งถึง อ.ธาตุพนม ที่นัน มีผู้โดยสารขึ้นรถเพิ่มอีก ๒ คน พอรถออกวิ่งไปไม่นาน คนที่นั่งอยู่ริมผมเริ่มจะมีอาการงีบมาซบไหล่ ผมพยายามดันให้แกนั่งตัวตรงๆ แต่ท้ายสุด พวกก็โถมเต็มที่มาพิงไหล่ปานผมเป็นหมอนข้างก็ไม่ปาน
แบบนี้ หงุดหงิดนะครับ แถมเรานั่งรถไกลด้วย ในที่สุด ความอดทนของผมก็สิ้นสุด ผลักแกเต็มแรงให้นั่งตรงๆ พร้อมกับบอกหน้าตาขึงขังว่า "นั่งให้ดีๆ หน่อยสิ"
แกสะดุ้งตื่น พลางมองหานักเลงดี แต่บังเอิญที่ว่าหน้าตาผมอาวุโสกว่าพ่อแกอีกและพร้อมที่จะมีเรื่อง หากวิวาท ผมก็มีเครื่องทุ่นแรงซ่อนไว้ในกระเป๋าเสื้อคลุมอีกเล่มหนึ่ง ดังนั้น เท่าที่แกทำได้คือเอากำปั้นทุบลงบนเป้ผมหนึ่งหนเท่านั้น
รถตู้วิ่งถึงสถานีขนส่งจังหวัดมุกดาหารในเวลาบ่ายสี่โมงเศษ และผู้โดยสารรายนั้นลงจากรถกลางทาง
คราวนี้ ผมมาถึงเมืองมุกดาหารจริงๆ ล่ะ สิ่งแรกที่ทำคือ หาโรงแรมนอน เพราะ ๑ คืน กับอีก ๑ วันที่ผ่านมา ยังไม่ได้พักผ่อนและอาบน้ำเลย
ยังพอมีเวลาก่อนมื้อเย็นอีกเล็กน้อย เลยถือโอกาสเซลฟี่ริมแม่น้ำโขง โดยขอยืมวิวเมืองสะหวันนะเขตเป็นฉากหลังครับ
พอดีมีรถสกายแล็ปเปล่าผ่านมาคันหนึ่ง เลยขอเหมาไปเที่ยวหอแก้วมุกดาหาร ที่เป็นจุดตั้งใจสำหรับผมในการมาเยือนครั้งนี้
เพียงได้เห็นสวนหย่อมรอบๆ หอ ก็ชื่นใจแล้ว
รีบขึ้นไปชมหอกีกว่า เพราะใกล้เวลาปิดหอในเวลา ๑๘.๐๐ น.แล้ว ส่วนค่าเข้าชมสำหรับนักท่องเที่ยว คนละ ๒๐ บาท
อ้อ.... สำหรับเวลาเปิดเข้าชมนั้น ๐๘.๐๐ น.ครับ
Create Date : 25 มีนาคม 2560 |
|
0 comments |
Last Update : 25 มีนาคม 2560 14:01:06 น. |
Counter : 2903 Pageviews. |
|
|
|