Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
4 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 

โหระพา คุณค่าที่มากกว่าความอร่อย



โหระพามีชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum basilicum Linn.
วงศ์ Labiatae
ชื่อภาษาอังกฤษ Sweet Basil

โหระพามีชื่ออื่น ๆ คือ อิ่มคิมขาว (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) กอมก้อ (เหนือ อีสาน)
นางพญาร้อยชู้ โหระพาไทย โหระพาเทศ ห่อกวยชวย ห่อวอซู

โหระพาเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับกะเพราและแมงลักแต่กลิ่นรสต่างกัน

ชื่อโหระพา ภาษาอังกฤษคำว่า Basil มาจากภาษากรีก Basileus แปลว่า “ราชา หรือ ผู้นำของปวงชน”
ชื่อนี้เนื่องมาจากกลิ่นดุจเครื่องหอมในราชสำนักของโหระพา

ชื่ออื่นของโหระพาในภาษาแถบยุโรป มีรากศัพท์มาจากคำว่าราชานี้ทั้งสิ้น
เชื่อว่าเป็นส่วนประกอบของสมุนไพรที่ราชวงศ์ยุโรปโบราณใส่ในน้ำอาบ

โหระพาเป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5 - 1 เมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม กิ่งอ่อนสีม่วงแดง

ใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน
ขอบจักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ มีขนอ่อนปกคลุมใบและต้น

ดอกสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 7-12 เซนติเสตร
มีใบประดับสีเขียวอมม่วงซึ่งจะคงอยุ่เมื่อเป็นผล กลีบดอกมีโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน
เกสรตัวผู้ 4 อัน ผลขนาดเล็ก ผลแห้งมี 4 ผลย่อย เมล็ดเล็กเท่าเมล็ดงา สีน้ำตาลเข้ม

โหระพามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา โหระพาเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย
แต่แพร่หลายทั้งในเอเชีย และดินแดนตะวันตก

โหระพาช้าง Ocimum gratissimum Linn. หรือกะเพราญวน จันทร์หอม เนียมตัน เนียมยี่หร่า
เป็นไม้พุ่มสูงคล้ายโหระพาแต่มีขนาดใหญ่กว่า

ใบโหระพาช้างมีข้อแตกต่างจากโหระพาเนื่องจาก มีสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยต่างกัน
ใบโหระพาช้างมียูจีนอล (eugenol) เป็นสารหลักทำให้ไม่นิยมใช้ประกอบอาหารเท่าโหระพา


ประโยชน์
โหระพาเป็นพืชที่มีกลิ่นหอม นิยมนำมาประกอบอาหารหลากชนิดในประเทศไทย
ช่วยปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหารให้น่ากินยิ่งขึ้น ช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารหลายชนิด เช่น ผัดหอย ผัดเนื้อ
ใช้ใบปรุงอาหาร ผักโรยชูรสได้หลายชนิด เช่น แกงเผ็ด แกงเลียง ผัด ทอด
ใบและยอดอ่อนใช้กินเป็นผักสดเป็นเครื่องแนม อาหารคาวหรืออาหารว่างได้เป็นอย่างดี

โหระพาเป็นสมุนไพรที่มีรสชาติละเอียดอ่อน
ถ้าใช้ปรุงอาหารจะใส่โหระพาแล้วยกลงทันทีเพื่อไม่ให้เสียกลิ่นรสไป


ประเทศตะวันตกนิยมกินใบแห้งเป็นเครื่องเทศ
น้ำสลัดที่ใช้โหระพาเป็นส่วนผสม (pesto) เป็นน้ำสลัดที่ใช้ประจำในอาหารอิตาเลียน

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็นิยมกินใบโหระพา แต่ใช้โหระพาจากอียิปต์ ฝรั่งเศส และมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
ซึ่งมีกลิ่นต่างจากโหระพาของไทย
น้ำมันโหระพาใช้แต่งกลิ่นซอสมะเขือเทศ ขนมผิง ลูกอม ผักดอง ไส้กรอกและเครื่องดื่ม

ใบโหระพามีคุณค่าทางยา
ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องร่วงแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
เด็กปวดท้องให้ใช้ใบโหระพา 20 ใบ ชงน้ำร้อนและนำมาชงนมให้เด็กดื่ม ปลอดภัยกว่ายาขับลมที่ผสมอัลกอฮอล์

นอกจากนี้ ใบโหระพามีสรรพคุณรักษาโรคหวัด รักษาอาการปวดศีรษะ โดยใช้ยอดอ่อนต้มกับน้ำดื่มเป็นชา
หรือกินเป็นผักสดได้ ใช้ร่วมกับขิงแก้ไอ และช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน

เมล็ดของโหระพาเมื่อแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือก
ใช้กินแก้บิด ช่วยหล่อลื่นลำไส้เป็นยาระบาย เนื่องจากไปเพิ่มจำนวนกากอาหาร (bulk laxative)


องค์ประกอบทางเคมี
วารสกัดใบโหระพาที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ มีสีเหลืองอ่อนถึงไม่มีสี
ใบโหระพามีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณร้อยละ 0.1-1.5 เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างจาก (headspace)
และตรวจสอบด้วย gaschromatography พบว่า
ในน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยสารเมทิลชาวิคอล (methylchavicol) เป็นสารหลัก (ร้อยละ 93)
และสารกลุ่มเทอร์พีน ได้แก่ ลินาโลออล (linalool) และซีนีออล (1, 8-cineol)

นอกจากนี้ยังสารยูจีนอล (eugenol) กรดคาเฟอิก (caffeic acid) และกรดโรสมารินิก (rosmarinic acid) เป็นต้น

น้ำมันหอมระเหยจากโหระพาช่วยการย่อยอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ช่วยคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงช่วยการย่อยอาหาร ขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ลดการปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหาร
และแก้หวัด

น้ำมันโหระพามีกลิ่นหอมหวาน เมื่อสูดดมมีคุณสมบัติช่วยให้เกิดความสงบ มีสมาธิ ลดอาการซึมเศร้า
มีข้อควรระวังในการใช้ในสปาคือ ทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของใบโหระพา พันธุ์ไทย คือ
เมทิลชาวิคอล สกัดได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลวใสเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมน้ำตาล
ปราศจากตะกอนและสารแขวนลอย ไม่มีการแยกชั้นของน้ำ มีกลิ่นเฉพาะตัว มีคุณสมบัติแก้จุกเสียดแน่นท้อง

ใบโหระพามีเบต้าเคโรทีนสูง สามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดและมะเร็งได้
โหระพา 1 ขีด มีบีตาเคโรทีน 452.16 ไมโครกรัม ร่างกายผู้ใหญ่ต้องการบีตาเคโรทีนวันละ 800 ไมโครกรัม
บีตาเคโรทีนมีอยู่ในผักใบเขียวเข้มทุกชนิด เมื่อกินโหระพาไปด้วยจะได้มีบีตาเคโรทีนเพียงพอใน 1 วัน


ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของโหระพาและการทดสอบทางคลินิก

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
เมื่อสกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพาด้วยเมทานอล พบว่า
กรดโรสมารินิกในใบโหระพามีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบโดย วิธี DPPH scavenging activity

นอกจากนี้การทดสอบน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดด้วยน้ำจากใบโหระพา ต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกทำลาย
โดยอนุมูลอิสระในห้องทดลอง พบว่า
สารสกัดน้ำมันและน้ำมันหอมระเหยจากโหระพา มีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายจาก การทำลายของอนุมูลอิสระได้

งานวิจัยของตุรกีพบว่า ชาโหระพามีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงกว่าชาเขียวที่จำหน่ายในตุรกี

ฤทธิ์ลดคอเสลเตอรอลและแผ่นคราบ (พลัค) ในกระแสเลือด
งานวิจัยการใช้ใบโหระพาเป็นยาลดคอเลสเตอรอลในเลือดของสัตว์ทดลอง ที่ประเทศโมร็อกโกพบว่า
สารสกัดโหระพามีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลอง ที่ถูกทำให้มีปริมาณไขมันสูง
เนื่องจากสะสมไขมันของแม็กโครฟาจ ที่เหนี่ยวนำโดยแอลดีแอลคอเลาเตอรอล (LDL-C) หรือไขมันไม่ดี
มีบทบาทสำคัญในการเกิดแผ่นคราบ (พลัค) ของโรคหลอดเลือดอุดตัน

คณะทำงานที่ประเทศอิตาลี จึงทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดกับการต้านออกซิเดชันของไขมันไม่ดี งานวิจัยพบว่า
สารสกัดเอทานอลของโหระพา มีฤทธิ์ต้านไขมันไม่ดีออกซิเดชันจากการเหนี่ยวนำของ Cu (2+)

นอกจากนี้สารสกัดโหระพา ลดการรวมตัวสะสมของหยดไขมันแม็กโครฟาจ ที่เกิดจากไขมันไม่ดีที่เปลี่ยนไป
สารสกัดโหระพาไม่มีผลต่อการเกิดปฏิกิริยาเอสเทอร์ของคอเลสเตอรอล และการสังเคราะห์ไตรกลีเซอรอล
ในเซลล์แต่อย่างใด แม็กโครฟาจที่ได้รับสารสกัดจากโหระพา ลดการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในสภาพที่ไม่ใช่
เอสเทอร์และลดอัตราการทำงานของ surface scavenger receptor

สรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของโหระพาสามารถลดการสร้างโฟมเซลล์ โดยลดการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล
และเปลี่ยนแปลงการทำงานของ surface scavenger receptor


ฤทธิ์ต้านจุลชีพ

ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย :
สารสกัดจากโหระพามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อโรค เช่น Staphylococcus, Enterococcus และ Pseudomonas
น้ำมันหอมระเหยจากโหระพาที่สกัดด้วยวิธี hydrodistillation มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมบวก แกรมลบ

ฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อสิว :
นอกจากนี้งานวิจัย ของมหาวิทยาลัยนเรศวรพบว่า สารสกัดเอทานอลของใบโหระพา
มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสิว Propionibacterium acnes ได้ดีที่สุด
เมื่อเทียบกับสารสกัดจากพืชร่วมตระกูลโหระพาอื่น ๆ เช่น กะเพรา

ฤทธิ์ต้านเชื้อรา :
น้ำมันโหระพามีสารสำคัญคือ linalool eugenol Sclerolinia sclerotiorum, Rhizopus stolonifer and Mucos spp.
น้ำมันโหระพาในขนาด 1.5 ml/l มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของไมซีเลียมเชื้อรา 22 ชนิด
รวมถึงสายพันธุ์ที่สร้างไมโคท็อกซินของ Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus ด้วย

ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส :
โหระพามีการใช้งานมานานในการแพทย์แผนจีน การศึกษาฤทธิ์สารสกัดโหระพา
และสารสำคัญในการต้านไวรัสพบว่า สารสกัดน้ำและเอทานอลของโหระพาและสารสำคัญคือ
เอพิจีนินลินาโลออล และกรดเออเซลิกมีฤทธิ์ต้านไวรัสแบบ broad sprectrum (herpes viruses (HSV),
adenoviruses (ADV) hepatitis B virus) และ RNA ไวรัส (coxsackievirus B1 (CVB1) and anterrovirus 71 (EV71)

ฤทธิ์ต้านปรสิต :
น้ำมันโหระพามีฤทธิ์ต้านปรสิต Giardia lamblia สารออกฤทธิ์ต้าน G. lamblia คือ ลินา ดลออล

ฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็ง
น้ำมันโหระพาสามารถเพิ่มฤทธิ์ของเอนไซม์ glutathione-S-transferase มากกว่าร้อยละ 78 ในกระเพาะตับ
และหลอดอาหารของหนูทดลองและสามารถต้านการก่อมะเร็งของหนูได้ โดยมีฤทธิ์ยับยนั้งการทำงานของสาร
ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิด squamous cell carcinoma ในกระเพาะอาหารของหนูทดลอง
และพบว่าน้ำมันโหระพามีพิษต่อเซลล์มะเร็งเมื่อทดสอบด้วยวิธี MTT ในเซลล์มะเร็ง murine leukemia
และ human mouth epidermal carcinoma

ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์
น้ำมันสกัดจากใบโหระพามีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของ Samonella typhimurium
มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ได้ดีใกล้เคียงกับฤทธิ์ของวิตามินอี
ฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของน้ำมันหอมโหระพา

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
สารสกัดจากใบโหระพามีฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase lipoxygenase
ซึ่งไปเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบในเมตาบอลิกของกรดอาราซิโดนิก (arachidonic acid) พบว่า
สารกลุ่มเทอร์พีนที่แยกได้จากรากและลำต้นของโหระพามีฤทธิ์ต้านการ อักเสบ

การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของทิงเจอร์โหระพา พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
โดยออกฤทธิ์ที่ไขกระดูกอย่างเฉียบพลัน
การศึกษาผลของทิงเจอร์โหระพา (1 : 10) ในการลดการอักเสบที่เกิดจากเทอร์เพนไทน์ของหนู
เทียบกับการใช้ไดโคลฟีแนก (30 มก./100 ก.) โดยการวัดเม็ดเลือดขาวโดยรวมและแยกชนิดทดสอบโกไซซิส
ในหลอดทดลอง และการวัดการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์ พบว่า
ทิงเจอร์โหระพา ลดปริมาณเม็ดเลือดขาวสุทธิปริมาณโมโนไซต์ ลดการกระตุ้นฟาโกไซต์
แต่ลดการสร้างไนตริกออกไซด์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทิงเจอร์โหระพา ให้ผลน้อยกว่าการใช้ไดโคลฟีแนกเล็กน้อย

ฤทธิ์รักษาแผลกระเพาะอาหาร
น้ำมันโหระพามีฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ของแสไพริน ที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลกระเพาะอาหาร
โดยยับยั้งเอนไซม์ lipoxygenase และต้านฮิสทามีนที่ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดแผล

ฤทธิ์ฆ่าไรและแมลง
สารสกัดจากใบโหระพามีฤทธิ์ฆ่าไร Tetranychid mites (Tetranychus urticae)
และ Eutetranychus orientalis ฆ่าแมลงวันบ้าน แมลงวันปากคมที่ดูดกินเลือดปศุสัตว์
และยุงพาหะโรคชนิดต่าง ๆ น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากโหระพามีฤทธิ์ฆ่ายุงและลูกน้ำยุงหลายชนิด
รวมถึงยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกด้วย

ไม่น่าเชื่อว่าพืชพื้น ๆ เช่น โหระพาจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพได้มากถึงเพียงนี้
เมื่อส่งต้นฉบับนี้แล้วคงต้องไปซื้อก๋วยเตี๋ยวลุยสวนมาจากตลาดสด
ขอโหระพาเขาแถมมาหน่อย เป็นอาหารว่างจานผักเพื่อสุขภาพไงค่ะ


โดย รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ
ข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน
ที่มา : //www.elib-online.com




 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2553
2 comments
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2553 12:56:14 น.
Counter : 2070 Pageviews.

 

 

โดย: นนนี่มาแล้ว 6 กุมภาพันธ์ 2553 14:11:32 น.  

 

ประโยชน์เยอะมากครับ

 

โดย: kom IP: 49.48.202.161 9 กรกฎาคม 2555 19:42:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.