Group Blog
 
 
มีนาคม 2560
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
29 มีนาคม 2560
 
All Blogs
 

ล่องใต้ ไปอีสาน ( ๑๒ )



ราวสองโมงเช้า ผมก็หอบสัมภาระลงจากโรงแรม พอดีเจอกับเจ้าของซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ เลยมีโอกาสเจรจาต้าอ่วยกันนิดหน่อย ซึ่งได้รับคำบอกเล่าว่า มีแขกผู้มาพักบางรายชอบส่งรูปพร้อมคำบรรยายมาว่าไปที่โน่นที่นี่ อ่านแล้วเพลินใจดี

ครั้นถามว่า หากเกษียณอายุแล้ว จะไปเที่ยวอย่างที่แขกบรรยายมาหรือไม่ ? กลับได้รับคำตอบว่า ชอบไปเที่ยวแบบเป็นหมู่คณะไปทำบุญ หรือบำเพ็ญประโยชน์ด้านสาธารณสุขมากกว่า

หลังจากนั้น ผมก็กล่าวลาและซ้อนท้ายมอเตอร์ไซต์ของลูกชายแกมาส่งยังสถานีขนส่งจังหวัดอำนาจเจริญ



ตามแผนการที่ผมวางไว้ กะว่าจะขึ้นรถตู้มาลงที่สถานีขนส่งจังหวัดยโสธร และต่อรถ บขส.สาย อุบลราชธานี - กรุงเทพฯ มาลงที่นครราชสีมา นอนพักหนึ่งคืน ก่อนที่จะต่อรถบริษัทนครชัยทัวร์ ซึ่งจะไปเชียงใหม่หรือแม่สายก็ได้ เพราะต้องผ่านอุตรดิตถ์ทั้งนั้น ส่วนรถ บขส.สายอำนาจเจริญ - กรุงเทพฯ นั้น จะมีเฉพาะเที่ยวกลางคืน ส่วนเที่ยวกลางวันจะมีรถ บขส.จาก อ.เขมราฐ เข้ากรุงเทพฯ แต่ข้อมูลบอกว่า กำหนดเวลานั้น เอาแน่นอนไม่ได้

ขณะเก้ๆ กังๆ อยู่ที่สถานีขนส่งจังหวัดอำนาจเจริญนั้น มีเสียงจากโชเฟอร์รถตู้สายอำนาจเจริญ - ยโสธร ถามใกล้ๆ ตัวว่า

"จะไปไหนครับ ?"
"ยโส ว่าจะต่อ บขส.สายอุบลไปลงที่โคราช"
"ผมว่านั่งรถตู้ไปลงที่ยโสก่อนไหม ? แล้วต่อรถนครชัยทัวร์จากมุกข้ามทุ่งกุลาไปที่โคราช ไวกว่าด้วย"



ใจผมง่ายอยู่แล้ว ไม่นานนัก ผมก็นั่งคู่กับคนขับ นั่งรถตู้ไปจังหวัดยโสธร

หลังจากที่จอดแวะรับผู้โดยสารในตัวเมืองอำนาจเจริญอีกพักหนึ่งแล้ว โชเฟอร์ก็ออกรถไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ สู่จังหวัดยโสธรทันที

ระหว่างเส้นทาง มีป้ายต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งกลุ่มโรงงานน้ำตาลวางแผนสร้างขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ เรียงรายริมเส้นทางเป็นระยะๆ



ผ่านสี่แยกตำบลน้ำปลีกไปไม่นาน จะถึงสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามลำเซบาย ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดอำนาจเจริญกับจังหวัดยโสธรอีกด้วย

สำหรับผม กำลังจะอำลาจากจังหวัดที่ ๗๗ ตรงนี้แหละครับ



ผ่านอำเภอป่าติ้ว อำเภอแรกและอำเภอเดียวของจังหวัดยโสธร บนเส้นทางช่วงนี้ครับ

ระหว่างทาง ผมได้คุยกับโชเฟอร์ถึงปัญหารถตู้ ได้รับคำตอบว่า กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสภายในปี พ.ศ.๒๕๖๔ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายสำหรับการรับจดทะเบียนรถตู้ประจำทางพอดี

ผมจะรอดูในปีนั้น



ผ่านช่วงสองข้างทางร่มรื่นด้วยต้นยางนา ทำให้ผมคิดถึงเส้นทางหลวงช่วงเชียงใหม่ - ลำพูน และสายจันทบุรี - ขลุง ขึ้นมาทันใด



ด้วยเวลาเพียงชั่วโมงเศษ รถตู้ก็นำผมมาถึงทางเลี่ยงเมืองยโสธรแล้วครับ



โฉมหน้ารถตู้บริการระหว่างยโสธร - อำนาจเจริญ ที่สถานีขนส่งจังหวัดยโสธร



ระหว่างที่รอรถของบริษัทนครชัยทัวร์จากมุกดาหารนั้น พอดีมีรถทัวร์ บขส.ระหว่างอุบลราชธานี - กรุงเทพฯ เข้ามาจอดรับคนโดยสารพอดี ถ้าโชเฟอร์รถตู้ไม่บอกผมล่ะก็ ผมคงโดยสารรถทัวร์สายนี้ไปโคราชแน่แท้

ในที่สุด รถโดยสารของบริษัทนครชัยทัวร์จากมุกดาหารก็แล่นเข้าสู่สถานีขนส่งจังหวัดยโสธร



รถทัวร์สายนี้ ออกจากสถานีขนส่งจังหวัดมุกดาหาร จะผ่านอำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม และอำเภอเมืองยโสธร ก่อนที่จะแล่นผ่านเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒ ข้ามทุ่งกุลาร้องไห้ร่วมครึ่งวัน และบรรจบกับถนนมิตรภาพที่อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา

แต่รวดเร็วกว่าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๓ (ถนนแจ้งสนิท) จากอุบลราชธานี ยโสธร ขึ้นไปทางทิศเหนือสู่จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม บรรจบกับถนนมิตรภาพที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ถึงจะเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา



พอออกจากสถานีขนส่งจังหวัดยโสธรไปตามถนนเลี่ยงเมือง รถจะถึงสะพานข้ามแม่น้ำชี ซึ่งเสมือนเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอเมืองฯ จังหวัดยโสธร กับอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดไปด้วย

ดังนั้น ช่วงงานเทศกาลบั้งไฟ ชาวอำเภอพนมไพร จำเป็นต้องระวังบั้งไฟที่จุดจากฝั่งจังหวัดยโสธร ซึ่งตกใส่บ้าน รถยนต์ หรือที่นาตรงไหนก็ได้ เพราะตัวชุมชนหนาแน่นขึ้นทุกวัน



ผ่านชุมชนในพื้นที่อำเภอพนมไพร ปลายทุ่งกุลาร้องไห้พอดี



พูดถึงเรื่องทุ่งกุลาร้องไห้กันสักหน่อยไหมครับ ?

ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ไร่ มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ ๕ จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดมหาสารคาม

พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอโพนทราย อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอปทุมรัตน์

สาเหตุที่ทุ่งนี้มีชื่อว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาแสนนาน และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ บนสถานที่แห่งนี้ มีเรื่องเล่ากันมาว่า

ชนเผ่ากุลา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ ประเทศมอญ (ปัจจุบันประเทศมอญได้ถูกพม่ายึดไป) กุลากลุ่มนี้มีอาชีพค้าขายระหว่างเมือง นำสินค้าประเภทสีย้อมผ้า เครื่องทองเหลืองต่าง ๆ

กุลาได้เดินทางค้าขายผ่านทุ่งแห่งนี้ ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ไม่พบผู้คน ไม่พบหมู่บ้าน ไม่พบแหล่งน้ำ ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีแต่หญ้าขึ้นสูงเต็มไปหมด ส่วนดินก็เป็นดินทราย ยากลำบากแก่การเดินทางเหมือนเดินทางอยู่กลางทะเลทราย จะขอความช่วยเหลือจากใครก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยู่ให้ขอความช่วยเหลือ มีแต่แดด ต้นหญ้า และดินปนทราย

ถึงเวลาค่ำคืน ทั้งหิว ทั้งเหนื่อยสายตัวแทบขาด ร่างกายขาดน้ำทำท่าจะตายเอา ทั้งหมดจึงได้แต่นอนร้องไห้ จนมีชาวพื้นเมืองผ่านมาพบเข้า จึงช่วยเหลือหาบหามกันไปพยาบาลในหมู่บ้าน ผู้รอดตายจึงเล่าเหตุการณ์ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือว่า เอาแต่นอนไห้เพียงอย่างเดียว ชาวบ้านจึงตั้งชื่อทุ่งนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

ในอดีต ทุ่งกุลาร้องไห้ในหน้าแล้งจะแห้งแล้งมากเพราะเป็นดินปนทราย หน้าฝนน้ำจะท่วมทุ่งทุกปี ใต้ผืนดินลงไปเป็นดินเค็ม น้ำที่สูบขึ้นมาก็เป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถปลูกพืชผลอะไรได้



ปัจจุบันเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “ทุ่งกุลาสดใส” ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญในการพลิกผืนดินที่ไร้ประโยชน์ ให้สามารถทำประโยชน์ได้ด้วยการทำถนน สร้างอ่างเก็บน้ำที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝน ขุดคลองซอยอย่างถี่ยิบ แล้วผันน้ำเข้สู่คลองซอย ผืนดินที่แห้งแล้งสีน้ำตาลก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เต็มไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ทุ่งกุลาร้องไห้ จึงถูกเรียกใหม่เป็น "ทุ่งกุลาสดใส"

ผลผลิตที่สำคัญที่สุดจากทุ่งกุลาร้องไห้แห่งนี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกก็คือ "ข้าวหอมมะลิ" นั่นไงครับ



ไม่ใช่ย่านชานเมืองที่สนามบินสุวรรณภูมินะครับ แต่เป็นหน่วยงานที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กลางทุ่งกุลาร้องไห้โน้น



น้ำยังไม่แห้ง ดังนั้น ชาวนายังทำนาปรังได้สบายๆ



จากเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ก็แว่บเข้าเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นชุมทางรถยนต์จากจังหวัดมหาสารคามไปจังหวัดสุรินทร์อีกด้วย



ถึงตอนนี้ รถทัวร์จากอำเภอโขงเจียม ก็วิ่งตามมาเทียบท่าสถานีขนส่งอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยพอดี



จากอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ก็วิ่งเข้าเข้าจังหวัดบุรีรัมย์ ที่อำเภอพุทไธสง



จังหวะเหมาะๆ กับภาพถ่ายอาคารที่ทำการอำเภอพุทไธสง ช่วงบ่ายโมงเศษ



เข้าสู่เขตจังหวัดนครราชสีมา ที่อำเภอประทาย ซึ่งรถยนต์เคยวิ่งผ่านคึกคักจากนครราชสีมาไปยังจังหวัดทางภาคอีสานตอนเหนือ

แต่ตอนหลังมีถนนมิตรภาพก่อสร้างลัดทาง อำเภอนี้ก็เลยโรยรา

แต่ถนนเดิมยังคงมีอยู่นะครับ



บ่ายสามโมงเศษ รถทัวร์ก็มาถึงสถานีขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ ๒ แค่มองรถราเข้าออก ตาผมก็เริ่มลายแล้ว

อย่าว่าแต่ผมเลย อ.กิตติ ที่มารับผมไปส่งยังโรงแรมโคราชโฮเต็ล ยังบ่นอุบอิบเลยว่า ปวดหัวตรงหาที่จอดรถนี่แหละ

ถ้าจอดเกินเวลา ๒๐ นาที ยังต้องเสียค่าจอดรถอีกด้วย




 

Create Date : 29 มีนาคม 2560
0 comments
Last Update : 29 มีนาคม 2560 10:28:27 น.
Counter : 3185 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.