Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
27 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
5 เทรนด์กินดีมีสุขภาพ

5 เทรนด์กินดีมีสุขภาพ

เดี๋ยวนี้หันมอง ไปทางไหนก็มีแต่เรื่องของสุขภาพ ที่กลายเป็นเทรนด์ฮิตมาร่วมทศวรรษแล้ว
ก็ยังไม่ตกกระป๋อง แม้กระทั่งคนฝั่งอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าตำรับของฟาสต์ฟู้ดอันขึ้นชื่อนักหนาว่า
เป็นตัวการก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ กินแล้วจะอ้วน เสียสุขภาพ ฯลฯ
ก็ยังหันมาเกาะเทรนด์ใหม่ หันหลังให้อาหารบั่นทอนสุขภาพทั้งหลาย

พื้นที่ของความนิยมในแนวทางอาหารต่างๆ จึงกว้างมากขึ้น
อาหารสุขภาพหลายอย่างสอดแทรกเข้ามา เป็นแนวทางให้ทดลองรับประทานกันมากมาย
เซ็กชัน “กิน ดื่ม” วันนี้ ขอหยิบเอาเทรนด์ฮอตสุดๆ 5 ประการมาฝากทุกๆ ท่านเป็นเทรนด์อาหารที่ทั้งอร่อย
ไม่สุดโต่งเกินไป หารับประทานง่าย และจัดได้ด้วยตัวเอง นั่นจึงทำให้แนวทางทั้ง 5 ได้รับความนิยมสูง


กึ่งมังสวิรัติ

นอกจากวิตามินและไฟเบอร์จากผัก ผลไม้และธัญพืชต่างๆ แล้ว แนวทาง “กึ่งมังสวิรัติ” (Flexitarianism)
ยังอนุโลมให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ไร้มัน ปลา ไก่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์นมเนยพร่องไขมันอีกด้วย

เมื่อมิได้รับประทานแต่ผัก ผลไม้เพียวๆ แนวทาง “กึ่งมังสวิรัติ” จึงเป็นที่นิยมมาก
อย่างน้อยก็ดับอาการอยากรับประทานเนื้อ สำหรับคนที่ไม่เคยรับประทานมังสวิรัติมาก่อนได้
โดยแนวทางคือ ให้งดรับประทานเนื้อสัตว์ใดๆ อย่าง 4 วันต่อสัปดาห์

แนวคิดนี้เริ่มที่อเมริกา ซึ่งมาจากความต้องการหลีกเลี่ยงไขมันประเภททรานส์แฟต
หันมารับประทานอาหารที่มีกากใยสูง คำตอบที่ได้ก็คืออาหารมังสวิรัติ
ทว่านักโภชนาการหลายคนก็ยังเชื่อว่า เป็นวิถีที่ค่อนข้างสุดโต่งเกินไป
รวมทั้งเกรงว่าจะได้รับโปรตีนไม่ครบประเภทที่ร่างกายต้องการ แนวทาง “กึ่งมังสวิรัติ” จึงเกิดขึ้นมา
เพื่อที่ให้ผู้ปฏิบัติตามได้มีทางเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ได้ด้วย

ผลสำรวจผู้ที่เข้าโปรแกรมรับประทานแบบ “กึ่งมังสวิรัติ” พบว่า
นอกจากน้ำหนักจะลดลงแล้ว ความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ก็จะลดลงด้วย
(ผลวิจัยทำนาน 19 ปี โดยมหาวิทยาลัยทูเลน ในนิวออร์ลีนส์)



ผักสวนครัวรั้วกินได้

ผัก-ผลไม้สดกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้นในยุคนี้
และเนื่องด้วยการผลิตผัก-ผลไม้ในอุตสาหกรรมมักจะปนเปื้อนสารเคมี
คนทุกวันนี้จึงเริ่มหันมาทำสวนเล็กๆ เองที่บ้าน หลายๆ แห่งถึงขนาดรวมกลุ่มกันทำเป็นชุมชนปลูกผัก-ผลไม้
รับประทานเอง ซึ่งทำให้สามารถควบคุมผลผลิตที่สดใหม่ไร้สารเคมีที่แปลกปลอมได้

แนวคิด “ฟาร์มท้องถิ่น” (Locally Grown Foods) เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในหลายๆ แห่ง
บ้างเป็นการรวมกลุ่มกันเองหลวมๆ สบายๆ บ้างก็จริงจังถึงขั้นตั้งเป็นสหกรณ์
โดยนอกเหนือจากผัก-ผลไม้แล้ว ยังเริ่มที่การทำปศุสัตว์ เอาเนื้อและนมโค
รวมทั้งสัตว์ที่สามารถปรุงเป็นอาหารอื่นๆ ไปจนถึงการเลี้ยงผึ้งเพื่อเอาน้ำผึ้งเลยทีเดียว

การทำ “ฟาร์มท้องถิ่น” ทำให้เป็นที่แน่ใจได้ชัวร์ๆ เลยว่า จะได้ผัก-ผลไม้ที่สดใหม่
เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์และผลิตผลต่างๆ ที่ไม่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีสารแปลกปลอมใดๆ
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร และวิตามินที่พึงมีอย่างครบถ้วน



อาหารเสริมคุณค่า

กลุ่มคนที่เคร่งเครียดจัดๆ เรื่องคุณค่าทางอาหาร อาจจะรู้สึกบ่อยๆ ว่า ร่างกายของตัวเองขาดสารนู่นสารนี่ไปเรื่อย
“อาหารเสริมคุณค่า” (Functional Foods) จึงเกิดขึ้นมาตอบสนองเทรนด์ความนิยมนี้
ไม่ว่าจะเป็นนมแคลเซียมสูง ไข่ไก่ใส่โอเมกา 3 น้ำส้มเสริมวิตามินเอและซี แป้งเสริมโปรตีน ฯลฯ

“อาหารเสริมคุณค่า” อาจมีส่วนช่วยเติมเต็มคุณค่าทางอาหารที่ขาดไปของหลายๆ คน

ยกตัวอย่าง
คนที่รับประทานนมไม่ได้ อาจเนื่องจากอาการแพ้ อาจจะเลือกรับประทานไข่ไก่เสริมแคลเซียมทดแทนได้
เช่นเดียวกับคนแพ้อาหารทะเล ก็มีไข่หรือขนมปังเสริมโอเมกา 3 เป็นทางเลือก

แนวทาง “อาหารเสริมคุณค่า” ยังช่วยให้แต่ละคนที่ปฏิบัติตาม สามารถสร้างสมดุลในมื้ออาหารได้
โดยที่พฤติกรรมในการบริโภคแต่ละวันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ



อาหารออร์แกนิก

นับว่าเป็นเทรนด์อาหารที่ “โตเร็ว” ที่สุดในตลาดก็ว่าได้
อาจด้วยเพราะภาพลักษณ์ของ “อาหารออร์แกนิก” (Organic Food) นั้นดูสุขภาพจ๋า... จริงๆ

นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยเกี่ยวกับ “อาหารออร์แกนิก” ออกมามากมาย
ซึ่งก็น่าจะสืบเนื่องมาจากความนิยมที่พุ่งพรวดนั่นแหละ
โดยพบว่าอาหารประเภทนี้มีวิตามินสูงกว่าอาหารทั่วๆ ไป อย่างเช่น ผลวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
ได้ความว่า “อาหารออร์แกนิก” มีวิตามินซีสูงกว่าอาหารทั่วไปถึง 27 เปอร์เซ็นต์
มีธาตุเหล็กสูงกว่า 21 เปอร์เซ็นต์ และมีสารแมงกานีสสูงกว่าถึง 29 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ต้องตั้งข้อสังเกตไว้สำหรับคนที่ต้องหลีกเลี่ยงทรานส์แฟต
เพราะมิอาจการันตีได้ว่า “อาหารออร์แกนิก” จะปราศจากสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพ 100 เปอร์เซ็นต์
เพียงแต่มีคุณค่าทางอาหารและกากใยมากกว่าอาหารทั่วไปเท่านั้นเอง



สโลว์ฟู้ด

ถ้าเราเรียกอาหารฟาสต์ฟู้ดว่าอาหารรับประทานด่วน สโลว์ฟู้ดก็คือแนวทางตรงกันข้าม
นั่นก็คือค่อยๆ ปรุง ค่อยๆ รับประทาน ซึ่งก็เกิดขึ้นมาจากการต่อต้านอาหารฟาสต์ฟู้ดนั่นแหละ

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว การ์โล เปตรินี เจ้าของภัตตาคารแห่งหนึ่งในอิตาลีเป็นเจ้าของแนวคิดนี้
โดยการโปรโมตอาหารแนวเมดิเตอร์เรเนียนที่ดีต่อสุขภาพมากๆ และให้คนเราค่อยๆ นั่งลง ละเลียดกิน
พินิจอาหารที่ดูออกมาว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นแต่ละจานนั้น ทำจากอะไรบ้าง
แต่ที่เน้นหนักก็คือ ชีวิตของเราไม่ควรจะเร่งรีบเกินไป โดยเฉพาะเรื่องของการรับประทานอาหาร

สำหรับ “สโลว์ฟู้ด” (Slow Food) นั้นค่อนข้างจะเกี่ยวโยงกับแนวทาง “ฟาร์มท้องถิ่น” อยู่ไม่น้อย
เนื่องเพราะเป็นแนวทางที่ต้องการวัตถุดิบในการปรุงที่สดใหม่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารสูงสุด
นอกจากนี้ “สโลว์ฟู้ด” ยังเน้นแนวคิดในเรื่องอารมณ์ความรู้สึก
โดยเฉพาะเมื่อเป็นแนวทางที่เกิดจากประเทศอิตาลี ที่ถือความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหลัก

จาก “ฟาร์มท้องถิ่น” ผู้ปรุงคัดสรรค์วัตถุดิบที่ดีและสดใหม่ที่สุด
แล้วปรุงรับประทานแบบ “สโลว์ฟู้ด” พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว
ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวิถีที่มนุษย์ควรจะปฏิบัติกัน
มิใช่คว้าพิซซา 1 ถาด มานั่งรับประทานหน้าทีวีเช่นชีวิตคนส่วนใหญ่ในยุคนี้

เห็นมั้ยล่ะ การเลือกรับประทานดีๆ ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และยังไม่สายถ้าจะเริ่มในวันนี้


ข้อมูลโดย : //www.posttoday.com
ที่มา : //www.dmh.go.th


Create Date : 27 พฤษภาคม 2553
Last Update : 27 พฤษภาคม 2553 13:02:44 น. 0 comments
Counter : 849 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.