เสร็จธุระที่สถานีขนส่งแม่สายแล้ว ผมก็ขึ้นรถสองแถวสายสถานีขนส่งแม่สาย - สะพานมิตรภาพไทย พม่า
รถสองแถวสายนี้คิดค่าโดยสารตลอดสาย ๑๕ บาท หากผู้โดยสารมีสัมภาระเยอะ จะต้องเสียค่าขนสัมภาระตามสมควร
จากการซักถามข้อมูลจากกระเป๋าหญิงประจำรถและคนขับ ทราบว่าจะมีวิ่งบริการตลอดวัน พอรถทัวร์ขาออกเที่ยวสุดท้ายออกจากสถานี ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน ยนกเว้นพวกที่ต้องอยู่เวรวิ่งรับผู้โดยสารที่มาจากรถทัวร์ขาเข้าจถถึงเที่ยวสุดท้าย ถึงจะกลับบ้านไปพักผ่อนอย่างแท้จริง
ปลายทางของรถสองแถวนี้จะอยู่ใกล้ๆ กับสถานีตำรวจภูธรแม่สาย จึงไม่มีเรื่องยึกยักระหว่างผู้โดยสารกับคิวรถสองแถวแต่ประการใด
ราวๆ ๑๕ นาที รถสองแถวก็มาถึงปลายทางโดยมีด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สายอยู่เบื้องหน้า แต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดทำการ ๐๘.๐๐ น.ครับ เลยเลี่ยงไปชมวัดพระธาตุดอยเวา ซึ่งอยู่ด้านหลังตลาดดีกว่า
ดอยเวา ผมเคยเดินขึ้นบันไดนาคไปแล้วเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็พอลิ้นจุกปากล่ะครับ มาคราวนี้ทำห้าวหาญ เดินขึ้นไปได้สัก ๓๐ ขั้น จากเกียร์ ๔ ลดลงมาเป็นเกียร์ ๓ เกียร์ ๒ เกียร์ ๑ แล้วติดคาบันไดนาคตรงนั้นเอง
ระหว่างที่ยืนหอบตัวโยนอยู่นั้น พอค่อยยังชั่ว ต้องใช้วิธีเดินครั้งละ ๑๐ ขั้น แล้วหยุดพัก ก่อนที่จะเดินต่อขึ้นไปเรื่อยๆโดยไม่มองปลายบันไดข้างบน
แล้วในที่สุด ความสำเร็จก็เป็นของเรา
ระหว่างที่ใช้ความพยายามสุดฤทธิ์ในการเดินขึ้นบันไดนาคนั้น ผมคิดว่า ถ้าตัวนาคมีชีวิต ความยาวและความใหญ่โต คงไหลไปกองอยู่กับส่วนหัวที่เชิงดอยเป็นแน่แท้
ขอเดินชมใกล้ๆ หลังจากไหว้นมัสการแล้ว ค่าดอกไม้ธูปเทียนตามกำลังศรัทธา แต่ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าไปสู่บริเวณพระธาตุนะครับ เพราะความนิยมของชาวล้านนาและล้านช้าง จะนิยมนำพระบรมสารีริกธาตุฝังอยู่ใต้ดิน และด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้มีข้อห้ามมิให้สตรีเดินภายในพระธาตุด้วย
ป้ายอธิบายความเป็นมาของพระธาตุดอยเวา
มุมถ่ายภาพแสดงว่า ฉันได้ขึ้นมาเที่ยวแล้วนะ แต่เราแก่แล้ว ขอหลบไปก่อน
Hi Light ของสถานที่นี้ เกี่ยวกับความเป็นมาของ "ตัวเวา" (แมงป่องช้าง)
จากยอดดอยเวา มองลงมายังทิวทัศน์ด้านล่าง จะเห็นสะพานมิตรภาพไทย พม่า ที่มีผู้คนเดินไปมาขวักไขว่ เพราะด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองประเทศเริ่มเปิดทำการแล้วครับ
แต่งวดนี้ผมไม่ได้ข้ามไปฝั่งโน้น กลัวว่าจะมีเรื่องแอบยัดยาบ้าอย่างที่เขาโพสต์กัน เสียเวลาเราเปล่าๆ
อาคารที่โดดเด่นแห่งหนึ่งซึ่งผมคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเด็ก คืออาคารที่ทำการทหารพม่าประจำเมืองท่าขี้เหล็ก และคงกระพันตั้งแต่ท่าขี้เหล็กเป็นเมืองขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงตุง และยกฐานะเป็นจังหวัดท่าขี้เหล็กในปัจจุบัน
นายพล เต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีพม่า ก่อนเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยทุกวันนี้ เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดท่าขี้เหล็กนี่แหละ
ดูตัวเมืองท่าขี้เหล็กทุกวันนี้สิครับ ขยายตัวกว้างขวางคู่กับเมืองแม่สายเหมือนเมืองๆ เดียวกันทีเดียว
ลำน้ำแม่สายที่เคยเป็นป่าทั้งสองฝั่ง ตอนนี้กลายเป็นบ้านเรือนหนาแน่นไปแล้ว
ลงจากดอยเวามายังตลาดล่ะครับ เริ่มต้นตรงปลายสายรถสองแถวจากสถานีขนส่งแม่สาย มองเห็นด่านตรวจคนเข้าเมืองอยู่ห่างๆ
นึกถึงสมัย ๒๐ปีก่อน ที่เป็นไกด์ไร้เดียงสาพาเพื่อนมาเที่ยวถึงเหนือสุดยอดในสยาม ซึ่งตอนนี้ ต่างคนต่างอาวุโสแล้วละมั้ง ?
ต่างกันที่วันนี้ มีรถราทันสมัยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอกมาแทบไม่ขาดระยะ ต่างจากสมัยก่อนที่มีแต่รถจี๊ปทหาร และรถบรรทุกที่ดัดแปลงจากรถทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขนสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ในรัฐฉานตอนในเท่านั้น
แต่ชาวบ้านทั่วไปมักใช้ยานพาหนะประเภทนี้มากกว่า ดัดแปลงจากรถมอเตอร์ไซต์ของจีนขนาด ๑๒๐ ซีซี. แถมบรรทุกของได้มากด้วยสิ
แต่ยานพาหนะในบ้านเราแบบนี้ ยังไม่ล้าสมัยนะครับ
จีนครองตลาดรถแบบนี้ แต่เราครองตลาดด้านสินค้าอุปโภค บริโภคมากกว่า
ทิวทัศน์ทั่วไปของตลาดแม่สายครับ
แล้วบ่ายวันนั้นก็หมดไปกับการแพ็คของเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้นต่อไป
............................................