Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
8 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
อร่อยได้คุณค่ากับเมนูดูโอ

โภชนาการ

ทุกวันนี้ผู้คนหันมาให้ความใส่ใจเรื่องของอาหารกันมากขึ้นค่ะ
ไม่ว่าจะเป็นอาหารออแกนิกส์อาหารมังสวิรัติและอื่นๆ
แต่บ้านดิฉันน่ะยึดทางสายกลางค่ะ รับประทานให้หลากหลายเข้าไว้ แต่ก็อดที่จะพิถีพิถันในการเลือกสรรไม่ได้
ก็ดิฉันเป็นคนรักสุขภาพและสนุกกับเรื่องอาหารการกินม้าก...มาก
และถ้ามีอะไรดีๆ ก็อยากแบ่งปันให้คุณแม่ๆ ที่เป็นบ้านเหมือนดิฉันได้รู้ด้วยค่ะ
เหมือนอย่างอาหารที่ควรรับประทานคู่กัน ที่ดิฉันนำมาเสนอในครั้งนี้นี่ไงคะ

ที่บอกว่าต้องกินเป็นคู่ก็เพราะอาหารที่ร่างกายเรากินเข้าไปน่ะ ต้องผ่านกระบวนการย่อย
หรือที่ภาษาคุณหมอเขาเรียกว่ากระบวนการเผาผลาญอาหารก่อน
และเมื่อผ่านการย่อยแล้วสารอาหารต่างๆ ก็จะถูกดูดซึมได้ดีก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขบางอย่าง
เช่น ต้องมีสารอาหารอีกตัวเป็นตัวช่วย เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องรู้จักเลือกรับประทานอาหาร
เพื่อให้อาหารที่เรารับประทานเข้าไปเสริมส่งซึ่งกันและกัน
และร่างกายเราสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และครั้งนี้พิเศษสุดสำหรับคุณแม่คุณลูก
เพราะแม่ลออกับคุณเปรี้ยวใจ เธอเห็นถึงประโยชน์กับการกินเป็นคู่ของดิฉัน
ก็เลยขอจับตะหลิวหิ้วกระทะเข้าครัวกับเมนูกินเป็นคู่นี่แหละค่ะ
แม่ลออทำอาหารเด็ก คุณเปรี้ยวใจทำอาหารผู้ใหญ่ โดยตั้งกติกาว่าต้องใช้วัตถุดิบแบบเดียวกันด้วย
เธอจะดวลกันทั้งหมด 3 ยกค่ะ ก็ 6 เมนูพอดิบพอดี ...ส่วนดิฉันขอพิสูจน์ด้วยการลองลิ้มชิมรสก็แล้วกันนะคะ

แต่ก่อนที่จะเข้าสู่การดวลเป็นคู่ของเธอทั้งสอง ดิฉันว่าเราไปรู้ซึ้งถึงประโยชน์ของสารอาหารแต่ละคู่กันก่อนค่ะ


* เบต้าแคโรทีน และ น้ำมัน

เบต้าแคโรทีนเมื่อเรารับประทาน จะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอที่ผนังลำไส้เล็ก
ซึ่งถ้าพอจะจำสิ่งที่เราท่องสมัยเรียน (วิตามิน A - D - E - K “อะ-เดค”) กันได้
ก็จะรู้ค่ะว่าวิตามินเอเป็นหนึ่งในวิตามินที่ละลายในไขมัน เบต้าแคโรทีนก็ละลายในไขมัน
เพราะฉะนั้นก็ควรรับประทานคู่กับอาหารที่มีไขมันและน้ำมัน
เพราะจะช่วยให้ลำไส้เล็กดูดซึมเบต้าแคโรทีนได้มากและง่ายขึ้น
แต่ก็อย่าหนักมือไปนักนะคะ สำหรับอาหารประเภทไขมันน่ะ เดี๋ยวจะได้ไขมันรอบพุงเป็นของแถม
มื้อเช้าที่ผ่านมา ดิฉันจึงเลือกซุบข้าวโพดใส่เต้าหู้ทอดให้สมาชิกในครอบครัวค่ะ

ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองแดง เช่น แครอต ฟักทอง
แคนตาลูป มะละกอสุก ข้าวโพด ลูกพลับ มะม่วงสุก ผักคะน้า ผักโขม แอพพริคอท เป็นต้น




* คาร์โบไฮเดรต และ วิตามินบี 1

เมื่อเรารับประทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต
ร่างกายจะย่อยเป็นกลูโคสและเปลี่ยนเป็นพลังงานโดยใช้วิตามินบี 1 ค่ะ
สำหรับคู่นี้ ดิฉันขอแนะนำให้คุณรับประทานแซนด์วิชทูน่ากับสลัดผักราดน้ำสลัดใส ผสมจมูกข้าวสาลีค่ะ
รับรองอร่อยอย่าบอกใครเชียว
แต่ดิฉันก็อดที่จะบอกคุณไม่ได้ ของอร่อยแถมมีประโยชน์จะอุบไว้คนเดียวได้อย่างไรล่ะค่ะ

อาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ขนมปัง ข้าว แป้ง น้ำตาล เมล็ดธัญพืช
พืชหัวที่ให้แป้งสูง เช่น มันสำปะหลัง เป็นต้น

แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 1 ได้แก่ เนื้อหมู ตับ ปลาตระกูลปลาทู ไข่แดง นม เครื่องในสัตว์ ข้าวซ้อมมือ
ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี จมูกข้าวสาลี ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว งา กระเทียม ยีสต์ (บริวเวอร์ยีสต์) เป็นต้น




* ธาตุเหล็ก และ วิตามินซี

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของทุกเซลล์ในร่างกาย
โดยจะรวมอยู่กับโปรตีนและไม่ถูกทำลายหรือใช้จนหมดไป แต่จะมีการใช้แบบหมุนเวียนค่ะ
โดยจะเก็บสะสมไว้ที่ตับ ม้าม เลือดและไขกระดูก
ร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีเมื่อมีวิตามินซี หรือเมื่อมีภาวะกรดในกระเพาะค่ะ
โดยวิตามินซี จะทำหน้าที่เปลี่ยนธาตุเหล็กที่มีอยู่ในอาหารที่เรารับประทาน
ให้อยู่ในรูปของอณูเล็กๆ ที่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้ดีค่ะ

สำหรับคู่นี้ดิฉันเตรียมเปรี้ยวหวานตับไว้ค่ะ เพราะอาหารสุดโปรดของเจ้าตัวเล็กของดิฉันคือตับ
นอกจากนี้ดิฉันก็เสริมด้วยมะละกอสุกหรือส้มเขียวหวาน เป็นของหวานปิดท้ายให้อีกด้วยค่ะ

แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงได้แก่ ตับ เครื่องในสัตว์ เนื้อแดงไม่ติดมัน เลือด ไข่แดง หอยนางรม
นอกจากนี้ธาตุเหล็กยังอยู่ในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักใบเขียว ข้าวกล้อง กะหล่ำปลี ผักกาดหอม
หัวหอม มะเขือเทศ ผักบุ้ง ผักตำลึง ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ถั่วต่างๆ เป็นต้น
แต่การดูดซึมธาตุเหล็กจากผักและผลไม้ ไม่ดีเท่ากับที่ได้จากเนื้อสัตว์ค่ะ

ส่วนวิตามินซี มีมากในมะขามป้อม มะเขือเทศ ฝรั่ง สับปะรด มะนาว สตรอว์เบอรี่ ส้ม ผักใบเขียว
พริกหยวก พริกเขียว พริกแดง ผักบุ้ง มะเขือยาว คะน้า บรอคโคลี่ กะหล่ำ มันฝรั่ง มะละกอ แตงไทย เป็นต้น




* วิตามินเอ และ โปรตีน

เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กโดยอาศัยน้ำมันแล้ว
จะมีโปรตีนสองกลุ่มทำหน้าที่เป็นไกต์ค่ะ กลุ่มแรกคือไลโปโปรตีน พาไขมันไปที่ตับ
อีกกลุ่มหนึ่งคือ Retinol-binding protein พาวิตมินเอจากตับเข้าสู่กระแสเลือด
และส่งไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายค่ะ

เมนูแนะนำสำหรับคู่นี้คือ เนื้อผัดใส่ใบโหระพา ตบท้ายด้วยมะละกอสุกหรือมะม่วงสุกค่ะ

ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง เนย แครอต มะละกอ คะน้า
ใบยอ ใบแมงลัก โหระพา ตำลึง ผักโขม ยอดแค ใบบัวบก ชะอม กระถิน พริกขี้หนูชี้ฟ้า มะม่วงสุก เป็นต้น

ส่วนโปรตีนพบในเนื้อสัตว์ทุกประเภทค่ะ รวมทั้งนม ไข่ ถั่ว เต้าหู้ เต้าฮวยก็มีค่ะ




* แคลซียมและฟอสฟอรัส และ วิตามินดี

เกลือแร่หลักที่พบมากที่สุดในร่างกายของเราก็คือแคลเซียมค่ะ ทั้งในกระดูก ฟัน เล็บและผม
แคลเซียมทำหน้าที่สร้างความเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้อวัยวะดังกล่าว
โดยจะทำงานร่วมกับฟอสฟอรัสเพื่อนรักค่ะ

ฟอสฟอรัสนั้นพบในร่างกายเป็นอันดับสองรองจากแคลเซียม
แหล่งเก็บฟอสฟอรัสในร่างกายคือ กระดูกและฟันควบคู่กับแคลเซียม เรียกได้ว่าคู่นี้มักอยู่ด้วยกันเสมอ
และความสมดุลระหว่างฟอสฟอรัสกับแคลเซียมในร่างกาย จะทำให้เกลือแร่อื่นๆ ทำหน้าที่ได้ดีค่ะ

ส่วนวิตามินดีไม่ได้มาเป็นส่วนเกินระหว่างแคลเซียมและฟอสฟอรัสนะคะ
แต่มาเป็นแม่สื่อช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมเกลือแร่ทั้งสองชนิด ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
ร่างกายเราสามารถรับวิตามินดีได้จากสองทาง
คือจากการสร้างที่ผิวหนังโดยอาศัยรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จากแสงแดดอ่อนๆ และจากอาหารที่เรารับประทาน

สำหรับคู่นี้ดิฉันเลือกแกงส้มกะหล่ำดอกกับปลาไส้ตันทอดกรอบ
เสริฟคู่กับข้าวกล้องร้อนๆ เป็นมื้อเย็นของเมื่อวานนี้เองค่ะ

และโชคดีค่ะที่ครอบครัวดิฉันเป็นครอบครัวรักการออกกำลังกาย
เรามักจะออกมาเดินเล่นที่สนามหญ้าหน้าบ้านเพื่อรับแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้าเป็นประจำ
นอกจากจะได้รับวิตามินดีแล้วยังได้รับอากาศบริสุทธิ์ ลูกก็ได้วิ่งออกกำลังกายด้วยค่ะ

แหล่งอาหารที่ดีสำหรับแคลเซียมได้แก่ นม เนย ปลาตากแห้ง
ปลาตัวเล็กที่รับประทานทั้งตัว เช่น ปลากะตัก ปลาไส้ตัน กะปิ เป็นต้น
เพราะแคลเซียมในอาหารเหล่านี้มีปริมาณสูงและถูกดูดซึมได้ดี

ส่วนผักหลายชนิดเป็นแหล่งอาหารที่ให้แคลเซียม เช่น ผักโขม คะน้า ผักกระเฉด กะหล่ำปลี
กะหล่ำดอก ใบยอ ใบขี้เหล็ก ยอดแค ลูกพรุน ถั่วต่างๆ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง งา เป็นต้น
แต่การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย ไม่ดีเท่าอาหารที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ค่ะ

แหล่งอาหารที่ให้ฟอสฟอรัส เช่น นม เนื้อ ปลา เป็ด ไก่ ไข่ เนยแข็ง ตับ ข้าวกล้อง ถั่ว ยีสต์ เป็นต้น

แหล่งอาหารที่ให้วิตามินดีคือ น้ำมันตับปลา ปลาที่มีไขมัน(เช่น ปลาโอ ปลาซาร์ดีน ปลาซาบะ เป็นต้น)
นม เนย ตับ ไข่แดง เป็นต้น


เมื่อทราบแล้วว่าสารอาหารประเภทใดควรรับประทานคู่กัน
ก็คงพอได้แนวทางสำหรับเมนูของสมาชิกในครอบครัวกันแล้วใช่ไหมคะ
แต่ถ้ายังนึกไม่ออกลองแวะไปถามแม่ลออกับป้าเปรี้ยวใจดูนะคะ ว่าทั้งสองจะมีเมนูใดมาแนะนำ
ได้ข่าวมาว่าคุณเธอทั้งคู่เตรียมเมนูชุดใหญ่ทั้งเมนูลูกเบบี๋ ลูกวัยเตาะแตะ
และอาหารสำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ด้วยล่ะค่ะ เห็นทีว่าดิฉันจะต้องขอไปแจมบ้านเธอบ้างแล้วล่ะ


ข้อมูลจาก นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 271 สิงหาคม 2548
ที่มา : //www.elib-online.com
ภาพจาก : //www.sheknows.com


Create Date : 08 พฤษภาคม 2553
Last Update : 12 พฤษภาคม 2553 0:38:25 น. 1 comments
Counter : 885 Pageviews.

 



โดย: tongsehow วันที่: 9 พฤษภาคม 2553 เวลา:12:09:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.